Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

อับดุชชะกูร์ บิน ชาฟิอีย์ ดินอะ (อับดุลสุโก ดินอะ)
ผู้ช่วยผู้จัดการโรงเรียนจริยธรรมศึกษามูลนิธิ อ.จะนะ จ.สงขลา
Shukur2003@yahoo.co.uk


ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาปรานีเสมอขอความสันติและความจำเริญแด่ศาสนามุฮัมมัด(นบี )และผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน


 


1. บทนำ: ความหลากหลายทางวัฒนธรรม ในเชียตะวันออกเฉียงใต้


 ก่อนที่จะมีมนุษย์เกิดขึ้นก็มีความหลากหลายในธรรมชาติเป็นพื้นฐานมาก่อน มนุษย์ก็เกิดขึ้นในสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกัน ในที่แต่ละแห่งมนุษย์ก็ย่อมเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกัน และอยู่ร่วมอย่างสอดคล้องกับธรรมชาติ จึงมีวิถีชีวิตที่แตกต่างกัน เรียกว่าเป็นความหลากหลายทางชีวภาพ กับความหลากหลายทางวัฒนธรรมเป็นเรื่องที่เชื่อมโยงกัน เพราะว่าชีวิตต้องเกิดขึ้นในที่ต่างๆ


เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปี 2004 มีประชากรประมาณ 600 ล้านคน เกาะชวา คือเกาะที่มีประชากรหนาแน่นที่สุดในโลก มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ภาษา และ ศาสนา รวมทั้งมีชาวจีนอพยพมาเป็นจำนวนมาก แต่ละประเทศพบว่า มีความหลากหลาย ทางเชื้อชาติ หลากหลายศาสนา มีทั้งไทย จีน ญวน ลาว เขมร มอญ มาลายู ศาสนาก็มีทั้ง พุทธ คริสต์ อิสลาม ฮินดู ซิกส์


ศาสนาพุทธเป็นวัฒนธรรมส่วนใหญ่ของคนไทย ลาว พม่า เวียดนาม ในขณะที่ ศาสนาอิสลามก็เป็นวัฒนธรรมส่วนใหญ่ของคนของคนมาเลเซีย อินโดนีเซีย บูรไน และศาสนาคริสต์เป็นวัฒนธรรมส่วนใหญ่ของคนฟิลิปินส์ ซึ่งหากแบ่งตามสถิติจะได้ดังนี้


บรูไน: อิสลาม (67%) พุทธมหายาน (13%) คริสต์ (10%) ภูตผี และอื่นๆ (10%)
กัมพูชา: พุทธหินยาน (93%) ภูตผี และอื่นๆ (7%)
ติมอร์ตะวันออก: คริสตศาสนา (95%)
อินโดนีเซีย: อิสลาม (81%) คริสต์ พุทธ ฮินดู และอื่นๆ
ลาว: พุทธหินยาน (60%)
Animism และอื่นๆ (40%)
มาเลเซีย: อิสลาม (61%) พุทธมหายาน (20%) คริสต์ ฮินดู และอื่นๆ
พม่า: พุทธหินยาน (89%) อิสลาม (4%) คริสต์ (4%) ฮินดู (1%) และ ภูตผี
ฟิลิปปินส์: คริสต์ (92%) อิสลาม (5%) พุทธ และอื่นๆ (3%)
สิงคโปร์: ศาสนาตามประเทศจีน (พุทธมหายาน เต๋า และ ขงจื๊อ) (51%) อิสลาม (15%) คริสต์ (14%) ฮินดู (4%) อื่นๆ (16%)
ไทย: พุทธหินยาน (95%) อิสลาม (3%) ฮินดู คริสต์ และ ฮินดู
เวียดนาม: พุทธมหายาน (50%) ขงจื๊อ และ คริสต์ (50%)


ที่ใดที่มีการเข้าถึงความหลากหลายทางธรรมชาติ ความหลากหลายทางวัฒนธรรมย่อมจะมีสันติสุขหากมีการจัดการทางวัฒนธรรมที่ดี แต่ที่ไหนที่มีความขัดแย้งก็เกิดความรุนแรงขึ้น ยกตัวอย่างประเทศพม่าเป็นที่อยู่ของชนหลายเผ่า ที่อพยพมาอยู่รวมกันที่ลุ่มแม่น้ำอิรวดี ก็เกิดการกระทบกระทั่งขัดแย้งกันมาเรื่อยๆ เคยมีการรวมตัวกันแต่สุดท้ายก็ไม่สามารถที่จะตกลงกันได้ มีการรวมตัวกันยากมาก มีความขัดแย้งเรื้อรังมาเรื่อยจนถึงบัดนี้ ที่มาเลเซียและอินโดนีเซียเคยมีการทะเลาะกันระหว่างชาวมลายูกับชนเชื้อสายจีน [1]


โลกปัจจุบันกำลังเผชิญกับสิ่งที่เรียกว่า "สงครามวัฒนธรรม" (Culture Wars) [2] หรือ"ความขัดแย้งระหว่างระหว่างอารยธรรม" (The Clash of Civilizations )ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงโลกทัศน์ 2 แบบที่กำลังต่อสู้กันอยู่ ความขัดแย้งระหว่างโลกทัศน์ที่แตกต่างทั้งสองนี้ กำลังส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อสังคมโลกทั้งมวล รวมทั้งประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ "การปะทะระหว่างอารยธรรม"ในโลกปัจจุบันที่เต็มไปด้วยอคติ และความคลางแคลงใจระหว่างศาสนาและเชื้อชาติ ฮันติงตัน [3] เชื่อว่า "ความแตกแยกระดับมหาภาคระหว่างมนุษย์ด้วยกัน และที่มาของความขัดแย้งต่างๆ จะมาจากด้านวัฒนธรรม การปะทะกันระหว่างอารยธรรม จะครอบงำการเมืองโลก ... การปะทะที่สำคัญที่สุดจะเป็นการปะทะกันระหว่างอารยธรรมตะวันตก กับ "อารยธรรมที่มิใช่ตะวันตก" แต่เขาใช้พื้นที่ส่วนใหญ่ในบทความและหนังสือ บรรยายความขัดแย้ง ทั้งที่เกิดขึ้นจริงและมีแนวโน้มว่าจะเกิด ระหว่างอารยธรรมที่เขาเรียกว่า ตะวันตกข้างหนึ่ง และอารยธรรม "อิสลามและขงจื๊อ" อีกข้างหนึ่ง. ในแง่รายละเอียด ฮันติงตันให้ความสนใจอย่างไม่เป็นมิตรเอามากๆ กับอิสลาม มากกว่าอารยธรรมอื่นใดทั้งหมด ซึ่งภาพสะท้อนดังกล่าวนับวันยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยเช่นกัน


ดังนั้นแนวคิดการจัดการวัฒนธรรมบนความหลากหลายทางวัฒนธรรมในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซื่งผู้เขียนมองถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรมว่าเป็นธรรมชาติหากมีปัญหาก็ต้องแก้ปัญหาให้ตกจึงมีความจำเป็นในการติดอาวุธให้สังคมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้


000


 


2. การจัดการความหลากหลายทางวัฒนธรรม


การจัดการความหลากหลายทางวัฒนธรรมมีสองวิธีคือ การจัดการด้วยวิธีใช้ความรุนแรงและการจัดการด้วยสันติวิธีซึ่งรายละเอียดนั้นมีดังนี้


 


2.1 การจัดการด้วยวิธีใช้ความรุนแรง


ผู้เขียนมีทัศนะว่า หากสังคมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีการเข้าถึงความหลากหลายทางธรรมชาติ ความหลากหลายทางวัฒนธรรมย่อมจะมีสันติสุข ในขณะเดียวกันหากสังคมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่สามารถจัดการความหลากหลายทางวัฒนธรรม และต่างวัฒนธรรมมีความขัดแย้งถือวัฒนธรรมของวัฒนธรรมตนเป็นใหญ่ เยียดหยาม ดูถูกวัฒนธรรมอื่น ก็จะนำไปสู่ความรุนแรงในที่สุด ซึ่งสอดกคล้องกับทฤษฎีความรุนแรงในมุมของ ลูอิส โคเซอร์ (Lewis A. Coser) นักสังคมวิทยาที่มีชื่อเสียงชาวอเมริกัน [4] ซึ่งมีมุมมองไปในแนวทางทฤษฎีความขัดแย้ง (Conflict Theory) และได้เสนอทฤษฎีหน้าที่ในทางสังคมของความรุนแรง (Social Functions of Violence)


โคเซอร์ได้เสนอแนวความคิดว่าความรุนแรง (Violence) ที่คนส่วนใหญ่มองว่าเป็นปัญหาและสิ่งที่ไม่พึงปรารถนาแท้ที่จริงแล้วมีหน้าที่ (Function) ที่สำคัญยิ่งในทุกสังคมนักทฤษฎีในแนวขัดแย้งนี้เชื่อว่า การเปลี่ยนแปลง (Change) เป็นสิ่งปกติ (Normal) และไม่ได้เป็นสิ่งที่ไม่พึงปรารถนา (Undesirable) แม้จะเป็นการเปลี่ยนแปลงแบบถอนรากถอนโคน (Radical Change) ก็ตาม


ในงานเขียนของโคเซอร์ เขายกตัวอย่างการมีสิทธิและเสรีภาพมากขึ้นของคนที่เคยถูกปฏิเสธความเท่ากัน (เช่น คนผิวสี) ก่อนจะเกิดการเคลื่อนไหวทางการเมืองครั้งใหญ่ในยุคทศวรรษที่ 1960 - 70 ในสหรัฐอเมริกา ในยุคนั้นถือว่าเป็นยุคเปลี่ยนของสถาบันหลักของหลายๆสังคมทั่วโลกทีเดียว


ในทัศนะของโคเซอร์ ความรุนแรงมีหน้าที่ในทางสังคมดังต่อไปนี้


1) เป็นเครื่องมือหรือเส้นทางที่นำไปสู่ความสำเร็จ (Road to Achievement)
2)
แนวโน้มที่เพิ่มขึ้นของการใช้ความรุนแรงอาจเป็นสัญญาณเตือน (Warning Signal) ว่ากำลังมีความผิดปกติเกิดขึ้นในสังคม
3) การใช้ความรุนแรงอาจนำมาซึ่งความรู้สึกที่เป็นหนึ่งเดียว (Solidarity) ของกลุ่มหรือชุมชน

ซึ่งผู้เขียนจะข้อกล่าวถึงในข้อที่หนึ่งและสามสำหรับหน้าที่แรกของความรุนแรงในสังคม น่าจะเป็นสิ่งที่กลุ่มราชการของแต่ละประเทศ นั่นก็คือ การใช้ความรุนแรงในการเป็นเครื่องมือที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ และสำหรับผู้มีอำนาจเหล่านี้ความสำเร็จก็คือ "อำนาจ" ที่มากขึ้นและเด็จขาด และนี่คือลักษณะการใช้ความรุนแรงของผู้ที่เข้มแข็ง (The Strong) เพื่อให้คนสังคมที่อยู่ในรัฐเดียวกัน พรมแดนเดียวกันถืงแม้จะมีความหลากหลายทางวัฒนธรรมยอมรับและปฏิบัติวัฒนธรรมของผู้มีอำนาจและอาจถึงขั้นปฏิเสธและยกเลิกวัฒนธรรมท้องถิ่นอันนำไปสู่ความปึกแผ่นของวัฒนธรรมชาติในขณะเดียวกันวัฒนธรรมท้องถิ่นที่มีความหลากหลายในแต่ละประเทศก็จะใช้ความรุนแรงในฐานะของผู้ที่อ่อนแอ (The Weak) เช่นกันเพื่อต่อสู้วัฒนธรรมของตน เป้าหมายของการใช้ความรุนแรงส่วนใหญ่กลับไม่ได้เป็นอำนาจ แต่บางครั้งเป็นแค่ การเรียกร้อง (Demand) การประท้วง (Protest) การแสดงความไม่เห็นด้วย (Disagreement) หรือการอยากให้สังคมรับรู้ (Recognition) เราจะเห็นสิ่งเหล่านนี้ในชนกลุ่มน้อยในแต่ละประเทศ ไม่ว่าภาคใต้ของไทย [5] หรือภาคใต้ของฟิลิปินส์ โรฮิงยาในพม่า [6]


เนื่องจากหน้าที่แรกของความรุนแรงนี้ มีความเกี่ยวข้องเกี่ยวเนื่องกับหน้าที่ที่สองของการใช้ความรุนแรงในสังคม ผู้เขียนจึงคิดว่า สมควรอยู่ที่จะเริ่มถกถึงหน้าที่ในทางสังคมอันที่สองของความรุนแรง ซึ่งกล่าวว่า การเพิ่มขึ้นของการใช้ความรุนแรงนั้น สะท้อนถึงความไม่เป็นปกติหรือปัญหาในสังคม

ในขณะหน้าที่ที่สามทางสังคมของความรุนแรงที่โคเซอร์เสนอไว้คือ การใช้ความรุนแรงอาจนำมาซึ่งความรู้สึกที่เป็นหนึ่งเดียว (Solidarity) ของกลุ่มหรือชุมชน ในกรณีที่เกิดขึ้นกับวัยรุ่นภาคใต้หรือผู้ก่อการนี้ ความรุนแรงที่ถูกใช้โดยรัฐผ่านเจ้าหน้าที่รัฐบางคนในอดีต ทั้งที่เป็นความรุนแรงแบบที่ใช้กำลัง (Physical Violence) เช่นการจับกุม ข่มขู่ ต่างๆนานา หรือการใช้กำลังผ่านระบบหรือโครงสร้างที่ไม่เป็นธรรม (Structural Violence) เช่น การตรวจค้นแบบไม่มีเหตุผล การแสดงความประพฤติในแนวดูถูกเชื้อชาติหรือศาสนา หรือมองผู้ก่อการหรือผู้ต้องหาไม่ใช้คนไทย ไม่ใช่อินโดนีเซีย ไม่ใช่พม่า ไม่ใช่เวียดนามและอื่นๆ เหล่านี้ล้วนเป็นความรุนแรงที่ก่อให้เกิดความไม่พอใจต่อรัฐต่อสังคมโดยรวม และนี่ทำให้เกิดความเป็นหนึ่งเดียวกันของผู้มีชะตากรรมร่วมกัน ความรู้สึกความเป็นหนึ่งเดียวกันนี้ ยังเพิ่มขึ้นอย่างมากหลังจากที่ เหตุการณ์กรือเซะ ตากใบหรือการที่ชาวบ้านโดนถล่มด้วยอาวุธสงครามพร้อมความรู้สึกจากชาวบ้านว่าทหาร ตำรวจเป็นคนทำเพราะชาวบ้านจะเอาอาวุธสงครามมาจากไหนในท่ามกลางทหารและตำรวจเต็มพื้นที่เกือบทุกตารางนิ้ว หลายๆ ครั้งคนระดับเสนาบดีของรัฐเคยใช้ด้วยถ้อยคำที่ ความรุนแรงและดูถูกคนในพื้นที่ว่าไม่ให้ความร่วมมือกับรัฐความรุนแรงในทางคำพูด (Verbal Violence) ดังกล่าว ไม่เพียงแต่จะไม่ช่วยให้เหตุการณ์ดีขึ้นแล้ว ยังตอกย้ำสะท้อนให้เห็นถึงระยะห่างระหว่างชาวบ้านและรัฐที่นับวันจะยิ่งแย่ลงอีกด้วย สุดท้าย ความรุนแรงในการปราบปรามในอดีตแบบเวี่ยงแห อคติต่อประชาชนในพื้นที่เป็นอีกชนวนที่ทำให้ความรุนแรงนั้นขยายตัว ที่สำคัญความขัดแย้งขยายวงไปสู่กรอบของศาสนาด้วยเพราะรัฐส่วนใหญ่เป็นชาวไทยพุทธและประชาชนส่วนเป็นมลายูมุสลิม และปัจจัยเหล่านี้เอง ก็ให้เกิดความรู้สึกที่เป็นหนึ่งเดียวกันมากขึ้น


 


2.2 การจัดการด้วยสันติวิธี


ประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังประสบภาวะวิกฤต ทั้งทางการเมืองและทางสังคมและวัฒนธรรม ซึ่งถ้าคลี่คลายไม่ได้จะนำไปสู่ภาวะวิกฤตทางจิตใจ เศรษฐกิจ และอื่น ๆ รวมถึงอาจเกิดการปะทะรุนแรง ถึงขั้น บาดเจ็บ ล้มตาย ทรัพย์สินเสียหาย ฯลฯ กลายเป็น "โศกนาฏกรรม" ที่สร้างรอยร้าวและบาดแผลในดวงจิตของคน"สันติวิธี"เป็นสะพานสู่ทางออกจากวิกฤต "สันติวิธี" จึงน่าจะเป็น "สะพานสู่ทางออก" จาก "วิกฤตความรุนแรงอันเนื่องมาจากความหลากหลายทางวัฒนธรรมของสังคมไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้" ในปัจจุบัน


สันติวิธี คือวิธีการจัดการกับความขัดแย้งวิธีหนึ่ง การใช้สันติวิธีมีเหตุผลสำคัญตรงที่ว่า เป็นวิธีการที่น่าจะมีการสูญเสียน้อยที่สุด ทั้งระยะสั้นระยะยาว ทั้งรูปธรรมและนามธรรม ผิดกับการใช้ความรุนแรง ซึ่งทุกฝ่ายอ้างว่าเป็นวิธีการสุดท้าย ซึ่งบางกรณีสามารถบรรลุผลในระยะสั้นเป็นรูปธรรมชัดเจน แต่หากความขัดแย้งดำรงอยู่เพียงแต่ถูกกดไว้โอกาสที่จะเกิดความรุนแรงในระยะยาวย่อมมีอยู่ ส่วนในทางนามธรรม เช่น ความเข้าใจอันดี
ความสามัคคีปรองดอง นั้นย่อมเกิดขึ้นได้ยากด้วยวิถีความรุนแรง


บางคนมองสันติวิธีในลักษณะปฏิสัมพันธ์เชิงอำนาจ เช่น การใช้ปฏิบัติการไร้ความรุนแรง เพื่อให้รัฐหรือผู้มีอำนาจเปลี่ยนแปลงนโยบายหรือพฤติกรรมบางคนใช้สันติวิธี เพราะ ความเชื่อว่าจะให้ผลที่ยั่งยืนและเป็นไปตามหลักจริยธรรม หรือ ศาสนธรรม บางคนใช้สันติวิธีตามหลักการบริหารเพื่อลดความขัดแย้ง ไปใส่รูปแบบอื่นที่จะจัดการได้ดีกว่า โดยไม่ใช้ความรุนแรง


 


2.2.1 ลักษณะสำคัญของสันติวิธี คือ ไม่ใช่วิธีที่เฉื่อยชาหรือยอมจำนน หากเป็นวิธีที่ขันแข็งและต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ ไม่ใช่ยุทธวิธีที่เลือกใช้ในบางโอกาส หากเป็นยุทธศาสตร์ที่ปฏิบัติได้อย่าสม่ำเสมอ เป็นสัจธรรมที่น่าเชื่อถือไม่ใช่วิธีที่ดีในเชิงกระบวนการเท่านั้น หากเป็นวิธีที่หวังผล
ที่กลมกลืนกับวิธีการด้วย


ในขณะเดียวกันหากเราศึกษาศึกษาจากชีวิตของศาสดา 3 ศาสนา พุทธ คริสต์ อิสลาม [7] จะพบว่าพระองค์ทั้งสามสนับสนุนการแก้ปัญหาด้วยสันติวิธี รศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ [8] กล่าวว่า


ถ้าใช้การจำแนกประเภทสันติวิธีของ ยีน ชาร์ป จะเห็นว่าทั้งสามศาสดาใช้สันติวิธีเชิงการชักจูงเป็นหลัก โดยพยายามชักจูงทุกฝ่ายใช้วิธีการต่างๆ ให้ยอมรับทัศนะของท่าน และไม่ใช้ความรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นการชักจูงด้วยเหตุผลมากกว่าอารมณ์ เพื่อเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ที่กำลังจะรุนแรงอย่างสันติ แต่การชักจูงนั้นทำงานอย่างไรใน 3 กรณีนี้ หรือในภาษาของชาร์ป ปฎิบัติไร้ความรุนแรงของศาสดาทั้งสามมีผลวัดอย่างไร ชาร์ป ถือว่า พลวัตรของสันติวิธี มีกลไก 4 อย่างในการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น อันได้แก่ การเปลี่ยนใจ (Conversion) การโอนอ่อนผ่อนตาม (Accommodation) การบังคับโดยไม่ใช้ความรุนแรง (Nonviolent Coercion) และการสลายของอำนาจโดยสิ้นเชิง (Disintegration)"


 


2.2.2 กระบวนการส่งเสริมสันติวิธี


สำหรับกระบวนการส่งเสริมสันติวิธีในการจัดการความหลากหลายทางวัฒนธรรมนั้นมีดังนี้


หนึ่ง การยอมรับการคงอยู่ของความหลากหลายทางวัฒนธรรม


ความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีช่วยทำให้โลกใบนี้เล็กลง มิติทางวัฒนธรรม เป็นส่วนสำคัญอีกประการหนึ่ง ซึ่งส่งผลกระทบต่อสังคมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โลกาภิวัตน์ทางวัฒนธรรม เป็นการเคลื่อนไหวถ่ายเทแลกเปลี่ยนความรู้และวิถีชีวิตระหว่างกันของมวลมนุษยชาติ ปรากฏการณ์ลักษณะดังกล่าวมีมาเนิ่นนานนับสหัสวรรษและยิ่งทวีความเข้มข้นมากขึ้น ในยุคที่การติดต่อสื่อสารสามารถกระทำได้อย่างง่ายดายและรวดเร็ว ดังเช่นทุกวันนี้ผลกระทบทางวัฒนธรรมจากกระแสโลกาภิวัตน์ ก่อให้เกิดผลลัพธ์ 3 ประการ [9] คือ


1.วัฒนธรรมรวมตัว (Cultural Homogenization) เนื่องจากโลกาภิวัตน์นำมาซึ่ง "มาตรฐาน" การยอมรับในระดับสากล จนเกิดเป็นการบีบบังคับให้เปลี่ยนตามหรือลอกเลียนด้วยความเต็มใจ เมื่อเป็นดังนี้ วัฒนธรรมท้องถิ่นจึงสูญเสียคุณค่าที่เคยมี ทำให้เกิดการแปรสภาพและเปลี่ยนไปตามกระแสความนิยมของโลก เปรียบเสมือนการหลอมละลาย อ่อนไหวไร้จุดยืนไปตามสถานการณ์ผู้สนับสนุนแนวทางดังกล่าวนี้ มีความหวังว่าการยัดเยียดวัฒนธรรมสามารถกระทำได้ ดังเช่น "รัฐนิยม" ซึ่งเคยมีใช้อยู่ในประเทศไทย ด้วยจุดมุ่งหมายให้วัฒนธรรมย่อย ค่อยๆ ลบเลือนหายไป


2.วัฒนธรรมแตกตัว (Cultural Heterogenization) ในกรณีนี้ โลกาภิวัตน์ทำให้เกิดการแปลกแยกระหว่างวัฒนธรรม จนยากเกินกว่าจะรอมชอมกันได้ ต่างฝ่ายต่างรักษาความบริสุทธิ์หรือวัฒนธรรม "พันธุ์แท้" ของตนเอง จนผลที่เกิดตามมาคือการปะทะถึงขั้นแตกหัก


3.วัฒนธรรมลูกผสม (Cultural Hybridization) หรืออีกนัยหนึ่งคือการผสมผสาน จนยากเกินกว่าจะแยกส่วนใดส่วนหนึ่งออกจากกันได้ วัฒนธรรมพันธุ์ทางมักเกิดขึ้นเสมอ หากมีการไปมาหาสู่กันรวมทั้งเมื่อติดต่อสื่อสารแบบรอมชอม ถ้อยทีถ้อยอาศัย จะว่าไปแล้ว วัฒนธรรมของทุกชาติในโลกนี้ ล้วนแล้วแต่ก่อกำเนิดเกิดขึ้นได้ ด้วยการหยิบยืมแลกเปลี่ยนกันไปมาทั้งหมดทั้งสิ้น หากไม่ภายในพวกกันเองก็ระหว่างกลุ่ม


เพราะฉะนั้น ดูเหมือนว่าวัฒนธรรมพันธุ์ทางน่าจะเป็นผลลัพธ์ตามธรรมชาติมากที่สุดหากพิจารณาวัฒนธรรมของชนชาติไทยดู ก็จะรู้ว่ามีที่มาจากแอ่งอารยธรรมมากมายหลายแหล่ง อาทิ วัฒนธรรมโบราณของท้องถิ่นตั้งแต่ ขอม มอญ ละว้า มลายู รวมทั้งจากภายนอกภูมิภาค แม้ระยะทางอยู่ห่างไกลออกไป เช่น จีนและอินเดียยุคสมัยสุโขทัย เครื่องถ้วยชาม "สังคโลก" ว่ากันว่าเกิดจากการนำเข้าช่างฝีมือชาวจีน ซึ่งขณะนั้นการค้าระหว่างจีนกับรัฐในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีมาก จนเป็นช่องทางให้เกิดการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานของผู้คนรวมทั้งการถ่ายทอดทักษะการประดิษฐ์เชิงพาณิชย์ จนนำรายได้เข้าสู่รัฐไทยอย่างมากมาย ยุคสมัยอยุธยา ขนมไทยแท้แต่โบราณ เช่น ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง ทองม้วน ขนมไข่เต่า ขนมผิง สังขยาและหม้อแกง ฯลฯ ความเป็นจริง กลับมีต้นกำเนิดมาจากสตรีชาวญี่ปุ่นเชื้อสายโปรตุเกสนามว่ามารี กีมาร์ หรือ "ท้าวทองกีบม้า" ผู้นำเข้ามาเผยแพร่ ตั้งแต่รัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชยุคสมัยรัตนโกสินทร์ เครื่องแต่งกายชายชุดประจำชาติไทย คือ "ราชปะแตน" เกิดขึ้นมาจากการประยุกต์ชุดต้นแบบของราชา (Raj Pattern) โดยชนชั้นนำไทยได้รับแรงบันดาลใจมาจากอินเดีย ซึ่งในขณะนั้นอยู่ภายใต้อาณานิคมของจักรวรรดิอังกฤษ


จากตัวอย่างทั้งหมดข้างต้น จะเห็นว่าวัฒนธรรมไทยเกิดจากการเรียนรู้เพื่อ "รับ" และ "แลกเปลี่ยน" กับวัฒนธรรมอื่นมาตั้งแต่ครั้งอดีต เมื่อกาลเวลาผ่านไป สิ่งเคยแปลกปลอมเหล่านั้นก็ได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมไทย ดังที่พบเห็นอยู่ทั่วไปในปัจจุบันในขณะเดียวกัน วัฒนธรรมของไทยเองก็ได้เคลื่อนย้ายไหลเวียนออกไปสู่ภูมิภาคอื่นด้วย จนเมื่อกลายเป็นความนิยมและเกิดการยอมรับ จึงถูกขนานนามว่ามีที่มาจากเมืองไทย แฝดสยาม(Siamese Twins) กลายเป็นคำที่ใช้เรียกทารกแฝด ซึ่งเกิดมามีร่างกายติดกันตามธรรมชาติ โดยคำดังกล่าวมีที่มาจากฝาแฝด "อิน-จัน" ชาวแม่กลอง สมุทรสงคราม ผู้อพยพไปยังสหรัฐอเมริกาตั้งแต่เด็กและต่อมากลายเป็นผู้ที่มีชื่อเสียงโด่งดังจากการแสดง จนรู้จักกันไปทั่วทั้งทวีปอเมริกาและทวีปยุโรป แมวสยาม(Siamese Cat) เป็นคำเรียกแมวชนิดหนึ่ง ซึ่งเริ่มเป็นที่รู้จักกันดีในต่างประเทศ ภายหลังจากกงสุลอังกฤษในไทยสมัยรัชกาลที่ 5 ได้นำแมวไทยกลับไปยังบ้านเกิดเมืองนอนด้วย จากนั้นได้นำออกแสดง ณ คริสตัล พาเลซ ประเทศอังกฤษ จนกลายเป็นที่กล่าวขวัญถึงและได้รับความนิยมอย่างมากทั่วยุโรป ในปัจจุบัน "อาหารไทย" เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรม ซึ่งสร้างชื่อเสียงให้ขจรขจายไปทั่วทุกสารทิศไม่เฉพาะแค่ภูมิภาคเอเชียเท่านั้น แต่ยังกว้างไกลไปถึงทวีปยุโรป ทวีปอเมริกา ทวีปออสเตรเลีย รวมทั้งทวีปแอฟริกาด้วย จนรัฐบาลถึงกับประกาศส่งเสริมให้มีร้านอาหารไทย 10,000 แห่ง ในต่างประเทศภายในปี 2551นอกจากนี้ ยังมีกีฬา "มวยไทย" ซึ่งเป็นศิลปะการต่อสู้ยอดนิยมในสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น บราซิล และอีกหลายประเทศในยุโรป โดยแต่ละปีมีชาวต่างชาติจำนวนไม่น้อยที่ติดตามเข้าชมการแข่งขัน รวมทั้งสนใจศึกษาแม่ไม้มวยไทยตามค่ายมวยต่างๆ ทั้งในเมืองไทยและต่างประเทศในยุคที่คนไทยเกือบ 30 ล้านคน มีโทรศัพท์มือถือในครอบครอง ขณะเดียวกับที่ผู้ใช้สื่ออินเตอร์เน็ตก็เพิ่มจำนวนเข้าใกล้ 8 ล้านคนเข้าไปทุกที ความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยีการสื่อสารสมัยใหม่หลายแขนง ย่อมเติมความเข้มข้นให้กับการติดต่อสื่อสารของมนุษย์มากยิ่งขึ้นท่ามกลางความแตกต่างหลากหลายนี้เอง โลกาภิวัตน์ทางวัฒนธรรมนำมาซึ่งความเป็นพันธุ์ทางอันเกิดขึ้นจากการแลกเปลี่ยนระหว่างกัน เพื่อโน้มนำไปสู่ประชาสังคมโลก(Global Civil Society)พลวัตภายในสังคม จะเป็นตัวกำหนด "วัฒนธรรมลูกผสม" ของแต่ละสังคมนั้น


ดังนั้น เมื่อการยอมรับการคงอยู่ของความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่มีอยู่ของทุกชุมชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไม่ว่าจะเป็นด้วยเหตุปัจจัยใด การครอบงำ การบังคับให้แต่ละคน แต่ละชุมชนถึงแม้จะอยู่ประเทศเดียวมีวัฒนธรรมเดียวเท่านั้นจึงเป็นเรื่องยากและนำไปสู่ความขัดแย้งและรุนแรงในที่สุด ดังนั้นการบริหารจัดการความหลากหลายทางวัฒนธรรมจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวด การยอมรับความสำคัญของวัฒนธรรมอื่นที่เป็นชนกลุ่มน้อย พร้อมกันนั้นกลุ่มน้อยก็จะต้องยอมรับความสำคัญของวัฒนธรรมของกลุ่มใหญ่เช่นกัน ในขณะเดียวกันชนกลุ่มน้อยก็ต้องยอมรับสภาพของความเป็นจริง การจับอาวุธขึ้นต่อสู้กับชนกลุ่มใหญ่ เพื่อจะแยกตัวออกไปต่างหากมักไม่เป็นผล ทางออกได้แก่ทั้งสองฝ่ายจะต้องให้ความสำคัญต่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ประวัติศาสตร์บ่งว่าการอยู่ด้วยกันอย่างสันติมิใช่สิ่งที่อยู่ไกลเกินเอื้อม มันเกิดขึ้นได้หากทั้งสองฝ่าย หันหน้าเข้าหากันด้วยความจริงใจ สิ่งที่จะก่อให้เกิดความเสียหายใหญ่หลวง เมื่อสองฝ่ายไม่ยอมหันหน้าเข้าหากัน คือการฉวยโอกาสเข้าแทรกแซงของผู้อื่น


สอง การศึกษาเรื่องความหลากหลายของวัฒนธรรม


หลังจากมีการยอมรับสิ่งสำคัญลำดับต่อมาคือการศึกษาเรื่องความหลากหลายของวัฒนธรรม ชีวิตความเป็นอยู่ความแตกต่างและหลากทางวัฒนธรรมที่อยู่ในแต่ละประเทศต้องเรียนรู้วัฒนธรรมของกลุ่มชนที่ต่างกัน นอกจากจะสร้างความรัก ความผูกผัน ทำความรู้จักต่อกันแล้ว ยังก่อให้เกิดการเรียนรู้ ตระหนักและพัฒนาความเป็น ชาติ ศาสนา ท้องถิ่นและชุมชน รวมทั้งยังสามารถเกิดการพัฒนาในระดับบุคคล คือ การพัฒนา ความรู้ สติปัญญา ทั้งร่างกายและจิตใจ รวมทั้งการหล่อหลอมให้เกิดการใช้ความรู้ คุณธรรม จริยธรรม เพื่อ "เข้าใจผู้อื่น" เข้าใจความเป็นอยู่ของคนในที่ต่างๆ ทั้งที่อยู่ห่างไกลและอยู่ใกล้ชุมชนรอบตัว รวมทั้งรู้ "วิธีการ" ที่เราจะอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข การเรียนรู้และเข้าใจวัฒนธรรมของผู้อื่น/กลุ่มชน ศาสนิกอื่น มีประโยชน์และกำไรสำหรับผู้ที่รู้ เป็นผู้รู้กาละเทศะ การปรับตัวเพื่อการเข้าใจกัน สามารถลดความขัดแย้ง สร้างสันติสุขในการอยูร่วมกัน นอกจากนั้นการรู้วัฒนธรรม ยังทำให้เรารู้อีกว่า อะไรที่ควรทำหรืออะไรที่ไม่ควรทำ เรื่องใดที่เขายึดถือ เคารพ ห้ามละเมิดและยอมได้หรือยอมไม่ได้ ในบางเรื่องผู้ที่เป็นเจ้าของวัฒนธรรมจะเป็นคนบอกเองว่า อะไร ที่เป็นข้อผ่อนปรนได้ อะไรที่ผ่อนปรนไม่ได้ อะไรคือเรื่องหลัก อะไรคือเรื่องรอง


การศึกษาเรียนรู้ [10] "วัฒนธรรม" ที่เขาเชื่อ คิด ปฏิบัติ จะทำให้เข้าใจและรู้ว่าควรปฏิบัติต่อคนที่ต่างจากเราอย่างไร ด้วยความต่างทั้งเรื่อง เพศ วัย ครอบครัว การศึกษา ศาสนา ความเชื่อ ต่างถิ่น ต่างชาติ ว่าเรา(ทั้งในฐานะรัฐหรือเจ้าหน้าที่รัฐ)จะอยู่ร่วมกับเขา หรือสัมพันธ์กับเขา(ชาวบ้านหรือคนในพื้นที่) ในลักษณะของ การช่วยเหลือ การวางนโยบายทางการปกครอง การส่งเสริมและแก้ปัญหาความยากจน ส่งเสริมการค้าขาย การให้การศึกษา กับเขาได้อย่างไร ในแบบที่เรียกว่า ตรงกับความต้องการ ตรงกับกาลเทศะ และสอดคล้องกับหลักศรัทธาในศาสนาที่เขาเหล่านั้นยึดถือ ปฏิบัติ


ผู้ที่ศึกษาวัฒนธรรมของผู้อื่น/กลุ่มชนอื่นอย่างลึกซึ้งแล้ว จะส่งผลทำให้สามารถสะท้อนความเข้าใจต่อกลุ่มชน ของตนเองมากขึ้น เพราะการที่เราจะเข้าใจ "ตัวตน" ของตนเองได้ จะต้องมองผ่านผู้อื่น สะท้อน "ตัวตนของเรา" ให้เรารู้และให้เราเห็น และเมื่อเข้าใจและรู้ลึกซึ้งเกี่ยวกับวัฒนธรรมของตนเองและผู้อื่นแล้ว ขึ้นอยู่กับว่า เขาเหล่านั้น จะเลือกใช้วัฒนธรรมในฐานะ "กำแพง" ที่ก่อเพื่อปิดกั้นและอยู่เฉพาะกลุ่มชนตนเอง หรือมุ่งที่จะสร้างเป็น "สะพาน" เพื่อที่จะเชื่อมความสัมพันธ์กับผู้อื่น เพื่อการแลกเปลี่ยน สังสรรค์ เป็นที่รู้จักและนำสู่การอยู่ร่วมกันในประชาคมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้อย่างสันติ


สาม การสานเสวนา


การสานเสวนาเป็นกระบวนการที่เปิดโอกาสให้บุคคลหรือกลุ่มต่างๆ ที่มีความคิด ความเชื่อ จุดยืนต่างกัน มีโอกาสพบปะพูดคุยแสดงความรู้สึก ฟังเงื่อนไขปัจจัยของกันและกันอย่างลึกซึ้งเพื่อเข้าใจกันอย่างเห็นอกเห็นใจ มากขึ้น โดยที่สองหรือหลายฝ่ายยังมีจุดยืนที่ต่างกันได้ แต่การฟังเพื่อเห็นอกเห็นใจและเข้าใจกันนั้น ต้องมองข้าม "กรอบอ้างอิง" ของตนไป เพื่อเปิดโอกาสให้เกิดการเรียนรู้ พัฒนาความเห็นอกเห็นใจและเข้าใจสถานการณ์ ของเพื่อนที่เชื่อต่างจากตน กระทั่งอาจเปลี่ยนแปลงความเข้าใจผิด ความขัดแย้งไปเป็นความเข้าใจและเห็นใจ กันมากขึ้นด้วยตระหนักถึงความสำคัญของการสานเสวนาที่จะเป็นทางเลือกหนึ่งของการเสริมสร้างความเข้าใจ
ป้องกันและลดปัญหาความขัดแย้ง


ความเชื่อพื้นฐานว่ากระบวนการ สานเสวนาสามารถนำมาปฏิบัติได้จริงในชีวิตประจำวัน และเป็นทางเลือกที่สำคัญในรูปแบบของ " สันติวิธี" ในการลดปัญหาความขัดแย้ง เพื่อเสริมสร้างความชอบธรรม การมีส่วนร่วมของผู้เดือดร้อนและผู้เกี่ยวข้อง กระทั่งสามารถพัฒนาสู่สังคมที่เข้าใจกัน สงบสุข และยั่งยืน


สานเสวนาจะต่างกับการสนทนาทั่วไปตรงที่ไม่มีการคุกคาม อัตลักษณ์ ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพราะมุ่งให้ผู้ร่วมสานเสวนารับฟังและเรียนรู้จุดยืนซึ่งกันละกัน บนพื้นฐานการให้เกียรติความแตกต่างโดยปราศจากการครอบงำ บีบ บังคับ โน้มน้าวหรือบังคับให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเปลี่ยนแปลงความคิด ความศรัทธาของตนหากแต่เป็นการเรียนรู้และเติบโตไปพร้อมกัน


สำหรับในศาสนาอิสลามได้ให้ความสำคัญในเรื่องนี่โดย อัลลอฮฺเจ้าได้โองการในคัมภีร์อัลกุรอานความว่า "ท่านทั้งหลายจงสานเสวนาด้วยวาจาที่สุภาพยิ่งด้วยเหตุและผล (โปรดดูอัลกุรอานซูเราะฮอัลอันนะห์ลุ" 16 : 125) และอัลลอฮฺเจ้ายังได้โองการในคัมภีร์อัลกุรอานอีกความว่า "....ไม่มีการบังคับในเรื่องศาสนา" (โปรดดูอัลกุรอานซูเราะฮอัล บะกอเราะฮฺ 2 : 256 )


หากจะเปรียบเทียบการสานเสวนาหรือศาสนเสวนาน่าจะตรงกับแนวคิด ชูรอของศานาอิสลาม


ชูรอ [11] เป็นคำภาษาอาหรับ โดยรากศัพท์คำนี้มีความหมายว่า ปรึกษาหารือหรือให้คำแนะนำ


อัลลอฮฺได้ตรัสไว้ความว่า


"และบรรดาผู้ตอบรับต่อพระเจ้าของพวกเขา และดำรงละหมาด และกิจการของพวกเขา (หมายถึงเรื่องส่วนรวม)มีการปรึกษาหารือระหว่างพวกเขา และเขาบริจาคสิ่งที่เราได้ให้เครื่องปัจจัยยังชีพแก่พวกเขา" (อัชชูรอ 38)


อัลลอฮฺได้ตรัสอีกไว้ความว่า "ดังนั้นจงอภัยให้แก่พวกเขาเถิด และจงขออภัยให้แก่พวกเขาด้วย และจงปรึกษาหารือกับพวกเขาในกิจการทั้งหลาย" (โปรดดูอัลกุรอาน ซูเราะฮอาละอิมรอน 159)


การที่อัลลอฮฺใช้ให้ศาสดามุฮัมมัดปรึกษาอัครสาวกของท่านนั้น บ่งชี้ถึงความสำคัญของการให้คำปรึกษา(ชูรอ) เพราะถ้าหากศาสดาได้รับคำสั่งจากอัลลอฮฺอันเป็นทางนำสำหรับท่านอยู่แล้ว คำปรึกษาของมนุษย์ย่อมไม่มีประโยชน์เลย หรือถ้าหากความคิดของท่านศาสดาเพียงพอสำหรับท่าน การปรึกษากับอัครสาวกจะไร้ประโยชน์เช่นเดียวกัน สมัยท่านสาสดามุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้คัดเลือกผู้นำจากบรรดาเผ่า หมู่บ้าน และสายตระกูลต่างๆ โดยแต่ละคนศาสนธรรมที่สูงส่งในหมู่ชนของเขา และมีความรับผิดชอบมากกว่าผู้อื่น


สำหรัประชาชนทั่วไป คอยตรวจสอบผู้นำของพวกเขา เพราะการเรียกร้องสู่ความดีปราบปรามความชั่วเป็นสิทธิและหน้าที่ของทุกๆ คนในสังคม ดังที่ท่านศาสดามุฮัมมัด ศ็อลลัลฮุอะลัยฮิวะซัลลัม วจนะ ความว่า


"ใครก็ตามในหมู่พวกท่านได้เห็นความผิดใดๆ ก็จงเปลี่ยนแปลงด้วยมือ (หมายอำนาจถ้ามี) หากเขาไม่มีความสามารถก็จงเปลี่ยนแปลงด้วยลิ้น (หมายถึงตักเตือนคัดค้าน) หากเขาไม่มีความสามารถก็จงเปลี่ยนแปลงด้วยหัวใจ (หมายถึงการเกลียดความผิดนั้น) และนั่นคืออีมานที่อ่อนแอที่สุด" บันทึกโดยอิมามมุสลิม


ท่านศาสดามุฮัมมัด ศ็อลลัลฮุอะลัยฮิวะซัลลัม วจนะอีก


ความว่า"ไม่มีการเชื่อฟังใดๆต่อมนุษย์ในสิ่งที่เป็นการฝ่าฝืนพระผู้ทรงสร้าง"


สำหรับหลักการในการทำการเสวนาระหว่างศาสนาหรือวัฒนธรรมที่ต่างกัน


1.ยืนหยัดในความศรัทธาและรอบรู้ในเรื่องที่เกี่ยวกับศาสนาและวัฒนธรรมของตน
2.เปิดใจกว้างสู่การเรียนรู้เกี่ยวกับประสบการณ์ ความเชื่อ ศาสนาและวัฒนธรรมของผู้อื่น
3.แสวงหาความจริง
4.มีจิตสำนึกลึกถึงความร่วมมือกันเพื่อดำรงซึ่งความดี


การสานเสวนาระหว่างศาสนา

1.)
ศาสนเสวนาในชีวิตชาวบ้าน (โดยเฉพาะเยาวชน)
บทบาทการสร้างศาสนเสวนาในชีวิตจริงยังไม่บรรลุผลเท่าที่ควร จำเป็นต้องจัดให้มีการเสวนาและดำเนินชีวิตร่วมกับพี่น้องความเชื่ออื่นในทุกมิติ โดย


1. กระตุ้นเตือนให้ศาสนิกต่างๆโดยเฉพาะมุสลิมเปิดตัวและมีท่าทีความเป็นพี่น้องต่อผู้มีความเชื่ออื่น
2. ส่งเสริมให้ศึกษาเพื่อเห็นคุณค่าของหลักธรรมของแต่ละศาสนา
3. เตรียมประชาชนทุกระดับให้พร้อมที่จะร่วมกิจกรรมประเพณีต่างๆ (ในกรอบของแต่ละศาสนา)
4.
ศึกษาปัญหาและอุปสรรคของกิจกรรมศาสนสัมพันธ์ไม่บรรลุวัตถุประสงค์และนำเสนอวิธีการแก้ปัญหา
5. ร่วมรับผิดชอบต่อสังคมในฐานะศาสนิกที่ดี ด้วยการแบ่งปันช่วยเหลือซึ่งกันและกัน


2.) การเสวนาระหว่างนักวิชาการ ผู้นำศาสนา
เพื่อสร้างความเข้าใจที่ดีต่อกันภายใต้เสรีภาพในการนับถือศาสนาและร่วมมือกันเพื่อประโยชน์ของประชนชนจึงควรกำหนดให้


1. มีการสานเสวนาของผู้นำศาสนาต่างๆ ทั้งในระดับชาติ ชาติและท้องถิ่นอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยปีละ 1-2 ครั้ง
2. สนับสนุนให้ศึกษาการปฏิบัติศาสนธรรมในท้องถิ่น
3. ร่วมมือกับสถาบันการศึกษาท้องถิ่นจัดสานเสวนาระดับนักวิชาการอย่างต่อเนื่อง อาทิ ปอเนาะโรงเรียนและมหาวิทยาลัย
4. เชื้อเชิญวิทยากรและผู้รู้จากศาสนาต่างๆ มาร่วมกันแบ่งปันเมื่อจัดโครงการอบรมพัฒนาผู้นำ


000


 


3.ข้อเสนอแนะในการบริหารจัดการทางวัฒนธรรม


การจัดการทางวัฒนธรรมด้วยกระบวนการสันติวิธีน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดในการจัดการปัญหาความขัดแย้งทางวัฒนธรรมของสังคมแต่ควรมีกระบวนการส่งเสริมความสำเร็จดังนี้


3.1 กำหนดยุทธศาสตร์การจัดการทางวัฒนธรรม


ยุทธศาสตร์การจัดการทางวัฒนธรรมดังนี้


(1) จัดการให้เป็นส่วนหนึ่งของปัจจุบัน เชื่อมโยงกับวิถีชีวิตของผู้คนในปัจจุบันให้เข้าถึงคนอย่างทั่วถึง ทุกกลุ่มอายุ ทุกกลุ่มอาชีพ ทุกถิ่นอาศัย


(2) จัดการให้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ ของประเทศ ทั้งที่เป็นระบบการศึกษาอย่างเป็นทางการ และระบบการเรียนรู้ที่อยู่ในวิถีชีวิต ระบบนี้เรียกอีกชื่อหนึ่งว่าระบบการจัดการความรู้


(3) จัดการให้เป็นระบบสร้างความรู้ผ่านการปฏิบัติ ผ่านวิถีชีวิต ผ่านการวิจัย ให้ทั้งนักวิชาการและทุกคนในสังคมมีส่วนในการสร้างความรู้เชิงวัฒนธรรม


(4) จัดการให้เข้าไปในโรงงาน สถานประกอบการ โรงเรียน โรงพยาบาล ลานบ้านลานเมือง ถนนคนเดิน รถไฟ รถประจำทาง รถใต้ดิน รถลอยฟ้า คือให้เข้าไปในวิถีชีวิตของผู้คน


(5) จัดการให้ปูทางสู่อนาคต สู่การสร้างสังคมที่มีสมดุล มีสมดุลอยู่ท่ามกลางความแตกต่างหลากหลาย สร้างสังคมที่ผู้คนมีจิตใจอ่อนโยน เห็นคุณค่าของตนเองและของเพื่อนร่วมสังคม ร่วมโลก ด้วยสโลแกนแสวงกาจุดร่วม สงวนจุดต่าง


3.2 วิจัยเรื่องความหลากหลายทางวัฒนธรรม


ผลการวิจัยสามารถนำมาจัดการความหลากหลายทางวัฒนธรรม ได้ซึ่งควรมีวัตถุประสงค์ของการวิจัยดังนี้




    1. เพื่อศึกษาแนวคิดและทฤษฎีจัดการความหลากหลายทางวัฒนธรรม

    2. เพื่อศึกษาแนวคิดและทฤษฎีเกี่ยวกับความขัดแย้งและสันติวิธี



    1. เพื่อศึกษาการดำเนินการแก้ไขความขัดแย้งระหว่างรัฐกับประชาชนโดยใช้หลักสันติวิธี และประโยชน์ที่ได้รับ



    1. เพื่อเสนอแนะแนวทางการจัดการความหลากหลายทางวัฒนธรรม

3.3 การก่อตั้ง กลไกลส่งเสริมสันติวิธี


ทุกภาคของสังคมควรก่อตั้งกลไกลส่งเสริมสันติวิธี โดยทั่วไปเราอาจแบ่งสังคมเป็น 3 ภาค ได้แก่ภาครัฐ ภาคธุรกิจ เอกชน และ ภาคประชาสังคม


ในส่วนภาครัฐ หน่วยงานของรัฐควรออก คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี หรือประธานาธิบดี ซึ่งต้องยึดหลักการว่า "บรรทัดฐานการจัดการความขัดแย้ง ต้องยึดมั่น"สันติวิธี"เป็นวิธีเดียวที่เป็นธรรม และสร้างความสงบสุขที่ยั่งยืน โดยเริ่มต้นที่รัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐก่อน" คำสั่งของผู้นำย่อมผูกพันทุกหน่วยงานราชการ องค์กรของรัฐแต่ละองค์กรย่อมมีภารกิจโดยตรงอยู่หลากหลาย คงไม่สามารถศึกษาส่งเสริมสันติวิธีในฐานะที่เป็นภารกิจหลักได้ รัฐจึงควรจัดตั้งองค์กรมหาชนอิสระ เพื่อทำหน้าที่ ส่งเสริมสันติวิธีโดยเฉพาะ ภาคธุรกิจเอกชนควรเอาใจใส่เรื่องการศึกษา และ ประยุกต์ใช้สันติวิธีอย่างจริงจังโดยเฉพาะสันติวิธีในระดับองค์กรภาคประชาสังคม ควรมีการตื่นตัว ควรจัดตั้ง มูลนิธิ เช่น มูลนิธิสันติภาพและวัฒนธรรมหรือมูลนิธิสันติภาพและการพัฒนา แต่ทำงานได้เพียงเล็กน้อยและอยู่ในวงที่แคบ


สังคมและรัฐควรให้ความสนับสนุนองค์กรในลักษณะนี้ ให้เกิดขึ้นมากๆ และเปิดโอกาสให้ทำงานแล้วทดสอบประสิทธิผล ความขัดแย้งบางประการเช่น ในระดับประเทศ
 


สรุป


สังคมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งเป็นสังคมที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมกำลังเผชิญกับสิ่งที่เรียกว่า "สงครามวัฒนธรรม" (Culture Wars) หรือ"ความขัดแย้งระหว่างระหว่างอารยธรรม" (The Clash of Civilizations) ซึ่งเป็นผลมาจากกระแส"การปะทะระหว่างอารยธรรม"ในโลกปัจจุบันที่เต็มไปด้วยอคติ และความคลางแคลงใจระหว่างศาสนา เชื้อชาติและวัฒนธรรม


ดังนั้นการจัดการวัฒนธรรมบนความหลากหลายทางวัฒนธรรมในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นธรรมชาติของสังคมที่ควรกำหนดวิธีดำเนินการหากใช้ทฤษฎีการจัดการด้วยวิธีใช้ความรุนแรง ก็จะทำให้ปัญหายิ่งทวีความรุนแรงถึงแม้จะดูภาวะข้างนอกว่ามีเอกภาพขงคนในชาติและรัฐของตน ในขณะเดียวกันการใช้สันติวิธีผ่านกระบวนการต่างๆ อย่างเป็นขั้นเป็นตอนไม่ว่าจะเป็นการยอมรับการคงอยู่ของความหลากหลายทางวัฒนธรรม การศึกษาความหลากหลายทางวัฒนธรรม การสานเสวนาน่าจะเป็นทางออกในการอยู่ร่วมอย่างสันติและสมานฉันท์และที่สำคัญคือการทำการวิจัยและนำผลวิจัยไปปฏิบัติ


 


เชิงอรรถ


[1] โปรดดู ภูวดล ทรงประเสริฐ. 2547. จีนโพ้นทะเลสมัยใหม่. กรุงเทพ : เลิฟ แอนลิฟ. หน้า 297-336


[2] Huntington, Samuel P. 1999. The Clash of Civilizations. .Retrieved Feb 28, 2007, from http://www.foreignaffairs.org/19930601faessay5188/samuel-p-huntington/the-clash-of-civilizations.html


[3] http://en.wikipedia.org/wiki/Samuel_P._Huntington


[4] โปรดดู ณรุจน์ วศินปิยมงคล.2548. อ่านให้ทะลุเหตุการณ์จลาจลวัยรุ่นในฝรั่งเศส. สืบค้นเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2550 จาก http://www.midnightuniv.org/midnight2545/document95219.html


[5] โปรดดู วิทยาลัยการทัพสัมพันธ์ กองทัพบก. .2548. การแก้ไขวิกฤตการณ์สามจังหวัดชายแดนภาคใต้. สืบค้นเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2550 จาก  http://www.navy.mi.th/ians/vichakan1/data/4/sammana.doc


[6] จารุวัฒน์ เกยูรวรรณ และปกป้อง เลาวัณย์ศิริ. 2550.โรฮิงยาส์ คือใคร.สืบค้นเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2550 จาก http://www.zimphotography.com/editorial/publications/Yale.htm


[7] อับดุลสุโก ดินอะ.2550. ทรรศนะอิสลามที่ถูกต้องว่าด้วยการอยู่ร่วมกันอย่างสันติและสมานฉันท์ในสังคมที่หลากหลาย. สืบค้นเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2550 จาก http://www.isranews.org/cms/index.php?option=com_content&task=view&id=1737&Itemid=88


[8] โปรดดูรายละเอียด ชัยวัฒน์ สถาอานันท์. 2548. สันติวิธี ศึกษาจากชีวิตของศาสดา 3 ศาสนา. สืบค้นเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2550 จาก http://www.peacethai.org/thai/content/view/23/32/


[9] อัศวิน เนตรโพธิ์แก้ว. โลกาภิวัตน์ทางวัฒนธรรม. มติชนรายวัน, 6 กรกฎาคม 2547, หน้า 7


[10] โปรดดูโชคชัย วงษ์ตานี.พื้นฐานวัฒนธรรมมุสลิม. สืบค้นเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2550 จาก http://midnightuniv.org/midnight2545/document95127.html


[11] โปรดดู Anis, Ibrahim .et al. 1994 Muajam al-Wasid.sl: sn หน้า 499

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net