Skip to main content
sharethis

มหาสารคาม / เมื่อวันที่ ๑๙ - ๒๐ ก.ย. ๕๑ ที่ห้องประชุมพิพิธภัณฑ์มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มีเวทีสัมมนา "นโยบายพืชเศรษฐกิจ : ภัยคุกคามต่อชุมชนกับการจัดการทรัพยากร ภาคอีสาน" จัดโดย สมาคมป่าชุมชนอีสาน เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน เครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภาคอีสาน และแผนงานสนับสนุนความมือการจัดการป่าชุมชนในประเทศไทย ศูนย์ฝึกอบรมแห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค (RECOFCT) มีผู้เข้าร่วมประมาณ ๔๐ คน ซึ่งเป็นแกนนำชาวบ้านเครือข่ายต่าง ๆ  และเจ้าหน้าที่องค์กรพัฒนาเอกชน


 


โดยมีวัตถุประสงค์ของการจัดงานเพื่อติดตามสถานการณ์การจัดการป่าชุมชนของเครือข่ายป่าชุมชนภาคอีสาน เพื่อนำเสนอผลการศึกษา ข้อมูล สถานการณ์ทางนโยบายเกี่ยวกับการส่งเสริมการปลูกพืชเศรษฐกิจ พืชพลังงาน ในภาคอีสาน เพื่อแลกเปลี่ยนและสังเคราะห์ข้อมูล ผลกระทบจากนโยบายต่อวิถีชีวิตและการจัดการทรัพยากรของชุมชน และเพื่อจัดทำชุดข้อมูล ข้อเสนอต่อแนวทางการดำเนินนโยบายของรัฐเกี่ยวกับการส่งเสริมการปลูกพืชเศรษฐกิจในภาคอีสาน


 


สืบเนื่องจากเครือข่ายป่าชุมชนได้ติดตามเรื่องสถานการณ์ พรบ.ชุมชน และมีการรวมตัวกันเป็นเครือข่ายระดับจังหวัดต่าง ๆ มีกระบวนการระดับภาคที่หนุนช่วยด้านข้อมูลในการผลักดันเรื่องป่าชุมชน ต่อสู้ด้านนโยบาย แต่ช่วงที่ผ่านมาขาดการพบปะแลกเปลี่ยนกัน และเกิดการทำงานป่าชุมชนพื้นที่ใหม่จำนวนมาก ซึ่งที่ผ่านมามีแกนนำป่าชุมชนไปร่วมสัมมนากับสมาคมป่าชุมชนโลก ที่เนปาล มีการทบทวนขบวนงานป่าชุมชน มีการตั้งคณะทำงานชุดหนึ่ง และมีทีมปฏิบัติการ


 


สำหรับขณะนี้ที่สถานการณ์เรื่องพืชเศรษฐกิจเข้ามาคุกคามต่อการจัดการทรัพยากรของชุมชน และเครือข่ายอย่างหนัก เครือข่ายป่าชุมชนจึงจัดเวทีเพื่อนำเสนอกรณีศึกษาต่าง ๆ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ดังนี้


 


สถานการณ์ทางนโยบายเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม


 


นายระวี ถาวร แผนงานสนับสนุนฯ (RECOFCT) นำเสนอถึง ความ


คืบหน้าสถานการณ์ทางนโยบายด้านป่าชุมชน ซึ่งเกี่ยวข้องกับ พรบ.ป่าชุมชน พรบ.อุทยานแห่งชาติ และ พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า


 


สำหรับร่าง พรบ.ป่าชุมชน มีสาระสำคัญที่น่าสนใจ ๒ ข้อ คือ ๑. ให้ชุมชนที่อยู่ในเขตป่าอนุรักษ์อยู่ในป่าได้แต่ห้ามใช้ประโยชน์ ๒. ชุมชนที่อยู่ติดเขตป่าอนุรักษ์ไม่สามารถจัดตั้งป่าชุมชนในบริเวณเขตกันชนได้ ซึ่งทั้งสองข้อนี้ถือเป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของชุมชน และตอนนี้ ร่าง พรบ.ฯ อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ ในส่วนของหน่วยงานราชการ (กรมป่าไม้) ได้เข้าไปทำงานร่วมกับชุมชนหลายแห่ง มีการตั้งคณะกรรมการป่าชุมชนระดับจังหวัด ซึ่งหลายส่วนมีความไม่เข้าใจเรื่องป่าชุมชน ดังนั้น เครือข่ายจะเคลื่อนไหวคัดค้านในประเด็นดังกล่าว โดยจะจัดเวทีเพื่อระดมในวันที่ ๒๓ ก.ย. ที่จะถึงนี้ ที่แผนงานสนับสนุนฯ (RECOFCT)


 


ส่วนสถานการณ์ของ ร่าง พรบ. อุทยานและป่าสงวนแห่งชาติ แผนนี้เน้นตัวเลขทางเศรษฐกิจเป็นหลัก ใช้กฎหมายให้เอื้อต่อการจัดการทรัพยากรเพื่อการท่องเที่ยว โดยจะปรับปรุงกฎหมายสองฉบับนี้ ซึ่งมีประเด็นที่สำคัญคือ ๑. มีการแบ่งพื้นที่ป่าเป็นเขตที่ ๑ บริการเรื่องการท่องเที่ยว เปิดโอกาสให้เอกชน นายทุนเช่าได้ ๑๐ ไร่ ไม่น้อยกว่า ๕ ปี ขณะเดียวกันชาวบ้านที่อาศัยอยู่ข้างในอาจเป็นทรัพยากรการท่องเที่ยว เขตที่ ๒ อยู่ในเขตผ่อนปรน รัฐเข้าไปพิสูจน์สิทธิ์ ถ้าอยู่ก่อนอาจผ่อนปรน ถ้าอยู่หลังประกาศก็ต้องย้ายออก


 


ด้านนายอุบล อยู่หว้า เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน ได้นำเสนอสถานการณ์ พรบ.สภาเกษตรกรแห่งชาติ โดยกล่าวว่าสาระหลักของ พรบ. ฉบับนี้ตั้งเพื่อเกษตรกรรายย่อย โดยการจัดตั้งสภาเกษตรกร ให้เกษตรกรไปขึ้นทะเบียน ซึ่งกรรมการชุดที่ ๑ มาจากการสรรหา และตัวแทนองค์กรในท้องถิ่น จากสาขาเกษตร ประมง ปศุสัตว์ และเลือกจังหวัดละ ๑ คน จากนั้นเลือกกันเองเป็นประธานสภาระดับชาติ องค์กรนี้ไม่มีอำนาจ แต่ทำหน้าที่วางแผนแล้วส่งให้ข้าราชการดำเนินการต่อไป แต่เกรงว่าจะมีร่างที่เตรียมไว้แล้วของนักการเมืองมาตีคู่ ซึ่งอาจตั้งใจจะออกให้ได้ภายในเดือนธันวาคมนี้


 


ขณะที่นางสาวไพรินทร์ เสาะสาย โครงการทามมูล กล่าวเกี่ยวกับสถานการณ์เรื่อง พรบ.น้ำ ว่า เครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภาคอีสาน คัดค้านเรื่อง พรบ.น้ำมาตลอด เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๕ - ๒๕๔๖ ก็มีการร่าง พรบ.น้ำออกมาอีกครั้ง มีการตั้งคณะกรรมการลุ่มน้ำ ทำหน้าที่ในการทำแผนในแต่ละลุ่มน้ำ ซึ่งโครงการต่าง ๆ ที่เข้ามาคือการขุดลอกเป็นส่วนใหญ่ ตอนนี้มีร่างอยู่ ๓ ฉบับ แต่เมื่อเข้าสู่สภา กลายเป็นแปลงจาก ๓ ร่างมาเป็นร่างใหม่ นำโดยนายสุรินทร์ พิกุลทอง จึงมีการเคลื่อนไหวคัดค้านขององค์กรประชาชน ทำให้มีการหยุดประชุมสภาเรื่อง พรบ.น้ำ ต่อมาภาคประชาชนจึงใช้วิธีการลงชื่อคัดค้าน เพราะแนวคิดของร่างฉบับนี้คือ น้ำที่ตกลงมาทั้งหมดเป็นของรัฐ ดังนั้นน้ำจะต้องมีราคา มีการทำใบราคาการใช้น้ำ น้ำที่ตกมาจากฟ้าก็จะต้องมีการบริหารจัดการน้ำให้มีราคา ซึ่งเครือข่ายต่าง ๆ ต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง


 


นอกจากนี้ ไพรินทร์ ยังได้นำเสนอข้อมูลเรื่องการผันน้ำ และระบบน้ำในภาคอีสานว่า ขณะที่กรมชลประทานคิดเรื่องการผันน้ำ มีการคำนวณว่าการปลูกพืชเศรษฐกิจนั้นจะนำน้ำมาจากไหน ปริมาณเท่าไร จึงมีการคิดนำน้ำมาจากลาว แม่น้ำโขง โดยการขุดอุโมงค์ที่จ.เลย นำน้ำมาเติมที่เขื่อนอุบลรัตน์ ผ่านลุ่มน้ำลำพะเนียง ต่อไปยังเขื่อนบ้านกุ่ม จะทำพนังกั้นน้ำเป็นซีเมนต์ ผ่านจังหวัดต่างในภาคอีสาน มีทั้งเส้นผ่านจ.ขอนแก่น ทางอ.มัญจาคีรี มีเส้นทางลำตะคอง และเส้นทางน้ำจากเขื่อนลำปาว


 


การนำน้ำจากแม่น้ำโขง ผันมาเติมที่ภาคอีสาน โดยผันน้ำงึมซึ่งกู้เงินจากต่างประเทศ ให้เอกชนลงทุน โดยจะเป็นแนวท่อน้ำใต้ดินผ่านลงสู่หนองหาน - กุมภวาปี ซึ่งหนองหานกำลังเพิ่มความสูงพนังกั้นน้ำ เพื่อรองรับน้ำจากน้ำงึม ซึ่งในพื้นที่ที่จะได้รับน้ำเป็น ๖ จังหวัด ริมฝั่งโขง ที่มีทั้งโรงงานอุตสาหกรรม เช่นโรงงานอ้อย โรงงานน้ำตาล รวมถึงเป็นพื้นที่ในโครงการเหมืองแร่โปแตช นอกจากนี้ยังเป็นพื้นที่ปลูกพืชเศรษฐกิจอย่างปาล์มน้ำมัน และยางพารา


 


นอกจากนี้ การใช้น้ำก็ต้องมีค่าใช้จ่าย ซึ่งมีราคาสูง จึงมีแค่โรงงานอุตสาหกรรมและนายทุนเท่านั้นที่จะจ่ายได้ และการเพิ่มน้ำมากักเก็บในภาคอีสานก็ยิ่งทำให้ดินเค็ม มีเกลือขึ้นสู่ผิวดิน  ทั้งนี้ น้ำเป็นปัจจัยหนึ่งในการทำการเกษตร โดยเฉพาะการปลูกพืชเศรษฐกิจที่จำเป็นต้องใช้น้ำในปริมาณสูงมาก มีความต้องการน้ำมาก ซึ่งแผนการจัดหาน้ำได้มีการวางไว้เป็นระบบแล้ว


 


ผลการศึกษาพืชเศรษฐกิจ : ปาล์มน้ำมัน ยางพารา มันสำปะหลัง และอ้อย


 


นางสาวมาลี  สุปันตี เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน นำเสนอถึงผลกระทบการปลูกปาล์มน้ำมันว่า  ปาล์ม เป็นไม้ต่างประเทศมาจากไนจีเรีย เป็นพืชเศรษฐกิจทางภาคใต้ ถิ่นกำเนิดอยู่ที่แอฟริกา ปลูกมากที่อินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย และไนจีเรีย เข้ามาในไทยเมื่อ ๗๐ - ๘๐ ปีที่แล้ว ในช่วงแรกปลูกเพื่อประดับตกแต่ง ต่อมารัฐบาลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ส่งเสริมการปลูกเป็นพืชเศรษฐกิจ เพื่อสกัดน้ำมัน


 


ปี พ.ศ.๒๕๔๙ เริ่มมีการส่งเสริมปลูกมากขึ้น ปี พ.ศ.๒๕๕๑ - ๒๕๕๒ จะขยายพื้นที่ทั้งหมดประมาณ ๗ แสนไร่ มีการปรับเปลี่ยนโดยจะปลูกในสวนยางพาราเก่า ในอีสานตั้งเป้าไว้ ๓ แสนไร่ โรงงานอีก ๒ แห่ง


 


มีกรณีศึกษาที่อ.เชียงคาน จังหวัดเลย กรมการเกษตรเป็นผู้ส่งเสริม เจ้าของเคยทำสวนมะขามหวาน แต่ตัดทิ้งหมดแล้วปลูกปาล์มน้ำมัน ซึ่งจากการสอบถามเจ้าของบอกว่ายังไม่ค่อยรู้จักปาล์มแต่ลูกชายไปอยู่ภาคใต้ เห็นว่าได้ผลดี เลยตัดสินใจปลูกในพื้นที่ ๓๕ ไร่ ปรับเปลี่ยนพื้นที่จากสวนไม้เป็นสวนปาล์ม ซึ่งให้ผลผลิตต่ำมาก เวลาออกดอกเป็นดอกตัวผู้ (ดอกแหลม ๆ) ผลแห้ง เพราะขาดน้ำ ผลฝ่อไป ไม่ให้น้ำมัน น้ำหนักที่สมบูรณ์ที่สุดอยู่ที่ ๑๐ - ๓๐ กก. แต่แปลงนี้น้ำหนักสมบูรณ์สุดได้แค่ ๒ กก. กรมวิชาการเกษตรบอกว่าอาจเพราะขาดปุ๋ย และลองใช้ปุ๋ยหลาย ๆ สูตรแล้วก็ไม่ได้ผล ซึ่งเจ้าของก็ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรกับปัญหาที่เกิดขึ้น


 


การลงทุนของแปลงนี้ คือกู้เงินจาก ธกส.มาซื้อกล้าพันธุ์ (ยากำบิ) ต้นละ ๑๖๐ - ๑๖๙ บาท ราคาค่อนข้างแพงเมื่อเทียบกับภาคใต้ ทำระบบน้ำประมาณ ๑๕๐,๐๐๐ บาท ค่าน้ำมัน ๒๐,๐๐๐ บาท ค่าทำปุ๋ยชีวภาพ ยังไม่คิดค่าจ้างค่าแรงงาน รวมต้นทุนอยู่ที่ ๓ แสนกว่าบาท ปีที่ ๓ ได้ผลแล้วคือ มีรายได้ประมาณ ๕๙๔ บาท ขายได้ราคากิโลกรัมละ ๓ บาท รวมขายได้ทั้งหมด ประมาณ ๑ พันกว่าบาท


 


ความเสี่ยงนั้นคือ ปริมาณน้ำที่ต้องใช้มากขึ้นเมื่อปาล์มอายุมากขึ้น สายพันธุ์ การตลาด การจัดการการผลิต แหล่งรับซื้อที่แน่นอน การใช้ปุ๋ยเคมีที่ต้องใช้ปริมาณมากขึ้นทุกวัน ต้นทุนสูง ไม่คุ้มทุน การสูญเสียพื้นที่ที่เคยเป็นไม้ผล เป็นแหล่งอาหารธรรมชาติลดลง


 


แรงจูงใจที่ทำให้ชาวบ้านหันมาปลูก คือ การได้รับข้อมูลว่าเป็นพืชรักษาระบบนิเวศ ให้น้ำมันมากกว่าพืชชนิดอื่น ๖ - ๓๐ เท่าตัว ให้ผลผลิตยาวนาน ๒๐ - ๒๕ ปี ประมาณ ๒๕ วันเก็บเกี่ยวครั้งหนึ่ง ผลผลิตทำได้หลายอย่างกว่า ๖๐๐ ชนิด ทุกส่วนนำไปใช้ประโยชน์ได้หมด ถ้าอยู่ในเขตที่เหมาะสม คู่แข่งน้อย ไม่มี GMO


 


ข้อสังเกตคือ เกษตรกรปลูกโดยไม่มีข้อมูล ไม่มีความรู้ ไม่รู้จักตลาด เป็นการฉวยโอกาสทางธุรกิจของนายทุนขายกล้า มีการให้สินเชื่อกล้าด้วยครึ่งหนึ่ง ได้ผลผลิตก่อนค่อยจ่ายอีกครึ่งหนึ่ง การสกัดน้ำมันก็ต้องอาศัยเทคโนโลยี ซึ่งเกษตรกรไม่มีความรู้ ไม่มีทุน เสียพื้นที่ทางการผลิตอาหาร ทุกอย่างต้องซื้อกิน


 


นายสมาน วิสัยเกตุ สมาคมป่าชุมชนอีสาน นำเสนอถึงประเด็นเรื่องยางพารากับความมั่นคงของวิถีชีวิตและการจัดการป่าชุมชนว่า


 


ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๔๖ ยางพาราได้รับการส่งเสริมจากหน่วยงานราชการอย่างมาก ทำให้ชาวบ้านตื่นตัวและปลูกตามกัน พื้นที่ป่าดงขุมคำ อ.ตระการพืชผล จ.อุบลราชธานี เป็นป่าดิบแล้ง ชาวบ้านหาอยู่หากินกับป่ามานาน สิ่งที่ทำให้เกษตรกรอยากปลูกยางคือราคาที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ เกิดกระแสการปลูกยางทั่วประเทศ ชาวบ้านที่มีที่ดินและทุนจึงสามารถปลูกได้ และรัฐให้การสนับสนุนทั้งเรื่องกล้ายาง และการอบรมต่าง ๆ ที่สำคัญชาวบ้านไม่ประสบผลสำเร็จกับการทำเกษตรแบบเดิม และในพื้นที่ที่เป็น สปก. ชาวบ้านก็คิดว่าเมื่อมีการทำประโยชน์ รัฐก็จะออกเอกสารสิทธิ์ให้ และพื้นที่ดังกล่าวก็เป็นที่ดินราคาต่ำ นายทุนก็เข้าไปซื้อเพื่อปลูกยาง ไร่ละ ๗,๐๐๐ บาทเท่านั้น          


 


ความเสี่ยงเมื่อมีการปลูกยาง คือ ยางลงทุนสูง ตั้งแต่ค่าไถ ค่ากล้าพันธุ์ยาง บางคนไม่มีทุนก็ต้องกู้หนี้ยืมสิน เกษตรกรขาดความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับยางพารา ราคายางผันผวนตามราคาตลาด ยางพันธุ์ปลอม ปลูกสองปีออกดอก เกษตรกรไม่รู้จะทำอย่างไร เพราะลงทุนไปแล้ว ผลผลิตที่ได้ไม่มีความแน่นอน เป็นอนาคตที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ ซึ่งที่ดงขุมคำ ได้ผลผลิตแล้ว ๒ ราย แต่รายหนึ่งประสบปัญหา ต้นอ้วนแต่กรีดแล้วไม่มีน้ำยาง เกษตรกรเสี่ยงต่อการสูญเสียที่ดิน รัฐบาลไม่มีการประกันความเสี่ยงให้กับเกษตรกร


 


"ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากปี พ.ศ.๒๕๔๖ - ปัจจุบัน คือ หนี้สิน กระทบต่อชีวิตของเกษตรกร เช่น การหาอยู่หากิน หาเห็ดไม่ได้ มดแดงไม่มี ต้องซื้อกิน ทำลายวงจรอาหาร อย่างแมงแคงที่เคยมีเดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว ทรัพยากรอาหารลดลง ป่าหัวไร่ปลายนาลดลง สภาพแวดล้อมเสื่อมโทรม เช่น การปนเปื้อนของสารเคมีในดินและแหล่งน้ำ มีตัวอย่างการฉีดพ่นสารเคมีที่สวนหนึ่งแต่อีกสวนหนึ่งก็ใบเหี่ยวด้วย แล้วป่าดงขุมคำก็เป็นต้นน้ำ น้ำที่ปนเปื้อนสารเคมีก็ไหลไปตามนา เกิดความขัดแย้งในชุมชน เช่น การปรับสินไหมสูง ซึ่งปรับเป็นฉัตร ยอดละ ๕๐๐ บาท ต่อตัว บางคนวัวห้าตัวก็ต้องขายวัวทั้งหมดใช้หนี้ที่ไปเข้าสวนยาง บางคนหมดเป็นแสน กระทบต่อการเลี้ยงสัตว์ของชาวบ้าน เพราะไม่มีที่เลี้ยง จำเป็นต้องเข้าสวนยาง เป็นสาเหตุให้เกษตรกรสูญเสียที่ดิน"     


 


นอกจากนี้ยังมีปัญหาเกี่ยวกับการปลูกยาง เช่น การเกิดโรครา โรคบอด การแห้งตายของต้นยาง ยาง ๒ ปีออกดอก ผอม แคระแกร็น เจริญเติบโตช้า  


 


นายเรืองเดช โพธิ์ศรี เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน นำเสนอเกี่ยวกับ ผลกระทบการปลูกมันสำปะหลัง ดังนี้


 


มันสำปะหลังเข้ามาในอีสานประมาณปี พ.ศ.๒๕๐๗ มีการโฆษณาว่ามันฯ อายุสั้น ปลูกได้หลังการทำนา มีพันธุ์ห้วยบง ๖๐, เกษตร ๕๐, ระยอง ๗, ระยอง ๕, ระยอง ๗๒ และศูนย์วิจัยที่อุบลฯ ก็ทดลองปลูก พันธุ์ที่แนะนำคือ ระยอง ๗ เป็นพันธุ์ที่ทน อายุสั้น


 


การขยายตัวของพื้นที่ปลูกมันฯ เพราะว่าเรื่องราคา ต้นปี พ.ศ.๒๕๕๑ ตลาดมีความต้องการมากขึ้นในการทำเอทานอล และเรื่องการต้องการพลังงานทดแทน ทำให้ตอนนี้มีการรุกพื้นที่นา หัวไร่ปลายนา เพื่อปลูกมันฯ


 


ปัญหาที่พบคือ เกษตรกรปลูกมันฯ ในนาข้าว มันฯ ไม่ผ่านแล้ง ช่วงพ.ค.ฝนเริ่มตก มันจึงตายเพราะไม่ทนน้ำ เป็นพืชไร่ พอกู้ขึ้นมาก็ต้องนำไปขาย ได้ราคาไม่ดี เพราะมันฯ น้ำท่วมไม่ได้เปอร์เซ็นต์แป้ง ขายได้ราคาถูก เพราะถูกกดราคา (ตัวอย่างจากจ.ยโสธร)


 


ไทยส่งออกมันสำปะหลังเป็นอันดับที่สองของโลกรองจากไนจีเรีย ๓๗ ล้านไร่ ๑.๔ ล้านไร่อยู่ที่จ.นครราชสีมา ภายในปี พ.ศ.๒๕๕๔ จะเพิ่มพื้นที่อีก ๔.๗ ล้านไร่ มีครอบครัวที่ปลูกทั้งหมด ๔.๗ แสน


 


ข้อเสนอจากฝ่ายศึกษา คือ ต้องค้นหาวิธีการเพิ่มผลผลิต และรวมกลุ่มต่อรองทางการตลาด การจัดการผลผลิตของเกษตรกร ซึ่งมันสำปะหลังมีความลงตัว เหมาะสมกับประเทศไทย โดยเฉพาะอีสาน พันธุ์ที่ยึดพื้นที่อีสานมากที่สุดคือ เกษตร ๕๐ เมื่อราคาขึ้นเนื่องจากการแย่งการซื้อของโรงแป้ง สิ่งที่ต้องส่งเสริม นำมาฟื้นฟูใหม่อย่างเร่งด่วนคือการทำลานมันชุมชน ทำมันเส้น เลี้ยงหมูหลุมไปด้วยกัน ให้มีการสมดุลภายใน เกษตรกรสามารถทำเองได้ ลงแขก ปลูกไม่ต้องเยอะ ลดต้นทุน สร้างอำนาจต่อรอง จำกัดการปลูกภายใต้การใช้ปุ๋ยอินทรีย์ และสามารถดายหญ้า ดูแลโดยแรงงานในครอบครัวได้


 


นายถนัด แสงทอง เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน นำเสนอเรื่อง ผลกระทบการปลูกอ้อยว่า อ้อยเป็นเกษตรพันธะสัญญา เป็นระบบพันธสัญญาที่เก่าที่สุด ตอนนี้มีพื้นที่ปลูกอ้อยประมาณ ๗ ล้านไร่ มีการเพิ่มพื้นที่การผลิตมากขึ้นในแต่ละปี โดยเฉพาะปี พ.ศ.๒๕๔๙ โรงงานอีสาน มี ๑๕ แห่ง ระยะ ๒๐ ปี โรงงานเพิ่มถึง ๒๐ แห่ง


 


ประเด็นพืชพลังงาน ผลผลิตจากอ้อย กากน้ำตาลนำมาทำเอทานอล ตันหนึ่งได้เอทานอล ๒๐ ลิตร แต่ปัญหาคือ การเอาอ้อยมาทำเอทานอลจะติดขัดเรื่องกฎหมาย เนื่องจากเป็นสินค้าควบคุมเพราะต้องเอาอ้อยไปทำน้ำตาลเป็นหลัก ส่วนที่นำมาทำเป็นเอทานอล คือ กากน้ำตาล แต่กากน้ำตาลก็นำไปทำอย่างอื่นได้ด้วย เช่น เหล้า ขณะที่กระแสการเอาอ้อยมาทำเอทานอลเป็นการต้องการเพิ่มพื้นที่การผลิตอ้อยของรัฐบาล


 


ระบบพันธสัญญาอ้อยเป็นระบบ ๓๐ ต่อ ๗๐ เป็นของเกษตรกร ๗๐ ถ้าราคาอ้อยขายขั้นสุดท้ายมากกว่าขั้นต้นก็จะปันผลกลับคืนสู่เกษตรกร และมีระบบโควตา


 


โรงงานกำหนดโควตาเซ็นสัญญา ๓ ปี เกษตรกรดูแลรักษา ระบบโควตามีสองแบบ รายใหญ่เปิดลานรับซื้ออ้อยที่ลานนอกระบบอีกที ส่วนรายย่อยขายเอง นอกจากนี้ มีการใช้แรงงานจำนวนมากในระบบการปลูกอ้อย


 


ส่วนสาเหตุการปลูกอ้อย คือ ๑.พืชเศรษฐกิจ ๒.สนับสนุนปัจจัยการผลิต ๓.มีระบบปันกำไรส่วนเกิน


 


สำหรับสถานการณ์การปลูกอ้อย ตอนนี้มีปรากฏการณ์ดังนี้ ๑.พื้นที่ปลูกอ้อย ช่วงที่มันฯ ราคาแพงก็แย่งพื้นที่ปลูกอ้อย แต่โรงงานก็แก้โดยสนับสนุนให้ปลูกอ้อยลงนาซึ่งเป็นการให้เงินสนับสนุน ๕๐๐ บาท ไปดูแลแปลงอ้อยที่ปลูกใหม่หรือปลูกในนา ๒.ปีนี้มีทั้งฝนแล้งและน้ำท่วม ๓.การใช้สารเคมี ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมสูง มีการโฆษณาชวนเชื่อในพื้นที่มาก และ ๔.ต้นทุนการผลิตสูง ๑๐,๐๐๐ - ๑๓,๐๐๐ บาท / ไร่ โดยเฉพาะสารเคมีและค่าแรงที่สูงมาก สำหรับการปลูกอ้อยลงนา มีต้นทุนเพิ่มในการสูบน้ำออก รวมถึงสินเชื่อต่าง ๆ นอกจากนี้ราคาก็ผันผวน และโรงงานยังเก็บเงินจากเกษตรกรถ้าทำการผลิตได้ไม่ตรงเป้า ซึ่งชาวไร่อ้อยต้องลงทุนในการลงแรงในที่ดินของตัวเองสูงมาก


 


บทสรุปคือระบบพันธสัญญาผลประโยชน์เป็นของโรงงาน ส่วนเกษตรกรรับผลกระทบทุกอย่าง รวมทั้งแบกรับความเสี่ยงเองด้วย ขณะที่ผลประโยชน์จากเอทานอลไม่มาถึงชาวไร่เป็นแค่ผลประโยชน์ของโรงงาน โดยกฎหมายให้ผลประโยชน์แก่ชาวไร่แค่สินค้าน้ำตาล ส่วนกากน้ำตาลกฎหมายยังไม่แบ่งปันมาถึงชาวไร่ แต่เป็นของโรงงานทั้งหมด และยังไม่มีการแก้ไขในส่วนนี้


 


ข้อเสนอจากเวที : เสียงสะท้อนถึงหนทางข้างหน้า


 


ในเวทีการนำเสนอตลอดสองวัน ได้มีการระดมข้อเสนอจากผู้เข้าร่วมต่อนโยบายพืชเศรษฐกิจ ที่กำลังเป็นภัยคุกคามต่อชุมชนกับการจัดการทรัพยากรของภาคอีสาน ซึ่งประมวลได้ว่าสิ่งที่ต้องทำเร่งด่วนคือการกระจายข้อมูล ข่าวสาร เรื่อง พรบ.ต่าง ๆ แก่พี่น้องประชาชนให้ทั่วถึง ทันสถานการณ์ สร้างทางเลือกให้เกษตรกร


 


ด้านเกษตรกรก็ต้องหลุดออกจากระบบของโรงงานให้ได้ก่อน แล้วจึงรวมตัวกัน ซึ่งทั้งอ้อยและมันฯ เป็นพืชที่มีผลิตภาพสูง บำรุงนิดเดียวก็ตอบสนองดีมาก ผลผลิตเพิ่มขึ้นมาก ซึ่งมีการทดลองทำที่จ.สุพรรณบุรี และผลิตน้ำตาลขายกันในกลุ่ม โดยอาจจะเริ่มที่การทำในพื้นที่เล็ก ๆ ค่อย ๆ ทำ ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ ฯลฯ ต้องค้นหาวิธีการเพิ่มผลผลิต และรวมกลุ่มต่อรองทางการตลาด การจัดการผลผลิตของเกษตรกร


 


ทั้งนี้ ที่ผ่านมาเกษตรกรปล่อยให้คนอื่นเป็นคนคิดให้ แต่จากนี้อยากให้เกษตรกรคิดเอง อย่าวิ่งตามกระแสพืชเศรษฐกิจให้มาก ในการปลูกยางพารานี้ ถ้าเราลงทุนเอง มีแรงงานก็น่าจะทำ แต่ว่าบางคนไม่มีแรงงาน ไม่มีทุน กู้ยืมเขามาทั้งหมด เมื่อขายได้เท่าไหร่ก็ต้องใช้หนี้เขาหมด  และไม่ควรนำที่นามาทำเป็นที่ปลูกยาง ต้องดูความเหมาะสมด้วย ต้องบำรุงด้วยปุ๋ยคอก อย่าใช้สารเคมี ต้องลดปัจจัยการผลิตจากภายนอก


 


นอกจากนี้ต้องศึกษาข้อมูลให้ถ่องแท้ก่อนการปลูก ต้องคิดให้สมดุล ระหว่างพืชเศรษฐกิจและพืชอาหาร อย่าให้เป็นการผลิตที่ทำลายสิ่งแวดล้อม พัฒนาค้นหาพลังงานทางเลือก สร้างพันธมิตรระหว่างเครือข่ายการต่อสู้ขององค์กรชาวบ้าน เช่น ปากมูล ลำน้ำเสียว ฯลฯ


 


รวมทั้งหล่อหลอมอุดมการณ์ของภาคประชาชน แกนนำอย่างต่อเนื่อง "เราต้องสร้างคนทำงาน พัฒนาพี่น้อง"


 


ขณะที่การทำงานในแนวรุกควรมีการสืบหาที่ดินที่ได้มาโดยไม่ชอบของข้าราชการ นักการเมือง นำมาจัดการ ปลูกพืชพลังงานทดแทน และจัดเก็บภาษีอัตราก้าวหน้า ตลอดจนมีการจัดตั้งชมรมหรือองค์กรชาวไร่มันสำปะหลังในภาคอีสาน คล้าย ๆ ชมรมชาวไร่อ้อย


 


นอกจากนี้ก็ควรคิดถึงเรื่องเศรษฐกิจชุมชนที่สามารถจัดการผลผลิตทางการเกษตรของตนเองและสร้างกลไกต่อรองอำนาจของเกษตรกรขึ้นมาด้วย เช่น มันสำปะหลังก็ต้องส่งเสริม ฟื้นฟูการทำลานมันชุมชน ทำมันเส้น ให้มีการสร้างสมดุลภายในแปลงเกษตร ลดต้นทุน สร้างอำนาจต่อรอง


 


ในช่วงท้าย คณะทำงานสมัชชาป่าชุมชนแห่งประเทศไทยได้นำเสนอรายละเอียดและเชิญชวนเข้าร่วมเวทีสมัชชาป่าชุมชนแห่งประเทศไทย เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนขบวนงานป่าชุมชน ซึ่งงานนี้จะจัดในช่วงวันที่ ๒๐ - ๒๒ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๑ ที่สำนักงานใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์ กรุงเทพมหานคร


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net