"แป๋งขี้เหยื้อหื้อเป๋นทุน" ไปดูชุมชนลดมลพิษสร้างรายได้ที่เชียงใหม่

ทัพไท หน่อสุวรรณ รายงาน

 

 

เมื่อวันที่ 24 กันยายน สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับ คณะวิจิตรศิลป์ และคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกันรายงานผลการดำเนินงาน "โครงการแป๋งขี้เหยื้อหื้อเป๋นทุนเพื่อลดการเผาขยะ" (โครงการเปลี่ยนขยะให้เป็นทุนเพื่อลดการเผาขยะ) ที่โรงแรมฮอลิเดย์การ์เด้น ถ.ห้วยแก้ว อ.เมือง จ.เชียงใหม่

                                   

โดยมีการแถลงผลการดำเนินงานโดย ดร.ดวงจันทร์ อาภาวัชรุตม์ เจริญเมือง นักวิจัยชำนาญการสถาบันวิจัยสังคม ในฐานะหัวหน้าโครงการ ผศ.สุนันทา รัตนาวดี รองคณบดี คณะวิจิตรศิลป์    และ ผศ.อรพิน สันติธีรากุล รองคณบดี คณะบริหารธุรกิจ

 

 

พลิกวิกฤตเป็นโอกาส "แป๋งขี้เหยื้อหื้อเป๋นทุน"

ดร.ดวงจันทร์ อาภาวัชรุตม์ เจริญเมือง หัวหน้าโครงการ กล่าวว่าโครงการนี้เกิดขึ้นเนื่องจาก จ.เชียงใหม่ประสบปัญหาหมอกควัน โดยเมื่อช่วงเดือนมีนาคมปี 2550 ที่ผ่านมา โดยสาเหตุของหมอกควันเกิดจากการเผาป่า วัสดุทางการเกษตร และขยะ ค่อนข้างมากกว่าปกติ โดยเฉพาะผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศในเมื่อเชียงใหม่ของวันที่ 13 มีนาคม 2550 ปรากฏว่าในเมืองเชียงใหม่มีฝุ่นละอองขนาดเล็กเกินจากค่ามาตรฐานถึง 3 เท่า ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพ

 

โดยมลพิษทางอากาศที่เกิดขึ้นมีสาเหตุจาก การเผาในที่โล่ง เช่น การเผาขยะ วัสดุทางการเกษตร สุมไฟให้สัตว์เลี้ยง การประกอบการ เช่น การประกอบอาหาร อู่ซ่อมรถ โรงงานอุตสาหกรรม การก่อสร้าง การคมนาคม การเผาศพ และเท่าที่มีสำรวจพบยังไม่เมรุเผาศพที่ได้มาตรฐานแม้แต่ที่เดียวในเชียงใหม่

 

"ทั้งที่ตามจารีตของเราบอกว่า คนที่จะใช้ปราสาทเผาศพนั้นมีอยู่แค่ 3 กลุ่มคือ เจ้านาย พระ ผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุที่มีอายุ 80 ปีขึ้นไป ตอนหลังมานี้จะพบว่า เด็กอายุ 10 ขวบก็ได้เผาโดยใช้ปราสาทที่ทำจากโฟม การจุดพลุดอกไม้ไฟเฉลิมฉลองในช่วงเดือนยี่เป็งซึ่งแท้จริงตามจารีตมีเพียงแค่การจุดบอกไฟ (พลุชนิดหนึ่งแกนกลางทำด้วยไม้ไผ่) เป็นพุทธบูชา มีการปล่อยโคมไฟจำนวนมากโดยเทศบาลเพื่อให้เกิดความสวยงาม ที่สำคัญคือในช่วงดังกล่าวอากาศแห้ง ดังนั้น จึงทำให้มีการสะสมมลพิษได้สูงกว่าปกติ" อาจารย์ดวงจันทร์กล่าว

 

 

บูรณาการ 3 หน่วยงานอุดมศึกษาทำงานกับชุมชน

อาจารย์ดวงจันทร์กล่าวต่อไปว่า ดังนั้นจึงเกิด "โครงการแป๋งขี้เหยื้อหื้อเป๋นทุนเพื่อลดการเผาขยะ" สนับสนุนโดยงบประมาณบูรณาการของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดำเนินการโดย 3 หน่วยงานในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คือ สถาบันวิจัยสังคม ทำหน้ารณรงค์ให้ความรู้, คณะวิจิตรศิลป์ ทำหน้าที่ออกแบบและอบรมการผลิต, คณะบริหารธุรกิจ ทำหน้าที่หาตลาดและอบรมการตลาด

 

โดยมีจุดประสงค์เพื่อลดมลพิษทางอากาศจากการเผา ให้ประชาชนมีส่วนร่วมโดยการเพิ่มมูลค่าของเหลือใช้ เพราะถ้าหากเราบอกให้ชุมชนไม่ให้เผาก็จะเกิดคำถามว่าไม่ให้เผาแล้วจะกำจัดได้อย่างไร ผลิตภัณฑ์ที่ทำเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนเป็นการใช้ความรู้จากหลายสาขาวิชามาร่วมกัน ผู้เข้าร่วมโครงการไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ และมีงบประมาณสนับสนุนใน 3 พื้นที่ พื้นที่ละ 30,000 บาท ได้แก่ ชุมชนทานตะวัน เทศบาลนครเชียงใหม่ อบต.บ้านแหวน อ.หางดง และเทศบาลตำบลสารภี อ.สารภี

 

สำหรับสาเหตุที่เลือกพื้นที่ดังกล่าวเพื่อดำเนินโครงการ เพราะมีการร้องเรียนเรื่องการเผาขยะมาก และในพื้นที่ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ อ.หางดง และ อ.สารภี เป็นพื้นที่ที่มีสถิติของผู้ที่เป็นมะเร็งปอดอยู่สูง ชุมชนที่จะได้ร่วมโครงการจะเป็นชุมชนที่มีปริมาณวัสดุเหลือใช้ที่สามารถพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ได้ในปริมาณที่มากพอ และชุมชนในพื้นที่ต้องมีการรวมกลุ่มกันพอสมควร ชุมชนมีความตั้งใจที่จะเข้าร่วมโครงการ หัวหน้าโครงการกล่าว

 

 

ผลของโครงการลดการเผาลง 41%

สำหรับขั้นตอนการดำเนินโครงการ ได้มีการสำรวจมลพิษทางอากาศ 3 ครั้ง เมื่อครั้งเริมโครงการและหลังจากที่สิ้นสุดโครงการเพื่อดูว่าการเผาลดลงจริงหรือไม่ จากการสำรวจครั้งที่ 2 และ 3 พบว่าการเผาได้ลดลงถึง 41 เปอร์เซ็นต์

 

"น้องนักศึกษาขี่มอเตอร์ไซด์ซ้อนท้ายกันใช้เครื่องบอกพิกัด GPS เพื่อกำหนดพิกัด และยังได้ถ่ายรูปประกอบว่ามีการเผาเกิดขึ้นที่ไหน ข้อมูลดังกล่าวเราได้นำไปให้ทางเทศบาล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อให้รับรู้ว่ามีการเผาที่ไหน นอกจากนี้เรายังทำแผนที่มลพิษทางอากาศในแต่ละพื้นที่สำรวจไปด้วยความยากลำบากบางครั้งก็โดนสุนัขไล่กัด ชาวบ้านก็ไม่เข้าใจคิดว่าเด็กพวกนี้เป็นวัยรุ่นกวนเมือง" ดร.ดวงจันทร์กล่าว

 

 

เปลี่ยนทุกอย่างให้สร้างมูลค่า

โดยโครงการดังกล่าวมีสมาชิกชุมชนเข้าร่วมโครงการมีมากว่า 1,500 คน มีความร่วมมือจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อบต.บ้านแหวน อ.หางดง เทศบาลอำเภอสารภี แขวงศรีวิชัยในเทศบาลนครเชียงใหม่ นอกจากนี้ยังได้รับความร่วมมือจากสภาอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่

 

นอกจากการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ที่เป็นหลักแล้ว ใบไม้และกิ่งไม้ที่ไม่ถูกนำไปใช้ในการสร้างผลิตภัณฑ์ ทางโครงการได้ไปสาธิตการทำปุ๋ยหมัก น้ำหมักชีวภาพ การแยกขยะเศษวัสดุทางการเกษตร นอกจากนี้ทางโครงการยังได้ร่วมจัดกิจกรรมในโอกาสต่างๆ เช่น กิจกรรมวันเด็ก มีการเล่นเกมที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม อบรมให้เด็กในชุมชนนำถุงนมมาทำเป็นตุ๊กตา นอกจากนี้ทางโครงการยังจัดนิทรรศการในสถานที่ต่างๆ ตามวาระ โดยทางโรงเรียนดาราวิทยาลัยได้เชิญโครงการไปจัดแสดงนิทรรศการด้วย

 

สำหรับวัสดุที่ใช้ในโครงการ "แป๋งขี้เหยื้อหื้อเป๋นทุนเพื่อลดการเผาขยะ" จะใช้วัสดุที่หาได้ง่ายมีอยู่ภายในท้องถิ่น และต้องมีค่าใช้จ่ายในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ให้น้อยที่สุด ในแต่ละชุมชนจะมีวัสดุไม่เหมือนกัน โดยทั่วไปเราจะสามารถพบเห็นยางในรถ มุ้งลวด ทีวีเก่า เศษกระดาษ มากมายที่ถูกทิ้งไว้ในชุมนุม ในการที่จะนำมาประกอบเป็นผลิตภัณฑ์ไม่ควรที่จะใช้วัตถุดิบเพิ่มเติมมากมายจนเป็นการเพิ่มปัญหาที่มีอยู่แล้ว เทคนิคในการผลิตไม่ซับซ้อนไม่ยากเกินไป และเปิดกว้างให้กับความคิดสร้างสรรค์ของสมาชิกโครงการแต่ละคนโดยที่ทางโครงการเพียงแต่อบรมการผลิตพื้นฐานให้เท่านั้น ก่อนที่ทางโครงการจะลงไปส่งเสริมจำเป็นจะต้องคิดค้นกันก่อนเพื่อที่จะหาวิธีการผลิตที่ง่ายที่สุด จะพยายามใช้วัสดุที่เหลือใช้ที่กลายเป็นขยะนำมาเพิ่มมูลค่า อาจารย์ดวงจันทร์กล่าว

 

 

ใช้ศิลปะสร้างเสน่ห์ผลิตภัณฑ์

ด้าน ผศ.สุนันทา รัตนาวดี รองคณบดี คณะวิจิตรศิลป์ กล่าวว่า "พื้นฐานการประดิษฐ์ของแต่ละคนถูกหล่อหลอมมาไม่เหมือนกัน บางคนจะมีความคิดสร้างสรรค์อย่างมหัศจรรย์ มีจิตนาการกว้างไกล สามารถสร้างรูปร่างที่แปลกตาไม่เหมือนใคร ถ้าหากมีโอกาสได้สัมผัสแต่ละคนแล้ว ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละคนที่จะทำได้ไม่เหมือนกัน จึงจับเอาความเป็นเอกลักษณ์เป็นเสน่ห์ของผลิตภัณฑ์ จึงเป็นชิ้นเดียวในโลก"

 

โดยก่อนที่ทางโครงการจะลงไปส่งเสริมการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ในชุมชนจำเป็นต้องสร้างต้นแบบของผลิตภัณฑ์ให้ได้มากกว่า 1 ชนิด เพื่อที่จะให้ชุมชนเลือกว่า อยากที่จะทำแบบไหน อย่างไร ในทุกขั้นตอนการผลิตมีการตรวจสอบคุณภาพเพราะถ้าหากผลิตที่ไม่มีคุณภาพเท่ากับเป็นการทำให้เกิดขยะกองใหม่ขึ้นมา มีการออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้สะดุดตา และในส่วนคณะบริหารธุรกิจก็จะทำการสำรวจตลาดว่าสิ่งที่ผลิตสามารถขายได้จริงหรือไม่ มีการจัดนิทรรศการแนะนำผลิตภัณฑ์เพื่อส่งเสริมการขาย

 

นอกจากนี้ ทางโครงการยังมีการลงพื้นที่เพื่ออบรมเรื่องการตลาด การขาย ต้นทุนการผลิต วิธีการบริหารจัดการ เพื่อเป็นการพัฒนาความเป็นผู้ประกอบการให้กับชุมชน จากจุดนี้ทำให้พบว่าต้องนำความรู้ทางการบริหารธุรกิจมาผสมผสานกับภูมิปัญญาของชุมชนอีกที่หนึ่ง โดยทางโครงการยังได้ส่งเสริมการขายโดยมี Grand Opening (การเปิดตัวโครงการ) ที่ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลแอร์พอร์ตพลาซา จ.เชียงใหม่ เพื่อเป็นการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ ทำให้ผู้บริโภครู้จักผลิตภัณฑ์ให้ได้มากที่สุด

 

 

 

 

 

ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ของชุมชน ซึ่งเน้นใช้เศษวัสดุในท้องถิ่น เปลี่ยนจากการเผาทิ้งก่อมลภาวะนำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่เหมือนใครสร้างมูลค่า

 

 

รองคณบดีบริหารธุรกิจชี้ต้องเพิ่มศักยภาพ "การตลาด" ให้ชุมชน ทลายอุปสรรค

เมื่อลดการเผาลงแล้วพฤติกรรมที่จะทำให้การเผาลดลงอย่างยั่งยืน หลังจากที่ทางคณะวิจิตรศิลป์ได้ออกแบบผลิตภัณฑ์มาแล้ว โจทย์ต่อไปก็คือผลิตภัณฑ์ที่ผลิตออกมาต้องขายได้

 

โดย ผศ.อรพิน สันติธีรากุล รองคณบดี คณะบริหารธุรกิจ กล่าวว่าทุกโครงการที่มีอยู่ในบ้าน เราส่งเสริมให้ชาวบ้านทำแต่ปัญหาที่สำคัญคือขายไม่ได้ ทางโครงการจึงมองเห็นว่าท้ายสุดแล้วจะต้องทำให้ชุมชนทั้ง 3 ชุมชนสามารถขายผลิตภัณฑ์ได้ เมื่อขายผลิตภัณฑ์ได้ก็จะเกิดกำลังใจ ทำให้การลดการเผาเกิดขึ้นอย่างยั่งยืนได้ นี่คือกระบวนการที่ทางโครงการได้วิเคราะห์ออกมา

 

"คนไทยสนใจเรื่องโลกร้อนจริงแต่ไม่ได้สนใจที่จะนำสินค้าที่ช่วยลดภาวะโลกร้อนมาใช้ ส่วนใหญ่จะซื้อเพราะเห็นใจคนทำ แต่ไม่ได้ซื้อจากจิตสำนึกในการที่จะลดภาวะโลกร้อน ซึ่งเป็นปัญหาของการตลาด ในพื้นที่มีเพียง 3 ชุมชนเท่านั้นที่เข้าร่วมกับโครงการ แต่ชุมชนส่วนใหญ่ยังไม่ได้เข้าร่วมกับโครงการทั้งหมดเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไขต่อไป ระยะเวลา 1 ปี ยังสั้นเกินไปที่กว่าเรียนรู้เรื่องมลพิษทางอากาศ การเผาขยะ กว่าที่จะได้เรียนรู้การออกแบบผลิตภัณฑ์ กว่าที่จะหาตลาด และอบรมเรื่องการตลาดภายใน 1 ปีถือว่ายังเป็นระยะเวลาที่สั้นมาก" อาจารย์อรพินกล่าว

 

 

เสียงสะ้ท้อนจากชุมชน: ขยะลดลง อากาศดีขึ้น

ตัวแทนจากชุมชนได้แสดงความคิดเห็นหลังจากเข้าร่วมโครงการ โดยชาวบ้านจาก อบต.บ้านแหวน อ.หางดง กล่าวสนับสนุนโครงการดังกล่าวโดยระบุว่า "เมื่อก่อนเชียงใหม่เป็นเมืองที่ทุกคนอยากมาเพราะเป็นเมืองที่มีอากาศดี แต่ในสองปีที่ผ่านมามีมลพิษเกิดขึ้นพอๆกับกรุงเทพฯ พวกเราเข้ารวมโครงการด้วยใจ เพื่อช่วยลดขยะที่ย่อยสลายยาก โดยในโครงการพวกเราใช้ถุงนม ถุงน้ำยาปรับผ้านุ่มซึ่งย่อยสลายยากนำมาทำกระเป๋า ซึ่งกระเป๋านี้มีคุณสมบัติกันความชื้นได้ดี

 

ถุงนมเรานำมาจากศูนย์เลี้ยงเด็กที่มีอยู่ในชุมชนทั้งหมด 4 แห่ง และในตำบลของเรามีโรงเลื่อยไม้สัก ปกติขี้เลื่อยจากไม้สักจะนำไปสุมไฟให้ควายเพื่อไล่ยุง แต่ควันจากขี้เลื่อยทำให้แสบตามาก และระคายเคืองจมูกเวลาหายใจ โดยทางโครงการได้เข้ามาสอนให้ปั้นกระถางต้นไม้จากขี้เลื่อย ตอนหลังเราได้ดัดแปลงจากกระทางเป็นกระทงที่ทำจากขี้เลื่อย

 

หลังจากเข้าร่วมโครงการอากาศบ้านเราดีขึ้น เราได้ทำงานรวมกันเป็นกลุ่ม ได้เรียนรู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการ มีรายได้เข้าชุมชนปริมาณการเผาขยะก็ลดลง"

 

 

ท้องถิ่นเชื่อมั่นแนวทางบูรณาการช่วยพัฒนาศักยภาพชุมชน

ด้านนายอภิชาต เทพชา ปลัดเทศบาลตำบลสารภี ซึ่งเป็นพื้นที่ร่วมโครงการ ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์การพัฒนาในพื้นที่ด้วย โดยกล่าวว่า ก่อนหน้านี้ ทางเทศบาลก็พยายามรณรงค์ไม่ให้เผา แต่เป็นแค่การรณรงค์อย่างเดียวชุมชนไม่ได้ประโยชน์ ชุมชนเลยไม่ค่อยเข้าร่วม เขายังกล่าวว่าการพัฒนาท้องถิ่นทุกวันนี้เริ่มหมดความคิดริเริ่มในการพัฒนา เช่นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ แต่ละชุมชนหรือแต่ละคนจะผลิตของที่เหมือนกันทั้งนั้นแล้วก็จะเน้นให้ผลิตได้ออกมามากๆ ขายให้ราคาถูกเข้าไว้นี่เป็นวิธีคิดแบบเก่า แล้วเราก็ไปตั้งศูนย์ตามริมถนนตามพื้นที่ว่าการอำเภอ แล้วก็เจ๊งพร้อมๆ กันกลายเป็นอนุสรณ์ร้าง

 

"แต่ว่าโครงการนี้ทำให้กลุ่มเป้าหมายเกิดความมั่นใจว่าทางเทศบาลยินดีช่วยเต็มที่ โครงการนี้ทำให้เราเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ มีการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่ค่อนข้างแปลกตา การตั้งราคาก็ค่อนข้างสูง ผลิตน้อยชิ้นซึ่งโดยทั่วไปเราไม่ค่อยชินกับความคิดนี้ วันนี้ทางเทศบาลได้เห็นศาสตร์ของคณะวิจิตรศิลป์ที่เข้ามาดูเรื่องการออกแบบ ศาสตร์ของคณะบริหารธุรกิจมาดูแลเรื่องการจัดองค์กร และเรายังเหลืออีกหลายศาสตร์ที่สามารถออกแบบวัตถุดิบที่มีในพื้นที่ของเราได้" นายอภิชาตกล่าว

 

ปลัดเทศบาลผู้นี้ยังกล่าวด้วยว่า "สมัยก่อนคนที่สอนหนังสือมีความรู้ก็อยู่ในมหาวิทยาลัยอยู่ในโรงเรียน คนที่ทำงานพัฒนาในพื้นที่ก็ทำโครงการปั่นงบประมาณไป ชาวบ้านก็ก้มหน้าก้มตาทำมาหากินไป โครงการนี้จึงได้บูรณาการองค์ความรู้จากทุกศาสตร์มารวมกันเพื่อการแก้ปัญหาของชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพ"

 

โดยทางโครงการ "แป๋งขี้เหยื้อหื้อเป๋นทุนเพื่อลดการเผาขยะ" ดังกล่าวได้วางแผนดำเนินโครงการในปีที่ 2 เพื่อขยายพื้นที่ให้ครอบคลุมเมืองเชียงใหม่ต่อไป ซึ่งหากเกิดขึ้นได้จริง ปัญหาหมอกควันในเชียงใหม่คงบรรเทาลงอย่างแน่นอน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท