Skip to main content
sharethis


เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์


กลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา


 


 


1. สิทธิเหนือทรัพยากรในเขตแดนของลาว ความยากของไทยที่จะผันน้ำโขงเข้ามา


 


เหตุผลสำคัญประการหนึ่งที่จะทำให้โครงการอุโมงค์ผันน้ำโขงของนายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรีของไทยเกิดขึ้นได้ยากหรือไม่สามารถเกิดขึ้นได้ นั่นคือ การอ้าง "สิทธิเหนือทรัพยากรในเขตแดนของลาว" ตามสนธิสัญญาปักปันเขตแดนไทย-ลาว1> เนื่องจากว่าแม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำพรมแดนระหว่างประเทศลาว-ไทย ซึ่งมีสนธิสัญญาปักปันเขตแดนไทย-ลาวค้ำอยู่ โดยถูกระบุเอาไว้ว่าเกาะ/ดอนส่วนใหญ่ในลำแม่น้ำโขงตกเป็นของฝ่ายลาว ดังนั้นเอง ทรัพยากรน้ำ รวมทั้งสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิตที่อยู่ในน้ำ ที่อยู่ในเขตแดนของลาวล้วนเป็นทรัพยากรที่มีค่าทั้งสิ้น


 


จากผลของสนธิสัญญาปักปันเขตแดนไทย-ลาวในลำแม่น้ำโขงนั้น รัฐบาลทั้งสองประเทศ คือลาวและไทยจะต้องคำนึงถึงว่าการสูบน้ำโขงเข้ามาในประเทศของตนเองจะเกิดผลกระทบกระเทือนต่อการเปลี่ยนแปลงเขตแดนหรือเขตอำนาจแห่งรัฐของทั้ง 2 ประเทศหรือไม่ หากเป็นเช่นนั้นทั้งสองประเทศจะต้องมีการตกลงเจรจากัน และจะต้องตรากฎหมายเพื่อให้สามารถปฏิบัติตามความตกลงได้ ซึ่งก็จะต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภา


 


ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้สิทธิในการผันน้ำโขงของประเทศไทยตามข้อตกลงของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง   2> นั้น ล้วนเป็นสิ่งไม่แน่นอน ถึงแม้จะมีข้อตกลงที่ระบุให้ทั้ง 4 ประเทศสมาชิกมีสิทธิใช้น้ำจากแม่น้ำโขงและลุ่มน้ำโขงที่อยู่ในดินแดนของตนอย่างสอดคล้องกับปัจจัยและข้อเท็จจริงต่าง ๆ ก็ตาม แต่เหตุผลของสิทธิเหนือทรัพยากรในเขตแดนของลาว ตามสนธิสัญญาปักปันเขตแดนไทย-ลาว นั้นมีความสำคัญกว่า และยิ่งปัจจุบันจะเห็นได้ว่าคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง3> เป็นองค์กรที่แทบไม่มีบทบาทชี้นำในการพัฒนาแม่น้ำโขงและลุ่มน้ำโขงแต่อย่างใดเลย ต่างจากยุคสมัยสงครามเย็นที่เคยมีบทบาทสูงมาก ส่วนข้อตกลงระหว่างประเทศ เช่น ข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน, ไทย-จีน ล้วนมีความสำคัญในการผลักดันการพัฒนาในลุ่มแม่น้ำโขงยิ่งกว่า ดังนั้นเอง หากไทยอ้างสิทธิในน้ำโขงเพื่อที่จะผันน้ำเข้ามาใช้สำหรับการเกษตรภายในประเทศ ลาวก็อาจจะทำการคัดค้านโดยอ้างว่าการผันน้ำโขงของไทยอาจจะส่งผลกระทบกระเทือนต่อการเปลี่ยนแปลงเขตแดนหรือเขตอำนาจแห่งรัฐของลาวขึ้นได้


 


แรงจูงใจที่ลาวต้องอ้างสิทธิเหนือทรัพยากรในเขตแดนของตนเช่นนั้น ก็เพราะว่าลาวต้องการใช้น้ำโขงสำหรับผลิตกระแสไฟฟ้า ตามแผนการสร้างเขื่อนต่าง ๆ ในแม่น้ำโขงตอนล่าง4> ด้วยเหตุนี้เอง ในขณะที่ลาวต้องการน้ำโขงสำหรับผลิตกระแสไฟฟ้า แต่ไทยอยากได้น้ำโขงมาใช้ในภาคเกษตรกรรม จึงเป็นเรื่องน่าคิดว่าแหล่งเงินกู้/สถาบันการเงินทั้งในและระหว่างประเทศจะให้ความสนใจโครงการไหน ระหว่าง Hydropower กับ Hydroshield


 


ยิ่งในยุคสมัยนี้ประเด็นสภาวะอากาศแปรปรวนที่ทำให้โลกร้อนขึ้นจากสาเหตุของการใช้พลังงานซากดึกดำบรรพ์(fossil) ที่ปล่อยสารคาร์บอนจำนวนมากสู่บรรยากาศโลก ก็คงจะไม่มีพลังงานชนิดใดที่สะอาดและทำกำไรเท่ากับพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้จากกระแสน้ำอีกแล้ว เป็นการผลิตพลังงานที่สะอาดและคุ้มยิ่งกว่าการปลูกพืชพลังงานเสียอีก ดังนั้น น้ำในแม่น้ำโขงล้วนถูกหมายปองจากกลุ่มธุรกิจพลังงานระหว่างประเทศที่สนับสนุนการสร้างเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าบนลำน้ำโขงมาเนิ่นนานแล้ว จึงเป็นไปได้ยากที่ประเทศไทยจะผันน้ำโขงเข้ามาใช้ในภาคเกษตรกรรม เพราะเป็นการเพิ่มมูลค่าน้ำต่อหน่วยต่ำกว่าภาคพลังงาน


 


2. สร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงร่วมกันหรือซื้อน้ำจากลาว


 


ปริมาณน้ำโขงที่ไทยจะผันเข้ามาในประเทศจะเป็นตัวบ่งชี้ว่าลาวจะอ้างสิทธิเหนือทรัพยากรในเขตแดนของตนหรือไม่ หากน้ำโขงที่ผันเข้ามาในประเทศไทยไม่มากเกินไป ลาวอาจจะอะลุ้มอล่วยตามข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือเพื่อการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน แต่นั่นก็เป็นปัญหาทางเทคนิคซึ่งยังไม่สามารถระบุชัดลงไปได้ว่าปริมาณน้ำโขงที่ไทยสามารถผันเข้ามาได้โดยไม่ถูกคัดค้านจากลาวมีปริมาณเท่าไหร่กันแน่ เพราะตัวแปรที่สำคัญก็คือการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงตอนบนของจีน รวมทั้งโครงการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงในเขตแดนของลาวเอง ที่ทำให้ปริมาณน้ำของแม่น้ำโขงและลุ่มน้ำสาขาจากตอนบนไหลลงสู่แม่น้ำโขงตอนล่างน้อยลง ส่งผลกระทบต่อระดับและปริมาณการไหลของแม่น้ำโขงตอนล่างที่แห้งขอดลงยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ


 


หากลาวอ้างสิทธิเหนือทรัพยากรในเขตแดนของตนเองเหตุเพราะไทยผันน้ำโขงเข้ามาในประเทศเป็นจำนวนมาก ก็จะทำให้ไทยมีทางเลือกอยู่ 2 ประการ ที่สามารถผันน้ำโขงเข้ามาใช้สำหรับการเกษตรภายในประเทศได้ นั่นคือ


 


ทางเลือกที่หนึ่ง    สร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงในช่วงที่เป็นพรมแดนร่วมกันของไทย-ลาวร่วมกับลาว  เพื่อหวังจะได้น้ำจากเขื่อนผันเข้ามาใช้ในภาคเกษตรกรรมภายในประเทศ


 


ทางเลือกที่สอง    ถ้าไทยหรือลาวไม่พร้อมที่จะสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงในช่วงที่เป็นพรมแดนของไทย-ลาวร่วมกัน แต่ไทยอยากได้น้ำจากแม่น้ำโขงเข้ามาใช้ภายในประเทศ ก็จำเป็นต้องซื้อน้ำจากแม่น้ำโขงหรือลุ่มน้ำสาขาของแม่น้ำโขงจากลาวเข้ามา (ตามสิทธิเหนือทรัพยากรในเขตแดนที่ลาวจะต้องยกขึ้นมาอ้างสิทธิในน้ำโขงอย่างแน่นอน) อาจจะไม่ได้ซื้อเป็นเงิน แต่เป็นข้อแลกเปลี่ยนระหว่างน้ำกับรายการสินค้าอื่น ๆ ของไทย


 


ทั้งสองทางเลือกนี้คือเกมการเมืองระหว่างประเทศที่ไทยจะต้องเจออย่างแน่นอน ในโครงการอุโมงค์ผันน้ำโขงของพรรคพลังประชาชนที่นำโดยนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีของไทย


 


ลองหันกลับมาดูข้อเท็จจริงจากทางเลือกทั้งสองของไทยว่าจะพบอุปสรรคมากแค่ไหนต่อการผันน้ำโขงเข้ามาใช้สำหรับการเกษตรภายในประเทศ หากไทยเลือกทางเลือกแรกคือสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงในช่วงที่เป็นพรมแดนร่วมกันของไทย-ลาวร่วมกับลาว ไทยก็จะพบปัญหาอีกว่าจะสามารถผันน้ำเข้ามาใช้ประโยชน์เพื่อการเกษตรในบ้านเราได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยตามที่วางแผนไว้ได้หรือไม่ เหตุก็เพราะว่าการสร้างเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำนั้นเป็นพลังงานสะอาดที่ไม่เป็นมลพิษไปเพิ่มอุณหภูมิของโลกให้ร้อนขึ้น ดังนั้น แผนการสร้างเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำบนแม่น้ำโขงสายหลักจะไม่ใช้น้ำปั่นไฟเพียงรอบเดียวอย่างแน่นอน แต่จะเป็น "เขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ" ที่จะใช้น้ำมวลเดิมกลับไปปั่นไฟอีกหลายรอบให้คุ้มค่า ทำกำไร และตอบสนองนโยบายพลังงานสะอาดของโลกให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้  


 


หากดู แผนภาพ การสร้างเขื่อนแบบขั้นบันไดในแม่น้ำโขงตอนล่าง ในหน้าถัดไป จะเห็นเขื่อนเรียงกันหลายเขื่อนทอดลงเป็นขั้นบันได ท้ายน้ำของเขื่อนที่อยู่ระดับต่ำกว่าจะชนกับหัวเขื่อนที่อยู่ในระดับสูงกว่า ซึ่งเป็นเทคนิควิธีการทำให้น้ำที่ปล่อยจากเขื่อนตัวบนไหลช้าลงและถูกกักเก็บไว้เป็นทอด ๆ ในเขื่อนตัวที่ต่ำลงมา เพื่อไม่ให้สูญเสียน้ำไป เพราะต้องการนำน้ำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งไม่มีวิธีการใดที่ดีไปกว่าการสูบน้ำกลับไปผลิตกระแสไฟฟ้าอีกแล้ว  


 


จึงเห็นได้ว่าหนทางที่ไทยจะได้น้ำจากแม่น้ำโขงผันเข้ามาใช้สำหรับการเกษตรภายในประเทศตามทางเลือกแรกนี้ ค่อนข้างเป็นไปได้ยาก


 


ส่วนทางเลือกที่สอง คือการซื้อน้ำจากแม่น้ำโขงหรือลุ่มน้ำสาขาของแม่น้ำโขงจากลาวเข้ามา ดูเหมือนเป็นทางเลือกที่หน่วยงานราชการของไทยและลาว และสถาบันการเงินระหว่างประเทศ ให้การสนับสนุนมากที่สุด โดยมีโครงการผันน้ำหลายเส้นทาง เช่น โครงการผันน้ำจากเขื่อนน้ำงึม-ห้วยหลวง  โครงการผันน้ำเซบังเหียง-ลุ่มน้ำชีตอนล่าง  โครงการผันน้ำเซบังไฟ-มุกดาหาร เป็นต้น   


 


ประเด็นสำคัญสำหรับทางเลือกนี้ก็คือว่าน้ำที่ไม่ได้มาเปล่า ๆ แต่ต้องซื้อมาจากลาว จะมีการเรียกเก็บค่าน้ำจากเกษตรกรไทยในภาคอีสานหรือไม่


 


ยิ่งดูเนื้อหาสาระในร่างกฎหมายน้ำด้วยแล้ว ยิ่งน่าหนักใจแทนเกษตรกรชาวอีสาน เพราะหากร่างกฎหมายนี้ผ่านออกมาบังคับใช้ จะทำให้น้ำทั้งหมดเป็นของรัฐ และจะวางมาตรการจัดเก็บค่าน้ำกับเกษตรกรและภาคการผลิตอื่น ๆ โดยการแบ่งประเภทการใช้น้ำออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ 1) การใช้ในครัวเรือนและเกษตรกรรมแบบยังชีพ  2) การใช้เพื่ออุตสาหกรรม ธุรกิจ เกษตรเชิงพาณิชย์และท่องเที่ยว และ 3) การผันน้ำข้ามลุ่มน้ำและการสร้างเขื่อน


 


 



        แผนภาพ การสร้างเขื่อนแบบขั้นบันไดในแม่น้ำโขงตอนล่าง


ที่มา: โครงการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงตอนล่าง  สายหลัก. มนตรี   จันทะวงศ์ 


มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ. จากเวทีสัมมนา เรื่อง มองอีสานผ่านนโยบายและแผนพัฒนา.


เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2550  เวลา 10.00 - 16.00 น.  ณ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยขอนแก่น.


 


 


โดยทุกประเภทจะต้องทำการขอใบอนุญาตใช้น้ำหรือการกำหนดราคาค่าน้ำนั่นเอง ซึ่งจะเห็นได้ว่าหลักการในร่างกฎหมายน้ำดังกล่าวเป็นการ "ส่งเสริมการแข่งขันในการใช้น้ำ" เป็นการวางกติกาในลักษณะที่ให้โอกาสและสิทธิแก่กลุ่มใช้น้ำประเภทไหนที่มีเงินจ่ายค่าน้ำมากกว่าน้ำก็จะตกเป็นของกลุ่มใช้น้ำประเภทนั้น นั่นเท่ากับว่าความเป็นจริงได้สวนทางกับคำพูดของนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีไทย ที่กล่าวว่าจะผลักดันโครงการอุโมงค์ผันน้ำโขงเพื่อเกษตรกรรากหญ้าที่ยากจนในภาคอีสานเป็นหลัก  


 


3. เกษตรกรรายย่อยที่ต้องการน้ำถึงไร่นา และไม่พร้อมจะจ่ายค่าน้ำ


 


จากข้อมูลการใช้ที่ดินทางการเกษตรของประเทศไทย เมื่อปี 2548 ของกรมเศรษฐกิจการเกษตร ในส่วนของภาคอีสานนั้นมีเนื้อที่ทั้งหมด 105,533,963 ไร่ แบ่งเป็นเนื้อที่ป่าไม้ 17,559,813 ไร่ เนื้อที่นอกการเกษตร 30,224,622 ไร่ และเนื้อที่ถือครองทางการเกษตร 57,749,528 ไร่ มีจำนวนครัวเรือนเกษตรกร  2,695,471 ครัวเรือน หรือประมาณ 10 ล้านกว่าคน เฉลี่ยแต่ละครัวเรือนมีพื้นที่ทำการเกษตรประมาณ 21 ไร่ ตัวเลขเหล่านี้บ่งชี้ว่าโครงสร้างภาคเกษตรของภาคอีสานมีลักษณะเป็น "เกษตรกรรายย่อย" ไม่ได้มีลักษณะเป็นฟาร์มขนาดใหญ่ ซึ่งส่วนใหญ่มีฐานะยากจนจากสภาวะหนี้สินที่กู้ยืมมาเพื่อทำการผลิต ซึ่งรัฐบาลเองก็ได้มีนโยบายพักชำระหนี้เกษตรกร มาตั้งแต่สมัยรัฐบาลของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร เพื่อหวังให้เกษตรกรรายย่อยเหล่านี้ลืมตาอ้าปากได้


 


รวมทั้ง "อาจสามารถโมเดล" เมื่อครั้งที่อดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ลงไปกินนอนกับชาวบ้านที่ อ.อาจสามารถ จ.ร้อยเอ็ด เมื่อช่วงเดือนมกราคม พ.ศ.2549 เพื่อรับฟังและแก้ไขปัญหาความยากจนของชาวบ้าน โดยมีข้อเสนอจากชาวบ้านว่าอยากให้รัฐบาลขุดสระน้ำเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ในไร่นายามฝนทิ้งช่วงและฤดูแล้ง ไม่มีชาวบ้านอยากได้อุโมงค์ผันน้ำและท่อส่งน้ำจากที่ห่างไกลไร่นาของตัวเองแม้สักคนเดียว



ข้อเท็จจริงเหล่านี้ได้สะท้อนความคิดเห็นของชาวบ้านที่ต้องการให้รัฐช่วยเหลือ
2 ประการ คือ หนึ่ง-ต้องการให้รัฐจัดหาแหล่งน้ำในระดับไร่นาของตัวเอง และสอง-เกษตรกรส่วนใหญ่ยังมีฐานะยากจนไม่มีความสามารถที่จะจ่ายค่าน้ำได้  


 


ดังนั้นเอง สิ่งสำคัญที่สุดก็คือรัฐบาลไม่ว่าชุดใดที่ผลักดันหรือคิดจะผลักดันโครงการนี้จะต้องมุ่งมั่นและจริงใจผลักดันโครงการอุโมงค์ผันน้ำโขงเพื่อทำให้เกษตรกรรายย่อยเหล่านี้หลุดพ้นจากความยากจนให้ได้ ด้วยการทำให้โครงการนี้ส่งน้ำไปถึงไร่นาของชาวบ้านแบบให้เปล่าไม่เสียค่าน้ำให้ได้ ไม่ใช่หันปลายท่อเข้าสู่ภาคการผลิตอื่นๆ ที่มีความสามารถจ่ายค่าน้ำได้มากกว่า เพราะถ้าหากเป็นเช่นนั้นแล้วนโยบายที่ปรารถนาดี อาจจะกลายเป็น "นโยบายที่หักหลังชาวรากหญ้าในภาคอีสานได้เจ็บแสบที่สุด" ที่อุตส่าห์ลงคะแนนเลือกพรรคพลังประชาชนเข้ามาบริหารประเทศ ด้วยความนิยมชมชอบอดีตนายกรัฐมนตรี พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร เป็นทุนเดิม แต่พรรคพลังประชาชนกลับตอบแทนบุญคุณชาวรากหญ้าในภาคอีสานด้วยการหันปลายท่อไปสู่ภาคการผลิตอื่นที่มีความสามารถจ่ายค่าน้ำจากโครงการอุโมงค์ผันน้ำโขงได้มากกว่า


 


 


 


---------------------


เชิงอรรถ


 


1>      เขตแดนไทย-ลาวเป็นผลจากการปักปันเขตแดนตามของสนธิสัญญาปักปันเขตแดนสยาม-ฝรั่งเศสหลายฉบับ ได้แก่ อนุสัญญาสยาม-ฝรั่งเศสฉบับวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1904(พ.ศ.2447), ความตกลงสยาม-ฝรั่งเศสฉบับวันที่ 29 มิถุนายน ค.ศ.1904(พ.ศ.2447), สนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส และพิธีสารแนบท้าย ฉบับวันที่ 23 มีนาคม ค.ศ.1907(พ.ศ.2450) และอนุสัญญาสยาม-ฝรั่งเศสฉบับวันที่ 25 สิงหาคม ค.ศ.1926(พ.ศ.2469) และแผนที่ที่จัดทำขึ้นตามความตกลงทุกฉบับที่กล่าวถึงข้างต้น ซึ่งลาวเป็นผู้สืบสิทธิต่อจากฝรั่งเศส


เขตแดนไทย-ลาวมีความยาวประมาณ 1,810 กิโลเมตร ประกอบด้วยเขตแดนตามสันปันน้ำ(เขตแดนทางบก) ประมาณ 702 กิโลเมตร และที่เป็นลำน้ำ(เขตแดนทางน้ำ) กล่าวคือแม่น้ำโขง แม่น้ำเหือง และห้วยดอน ประมาณ 1,108 กม. ตั้งต้นตั้งแต่สบรวก อ.เชียงแสน จ.เชียงราย หรือบริเวณที่เรียกว่าสามเหลี่ยมทองคำที่แม่น้ำรวกและแม่น้ำโขงแบ่งดินแดนของสามประเทศคือ พม่า ลาวและไทย ต่อจากนั้นแม่น้ำโขงจะไหลลงมาเป็นเส้นเขตแดนระหว่างไทยกับลาว จนมาถึงบริเวณแก่งผาได อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย เส้นเขตแดนระหว่างไทยกับลาวจะขึ้นสู่ทางบกไต่ไปตามสันปันน้ำของเทือกเขายาวเหยียด ส่วนแม่น้ำโขงจะไหลเข้าไปอยู่ในเขตแดนของลาวฝ่ายเดียว จนแม่น้ำโขงไหลออกจากแผ่นดินลาวมาบรรจบกับแม่น้ำเหือง ในเขต อ.เชียงคาน จ.เลย ทอดยาวเป็นเส้นเขตแดนไทย-ลาวไปจนถึงบริเวณปากแม่น้ำมูน อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี และก็จะไหลเข้าไปอยู่ในแผ่นดินลาวฝ่ายเดียวอีกครั้งหนึ่ง ส่วนเส้นเขตแดนก็จะเปลี่ยนขึ้นทางบกตามสันปันน้ำไปจนถึงช่องบก จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นจุดบรรจบของเส้นเขตแดนของสามประเทศ คือ ลาว ไทยและกัมพูชา


สำหรับเขตแดนในแม่น้ำโขงเป็นไปตามอนุสัญญาสยาม-ฝรั่งเศสฉบับลงวันที่ 25 สิงหาคม ค.ศ.1926 (พ.ศ.2469) และแผนที่ Trace de la Frontiere Franco-Siamoise du Mekong ฉบับที่ตีพิมพ์เมื่อปี ค.ศ.1931 ส่วนเขตแดนในแม่น้ำเหืองเป็นไปตามสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส และพิธีสารแนบท้าย ฉบับลงวันที่ 23 มีนาคม ค.ศ.1907 (พ.ศ.2450)


 


2> ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือเพื่อการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน (Agreement on the cooperation for the sustainable development of the Mekong river basin) เป็นข้อตกลงของการใช้น้ำระหว่างประเทศ ของสมาชิกคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงทั้ง 4 ประเทศ คือ ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ที่ทำกันไว้เมื่อวันที่ 5 เมษายน ค.ศ.1995(พ.ศ.2538) เป็นข้อตกลงที่มีสาระสำคัญเกี่ยวกับระเบียบการใช้น้ำในลุ่มน้ำโขง และการผันน้ำข้ามลุ่มที่ระบุถึงการใช้น้ำในลุ่มน้ำ การรักษาปริมาณการไหลของแม่น้ำโขง ที่กำหนดต้องแจ้งให้สมาชิกทราบ ทำการปรึกษาหารือ และการทำข้อตกลงเฉพาะระหว่างกัน โดยให้ทั้ง 4 ประเทศสมาชิกมีสิทธิใช้น้ำจากแม่น้ำโขงและลุ่มน้ำโขงที่อยู่ในดินแดนของตนอย่างสอดคล้องกับปัจจัยและข้อเท็จจริงต่าง ๆ


 


3> ความเป็นมาของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง เริ่มตั้งแต่ในปี พ.ศ. 2494 สำนักงานควบคุมอุทกภัย (Bureau of Flood Control) ของคณะกรรมการเศรษฐกิจประจำภาคพื้นเอเชียและตะวันออกไกล (Economic Commission for Asia and the Far East หรือ ECAFE ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2490 ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น "คณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิค" หรือ Economic and Social Commission for Asia and the Pacific: ESCAP) ได้ศึกษาศักยภาพแม่น้ำระหว่างประเทศในการพัฒนาพลังงานไฟฟ้าจากน้ำและชลประทาน ซึ่งได้เลือกศึกษาแม่น้ำโขง การศึกษาได้เสร็จสิ้นในปี พ.ศ. 2499 


                ปี พ.ศ. 2500 ECAFE ได้เสนอรายงานการศึกษาดังกล่าวว่าแม่น้ำโขงมีศักยภาพสูงที่จะพัฒนาเพื่อเสริมสร้างเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้ โดยได้แนะให้มีการประสานความร่วมมือระหว่างรัฐในลุ่มแม่น้ำ รัฐบาลของประเทศกัมพูชา  ลาว  ไทย และเวียดนาม(เวียดนามใต้) ได้ลงนามในกฏบัตรก่อตั้ง "คณะกรรมการประสานงานเพื่อการสำรวจลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง" หรือ Committee for Coordination of Investigation of the Lower Mekong Basin ในเดือนพฤศจิกายน ปีเดียวกัน


                คณะกรรมการประสานงานเพื่อการสำรวจลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง หรือ คณะกรรมการแม่น้ำโขง หรือ คณะกรรมการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขง ถูกจัดตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นองค์กรในการวางนโยบายและแนวทางการพัฒนาแม่น้ำโขงและลุ่มน้ำโขง มีวัตถุประสงค์หลักที่สำคัญข้อหนึ่งคือ "สนับสนุน ร่วมประสานงาน ให้คำแนะนำ และควบคุมแผนงานและการสำรวจโครงการพัฒนาแหล่งน้ำในลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง" โดยได้ทำการออกแบบและสนับสนุนการสร้างเขื่อนในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง ทั้งเขื่อนในตัวแม่น้ำโขง และแม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขงในประเทศลาว ไทย เวียตนาม และเขมร


การปฏิบัติงานของคณะกรรมการแม่น้ำโขงจะมี สำนักงานเลขาธิการกลางแม่น้ำโขง (Mekong Secretariat) ทำหน้าที่เลขาธิการและธุรการปี พ.ศ. 2518 ได้มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในประเทศกัมพูชา ทำให้เกิดปัญหาภายในรัฐบาลเขมรแดง จึงไม่ได้ส่งผู้แทนเข้าร่วมในคณะกรรมการดังกล่าว จึงเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินงานตามนโยบายและแนวทางการพัฒนาที่ได้วางแผนร่วมกันทั้ง 4 ประเทศ


                ปี 2521 ประเทศลาว ไทย และเวียตนาม ได้ตกลงร่วมกันจัดตั้ง "คณะกรรมการประสานงานเพื่อการสำรวจแม่น้ำโขงชั่วคราว" หรือ Interim Committee for Coordination of Investigation of the Lower Mekong Basin ขึ้นมา เพื่อดำเนินกิจกรรมในการพัฒนาทรัพยากรน้ำในลุ่มแม่น้ำโขงต่อไป


                ปี พ.ศ. 2534 ประเทศกัมพูชาได้กลับเข้าสู่สันติภาพ ภาคีสมาชิกทั้ง 3 ประเทศ คือ ลาว ไทย และเวียดนาม ได้ให้การรับรองประเทศกัมพูชากลับเข้าสู่การเป็นภาคีสมาชิกของคณะกรรมการดังกล่าวต่อไป


                ปี 2535 เดือนธันวาคม รัฐบาลทั้ง 4 ประเทศ ได้ตั้งคณะทำงานชื่อว่า "คณะทำงานแม่น้ำโขง" หรือ MEKONG WORKING GROUP: MWG ขึ้นมา เพื่อพิจารณาการจัดตั้งคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงให้สอดคล้องกับสถานภาพปัจจุบันและร่างข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือในการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืนฉบับใหม่


                วันที่ 5 เมษายน พ.ศ.2538 บรรดาประเทศทั้งสี่ได้ลงนามในข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือในการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน ณ โรงแรมดุสิตไอส์แลนด์รีสอร์ท จังหวัดเชียงราย และเปลี่ยนชื่อเดิมจาก "คณะกรรมการแม่น้ำโขง" หรือ Mekong Committee เป็น "คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง" หรือ Mekong River Commission: MRC จนถึงปัจจุบัน


 


4> โครงการเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงตอนล่าง ที่มีความเคลื่อนไหวมากที่สุดในขณะนี้มีทั้งหมด 7 แห่ง ได้แก่ 1.เขื่อนปากแบ่ง แขวงอุดมไซ ประเทศลาว ขนาดกำลังการผลิต 1,350 เมกะวัตต์ 2.เขื่อนไซยะบุรี แขวงไซยะบุรี ขนาดกำลังการผลิต 1,260 เมกะวัตต์ 3.เขื่อนปากลาย กั้นแม่น้ำโขงทางตอนใต้ของแขวงไซยะบุรี ติดกับแขวงเวียงจัน ก่อนแม่น้ำโขงจะไหลสู่ อ.เชียงคาน จ.เลย เพียงไม่กี่กิโลเมตร มีขนาดกำลังการผลิต 1,320 เมกะวัตต์ 4.เขื่อนบ้านกุ่ม ชายแดนไทย - ลาว บริเวณ ต.โพธิ์ไทร อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี ตรงข้ามกับแขวงจำปาสัก 5.เขื่อนดอนสะฮอง กั้นแม่น้ำโขงที่บริเวณน้ำตกคอนพะเพ็ง เขตเมืองโขง แขวงจำปาสัก ทางตอนใต้ของลาว ห่างจากชาย
  แดนกัมพูชา 1 กิโลเมตร มีขนาดกำลังการผลิต 240 เมกะวัตต์ 6.เขื่อนซำบอ จังหวัดกระแจ๊ะ ประเทศกัมพูชาขนาดกำลังการผลิต 3,300 เมกะวัตต์ และ 7.เขื่อนผามอง กั้นแม่น้ำโขงที่ชายแดนไทย - ลาว บริเวณ อ.ปากชม จ.เลย ตรงข้ามกับแขวงเวียงจัน กำลังการผลิต1,482 เมกกะวัตต์


(ข้อมูลจาก โครงการฟื้นฟูนิเวศวิทยาในภูมิภาคอินโดจีนและพม่า หรือ TERRA)


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net