มองการเมืองที่กว้างไปกว่า การเมืองของพันธมิตร และนปช.

วิกฤติการเมืองครั้งนี้ในมุมมองของนักสังคมศาสตร์คืออะไร 

ผมไม่ได้ศึกษาเรื่องนี้อย่างละเอียดจะพูดได้แต่เชิงทฤษฎีผ่านมุมมองในเชิงสังคมศาสตร์ซึ่งต้องมองเรื่องนี้เป็นภาพใหญ่ สิ่งที่มันเกิดขึ้นมันเป็นกรณีเฉพาะ แต่ถ้าเราไปติดอยู่ที่กรณีเฉพาะมันก็จะมีปัญหาอีก เช่น การแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ต้องเข้าใจว่ากรณีเฉพาะมันเกิดขึ้นภายใต้กระบวนที่ใหญ่กว่า คือ ตอนนี้สังคมกำลังอยู่ในจุดเปลี่ยนจากทุนนิยมสมัยมาสู่ทุนนิยมหลังสมัยใหม่ที่เป็นทุนนิยมแบบนานาชาติที่ไร้พรมแดนมากขึ้น

เดิมทุนนิยมแบบสมัยใหม่จะเน้นว่า หากเรารับทุนนิยมเข้ามา ก็จะมีการผลิตที่ทันสมัย ผลิตของได้มาก และทำให้ผู้คนอยู่ดีมีสุข สิ่งเหล่านี้กลายเป็นคำตอบเดียวของโลก แต่ในทางปฏิบัติปรากฏว่าเมื่อทุนนิยมมันพัฒนาจริงๆ มันกลับไม่สามารถทำตามเงื่อนไข ตามเจตนารมณ์ หรือตามที่ประกาศเอาไว้ เพราะมันไม่ได้สนใจความไม่เท่าเทียม และปล่อยให้ความไม่เท่าเทียมมีมากขึ้น ขณะเดียวกันทุนนิยมที่เน้นวัตถุมากๆ ก็ทำให้ผู้คนหลงลืมเรื่องทางจิตใจ เพราะคนเราต้องมีทั้งวัตถุและจิตใจ เมื่อไปเน้นที่วัตถุก็ขาดด้านจิตใจจึงทำให้ หนึ่ง คนในสังคมเกิดความไม่เท่าเทียมกันมากขึ้น สอง ขาดความรู้สึกทางจิตใจ สาม คิดว่าทุนนิยมจะต้องใช้ระบบกฎหมายบังคับอย่างสูงสุดให้เป็นไปตามหลักเหตุผล นี่คือทุนนิยมยุคสมัยใหม่ที่เราผ่านมา

ทุนนิยมสมัยใหม่ต้องการความอยู่ดีมีสุขแต่ปรากฏว่าความไม่เท่าเทียมมีมาก เน้นวัตถุแต่ด้านจิตใจก็หายไป ต้องการกฎหมายรัฐบาลที่เข้ามาดูแลกลับคอรัปชั่น ในทางปฏิบัติมันจึงขัดแย้งกันเอง เพราะมันไม่ค่อยมีเหตุผล เช่น ให้ความสำคัญกับคนที่ได้เปรียบมากกว่า คือทุนนิยมยุคสมัยใหม่ที่ผ่านมามันได้สร้างภาพลักษณ์บางอย่างหรือเป้าหมายของสังคมที่ควรจะเดินไป แต่มันไปไม่ถึงเพราะเกิดปัญหาความขัดแย้งในตัวมันเองอย่างที่กล่าวไป

นี่คือภาพใหญ่ ตอนนี้เราจึงพบว่าคนก็จะออกมาแสวงหาอะไรที่ขาด ต้องออกมาสู้เรื่องความไม่เป็นธรรม หรือต่อสู้เรื่องทางจิตใจมากขึ้น ดังเช่นปรากฏการณ์ต่างๆ ทั้งเรื่องของลัทธิใหม่ๆ เสด็จพ่อ ร.5 หรือ จตุคามรามเทพ มันเป็นเรื่องของการโหยหาทางด้านจิตใจ แต่ขณะเดียวกันเมื่อเป็นเรื่องจิตใจที่อยู่ในระบบทุนนิยม มันจึงไม่ได้เป็นจิตใจที่หาได้ด้วยความสมัครใจ แต่กลายเป็นจิตใจเชิงพาณิชย์

ดังนั้นปรากฏการณ์ทางการเมืองที่เราเห็นจึงเป็นภาพสะท้อนของจุดเปลี่ยนดังกล่าว ตรงนี้คนไม่ได้มองกว้างอย่างนักสังคมศาสตร์ เมื่อเรายืนยันให้เอาเรื่องของกฎหมาย เอาหลักตุลาการมาใช้ ขณะที่ระบบสังคมของเราระบบยุติธรรมมันไม่ได้มีความยุติธรรม มันเลือกบังคับใช้ เมื่อพยายามเอาเรื่องกฎหมายมาเป็นหลัก ทั้งๆ ที่กฎหมายมันทำให้การบังคับค่อนข้างจะตายตัว ขณะที่คนในสังคมมันมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม และในระบบสังคมที่เน้นไปสู่การเป็นสมัยใหม่มากขึ้นก็จะเน้นเรื่องของการขาย เรื่องภาพลักษณ์ เรื่องระบบความหมาย

สังคมจึงมีลักษณะ มีความหลากหลายมากขึ้น เมื่อเข้าสู่ยุคหลังสมัยใหม่ สังคมจะคล้ายๆ กับค้นหาเรื่องจิตใจ กลับไปสู่เรื่องของวัฒนธรรมที่หลากหลายมากขึ้น แต่นายทุนมันก็พยายามเอาความหลากหลายมาขายเป็นสินค้าเพิ่มขึ้นด้วย นี่คือเรื่องเก่าที่อยากเปรียบเทียบให้เห็น

ทีนี้ภายใต้การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในขณะนี้ นายทุนพยายามหาประโยชน์จากวัฒนธรรม เอาวัฒนธรรมมาทำเป็นสินค้า เอาจิตใจมาขายได้ รวมถึงความพยายามจะผลักดันกฎหมาย พร้อมๆ กับการคอรัปชั่นมากขึ้นเรื่อยๆ จึงทำให้ผู้คนไม่ค่อยที่จะยอมรับในกฎหมาย หรือไม่ยอมรับในเรื่องหลักเหตุผล รวมถึงไม่ยอมรับในเรื่องที่ว่ารัฐบาลต้องมาจากการเลือกตั้งไป เพราะรัฐบาลแก้ปัญหาในยุคสมัยใหม่ไม่ได้ แก้ปัญหาความหลากหลายทางวัฒนธรรมไม่ได้ แก้ปัญหาความแตกต่างทางเชื้อชาติไม่ได้ คนก็เริ่มมองเห็นว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งเดิมเชื่อว่ามีประสิทธิภาพ กลับไม่เอื้อต่อความเข้าใจที่มีอยู่อย่างหลากหลาย แต่กลับพยายามที่จะมีคำตอบเดียว คนก็คล้ายๆ กับลังเล เกิดมีความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลายกันในสังคมมากมาย

นี่เลยเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับสังคมไทยในขณะนี้ ในแง่ที่ว่าขณะที่รัฐบาลที่เข้ามาพยายามอ้างกฎหมาย อ้างความชอบธรรมที่มาจากการเลือกตั้ง แค่ผู้คนมันมีความแตกต่างหลายแบบ ก็เลยทำไห้เกิดการต่อรองกันมากขึ้นในสังคมของเราที่ว่าทำอย่างไรจะพัฒนาระบบของเราขึ้นมาใหม่ให้มันยอมรับความแตกต่างหลากหลายกันมากขึ้น และจะมีวิธีอื่นๆ อย่างไร มันจึงมีการพูดถึงระบบการเมืองอื่นๆ ที่ไม่ใช่การเมืองในระบบรัฐสภา เช่น การเมืองภาคประชาชน การเมืองทางเลือก การเมืองบนท้องถนน ต่างไปจากเมื่อก่อนที่เราคิดว่าต้องอยู่ในสภา เลือกตั้งเสร็จแล้วก็เสร็จกัน แต่ตอนนี้พอมาดูคำว่าการเมืองมันกลายเป็นคำที่เกิดการช่วงชิงความขึ้นมาว่าการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยเป็นแบบไหน ซึ่งมันไม่มีทางเดียว มันมีหลายทางที่ผู้คนที่อยู่ในสถานการณ์ที่แตกต่างกัน ต่างก็ช่วงชิงว่าเป็นแบบไหนบ้าง มันก็เลยเกิดมีความเห็นที่แตกต่าง

แล้วเราจะมีท่าทีอย่างไรภายใต้สถานการณ์นี้

หากเรามีความคิดแบบเสรีนิยม แม้เราจะไม่เห็นด้วยกับฝ่ายใด โดยเฉพาะสื่อต้องต่อสู้ปกป้องให้ทุกคนที่มีความเห็นแตกต่างได้มีโอกาสพูดหมด ไม่ใช่ไปเอาความรุนแรงทางกฎหมายไปปิดกั้น

เสรีนิยมแบบเต็มขั้น เราจะเห็นด้วยหรือไม่นั้นไม่สำคัญ แต่เราต้องสร้างสถานการณ์ หรือปกป้องสถานการณ์ให้ทุกคนได้แสดงความคิดเห็นได้อย่างเสรี เขาจะพูดอย่างไรก็ต้องให้เขาพูด เพราะมันเป็นปัญหาการเปลี่ยนแปลงในช่วงการเปลี่ยนผ่านของสังคม เราจึงยังไม่รู้ว่าช่องทางไหนถูก หากเราปิดกั้นไม่ให้คนพูด เราก็จะไม่รู้ว่าจะไปทางไหนดี หรือไม่มีโอกาสเอาความเห็นเหล่านั้นมาตรวจสอบ หรือพิจารณา เวลานี้ต้องให้ข้อมูลข่าวสารมันเข้าถึงมากที่สุด ไม่ใช่ไปปิดข้อมูลข่าวสาร ต้องปล่อยให้คนพูดมากที่สุดในทุกที่ ขณะเดียวกันต้องไม่อ้างถึงกฎหมายเพียงอย่างเดียว เพราะมันต้องพิจารณากฎหมายเหล่านั้นมันถูกใช้หรือนำมาใช้ในลักษณะที่มีเบื้องหน้าเบื้องหลังอย่างไร ไม่ใช่ว่ามีรัฐบาลที่ถูกกฎหมายมาบังคับกลับไม่ทำ แต่กลับใช้กฎหมายไปบังคับกับคนอื่น จึงทำให้เกิดความขัดแย้งในตัวมันเอง เลยเปิดช่องว่างให้คนทั่วๆ ไป คิดถึงสิ่งที่เรียกว่า อารยะขัดขืน หรือไม่ยอมรับกฎหมายมากขึ้น

พอเรามาอยู่ในช่วงที่เป็นปัญหาเฉพาะเหล่านี้ มันก็จะเกิดความรู้สึกที่เหมือนกับมืดแปดด้าน ไม่รู้จะไปทางไหนดี เนื่องจากเราไม่เข้าใจภาพใหญ่ เรามองแต่ภาพเล็ก จริงๆ แล้วประเด็นที่สำคัญคือว่าขณะนี้ทุกคนกลัวความขัดแย้งขึ้นสมอง ซึ่งในแง่หลักการเราต้องเปิดให้มีพื้นที่ของความขัดแย้ง เพื่อคนจะได้มาช่วงชิง หรือมาต่อรอง มาแสดงเหตุผลต่อสู้กัน เพื่อว่าจะได้รู้ว่าสังคมจะเคลื่อนไปข้างหน้าได้อย่างไร เพราะเราจะใช้หลักคิดเดิมๆ กับทางข้างหน้าไม่ได้ ต้องมีหลักคิดใหม่ ซึ่งไม่ได้มาจากความฝันแต่ต้องมาจากข้อต่อสู่กัน ดังนั้นหากเปิดพื้นที่การต่อสู้มันก็ไม่รู้ว่าหลักคิดอันใหม่จะเป็นอย่างไร

ฉะนั้นเราต้องไม่ปิดกั้นตัวความขัดแย้ง แต่เราก็ต้องปฏิเสธความรุนแรง ซึ่งประเด็นนี้มันมีปัญหาอยู่ที่ ความขัดแย้งไหนที่จะไม่นำไปสู่ความรุนแรง หรือความขัดแย้งแค่ไหนจะนำไปสู่ความสร้างสรรค์ ซึ่งตรงนี้ก็ต้องเปิดให้มีการถกเถียงเช่นกัน เพราะในปัจจุบันไม่มีใครมีคำตอบสำเร็จรูป เราไม่อาจบอกว่านักวิชาการเก่งกว่า เราก็ไม่รู้เหมือนกัน รู้แต่ในหลักการว่าต้องเปิดโอกาสให้ทุกคนได้มีโอกาสพูด แล้วถกเอาประเด็นที่เป็นเนื้อหา หรือหัวใจของสิ่งที่เป็นความขัดแย้งเดิมที่ทำให้สังคมมัยเคลื่อนที่ไปข้างหน้าไม่ได้

ความขัดแย้งทางการเมืองในครั้งนี้ ชาวบ้านจะรู้สึกมีส่วนร่วมน้อย เมื่อเทียบกับชนชั้นกลาง เพราะอะไร

จริงๆ ก็เป็นอย่างนี้ เพราะการเมืองมีหลายระดับ การเมืองบนท้องถนนในปัจจุบันแง่หนึ่งมันมาจากปัญหาพื้นฐานตามที่กล่าวไปแล้ว แต่พอมันเล่นกันไปแล้ว มันได้กลายเป็นการเมืองของคนระดับสูง หรือคนที่มีอำนาจ โดยเฉพาะคนที่อยู่ในระบบการเมืองที่เป็นทางการ กับการเมืองในระบบอุปถัมภ์ในวังต่างๆ ได้เข้ามาเกี่ยวข้อง มันจึงกลายเป็นการเมืองในระดับสูงไป ส่วนการเมืองระดับชาวบ้านเขาไม่รู้สึกว่าความขัดแย้งทุกวันนี้มันเกี่ยวข้องกับเขา เพราะมันไม่ได้สร้างทางเลือกเชิงนโยบายใดๆ มันพูดถึงแต่ว่าใครไม่ชอบธรรม หรือชอบธรรมในการปกครอง

ส่วนการเมืองระดับกลาง ก็คือการเมืองระดับที่ประชาชนจะมีส่วนร่วมได้มาก คือ เวทีหรือพื้นที่ของการถกเถียง แต่ปัจจุบันมันก็ไม่ค่อยมี เพราะมันไปติดอยู่กับการเมืองแบบแบ่งขั้วมากเกินไป ส่วนการเมืองที่เป็นพื้นที่ภาคประชาสังคมก็มีพื้นที่น้อย การนำเสนอข่าว หรือการพูดคุยมันก็จะไปอยู่ตามงานเสวนา สัมมนาตามที่ต่างๆ ซึ่งไม่ค่อยเป็นที่รับรู้ ไม่มีพลังที่จะเผยแพร่หรือทำให้ผู้คนได้รับรู้ว่าคนอื่นๆ เขาคิดอย่างไร นี่จึงเป็นปัญหาเพราะการเมืองมีหลายระดับ

ถ้ามองเรื่องนี้ในเชิงเดี่ยวเราจะมองไม่เห็น เพราะมันซ้อนกันอยู่หลายเรื่อง และในเชิงซ้อนก็มีหลักการซึ่งเป็นภาพใหญ่ตามที่กล่าวมาแล้ว และในส่วนที่เป็นสถานการณ์ปัจจุบันซึ่งก็คือการเมือง 3 ระดับที่ซ้อนกันอยู่ ดังนั้นในแง่ของชาวบ้านก็จะไม่เข้าใจเลย เพราะมันไม่ใช่การเมืองของเขา ไม่ใช่การเมืองของภาคประชาชนอย่างแท้จริง เพราะการเมืองภาคประชาชนคือการถกเถียงเชิงนโยบาย

มีการอธิบายว่าความขัดแย้งนี้จะนำไปสู่การเมืองใหม่ หรือเป็นการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม

หากจะสร้างประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมนี่มันต้องมีการปรับโครงสร้างอย่างที่เคยเสนอกันมามากมายหลายเรื่อง ไม่ใช่การพูดแค่เรื่อง 70 30 ที่เป็นแค่การเมืองในระบบ หรือการเมืองแบบเลือกตั้ง ซึ่งเป็นส่วนน้อย หรือยอดของภูเขาน้ำแข็งเท่านั้นเอง การเมืองภาคประชาชนการเมืองของคนส่วนใหญ่ต้องนำไปสู่การปรับเปลี่ยนโครงสร้าง เพราะที่รัฐบาลที่ผ่านมาไม่ได้ปรับโครงสร้างอะไรเลย เป็นการปรับเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ให้ได้คะแนนเสียง

ดังนั้นการแก้ปัญหาต้องแก้ที่โครงสร้าง และเพิ่มพื้นที่การเข้าถึงทรัพยากรของภาคประชาชน เช่น ป่าชุมชน ไม่ใช่เราไปเน้นอยู่ที่  สมบัติปัจเจก ที่ทำให้ความมีตัวตนของผู้คนไม่สามารถแสดงออกได้ เพราะว่าคนรวยและคนจนในสังคมเรามันต่างกันมาก เราต้องให้คนจน หรือคนที่ไม่มีความสามารถทางด้านทุนได้มีพื้นที่ยืนในสังคมได้ ยืนบนพื้นฐานของวัฒนธรรมตัวเอง บนพื้นฐานของการมีส่วนร่วมกันในการรักษาทรัพยากรท้องถิ่น ต้องเปิดพื้นที่ใหม่ทางสังคมอื่น เช่น พื้นที่ของป่าชุมชน พื้นที่ของโฉนดชุมชน หรือพื้นที่ใดก็ตามที่มีลักษณะการรวมกลุ่มแบบอื่นๆ ในแบบที่ไม่เคยมีมา นี่เป็นอันหนึ่งที่จะเปลี่ยนโครงสร้าง หรือการเปลี่ยนโครงสร้างในเรื่องของการปรับเปลี่ยนระบบการจัดเก็บภาษีที่ดิน ภาษีอัตราก้าวหน้า หรือในเชิงทางการเมือง ทางกฎหมาย มันต้องทำให้ผู้คนทั่วไปที่มีกลุ่มมีก้อน หรือมีลักษณะเป็นชุมชน สามารถเป็นผู้เสียหายได้ เราพูดถึงสิทธิชุมชนแต่มันลอยมาก ดังนั้นเมื่อเกิดความเสียหายรัฐต้องเป็นคนฟ้องให้ มันก็ไม่เกิดการรวมกลุ่ม เพราะในสังคมสมัยใหม่มันมีผลกระทบจากการพัฒนามากมาย เช่น สร้างโรงไฟฟ้าฯลฯ แต่ชุมชนกับเป็นผู้เสียหาย หรือแจ้งฟ้องเองไม่ได้

การแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างเหล่านี้เป็นจุดสำคัญที่จะช่วยในการแก้ไขปัญหาการเมืองภาคประชาชนให้มันเป็นจริง เพราะการเมืองบนท้องถนนที่ไปปิดล้อมมันไม่เป็นจริง เพราะมันเคลื่อนได้แต่มันไม่มีที่บังคับ หรือกลไกเชิงโครงสร้างที่รองรับให้เขามีความเข้มแข็ง

อันนี้ประชาชนสู้มา 20 ปียังไม่มีกลไกเลย

เพราะมันไม่เปิดพื้นที่ ทั้งระบบกฎหมาย ระบบของรัฐที่ผูกขาดไว้ มันไม่เปิดพื้นที่ให้ โดยเฉพาะแม้แต่จะตั้งกลุ่ม หรือสมาคมก็ต้องจดทะเบียน แล้วพรรคการเมืองที่ไม่ใช่ตัวบุคคล แต่เป็นกระบวนการเป็นระบบองค์กรก็ยังมีการยุบได้ มันควรจะให้เป็นธรรมชาติ ไม่ใช่กฎหมายทำให้มันเป็น จะยุบหรือจะสร้างก็ต้องจดทะเบียน ดังนั้นการเมืองภาคประชาชนจึงไม่สามารถเกิดขึ้นได้บนพื้นฐานการควบคุมของรัฐ

แล้วการเมืองภาคประชาชนจะมีพื้นที่ได้อย่างไร

ต้องทำเรื่องพวกนี้ให้เป็นที่รับรู้ในสังคมวงกว้างมากขึ้น เพื่อเอาไปผลักเชิงนโยบาย ซึ่งสื่อที่ถูกคุมโดยรัฐหรือนายทุน หรือการที่เรามีสื่ออิสระขึ้นมาบ้าง แต่สื่ออิสระก็มีไม่มาก แล้วไม่ใช่ทุกคนที่ดูโทรทัศน์ ดังนั้นมันต้องไปในรูปของกลไกอื่นที่ใกล้ตัวเขามากขึ้น เช่น มีป่าชุมชนให้เขามีส่วนร่วม ดังนั้นการเมืองที่มีส่วนร่วมแต่ไม่ปรากฏพื้นที่ของการมีส่วนร่วมก็เป็นไปไม่ได้ การมีส่วนร่วมมีตั้งแต่การจัดการทรัพยากร ร่วมดูแลพื้นที่ เพราะการมีส่วนร่วมมีได้หลายลักษณะ แต่เราไม่พื้นที่เหล่านี้เลย เพราะกฎหมายมันไม่เอื้อ         

ภาคประชาสังคมต้องผลักดันข้อเสนอเชิงโครงสร้างที่ไม่ไปติดอยู่กับข้อถกเถียง หรือสิ่งที่การเมืองระดับบนเขาพูดกัน เพราะถ้าพูดไปมันก็เข้าทางเขา และนำไปสู่การเลือกข้าง โดยไม่ได้เห็นว่ามันมีข้างอื่นๆ หรือไม่เห็นสาเหตุของความขัดแย้งซึ่งมาจากผลพวงของทุนนิยมยุคเก่านี้

โดยเฉพาะที่มันเป็นอย่างนี้เพราะคนมันโหยหาเรื่องของจิตใจ เรื่องศีลธรรม เมื่อเอาเรื่องชาตินิยมเข้ามาใส่นิดหน่อยมันก็ได้ทั้งนั้น เพราะไม่ใช่เรื่องทางวัตถุ และเรื่องพวกนี้มันก็เลยเข้าทางฝ่ายคนที่มีอำนาจนำไปใช้

ผมวิเคราะห์ตามหลักสังคมศาสตร์ ซึ่งต้องมองให้เห็นความซับซ้อนภายใน ต้องดูว่ามีพื้นที่ช่องว่างตรงไหน และดูว่ามีตัวกระทำในแต่ละฝ่ายอย่างไร ต้องวิเคราะห์บนความเป็นจริง ส่วนว่ามันจะขับเคลื่อนไปแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับว่ามันมีพื้นที่ที่จะสื่อความหมาย สื่อความเข้าใจ และสื่อคำอธิบายเป็นที่รับรู้รับทราบได้มากขนาดไหน เพราะเราไม่สามารถที่จะคุมเรื่องพวกนี้ได้หมด เราอาจจะมีความเข้าใจ หรือความรู้ที่วิเคราะห์ได้แต่เราไม่สามารถควบคุมสังคมได้.

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท