scoop: เลือกผู้ว่าจากป้ายหาเสียง

 

เรื่อง : รุ้งรวี ศิริธรรมไพบูลย์

 

 

 

เลือกเบอร์ไหนคะ

 

อ้อ...ก่อนจะถามว่าเลือกเบอร์ไหน ควรจะถามว่าคนกรุงเทพฯ หรือปล่าววว...เพราะกรุงเทพมหานครมีประชากรกว่า 10 ล้านคน แต่เป็นคนที่มีภูมิลำเนาในกรุงเทพฯ เพียง 5 ล้านกว่าคน (5,716,248 คน) และมีสิทธิเลือกตั้งเพียง 4,164,371 คน

 

เพราะฉะนั้นไอ้ที่เดินหาเสียงกันทุกวันนี้ก็ไม่รู้ถูกตัวถูกคนหรือเปล่า

 

เนื่องด้วยกฎหมายเลือกตั้งห้ามทำโพล (ตามจริงทำได้ แต่ห้ามประกาศจนกว่าจะเลือกตั้งเสร็จ—แล้วจะทำไปทำไม) ใครเป็นตัวเต็ง ใครเป็นม้ามืด เลยไม่รู้กัน ปกติเวลาจะเลือกใครเราต้องพิจารณาจากนโยบายใช่ไหมคะ พอดีดิฉันเป็นพวกสมาธิสั้น ฟังอะไรก็เข้าหูซ้ายทะลุหูขวา จึงแยกไม่ออกว่านโยบายของแต่ละผู้สมัครนั้นแตกต่างกันอย่างไร บางทีก็ครือๆ กัน จนแยกไม่ออก หรือเลือกใครไปก็เท่านั้นแหละ ทุกคนก็มีนโยบายที่ดีที่จะทำให้กรุงเทพฯ (ของเรา) ดีขึ้นเหมือนๆ กัน

 

ดิฉันเลยเลือกพิจารณาจากป้ายหาเสียงที่เห็นเกลื่อนเมือง

 

ป้ายหนึ่งป้าย บอกอะไรเราได้มากหลาย...คุณว่าไหม

 

 

อภิรักษ์ เกษะโยธิน เบอร์ จินตนาการและความทรงจำ

เขาบอกว่าผู้สมัครคนนี้เป็นตัวเต็ง เต็งไม่เต็งดิฉันไม่รู้ รู้แต่ว่าคุณอภิรักษ์หน้าตาดี (กิ้ววว...) ป้ายหาเสียงของคุณอภิรักษ์จึงโชว์หน้า (หล่อๆ) หรา ผมเรียบแปล้ ใบหน้ายิ้มแย้ม (ดิฉันว่าเป็นยิ้มแหยๆ มากกว่า) เปี่ยมสุข (ซึ่งต่างจากผู้สมัครอีกคนคือคุณชูวิทย์ ซึ่งจะกล่าวถึงต่อไป) ใบหน้าเปี่ยมสุข ยิ้มแย้มนี้ "บ่งบอก" ว่า การอาสาเข้ามาทำงานในตำแหน่งผู้ว่ากรุงเทพมหานครนั้น มาด้วยความเต็มใจและมีความสุขที่ได้รับใช้ชาวกรุงเทพฯ

 

ป้ายหาเสียง "ส่วนใหญ่" (ดิฉันมีปัญญาไปเดินถ่ายมาได้แค่นี้ค่ะ ครบไม่ครบอย่างไรขออภัยด้วย) ของคุณอภิรักษ์มี "รูป" ตัวเองเป็นส่วนประกอบ รูปส่วนใหญ่ที่พบเห็นคือ คุณอภิรักษ์อยู่ในชุด "สูท" เรียบร้อย ภูมิฐาน ทั้งเสื้อผ้า หน้าผม

 

"สูท" มีความหมายถึงความเป็น "สากล" การใส่สูทช่วยยกระดับฐานะทางสังคมของคน (แม้แต่พนักงานโรงแรมที่ใส่สูทยังมีหน้าที่สูงกว่าพวกเบลบอยที่ใส่เสื้อราชปะแตนและนุ่งโจงกระเบน—จริงไหม) ให้ดูสูงส่ง น่าเชื่อถือ เชื่อมั่น รูปที่คุณอภิรักษ์ใส่สูทจึงหมายความถึงความเป็นผู้นำ "ระดับสากล" หรือการเป็นผู้นำที่จะพากรุงเทพฯ สู่ระดับสากล เมื่อพิจารณาจากนโยบายที่ว่า "กรุงเทพฯ เมืองอนาคต" นั้น ดูจะเกี่ยวก้อยควงแขนกันไปได้ดีกับความเป็นสากล น่าเชื่อถือ และภูมิฐาน ของผู้นำที่ใส่สูท

 

ป้ายโฆษณาที่โดดเด่นของคุณอภิรักษ์คือป้ายที่มีภาพกรุงเทพฯ (นั่นกรุงเทพฯ เหรอคะ โอ้! แม่เจ้า ไม่บอกไม่รู้นะเนี่ย) เมืองที่เต็มไปด้วยตึกสูงใหญ่ ทันสมัย ถูกล้อมรอบไปด้วยป่า เขียวขจี (ของสวนลุมฯ) เป็นแบ๊กกราวนด์ มีรูปคุณอภิรักษ์ขนาดครึ่งตัวเคียงคู่ พร้อมคำโปรยที่ว่า "กรุงเทพฯ แห่งอนาคต"

 

 

รูปนี้กำลังจะบอกอะไร

ก่อนอื่นดิฉันของปรบมือให้กับฝ่ายคอมพิวเตอร์กราฟิกที่ทำป้ายโฆษณาชิ้นนี้ก่อน เพราะมันทำให้ดิฉันถึงกับ "อึ้ง" จนถึงต้องเดินเข้าไปจ้องดูใกล้ๆ ว่า "นี่มันคือกรุงเทพฯ ที่ฉันอยู่จริงๆ หรือ"

 

คำตอบคือหาก "เลือก" อภิรักษ์ คุณจะได้กรุงเทพฯ แบบภาพนี้

 

มองเผินๆ เราจะเห็นว่าภาพกรุงเทพฯ เมืองอนาคตนี้ "ถอดแบบ" มากจาก "เทพนิยาย" หากเคยอ่านการ์ตูนพวกมีเจ้าหญิง มีปราสาท จะเห็นว่าภาพเปิดตัวปราสาทบ้านเมืองของเจ้าหญิงก็เป็นเช่นนี้ คือมีปราสาทสูงตระหง่านรอบล้อมไปด้วยต้นใหญ่น้อยใหญ่เขียวขจี

 

เอาล่ะ แต่ถ้าใครไม่เคยอ่านการ์ตูน แต่เคยดูละครจักรๆ วงศ์ๆ ตอนเช้าทางช่อง 7 จะเห็นว่าใช้ "แบบพิมพ์" เดียวกัน ในการกล่าวถึงเมือง (วัง) ไม่ว่าจะของเจ้าชาย หรือเจ้าหญิง หรือถ้าใครอินเตอร์หน่อย เคยดูหนังเรื่อง "Short Bus" ในฉากเปิดหนังที่ใช้ภาพการ์ตูนสีน้ำเล่าเรื่อง จะเห็นว่าภาพเกาะแมนฮัตตัน (ที่มีตึกสูงใหญ่ ทันสมัย) ไม่ต่างจากภาพโฆษณาของคุณอภิรักษ์สักเท่าไร เมืองที่เต็มไปด้วยตึกสูงใหญ่ ทันสมัย แต่ล้อมรอบไปด้วยความเขียวขจีของธรรมชาติ

 

อภิรักษ์นำภาพ "เมืองในฝัน" ที่อ้างอิงแบบพิมพ์มาจาก "เทพนิยาย" มาให้เราดู เพื่อขอคะแนนเสียง มากกว่านั้นเขาใช้ภาพเมืองในฝันนี้เป็นเพียง "แบ๊กกราวนด์" แต่ใช้รูปตัวเองนำหน้าหรา ซึ่งมีความหมายว่า ภาพข้างหลังที่คุณเห็นจะเกิดขึ้นได้เพราะผม หรือเมืองข้างหลังเป็นเมืองของผม (ต่อเมื่อผมได้บริหาร คุณก็จะได้เมืองข้างหลัง) อยากเข้ามาอยู่ไหม เลือกผมสิ (ป้ายโฆษณานี้ให้ความสำคัญกับผู้ที่จะทำให้เกิด มากกว่าสิ่งที่จะเกิด)

 

ดิฉันละเผลอจินตนาการฝันหวานว่าจะได้อยู่ในกรุงเทพฯ ที่ทันสมัย เต็มไปด้วยตึกสูงใหญ่ยิ่งกว่านิวยอร์ก แต่เขียวขจี มีธรรมชาติต้นไม้สูงใหญ่ล้อมรอบ แต่ต้องตกใจตื่นเพราะรถเมล์ที่จอดอยู่ข้างหลังบีบแตรไล่ พร้อมด่าพ่อล่อแม่อีกต่างหาก

 

โอ! แบบไหนเหรอกรุงเทพฯ ของเรา

 

แน่ละทั้งในนิยายหลอกเด็ก ละครจักรๆ วงศ์ๆ หรือหนังเรื่อง Short Bus ต่างเสนอ "ภาพ" ที่สวยงาม ชวนฝันเกี่ยวกับเมือง ก่อนที่จะซูมเข้าไปในเมืองที่กำลังเกิดเหตุร้าย ปีศาจกำลังครองเมือง เจ้าหญิงต้องแต่งงานเพื่อให้เมืองอยู่รอด อีกเมืองหนึ่งกำลังยกทัพมายึดเมือง หรือใน Short Bus ที่ในเมืองนั้นแหลวแหลกสิ้นดี ต่างจากภาพที่เห็นตั้งแต่แรกสิ้นเชิง

 

หรือในภาพโฆษณาของคุณอภิรักษ์ก็เป็นเช่นนั้น???

 

นอกจากภาพใส่สูทหล่อเฟี้ยวแล้ว คุณอภิรักษ์ยังกวาดทั้งตลาดล่างตลาดบน ความเป็นผู้นำในระดับสากลและระดับท้องถิ่น เมื่อพิจารณาจากป้ายหาเสียงแบบต่อมาที่มีภาพคุณอภิรักษ์ปั่นจักรยานนำหน้าฝูงชนทำกิจกรรมอะไรสักอย่าง และกำลังเดินตรวจสารทุกข์สุขดิบในท้องที่

 

โดยที่ทั้งสองภาพมีคำโปรยว่า "เราร่วมทุกข์ร่วมสุข"

 

 

จะเห็นได้ว่า นอกจากคุณอภิรักษ์จะเป็นผู้นำระดับ "สากล" แล้ว เขายังเป็นผู้นำในระดับ "ท้องถิ่น" ได้อีกด้วย เสื้อผ้า หน้าผมแลดูทะมัดทะแมง สลัดชุดสูทที่เคยใส่ บอกเราว่าเขาพร้อมที่จะลงมา "ทำงาน" คลุกฝุ่นในระดับท้องถิ่น หรือชุมชน และพร้อมเป็น "ผู้นำ" หรือตัวตั้งตัวตีในการริเริ่ม หรือสร้างกิจกรรมในระดับชุมชน จากในภาพที่คุณอภิรักษ์ "นำหน้า" เป็นจ่าฝูงอยู่ในทั้งสองภาพ

 

โดยเฉพาะภาพที่สอง หากพิจารณาให้ดีจะเป็นว่าคนที่เดินตามนั้นมีความหลากหลายในหน้าที่การงาน ทั้งข้าราชการ ตำรวจ ทหาร คนเก็บขยะ พนักงานดับเพลิง ภาพนี้กำลังจะบอกว่าคุณอภิรักษ์พร้อมจะ "นำ" ทุกภาคส่วนในสังคม หน่วยงานต่างๆ มารับใช้ประชาชน เพื่อให้เกิดความสงบสุข อยู่ดีกินดี ไม่ได้ทำงานเพียงคนเดียวแต่ยังมี "พาวเวอร์" มากพอที่จะบอก สั่งการ นำหน่วยงานทุกหน่วยงานในสังกัดให้ปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มที่ ภายใต้การ "นำ" ของตน ในแต่ละท้องที่ ในระดับชุมชน

 

มากกว่านั้น ภาพทั้งสองยังมีหน้าที่ "ตอกย้ำ" คนกรุงเทพฯ ว่าที่ผ่านมา คุณอภิรักษ์ได้ "ทำ" อะไรไปบ้าง ถ้าจำกันไม่ได้ ภาพนี้จะช่วยเตือนความจำคุณว่า ผมทำงานอย่างเต็มที่ ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับประชาชน

 

อภิรักษ์ เกษะโยธินใช้ป้ายหาเสียงที่เต็มไปด้วยความหลากหลายทางสัญลักษณ์ ทั้งในระดับ "จินตนาการ" ในสิ่งที่จะเกิดขึ้น ถ้าเขาได้เป็นผู้ว่า ทั้งในระดับ "ความทรงจำ" ว่าเขาได้ทำอะไรมาบ้าง ทั้งในมุมกรุงเทพฯ ของการเป็นเมืองในระดับสากล ยิ่งใหญ่ ทันสมัย สวยงาม แต่ยังมีความเป็นธรรมชาติ เขียวขจี เพื่อตอบโจทย์คนกรุงเทพฯ ในชนชั้นหนึ่ง และในมุมของท้องถิ่นในการลงไปช่วยเหลือ ปัดเป่าทุกข์ภัย ในอีกชนชั้นหนึ่ง

 

แม้นโยบายไม่ชัดเจนว่าจะทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน เหมือนผู้สมัครคนอื่นๆ แต่ภาพนโยบายของคุณอภิรักษ์นั้น กว้าง ครอบคลุม และชวนฝันยิ่งกว่าใครๆ ที่สำคัญเล่นกับความรู้สึกในระดับจิตวิทยาได้ดีนักแล

 

ประภัสร์ จงสงวน เบอร์ 10—ภาพลักษณ์ใหม่ของผู้ว่าฯ

ชื่อของประภัสร์ จงสวงน ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ถือเป็นหน้าใหม่ในสนามการเลือกตั้งครั้งนี้ แต่คนกรุงเทพฯ คงคุ้นหน้ากันดีกับตำแหน่ง (อดีต) ผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย แถมมีแบ๊กอัพเป็นพรรคพลังประชาชนอีก (ซึ่งไม่รู้ว่าจะเป็นข้อดีหรือข้อเสียกันแน่) แม้จะหน้าใหม่แต่เรียกได้ว่ามีลุ้นไม่น้อยในการลงสมัครครั้งนี้

 

ป้ายหาเสียงของคุณประภัสร์ที่พบเห็นทั่วไปมีไม่กี่แบบ (หากเทียบกับคุณอภิรักษ์หรือคุณชูวิทย์) แต่ถือว่าป้ายหาเสียงของเขาเข้าเป้าอย่างมาก กับการเรียกคะแนนเสียงในการเลือกตั้งครั้งนี้

 

ป้ายที่เห็นจนชินตาและเป็นป้ายที่น่าจะเรียกคะแนนได้มากที่สุดคือป้ายที่มีรูปคุณประภัสร์ครึ่งตัว แบ๊กกราวด์เป็นภาพรถไฟฟ้า (ไม่แน่ใจว่าใต้ดินหรือบนดิน) กำลังแล่นมาด้วยความเร็วสูง

 

 

อย่างแรกที่น่าสนใจคือทั้งในป้ายหาเสียงนี้และป้ายหาเสียงอีกอันที่ใช้พื้นสีแดงเรียบๆ และมีรูปของคุณประภัสร์ขนาดครึ่งตัวนั้น คุณประภัสร์เลือกที่จะใส่เพียงเชิ้ตสีขาว ผูกไท แต่ไม่สวมสูททับ การแต่งกายดังกล่าวดูกึ่งทางการ แต่ก็เรียบร้อยด้วยการผูกไทที่แน่นไปถึงคอ ดูเผินๆ "ภาพ" ของคุณประภัสร์เป็นเพียงพนักงานในตำแหน่งอะไรสักอย่าง ไม่ได้ดูเป็นภาพผู้นำ ซีอีโอ หรืออะไรที่ภูมิฐาน น่าเชื่อถือ เป็นสากลเหมือนคุณอภิรักษ์แต่อย่างใด

 

ทำไม?

การเลือกเสนอภาพ "พนักงาน" ของคุณประภัสร์บ่งบอกว่าเขาพร้อมที่จะเข้าเป็นพนักงานรับใช้ เป็นคนทำงานให้ มากกว่าจะเข้ามาเป็น "ผู้บริหาร" หรือ "ผู้นำ" คุณประภัสร์ตีโจทย์ตัวเองเป็นเพียงคนงานเพื่อรับใช้คนกรุงเทพฯ เพื่อเรียกคะแนนเสียง และฉีกตัวเองออกจากรูปแบบของผู้สมัครคนอื่นๆ และ "ภาพเสนอ" ของผู้สมัครในสมัยที่แล้วๆ มา

 

พนักงาน หรือคนทำงานให้ จึงฟังดูถ่อมตัว เข้าถึงง่าย และเอาการเอางานมากกว่า

 

อีกอย่างที่น่าสนใจคือการเสนอ "จุดขาย" ของคุณประภัสร์ นั่นก็คือ "รถไฟฟ้า" ซึ่งเป็นจุดแข็งจุดเดียวที่คุณประภัสร์พอจะนำมาต่อกรกับผู้สมัครคนอื่นๆ ได้ คุณประภัสร์เลือกใช้วิธีการนำเสนอไม่ต่างจากคุณอภิรักษ์ในภาพ "กรุงเทพฯ แห่งอนาคต"

 

หากพิจารณาตามองค์ประกอบภาพแล้ว จะเห็นว่าเหมือนกันเด๊ะกับภาพกรุงเทพฯ เมืองแห่งอนาคตของคุณอภิรักษ์ ผิดแต่ว่าภาพของคุณอภิรักษ์ดูเป็นภาพใน "จินตนาการ" แต่รถไฟฟ้าของคุณประภัสร์นั้น "กำลังจะมา"

 

ด้วยการเลือกภาพที่แลดูเหมือนกำลังเคลื่อนไหวด้วยความเร็วสูง ภาพรถไฟฟ้าของคุณประภัสร์จึงดู "จริง" กว่าเมืองในฝันของคุณอภิรักษ์ (ประกอบกับโปร์ไฟล์ส่วนตัวของคุณประภัสร์ด้วย) อย่างน้อยก็เรียกได้ว่า ใกล้เคียงความจริง แลดูไม่เป็นเพียง "จินตนาการ"

 

แต่เมื่อพิจารณาตามภาพจะเห็นได้ว่ารถไฟฟ้าเป็นเพียง "แบ๊กกราวนด์" (คุณประภัสร์เลือกผู้ที่จะทำให้เกิดมีความสำคัญกว่าสิ่งที่กำลังจะเกิดเช่นเดียวกับคุณอภิรักษ์) แต่สิ่งที่อยู่ข้างหน้า สิ่งที่ "มาก่อน" คือคุณประภัสร์ จึงหมายความได้ว่า คุณประภัสร์ต้องมาก่อน คือได้รับการเลือกตั้ง รถไฟฟ้าถึงจะตามมาทีหลัง

 

โอเค๊!

 

อีกหนึ่งป้ายหาเสียงของคุณประภัสร์ จงสงวนที่โผล่มาอย่างงงๆ และก่อให้เกิดความงุนงงคือรูปที่คุณประภัสร์ใส่เสื้อหนังนั่งอยู่บนช้อปเปอร์สุดเท่ (เท่ระเบิดเลยเพ่) เขากำลังจะบอกอะไรเรา

 

 

อย่างแรกเลย ดิฉันนึกว่าเป็นป้ายโฆษณาอัลบั้มใหม่ของพี่กุ้ง กิตติคุณ (เหมือนจริงๆ นะคะ ใครว่าไม่เหมือน) นี่ถ้าไม่มีชื่อของคุณประภัสร์ และเบอร์ 10 ติดอยู่ดิฉันคงคิดอย่างนั้นจริงๆ

 

คนประเภทไหน (คือคนใน Stereo Type แบบไหน) ที่ใส่เสื้อหนัง ขี่ช้อปเปอร์ (แน่ละ คนรวย เพราะช้อปเปอร์คันหนึ่งราคาใช่ถูกๆ) นอกจากความเท่แล้ว คนขับช้อเปอร์ยังให้ภาพ "นักเลง" และ "ความเก๋า"

 

ในขณะที่ผู้สมัครคนอื่นเล่นบทบาท "นักวิชาการ" "นักการเมือง" "ซีอีโอ" อะไรก็ตามที่ให้ "ภาพ" ความเป็นผู้นำ ภูมิฐาน น่าเชื่อถือ คุณประภัสร์กลับเล่นบท "พนักงาน" และบท "นักเลง" ขี่ช้อปเปอร์

 

ความหมายของนักเลงขี่ช้อปเปอร์คือ ผู้ชายที่มีความ "เก๋าเกม" กล้าได้กล้าเสีย ใจใหญ่ ตรงไปตรงมา มีน้ำใจกับเพื่อนฝูง เอาพรรคเอาพวก แต่ไม่เล่นพรรคเล่นพวก รักการผจญภัย ฯลฯ พูดง่ายๆ ว่ามีนิสัยแบบ "ลูกผู้ชาย" (ใน Stereo Type แบบพระเอกนักบู๊) ลักษณะนิสัยแบบนักเลง (ในที่นี้ไม่ใช่นักเลงหัวไม้นะคะ แต่เป็นนักเลงขี่ช้อปเปอร์) นั้นตรงข้ามกับลักษณะนิสัยแบบนักการเมือง หรือผู้นำแบบซีอีโอโดยสิ้นเชิง (เล่นการเมือง โกงบ้านโกงเมือง หาผลประโยชน์ เหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ เข้าไม่ถึง)

 

เมื่อนำภาพของนักเลงบวกกับภาพพนักงานจะเห็นได้ว่า ประภัสร์กำลังนำเสนอการเป็นผู้ว่ากรุงเทพฯ แบบใหม่ ที่ดูเหมือนกลมกลืนกับความเป็นประชาชน ทำงานเพื่อประชน เข้าถึงได้ และไม่ทำงานแบบนักการเมือง ที่สำคัญภาพนักเลงขี่ช้อปเปอร์ยังช่วยลบความเป็นหน้าใหม่ในการสมัครรับเลือกตั้งครั้งนี้ เพราะนักเลงนั้น "เก๋า" ไม่ได้อ่อนหัด มือไม้บอบบางอย่างนักการเมือง นักวิชาการหรือซีอีโอใส่สูท

 

ประภัสร์ฉีกตัวเองออกจากผู้สมัครคนอื่นๆ ที่สำคัญคือ "ภาพ" ของการเป็นผู้ว่าในแบบที่เรา "เข็ดขยาด" (เหมือนชาวบ้าน (นอก) กลัวการไปสถานที่ราชการ) ได้อย่างน่าสนใจ และยังตีโจทย์จุดแข็งของตัวเองได้อย่างดีกับการโฆษณาขายรถไฟฟ้า และดูเหมือนจะเป็นอย่างเดียวที่ทำให้คนจดจำเขาได้ และอาจตัดสินใจเลือกเขา แต่รถไฟฟ้าเป็นเพียงทางเลือกของชนชั้นกลางที่มีความสามารถในการจ่ายสูง

 

คนที่มีสิทธิเลือกตั้ง 4 ล้านกว่าคนเป็นใคร ประกอบอาชีพอะไร นั่นเป็นสิ่งที่ต้องตีโจทย์ให้แตก และแน่นอนว่า 4 ล้านกว่าคนคงไม่ใช่ชนชั้นกลางทั้งหมดเป็นแน่ แล้วประภัสร์เอาอะไรไปขายกับคนอื่นๆ ที่เหลือนอกจากรถไฟฟ้า

 

เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ เบอร์ แม่บ้านปัญญาชน

หลายคนคงนึกสงสัยว่าผู้สมัครคนนี้เป็นใคร นั่นสิเขาเป็นใคร ทำอะไรมาก่อน หลายคนเรียกเขาว่า ดร. แดน แต่ว่า ดร. แดนเป็นใคร

 

นี่เป็นทั้งจุดขายและจุดบอดของ ดร. แดน จุดขายคือ เขาสามารถพรีเซนต์ตัวเองได้จากความสงสัยใคร่รู้ ว่าตัวเองเป็นใคร มีความสามารถอย่างไร แบ๊กกราวนด์เป็นอย่างไร และมีนโยบายอย่างไร ซึ่งจุดขายจะมีประโยชน์ก็ต่อเมื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งนั้นๆ กระหายใคร่รู้ และในใจยังว่างเปล่า ไม่คิดจะเลือกใคร ที่สำคัญคือเลือกผู้ว่าจากนโยบาย

 

จุดบอดคือตรงข้ามกับจุดขายนั่นแหละ

 

เพราะถ้าหากว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งสนใจกระหายใคร่รู้ มีธงอยู่แล้วจะว่าจะเลือกใคร หรือไม่ได้เลือกผู้ว่าจากนโยบาย แต่เลือกจาก "ความรู้สึก" หรือ "อคติทั้ง 4" แล้วล่ะก็ ดร. แดน มีอันจบกัน!!!

 

ดูเหมือนว่า ดร. แดนจะรู้ซึ้งถึงปัญหานี้ดี จึงเลือกที่จะพยายามผลักดันในส่วนของจุดดี ดังจะเป็นได้จากป้ายโฆษณาหาเสียงของเขา

 

ป้ายโฆษณาหาเสียงของ ดร. แดน ที่เห็นดูเหมือนจะมี 2 แบบ (อีกแบบเป็นป้ายพลาสติกขึงตามหน้าบ้านเรือนคนซึ่งไม่ขอกล่าวถึง ในที่นี่ขอกล่าวเฉพาะป้ายที่เห็นตามท้องถนนในแบบทั่วไป) ซึ่งแบบที่เห็นมากคือป้ายที่ใช้โทนสีเขียวและมีข้อความอันเป็นนโยบายรูปแบบต่างๆ แตกต่างกันไป

 

ในเมื่อชื่อของ ดร. แดนยังไม่เป็นที่รู้จัก การที่จะทำให้คนรู้จักทั่วบ้านทั่วเมืองอย่างชูวิทย์หรือลีน่า จัง นั้นเป็นเรื่องยากลำบากเกินไป และคงไม่ใช่แนวทางของ ดร. แดน เขาจึงเลือกหนทางในการโฆษณาตัวเองเสียใหม่ โดยการ "ลดทอน" ตัวตน (Self) หรือความสำคัญของ "บุคคล" ลง แต่เลือกที่จะชู "นโยบาย" แทน (ซึ่งแตกต่างจากคุณอภิรักษ์และคุณประภัสร์ที่ให้ความสำคัญกับผู้ทำให้เกิดมากกว่าสิ่งที่จะเกิด ซึ่งก็คือตัวบุคคลมากว่านโยบายนั่นเอง)

 

จากภาพป้ายหาเสียงของ ดร. แดนจะเห็นได้ว่า "รูป" ของ ดร. แดนมีขนาดเล็ก ไม่ถึง 30% ของป้ายหาเสียงด้วยซ้ำ นอกจากนี้ยังจัดวางในตำแหน่งที่ไม่ "ดึงดูด" สายตา เป็นภาพที่ไม่มีจุดสนใจ ความน่าสนใจทั้งหมดกลับไปอยู่ที่คำโปรยอันเป็นนโยบายของ ดร. แดน

 

             

 

เขาเลือกเสนอ "นโยบาย" แทนการเสนอ "ตัวเอง"

 

นี่คือความน่าสนใจประการแรกในการหาเสียงของดร. แดนซึ่งวิเคราะห์แผนการโฆษณามาอย่างถ้วนถี่แล้วว่า ถ้าเอา "ตัวเอง" เข้าสู้ คงไม่สามารถต่อกรกับผู้สมัครคนอื่นๆ ได้แน่

 

หากพิจารณาที่ "รูป" ของ ดร. แดน จะเห็นได้ว่า ทั้ง ดร. แดนและชูวิทย์ เลือกเสนอ "ภาพ" อย่างเดียวกัน (เฉพาะเรื่องเสื้อผ้านะคะ) ดร.แดน ใส่เสื้อเชิ้ต กางเกงแสลค ดูเหมือนคนทำงานทั่วๆ ไป แต่อากัปกิริยาที่ดร. แดนกำลังพับแขนเสื้อ เสื้อเชิ้ตปลดกระดุมหนึ่งเม็ด สายตามุ่งมั่น เข้มขรึมมองไปยังจุดหมายที่ไกลออกไป บ่งบอกว่า เขาพร้อมที่จะ "ทำงาน" กำลังจะ "ทำงาน" และเป็นคน "ทำงาน" (ที่เอาจริงเอาจัง มุ่งมั่น—ด้วยสายตาที่เห็น)

 

คำว่า "ทำงาน" ที่ถูกสื่อด้วยเสื้อผ้า สายตา และอากัปกิริยาของดร. แดน ไม่ใช่งานที่นั่งใส่สูททำบนโต๊ะ แต่เป็นงานที่ต้อง "ลงมือ" ทำ งานที่ต้องใช้แรง ต้องลงไปคลุกคลี คลุกฝุ่น สกปรก เปื้อน ใช่เพียงนั่งสบายๆ ในห้องแอร์ นั่นหมายถึงการลงไป "ปฏิบัติการ" จริง ไม่ใช่เพียงการใช้อำนาจสั่งอย่าง ผู้นำ ผู้ว่าซีอีโอ ดร. แดนเลือกการเป็นคนทำงานที่ดูเหมือนจะ "คลุกฝุ่น" มากกว่าคุณประภัสร์เสียอีก (ซึ่งนั่นก็หมายความถึงความเอาจริงเอาจัง ใกล้ชิดประชาชน จับต้องได้ และเป็นคนรับใช้ของประชาชน ใช่เพียงพนักงานบริษัทเหมือนคุณประภัสร์)

 

แถมเป็น "ปัญญาชน" ที่ลงไปใช้แรงงาน ทำงานเสียด้วย สองเด้งไหมล่ะ!

 

ความน่าสนใจประการต่อมาคือ "นโยบาย" ที่ดร. แดนนำเสนอในป้ายหาเสียงรูปแบบเดิม เพียงแต่มีนโยบายแตกต่างกันไป

 

จะเห็นได้ว่า "คำโปรย" หรือนโยบายที่ดร. แดนใช้นั้น เหมือน "AD โฆษณา" ไม่ผิดเพี้ยน กลุ่มคำต่างๆ ที่ถูกเลือกสรรมาใช้ เหมือนถูกกลั่นมาจากสมองของ Copy Writer ฝีมือดี ที่ต้อง "โดน" และ "ดึงดูด" ทั้งข้อความ ฟ้อนต์ที่ใช้ การวางบรรทัด ระยะห่าง ขนาดตัวอักษร สี แบ๊กกราวนด์ ฯลฯ เรียกได้ว่ามันคืองาน AD โฆษณาดีๆ ชิ้นหนึ่งนี่เอง

 

ในขณะที่ชูวิทย์เลือกใช้ "ภาพ" ได้ยอดเยี่ยม ดร. แดนดูเหมือนจะก้าวข้ามขั้นอย่างแบบเนียน ด้วย AD โฆษณาที่ดูเผินๆ เหมือนไม่มีอะไร แต่ทุกอย่างผ่านกระบวนการคิดแบบ "นักโฆษณา" มาอย่างถี่ถ้วน

 

หันมาดูที่ "นโยบาย" กันบ้าง จากโปรไฟล์ของ ดร.แดน จะเห็นได้ว่าเขาเป็น "นักวิชาการ" แถมยังเป็นผู้สมัครอิสระไม่ขึ้นตรงต่อพรรคการเมือง ดร. แดนไร้จุดเด่น จุดขายโดยสิ้นเชิงเมื่อเทียบกับผู้สมัครรายอื่น นโยบายที่เห็นจึงเป็นนโยบายภายใต้การคิด คำนวณแบบนักเศรษฐศาสตร์ ในเมื่อไม่รู้จะขายอะไรให้ตลาด จึงทำการวิเคราะห์ว่าในตลาดนี้มีผู้บริโภคแบบใด ต้องการอะไร แล้วก็ผลิตสินค้าทุกรูปแบบออกมาให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคเสียเลย

 

พูดง่ายๆ ภาษาชาวบ้านคือ "หว่าน" มันให้หมด

 

จากป้ายโฆษณาหาเสียงของ ดร. แดนจะเห็นได้ว่า มีทั้งนโยบายที่เจาะไปยังกลุ่มวัยรุ่น อย่างป้าย "วัยรุ่นเซ็ง" กลุ่มแม่บ้าน ชาวบ้าน พ่อค้าแม่ค่าร้านตลาด เรื่องบ้านๆ อย่าง "กำจัดปลวก กำจัดหนู" ชนชั้นแรงงานอย่างเรื่อง "รอรถเมล์" ชนชั้นกลาง (รวมถึงวัยรุ่น) อย่างเรื่อง "wi-fi" หรือจะเป็นเรื่องพื้นๆ ทั่วไปกับเรื่อง "กรุงเทพฯ สีเขียว" หายใจได้ชื่นปอด อินเทรนด์กับเรื่องโลกร้อนพอดี (นี่ถ้าสมัยนี้แจกแฟ้บ แจกสบู่ได้เหมือนสมัยก่อน ป่านนี้ ดร. แดนคงแจกถุงผ้าลดโลกร้อนไปแล้ว)

 

จาก "ภาพ" ทั้งหมดและนโยบายที่เห็นตามป้ายหาเสียงของ ดร. แดน ดูเหมือนว่าเขาจะอาสามาเป็น "แม่บ้าน" ของกรุงเทพฯ มากกว่า การเมือง นโยบายการบริหารงานกรุงเทพฯ ที่ดูเหมือนยุ่งยาก ซับซ้อน และเป็นงานของ "ผู้บริหาร" ถูก "ลดทอน" เหลือพียงงานหยุมหยิมแบบ "แม่บ้าน" "การบริหาร" เหลือเพียง "การจัดการ การจัดหามาให้"

 

และแน่นอนว่าดร.แดน พร้อมจัดการด้วยตัวเอง ทุกเรื่อง ทุกกลุ่มชน เป็นแม่บ้านปัญญาชนว่างั้นเหอะ

 

     

 

เพื่อตอกย้ำว่าภาพนักวิชาการก็สามารถ "ทำได้" แม้จะไม่มีแบ๊กอัพเป็นพรรคการเมืองใหญ่ก็ตาม ดร. แดนจึงมีป้ายโฆษณาหาเสียงออกมาอีกอัน เป็นภาพ ดร. แดนใส่สูท ภูมิฐานน่าเชื่อถือ ถัดไปที่เหมือนยืนอยู่ข้างหลังคือกลุ่มคนแต่งตัวเช่นเดียวกัน ให้ความรู้สึกเช่นเดียวกัน

 

นอกจากจะหว่านนโยบายแบบหว่านแหแล้ว ดร. แดนยังเล่นทั้งบทผู้ว่าใช้แรงงานไปจนถึง "ผู้นำ" ที่มีทีมผู้ทรงคุณวุฒิคอยสนับสนุน ให้คำปรึกษาอย่างหนาแน่น (แม้เราจะไม่รู้ว่ากลุ่มคนที่ยืนสนับสนุนว่าเป็นใครบ้าง แต่การแต่งกาย ท่าทาง ก็บ่งบอกว่าน่าเชื่อถือ แลดูมีความรู้) ป้ายโฆษณาตัวนี้ออกเพื่อกลบ "ข้อด้อย" ที่ว่า ดร. แดนเป็นผู้สมัครอิสระ ไม่มีแบ๊กอัพ ไร้ซึ่งทีมงานในการบริหาร

 

ดร. ใช้แผนการวิเคราะห์อย่างนักเศรษฐศาสตร์ในการหาเสียง อุดทุกช่องโหว่ที่มี หว่านทุกความเป็นไปได้ในการหาเสียง แต่สิ่งหนึ่งที่นักเศรษฐศาสตร์ไม่สามารถวิเคาะห์ หรือคาดการณ์ได้คือ "ใจคน"

 

ถ้าหากผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่เปิดใจ ชั่งใจ วิเคราะห์ผู้สมัครรับเลือกตั้งและคนพร้อมทั้งนโยบาย โดยปราศจาก อารมณ์และอคติทั้ง 4 แล้ว แผนการเลือกตั้งแบบเศรษฐศาสตร์ของ ดร. แดนก็ถือว่า จบเห่!!!

 

ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ เบอร์ ผู้ว่าฯ ทางเลือก

คงไม่ต้องกล่าวมากมายว่าผู้ชายคนนี้เป็นใครมาจากไหน เขาก้าวขึ้นมาเป็นนักการเมืองที่โดดเด่นด้วยบุคลิกส่วนตัว ฝีปาก และการแฉ จนกลายเป็นโลโก้ประจำตัวไปแล้ว การเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพฯ ครั้งก่อนคุณชูวิทย์ได้คะแนนเสียงอย่างท้วมท้นอย่างไม่น่าเชื่อ ถึงแม้ไม่มากพอจะเป็นผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ ก็ตามที แต่คะแนนเสียงที่ได้ เรียกได้ว่าการเลือกตั้งครั้งนี้มีลุ้น (ถ้าคนที่เคยเลือกเขาไม่เปลี่ยน ไม่ได้เลือกด้วยความสะใจ ประชดใคร)

 

การเลือกตั้งครั้งนี้ ชูวิทย์ยังมาในมาดที่ แปลก ไม่ซ้ำใคร และเป็นที่สนใจเหมือนเดิม ป้ายหาเสียงของเขาเป็นที่พูดถึง เป็นสีสัน ด้วยรูปแบบที่ไม่ซ้ำใคร มีวัตถุประสงค์ชัดเจน สื่อความหมายได้ตรงเป้า ถ้าเป็นภาษามวยเรียกว่าหมัดนี้ได้แต้ม

 

แต่จะน็อกหรือเปล่านั้น...รอดูกัน

 

 

ด้วยความที่ดิฉันอยู่ในวงการแฟชั่น ขอให้คะแนนเต็มสิบกับองค์ประกอบศิลป์ของป้ายหาเสียงของคุณชูวิทย์ ทั้งแสง เงา สีหน้า ท่าทาง เสื้อผ้า อากัปกิริยา และคำโปรยที่เรียกได้ว่า โดน โดน โดน!!!

 

ป้ายหาเสียงที่พบเห็นได้แพร่หลาย (จะว่าไปแล้วป้ายหาเสียงของคุณชูวิทย์มีหลายรูปแบบมากที่สุดและมีจำนวนมากที่สุดด้วย) ของคุณชูวิทย์ส่วนมากจะเป็นรูปคุณชูวิทย์สีหน้าเคร่งเครียด ถือกล้องส่องทางไกล ทั้งในแบบครึ่งตัว เกือบเต็มตัว และแบบที่อยู่บนรถมอเตอร์ไซต์รับจ้าง

 

ภาพทุกภาพสื่อความหมายได้อย่างชัดเจน กล้องส่องทางไกลที่คุณชูวิทย์ถือบอกว่าเขากำลังจับจ้อง จ้องมองบางอย่างอยู่ บางอย่างที่ต้องดูอย่างใกล้ชิด ที่ต้องแอบซ่อนดูแต่ไกล บางอย่างที่อยู่ห่างไกลที่ดูด้วยตาเปล่าไม่ได้ และเป็นบางอย่างที่ไม่สู้ดีนักเมื่อพิจารณาจากสีหน้า แต่เขาพร้อมที่จะเป็นคนที่คอยระแวดระวังให้ เป็นการ์ดคอยจับตาดูสิ่งร้ายๆ ที่เราไม่อาจเห็นด้วยตาเปล่า

 

 

และเมื่อพิจารณาจากเสื้อผ้า ชูวิทย์ใส่ชุดทำงานเหมือนพนักงานทั่วไป พับแขนขึ้น ปลดไทให้หลวม เหมือนคนที่เพิ่งเลิกงาน แต่เขากำลังทำงาน นั่นหมายความว่า แม้จะเลิกงานเขาก็พร้อมที่จะทำงานตลอดเวลา พร้อมที่จะลงมือ "ทำงาน" ได้ทุกเมื่อ เหมือนกับ ดร. แดนไม่มีผิด

 

แต่งานของเขาไม่ใช่เพียง "ทำ" ยังรวมถึงคอยตรวจสอบ ระแวดระวัง จับตาดูสิ่งไม่ดีอื่นๆ ที่ไม่อาจเห็นได้อีกด้วย นอกจากนี้จากภาพที่ชูวิทย์นั่งอยู่บนมอเตอร์ไซต์ยังบ่งบอกว่า เขาพร้อมที่จะทำงานชิ้นนั้นๆ อย่างรีบเร่ง เร่งด่วน วิ่งไปหางาน ไม่ใช่นั่งรอให้งานหรือปัญหาวิ่งมา และทุกอย่างนั้นพร้อมปฏิบัติการตลอดเวลา

 

ดูเหมือนภาพและคำโปรยของป้ายโฆษณาจะบ่งบอกความหมายด้วยตัวของมันอย่างจะแจ้งแล้ว

 

อีกหลายรูปแบบของป้ายโฆษณาที่เราพบเห็นของคุณชูวิทย์คือภาพของเขาที่มีแบ๊กกราวนด์เป็นรถดับเพลิง รถขยะ หรือรถอะไรก็แล้ว พร้อมคำโปรยที่เปรียบเสมือการ "แฉ" ถึงค่าโง่จำนวน 6,000 ล้านบาท (ซึ่งเห็นตัวเลขนี้ได้ในหลายป้ายโฆษณา) ชูวิทย์เลือกใช้ "โลโก้" การแฉของตัวเองในการโฆษณา ซึ่งเป็นวิธีการตรงกันข้ามกับสิ่งที่คุณอภิรักษ์ใช้ ในขณะที่คุณอภิรักษ์ใช้ภาพเพื่อ "ทวนความทรงจำ" ว่าเคยทำอะไร (ดีๆ) มาบ้าง ชูวิทย์พลิกกลับเพื่อที่จะบอก เคยมีอะไร "ไม่ดี" เกิดขึ้นบ้าง

 

อีกหนึ่งป้ายหาเสียงของคุณชูวิทย์ที่เราเห็นได้อย่างแพร่หลายเช่นกันคือ ภาพพอร์ตเทรตของเขาในชุดทำงานชุดเดิม สีหน้าที่เคร่งเครียด โทนสีขาวดำ แสงเงาจัดจ้าน ในขณะที่ป้ายหาเสียงทุกป้ายของคุณชูวิทย์ดูแล้วชวนขำในความสร้างสรรค์ แปลกใหม่ ประมาณว่าทำไปได้ไงเนี่ย หากสังเกตให้ดีว่าไม่มีภาพไหนที่ผู้ชายคนนี้ "ยิ้ม" เลยสักนิด ในขณะที่คุณอภิรักษ์ยิ้มจนเห็นฟัน คุณประภัสร์ผมยิ้มนิดๆ แต่ชูวิทย์กลับเคร่งเครียด เข้มขรึม

 

เหมือนจะบอกว่าผมเอาจริงนะ!

 

 

ป้ายหาเสียงของชูวิทย์ เป็นป้ายที่เล่นกับประสาททุกสัดส่วนทั้งในระดับตา ความคิด แม้กระทั่งจิตวิทยา สิ่งหนึ่งที่เราไม่เห็นในป้ายหาเสียงของเขาคือ "นโยบาย" การหาเสียงของชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์เรียกได้ว่าใช้วิธี "วัดใจ" มากกว่า เขาไม่ได้ขายของแบบหว่านแหอย่าง ดร. แดน ไม่ได้เอารถไฟฟ้ามาล่ออย่างคุณประภัสร์ ไม่ได้เอาใบหน้าหล่อๆ และเมืองในจินตนาการมาชวนฝันให้เคลิ้มเหมือนคุณอภิรักษ์

 

ภายใต้ป้ายโฆษณาที่ดูเหมือน "แฉ" คนอื่น เล่นสงความจิตวิทยาด้วยความสร้างสรรค์ชวนหัวของภาพแต่ละภาพในแต่ละป้ายหาเสียงนั้น เพื่อปลุกคนกรุงเทพฯ ให้ออกมาจากนโยบายขายของ ชวนฝัน (แต่ทำไม่ได้) แล้วดูกันที่ความตั้งใจ ดูกันที่นิสัย ตัวตน เรียกได้ว่าวัดใจกันไปเลย

 

ทั้งนี้ก็ขึ้นกับว่าใครจะกล้าวัดใจกับผู้ชายที่มีภาพเป็น "นักแฉ" "กะล่อน" "เฮฮา" แต่ดูไม่เป็นงานเป็นการคนนี้

 

ลีน่า จังจรรจา เบอร์ 7

แม้จะถูกจัดไว้เป็นเพียงสีสันของการเลือกตั้งในแต่ละครั้ง แต่เจ้าแม่เครื่องสำอางย่านประตูน้ำคนนี้ก็มุ่งมั่นลงสมัครเกือบทุกสนามเลือกตั้ง และดูเหมือนว่าเธอสร้างสีสันได้ไม่แพ้ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์

 

และแน่นอนว่าผู้คนก็มองเธอเป็นแค่ "สีสัน"

 

การมองลีน่า จังเป็นแค่สีสัน บ่งบอกได้ว่าที่จริงแล้วเรามี "จริต" เช่นไร เราต้องการคนที่ซื่อสัตย์ อดทน ขยัน ไม่คดโกง และเอาจริงเอาจัง แต่แน่ละ แค่นั้นไม่พอ เพราะถ้าเป็นเช่นนั้น ชูวิทย์และลีน่า จัง คงชนะการเลือกตั้งไปหลายทีแล้ว ลึกๆ แล้วเรายังต้องการคนที่มี "ภาพลักษณ์" ที่ดีเหนือกว่าอื่นใด คนที่เราพอจะเชื่อถือได้ว่า "ทำงานเป็น" (ซึ่งข้อนี้ไม่ขึ้นอยู่กับประวัติการศึกษา หรือระดับการศึกษาแต่อย่างใด) คนที่เข้าไปทำงานแล้วเราจะไม่หัวเราะเยาะ หรือรู้สึกอดสูใจ อับอาย ว่าผู้นำบุคลิกเช่นนี้ ภาพลักษณ์แบบนี้

 

จึงไม่รู้ว่าคำว่าภาพลักษณ์เป็นคำที่นักการเมืองใช้หลอกลวงเรา หรือเราใช้หลอกลวงตัวเองกันแน่

 

 

ป้ายโฆษณาของลีน่า จังมีความคล้ายคลึงกันกับ ดร. แดนมีรูปแบบเดียว แต่เปลี่ยนเนื้อหาและนโนบายให้แตกต่างกันออกไป และเหมือนว่านโยบายของลีน่า จังก็หว่านแหพอๆ กันกับ ดร. แดน

 

สิ่งที่น่าสังเกตคือทุกป้ายโฆษณาของลีน่า จังนั้น มีภาพเธอเด่นหราอยู่ข้างบน ในชุดสีชมพูสวยงามสะดุดตา แต่งหน้าฉ่ำด้วยเครื่องสำอาง (แน่ละ แบรนด์เธอเอง) ข้างล่างจึงเป็นภาพโฆษณานโยบายต่างๆ ทั้งเรื่องรถเมล์ เรื่องบัตรรถไฟฟ้า ฯลฯ

 

นั่นหมายถึงเธอให้ความสำคัญกับ "ตัวเอง" เหนือ "นโยบาย" เข้าพวกกับคุณอภิรักษ์และคุณประภัสร์

 

แต่นโยบายของเธอนั้นเป็นเรื่องการจัดการแบบแม่บ้านเหมือน ดร. แดน แต่ต่างกันอยู่ที่ว่านโยบายส่วนมากวนเวียนอยู่กับการใช้ชีวิตประจำวันของคน ของคนทำมาหากิน เศรษฐกิจ เรื่องชาวบ้าน ซึ่งแตกต่างจากคุณอภิรักษ์และคุณประภัสร์ที่มีเรื่องแบบมหภาคเสียส่วนใหญ่

 

ดูเผินๆ ลี น่าจังเหมือนตัวแทนคนชนชั้นแรงงาน (หาเช้ากินค่ำ นั่งรถเมล์ และฟังเพลงต่าย-อรทัย) ในกรุงเทพฯ เป็นหัวหน้าพรรคแรงงาน

 

สิ่งที่ดิฉันสนใจคือภาพใบหน้าอันสวยงามของเธอบนป้ายหาเสียงที่ดูเหมือนจะเด่นหรากว่านโยบายที่อยู่ข้างล่าง เธอแต่งหน้าฉ่ำด้วยเครื่องสำอางซึ่งนอกจากจะให้ความสำคัญกับตัวเองและความสวยงามมาก่อนนโยบายแล้ว ป้ายโฆษณาชิ้นนี้ยังเป็นป้ายโฆษณาเครื่องสำอางให้กับแบรนด์ของเธอได้อีกด้วย (โดยมีเธอเป็นพรีเซ็นเตอร์) เรียกได้ว่าหาเสียงด้วย หารายได้ด้วย

 

ล่าสุดกับข่าวครึกโครมที่ลีน่า จังตกน้ำ ดิฉันบังเอิญได้ดูภาพข่าวทางทีวี เห็นว่าแม้เธอจะตกน้ำเปียกโชกไปทั้งตัว (รวมถึงใบหน้า) แต่เครื่องสำอางที่เธอแต่งแต้มบนใบหน้าอย่างสวยงามไม่มีลบเลือนหรือละลายไปกับน้ำเลยสักนิด (คิดดูสิ นั่นน้ำคลองแสนสกปรกนะ ยังทำอะไรเครื่องสำอางของลีน่า จัง ไม่ได้เลย)

 

ดิฉันว่าหลังการเลือกตั้งครั้งนี้หรือหลังจากข่าววันนั้น เครื่องสำอางของเธอคงขายดีเป็นเทน้ำเทท่า ว่าแล้วพรุ่งนี้ลองไปช้อปที่ร้านของเธอหน่อยดีกว่า...

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท