Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 30 กันยายนที่ผ่านมา ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการค้ามนุษย์ มูลนิธิกระจกเงา ได้เปิดการเสาวนาทางวิชาการ เรื่อง "ฟังความรอบด้านกับร่าง พ.ร.บ.ขอทานฉบับใหม่" ณ ห้องประชุม 101 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สะพานหัวช้าง ซึ่งภายในงานได้เปิดรับฟังความคิดเห็นจากหลายภาคฝ่าย ได้แก่ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ, มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย และองค์การบริหารส่วนตำบลกระโพ จังหวัดสุรินทร์ เสนอความคิดเห็น พร้อมเสนอทางออกกับ พ.ร.บ.ขอทาน ฉบับนี้


สุเทพ โชคบุญธิยานนท์ หัวหน้ากลุ่มนิติการ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวว่า ร่างพ.ร.บ.ขอทานตัวล่าสุดนี้ เป็นการที่ให้ผู้ที่สมัครใจที่จะเป็นขอทาน ทำการมาจดแจ้ง เพื่อทำใบรับอนุญาตในการขอทาน เพื่อให้ควบคุมขอทานได้ ในการรู้จำนวนที่แท้จริง แต่หลังจากได้รับฟังแล้ว พ.ร.บ.ตัวนี้ ต้องไม่ใช่รูปแบบนี้แน่นอน ประเด็นที่ทาง พม.ต้องการคือ ไม่อยากให้มีขอทาน และทุกคนสามารถช่วยตัวเองได้ ถ้าผู้ใดไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ทางรัฐเข้าไปดูแลเรื่องสวัสดิการเอง


วิวรรธน์ พุทธานุ ตัวแทนองค์การบริหารส่วนตำบลกระโพ อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์ กล่าวถึงปัญหาขอทาน ว่าด้วยตำบลกระโพ ถือว่าเป็นตำบลที่มีคนมาขอทานเป็นจำนวนมาก ซึ่งนี่เป็นค่านิยมของคนในชุมชนว่ามันเป็นสิ่งที่ไม่ผิด และมีรายได้มาก จึงมีคนจำนวนมากเป็นขอทาน การที่ออก พ.ร.บ.ขอทาน เกณฑ์ตามมาตรา 8 (ตามเอกสารที่แนบมา) มันใช้ไม่ได้จริง เพราะเราไม่สามารถรู้ข้อเท็จจริงของคนที่ต้องการมาเป็นขอทานได้ และยากที่จะควบคุม อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงมาพื้นที่จริง พร้อมกับช่วยเหลือผู้ที่ยากจนจริงๆ มากกว่า


ด้านณรงค์ ปฏิบัติสรกิจ ประธาน มูลนิธิคนพิการไทย กล่าวว่า "ถ้า พ.ร.บ.ขอทานฉบับนี้ออกมาจริงๆ ภาพที่เห็นคือ รัฐบาลส่งเสริมให้มีการขอทาน อย่างถูกกฏหมาย นี่เป็นอาชีพที่ง่าย รายได้ดี จนกลายเป็นค่านิยม ถ้ามองกันเรื่องแผนพัฒนาคนพิการ ที่รัฐฯ เน้นให้มีงานทำ คนที่ป่วยก็จะมีค่าตอบแทน ซึ่งที่ได้อยู่นั้น มันน้อยเกินกว่าจะครองชีพได้ เมื่อเป็นอย่างนี้ทำไมรัฐไม่เข้ามาดูแลอย่างถูกจุด และผมรู้สึกไม่เป็น "เกียรติ" เลย ที่ได้สิทธิในการเป็นขอทาน เพราะความพิการ อยากให้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ ตัดคำว่าขอทานทุกคำออกไป"


เอกลักษณ์ หลุ่มชุมแข หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการค้ามนุษย์ มูลนิธิกระจกเงา กล่าวว่า ประชาคมส่วนใหญ่ที่ได้รับผลกระทบ จาก พ.ร.บ.ฉบับนี้ ไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.ควบคุมคนขอทานฉบับใหม่ ซึ่งทางศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการค้ามนุษย์ มูลนิธิกระจกเงา และภาคีเครือข่ายจะได้ทำร่าง พ.ร.บ.ขอทาน.ฉบับคู่ขนานออกมา และเสนอไปยังสภาผู้แทนราษฎร ในการเปรียบเทียบกับ พ.ร.บ.ที่ทาง พม.ออก เพื่อให้เห็นปัญหาที่เกิดขึ้น


ทางศูนย์ฯ ได้มีข้อเสนอ 8 ข้อในทางแก้ไขกรอบของกฏหมาย ได้แก่  1.ต้องลดขนาดของปัญหา 2.ควบคุมกลุ่มขอทานเดิมได้, 3.ตัดวงจรการค้ามนุษย์, 4.การคุ้มครองเด็กในครอบครัวขอทาน, 5.โทษสำหรับขบวนการที่นำคนมาขอทาน, 6.การจัดระบบสงเคราะห์, 7.แยกวณิพกออกจากการขอทาน และ 8.มีการจัดตั้งคณะกรรมการจัดการปัญหาขอทาน ตาม พ.ร.บ. และในวันที่ 3 ตุลานี้ ทางศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการค้ามนุษย์ มูลนิธิกระจกเงา และผู้เกี่ยวข้อง จะจัดประชุมย่อย เพื่อทำข้อสรุปใน พ.ร.บ.ฉบับ พร้อมแถลงการณ์คัดค้าน พ.ร.บ.ขอทานฉบับนี้ต่อไป

เอกสารประกอบ

ร่างพระราชบัญญัติ ควบคุมการขอทาน พ.ศ. ....

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net