Skip to main content
sharethis

ม.ล.สิทธิไชย ไชยันต์ ผู้จัดการฝ่ายกิจการสัมพันธ์ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เปิดเผยว่า การปิดอ่าวสงขลาของเรือประมงพื้นบ้านและเรือประมงอวนลาก 4 อำเภอ ในจังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2551 ถึงวันที่ 4 ตุลาคม ทำให้บริษัทฯ ได้รับความเสียหาย ประมาณ 10 ล้านบาท เนื่องจากถูกปิดท่าเรือ เพราะ ชาวประมงเข้าใจผิดว่า ให้การสนับสนุนบริษัท นิวคอสตอล (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นคู่กรณีกับชาวประมง ทั้งๆ ที่ ปตท.สผ.ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆกับการดำเนินกิจการใดๆของ บริษัทนิวคอสตอลเลย ทั้งการขุดเจาะน้ำมันหรือติดตั้งแท่นผลิต


 


ม.ล.สิทธิไชย กล่าวอีกว่า เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว จากนี้ไป ปตท.สผ.จะไม่อนุญาตให้ บริษัท นิวคอสตอลฯ ใช้ท่าเรือของปตท.สผ.ที่ อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา


 



ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2551 ได้มีการนัดลงนามในข้อตกลงรับค่าชดเชย ระหว่างกลุ่มประมงพื้นบ้าน นำโดยนายเจริญ ทองมา กับบริษัท นิวคอสตอล (ประเทศไทย) จำกัด แต่นายเจริญได้แจ้งขอเลื่อนการลงนามออกไป เพราะสมาชิกในจำนวน 20 กลุ่ม จาก 3 อำเภอ ไม่ยอมรับบันทึกข้อตกลง เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2551 ทั้งที่ก่อนหน้านี้ เคยยอมรับข้อตกลงนี้แล้ว แต่เทื่อถึงวันลงนามกลับมีบางกลุ่มไม่ยอมรับ อ้างว่าค่าชดเชยที่ได้รับน้อยเกินไป กลุ่มประมงพื้นบ้านที่ไม่ยอมรับ คือ กลุ่มนายอนันต์ ไม่ทราบนามสกุล ประมงชายฝั่งบ้านหัวเขาแดง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา


 


"ผมเห็นว่า ถ้าบริษัทฯ ทำตามบันทึกความเข้าใจ เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2551 พวกเราน่าจะได้ค่าชดเชยคุ้มแล้ว ตอนนี้ผมให้กลุ่มที่ไม่เห็นด้วยไปพูดคุยตกลงกันใหม่ ถ้าตกลงไม่ได้ ผมจะให้เขาไปเจรจากับบริษัทฯ เอง ส่วนการลงนามในข้อตกลง ยังคงเลื่อนออกไปโดยไม่มีกำหนด" นายเจริญ กล่าว


 


วันเดียวกัน นายบุญช่วย ฟองเจริญ แกนนำกลุ่มประมงอวนลาก ได้เข้าไปพบปลัดจังหวัดสงขลา เพื่อให้นัดวันเจรจากับบริษัทฯ แต่ได้รับแจ้งว่า ทางบริษัทฯ ไม่ให้ความเชื่อถือกับกลุ่มประมงอวนลาก ทางกลุ่มฯ จึงจะเสนอข้อเรียกร้องผ่านนายประพร เอกอุรุ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะนายกสมาคมประมงจังหวัดสงขลา


 


นายบุญช่วย เปิดเผยว่า ทางกลุ่มประมงอวนลาก ได้มอบหมายให้นายปราการ เอื้อละอองพันธ์ เป็นทนายความของกลุ่ม ทำหนังสือคัดค้านบันทึกความเข้าใจระหว่างแกนนำชาวประมงพื้นบ้าน นำโดยนายเจริญ ทองมาและพวก กับนายกำธร วังอุดม ตัวแทนบริษัท นิวคอสตอล (ประเทศไทย) จำกัด เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2551 ซึ่งทางบริษัท นิวคอสตอล (ประเทศไทย) จำกัด ยินยอมชดเชยค่าเสียหายให้ชาวประมง จากการขุดเจาะน้ำมันบริเวณชายฝั่งจังหวัดสงขลา เป็นเงิน 70,000 เหรียญสหรัฐต่อเดือน หรือประมาณ 25 ล้านบาทต่อปี ตลอดอายุสัมปทานของบริษัท โดยแบ่งจ่ายเป็นรายเดือน หรือรายงวดผ่านทางจังหวัดสงขลา


 


นายบุญช่วย กล่าวว่า เนื่องจากทางกลุ่มเรือประมงอวนลาก ไม่มีส่วนรับรู้เกี่ยวกับบันทึกความเข้าใจฉบับดังกล่าว พร้อมกับทำหนังสือแต่งตั้งแกนนำกลุ่ม ซึ่งมีสิทธิตัดสินใจแทนสมาชิกในกลุ่ม ประกอบด้วย ตน นายมะแอ แก้วสุริยา นายมูหะมัด หวังนุรักษ์ และนายโสภณ ชุมยวง เป็นตัวแทนเจรจากับบริษัท นิวคอสตอล (ประเทศไทย) จำกัด สำหรับนายเจริญเป็นแกนนำเฉพาะกลุ่มเรือประมงพื้นบ้านเท่านั้น ไม่ได้เป็นตัวแทนของกลุ่มเรือประมงทั้งหมด


 


จากบันทึกความเข้าใจฉบับดังกล่าว ส่งผลให้กลุ่มเรือประมงพื้นบ้าน ยกเลิกการปิดทางสัญจรทางน้ำ ตรงบริเวณท่าเทียบเรือบริษัท ปตท.สผ. จำกัด (มหาชน) ตั้งแต่วันที่ 4 ตุลาคม 2551 เป็นต้นมา โดยบริษัท นิวคอสตอล (ประเทศไทย) จำกัด ได้นัดคู่กรณีมาลงนามในข้อตกลง ภายใน 7 วัน ที่ศาลาว่าการจังหวัดสงขลา


 


ต่อมา วันที่ 7 ตุลาคม 2551 ที่ศาลาว่าการจังหวัดสงขลา กลุ่มชาวประมงอวนลากประมาณ 50 คน นำโดย นายบุญช่วย นายมะแอ แก้วสุริยา นายมูหะมัด หวังนุรักษ์ นายโสภณ ชุมยวง จึงเข้าพบนายวิทยา พงศ์พานิชย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เพื่อขอคำชี้แจงเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยนายวิทยาแจ้งว่า ทางบริษัท นิวคอสตอลจะจ่ายค่าชดเชยให้กับกลุ่มชาวประมงทั้งหมดปีละ 25 ล้านบาท เมื่อกลุ่มเรือประมงอวนลากสอบถามไปยังนายเจริญทราบว่าค่าชดเชยปีละ 25 ล้านบาท จ่ายให้เฉพาะกลุ่มเรือประมงพื้นบ้านเท่านั้น ไม่รวมถึงกลุ่มเรือประมงอวนลาก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net