Skip to main content
sharethis



รอง ผอ.รพ.จุฬาฯ ยันยึดมั่นรักษาผู้ป่วยทุกคน


เว็บไซต์คมชัดลึก รายงานว่า ศ.นพ.ธีรพงษ์ เจริญวิทย์ รอง ผอ.รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า ในฐานะ รพ.จุฬาฯเป็นองค์ของสภากาชาดไทย ต้องยึดมั่นในหลักการความเป็นกลาง และรักษาผู้ป่วยทุกคนโดยไม่คำนึงถึงว่าจะเป็นใคร ฝ่ายใด ส่วนการแสดงความเห็นเป็นสิทธิของแพทย์ซึ่งเป็นความเห็นของแต่ละบุคคล ไม่ได้ห ยความว่าถูกหรือผิด แต่ยืนยันว่าการแถลงข่าวไม่ได้ทำในนาม รพ. แต่ทำในนามกลุ่ม หรือบุคคล ซึ่งในองค์กรเดียวกันอาจจะมีความเห็นที่แตกต่าง


 


 


แพทย์ 3 สถาบัน ปัดเลือกรักษาผู้บาดเจ็บ


เว็บไซต์เดลินิวส์ รายงานว่า วันนี้ (9 ต.ค.) แพทย์นิติเวช ศัลยแพทย์ จากโรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลจุฬาฯ และ วชิรพยาบาล แต่งชุดดำรวมตัวกันที่ห้องประชุมโรงพยาบาลจุฬาฯ หารือถึงสาเหตุที่มีผู้บาดเจ็บ และเสียชีวิต จากการสลายการชุมนุม โดยนำภาพผู้บาดเจ็บ และเสียชีวิต มาให้สื่อมวลชนร่วมวิเคราะห์ พร้อมทั้งยืนยันไม่น่าจะเป็นผลจากการใช้แก๊สน้ำตา เนื่องจากมีอานุภาพทำลายเนื้อเยื่อกระดูก เส้นเอ็นอย่างรุนแรง และทำให้เกิดรอยไหม้


 


ทั้งนี้แพทย์ทั้ง 3 สถาบันได้ยืนยันเป็นเสียงเดียวว่า ไม่เคยเลือกรักษาผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์สลายการชุมนุม


 



ด้าน พล.ต.ท.อัมพร จารุจินดา อดีตตำรวจกองพิสูจน์หลักฐาน เปิดเผยข้อมูลว่า มีความเป็นไปได้ว่า การใช้แก๊สน้ำตาอย่างต่อเนื่อง จะทำให้เกิดบาดแผล อาการรุนแรงถึงขั้นสูญเสียอวัยวะได้


 


 


แพทย์จุฬาฯ แจงติดป้ายประท้วงเพื่อเตือนสติตำรวจที่ทำกับผู้ชุมนุมเกินเหตุ


เว็บไซต์คมชัดลึก รายงานว่า นพ.เกรียง ตั้งสง่า อาจารย์แพทย์อายุรศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์จุฬาฯ กล่าวว่า เมื่อวาน(8 ต.ค.)ได้ติดป้ายที่หน้าห้องว่าไม่รับตรวจเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ทำร้ายประชาชน ยกเว้นกรณีฉุกเฉิน เนื่องจากเป็นการพูดกันตามสังคมทั่วไป และวงการแพทย์ ซึ่งอาจารย์กลุ่มหนึ่งที่ไปร่วมไปเห็นเหตุการณ์ และไปดูแลผู้ป่วยที่จุดนั้นได้เห็นด้วยตาตนเองว่า ตำรวจทำเกินกว่าเหตุ โดยไม่พิทักษ์ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน เป็นการกระทำป่าเถื่อนไร้มนุษยธรรม จึงอยากเตือนสติตำรวจเหล่านั้น แต่ขณะนี้ตำรวจกำลังทำในสิ่งไม่ควรทำ การติดป้ายก็เพื่อเป็นการประท้วงว่าตำรวจทำไม่ถูกต้อง


 



"ผมสามารถพูดแทนแพทย์ทุกคนได้ว่า คนมีสิทธิ์เลือกหมอ แต่หมอไม่มีสิทธิ์เลือกคนไข้ เราไม่มีเจตนาเลือกปฏิบัติดังที่ถูกวิพาษ์ วิ จารณ์ ทุกคนมีจิตวิญาณของความเป็นแพทย์ ผลส่วนรวมเป็นที่หนึ่ง ผลส่วนตัวเป็นที่สอง แต่ครั้งนี้ต้องการให้สังคมรับรู้ว่าตำรวจทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง และเห็นได้ชัดว่าตำรวจทำร้ายประชาชน จุดที่เกิดเหตุที่แพทย์ไปปฏิบัติอยู่ไกลจากที่ชุมนุมก็ถูกตำรวจกราดยิงเข้าใส่ แพทย์หลายโรงพยาบาลรู้สึกตรงกันว่าประหนึ่งเป็นคนร้าย" นพ.เกรียง กล่าว


 



นพ.เกรียง กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมากลุ่มนักวิชาการ และอีกหลายกลุ่มได้เรียกร้องให้รัฐใช้วิจารณญาณยุติความรุนแรง และได้ประณามการกระทำที่รุนแรง ซึ่งเป็นการพูดที่เป็นกลาง แต่ออกแถลงการณ์ไม่ทันข้ามวัน ขาก็ขาด โดยจิตสำนึกผู้ที่มีความรับผิดชอบ ผู้บริหารบ้านเมืองได้ดูแลตรงนี้อย่างไร อย่างไรก็ตาม ในวันนี้ตนคิดว่าก็จะเอาป้ายดังกล่าวออกแล้ว เพราะสมควรแก่เวลา


 


 


กลุ่มอาจารย์แพทย์ มช. ยันงดการตรวจ นักการเมืองพรรคร่วมฯ ตร. ยกเว้นกรณีฉุกเฉิน


เมื่อวันที่ 8 ต.ค. กลุ่มอาจารย์แพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ออกแถลงการณ์ ระบุว่า สืบเนื่องจากแถลงการณของกลุ่มอาจารยแพทย 8 สถาบันเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 ที่ไดแสดงความเห็นคัดค้านการใชความรุนแรงของตํารวจโดยใช้ระเบิด-แก๊สน้ำตา ยิงเข้าใส่ผู้ชุมนุมที่ไร้อาวุธจนทําให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บเปนจํานวนมากและมีผู้เสียชีวิต ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้บริหารประเทศ และเจ้าหน้าที่ตํารวจยังมิได้ตระหนักถึงผลร้ายจากการกระทําดังกล่าวที่มีต่อประชาชนผู้บริสุทธิ์ที่มีเพียงความเห็นแตกต่างจากรัฐบาล 


           


ทางกลุ่มอาจารย์แพทยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงมีความเห็นร่วมกันว่าควรจะมีมาตรการทางสังคมที่แสดงถึงการไม่เห็นด้วย และไม่ยอมรับการกระทําดังกล่าวต่อผู้นํารัฐบาล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่สนับสนุนรัฐบาล และเจ้าหน้าที่ตํารวจที่กระทําสิ่งที่ทารุณโหดร้ายต่อประชาชนโดย


           


1. จะงดการตรวจรักษาผู้รับบริการที่มีรายชื่ออยู่ในคณะรัฐมนตรี และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคร่วมรัฐบาลในชุดปัจจุบันยกเว้นในกรณีฉุกเฉิน (ในกรณีฉุกเฉินการช่วยชีวิตบุคคลดังกล่าว แม้แพทย์จะไม่มีความมั่นใจว่าจะเป็นการช่วยเหลือหรือทําร้ายสังคมก็ตาม แต่ตามจริยธรรมแพทยได้กําหนดให้การช่วยเหลือไปก่อน) 


 


2. จะงดการตรวจรักษาผู้รับบริการที่เป็นตํารวจ เนื่องจากที่ผ่านมาได้แสดงให้เห็นว่าตํารวจไม่มีวุฒิภาวะเพียงพอในการแยกแยะความถูกผิดในวิชาชีพตนเองได ทั้งๆ ที่หน้าที่ของตํารวจคือ รักษาความสงบเรียบร้อยชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน แต่ตํารวจในปัจจุบันกลับเป็นผู้ทําร้ายประชาชน และเป็นผู้จุดชนวนความรุนแรงให้เกิดขึ้นในบ้านเมืองเสียเอง โดยยอมปฏิบัติหน้าที่ตามคําสั่งที่ไม่ชอบธรรมของผู้บริหารบ้านเมืองที่ต้องการเพียงแต่รักษาอํานาจตนเองบนเลือดเนื้อและชีวิตของประชาชน


             


3. ขอเรียกร้องให้เพื่อนแพทย์ทั่วประเทศร่วมกันดําเนินมาตรการกดดันทางสังคมต่อผู้นํารัฐบาล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่สนับสนุนรัฐบาล และเจ้าหน้าที่ตํารวจ ที่กระทําสิ่งที่ทารุณโหดร้ายต่อประชาชนโดยพร้อมเพรียงกันให้เป็นบทเรียนต่อผู้ที่กระทําสิ่งที่ทารุณโหดร้ายต่อประชาชนเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณเช่นนี้อีก 


           


แถลงการณ์ระบุด้วยว่า หากตํารวจท่านใดที่มีความจําเป็น และมีความต้องการจะตรวจรักษากับแพทยอาจขอตรวจรักษากับแพทย์ไดโดยแจ้งที่แผนกทะเบียนของโรงพยาบาลให้ทําการลบชื่อยศ-ตําแหน่ง ออกจากสมุดทะเบียนประวัติผู้ป่วย และไม่ใส่ชุดข้าราชการตํารวจมาขอรับบริการ รวมทั้งแสดงออกว่าไม่เห็นด้วยและประณามการกระทำอันโหดร้ายป่าเถื่อน เมื่อ 7 ตุลาคม 2551


 


สำหรับรายชื่อแพทย์ที่ลงนามประกอบด้วย ผศ.นพ.องอาจ ไพรสณฑรางกูร, ศ.นพ.ขวัญชัย ศุภรัตน์ภิญโญ, รศ.นพ.ศตวรรษ ทองสวัสดิ์, ศ.นพ.ดุสิต ล้ำเลิศกุล, ศ.นพ.วรวิทย์ เลาห์เรณู, รศ.นพ.สิริ เชี่ยวชาญวิทย์, อ.นพ.รังสฤษฎิ์ กาญจนวณิชย์, อ.นพ.วุฒิเดช โอภาสเจริญสุข, ผศ.นพ.ศรัณย์ ควรประเสริฐ, รศ.พญ.บุญสม ชัยมงคล, รศ.พญ.บุญหลง ศิวะสมบูรณ์, รศ.พญ.อุษา ธนังกูล, อ.นพ.พิเศษ พิเศษพงพา, อ.พญ.ลลิตา นรเศรษฐ์ธาดา


 


อ.พญ.กนกวรรณ วัชระศักดิ์ศิลป์, อ.พญ.อภิญญา ลีรพันธ์, อ.นพ.ขจรศักดิ์ นพคุณ, อ.พญ.ศุภวรรณ บูรณพิร, ผศ.พญ.นันทนา กสิตานนท์, อ.พญ.ปาริชาติ สาลี, อ.นพ.นนทกานต์ นันทจิต, อ.พญ.อรินทยา พรหมินธิกุล, อ.พญ.วรรณวรางค์ วงศ์เจริญ, ผศ.พญ.สิริกาญจน์ ยามาดะ, รศ.นพ.ประพันธ์ จุทาวิจิตรธรรม, รศ.พญ.สุมาลี ศิริอังกุล, ผศ.นพ.จารึก หาญประเสริฐพงษ์, อ.นพ.ศิวัฒน์ ภู่ริยพันธ์, อ.นพ.ศุภณ ศรีพลากิจ, อ.พญ.เมตตาภรณ์ พรพัฒน์กุล, รศ.นพ.ณัฐพงษ์ อัครพล และ อ.นพ.นภัทร โตวณะบุตร โดยลงนามถึงวันที่ 8 ตุลาคม เวลา 15.00 น.     


 


 


จิตแพทย์"สมเด็จเจ้าพระยา"ร่วมวงงดให้บริการตร.


นพ.เกษม ตันติผลาชีวะ ได้ส่งจดหมายไปยังทีมงาน"มติชนออนไลน์" ข้อความว่า "ผมและคณะจิตแพทย์สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยาได้หารือกันแล้วมีมติว่า การกระทำของนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นสิ่งชั่วร้ายที่คนที่คิดจะเป็นผู้บริหารบ้านเมืองไม่น่าจะทำต่อเพื่อนร่วมชาติหรือเพื่อนมนุษย์ เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างโจ่งแจ้ง จนทำให้เกิดผลกระทบทั้งต่อภาพพจน์ เศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยอย่างร้ายแรงที่สุด และขอให้นายสมชายรับผิดชอบต่อการกระทำดังกล่าว โดยการลาออกทั้งคณะ และให้มีกรรมการเข้ามาสอบสวนหาความจริงและนำผู้ทำผิดมาลงโทษ พวกเรากำลังทำป้ายมาติดหน้าสถาบันฯ ข้อความว่า "คณะจิตแพทย์ขอประณามการกระทำรุนแรงต่อประชาชน รัฐบาลทรราชออกไป"



นอกจากนั้น ยังจะงดให้บริการแก่ตำรวจ หากต้องการมารับบริการให้มาแบบประชาชนทั่วไป อย่ามาแสดงตนเป็นตำรวจ เพราะการกระทำของตำรวจในระยะที่ผ่านมา มิได้เป็นบทบาทของผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ แต่เป็นผู้พิทักษ์ทรราชมากกว่า และสามารถมาถ่ายภาพที่หน้าสถาบันฯ ได้ตั้งแต่วันที่ 9 ต.ค.เป็นต้นไป


 



หมอจุฬาฯไม่รักษาครม.-ส.ส.รบ.-ตร.


ขณะที่กลุ่มอาจารย์แพทย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยออกแถลงการณ์ว่า ควรจะมีมาตรการทางสังคมที่แสดงถึงการไม่ยอมรับการกระทำของผู้นำรัฐบาล ส.ส. และตำรวจ โดย 1.จะงดการตรวจรักษาผู้รับบริการที่มีรายชื่ออยู่ในคณะรัฐมนตรี (ครม.) และ ส.ส. พรรคร่วมรัฐบาล ยกเว้นกรณีฉุกเฉิน 2.จะงดการตรวจรักษาผู้รับบริการที่เป็นตำรวจ เนื่องจากตำรวจไม่มีวุฒิภาวะในการแยกแยะความถูกผิดในวิชาชีพ แต่หากตำรวจนายใดมีความจำเป็นและมีความต้องการจะตรวจรักษากับแพทย์ ให้แจ้งลบชื่อ ยศ ตำแหน่ง ที่แผนกเวชระเบียนของโรงพยาบาล และต้องไม่ใส่เครื่องแบบไปขอรับบริการ 3.เรียกร้องให้เพื่อนแพทย์ทั่วประเทศ ร่วมกันดำเนินมาตรการกดดันทางสังคมต่อผู้นำรัฐบาล ส.ส.ที่สนับสนุนรัฐบาล และตำรวจที่กระทำสิ่งที่ทารุณโหดร้ายต่อประชาชน



ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่หน้าห้องทำงานของ นพ.เกรียง ตั้งสง่า ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ติดป้ายข้อความว่า "ห้องนี้งดทำการตรวจให้กับตำรวจที่ทำร้ายประชาชน ยกเว้นกรณีฉุกเฉิน" ทั้งนี้ รศ.นพ.ธีระพงศ์ เจริญวิทย์ รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร รักษาการผู้อำนวยการ รพ.จุฬาฯ กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเพียงความคิดเห็นส่วนบุคคล อย่างไรก็ตาม ทีมแพทย์จุฬาฯ มี 400 คน สามารถดูแลผู้ป่วยได้ทุกสาขาวิชาชีพ


 



8 สถาบันจี้ขอโทษ-รบ.พักปฏิบัติงาน


นอกจากนี้ กลุ่มนักวิชาการและแพทย์จาก 8 สถาบัน ประกอบด้วย จุฬาฯ มหาวิทยาลัย ศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร (มศว) มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) มหิดล รามคำแหง เกษตรศาสตร์ รังสิต และสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) มีมติร่วมกันประณามการกระทำของรัฐบาล และเรียกร้องให้ขอโทษ พร้อมทั้งยุติการปฏิบัติหน้าที่ รวมทั้งตั้งคณะกรรมการอิสระตรวจสอบข้อเท็จจริงและลงโทษผู้กระทำผิดกฎหมาย อีกทั้งประสานสภามหาวิทยาลัยของผู้ที่กระทำผิด ตรวจสอบและถอดถอนปริญญาบัตร เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้กระทำผิดกลับเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ได้อีก นอกจากนี้เรียกร้องให้ประชาชนที่ไม่เห็นด้วยต่อความรุนแรงครั้งนี้ ร่วมแสดงพลังแต่งชุดดำไว้ทุกข์ให้กับผู้เสียชีวิตและการเมืองไทย อย่างน้อย 7 วัน หรือจนกว่ารัฐบาลจะลาออก



ผศ.นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชา สูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา หน่วยมะเร็งอวัยวะสืบพันธุ์สตรี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ในฐานะตัวแทนกลุ่มนักวิชาการ และแพทย์จาก 8 สถาบัน กล่าวว่า วันที่ 9 ตุลาคมนี้ ตั้งแต่เวลา 09.00 น. กลุ่มอาจารย์แพทย์ นิสิต นักศึกษา จะรวมตัวกันที่บริเวณอนุสาวรีย์ 2 รัชกาล และบริเวณอาคารอานันทมหิดล คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ จากนั้นเคลื่อนขบวนไปสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ด้วย


 



หมอฉุนลูกสาวอจ.แพทย์นิ้วเท้าขาด งดรักษาตร.


นพ.สุเทพ กลชาญวิทย์ แพทย์ประจำคณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงการออกแถลงการณ์ไม่รักษาตำรวจจากเหตุการณ์สลายกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ว่า เป็นความรู้สึกของแต่ละคน โดยการกระทำดังกล่าวไม่ได้ทำในนามสถาบัน เพราะกำลังอยู่ระหว่างการประสานงาน แต่มีแพทย์ในโรงพยาบาลจุฬาฯ เห็นด้วยกว่า 10 คนและแพทย์จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่อีก 34 คน โดยมองว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากตำรวจที่กระตุ้นให้เกิดความรุนแรง ซึ่งตำรวจก็ควรมีจรรยาบรรณเพราะมีหน้าที่รักษาสันติราษฎร์ ดูแลทรัพย์สินให้กับประชาชน ทั้งนี้ ยืนยันว่า ที่ต่างประเทศไม่เคยมีการยิงแก๊สน้ำตาแล้วส่งผลให้ขาและแขนขาด สิ่งที่เราทำไม่ใช่เพราะเราเกลียดตำรวจ แต่อยากให้กลับมามองการกระทำของตนเอง ซึ่งการกระทำดังกล่าวตำรวจต้องรับผิดชอบ แต่หากเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินก็จะทำการรักษาต่อไป


 


"หากตำรวจนายใดต้องการรักษากับแพทย์เฉพาะคน โดยที่แพทย์คนดังกล่าวไม่เห็นด้วยกับการกระทำเมื่อวานนี้ ก็ไม่ควรใส่ชุดตำรวจหรือบอกว่าเป็นตำรวจ" นพ.สุเทพ กล่าวและยอมรับว่า ตนเป็นลูกศิษย์ของ นพ.วิศิษฐ์ ฐิตวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย ซึ่งลูกสาวนิ้วเท้าขาดจากเหตุปะทะดังกล่าว


 


ด้าน รศ.นพ.ธีระพงศ์ เจริญวิทย์ รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวว่า เรากำลังตรวจสอบเรื่องดังกล่าว โดยทางโรงพยาบาลจุฬาฯเคารพความเห็นแพทย์ทุกคน แต่หลักการก็ยึดความเป็นกลางตามที่ได้แถลงออกไป ยืนยันว่า ไม่ว่าจะอยู่ฝ่ายใด ผู้ป่วยเป็นใครก็ต้องรักษาอย่างเท่าเทียมตามจรรยาบัญ และไม่เลือกข้างว่าเป็นตำรวจหรือประชาชน ทั้งนี้ แม้จะใส่ชุดตำรวจเข้ามารักษาก็จะมีแพทย์ที่คอยดูแลอย่างแน่นอน เพราะเรามีทีมแพทย์จำนวนมากเพียงพอ


  


 


วิจารณ์ "มาตรการทางสังคม" ผ่านบอร์ดหมอ


หลังจากแพทย์บางรายปฎิเสธการรักษาเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ปะทะกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการทางสังคมเพื่อต้องการสะท้อนให้เห็นว่าแพทย์และพยาบาลไม่เห็นด้วยกับการกระทำที่รุนแรงเกิดเหตุของผู้บริหารประเทศ และเจ้าหน้าที่ตำรวจ  


 


ในอินเทอร์เน็ตมีการถกเถียงเรื่องนี้กันอย่างกว้างขวาง อาทิ เว็บบอร์ดของ thaiclinic.com ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่มีการตอบคำถามทางการแพทย์ มีผู้ตั้งกระทู้ โอ พระเจ้า !!! แพทย์ รพ.จุฬาฯ งัดมาตรการ งดตรวจ รักษา ตำรวจ และ เว็บบอร์ดของบุคลากรในคณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาฯ โรงพยาบาลจุฬาฯ สภากาชาดไทย ห้องไผ่สิงโต ซึ่งเป็นพื้นที่ให้นิสิตใช้แสดงความคิดเห็นในเรื่องต่างๆ มีผู้ตั้งกระทู้ แพทย์ รพ.จุฬาฯ งัดมาตรการ งดตรวจ รักษา ตำรวจ โดยผู้ใช้นามแฝงว่า NSP5 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยกับการงดตรวจรักษาในโรงพยาบาล แพทย์ควรวางตัวเป็นกลาง รักษาผู้ป่วยทุกคนเท่าเทียมกันอย่างเต็มความสามารถ จริงอยู่ที่แพทย์นอกจากบทบาทในการดูแลรักษาผู้ป่วย จะต้องมีบทบาทของประชาชนที่อยู่ในสังคม ซึ่งมีสิทธิที่จะไม่เห็นด้วยกับการกระทำของรัฐบาล และ ตำรวจกลุ่มที่สลายการชุมนุม แต่การกระทำของทั้ง2 บทบาทนั้น ต้องอยู่บนพื้นฐานของจรรยาบรรณแพทย์ ต้องทำตามหลักสิทธิของผู้ป่วย ตามที่อาจารย์ทุกท่านได้สอนนิสิตแพทย์มาตลอด


 


โดย NSP5 ได้เสนอด้วยว่า หากแพทย์ต้องการที่จะไม่ดูแลรักษาผู้ป่วยกลุ่มใดก็ควรประกาศให้ทราบในรูปแบบของตัวบุคคล หรือ ลาออกจากโรงพยาบาลจุฬาฯ เปิดคลีนิคที่ไม่รับรักษาตำรวจและฝ่ายรัฐบาล เป็นต้น


 


ขณะที่ ผู้ใช้นามแฝงว่า  ERA101 แสดงความเห็นว่า คงเป็นการประกาศเพื่อแสดงจุดยืนที่ชัดเจนในการต่อต้านการที่นักการเมืองบงการตำรวจ ฆ่าประชาชน แต่ถ้ามีตำรวจในเครื่องแบบเข้ามารับการตรวจรักษาจริงๆ ทีมแพทย์และพยาบาลก็คงต้องทำการตรวจรักษาให้อยู่แล้ว โดยเฉพาะกรณีผู้ป่วยฉุกเฉิน ดังนั้นประกาศดังกล่าว โดยส่วนตัวคิดว่าไม่ได้ต้องการจะไม่ตรวจรักษาให้ตำรวจจริงๆ โดยส่วนตัวเห็นว่าที่ไม่ควรตรวจให้ คือสมชาย วงศ์สวัสดิ์ และคนในตระกูลชินวัตร ซึ่งอยู่เบื้องหลังการกระทำเกินกว่าเหตุของตำรวจ และนำไปสู่การฆ่าประชาชนมากกว่า


 


 


เปิดบล็อกลงชื่อออนไลน์ ย้ำจะปฎิบัติตามปฎิญญาเจนีวา-จรรยาแพทย์


นอกจากนี้แล้ว ยังมีผู้สร้างบล็อก http://thaidoctor.wordpress.com/ เปิดให้ผู้ที่เห็นด้วยลงชื่อในจดหมายเปิดผนึกออนไลน์ มีเนื้อความว่า "ข้าพเจ้าในฐานะแพทย์ ภายใต้พระบารมีขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ขอสาบานตนต่อหน้าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย และองค์สมเด็จพระราชบิดาสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร์ อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนกว่า

 


"1. ข้าพเจ้าจะปฏิญาณตน ตามคำปฏิญญาเจนีวา (คำปฏิญญาของฮิปโปเครติส) ทั้งยามสงบและยามสงคราม 2. ข้าพเจ้าจะปฏิบัติตน ตามมาตรฐานวิชาชีพ และจรรยาแพทย์ โดยคำนึงถึงสิทธิของผู้ป่วย"


 


ทั้งนี้ มีการนำประกาศรับรองสิทธิของผู้ป่วย ซึ่งออกโดย แพทยสภา สภาการพยาบาล สภาเภสัชกรรม ทันตแพทยสภา และคณะกรรมการควบคุมการประกอบโรคศิลปะ มาไว้ในบล็อกดังกล่าวด้วย


 


 


หมายเหตุ - ประชาไทแก้ไขล่าสุดเมื่อวันที่ 10 ต.ค. เวลา 05.37 น. เนื่องจาก นพ.ดิเรก บรรณจักร์ แจ้งผ่านกระดานแสดงความคิดเห็นท้ายข่าวว่ามีการนำรายชื่อของ นพ.ดิเรก ไปใส่ในแถลงการณ์ของ "กลุ่มอาจารย์แพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่" โดยพละการไม่ได้มาชักชวนบอกกล่าวให้ทราบก่อน ประชาไทจึงทำการแก้ไขและชี้แจงมา ณ ที่นี้


 


ประชาไทแก้ไขล่าสุดเมื่อวันที่ 13 ต.ค. เวลา 00.31 น.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net