Skip to main content
sharethis

11 ต.ค. 51 - สมัชชาชาวประมงพื้นบ้านประเทศไทยและเครือข่ายสตรีประมงพื้นบ้านภาคใต้ ได้ออกคำประกาศ "ปฏิรูปทะเลไทย คือ การปฏิรูปการเมือง: สิทธิชุมชน ประชาชนกำหนดเอง" ต่อต้านการพัฒนาแบบล้างผลาญขายชาติ ตอบสนองเศรษฐกิจทุนนิยมสามานย์ เพื่อเริ่มกระบวนการปฏิรูปทะเลไทยอย่างจริงจัง สู่การปฏิรูปการเมืองที่แท้จริง" ปัญหาความยากไร้ก็ต้องได้รับการแก้ไข สิทธิของชาวประมงพื้นบ้านต้องรับรอง


 


 


 






 


คำประกาศ


สมัชชาชาวประมงพื้นบ้านประเทศไทย


ปฏิรูปทะเลไทย คือ การปฏิรูปการเมือง: สิทธิชุมชน ประชาชนกำหนดเอง


 


 


เรียน พี่น้องชาวภูเก็ต สื่อมวลชน ผู้มีอำนาจ และเพื่อนพันธมิตรประชาชนที่รัก


 


นับสิบๆปีที่นโยบายการพัฒนาประเทศ มีทิศทางเพื่อการส่งออกเพื่อความร่ำรวย ประเทศของเรามุ่งส่งเสริมการทำประมงพาณิชย์ขนาดใหญ่จับสัตว์น้ำให้ได้มากที่สุด ประเทศของเราสนับสนุนการเพาะเลี้ยงชายฝั่งอย่างขนานใหญ่ ทรัพยากรชายฝั่งและทะเลถูกใช้อย่างหนักจนเกิดความเสื่อมโทรมรุนแรงขึ้นอย่างประจักษ์ชัด ประเทศของเราสนับสนุนการพัฒนาในพื้นที่ชายฝั่ง นิคมอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่เกิดขึ้นจำนวนมากในบริเวณอ่าวพังงา โดยไม่เคยคำนึงถึงผู้คนซึ่งใช้ชีวิตอยู่ที่นั่น ประเทศของเราพัฒนาและจัดสรรที่ดินจนเบียดขับคนเล็กคนน้อยและเกษตรกรตัวจริงหลุดจากการเป็นผู้ถือครองที่ดินมากขึ้นๆ ประเทศของเรามุ่งสร้างความมั่นคงของรัฐบาลจนพร้อมที่จะเหยียบย่ำทำลายสิทธิประชาชนได้ตามใจชอบกรณีของ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประเทศของเราละเลยสิทธิของเด็ก ผู้หญิง และกลุ่มชนดั้งเดิมอย่าง มอแกนและอูลักลาโว้ย ขณะเดียวกันเรากลับประกาศเขตอนุรักษ์หวงห้ามจำนวนมหาศาล รอให้เอกชนเช่า และบังคับเอากับคนยากไร้ และประเทศของเรายังทำอะไรๆ อีกมาก...


 


ประการสำคัญนั้น สืบเนื่องจากประเทศของเรายังจำกัดสิทธิทางการเมืองในการกำหนดอนาคตและผลประโยชน์ของประเทศ ชุมชนและสังคม ให้อยู่ในมือนักการเมืองเดิมแบบพรรคการเมืองเท่านั้น ท่ามกลางสถานการณ์นี้ ชุมชนประมงพื้นบ้านหลายชุมชน หลายครอบครัวต้องล่มสลายลง ชุมชนชายฝั่งต้องอพยพโยกย้ายหลีกทางให้กับการพัฒนา คนที่ยังอยู่เริ่มล้มตายจากมลพิษ...


 


องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ซึ่งประกาศว่า การประมงแบบพื้นบ้านขนาดเล็กมีความสำคัญในฐานะเป็นเกราะป้องกัน เป็นหลักประกันให้ชุมชนมีอาชีพ และสามารถมีชีวิตอยู่ หน้าที่ของ FAO คือ ทำให้เกราะป้องกันนี้ยังดำรงอยู่ในสังคมโลก แต่พวกเขาก็ให้ความสำคัญและเข้าใจเราน้อยเต็มทีในทางปฏิบัติจริง  


 


พี่น้องทั้งหลาย ๒ วันมานี้ชาวประมงพื้นบ้านคนเล็กคนน้อยในประเทศไทย และเพื่อนชาวประมงพื้นบ้านจากทุกมุมโลก มาประชุมกันในวาระสมัชชาชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย เราได้ร่วมกันระดมความคิด ทบทวนข้อเสนอ ทบทวนภารกิจรักษาทะเลที่เราได้ดำเนินการร่วมกันมา และเราได้ตระหนักร่วมกันว่า พวกเราคือชาวประมงพื้นบ้าน ชาวประมงขนาดเล็กของประเทศที่เราอยู่ เราคือผู้ที่พิทักษ์รักษาทรัพยากรให้ยั่งยืน เราคือผู้สร้างหลักประกันความมั่นคงทางอาหารโดยแท้จริง


 


พี่น้องประชาชนที่รักทั้งหลาย ในสถานการณ์ที่สังคมไทยกำลังตึงเครียด รัฐบาลเข่นฆ่าประชาชนและกำลังจะเข้าสู่บรรยากาศของการเปลี่ยนแปลง เราจำเป็นต้องแสดงตนในฐานะประชาชนท้องถิ่นชาวประมงคนทะเล ว่าจะมุ่งมั่นแก้ปัญหาของเรา และปราถนาให้ข้อเสนอของเรา สิทธิของเรา เป็นที่ยอมรับด้วยความตระหนัก ไม่ใช่แบ่งปันเพียงเพราะเวทนา แต่ยอมรับในสิทธิของเรา เพราะ นั่นคือสิทธิของเราอย่างแท้จริง


 


ในขณะเดียวกันการเมืองระดับประเทศ ซึ่งเป็นต้นเหตุชักใยให้เกิดสถานการณ์ปัญหาให้เกิดขึ้น และทำลายชีวิตความเป็นอยู่ของเราลงจะต้องรับผิดชอบอย่างปฏิเสธไม่ได้ การพัฒนาแบบล้างผลาญขายชาติ ตอบสนองเศรษฐกิจทุนนิยมสามานย์ต้องถูกทำลาย และเริ่มต้น "กระบวนการปฏิรูปทะเลไทยอย่างจริงจัง สู่การปฏิรูปการเมืองที่แท้จริง" ปัญหาความยากไร้ก็ต้องได้รับการแก้ไข สิทธิของชาวประมงพื้นบ้านต้องรับรอง


 


พี่น้องที่รักทั้งหลาย ชาวประมงพื้นบ้านจะต้องมีสิทธิโดยชอบธรรมทางการเมือง เลือกเส้นทางชีวิตตนเองสิทธิชุมชนประชาชนควรกำหนดเอง และประชาชนเท่านั้นที่จะลงมือทำให้เกิดขึ้นจริง


 


 


ด้วยความสมานฉันท์


วันที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๕๑


 


สมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านภาคใต้


ชมรมชาวประมงพื้นบ้าน จ.นราธิวาส


เครือข่ายชาวประมงพื้นบ้าน จ.ปัตตานี


เครือข่ายชาวประมงพื้นบ้าน จ.สงขลา


เครือข่ายชาวประมงพื้นบ้าน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ (นราธิวาส,ปัตตานี,สงขลา)


สมาพันธ์ชาวประมงทะเลสาบสงขลา


ชมรมชาวประมงพื้นบ้าน อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช


เครือข่ายชาวประมงพื้นบ้านจาก จ.พังงา


เครือข่ายชาวประมงพื้นบ้าน จ.ภูเก็ต


เครือข่ายชาวประมงพื้นบ้าน จ. กระบี่


ชมรมชาวประมงพื้นบ้าน จ. ตรัง


ชมรมชาวประมงพื้นบ้าน จ.สตูล


กลุ่มชาวประมงพื้นบ้าน จ.ประจวบคีรีขันธ์


กลุ่มชาวประมงพื้นบ้าน จ.เพชรบุรี


เครือข่ายชาวประมงพื้นบ้านภาคตะวันออก


เครือข่ายผู้หญิงประมงพื้นบ้านภาคใต้


 


 


 


 






 


คำประกาศเจตนารมณ์


เครือข่ายสตรีประมงพื้นบ้านภาคใต้


วันที่ ๙ ตุลาคม ๒๕๕๑


 


เรารักเล เฉกเช่นที่เรารักครอบครัวของเรา


 


พี่น้องประชาชนที่เคารพ


ครั้งหนึ่ง...ท้องทะเลบ้านเราเคยอุดมด้วยมวลมหาทรัพยากรอันหลากหลาย


...เรามีกุ้ง หอย ปู ปลา ป่าชายเลน อุดมสมบูรณ์


...เรามีอาหารจากทะเลที่สด สะอาด และเพียงพอต่อปากท้อง


...เรามีท้องทะเล ปะการังชายหาดอันงดงาม กระทั่งเป็นที่เลื่องลือไปทั่วโลก


เพียงแค่ระยะเวลา ๑๐ ปีที่ผ่านมา ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรชายฝั่งที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วทำให้ระบบนิเวศชายฝั่งเปลี่ยนแปลง ส่งผลต่อวงจรชีวิตที่พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน


เรารู้ว่า ทรัพยากรเหล่านี้ไม่เพียงแต่จะเป็นสิทธิอันพึงมีพึงได้ของพวกเราเองเท่านั้น แต่เราคือผู้ที่ต้องพึ่งพาและใช้ทรัพยากรทางทะเลเพื่อเป็นอาหารและดำรงชีพ ซึ่งแน่นอน...เมื่อสิทธิในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางทะเลดำรงอยู่เช่นนี้ เรารู้ว่า นอกจากพวกเราที่รักและหวงแหนสิ่งเหล่านี้ไม่ต่างอะไรกับชีวิตของเราเองแล้ว พี่น้องประชาชนทุกคนก็ย่อมมีความรู้สึกไม่ต่างไปจากพวกเราแม้แต่น้อย


มาวันนี้ความอุดมสมบูรณ์ และความงดงามของท้องทะเลอันเป็นที่รักและหวงแหนของเราเปลี่ยนไปเสียแล้ว... เปลี่ยนไปนับแต่มีการเร่งการพัฒนาประเทศ โดยไม่คำนึงถึงคุณค่าความอุดมสมบูรณ์ในทะเลบ้านเราเอง ลืมคุณค่าภูมิปัญญาในชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรู้ของผู้หญิงที่ผูกพันใกล้ชิดกับการใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า เพื่อเป็นอาหารและรักษาไว้ให้ลูกหลานได้มีอาหารอุดมสมบูรณ์ มายาคติทางตัวเลขเศรษฐกิจที่สวยหรูครอบงำให้ใครต่อใครเชื่อว่าทุกลมหายใจเข้าออกต้องผลิตเพื่อขาย เพื่อเงินตรา สร้างภาระกดดันให้ผู้หญิงในชุมชนประมงอย่างเรายิ่งนัก


ยิ่งทะเลเสื่อมโทรมลงเท่าใด การทำมาหากินย่อมฝืดเคืองมากเท่านั้น ผู้หญิงซึ่งเป็นผู้หาอาหารเลี้ยงดูครอบครัวและเป็นผู้จัดการค่าใช้จ่ายภายในบ้าน ก็ยิ่งเหน็ดเหนื่อย ต้องทำงานหนักและกดดันมากขึ้นเท่านั้น  มาถึงวันนี้ พวกเราจะต้องหารายได้เสริมให้ครอบครัว หลายคนต้องออกหางานรับจ้างนอกบ้านทำเพิ่มมากขึ้น มีเวลาอยู่บ้านและดูแลลูกน้อยลง บางครอบครัวสามีไปทำงานรับจ้างต่างจังหวัดทิ้งให้ผู้หญิงอยู่บ้านเลี้ยงลูกตามลำพัง


เมื่อใครต่อใครต่างมองคุณค่าของทรัพยากรเป็นมูลค่าเงินตรา จึงทำให้ท้องทะเลที่เคยอุดมต้องถูกขูดรีดและกระทำชำเรา และผู้ที่เอาไปขายก็คือผู้ที่เข้าถึงทรัพยากรด้วยอำนาจทุนมากกว่า


ที่น่าเศร้าไปกว่านั้นคือ ผู้เข้าถึงด้วยอำนาจทุนเหล่านั้นไม่ได้คำนึงถึงความยั่งยืน ในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางทะเลอันเป็นของพวกเราทุกคนแม้แต่น้อย


สำหรับพวกเรา - สตรีชาวประมงพื้นบ้านภาคใต้ เรามีชีวิตอยู่กับทะเล ทะเลไม่ใช่เพียงสถานที่ท่องเที่ยว ไม่ใช่เพียงเป็นแหล่งอาหารของพวกเรา แต่เรารักทะเลเช่นที่เรารักครอบครัวของเรา เราอยู่ในครัวเรารู้ว่าอาหารทุกคำที่เลี้ยงดูเราและครอบครัวมาจากทะเลอันเป็นถิ่นฐานทำกิน


ในอดีต เพียงแต่เดินไปหน้าบ้านไม่กี่ก้าว เราก็จะได้อาหารเพียงพอต่อปากท้องของครอบครัว หรือบางทีอาจได้แจกจ่ายแก่ผู้อื่น ทะเลอันเป็นที่รักของเราวันนี้บอบช้ำ และเราเองก็ย่อมเจ็บปวด เราทำมาหากินในท้องทะเลแบบยั่งยืนตามแบบภูมิปัญญาดั้งเดิม  เราไม่กวาดต้อนเอาปูปลาทุกขนาดทั้งน้อยใหญ่ แต่เราจับปลาเท่าที่พอเลี้ยงชีพ


เราสตรีชาวประมงพื้นบ้านหลายหมู่บ้านจึงได้ร่วมมือกันดูแลรักษาทะเล ป่าชายเลน เราขับไล่การทำประมงที่ทำลายทะเล เรามีเพื่อนสตรีอยู่ในหลายหมู่บ้านริมทะเลทั้งอ่าวไทยและอันดามัน ที่ไม่เคยดูดายต่อความเสื่อมโทรมของทะเล เราร่วมมือกับหลายภาคส่วนทั้งหญิงชาย พวกเราเหล่านี้ดูแลรักษาทะเลหน้าบ้านเราตามกำลังมาเป็นเวลานาน พวกเราเป็นผู้หญิงที่ไม่ยอมอ่อนข้อต่อความชั่วร้ายที่เข้ามาทำรายทะเลอันเป็นที่รัก


บทเรียนสอนเราว่า เราไม่อาจปลดเปลื้องผลพวงอันเกิดจากกระแสการพัฒนาและทุนด้วยการร้องขอ วันนี้เราจึงได้รวมตัวกันเป็นเครือข่าย เพื่อร่วมมือกันดูแล รักษาทะเล บ้านเรา ตามสิทธิอันชอบธรรมเพื่อการขับเคลื่อนการทำงานให้ทบท่าวพลังยิ่งขึ้น


เรา สตรีชาวประมงพื้นบ้านจึงขอประกาศตัวเป็น "เครือข่ายสตรีชาวประมงพื้นบ้าน" และประกาศว่า


๑.                      สตรีชาวประมงพื้นบ้านทำมาหากินอย่างพึ่งพิงและรู้คุณค่าของท้องทะเล เรารักและเคารพท้องทะเล ซึ่งธรรมชาติสร้างไว้ให้มนุษย์ทุกคน เราได้ดำเนินการดูแลรักษาทะเลหน้าบ้านมาเป็นเวลานานและจะร่วมมือกันดูแลรักษาทะเล เพื่อขยายพื้นที่และรวมกำลังให้เข้มแข็งมั่นคงยิ่งขึ้น ภายใต้ความเข้าใจอันดีร่วมกันและดูแลให้กำลังใจสมาชิกตามบทบาทสตรี เพื่อให้ท้องทะเลกลับมาอุดมสมบูรณ์  ให้ทะเลกลับมาเป็นของพี่น้องประชาชนทุกคนอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียม


๒.                      พวกเราที่รวมตัวกันในแต่ละหมู่บ้าน จะร่วมมือกันประกาศตัวเป็นกองกำลังเฝ้าระวังชายฝั่ง เพื่ออนุรักษ์สัตว์น้ำขนาดเล็กทั้งหอย ปู ปลา ปลิงทะเล และอื่นๆ ให้ได้เจริญเติบโตและแพร่พันธุ์ต่อๆไป


๓.                      เราจะรณรงค์ กับคนใกล้ชิดในครอบครัว ญาติพี่น้อง เพื่อนบ้าน ตลอดจนหมู่บ้านใกล้เคียง ให้เกิดความร่วมมือในการดูแลรักษา ทะเล คลอง ใกล้บ้าน ที่ซึ่งทุกคนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน


๔.                     ผู้หญิงผูกพันใกล้ชิดกับธรรมชาติมาช้านาน เป็นทั้งแหล่งอาหารเลี้ยงทุกคนในครอบครัวให้อิ่มท้อง เป็นแหล่งหล่อเลี้ยงชีวิต  องค์ความรู้ของผู้หญิงในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอย่างยั่งยืนเป็นสิ่งที่มีคุณค่าและต้องให้ความสำคัญ พวกเราเรียกร้องให้มีการหนุนเสริมคนในชุมชนให้มีการฟื้นฟูจิตสำนึกดั้งเดิมของผู้หญิงกับทรัพยากรให้เป็นที่ยอมรับอย่างแพร่หลาย และนำมาใช้เป็นหลักการพื้นฐานในการพัฒนาประเทศ


๕.                     ผู้หญิงในฐานะประชากรครึ่งหนึ่งในชุมชน ต้องได้รับสิทธิในกระบวนการมีส่วนร่วมในกิจกรรมใดก็ตามที่จะส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของทุกคนในชุมชนอย่างมีความหมายและเท่าเทียมในทุกระดับ


๖.                      พวกเราผู้หญิงชาวประมงพื้นบ้านขอประกาศตัวเป็นเครือข่ายสตรีประมงพื้นบ้านภาคใต้ เพื่อให้สิทธิและทรัพยากรธรรมชาติของเราได้รับการคุ้มครองและมีผลในทางปฏิบัติ


 


ถึงเวลาแล้วที่พวกเราผู้หญิงประมงจะต้องสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับตนเอง ในการเข้ามามีส่วนร่วมในการปฏิรูปนโยบายในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ เราฐานะผู้หญิงประมงที่ดำรงชีพกับทรัพยากรทางทะเลอย่างเลี่ยงไม่ได้ เราเชื่อว่าการมีส่วนร่วมของผู้หญิงมีนัยยะสำคัญและมีความหมายในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ จะส่งผลให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง ก่อให้เกิดหลักประกันต่อการสร้างความมั่นคงทางอาหาร การเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจในระดับฐานราก ….ร่วมมือกันดูแล รักษาทะเล บ้านเรา ตามสิทธิอันชอบธรรม


 


ประกาศ ณ โรงเรียนวีรสตรีอนุสรณ์ บ้านป่าคลอก อ.ถลาง จ.ภูเก็ต


งานสมัชชาชาวประมงพื้นบ้านภาคใต้


                                    ๙ ตุลาคม ๒๕๕๑  


 


 


 


 



การประกาศตัวเป็นเครือข่ายสตรีประมงพื้นบ้าน เกิดขึ้นจากผู้หญิงแต่ละหมู่บ้านที่อาศัยอยู่ตามแนวชายฝั่งทะเลและลุ่มน้ำของประเทศไทย อาศัยทรัพยากรธรรมชาติในการทำมาหากิน  มีการรวมตัวกันอยู่แล้วในระดับหมู่บ้าน ทั้งเพื่อทำอาชีพเสริม ทำกิจกรรมรักษาฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงทำกิจกรรมสาธารณะในชุมชน ได้มารวมตัวกันในงานสมัชชาชาวประมงพื้นบ้านภาคใต้ ณ โรงเรียนวีรสตรีอนุสรณ์ บ้านป่าคลอก อ.ถลาง จ.ภูเก็ต วันที่ ๘-๑๐ ตุลาคม ๒๕๕๑ โดยกลุ่มผู้หญิงจากแต่ละจังหวัดได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนประสบการณ์ชีวิตระหว่างกัน พบว่าสถานการณ์การพัฒนาประเทศในปัจจุบันสร้างปัญหาให้แก่ผู้หญิงจากแต่ละหมู่บ้านคล้ายคลึงกัน ทั้งเรื่องความเสื่อมโทรมของทรัพยากร การทำมาหากินฝืดเคือง ภาวะความกดดัน เหน็ดเหนื่อย ปัญหาสุขภาพและการเลี้ยงดูบุตรธิดา การรวมตัวกันทำกิจกรรมในระดับหมู่บ้านอาจช่วยบรรเทาปัญหาได้ระดับหนึ่ง ทว่าเมื่อผู้หญิงได้มีโอกาสรวมตัวกันเป็นเครือข่ายทั้งเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน การฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ การทำมาหากิน จะเป็นพลังสำคัญที่เชื่อมร้อยผู้หญิงจากระดับหมู่บ้านขึ้นมาถึงระดับจังหวัดและระดับประเทศต่อไป ผุ้หญิงจะเป็นพลังสำคัญในการปกป้องสิทธิชุมชนและสิทธิผู้หญิงในการมีวิถีชีวิตที่มั่นคงและเป็นสุข


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net