Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

อ. อับดุชชะกูร์ บิน ชาฟิอีย์ ดินอะ (อับดุลสุโก ดินอะ)
 


ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาปรานีเสมอ ขอความสันติและความจำเริญแด่ศาสดามุฮัมมัดและละผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สุขสวัสดีวันตำรวจไทยและ วันตรุษอีฎิ้ลฟิตริ 1429


ตำรวจหรือ "ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์" เป็นคำยกย่องของรัฐและประชาชนที่คาดหวังต่ออาชีพการเป็นตำรวจ


เป็นที่ทราบกันดีว่าอาชีพตำรวจเป็นอาชีพที่เป็นทางการ เป็นข้าราชการ ที่มีหน้าที่รักษากฎหมาย ดูแล ความสงบสุขและความปลอดภัยแก่ประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง แต่ปัจจุบันโดยเฉพาะหลังเหตุการณ์ 7 ตุลาคม 2551 ความสัมพันธ์ระหว่างประชาชน กับข้าราชการตำรวจกลับน่าเป็นห่วง


ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลสำรวจเรื่อง ความคิดเห็นของสาธารณชนต่อ เหตุการณ์สลายม็อบพันธมิตร: กรณีศึกษาประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล จำนวนทั้งสิ้น 2,118 ตัวอย่าง ซึ่งมีระยะเวลาการดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 8-9 ตุลาคม พ.ศ. 2551 ผลสำรวจพบว่า ประชาชนเกินครึ่งหรือร้อยละ 52.9 ไม่เห็นด้วยกับตำรวจที่ใช้แก๊สน้ำตาเข้าสลายกลุ่มผู้ชุมนุม


ซึ่งเดิมก่อนเหตุการณ์สลายการชุมนุมหลายๆคนกลับมีทัศนคติที่ไม่ดีอันเนื่องมาจากพฤติกรรมไม่ดีของตำรวจบางคนแทนที่จะเป็น"ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์" กลับเป็นผู้พิฆาตสันติราษฎร์เสียเองอย่แล้ว ทำให้ชาวบ้านเหมารวมตำรวจไทยทั้งหมดว่าไม่ดีเช่นกัน ประชาชนและชาวบ้านส่วนใหญ่เลยไม่ชอบและไม่ยินดีกับผลงานที่เขาเหล่านั้นได้ปฎิบัติในฐานะที่กินภาษีของประชาชนเหมือนหน่วยอื่นๆ ทั้งๆที่เนื้อหาสาระของภารกิจที่ข้าราชการตำรวจปฏิบัตินั้นมีความสำคัญมากและเป็นภารกิจที่ลำบาก ต้องเสียสละอย่างมาก ไม่มีวาระจบสิ้น และบางครั้งก็เสี่ยงถึงชีวิต


โดยเฉพาะการแก้ปัญหาชายแดนใต้และเหตุการณ์การเมืองที่แบ่งฝ่ายอย่างชัดเจนที่กรุงเทพมหานครต้องอาศัยตำรวจเพราะ "ตำรวจ"คือหน่วยงานที่มีความสำคัญอันดับต้นๆ ของกระบวนการยุติธรรมที่ประชาชนจะได้รับ ตำรวจมีหน้าที่ในการสืบสวนหาผู้กระทำผิด หาพยานหลักฐาน เพื่อออกหมายจับ และนำตัวมาสอบสวนตาม ป. วิอาญา เพื่อส่งให้พนักงานอัยการฟ้องคดีต่อศาล หากตำรวจชายแดนใต้และกรุงเทพมหานคร ที่เป็นต้นทาง ไม่สามารถอำนวยความยุติธรรม ซ้ำร้ายขูดรีดประชาชนเสียเองก็จะยิ่งเป็นเชื้อที่คอยราดน้ำมันสู่เปลวเพลิงแห่งความรุนแรง ทัศนคติที่ไม่ดีซึ่งประชาชนมองตำรวจนั้นยังคงมีอยู่อย่างแน่นอน

ดังที่ นาย
ไชยยงค์ มณีพิลึก นายกสมาคมหนังสือพิมพ์ภาคใต้แห่งประเทศไทย เคยสะท้อนปัญหาดังกล่าวในสถาบันข่าวอิศราว่า ที่ผ่านมาตำรวจกลายเป็นจำเลยของสังคมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ว่าจะเป็นการสัมมนา เพื่อดับไฟใต้ที่เวทีไหน มีแต่การกล่าวหาว่าตำรวจคือต้นเหตุของความอยุติธรรม ที่ประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้รับ และกลายเป็นปัญหาความคับแค้นทางจิตใจ จนทำให้ชุมชนส่วนใหญ่ต่างมองตำรวจเป็นศัตรูจนกลายเป็นเรื่องฝังใจ และมีนักวิชาการหลายเวที ถึงกลับฟันธงว่า ถ้าจะดับไฟใต้ให้ได้ผล ต้องทำการ"ยกเครื่อง"ตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้เสียก่อน (โปรดดู
 ความเปลี่ยนแปลงที่เริ่มกระเตื้องขึ้นของตำรวจใต้…)


ดังนั้น การยกเครื่องตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้และกรุงเทพมหานครจึงมีความสำคัญ หนึ่งในนโยบายในการยกเครื่องคือ การที่


"ตำรวจต้องเปลี่ยนวิธีคิด ปรับวิธีการทำงาน เพื่อร่วมกันสร้างวัฒนธรรมองค์กรใหม่โดยให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง" ทั้งนี้ไม่ใช่อะไรก็เพื่อเกียติยศของข้าราชการตำรวจเองและความสงบสุขของประชาชน


สุดท้ายตำรวจจะเป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ที่เสียสละและสุจริตต่อส่วนรวมและของประชาชน สิ่งที่จะหนุนเสริมนโยบายดังกล่าวคือสามารถปฏิบัติตามพระบรมราโชวาทของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ทรงพระราชทานพระบรมราโชวาทแก่ตำรวจว่า "...การจับผู้ร้ายนั้นไม่ถือเป็นความชอบ แต่เป็นการทำตามหน้าที่ให้ครบถ้วนเท่านั้น...แต่จะเป็นความชอบก็ต่อเมื่อได้คุ้มครองป้องกันเหตุร้าย ให้ชีวิตและทรัพย์สินของข้าแผ่นดิน (ประชาชน) ในท้องที่นั้นให้อยู่เย็นเป็นสุข..."


และพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงพระราชทานแก่ตำรวจ (ในพิธีสวนสนามเนื่องในโอกาสที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจสถาปนาครบ 100 ปี ณ ลานฝึกศรียานนท์ วันที่ 19 เมษายน 2545) ความว่า
 
"ตำรวจมีหน้าที่ ที่สำคัญและกว้างขวางมาก คือต้องทำหน้าที่ทั้งด้านการปกครอง คอยสอดส่องดูแลทุกข์สุขตลอดจนสวัสดิภาพของประชาชน ทั้งด้านการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม และจับกุมผู้กระทำผิด รวมทั้งการปกป้องแผ่นดินไทยเมื่อมีภัยคุกคามอีกด้วย นับว่ามีภาระหนัก มีความรับผิดชอบสูง เพราะต้องเผชิญกับปัญหานานา และต้องเสี่ยงอันตรายถึงชีวิตอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นผู้ที่สามารถปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจให้สำเร็จครบถ้วนจะต้องเป็นบุคคลผู้มีความรู้ ความสามารถ มีความเข้มแข็ง อดทนและมีความเสียสละอย่างแท้จริง จึงขอให้ตำรวจทุกคนภูมิใจที่ได้ปฏิบัติหน้าที่อันสำคัญและมีเกียรตินี้... ...ตำรวจมีหน้าที่รักษาความสงบสุข และความถูกต้องเป็นธรรมในบ้านเมือง การปฏิบัติหน้าที่ ทั้งนี้บางทีก็ต้องใช้เมตตาอารี และเสียสละอย่างสูง ในการช่วยเหลือเกื้อกูลประชาชนโดยเสมอหน้า แต่บางทีก็ต้องใช้ความเข้มงวดเด็ดขาดในการควบคุม ทำลายทุจริตชน และการรักษาความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย ไม่ว่าจะทำหน้าที่โดยความเมตตา เกื้อกูล หรือเข้มงวดกวดขันก็ตาม ตำรวจต้องระมัดระวังตั้งใจปฏิบัติให้ได้ผลตรงตามเป้าหมาย คือให้เป็นการรักษาความสงบสุข เป็นการผดุงความถูกต้องเป็นธรรมอยู่เสมอ อย่าให้ถูกมองว่าเป็นการใช้อำนาจหน้าที่หาประโยชน์เบียดเบียนประชาชน หรือล้มล้างทำลายความเป็นธรรมเสียเองเป็นอันขาด มิฉะนั้นจะไม่สามารถรักษาภาพลักษณ์ คุณค่า และเกียรติศักดิ์ของตำรวจไว้ได้..."
 
พระบรมราโชวาทดังกล่าวแสดงถึงหน้าที่สำคัญของตำรวจ แม้งานจะหนักแต่ก็เป็นภาระอันมีเกียรติ เป็นความภาคภูมิใจแก่ตนเองและวงศ์ตระกูล การที่วันที่ 13 ตุลาคม เป็นวันตำรวจไทย ก็เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงลงพระปรมาภิไธยในพระบรมราชโองการโปรดให้ รวมกรมตำรวจภูธรและกรมพลตระเวน (กรมตำรวจนครบาล) รวมเป็นกรมเดียวกัน เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม


สุดท้ายผู้เขียนขอเป็นกำลังใจต่อการทำงานของตำรวจชายแดนใต้และกรุงเทพมหานครที่คอยพิทักษ์สันติราษฎร์อย่างแท้จริงทุกท่านแต่ในขณะเดียวกันขอให้อัลลอฮฺจงเปิดใจตำรวจในคราบผู้พิฆาตสันติราษฎร์ สู่ทางนำอันถูกต้อง


สุขสวัสดีวันตำรวจไทยและ วันตรุษอีฎิ้ลฟิตริ 1429 อามีน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net