บันทึกจากบ้านห้วยจัน: ความแตกแยกระหว่างสองนครา

ที่มา: http://www.siamintelligence.com/wordpress/in-thai-protests-a-divide-between-urban-and-rural/

กานต์ ยืนยง แปลและเรียบเรียงจาก MEMO FROM BAN HUAY CHAN : In Thai Protests, a Divide Between Urban and Ruralจาก The New York Times.

 

 

เมื่อครั้งยังเป็นวัยรุ่น ดำเนิน ผังโสภา เคยทำงานโรงงานตุ๊กตาในกรุงเทพฯ และเขาไม่รู้สึกชอบมันเลย

"พวกเขามีความคิดแตกต่างจากคนในอีสาน" เขาหมายถึงแผ่นดินใจกลางในชนบทของประเทศไทยแถบตะวันออกเฉียงเหนือ "ในกรุงเทพฯ มีแต่งานและความกดดัน, งานและความกดดัน ไม่เหมือนที่นี่ ชีวิตดำเนินไปอย่างแช่มช้า ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว"

 

ที่บ้านห้วยจันห่างออกไปจากกรุงเทพฯ ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือราว 400 กิโลเมตร ซึ่งเวลานี้ข้าวเริ่มออกรวงแล้ว ในขณะที่ชาวนารอคอยช่วงการเก็บเกี่ยว พวกเขารวมกลุ่มกันในตอนเช้าเพื่อให้เวลาผ่านไป และพวกเขากำลังมีโทสะ

"คนอีสานก็เป็นคนเหมือนกัน" คุณดำเนินวัย 48 ซึ่งเป็นชาวนา ซึ่งเป็นอาชีพส่วนใหญ่ของคนที่นี่กล่าวขึ้น "เรากินข้าวด้วย และเราก็มีการศึกษา พวกเขาไม่ควรดูถูกเราแบบนี้"



คนไทยในชนบทหลายคนเหมือนประเสริฐ ผังโสภา เล่าว่าพวกเขารู้สึกว่าถูกดูหมิ่นโดยพวกชุมนุมประท้วงซึ่งต้องการลดทอนคะแนนเสียงของพวกเขาลง: ภาพจาก The New York Times

 

การหมิ่นแคลนมาจากผู้นำขบวนการประท้วงต่อต้านรัฐบาลในกรุงเทพ ซึ่งมองว่าผู้ออกเสียงเลือกตั้งในชนบทถูกชักจูงไปในทางที่ผิด และไร้การศึกษา ด้วยความหวังว่าจะเปลี่ยนแปลงดุลอำนาจทางการเมือง บรรดาผู้ประท้วงได้ผลักดันแผนปฏิรูปเพื่อทำให้เสียงของคนชนบทอ่อนลง

 

มวลชนจำนวนมากได้ตั้งที่กำบังตนเอง อยู่ในทำเนียบรัฐบาลมานานเป็นเวลาเกือบเจ็ดสัปดาห์ ในช่วงที่เป็นวิกฤติที่ร้ายแรงที่สุดในประเทศไทยมาหลายปี แบ่งแยกประเทศตามเส้นแบ่งในเชิงสังคม, เศรษฐกิจ และการเมือง เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิตหนึ่งราย และผู้บาดเจ็บอีก 400 คน เมื่อตำรวจได้ทำการสลายการชุมนุมด้วยแก๊สน้ำตา

 

บรรดาผู้ชุมนุมประท้วงมองว่า คนอย่าง "ดำเนิน" และคนชนบททั้งหลาย เป็นสาเหตุหลักของปัญหาในประเทศ เพราะเสียงเลือกตั้งของพวกเขา - ในเขตเลือกตั้งที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เป็นอุปสรรคต่อการที่ฝ่ายค้านจะเข้าสู่อำนาจ

 

ข้อเสนอนั้นเป็นไปเพื่อลดทอนเสียงลงคะแนนของคนชนบท โดยกำหนดให้มีสมาชิกแบบสรรหา ซึ่งคาดกันว่าจะเป็นตัวแทนความใฝ่ฝัน และความต้องการกลุ่มคนร่ำรวย ที่เป็นคนชั้นกลางในเขตนครที่มีมายาวนาน

 

"นี่ไม่ใช่ประชาธิปไตย" ไสว มรงค์ฤทธิ์ ชาวนาวัย 56 บอก "พอพวกเขาเอาชนะไม่ได้ ก็หาวิธีอื่นที่จะสู้ เพราะถ้าเรามีการเลือกตั้ง พวกเขาก็จะแพ้อีก"

 

บรรดาชาวนาที่จับกลุ่มกันในขอนแก่นที่นี่ คุยเขื่องนิดๆ เมื่อพวกเขาพูดถึงความเชื่อมั่นทางการเมือง

เมื่อการเลือกตั้งครั้งล่าสุด ในเดือนธันวาคม พรรคพลังประชาชนได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง ได้ที่นั่ง 233 จาก 480 ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร

 

"ถ้าคนอีสานไม่ลงคะแนนให้พวกเขา รับรองว่าพรรคประชาธิปัตย์จะไม่มีทางเอาชนะได้" ไสวพูดถึงพรรคการเมืองฝ่ายค้านหลัก

 

หรือถ้าจะเอาอีกอย่างหนึ่ง ดำเนิน กล่าวว่า "วิธีเดียวที่จะเอาชนะได้ก็คือให้คนอีสานตายไปให้หมดนั่นแหละ"

 

บางครั้งมีการอธิบายเมืองไทยว่าเป็นเหมือนสองประเทศ คือกรุงเทพฯ และที่ไม่ใช่กรุงเทพฯ คนประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ของประชากรประเทศ 65 ล้านคนอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ ที่ซึ่งเป็นเมืองหลวง ประชากรจะเพิ่มจำนวนมากขึ้นหลายล้านหากนับรวมผู้โยกย้ายเข้ามาทำมาหากินในกรุงเทพฯ ด้วย และเกือบสามในสี่ของประชากรไทยมีถิ่นที่อยู่อาศัยในอีสาน

 

ในวันเลือกตั้ง คนขับรถแท็กซี่ แรงงาน แม่บ้าน และคนขายของริมทางเดิน รวมทั้งคนงานในโรงงานมุ่งหน้ากลับไปบ้านเพื่อลงคะแนนเลือกตั้ง

 

ด้วยความจับใจในโครงการประชานิยม อย่างบริการสุขภาพในราคาถูก และการปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำ ทำให้คนยากจนในชนบทต่างก็สนับสนุน พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ผู้ซึ่งเปลี่ยนแปลงการเมืองไทยในช่วงที่เขาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหลายปี

 

ทักษิณถูกโค่นในช่วงการรัฐประหารเมื่อปี 2549 และในขณะนี้พำนักอยู่ในลอนดอน ซึ่งเขาได้หลบหนีจากการกล่าวหาในคดีฉ้อโกง แต่ฐานที่มั่นในชนบทที่เขาได้สร้างไว้ยังคงมีอยู่อย่างแข็งแกร่ง และผู้สนับสนุนเขาก็กำลังบริหารงานรัฐบาล

 

"ประชาชนในอีสาน และคนยากจนทั่วไปล้วนชอบทักษิณ" ประเสริฐ ผังโสภา ชาวนาวัย 54 เล่าให้ฟัง เขาเลี้ยงโค ปลูกถั่วฝักยาว และพริกแดง ในขณะที่ทำนาไปด้วย

 

ชาวนาที่นี่ เป็นปัจจัยหนึ่งในการทำให้สังคม เศรษฐกิจและการเมืองเริ่มไร้เสถียรภาพ ความแตกแยกเริ่มแหลมคมขึ้น และเต็มไปด้วยความขุ่นข้อง เมื่อการประท้วงในกรุงเทพฯ ยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง

 

ผู้ชุมนุมประท้วงมีส่วนผสมที่หลากหลาย ทั้งพวกสนับสนุนกษัตริย์, ทหาร, เจ้าของธุรกิจ, นักเคลื่อนไหวสังคม, นักเรียน, แม่บ้านชนชั้นกลาง ผู้ซึ่งมีความไม่พอใจอย่างรุนแรงกับสถานการณ์ประเทศชาติในปัจจุบัน

 

อารมณ์รุนแรงนี้เปิดเผยตัวออกมาเมื่อสัปดาห์ก่อนเมื่อบรรดาแพทย์ในโรงพยาบาลในกรุงเทพฯ ปฏิเสธจะรักษาเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ได้รับบาดเจ็บในการปะทะกับผู้ชุมนุมประท้วง

 

ในขณะเดียวกัน นักบินสายการบินไทยปฏิเสธจะรับผู้โดยสารที่เป็น ส.ส. จากพรรครัฐบาลเมื่อสัปดาห์ก่อน โดยกล่าวหาว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ

 

แต่ความโกรธขึงเป็นไปอีกแบบในบ้านห้วยจันที่นี่ ที่ซึ่งบรรดาชาวนากำลังปลุกปั่นความไม่พอใจ ด้วยการทำร้ายผู้ประท้วงในทางจินตนาการ

 

"ถ้าคนพวกนั้นมาที่นี่ ผมจะทุบพวกนั้นให้ตาย แล้วโยนลงไปในแม่น้ำ" หนูเจิน สิงห์คราม วัย 67 คำราม ในขณะที่เขากำลังนั่งกับพื้น กับพร้าที่ใช้ตัดไม้ไผ่ ทุกคนหัวเราะ และ ไสว ประกาศว่า "ผมอยากให้ตำรวจปาระเบิดเข้าไปในกลุ่มผู้ชุมนุม ให้พวกนี้ตายให้หมด"

 

ความแตกแยกระหว่างคนในชนบทและนาครแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนที่อีสานนี้ด้วย เพราะในขณะที่คนจำนวนมากในตัวเมืองขอนแก่นสนับสนุนกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และดูหมิ่นคนอย่างชาวนาในบ้านห้วยจัน ซึ่งอยู่ห่างออกไปทางเหนือราว 13 กิโลเมตร

 

"เป็นไปไม่ได้ที่จะเปลี่ยนการลงคะแนนเสียงของคนชนบท" อัจฉรา จันทสุวรรณ บรรณารักษ์วัย 53 ซึ่งในขณะนี้กลายเป็นผู้ถ่ายทอดสดกระจายเสียงการชุมนุมในกรุงเทพฯ บริเวณกลางเมืองขอนแก่นกล่าว

 

"นี่เป็นเหตุว่าทำไมพันธมิตรฯ จึงได้เสนอการเมืองใหม่" เธอกำลังกล่าวถึงข้อเสนอของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งกำหนดให้ที่นั่งในสภา 70 เปอร์เซ็นต์สรรหามาจากกลุ่มวิชาชีพ ในขณะที่อีก 30 เปอร์เซ็นต์เป็นการลงคะแนนเลือกตั้งโดยผู้มีสิทธิออกเสียง

 

"พวกเขามีสิทธิ์ที่จะลงคะแนนเสียง แต่เราจะไม่อนุญาตให้การลงคะแนนเสียงของพวกเขาควบคุมประเทศของเรา" เธอกล่าว "ถ้าเราปล่อยคนพวกนั้น เราก็ไม่สามารถพัฒนาประเทศของเราได้"

 

แต่ความแตกแยกนี้ร้าวลึกไปมากกว่าเพียงแต่เมืองและชนบท ยังมีการแตกแยกระหว่างมิตรสหาย เพื่อนร่วมงาน และคนในครอบครัว

 

"บางครั้งเมื่อเราประณามการกระทำของรัฐบาล และพวกสนับสนุนทักษิณก็จะรู้สึกโกรธแค้น" เธอพูดถึงเพื่อนร่วมงานที่ห้องสมุด "พวกเขาจะพูดว่า "ไม่, ไม่, ไม่" และพยายามจะบอกว่าพวกเราต่างหากที่ผิด เพื่อนของฉันถึงกับจะทุบตีฉัน เธอบันดาลโทสะเอามากๆ"

 

สมภพ บุนนาค ที่มา: ภาพจาก The New York Times

 

สมภพ บุนนาค นักพัฒนาสังคมวัย 62 หยุดที่ป้ายสองสามนาทีบนเส้นทางมุ่งเข้าสู่กรุงเทพฯ เพื่อจะเข้าร่วมการชุมนุมประท้วงกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เขากล่าวว่า เขาจะจับรถประจำทางเพื่อเดินทางไปตอนกลางคืนและเข้าร่วมการประท้วงในตอนเช้า ในมือของเขามีแว่นตากันน้ำสำหรับใส่ว่ายน้ำ เผื่อเอาไว้ป้องกันดวงตาเผื่อตำรวจมีการใช้แก๊สน้ำตา "ผมไม่รู้ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นหรอก" เขากล่าว "แต่ผมหวังว่าจะไม่มีอะไรเกิดขึ้น"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท