รายงาน : พิพาทเขาพระวิหาร "เขาทำตรงนั้นแล้วกลับกรุงเทพฯ แต่พวกผมต้องอยู่หลบลูกปืน"

คุยกับคนตีนเขาพระวิหาร เล่าความย้อนรอยกรณีความขัดแย้ง ชี้ "ชนวนแรก" คือ "พันธมิตรฯ" ทำรายได้หด 90 เปอร์เซ็นแถมภาวะสงครามมาให้ย้อนอดีตหลบกระสุนเขมรแดง ฝันอยากกลับเป็นเหมือนเดิม สร้างพื้นที่ทับซ้อนเป็นเขตร่วมกันพัฒนา

 

ภาพเมื่อ 17 ก.ค. ทหารไทยลาดตระเวนบริเวณวัดใกล้กับปราสาทเขาพระวิหาร
(AP Photo/Heng Sinith, FILE)

 

เสียงปืนปุดๆปึงๆที่ดังขึ้นเมื่อราวตอนต้นเดือนตุลาคมเป็นการเริ่มต้นสัญญาณ บางอย่างที่ดูท่าไม่ค่อยดีนักต่อความสัมพันธ์ตามแนวชายแดนไทย - กัมพูชา กลิ่นอายความรุนแรงลอยระอุอวลออกมาเป็นระยะในหลายเดือนมานี้ แม้ว่ายังไม่มีพลเรือนหรือทหารของทั้งสองฝ่ายเสียชีวิตจากเสียงปืนอาวุธ สงครามที่ดังขึ้น แต่อย่างน้อยบาดแผลของประวัติศาสตร์ได้ถูกเปิดเถือเนื้อเถือหนังออกมาให้ ทั้งสองฝ่ายให้ได้หลั่งเลือดสีแดงไหลรินออกมาอีกครั้ง

ขณะนี้แนวพรมแดนด้านตะวันออกหรือตะวันออกเฉียงเหนือราว 800 กิโลเมตรที่ติดกับกัมพูชาจะมีกองทหารของสองประเทศตรึงกำลังกันไว้อย่างเคร่ง ขรึม ความพยายามเจรจาที่เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่ายังคงขัดแย้งกับความเป็นจริง ที่ประจักษ์ออกมาว่ายังไม่มีทีท่าคลี่คลายลงไปกว่าเดิมนัก แต่ความวิตกกังวลกำลังสะสมขึ้นตามความยืดเยื้อของกาลเวลา ยิ่งสำหรับคนพื้นเพแถวๆจังหวัดศรีสะเกษหรืออาศัยตามพรมแดนที่มีปราสาทหิน ต่างๆ ความขัดแย้งถึงขนาดที่ใช้กองทหารประจันหน้ากันยิ่งมีเค้าลางชวนให้นึกถึง ความตึงเครียดในการใช้ชีวิตสมัยที่ประเทศกัมพูชายังคงมีความวุ่นวายภายใน โดยเฉพาะในช่วงเขมรแดงเรืองอำนาจ

นายอุบลเดช พานพบ เป็นคนพื้นเพที่บ้านภูมิซรอล อำเภอกันทรลักษณ์ จังหวัดศรีสะเกษ อยู่มาตั้งแต่เกิดจนปัจจุบันอายุปาเข้าไป 38 ปี แล้ว ซึ่งปัจจุบันทำมาหากินด้วยการเปิดร้านขายอาหารบริเวณเขาพระวิหาร แต่ก็เคยผ่านยุควุ่นวายมาก่อน เขาบอกว่าไม่อยากให้สถานการณ์ที่ต้องคอยหลบลูกปืนเกิดขึ้นอีก สมัยนั้นตอนกลางคืนถ้ามองไปบนฟ้าก็ต้องเห็นแสงไฟกระสุนสีแดงแหวกอากาศเป็น สายไป

"พวกผมมีประสบการณ์หลบลูกปืนมาแล้วตั้งแต่สมัยเขมรแดงแต่เด็กรุ่นหลังๆไม่ชิน ผมไม่กลัว แต่ไม่อยากให้เกิดขึ้นอีก" อุบลเดชบอกอีกว่า ถ้าเกิดความขัดแย้งขึ้นและมีการยิงเข้ามา พวกเขา...ชาวบ้านในพื้นที่คือคนได้รับผลกระทบเต็มๆ

หากย้อนกลับไปทบทวนเหตุการณ์ กว่าสถานการณ์จะก้าวหน้ามาจนสุขงอมขนาดนี้ ตัวแปรสำคัญหนีคงไม่พ้นปัญหาการเมืองในส่วนกลาง

หลังจากกลุ่มคนในนาม "พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย" ลุกฮือขึ้นในกรุงเทพฯเพื่อต่อต้านรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งระลอกใหม่ด้วยเหตุผลหนึ่งว่ามีรากเหง้าเถาถั่วมาจาก "พรรคไทยรักไทย" และในคราวนี้ประเด็น "ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์" ถูกหยิบยกมาใช้เป็นอุดมการณ์ในการเคลื่อนไหวอย่างแข็งขันและแข็งกร้าวขึ้นถึงที่สุด

ในเมืองหลวงนอกจากจะเกิดความขัดแย้งและความรุนแรงขึ้นหลายครั้ง มันยังได้ขยายตัวลุกลามไปสู่พื้นที่ต่างๆแทบทั่วประเทศ ชายแดนด้านตะวันออกเฉียงเหนือกรณีเขาพระวิหารถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นข้อพิพาท ระหว่างประเทศไทยและกัมพูชาอีกครั้งในรอบ 46 ปี

แนวทางของ "ชาตินิยม" ภาย ใต้เหตุผลการช่วงชิงความเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนเขาพระวิหารยัง เป็นความรู้สึกที่ไม่ลงตัวของทั้งสองฝ่าย แม้ว่าศาลโลกจะได้ตัดสินออกมาแล้ว ในวันที่ 15 มิถุนายน 2505 ว่าให้ปราสาทพระวิหารตกเป็นของกัมพูชา ตามมาด้วยการแถลงการณ์ยอมรับคำตัดสินของศาลโลกจาก จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในวันที่ 4 กรกฎาคม 2505 ไทยได้ถอนทหารพร้อมธงชาติออกมา แม้ว่าจะมีวาทะว่า "ในวันหนึ่งข้างหน้า เราจะต้องเอาปราสาทพระวิหาร กลับคืนมาเป็นของชาติไทยให้จงได้" แต่กาลผ่านมาหลายสิบปีก็ไม่มีการดำเนินการใดๆจากรัฐบาลไทยทุกสมัย

ในขณะที่ผลจากการตัดสินของศาลโลกยังมีความไม่ชัดเจนในการตีความจึงเกิดพื้นที่ที่ทั้งสองฝ่ายต่างอ้างสิทธิ หรือที่เรียกว่า "พื้นที่ทับซ้อน" ขึ้นอีก 4.7 ตารางกิโลเมตร อย่างไรก็ตาม สำหรับคนตามแนวชายแดนของทั้งสองประเทศ "ความเป็นเจ้าของดินแดน" กลับไม่ใช่ปัญหาและยังได้สร้างรูปแบบความสัมพันธ์เฉพาะขึ้นจึงสามารถอยู่ร่วมกันได้และค้าขายชายแดนกันมายาวนานอีกหลายสิบปี

จนเมื่อประเทศกัมพูชาดำเนินการขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก และกลุ่มคนในนามพันธมิตรฯได้หยิบกรณีดังกล่าวมาเป็นเหตุผลสำคัญต่อการปลุก ระดมทางการเมืองโดยจี้ความรู้สึกไปที่การ "เสียดินแดน" อย่างต่อเนื่องทั้งที่เป็นดินแดนที่เสียไปแล้วเมื่อ 46 ปีก่อน ภายใต้การไม่ Active ใดๆ ของรัฐบาลไทยตั้งแต่นั้นมา แต่ประเด็นดังกล่าวเมื่อจุดติดก็ได้กลายเป็นการจุดชนวนระเบิดลูกใหญ่ที่ พร้อมจะระเบิดใส่พลเมืองบริสุทธิ์ของทั้ง 2 ประเทศ

ช่วงก่อนการประกาศการเป็นมรดกโลกของปราสาทพระวิหารในเดือนตุลาคม กลุ่มคนในนามพันธมิตรฯ จำนวนหนึ่งเคลื่อนขบวนไปยังเขาพระวิหารจนสร้างความหวั่นวิตกให้กับคนใน พื้นที่ โดยเฉพาะกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าที่ทำมาหากินกับการท่องเที่ยวปราสาทที่ไม่ได้ กังวลอะไรเลยกับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกของปราสาทพระวิหาร

นายอุบลเดช กล่าวว่า ส่วนตัวเขามองเรื่องการเป็นมรดกโลกของปราสาทพระวิหารว่าไม่มีผลต่อวิถีชีวิต ของพวกเขาและการขึ้นทะเบียนกลับจะสร้างรายได้จากการค้าขายที่มากขึ้น แต่เรื่องดินแดนนั้นเป็นเรื่องที่ต้องพูดคุยกัน

"อยากให้ปราสาทพระวิหารขึ้นทะเบียนเพราะจะได้ค้าขาย แต่เมื่อแบ่งเขตกันไม่ได้และไม่มีใครอยากเสียดินแดน จึงอยากให้พัฒนาร่วมกัน อยากให้ทุกอย่างกลับมาเหมือนเดิม ตัวปราสาทเรายอมรับว่าเป็นของเขา แต่พื้นที่รอบปราสาทถ้าตกลงกันไม่ได้อยากให้พัฒนาร่วมกัน ทหารจะได้ถอนกำลัง ถ้าร่วมกันพัฒนาไม่ได้ คุยอย่างไรก็ไม่จบ" เขา กล่าว ในขณะที่ตัวเขาเองก็มองเรื่องดินแดนไม่ได้แตกต่างไปคนไทยคนอื่นๆ ที่มีความรู้สึกว่าปราสาทพระวิหารนั้นน่าจะเป็นของไทย เพียงแต่เมื่อแพ้ในการตัดสินด้วยกติกาสากล เขาเลือกที่จะยอมรับกติกา

"พระวิหารในความรู้สึกผมตรงเป้ยตาดีเองก็ไม่น่าเป็นของเขมร ทางฝรั่งเศสมันขี้เกียจขีดแผนที่ นอนเขียนที่โรงแรมแล้วขีดไป แต่เรายอมรับว่าศาลตัดสินมา คือถ้าตัดสินกันเองเราก็ลุกฮือได้ แต่นี่เป็นศาลโลก เขาให้ยกมือ เราแพ้เขา 9 ต่อ 3 ปัญหาคือคนที่กรุงเทพฯไม่รู้ว่าชาวบ้านในจุดนั้นเดือดร้อนอย่างไร"

จากนั้นเขาจึงอธิบายถึงจุดเปลี่ยนสำคัญและสัมพันธภาพในพื้นที่ที่เปลี่ยนแปลงไป อย่างสิ้นเชิง และอาจพูดได้ว่ายากเหลือเกินเสียแล้วที่ทุกอย่างะกลับมาเหมือนวันเก่าๆได้ อีก

"เขามากันประมาณ 30 คน" นายอุบลเดช เล่าถึงกลุ่มธรรมยาตราซึ่งเป็นปีกหนึ่งในเครือข่ายของพันธมิตรฯ ที่ล่วงหน้ามาก่อนพันธมิตรฯ ราวหนึ่งเดือนและเป็นกลุ่มแรกที่เข้ามาทำให้สถานการณ์ในพื้นที่เขม็งตัวขึ้น

"ตอนนั้นเป็นปลายเดือนกรกฎาคม มีการปิดเขาพระวิหารไม่ให้คนขึ้นแล้ว เราตกลงกันว่าไม่อยากให้ธรรมยาตราขึ้นไปบนเขาเพราะจะทะเลาะเบาะแว้งกับเขมร เขารับคำตกลงของเราแต่ไม่ทำตามและได้ปีนรั้วข้ามกำแพงไป จนกลายเป็นประเด็นใหญ่ที่ทำให้ทหารทั้ง 2 ฝ่ายต้องมาตรึงกำลังกัน นี่เป็นชนวน" เขาเล่าและกล่าวไปเรื่อยๆต่อไปว่า

 

 

 

 

(ภาพบนสุด) พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เคลื่อนไปชุมนุมใกล้กับชายแดนไทย-กัมพูชา ด้าน จ.ศรีษะเกษ ก่อนที่จะมีการฝ่าด่านเจ้าหน้าที่ตำรวจ (ภาพบน) และเข้ามาปะทะชาวบ้านในหมู่บ้านชายแดนไทย-กัมพูชา จ.ศรีษะเกษ (ภาพล่าง) โดยผู้ชุมนุมพันธมิตร หวังจะเข้าไปประท้วงในเขตชายแดน เมื่อวันที่ 17 ก.ค. ที่ผ่านมา

 

"เมื่อความตึงเครียดมากขึ้น พันธมิตรฯก็เข้ามา พวกผมชาวบ้านไปดันไว้ไม่อยากให้ขึ้นเขาพระวิหารเพราะกลัวจะเกิดเรื่องใหญ่ โดยไม่รู้ว่าเขาจะมารุนแรง เราก็มาแบบชาวบ้านธรรมดา เป็นพ่อค้าแม่ค้าประมาณ 200 คน แต่พันธมิตรมีทั้งเครื่องเสียง เสาธง และรถบัสประมาณ 20 คัน รถเก๋งอีกรวมรถแล้วประมาณ 200 กว่าคัน

"..เขาทำตรงนั้นแล้วกลับกรุงเทพแต่พวกผมต้องอยู่หลบลูกปืน ถ้าเขายิงมาพวกผมก็รับเต็มๆ" นายอุบลเดชกล่าวและบอกถึงความรู้สึกตอนนั้นว่า ไม่คิดว่าทางพันธมิตรฯจะมาแบบรุนแรงและโกรธกับข้อหาว่า "ไม่รักชาติ" ซึ่งไม่สามารถทำอะไรไม่ได้

"เราต่อต้านเขาด้วยความรักชาติเหมือนกัน ถ้าเราไม่รักชาติเราปล่อยภูมิซรอลทิ้งไปแล้ว เพราะรักถึงอยู่ตอนที่เขมรแดงมาไล่ยิง ความสัมพันธ์ของสองประเทศก็กังวลว่าจะกลับสู่สมัยอดีต สมัยก่อนสามโมงต้องกินข้าว เข้าหลุมนอนแล้วเงียบ บนบ้านบนถนนไม่มีใครเดิน แต่เราไม่เคยคิดย้ายออก พ่อแม่เราทำมาหากินที่นี่มา แต่พวกเจ้าหน้าที่เขาหนีไปอยู่กันที่บ้านน้ำเย็น อำเภอกันทรลักษณ์ แต่ชาวบ้านสู้ ไม่หนี จะเป็นอย่างไรก็เป็น ถ้าหนีคือทิ้งให้หมู่บ้านร้างไม่มีที่ทำมาหากิน แต่ตอนนี้เราสงบดีแล้ว ทำมาหากินดีแล้ว เขามาทำให้พวกเราเดือดร้อน"

เขายังกล่าวอีกว่าคนชายแดนนั้นเป็นเครือญาติกันด้วย สมัยก่อนพรมแดนเปิดให้คนกัมพูชาเข้ามาได้ คนที่บ้านภูมิซรอลก็เป็นญาติและไปมาหาสู่กัน บางคนนามสกุลยังเป็นภาษาเขมร แต่ความขัดแย้งทำให้เครือญาติไปมาหาสู่กันไม่ได้ นอกจากนี้ในวันที่พันธมิตรฯยกขบวนมาปะทะ บางคนก็บาดเจ็บ อย่างคนที่เจ็บหนักที่สุดในการบุกเข้ามาของพันธมิตรฯคือผู้ใหญ่บ้าน ถูกฟาดจนล้มทั้งยืนและต้องเข้าไปนอนรักษาตัวที่โรงพยาบาล

ความเปลี่ยนแปลงที่เห็นชัดเจนคือก่อนเกิดเหตุการณ์ชาวบ้านกินดีอยู่ดี ไม่มีข้อขัดแย้งกันและค้าขายกัน แต่ตั้งแต่กรณีธรรมยาตราเดินขึ้นเขาพระวิหาร พ่อค้าแม่ค้าเดือดร้อน เคยมีแม่ค้า 9 คน เข้าไปขายของที่ตีนเขา ทหารก็ไล่ออกมาเพราะหาว่าส่งเสบียง

"ทหารยังไงเขาก็มีเบี้ยเลี้ยงกิน แต่เราตายทั้งยืน อบต. อบจ. บอกว่าจะช่วย แต่นี่สองสามเดือนมาแล้วยังไม่ช่วยเลย เรื่องไม่รู้ไปไหน ชาวบ้านเดือดร้อนน่าจะรีบช่วย ต้องรีบบอกจะช่วยอย่างไร แต่ตอนนี้เงียบ"

เมื่อนำรายได้ที่สูญเสียไปมาประเมิน จากข้อมูลการสำรวจด้านเศรษฐกิจโดยมูลนิธิศักยภาพชุมชน พบว่า การท่องเที่ยวที่เขาพระวิหารสามารถสร้างรายได้ให้กับคนในพื้นที่โดยเฉพาะ หน้าท่องเที่ยวจะมีคนเข้ามามากถึงวันละ 2,000 - 3,000 คน และไทยค่อยข้างได้เปรียบทางการค้าชายแดนมากกว่ากัมพูชาโดยมีรายได้เฉลี่ยถึงวันละ 7,000 - 10,000 บาท ส่วนหน้าเทศกาลบางคนเคยได้ถึงวันละ 20,000 บาท แต่หลังปิดชายแดนรายได้ลดลงถึง 90 % หรือไม่มีรายได้จนต้องกลายเป็นทำงานรับจ้าง ติดหนี้สิน หรือแม้แต่ไม่มีเงินให้ลูกไปโรงเรียน

เมื่อให้กล่าวถึงความหวัง ชาวบ้านกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าบอกว่าอยากเห็น "เขตสันติภาพ" หรือ "เขตพัฒนาร่วมกัน" (Peace and Development Zone) โดยให้ยึดถือแผนที่ที่ชัดเจนของแต่ละประเทศเป็นของประเทศนั้นและพื้นที่ทับซ้อนให้เป็นพื้นที่ใช้ประโยชน์หรือพัฒนาร่วมกัน

แต่ฝันดีแบบนั้นคงเป็นเพียงฝันและคงไม่เป็นจริงได้ในเร็ววัน สำหรับสถานการณ์และข่าวร้ายล่าสุดคงรับทราบกันดีแล้วว่าขณะนี้อยู่ในช่วงที่ แหลมคมและบางเฉียบที่สุดแล้ว

ทั้งนี้ สมเด็จฮุนเซน นายกรัฐมนตรีแห่งกัมพูชา ได้ออกประกาศแจ้งเตือนผ่านสำนักข่าวในประเทศกัมพูชา และสำนักข่าวต่างประเทศ ให้ทหารไทยถอนทหารทุกนายออกจากพื้นที่พิพาทตามแนวชายแดนไทยทุกจุดภายใน เที่ยงวันของวันที่ 14 ตุลาคม 2551 และหากไม่ดำเนินการอะไรจะโจมตีเพื่อยึดพื้นที่พิพาทบริเวณชายแดนกลับคืนทันที

คงสังเกตกันได้ บรรยากาศเริ่มเข้าใกล้ขอบเขตของสงครามจริงๆ ระหว่างรัฐต่อรัฐเข้าไปทุกที

แต่กระนั้น กลุ่มคนผู้ที่จุดชนวนระเบิดลูกใหญ่ในครั้งนี้ยังคงไม่ได้เป็นผู้ไปยืนอยู่ หน้าผาของสงครามในโลกของความจริงอยู่เช่นเดิมและยังคงสุมหัวเชื้อระเบิดต่อ ไปอย่างไม่ลดละ การเปิดโอกาสให้พื้นที่สันติภาพเข้ามามีส่วนเป็นทางออกยังคงเป็นเรื่องลม แล้งสำหรับคนกลุ่มนี้ที่ยังคงมีจินตภาพอยู่ในสงครามบางระจันวันเพ็ญ

เพียงแต่บทสรุปสุดท้าย หากลงเอยด้วยการสูญเสียในสงครามที่กำลังจะเกิดขึ้นจริงและอาจจะเกิดขึ้นใน ไม่กี่วินาทีหลังจากนี้ เราจะถามหาผู้รับผิดชอบต่อความสูญเสียเหล่านั้นได้จาก "คนจุดชนวน" ได้ไหมหนอ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท