"The Judge Can Do No Wrong" เดินหน้ารื้อสร้าง "ศาลฎีกาใหม่" 3,700 ล้าน

 

เมื่อวันที่ 12 ต.ค. สมาคมอนุรักษ์ศิลปกรรมและสิ่งแวดล้อมจัดเสวนา "อาคารศาลฎีกา: แพร่งของการอนุรักษ์หรือพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์" เพราะเป็นประเด็นที่ทางศาลอนุมัติและกำลังเดินหน้าเพื่อดำเนินการรื้ออาคารหลังเก่าและสร้างอาคารหลังใหม่บนพื้นที่เดิมด้วยความสูงและขนาดที่ใหญ่ขึ้น

 

นายชาตรี ประกิตนนทการ นักวิชาการคณะสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า มี 3 ข้อเท็จจริงส่วนทางศาลฎีกาที่ให้เหตุผลว่าต้องรื้อและสร้างศาลฎีกาใหม่ คือ ปัญหาเรื่องเนื้อที่ใช้สอย การเสื่อมสภาพของกลุ่มอาคาร และปัญหาเรื่องอายุสมัยของอาคารไม่เก่าแก่และไม่มีคุณค่า เพราะหากไล่คำตอบจากหลังขึ้นไป ข้อเท็จจริงอายุสมัยอาคารศาลฎีกาหลังแรกสร้างตั้งแต่ พ.ศ. 2482 จึงมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์อย่างน้อยก็ในเรื่องอายุที่เกิน 50 ปี ตามการขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร ส่วนการเสื่อมสภาพคิดว่ายังไม่ และเรื่องพื้นที่ใช้สอยนั้น พื้นที่ศาลฎีกามีหลายกลุ่มอาคาร ศาลอื่นๆ ได้ย้ายออกไปแล้วเหลือเพียงศาลฎีกาศาลเดียวจึงเพียงพอต่อการใช้สอยในปัจจุบัน

 

ส่วนเหตุผลที่ไม่ควรรื้ออาคารศาลฎีกานั้นมี 5 เหตุผล ประการแรก ศาลฎีกาถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์ในการได้เอกราชสมบูรณ์ทางการศาลซึ่งได้มาเมื่อ พ.ศ. 2481 หลังจากเสียไปในสนธิสัญญาเบาริ่ง สมัยรัชกาลที่ 4

 

ประการที่สอง เหตุการณ์นี้เป็นเหตุการณ์สำคัญที่มีการฉลองระดับชาติ มีขบวนแห่ใหญ่โต แต่เพียง 60 -70 ปี คนไทยลืมหมดแล้ว ซึ่งอาคารศาลฎีกาอาจเป็นที่ระลึกทางวัตถุเดียวที่คิดว่าหลงเหลืออยู่

 

ประการที่สาม อาคารศาลฎีกาสร้างหลังเปลี่ยนการปกครอง พ.ศ. 2475 เป็นสไตล์เฉพาะของยุคสมัย เป็นอาคารหลังสำคัญของประวัติศาสตร์ช่วงนี้ที่นับวันจะถูกรื้อไปเรื่อยๆ

 

ประการที่สี่ หากรื้อจะสร้างปัญหาสองมาตรฐานในการอนุรักษ์กรุงรัตนโกสินทร์ของคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ที่บางกรณีเอาจริงเอาจังมากกับการรื้ออาคารที่มองว่าเป็นการทำลายทัศนียภาพมากและทำได้สำเร็จ แม้แต่ศาลาหลังเล็กๆ ริมคลองหลอดข้างอนุสาวรีย์หมูหรือศาลพระนารายณ์บริเวณวัดสุทัศน์เทพวรารามราชวรมหาวิหาร ซึ่งมีพื้นที่ไม่ถึง 9 ตารางเมตรถูกรื้อด้วยเหตุผลว่าทำลายทัศนียภาพมาก

 

แต่ศาลฎีกาหากสร้างใหม่จะมีขนาดใหญ่มาก สูงถึง 32 เมตร ยาว 150 เมตร คือสูงกว่าอาคารเดิมสองเท่ากลับไม่มีเสียงและความเห็นใดๆ จากคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ นอกจากนี้ อาคารใหม่จะใหญ่ยังเกินมาตรฐานสิ่งก่อสร้างในพื้นที่กรุงรัตนโกสินทร์ที่ต้องมีค่าเฉลี่ยความสูงไม่เกินกลุ่มอาคารในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งอาคารสูงขนาดใกล้เคียงศาลฎีกาหลังใหม่คาดว่ามีเพียงพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทหลังเดียวจึงไม่ใช่ความสูงเฉลี่ย นอกจากนี้อาคารภายในพระบรมมหาราชวังมักก็เป็นยอดปราสาทเล็กๆ เท่านั้น อาคารใหม่จึงทำลายคุณค่าโบราณสถานสำคัญของพื้นที่โดยรอบ

 

ประการสุดท้าย โครงการนี้ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนทั้งที่เป็นโครงการขนาดใหญ่ ใช้งบประมาณถึง 3,700,000,000 บาท

 

จากนั้น นายชาตรีได้ตั้งคำถามไปถึงคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ว่า โครงการนี้เป็นประเด็นตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2550 แต่ตอนนี้ ตุลาคม 2551 แล้วก็ไม่มีความเห็นหรือจุดยืนออกมา และการที่กำหนดให้มีการประชุมคณะกรรมการกรุงรัตนโกสินทร์ปีละครั้งก็ควรปรับปรุง เพราะขนาดศาลาเล็กๆ และไม่มีใครยื่นเรื่องกลับถูกให้รื้ออย่างจริงจัง แต่กรณีศาลฎีกาที่มีขนาดใหญ่โตกลับบอกว่าไม่มีเรื่องเข้าไปจึงไม่มีความเห็น ส่วนอีกคำถามฝากไปถึงกรมศิลปากรที่สมาคมสถาปนิกสยามยื่นเรื่องไป 1 ปีแล้วก็ยังไม่มีข้อสรุปเช่นกัน กรณีนี้เปรียบเทียบกับกรณีป้อมตำรวจเล็กๆ หน้าศาลหลักเมืองบอกว่ามีปัญหาต่อมุมมองศาลหลักเมืองบังวัดพระศรีรัตนศาสดารามก็รื้อออก แต่เรื่องอาคารศาลฎีกาที่ใหญ่โตกลับไม่มีความเห็นเลย

 

ทั้งนี้ แม้ว่าคณะกรรมการกรุงฯ จะไม่มีอำนาจมากอย่างที่คาดหวัง แต่รู้สึกว่าสำหรับพื้นที่กรุงรัตนโกสินทร์ คณะกรรมการกรุงฯ เหมือนคณะกรรมการด้านวิชาการ ดังนั้นหน่วยวิชาการแบบนี้ต้องให้แสงสว่างแก่สังคม ต้องทำหน้าที่มากกกว่านี้ เดิมคณะกรรมการกรุงฯ มีมาตรฐานทางวิชาแบบหนึ่งซึ่งเป็นแบบแข็งและใช้ปฏิบัติมาตลอด แต่กรณีศาลฎีกามาตรฐานที่เคยยึดถืออย่างเรื่องความสูง เรื่องพื้นที่สีเขียวหายไปไหน แม้ว่าโครงการนี้ คณะรัฐมนตรีจะอนุมัติ (ในหลักการ) แต่ในฐานะหน่วยงานวิชาการทำไมไม่มีเสียงออกมา

 

"อยากถามมาตรฐานทางวิชาการของคณะกรรมการกรุงฯ ต่อกรณีนี้ เพราะจะมีปัญหาทางกฎหมายของชาวบ้าน เนื่องจากความเสมอภาคทางกฎหมายต่อกรณีแบบนี้จะหาได้ที่ไหน ชาวบ้านแค่จะต้องต่อหลังคาต้องทำเรื่องมากมาย ส่วนกรณีศาลฎีกาแม้มีข้อยกเว้นก็ต้องมีเหตุผลกับการขอยกเว้นต่ออาคารหลังนี้ ต้องมาเคลียร์ มาถามว่าประชาชนจะให้อภิสิทธิ์กับมาตรฐานกฎหมายนี้หรือไม่ และถ้าไม่เคลียร์จะมีผลต่อภาพลักษณ์ขององค์กรทั้งคณะกรรมการกรุงฯ และศาล ปัจจุบันเราพูดถึงตุลาการภิวัตน์ แต่ถ้าไม่เคลียร์จะทำอย่างไรกับสังคมไทยที่ต้องการเสรีภาพเท่าเทียม" นายชาตรี กล่าวและว่า สำหรับเขามีข้อเสนอเพียง 2 ข้อเท่านั้นคือ ให้ชะลอโครงการและให้มีประชาพิจารณ์สาธารณะก่อน

 

ด้านอดีตผู้อำนวยการกองสถาปัตยกรรมศาลฎีกาคนหนึ่งซึ่งมาเป็นผู้ร่วมฟังการเสวนา เปิดเผยว่า ปัญหาของศาลอยู่ที่วัฒนธรรมองค์กรที่อยากทำตามอำเภอใจ สิ่งที่ศาลไม่ชอบมากคือการทำบันทึกถาม เมื่อเคยทำไปครั้งหนึ่งก็ถูกถามจากตุลาการคนหนึ่งว่า "ไม่เข้าใจวัฒนธรรมองค์กรหรือ "The Judge Can Do No Wrong" "

 

ดังนั้น สังเกตได้ว่าเมื่อศาลของบประมาณไปเท่าไหร่ สภาก็ผ่านมาให้เท่านั้น ศาลจึงมีงบประมาณลงมามหาศาลมากกว่าหน่วยราชการอื่น จนตนเองซึ่งย้ายมาจากหน่วยราชการอื่นก็แปลกใจเพราะหน่วยงานราชการอื่นกว่าจะได้งบประมาณไม่กี่ล้านก็เป็นเรื่องยาก แต่สำหรับศาลงบประมาณเป็นพันล้านเป็นเรื่องง่าย งบประมาณที่ตกลงมามากทำให้ศาลมีการว่าจ้างออกแบบศาลใหม่ๆ เกือบทุกปีทั้งที่จากเดิมใช้แบบของกรมโยธาธิการก็ได้ ตนเองเข้าไปทำงาน 4 ปี จึงออกมาเพราะอยู่ไม่ได้กับวัฒนธรรมองค์กร

 

อดีตผู้อำนวยการคนเดิมยังระบุอีกว่า เมื่อครั้งย้ายมาอยู่ศาลฎีกา การสร้างศาลฎีกาใหม่มีการว่าจ้างศูนย์บริการวิชาการจุฬามาดำเนินการด้วยเงิน 3,000,000 บาท โดยที่ ผอ.กองสถาปัตยกรรมศาลฎีกาไม่รู้เรื่องเลย อย่างไรก็ตาม รายงานดังกล่างระบุว่า หากซ่อมศาลฎีกาจะคงอยู่ได้อีกนานถึง 30 - 40 ปี แต่หากจะทำการก่อสร้างใหม่ รายงาน พ.ศ. 2547- 2548 ระบุว่าจะใช้งบประมาณเพียง 1,600,000,000 บาท ซึ่งห่างจากงบประมาณ 3,700,000,000 บาท ที่จะใช้ในการสร้างในปัจจุบันมาก

 

ในส่วนศาลฎีกา อดีตผู้อำนวยการคนเดิม กล่าวว่า ในพื้นที่ศาลฎีกาปัจจุบันเพิ่งใช้งบประมาณไปในการซ่อมแซม เฉพาะที่ศาลคดีอาญานักการเมืองใช้งบประมาณ 80,000,000 บาท มีการปรับปรุง E-Library 2 ครั้ง ครั้งแรก 28,000,000 บาท และครั้งหลัง 29,000,000 บาท ปรับปรุงห้องทำงานผู้พิพากษาไปแล้วจำนวน 3 ชั้น แต่ผู้พิพากษาบอกว่าไม่ต้องทำต่อในชั้นต่อมาเพราะยืนยันจะสร้างศาลฎีกาใหม่ แต่สรุปได้ว่าเฉพาะ ปี 2545 - 2549 ใช้งบประมาณดูแลไปแล้ว 250,000,000 บาท ซึ่งเป็นงบประมาณแผ่นดิน จึงถามว่าสมควรหรือไม่ที่จะสร้างศาลฎีกาใหม่

 

ในประเด็นดังกล่าว มีการตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมจากผู้มาร่วมเสวนาว่า เมื่อคำนวณงบประมาณการสร้างอาคารใหม่ต่อตารางเมตรแล้วสรุปได้ว่า ใช้งบประมาณ 90,000 บาทต่อตารางเมตร ซึ่งศาลทำไมจึงมีอภิสิทธิ์มากกว่าหน่วยงานอื่นที่ได้งบประมาณมากขนาดนี้ ในขณะที่อาคารราชการทั่วไปได้งบประมาณราว 7,000 บาทต่อตารางเมตร หรือหากรวมเรื่องไฟฟ้าใช้งบประมาณราว 14,000 บาทต่อตารางเมตร ตัวเลข 37,000,000 บาท จึงเกินจริงมาก ในขณะที่การจัดการสิ่งแวดล้อมในอาคารก็สามารถทำได้ แต่ใช้กันโดยไม่รู้สึกเป็นเจ้าของจึงไม่เอาใจใส่

 

ด้าน  ดร.อรรจน์ เศรษฐบุตร นักวิชาการคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ทางศาลฎีกาได้จ้างศูนย์บริการวิชาการจุฬาฯ ซึ่งหัวหน้าโครงการมองเห็นประเด็นทางสถาปัตยกรรม ตกแต่งภายในและภูมิทัศน์ด้วย ตนจึงได้มีส่วนร่วมในโครงการนี้ด้านสถาปัตยกรรม

 

จากการสำรวจพบว่า ศาลฎีกาเป็นอาคารเก่า มีความเสื่อมโทรม การใช้งานไม่รับประสิทธิภาพสูงสุดและศาลฎีกาก็มีการขยายตัวขึ้น นอกจากนี้ยังมีประเด็นที่บอกว่าไม่มีความสง่างามสมเป็นศาลสูงสุดของประเทศด้วย อย่างไรก็ตาม เมื่อมีรายงานออกมาแล้ว ประเด็นดังกล่าวเป็นเรื่องของการจัดการสถานที่ไม่ดีและเป็นเรื่องของความสะอาด

 

ทั้งนี้ ในความเป็นจริงศาลฎีกาไม่จำเป็นต้องรองรับประชาชนมากมาย เพราะเน้นไปที่การอ่านสำนวนและตัดสิน แต่มีศาลอื่นๆ มาขอใช้ซึ่งศาลเหล่านั้นมีโครงการย้ายออกไปอยู่แล้ว ปัญหาที่พบคือเสาคอนกรีตหลายต้นแตกเห็นสนิมเสาเหล่านี้จึงกลายเป็นประเด็นใหญ่โตทางสื่อมวลชน อย่างไรก็ตาม ฝ่ายวิศวกรรมได้ตรวจอย่างดีแล้วพบว่าเป็นเพราะความชื้นเข้าไปทำให้เหล็กดันออกมาซึ่งสามารถซ่อมได้

 

นอกจากนี้อาคารที่เสาคอนกรีตแตกไม่ใช่อาคารศาลด้านหน้า แต่เป็นอาคารศาลอาญากรุงเทพฯ ใต้ เมื่อเจาะพื้นไปดูว่าเกิดสนิมและความชื้นได้อย่างไร พบว่าพื้นมีการทับสองชั้นคือเมื่อทำพื้นใหม่ก่อนหน้านี้ไม่ได้รื้อพื้นเดิมซึ่งไม่ต้องทุบเนื่องจากมีวิธีจัดการได้หลายวิธี ส่วนอาคารอื่นไม่มีปัญหาอะไร

 

ด้านสภาพแวดล้อมมีความเสื่อมโทรมเพราะไม่ดูแลรักษา มีร้านค้าและแท็กซี่เข้าไปใช้สถานที่ก็เป็นปัญหาเรื่องการจัดการไม่ดีแล้วอยากสร้างใหม่แต่ไม่ใช่เรื่องโครงสร้างเสื่อมโทรม

 

ดร.อรรจน์ ระบุว่า ทางโครงการเสนอทางแก้ไขทางหนึ่ง คือ การปรับปรุงอาคาร ถ้าทำแล้วจะทำให้ศาลฎีกามีพื้นที่เพิ่มเป็น 45,000 ตารางเมตร จากเดิม 12,000 ตารางเมตร เนื่องจากศาลอื่นๆ ได้ย้ายออกไปแล้วทำให้บางจุดทุบทิ้งและสามารถทำให้สวยงามได้โดยงบประมาณอยู่ที่ 600,000,000 บาท ในขณะที่ถ้าสร้างใหม่จะใช้งบประมาณถึง 3,700,000,000 บาท และพื้นที่อาคารสร้างใหม่จะได้ 45,000 ตารางเมตรเช่นกัน

 

ดังนั้น สิ่งที่ศาลควรทำก่อนทุบอาคารคือต้องทำการศึกษาจริงจังว่าจะพังหรือไม่แล้วเปิดเผยผลการศึกษาว่ามีปัญหาจริงๆ โดยที่การจัดการอาคารสามารถใช้ความรู้ได้หลายสาขา เอาเขาไปดูแล้วใช้สมองมากกว่าใช้เงิน ราชการต้องคิดว่าอาคารรัฐเป็นของประเทศไม่ใช่เจ้าขององค์กร ถ้าจะทุบทิ้งถามเจ้าของแล้วหรือยัง

 

นางปองขวัญ สุขวัฒนา (ลาซูส) อุปนายกและประธานกรรมาธิการอนุรักษ์สถาปัตยกรรม สมาคมสถาปนิกสยาม กล่าวว่า นายบุญรอด ตันประเสริฐ ผู้พิพากษาศาลฎีกาต้องการมาร่วมการเสวนาแต่ติดภารกิจจึงได้ฝากประเด็นในฐานะผู้ใช้สถานที่ศาลฎีกามากล่าวว่า ศาลฎีกาปัจจุบันได้ตกแต่งภายในอย่างหรูหราและใช้งบประมาณไปแล้ว 250,000,000 บาท และยังสามารถทำงานอยู่ที่นี่ได้ ซึ่งสิ่งที่ใช้งบประมาณชาติไปมากสมควรทุบทิ้งหรือไม่

 

นอกจากนี้ นายบุญรอดยังเล่าให้เขาฟังว่า ศาลฎีกามีพื้นที่ด้านหลังอีกนับหมื่นตารางเมตร และมีตึกที่กำลังขึ้นทะเบียนกรมศิลปากรในปัจจุบันปิดอยู่ ซึ่งเหล่านั้นมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และมีหน้าตาทางสถาปัตยกรรมจึงสามารถใช้พื้นที่ได้ อาคารเหล่านั้นยังมีพื้นไม้สักทองหลายหมื่นตารางเมตร หากรื้อจะเป็นผลประโยชน์ของใครและใครมีผลประโยชน์ในการสร้างใหม่ นายบุญรอดตั้งข้อสังเกตว่าประเด็นการสร้างศาลฎีกาใหม่น่าจะอยู่ที่ไม้สักทองของตึกสองหลังที่กำลังจะขึ้นทะเบียน

 

นายภูธร ภูมะธน นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า เรื่องอาคารศาลฎีกานั้นเป็นเรื่องเล็ก แต่เรื่องใหญ่คือจะทำอย่างไรให้มีรูปแบบการอนุรักษ์ที่แท้จริงไม่น่ารำคาญแบบนี้ได้ ซึ่งคิดว่าปัญหาอยู่ที่คณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์

 

ทั้งนี้ ประวัติการตั้งคณะกรรมการดังกล่าวมาจากนโยบายการอนุรักษ์เกาะรัตนโกสินทร์ เมื่อ 30 -40 ปีก่อนเพื่อให้มีเอกลักษณ์ที่น่าสนใจไม่ใช่เพื่อการท่องเที่ยวจึงให้มีคณะกรรมการเกาะรัตนโกสินทร์ ต่อมาจึงเปลี่ยนชื่อเป็นคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งมีโครงสร้างที่ดูใหญ่และเหมือนมีอำนาจคือ มีรองนายกรัฐมนตรีที่ดูแลกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมเป็นประธาน มีผู้ว่ากรุงเทพมหานครเป็นกรรมการ มีเลขาธิการนโยบายสิ่งแวดล้อมและแผนเป็นกรรมการ และมีอีกหลายตำแหน่งที่ใหญ่มากรวมกันเป็นกรรมการ แต่เวลาประชุมมีแต่ส่งตัวแทนมา จึงไม่มีอำนาจสั่งการ

 

ปัญหาในการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ประการหนึ่งจึงอยู่ที่นโยบายการปฏิบัติคณะกรรมการกรุงฯ ไม่ศักดิ์สิทธิ์และมีผลงานจริง เช่น มีกฎข้อห้ามไม่ให้สร้างอาคารทุกประเภทเพิ่มทั้งของรัฐและเอกชนในกรุงฯ ก็สร้างกันโครมๆ นอกจากนี้ ยังมีนโยบายที่สนใจเฉพาะตึกรัชกาลที่ 5 ขึ้นไปซึ่งเป็นรสนิยมที่ผู้ร่างนโยบายชอบ แต่ถามว่าอาคารกระจอกถ้ามีประวัติศาสตร์หรือมีคุณค่าจะเก็บไว้ไม่ได้หรือ

 

นายภูธร กล่าวอีกว่า บางนโยบายของคณะกรรมการก็ขัดกับหลักการอนุรักษ์และพัฒนา เช่น ประเด็นการพาณิชยกรรมที่ต้องการจำกัดโดยระบุว่าให้ทำเพื่อบริการชุมชนเท่านั้นคือต้องรีดให้เล็กลง ถามว่าแบบนี้อย่างชาวปากคลองตลาด (ตลาดดอกไม้และสินค้าเกษตรแหล่งใหญ่ของประเทศ) จะพอใจหรือไม่ นโยบายนี้เป็นการคิดเอาเองไม่ใช่การอนุรักษ์เพื่อพัฒนาให้เป็นไปตามความเหมาะสมและเป็นระเบียบ

 

กรรมการกรุงฯ บางคนยังมีแนวคิดให้เอาคนเข้ามาน้อยที่สุด จะให้เป็นสุสานที่มีแต่วัง วัดและต้นไม้ ไม่ให้มีแม้แต่พิพิธภัณฑ์เพราะมองว่าเป็นการนำคนเข้ามาในพื้นที่กรุงรัตนโกสินทร์ด้วยซ้ำ

 

นายภูธร กล่าวว่า วิธีคิดต่อการอนุรักษ์และพัฒนาต้องทำเป็นพิพิธภัณฑ์เมืองที่มีชีวิต มีสายต่อเนื่องเช่นสายต่อเนื่องจากอยุธยามีหรือไม่ ตอนขุดค้นทางโบราณคดีบริเวณมิวเซียมสยามพบซากอาคารสมัยอยุธยา กิจกรรมและเครื่องถ้วยอยุธยาในชั้นล่างๆ เป็นต้น หรือสายต่อเนื่องไปสู่ยุคเปลี่ยนการปกครอง สู่ยุคจอมพลสฤษดิ์ ต้องคิดไปเรื่อยๆ เป็นสายยาวๆ สู่อนาคต

 

อาคารศาลฎีกาแม้ไม่สวยแต่เป็นจุดหนึ่งของกรุงรัตนโกสินทร์ที่ มีประวัติศาสตร์ มีวิวัฒนาการหน้าหนึ่งของกรุงรัตนโกสินทร์ มีการเดินขบวนแสดงความภูมิใจในการได้อิสรภาพทางการศาล จึงมีคุณค่าในทางประวัติศาสตร์ นอกจากนี้เรื่องสร้างใหม่ในขณะที่ของเก่ายังใช้ได้และปัญหาอยู่ที่การดูแลรักษา คนให้สร้างหรือไม่ให้สร้างคือคณะกรรมการกรุงฯ มีอำนาจ แต่กลับมีมาตรฐานไม่ชัด ไม่แสดงบทบาทที่สังคมยึดหวังพึ่งได้ว่าเป็นผู้อนุรักษ์พัฒนากรุงแท้จริง โลกทัศน์และนโยบายต้องกว้างกว่านี้ ถ้ามีการพิสูจน์ได้ว่าอาคารนี้ควรอนุรักษ์ คณะกรรมการกรุงฯ ก็ควรต้องฟัง

 

ในรอบหลัง นายชาตรี ให้ข้อมูลเพิ่มเติม หลังจากมีการแสดงความเห็นว่าไทยมีเอกราชตลอดมา โดยกล่าวว่า กลุ่มอาคารศาลฎีกา เป็นอาคารที่จัดวางเป็นรูปตัว V ตั้งอยู่บริเวณฝั่งตรงข้ามสนามหลวงกับคลองคูเมืองเดิม สร้างเพื่อเป็นที่ระลึกเอกราชสมบูรณ์ทางการศาล อันเป็นผลสืบเนื่องมากจากสนธิสัญญาเบาริ่งซึ่งทำให้กงสุลต่างชาติสามารถดึงคดีจากศาลไทยได้ทันทีทำให้ไทยไม่มีเอกราชสมบูณ์คือเสียเอกราชแม้ไม่ใช่อาณานิคม 100% แต่เสียสิทธิทางการศาล

 

จนกระทั่ง พ.ศ. 2481 ไทยสามารถแก้ไขข้อประเด็นสุดท้ายทำให้ชาวต่างชาติที่มีคดีความในไทยต้องขึ้นศาลไทยเท่านั้น จึงหมายถึงการได้เอกราชสมบูรณ์ด้วย เป็นเหตุการณ์สำคัญระดับชาติจึงสร้างอาคารศาลฎีกานี้เพื่อเป็นที่ระลึก การสร้างแบ่งเป็น 3 ช่วง ช่วงแรกคืออาคารกระทรวงยุติธรรม พ.ศ. 2484 สร้างส่วนติดคูเมือง และสร้างส่วนที่ 2 ในเวลาต่อมา จนกระทั่งเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 หลังพ.ศ. 2500 จึงมีโครงการสร้างต่อโดยรื้ออาคารสมัยรัชกาลที่ 5 ที่ทรุดโทรมลง อย่างไรก็ตาม โครงสร้างทั้งหมดออกแบบไว้ตั้งแต่ พ.ศ. 2481 โดยพระสาโรชรัตนนิมมานก์ โดยสร้างเป็นสถาปัตยกรรมโมเดิร์นยุคแรก (คอนกรีตเสริมเหล็ก) ซึ่งเป็นรูปแบบอาคารกระแสหลักของโลกยุคหลังปฏิวัติอุตสาหกรรม โดยอาคารศาลฎีกาได้ใส่บริบทที่เป็นประวัติศาสตร์สังคมไทยลงไปด้วย จึงมีการใส่เสา 6 ต้นในโครงสร้างอาคาร อันอาจหมายถึงหลัก 6 ประการของคณะราษฎร์ที่แทรกในสถาปัตยกรรมยุคนั้น

 

 

.............................................................

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

"ศาลฎีกา" อนุสรณ์สถานเอกราชสมบูรณ์และประวัติศาสตร์การยุติธรรมกำลังถูกทุบทิ้ง

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท