15 ปีพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย กับภารกิจกู้ศักดิ์ศรีชนชั้นแรงงาน

ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา

 

เป็นปริศนาที่พยายามค้นหาคำตอบกันมานานปีว่าเหตุใดแรงงานจึงมีสถานภาพต่ำต้อยถูกมองเป็นคนไร้ค่า เมื่อเปรียบเทียบกับคนกลุ่มอื่นๆ ในสังคมไทย คนงานไทยต้องหลบเลี่ยงที่จะบอกกับคนอื่นว่าเป็นกรรมกรเพราะเกรงว่าจะไม่ได้รับการยอมรับและอาจถูกดูถูกเหยียดหยาม ขณะที่ผู้ใช้แรงงานในประเทศอื่นๆ จะบอกกับคนอื่นๆ ได้อย่างภาคภูมิใจว่าเป็นคนใช้แรงงาน

คติโบราณของไทยเกี่ยวกับการเลือกคบหาสมาคมและให้การยอมรับนับถือต่อคนอื่น คือให้มองย้อนไปที่ภูมิหลังของคนๆ นั้น หรือที่เรียกกันว่า "มองไปที่หัวนอนปลายเท้า" "เทือกเขาเหล่ากอ" ถ้าภูมิหลังดี มีหัวนอนปลายเท้าชัดเจน ก็ถือว่าเป็นคนที่สามารถคบหาสมาคมและให้ความเคารพนับถือได้ ซึ่งจะส่งผลให้คนๆ นั้นได้รับการปฏิบัติอย่างให้เกียรติและให้ความเคารพนับถือ แต่หากเป็นคนประเภท "ไม่มีหัวนอนปลายเท้า" ก็จะได้รับการปฏิบัติในทางที่แตกต่างออกไป "ผู้ใช้แรงงานในสังคมไทย"จัดเป็นคนประเภท "ไม่มีหัวนอนปลายเท้า" เพราะน้อยคนนักจะรู้จักเรื่องราวในอดีตของคนใช้แรงงานในสังคมไทย ประวัติศาสตร์ไทยให้พื้นที่ส่วนใหญ่กับการบอกเล่าเรื่องราว และเชิดชูบทบาทของชนชั้นสูงซึ่งเป็นคนส่วนน้อยเพียงหยิบมือเดียวในสังคม แต่ละเลยที่จะเปิดพื้นที่ให้คนใช้แรงงานทั้งๆ ที่เป็นคนกลุ่มใหญ่และมีคุณูปการอย่างใหญ่หลวงต่อทุกขั้นตอนของการพัฒนาในประวัติศาสตร์ไทย ด้วยการที่เป็น "คนไม่มีหัวนอนปลายเท้า" นี่เอง ผู้ใช้แรงงานในไทยจึงถูกจัดอยู่ใน "กลุ่มคนไม่มีเกียรติ" ไม่ได้รับการยอมรับ มีสถานภาพทางสังคมต่ำต้อย นี่เป็นเหตุให้แรงงานในไทยถูกรังแก ดูถูก กดขี่ และเอารัดเอาเปรียบ

1 ธันวาคม 2534 ในยุคที่บ้านเมืองอยู่ภายใต้การปกครองของเผด็จการทหาร รสช. (คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ) ขบวนการแรงงานไทยตกอยู่ในสภาพอ่อนแอถูกทำลายโดยเผด็จการทหารด้วยการยุบสหภาพของแรงงานรัฐวิสาหกิจ ผู้นำแรงงาน นักวิชาการ นักประวัติศาสตร์และนักกิจกรรมด้านแรงงานราว 30 คน (บางท่านเสียชีวิตไปแล้วเช่น นิคม จันทรวิทุร บุญทรง วิจารณะ ผัน วงษ์ดีและปิยะเชษฐ์ แคล้วคลาด) ได้สุมหัวคุยกันที่ห้องประชุมเก่าของมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท ถนนศรีอยุธยา เป้าหมายสำคัญของการพูดคุยในวันนั้นคือการหาหนทางกอบกู้สถานภาพทางสังคมและศักดิ์ศรีให้กับแรงงานไทย หาหนทางเปิดพื้นที่บนหน้าประวัติศาสตร์ให้แรงงานไทยได้มีภูมิหลัง มีหัวนอนปลายเท้าเหมือนคนกลุ่มอื่นๆ เสียที หาหนทางเติมเต็มเรื่องราวของแรงงานที่หายไปจากประวัติศาสตร์ไทย ที่ประชุมมีมติร่วมกันว่าจะต้องสร้างพิพิธภัณฑ์เพื่อบอกเล่าเรื่องราวในอดีตของแรงงานในสังคมไทยให้สาธารณชนได้ประจักษ์ว่าหยาดเหงื่อแรงกายที่เหล่าคนใช้แรงงานได้ทำให้กับสังคมนี้ในอดีตคือรากฐานสำคัญของสังคมไทยในวันนี้ เพื่อให้คนงานเองได้ภาคภูมิใจในวิชาชีพของตน ขณะเดียวกันก็ปลุกให้สาธารณชนได้เห็นคุณค่าของคนใช้แรงงาน หันมายอมรับ ให้เกียรติเหมือนกับที่ให้กับคนกลุ่มอื่นๆ ที่มีบทบาทสำคัญในประวัติศาสตร์ไทยและที่สำคัญคือยุติการเอารัดเอาเปรียบและให้ความยุติธรรมกับพวกเขาในวันนี้

อาคารชั้นเดียวที่ถูกทิ้งร้างนานหลายปีจนกลายเป็นที่พำนักของเหล่าคนเร่ร่อนติดยาละแวกสถานีรถไฟมักกะสันได้ถูกเลือกและเนรมิตรให้เป็นพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย อาคารเก่าแก่แห่งนี้ก่อสร้างก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง แต่เดิมเป็นสถานีตำรวจรถไฟ แต่ต่อมาถูกใช้เป็นสำนักงานของหน่วยงานต่างๆ อาทิ สถานีอนามัย เมื่อบ้านเมืองมีการปกครองแบบประชาธิปไตย และคนงานมีสิทธิในการรวมตัวกันได้ คนงานรถไฟจะใช้มันเป็นที่ทำการสหภาพ แต่ทุกครั้งที่ทหารยึดอำนาจที่นี่ก็จะถูกยึดคืนกลับไป จนอาจกล่าวได้ว่าอาคารแห่งนี้เป็นดัชนีตัวหนึ่งที่ใช้วัดความเป็นประชาธิปไตยของบ้านเมือง สมศักดิ์ โกศัยสุขเมื่อครั้งเป็นประธานสหภาพแรงงานรถไฟได้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงเจรจากับการรถไฟและรัฐบาลจนได้รับการอนุมัติอย่างเป็นทางการให้ใช้เป็นสถานที่จัดทำพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย

คณะทำงานจัดตั้งพิพิธภัณฑ์แรงงานไทยหาใช่นักจัดทำพิพิธภัณฑ์มืออาชีพ ส่วนใหญ่เป็นนักสหภาพแรงงานจากหลากหลายองค์กรและนักวิชาการแรงงานจำนวนหนึ่ง กระบวนการจัดทำพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ใช้วิธีการที่เรียกว่า "ลงแขก" จากคนงานด้วยกันเอง คือใครมีแรง เอาแรงช่วย ใครมีเงิน มีของ เอาเงิน เอาของมาช่วย มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ทจากเยอรมันได้เข้ามาร่วมสมบททุนช่วยในช่วงตั้งไข่ หลังจากปลุกปล้ำภาษาคนไม่เคยทำพิพิธภัณฑ์มาก่อนอยู่ปีกว่าๆ ก็สามารถให้กำเนิดและเปิดให้บริการแก่สาธารณชนตั้งแต่วันที่ 17 ตุลาคม 2536

15 ปีของการให้บริการต่อสาธารณชนหากจะประเมินกันอย่างตรงไปตรงมาโดยเปรียบเทียบกับมาตรฐานความสำเร็จของพิพิธภัณฑ์ใหญ่ๆ อย่างพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ พิพิธภัณฑ์เด็ก พิพิธภัณฑ์รัชกาลที่ 7 หรือพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ที่เพิ่งเปิดตัวในปีนี้ก็ต้องบอกว่าพิพิธภัณฑ์แรงงานไทยยังห่างไกลกับสิ่งที่เรียกว่าความสำเร็จระดับนั้น ทั้งนี้ด้วยข้อจำกัดต่างๆ ไม่ว่าจะเรื่องงบประมาณที่มีอย่างจำกัด รายได้ทั้งหมดมาจากการระดมทุนและการหารายได้กันเองขององค์กรแรงงานที่ให้การสนับสนุน จนถึงวันนี้รัฐบาลยังไม่ได้ยื่นมือเข้ามาให้ความช่วยเหลือทางการเงิน ทั้งๆ ที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ทำภารกิจทางด้านวัฒนธรรมและการให้ศึกษาในแง่มุมที่ไม่มีหน่วยงานใดของรัฐและเอกชนทำมาก่อน การมีงบน้อยก็ส่งผลให้การจัดกิจกรรมและการจัดแสดงเป็นไปอย่างจำกัด

ข้อจำกัดประการที่สอง คือ ด้านสถานที่ซึ่งมีขนาดเล็กและคับแคบ ทำให้ไม่สามารถรองรับการให้บริการและการรับรองกลุ่มและคณะบุคคลที่มีขนาดใหญ่ เช่น กลุ่มนักเรียน นักศึกษา นักท่องเที่ยวและชาวสหภาพแรงงาน พิพิธภัณฑ์แรงงานไทยได้ทำเรื่องเสนอต่อหน่วยงานรัฐเพื่อขอขยายพื้นที่เพิ่มเติมแต่จนถึงวันนี้ยังไม่ได้รับการสนองตอบแต่อย่างใด อีกประการที่เป็นข้อจำกัดของพิพิธภัณฑ์คือองค์ความรู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์และจำนวนบุคลากรที่มีไม่เพียงพอกับภารกิจที่ต้องทำ ขณะนี้มีเจ้าหน้าที่ประจำเพียง 3 คนซึ่งต้องทำสารพัดอย่าง เหล่านี้คือข้อจำกัดสำคัญที่ทำให้พิพิธภัณฑ์ไม่อาจเดินไปสู่ความสำเร็จ

แม้จะไม่สามารถก้าวไปสู่ความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ แต่พิพิธภัณฑ์เล็กๆ แห่งนี้ก็ได้สร้างความภาคภูมิใจให้กับขบวนการแรงงานเล็กๆ ของไทยไม่น้อย เพราะนี่คือพิพิธภัณฑ์แรงงานแห่งแรกและแห่งเดียวในภูมิภาคเอเชีย ที่สำคัญเป็นพิพิธภัณฑ์ที่มาจากน้ำพักน้ำแรงและเป็นของขบวนการแรงงานอย่างแท้จริง ถือได้ว่าเป็นนวตกรรมทางวัฒนธรรมที่สำคัญยิ่งของขบวนการแรงงานไทยในรอบหลายทศวรรษที่ได้ส่งผลสะเทือนอย่างใหญ่หลวงต่อการทำงานของขบวนการแรงงานไทย

พิพิธภัณฑ์แห่งนี้นอกจากจะทำหน้าที่เป็นพิพิธภัณฑ์ที่บอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาของการใช้แรงงานในประเทศไทยแล้ว มันยังได้ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางทางวัฒนธรรม การเรียนรู้และการทำกิจกรรมของขบวนการแรงงานที่ทรงพลังที่สุดแห่งหนึ่งในประวัติศาสตร์การต่อสู้ของแรงงานไทย ห้องประชุมศุภชัย ศรีสติ ของพิพิธภัณฑ์ได้กลายเป็นแหล่งชุมนุมทางปัญญาที่สำคัญสุดของขบวนการแรงงานไทยในช่วงทศวรรษครึ่งที่ผ่านมา การกำหนดยุทธศาสตร์และการตัดสินใจสำคัญๆ หลายๆ ครั้งของขบวนการแรงงานไทยทำกันในห้องประชุมแห่งนี้

แม้จะไม่มีทางเดินทางไปสู่การเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ดีเลิศในมาตรฐานทั่วไป แต่วันนี้พิพิธภัณฑ์แรงงานไทยยังคงก้มหน้าก้มตาปฏิบัติภารกิจกอบกู้ศักดิ์ศรีของแรงงานไทยอย่างไม่ย่อท้อ ด้วยหวังว่าวันหนึ่งข้างหน้าภารกิจของพิพิธภัณฑ์เล็กๆ แห่งนี้จะช่วยทำให้ชนชั้นผู้ใช้แรงงานในสังคมไทยซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของสังคมจะได้รับการยอมรับเฉกเช่นคนกลุ่มอื่นๆ ของสังคม

            ในวาระที่ครบรอบ 35 ปี 14 ตุลา และครอบรอบ 15 ปี การก่อตั้งพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย ที่ถือได้ว่าเป็นการเชิดชูผู้ใช้แรงงานที่เป็นผู้สร้างโลกสร้างบ้านเมืองให้เจริญเติบโต เศรษฐกิจมั่งคั่ง และได้มีส่วนร่วมต่อสู้เพื่อสร้างระบอบประชาธิปไตยกับขบวนการชาวนา ชาวไร่ นักศึกษา ภาคประชาชน ทั้งนี้ ด้วยความภาคภูมิใจความเป็นแรงงาน ขบวนการแรงงานอันประกอบด้วย สหพันธ์แรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย สหพันธ์แรงงานธนาคารและการเงินแห่งประเทศไทย สหพันธ์แรงงานเครื่องใช้ไฟฟ้าและอีเล็คทรอนิคส์แห่งประเทศไทย สหพันธ์แรงงานปิโตรเลียมและเคมีภัณฑ์แห่งประเทศไทย สหพันธ์แรงงานโรงกลั่นน้ำมัน ไทย สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) กลุ่มสหภาพแรงงานอุตสาหกรรมเบอร์ล่า สหภาพแรงงานธนาคารกรุงเทพ สหภาพแรงงานฮอนด้าแห่งประเทศไทย เครือข่ายแรงงานนอกระบบ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย มูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน และมูลนิธิไพศาล ธวัชชัยนันท์ ได้ร่วมกันบริจาคเงินร่วมจัดกิจกรรมรำลึก 35 ปี 14 ตุลาฯ ในโอกาสร่วมรำลึกเหตุการณ์ 35 ปี 14 ตุลาคม 2516 และ ครบรอบ 15 ปีพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย ในวันอาทิตย์ที่ 19 ตุลาคม 2551 ณ ห้องประชุมอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว ถนนราชดำเนิน

             โดยจัดให้มีการปาฐกถาพิเศษ "การต่อสู้ของขบวนการแรงงานไทย นับตั้งแต่ยุค 14 ตุลาคม 2516" โดย คุณสุนี ไชยรส คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน และ อดีตที่ปรึกษากรรมกรอ้อมน้อย และกล่าวรำลึก " คุณูปการ 14 ตุลาฯ ประชาธิปไตยกับขบวนการแรงงานไทย" โดยคุณนิยม ขันโท อดีตแกนนำการต่อสู้กรรมกรหญิงโรงงานฮาร่า ยุค 14 ตุลาฯ 2516 และผู้นำแรงงานที่มีบทบาทในการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิแรงงานในปัจจุบัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท