Skip to main content
sharethis

จากกรณีข่าวน้ำทะเลเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลแดงที่บางชายหาดบางแสน เมื่อวันที่ 12 ต.ค.ที่ผ่านมา จนเป็นเหตุให้สิ่งมีชีวิตตายลงจำนวนมาก และทำให้มีประชาชนจำนวนมากที่จะไปเที่ยวทะเลในช่วงนี้เกิดความกังวลว่าจะสามารถรับประทานอาหารทะเล หรือเล่นน้ำทะเลในช่วงนี้ได้หรือไม่นั้น


 


ผศ.ดร.สมถวิล จริตควร ภาควิชาวาริชศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ได้ออกมาย้ำว่า ผลการเก็บตัวอย่างน้ำทะเลบางแสนมาวิเคราะห์พบว่า น้ำทะเลเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลแดงครั้งนี้ เกิดขึ้นจากการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วของแพลงก์ตอนกลุ่มคีโตเซอรอส (Chaetoceros spp.) ซึ่งไม่ได้สร้างสารพิษจนทำให้สิ่งมีชีวิตตาย แต่สาเหตุที่สิ่งมีชีวิตจำนวนมากตายนั้นเกิดจากขาดอากาศหายใจ เพราะเมื่อปริมาณแพลงก์ตอนมีจำนวนมาก ก็ใช้ออกซิเจนในการหายใจมาก ทำให้ออกซิเจนที่อยู่ในน้ำจึงลดลงอย่างรวดเร็ว ทำให้สิ่งมีชีวิตในน้ำขาดอากาศหายใจ อีกทั้งเมื่อแพลงก์ตอนหนาแน่นมาก เซลล์บางส่วนก็จะตาย ทำให้น้ำเริ่มเน่า สิ่งมีชีวิตจึงตายเป็นจำนวนมาก


 


ผศ.ดร.สมถวิล กล่าวอีกว่า การเจริญของแพลงก์ตอนจนเป็นเหตุให้น้ำทะเลเปลี่ยนสีครั้งนี้ไม่มีพิษจึงไม่ส่งผลกระทบต่ออาหารทะเล ฉะนั้นสามารถรับประทานอาหารทะเลที่วางขายทั้งในบางแสนเองหรือในทะเลแถบจังหวัดอื่นๆได้ตามปกติ แต่ทั้งนี้ให้ระมัดระวังเลือกอาหารทะเลที่ยังสด ใหม่ และเพียงแต่อยากเตือนในกลุ่มประชาชนที่ได้เก็บปู ปลา ที่ตายอยู่ตามชายหาดมาบริโภคว่า แม้ครั้งนี้จะเกิดจากกลุ่มแพลงก์ตอนที่ไม่มีพิษ แต่หากเกิดกรณีน้ำทะเลเปลี่ยนสีในครั้งต่อไป ควรรอให้ได้รับผลการพิสูจน์ที่แน่ชัดก่อนว่าเป็นแพลงก์ตอนชนิดใด เพราะอาจเกิดจากแพลงก์ตอนชนิดที่มีพิษได้


 


 


ที่มา: ศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ไทย สวทช.


สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ไทย ส่วนงานกลาง สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net