Skip to main content
sharethis


วันที่ 17 ต.ค.51 นายเสน่ห์ จามริก ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และนายสุรสีห์ โกศลนาวิน ประธานคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชน ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการสลายการชุมนุม เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2551 ร่วมกันแถลง ว่า จากการสอบถามผู้ชุมนุม เจ้าหน้าที่ตำรวจ และพยานในเหตุการณ์ อาทิเช่น สื่อมวลชน พบว่าตำรวจได้ยิงแก๊สน้ำตาเข้าใส่ผู้ชุมนุม เพื่อสลายการชุมนุมที่บริเวณต่างๆ รวม 3 ครั้ง ได้แก่ ในเวลา 06.15 น. 16.00 น. และ 19.00 น. เป็นเหตุให้มีผู้ชุมนุมจำนวนมากได้รับบาดเจ็บสาหัสแขนขาขาด รวมถึงเสียชีวิต

 



นายสุรสีห์ กล่าวว่า เมื่อพิจารณาเทียบกับหลักการสากลในการใช้กำลังสลายการชุมนุม และหลักปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ ที่กำหนดให้เจ้าหน้าที่ผู้ถืออำนาจต้องใช้ความอดทนจนถึงที่สุด พยายามที่สุดในการใช้วิธีไม่รุนแรง หรือต้องใช้กำลังอย่างยับยั้งให้เกิดความสูญเสียน้อยที่สุด และต้องให้ความช่วยเหลือรักษาพยาบาล และแจ้งญาติโดยเร็วที่สุด หรือในการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ต้องเป็นไปตามขั้นตอน เริ่มจากการต่อรองก่อน จึงใช้โล่ผลักดัน จึงเป็นการฉีดน้ำโดยประกาศเตือนก่อน และหากยังไม่สำเร็จ ให้ประกาศเตือนจะใช้แก๊สน้ำตา จากนั้นจึงค่อยใช้แก๊สน้ำตา


 



"ในเหตุการณ์วันที่ 7 ต.ค. พบว่ามีการใช้แก๊สน้ำตาโดยไม่ประกาศเตือนผู้ชุมนุมก่อน และยังพบว่า คืนวันก่อนหน้านั้น (6 ต.ค.) เป็นที่ทราบในหมู่สื่อมวลชนแล้วว่า รัฐบาลได้เรียกประชุมเพื่อวางแผนจะใช้กำลังสลายการชุมนุมอยู่แล้ว เพื่อจะเปิดทางให้ ส.ส. ส.ว. และคณะรัฐมนตรี สามารถเข้าไปในอาคารรัฐสภา เพื่อแถลงนโยบายรัฐบาลได้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน พิจารณาแล้วเห็นว่า การใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุม เป็นการกระทำรุนแรงที่เกินความจำเป็น เข้าข่ายละเมิดสิทธิมนุษยชน และละเมิดกฎหมาย"


 



นายสุรสีห์ กล่าวว่า ในส่วนผู้ที่ต้องรับผิดชอบนั้น พิจารณาแล้วเห็นว่าการกระทำดังกล่าว เกิดจากความต้องการแถลงนโยบายของรัฐบาล โดยมีการประชุมวางแผนไว้ก่อนแล้ว จึงเชื่อว่า การกระทำเกิดจากการสั่งการของรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลจะต้องรับผิดชอบในฐานะผู้สั่งการ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ต้องรับผิดชอบในฐานะผู้ปฏิบัติ ซึ่งรัฐบาลมีแนวทางปฏิบัติในการแสดงความรับผิดชอบทางการเมืองอยู่แล้ว


 



 นายสุรสีห์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรรมการสิทธิฯ จะเร่งสอบสวนเพื่อหาตัวบุคคลที่ต้องรับผิดชอบต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนดังกล่าวโดยเร็ว แต่จะต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง เพราะมีหลักฐานและบุคคลเกี่ยวข้องจำนวนมาก จากนั้นจะนำผลการพิจารณาเสนอต่อรัฐบาลต่อไป ในการแถลงครั้งนี้ เป็นการสรุปเบื้องต้นตามที่มีความชัดเจนเท่านั้น เนื่องจากเห็นว่าเป็นเรื่องที่ประชาชนให้ความสนใจ


 



กก.เยียวยาฯ สรุปหลักเกณฑ์ช่วยเหลือ


การประชุมนัดแรกของคณะกรรมการเยียวยาและช่วยเหลือผู้ได้รับความเสียหายกรณีเหตุการณ์ความไม่สงบเมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2551 ซึ่งมีนายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้ข้อสรุปหลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบแล้ว


 



นายนัที เปรมรัศมี ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี หนึ่งในคณะกรรมการชุดนี้ แถลงว่า ที่ประชุมได้หารือถึงหลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ โดยตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาพิจารณาหลักเกณฑ์การชดเชยทั้งด้านเงินช่วยเหลือ และเยียวยาด้านจิตใจ โดยการชดเชยด้านเงิน จะมีศูนย์นเรนทร สภาความมั่นคงแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันพิจารณาความเสียหาย


 



ยอด 3 เหตุการณ์ เจ็บ 612 ตาย 3


ขณะนี้ สามารถสรุปตัวเลขจาก 3 เหตุการณ์เกี่ยวเนื่อง ตั้งแต่วันที่ 29 ส.ค. วันที่ 2 ก.ย. และ 7 ต.ค. มีผู้บาดเจ็บทั้งหมด 612 คน เสียชีวิต 3 คน ซึ่งคณะอนุกรรมการจะประชุมร่วมกันอีกครั้งในวันที่ 22 ต.ค. จากนั้นจะนำข้อสรุปที่ได้เข้าที่ประชุมคณะกรรมการเยียวยาฯ ชุดใหญ่ ในวันที่ 24 ต.ค.ก่อนจะนำเสนอ ครม.ในวันที่ 28 ต.ค.เบื้องต้นได้พิจารณาให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นผู้เบิกจ่ายเงินช่วยเหลือให้เร็วที่สุด ส่วนการเยียวยาด้านจิตใจได้มอบหมายให้ น.พ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ เป็นผู้รับผิดชอบ


 



ผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้ ได้ตัวเลขเงินชดเชยที่จะชดเชยในกรณีเสียชีวิต ทุพพลภาพ และบาดเจ็บแล้วหรือยัง นายนัที กล่าวว่า ตัวเลขยังไม่นิ่ง ขอให้คณะอนุกรรมการฯ ได้ประชุมกันก่อน เพื่อรวบรวมรายละเอียดทั้งหมดก่อนที่จะสรุปให้ทราบอีกครั้ง


 



เมื่อถามว่าหลังนำเรื่องเข้า ครม.จะสามารถเบิกจ่ายเงินช่วยเหลือให้ผู้เสียหายและญาติผู้เสียชีวิตได้ทันทีหรือไม่ นายนัที กล่าวว่า เรามีคณะกรรมการตรวจสอบ เพื่อหาข้อเท็จจริงก่อนที่จะจ่ายเงินชดเชย เพื่อให้เกิดความถูกต้อง


 



พันธมิตรชี้รัฐบาลต้องรับผิดชอบ


ทางด้านท่าทีกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย นายพิภพ ธงไชย แกนนำกลุ่มพันธมิตร กล่าวถึง กรณีที่คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงการสลายการชุมนุม เมื่อวันที่ 7 ต.ค.จะเชิญแกนนำพันธมิตรไปให้ถ้อยคำ ว่า จุดยืนของเราไม่เห็นด้วยกับการแต่งตั้งคณะกรรมการดังกล่าว เพราะผู้กระทำการเป็นผู้จัดตั้งขึ้นมา จึงไม่ถือว่ามีความชอบธรรม ส่วนการที่รัฐบาลเลือกนายปรีชา พานิชวงศ์ เป็นประธานคณะกรรมการ แต่กลับไม่ให้อำนาจในการเลือกคณะกรรมการ และได้มีการถอนคณะกรรมการบางคนออก จึงถือว่าไม่มีความอิสระอย่างแท้จริง ส่วนพันธมิตรจะไปให้ถ้อยคำหรือไม่ก็ต้องมีการหารือกันก่อน แต่เราก็ไม่ได้ปิดประตูตายว่าจะไม่ร่วมให้ถ้อยคำ


 



"อภิสิทธิ์"ชี้กก.สอบ7ต.ค.อิสระแต่ชื่อ


นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)  กล่าวถึง ท่าทีพรรคร่วมรัฐบาลพูดว่า จะรอดูการตรวจสอบข้อเท็จจริงของคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงการสลายการชุมนุม 15 วันก่อน ถ้าผลออกมาว่ารัฐบาลผิด ก็พร้อมที่จะลาออกนั้น ตนเห็นว่าคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นเป็นอิสระ แต่ชื่อเท่านั้น เพราะเมื่อไปอ่านอำนาจหน้าที่ดู ตนไม่รู้ว่าเขาจะพิจารณาไปถึงว่ามีการสั่งการโดยใครหรือไม่ อย่างไร


 



เมื่อครบ 15 วันผลก็อาจออกมาเพียงว่า การสลายการชุมนุมมีการใช้แก๊สน้ำตาที่ไม่ได้มาตรฐาน หรือใช้ผิดวิธี ซึ่งทุกคนรู้อยู่แล้ว ต้องถามว่าเขาเรียกนายกฯ และ ครม.ไปสอบหรือไม่ว่า ในวันที่ 6 ต.ค. ที่ผ่านมา ใครมีความเห็นอย่างไร สั่งการอะไร แล้วใครจะรับผิดชอบ ซึ่งถ้าเขาไม่ทำตรงนี้ ตนยังนึกไม่ออกว่า ผลสอบจะมีผลต่อรัฐบาลอย่างไร


 



ปรีชายันกก.สอบข้อเท็จจริงอิสระ


ขณะที่ นายปรีชา พานิชวงศ์ อดีตรองประธานศาลฎีกา ในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงการสลายการชุมนุม เมื่อวันที่ 7 ต.ค.ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการเจาะลึกทั่วไทย เอฟเอ็ม 98 เมกะเฮิรตซ์ ว่า คณะกรรมการไม่ได้กำหนดกรอบระยะเวลาในการทำงานให้เสร็จสิ้น แต่จะดำเนินการให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ และจะทำหน้าที่เหมือนศาลกลางเมือง โดยจะรับฟังความคิดของทุกฝ่าย รายชื่อคณะกรรมการไม่ได้ถูกแทรกแซงจากรัฐบาลตามที่เป็นข่าวแต่อย่างใด ทุกชื่อเป็นไปตามที่เสนอทั้งสิ้น


 



สำหรับเหตุผลการเข้าทำหน้าที่นี้ นายปรีชา กล่าวว่า ได้รับการทาบทามจากอดีตอัยการและผู้พิพากษา ไม่ได้มาจากนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรีโดยตรง มีเพื่อนและลูกศิษย์หลายคนบอกว่า การเข้าทำหน้าที่ดังกล่าวมีแต่เสียกับเสีย แต่ตนคิดอีกด้าน คือ การทำความจริงให้ปรากฏออกมา และอยากทำประโยชน์เพื่อประเทศชาติอีกครั้ง ด้วยขณะนี้ อายุ 82 ปีแล้ว แต่ถ้ารัฐบาลชุดปัจจุบันที่เป็นผู้แต่งตั้งคณะกรรมการให้ทำหน้าที่ต้องหมดหน้าที่ไป ก็ขึ้นอยู่กับรัฐบาลชุดใหม่ ว่า จะไว้วางใจให้ดำเนินการต่อไปหรือไม่


 



จี้กรมประชาฯ ยกเลิกรายการ นปก.


 นายสาทิตย์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ในเวลา 13.30 น. พรรคได้มอบหมายให้คณะ ส.ส.เดินทางไปพบอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ เพื่อยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงนายกฯ ให้ยกเลิกสัญญากับบริษัท ดิจิตอล มีเดีย โฮลดิ้ง ซึ่งทำข่าวส่วนใหญ่ให้กับกรมประชาสัมพันธ์ช่อง 11 และให้ยกเลิกรายการ ความจริงวันนี้ ของบริษัทเพื่อนพ้องน้องพี่ รวมถึงรายการวิทยุ 2 คลื่น เอฟเอ็ม 105 และเอฟเอ็ม 97 โดยเหตุผล คือ รายการที่กล่าวถึงนั้นบางบริษัทที่เข้าไปดำเนินรายการ มีความไม่ชอบมาพากลในการทำสัญญา และอยู่ระหว่างการสอบสวนของ ป.ป.ช. และรายการข่าวของเอ็นบีที รวมทั้งรายการความจริงวันนี้ และคลื่นวิทยุที่กล่าวถึงได้มีการปลุกระดมให้ข้อเท็จจริงฝ่ายเดียว รวมทั้งมีข้อมูลที่เป็นเท็จนำเสนอต่อผู้ฟัง


 



"จึงถือได้ว่าเป็นการขยายความขัดแย้งแตกแยกในบ้านเมืองให้กว้างขวางมากขึ้น ซึ่งรายการดังกล่าวยังไม่มีข้อพิสูจน์ที่ชี้ให้เห็นว่า เสนอข่าวด้วยความระมัดระวัง แม้กระทั่งองค์กรมีเดียมอนิเตอร์ได้มีการสำรวจก็มีความเห็นว่า สถานีโทรทัศน์เอ็นบีที เสนอข่าวขาดความเป็นกลาง พรรคได้มีการตรวจสอบสัญญาที่ทำกับกรมประชาฯ แล้วเห็นว่า กรมประชาฯ มีอำนาจในการลด ตัด รายการที่มีการเสนอข่าวที่ไม่เป็นกลาง ทั้งนี้ หากปล่อยให้เสนอข่าวไปอีก ความขัดแย้งในบ้านเมืองจะเพิ่มขึ้นไม่มีที่สิ้นสุด และอาจจะเข้าทางพรรคพลังประชาชนที่ต้องการจะทำสงครามประชาชน และอาจจะเกิดสงครามนองเลือดขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งก็ได้"


 


 


 


 


 


------------------


ที่มา: http://www.bangkokbiznews.com

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net