Skip to main content
sharethis

1.         สถานการณ์ในประเทศพม่า


1.1        พม่ามีรายได้จากการขายอัญมณีถึง 175 ล้านดอลลาร์


1.2        พม่า-ไทย-สิงค์โปร์ ลงนามร่วมในโครงการสร้างเขื่อนตะนาวศรี


1.3        ชาวพม่าสั่งซื้อมอเตอร์ไซค์ฮอนด้าเพิ่มขึ้น หลังรัฐบาลให้จดทะเบียนใหม่


1.4        ผลกระทบจากวิกฤติการเงินโลก ส่งผลให้มีการเลิกจ้างคนงานในอุตสาหกรรมสิ่งทอ


1.5        พม่าละเมิดอนุสัญญาไซเตส มีการขายชิ้นส่วนต่างๆของเสือตามชายแดน


1.6        พม่าสร้างสนามบินหาดเงวซอง


 


2.         การค้าชายแดน


2.1        ไทยประกาศเส้นทาง "แม่สอด-มุกดาหาร" เป็นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 12 ตลอดแนว


2.2        การค้าชายแดนแม่สอดลดลงแล้วกว่า 40% หลังพม่าคุมเข้มสินค้าไทย สั่งตรวจยึดทันทีหากพบไม่ถูกต้อง


2.3        กลุ่มเวอร์ค (VERC) เจ้าของอาณาจักรกาสิโนบนเกาะสิงคโปร์ เปิดกาสิโนแห่งใหม่ในพม่า ส่งผลให้นักพนันเดินทางเข้าจังหวัดระนองมากขึ้น


 


 


1. สถานการณ์ในประเทศพม่า


 


1.1 พม่ามีรายได้จากการขายอัญมณีถึง 175 ล้านดอลลาร์


เจ้าหน้าที่พม่าเปิดเผยว่า พม่ามีรายได้จากการจำหน่ายอัญมณีที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลถึง 175 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 5,950 ล้านบาท ทั้งที่ถูกสหรัฐคว่ำบาตร


รายได้ส่วนใหญ่ในการจัดการประมูลครั้งล่าสุดเป็นเวลา 13 วัน มาจากการจำหน่ายหยก ซึ่งจำหน่ายไปได้กว่า 172 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 5,848 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีเพชรพลอยและไข่มุกมาจำหน่ายด้วย โดยมีพ่อค้าถึง 2,648 ราย จากกว่า 10 ประเทศ รวมทั้ง จีน ญี่ปุ่น ไทย และแคนาดา เข้าร่วมงาน


ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ของสหรัฐ ลงนามในกฎหมายห้ามนำเข้าอัญมณีจากพม่าเมื่อเดือนกรกฎาคม อันเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจที่สหรัฐประกาศใช้ต่อพม่าที่ยังคงละเมิดสิทธิมนุษยชนและไม่ถ่ายโอนอำนาจให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย


 


แต่บรรดาพ่อค้าอัญมณี กล่าวว่า มาตรการคว่ำบาตรมีผลกระทบน้อยมากต่อธุรกิจของพวกเขา เพราะลูกค้าส่วนใหญ่มาจากจีนและไทย โดยในการประมูลครั้งล่าสุด ที่จัดขึ้นโดยกระทรวงเหมืองแร่ มีพ่อค้าที่มาจากจีนถึงกว่า 2,200 คน และมาจากไทยอีกกว่า 70 คน (สำนักข่าวไทย วันที่ 18/10/2551)


 


 


1.2 พม่า-ไทย-สิงค์โปร์ ลงนามร่วมในโครงการสร้างเขื่อนตะนาวศรี


เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม หนังสือพิมพ์นิวไลท์ ออฟ เมียนมาร์ รายงานว่า รอ.ซอมิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานไฟฟ้าของรัฐบาลพม่า ได้ต้อนรับนายเปรมชัย กรรณสูต ประธานบริษัทอิตาเลียน-ไทย จำกัด และนาย Chua Chay Jin และผู้แทนจากบริษัท Windfall Energy Services จากเวอร์จินไอส์แลนด์แห่งสิงคโปร์ ในพิธีลงนามโครงการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำตะนาวศรี ซึ่งอยู่ในประเทศพม่า ตรงข้ามกับ จ.ประจวบคีรีขันธ์


 


ในพิธีมีผู้แทนจากพม่าเข้าร่วมด้วยได้แก่ รัฐมนตรีว่าการและช่วยว่าการกระทรวงพลังงานไฟฟ้า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและภาษี และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องของรัฐบาลพม่า


จากนั้นผู้อำนวยการฝ่ายก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำ และนายเปรมชัย กรรณสูต ลงนามในบันทึกความเข้าใจหรือเอ็มโอยูโครงการเขื่อนตะนาวศรี ซึ่งมีกำลังผลิต 600 เมกะวัตต์ และในวันเดียวกันนี้ ทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ก็ได้ไปลงนามร่วมกับรัฐบาลพม่าเพื่อซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนที่มีกำลังการผลิตขนาด 600 เมกะวัตต์ ซึ่งคาดว่าจะเป็นเขื่อนเดียวกัน และจะมีการนำไฟฟ้าดังกล่าวป้อนให้กับโรงถลุงเหล็กของเครือสหวิริยา จำกัด


 


นางจินตนา แก้วขาว แกนนำชาวบ้านบ้านกรูด จ.ประจวบคีรีขันธ์ ต้านโรงถลุงเหล็ก เครือสหวิริยา กล่าวว่า ตอนแรกไม่แน่ใจว่าเรื่องนี้จะเป็นความจริงแต่จากข้อมูลหลายด้านเริ่มมั่นใจว่าจะเป็นจริง เพราะโรงไฟฟ้าทับสะแก ที่เดิมมีแผนการว่าจะสร้างขึ้นมาเพื่อป้อนไฟฟ้าให้โรงถลุงเหล็กนั้นกำลังจะพับโครงการไปแล้ว โรงถลุงเหล็กจึงต้องไปหาซื้อไฟฟ้าจากประเทศพม่าแทน ซึ่งพื้นที่ที่จะสร้างโรงไฟฟ้าก็อยู่ห่างจาก จ.ประจวบคีรีขันธ์ประมาณ 80 กิโลเมตรเท่านั้น เรื่องนี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ทั้งรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนั้นหมกเม็ด ไม่ให้ข้อมูลใดๆ กับประชาชนที่จะต้องได้รับผลกระทบเลย (มติชน วันที่ 17/10/2551)


 


 


1.3 ชาวพม่าสั่งซื้อมอเตอร์ไซค์ฮอนด้าเพิ่มขึ้น หลังรัฐบาลให้จดทะเบียนใหม่


แหล่งข่าวจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงชายแดน กล่าวว่า ภายหลังรัฐบาลทหารพม่า หรือ SPDC สภาสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐ ได้เปิดให้ประชาชนนำรถจักรยานยนต์ (มอเตอร์ไซค์) มาจดทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมายพม่า ส่งผลให้มีรถเครื่องจากไทยส่งไปขายในจังหวัดเมียวดี ตรงข้าม อ.แม่สอด จ.ตากและมีการส่งต่อไปยังเมืองมะละแหม่ง รวมทั้งทางด่าน อ.แม่สาย จ.เชียงรายกับจังหวัดท่าขี้เหล็ก (พม่า) วันละหลายร้อยคัน


 


โดยมีการเสียเงินนอกระบบให้เจ้าหน้าที่พม่าคันละ 10,000 จ๊าต หรือประมาณ 300 บาท ในการเคลียร์เส้นทางที่ต้องผ่านด่านต่างๆกว่า 20 ด่านตรวจ ก่อนไปสู่จังหวัดชั้นในและกรุงร่างกุ้งเพื่อนำไปขอจดทะเบียน


 


สำหรับค่าภาษีการจดทะเบียนรถที่จะเข้ารัฐในการยื่นขอจดทะเบียนนั้นจะเสียค่าใช้จ่ายคันละ 250,000-300,000 บาท หรือประมาณ 7,500-8,000 บาท ตามสภาพเก่า-ใหม่ของรถจักรยานยนต์


โดยรถที่ชาวพม่านิยมมากที่สุดคือยี่ห้อรถฮอนด้า โดยเฉพาะฮอนด้าดรีมรุ่นต่างๆ ราคาคันละ 2,000,000 จ๊าต หรือประมาณ 57,000-60,000 บาท


 


นอกจากนี้ยังมีชาวพม่าบางส่วนที่มีรายได้น้อยก็จะสั่งซื้อรถมอเตอร์ไซค์ที่นำเข้าจากจีนแดงคือยี่ห้อ KEMBO ซึ่งจะมีราคาถูกกว่าครึ่งต่อครึ่ง โดยรถมอเตอร์ไซค์จากจีนจะมีราคาประมาณคันละ 500,000 จ๊าต หรือประมาณ 14,000-15,000 บาท


 


ที่พื้นที่ชายแดนไทย-พม่า อ.แม่สอด จ.ตาก มักจะมีแก็งค์ขโมยและการโจรกรรมรถจักรยานยนต์ข้ามแดน โดยในแต่ละวันมักจะมีการขโมยรถมอเตอร์ไซค์ในตลาดสดเมืองแม่สอดเกือบทุกวัน โดยเฉพาะรถยี่ห้อฮอนด้าดรีมรุ่นต่างๆ โดยแก็งค์โจรกรรมชาวพม่าได้ลักลอบนำข้ามแม่น้ำเมย ไปขายให้ชาวพม่าคันละ 10,000-15,000 บาท ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องทำงานอย่างหนักและตั้งชุดเฉพาะกิจออกกวาดล้างติดตามการโจรกรรมรถจักยานยนต์ข้ามแดนและมีการจับกุมอย่างต่อเนื่อง


 


สำหรับที่ชายแดน อ.แม่สาย จ.เชียงราย มีการลักลอบนำเข้ารถจักรยานยนต์จากจีนวันละ 300-500 คัน โดยสาเหตุที่พม่าต้องนำเข้ารถจากต่างประเทศ เนื่องจากไม่มีการผลิตรถจักรยานยนต์ในประเทศ โดยรถจักรยานยนต์ส่วนใหญ่นำเข้าจากไทย-จีน


 


ทั้งนี้สถิติจากเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรในกรุงย่างกุ้งระบุว่า ในพม่ามีรถจักรยานยนต์เถื่อนที่ไม่ได้จดทะเบียนมากถึง 500,000 คัน ทำให้รัฐบาลต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนที่มีรถนำมาจดทะเบียนเพื่อนำภาษีเข้ารัฐ โดยหลังพม่าเปิดให้จดทะเบียนรถจักยานยนต์ในช่วง 3 เดือน ที่ผ่านมาสามารถมีรายได้จากภาษีเข้ารัฐมากถึง 4,000 ล้านบาทจากค่าจดทะเบียนคันละประมาณ 8,000 บาท (สำนักข่าว INN วันที่ 16/10/2551)


 


 


1.4 ผลกระทบจากวิกฤติการเงินโลก ส่งผลให้มีการเลิกจ้างคนงานในอุตสาหกรรมสิ่งทอ


นายมิน โซ ประธานสมาคมผู้ผลิตสิ่งทอพม่า เปิดเผยว่าอุตสาหกรรมสิ่งทอที่สำคัญของพม่าอาจประสบปัญหาซบเซา มีการปิดโรงงานและเลิกจ้างคนงาน เนื่องจากยอดสั่งซื้อลดลงจำนวนมากจากวิกฤติการเงินโลกที่ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้วิกฤติการเงินยังทำให้ยอดสั่งซื้อใหม่ลดลง และคาดว่าจะเกิดผลกระทบอย่างรุนแรงภายในกลางเดือนธ.ค.นี้ เนื่องจากความสำเร็จในอุตสาหกรรมสิ่งทอพม่านั้นผูกอยู่กับความต้องการของโลก ดังนั้นยอดสั่งซื้อที่ลดลงอาจทำให้ต้องเลิกจ้างคนงานและปิดโรงงานบางแห่งลง (เดลินิวส์ วันที่ 16/10/2551)


 


 


1.5 พม่าละเมิดอนุสัญญาไซเตส มีการขายชิ้นส่วนต่างๆของเสือตามชายแดน


กองทุนสัตว์ป่าโลก (ดับเบิลยูดับเบิลยูเอฟ) เปิดเผยว่า ในช่วง 18 ปีที่ผ่านมา แม้พม่าจะลงนามในอนุสัญญาไซเตส ว่าด้วยการค้าสัตว์ และพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ระหว่างประเทศแล้ว แต่ตลาดในพม่า โดยเฉพาะบริเวณติดต่อชายแดนไทย และจีน มีการนำชิ้นส่วนต่างๆ ของเสือ และสัตว์ป่าตระกูลแมวที่ได้รับการคุ้มครองวางจำหน่ายอย่างเปิดเผย โดยกว่าครึ่งหนึ่งของชิ้นส่วนเหล่านี้ มาจากสัตว์ 5 สายพันธุ์ที่ถูกห้ามค้าระหว่างประเทศ ในจำนวนนั้น 4 สายพันธุ์อยู่ในบัญชีสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ และแนวโน้มการซื้อขายมีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง (กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 16/10/2551)


 


 


1.6 พม่าสร้างสนามบินหาดเงวซอง


สมาคมการท่องเที่ยวและสมาคมโรงแรมในพม่ากำลังพยายามอย่างยิ่งที่จะฟื้นฟูการท่องเที่ยวของประเทศขึ้นใหม่ หลังจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลงอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ปราบปรามการเดินขบวนเรียกร้องประชาธิปไตยในเดือน ก.ย.ปีที่แล้ว


 


ไซโคลนนาร์กิส (Nargis) ที่พัดเข้าทำลายล้างเขตที่ราบปากแม่น้ำอิรวดี (Irawaddy) เขตย่างกุ้ง และเขตพะโค (Bago) ในเดือน พ.ค. ได้เข้าซ้ำเติมการท่องเที่ยวของประเทศเพิ่มขึ้น


 


ตามรายงานของนิตยสารข่าวเมียนมาร์ไทมส์ การสำรวจพื้นที่สร้างสนามบินเริ่มขึ้นในกลางเดือน ก.ย. อยู่ห่างจากบริเวณหาดเงวซองราว 1.5 กิโลเมตร ใกล้กับหมู่บ้านตาซิน (Thazin)


 


สนามบินเงวซองจะมีความกว้าง 2,256 เมตร ความยาว 4,570 เมตร โดยสร้างทางวิ่งขึ้นลงของเครื่องบินขนานกับชายฝั่งทะเล คาดว่าจะใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี


 


หาดเงวซองได้รับการส่งเสริมให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเมื่อปี 2542 แต่เนื่องจากขาดระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานทำให้การพัฒนาค่อนข้างล่าช้า ปัจจุบันเดินทางจากกรุงย่างกุ้งไปที่นั่นได้โดยรถยนต์ตามถนนระยะทาง 232 กม.


 


อย่างไรก็ตามนักท่องเที่ยวจำนวนมากได้เลือกการขึ้นเครื่องบินจากย่างกุ้งไปลงเมืองพะสิม (Patein) ในเขตที่ราบปากแม่น้ำอิรวดี และเดินทางโดยรถยนต์เป็นระยะทางอีก 48 กม.ไปยังหาด


 


ปัจจุบันนักลงทุนทั้งชาวพม่าและชาวต่างชาติได้เข้าไปลงทุนสร้างโรงแรม รีสอร์ทระดับคุณภาพต่างๆ ตามหาดทรายหลายแห่ง รวมทั้งหาดชองตา (Chaung Tha) และหาดงาปาลี (Ngapali) ด้วย


หาดต่างๆ ในพม่า ปัจจุบันมีเพียงหาดงาปาลีเท่านั้นที่สามารถเดินทางไปโดยเครื่องบินได้ หาดเงวซองจะเป็นแห่งที่สอง และจะทำให้นักเดินทางต่างไปที่นั่น


 


เทศกาลติงยาน (Thingyan) หรือ สงกรานต์ของทุกปี หาดทรายริมทะเลเบงกอลก็จะเป็นเป้าหมายของหนุ่มสาวจากทั่วสารทิศ


 


ความเสี่ยงของการท่องเที่ยวหาดทรายริมทะเลเบงกอลก็คือ ที่นั่นจะมีพายุไซโคลนจากมหาสมุทรอินเดียพัดเข้ากระหน่ำ 2-3 ปีต่อครั้ง เช่นเดียวกันกับไซโคลนนาร์กิสในต้นเดือน พ.ค.ปีนี้


 


ในเดือน เม.ย.2549 ไซโคลนมาลา (Mala) เคยพัดกระหน่ำแถบชายฝั่งจนถึงเขตที่ราบปากแม่น้ำอิรวดี หมู่บ้าน รีสอร์ทและเรือนพักของนักท่องเที่ยวจำนวนมากถูกทำลายราบ


 


หลังไซโคนนาร์กิส พัดเข้าถล่มระหว่างวันที่ 1-3 พ.ค.ปีนี้ โรงแรมรีสอร์ตริมหาดหลายแห่งได้รับความเสียหายต้องซ่อมแซม พายุไม่เพียงแต่ทำลายอาคารและบ้านเรือนราษฎรเท่านั้น แต่ยังทำลายโบราณวัตถุสำคัญจำนวนมาก แม้กระทั่งเจดีย์ชเวดากอง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์สำคัญการท่องเที่ยวของประเทศในกรุงย่างกุ้งก็ได้รับความเสียหาย


 


ความเสียหายจากพายุลูกนี้ลุกลามไปจนถึงเขตพะโค (Bago) หรือหงสาวดี ปลายทางท่องเที่ยวสำคัญที่อยู่ไม่ไกลจากกรุงย่างกุ้ง


 


การท่องเที่ยวที่กำลังโลดแล่นได้หยุดชะงักลงหลังการปราบใหญ่ประชาชนในเดือนก.ย.2550 ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิต 33 คน ขณะที่รัฐบาลประเทศตะวันตกกล่าวว่าจำนวนมากกว่านั้นหลายเท่าตัว จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงอย่างมากในปีงบประมาณ 2550-2551 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีงบประมาณก่อน คือระหว่างเดือน เม.ย.2549- มี.ค.2550


 


ในเดือน พ.ค. มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าพม่า เพียง 9,258 คน ลดลง 41.4% เทียบกับเดือนเดียวกันปีที่แล้ว จำนวนลดลงอีก 19.4% ในเดือน มิ.ย.เหลือเพียง 10,968 คน เทียบกับ 13,621 คน เมื่อปีที่แล้ว และตัวเลขเดือน ก.ค. ก็ลดลงประมาณครึ่งหนึ่งจาก 14,799 คนในเดือนเดียว (ผู้จัดการ วันที่ 10/10/2551)


 


 


2. การค้าชายแดน


 


2.1 ไทยประกาศเส้นทาง "แม่สอด-มุกดาหาร" เป็นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 12 ตลอดแนว


นายจงจิตร เต็งยะ ผู้อำนวยการแขวงการทางตากที่ 2 (แม่สอด) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการพัฒนาเส้นทางตามแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก ( East-West Economic Corridor) ที่อยู่ในเขตประเทศไทยตั้งแต่แม่สอด จ.ตาก-มุกดาหาร ระยะทาง 770 กิโลเมตร (กม.) ว่า กรมทางหลวงฯ ได้ประกาศให้เส้นทางสายนี้เป็นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 12 ตลอดทั้งสายแล้วตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2551


ทั้งนี้เพื่อให้สะดวกต่อการทำโครงการเสนอขออนุมัติงบประมาณปรับปรุง พัฒนาให้เป็นถนน 4 เลนตลอดทั้งสาย รองรับยุทธศาสตร์ทางการค้าระหว่างประเทศที่จะใช้เป็นเส้นทางเชื่อมโยงการค้าระหว่างประเทศตามกรอบ ACMEC (Thailand, Myanmar, Cambodia, Lao PDR) - BIMSTEC (Thailand, Myanmar, India, Nepal, Bhutan, Bangladesh, Sri Lanka) ซึ่งในฝั่งตะวันออก เชื่อมต่อผ่านสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 2 (มุกดาหาร สะหวันนะเขต) เข้ากับเส้นทางหมายเลข 9 ที่พัฒนาและเปิดใช้แล้ว


 


อย่างไรก็ตามบางช่วงยังมีปัญหาติดพื้นที่ป่าอนุรักษ์ เช่น อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว, เส้นทางตาก-แม่สอด ที่ทางกรมอุทยานฯ ยืนยันว่า ให้ขยายถนนเฉพาะพื้นผิวจราจรที่มีอยู่เดิมเท่านั้น ทำให้เป็นปัญหาในการทำถนน 4 เลน ตลอดทั้งสายอยู่ แต่ก็เชื่อว่าภายใน 5 ปีต่อจากนี้จะเสร็จสมบูรณ์ได้ หลังจากที่เริ่มดำเนินการช่วงแรกจากทางแยกตาก เข้ามาแล้ว 10 กว่า กม.


 


ส่วนในฝั่งพม่าที่จะสามารถเชื่อมโยงการค้า การลงทุนกับพม่า อินเดีย บังกลาเทศ และต่อเนื่องไปถึงยุโรปได้นั้น เส้นทางในช่วงแรกในเขตเมืองเมียวดี (ตรงข้าม อ.แม่สอด) ระยะทาง 17.35 กม.รัฐบาลไทยได้ให้การช่วยเหลืองบประมาณก่อสร้างแบบให้เปล่าจำนวน 122.9 ล้านบาท และก่อสร้างเสร็จแล้ว, ช่วงที่ 2 จากเมียวดี-เชิงเขาตะนาวศรี-กอกะเรก (ผ่านเขตนิคมฯ-เขตเศรษฐกิจชายแดนเมียวดี และค่าย 375) ระยะทางตามแนวทางเดิม 50 กว่า กม. แต่ได้มีการสำรวจแนวเส้นทางใหม่เลี่ยงสันเขา เหลือระยะทางประมาณ 40 กว่า กม.นั้น ยังอยู่ระหว่างการตกลงเรื่องงบประมาณการก่อสร้างว่าจะเป็นไปในลักษณะให้เปล่า หรือเป็นเงินกู้เงื่อนไขผ่อนปรนอยู่


 


ขณะที่ถนนจากกอกะเรก- มะละแหม่ง-ท่าตอน-ย่างกุ้ง หรือพะโค ที่อยู่ตอนเหนือของย่างกุ้ง ทะลุออกไปเชื่อมกับอินเดีย-บังกลาเทศ และยุโรปนั้น อยู่ระหว่างการหารือระหว่างไทย-พม่า ภายใต้เงื่อนไขไทยให้กู้แบบผ่อนปรน ซึ่งมีอยู่ 3 แนวทางเลือก คือ


 


1.จากเชิงเขาตะนาวศรี เมืองกอกะเรก-อินดุ-พะอัน-ท่าตอน ระยะทาง 172 กม.งบก่อสร้าง 1,350 ล้านบาท


 


2.เชิงเขาตะนาวศรี เมืองกอกะเรก-มุดง-มะละแหม่ง-ท่าตอน ระยะทาง 236 กม. งบก่อสร้าง 2,150 ล้านบาท


 


3.เชิงเขาตะนาวศรี-อินดุ-มะละแหม่ง ระยะทาง 212 กม. งบก่อสร้าง 1,780 ล้านบาท และเสนอให้ความช่วยเหลือแบบให้เปล่าสำหรับก่อสร้างถนนจากมะละแหม่ง-ท่าตอน ระยะทาง 44 กม.งบประมาณ 440 ล้านบาท พร้อมให้เงินกู้หากพม่าต้องการสำหรับก่อสร้างถนนจากมะละแหม่ง-กอกะเรก ระยะทาง 125 กม.งบประมาณ 1,180 ล้านบาท


 


ขณะที่นายบรรพต ก่อเกียรติเจริญ ประธานหอการค้าจังหวัดตาก อธิบายว่า การลงทุนพัฒนาโครงข่ายคมนาคมสายนี้ ถ้ามองในแง่ของการลงทุนแล้วถือว่าคุ้มแน่นอน เพราะเฉพาะการค้าชายแดนที่เกิดขึ้น ก็มีมูลค่ามากกว่า 1.2-1.5 หมื่นล้านต่อปีแล้ว ดังนั้นการลงทุนไม่กี่พันล้านของรัฐบาลไทย ก็จะทำให้ผู้ประกอบการสามารถส่งออกสินค้าได้มากขึ้น สร้างรายได้เข้าประเทศในช่วงที่ตลาดแถบยุโรป-อเมริกา กำลังมีปัญหาอย่างต่อเนื่องได้ ซึ่งนั่นก็หมายถึงผลตอบแทนทางเศรษฐกิจของประเทศ


 


ด้านนายชุมพร พลรักษ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก ที่กำลังจะย้ายไปดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมพัฒนาชุมชน กล่าวว่า แนวทางที่จะพัฒนาพื้นที่ชายแดนจังหวัดตากรองรับ East-West Economic Corridor โดยเฉพาะเส้นทางเชื่อมโยงทางการค้ากับพม่าทางย่างกุ้ง ที่อยู่ห่างจากแม่สอดเพียง 420 กว่า กม.นั้น สภาอุตสาหกรรมฯ-หอการค้าจังหวัดตาก จะต้องเล่นเกมรุกมากขึ้น อย่ารอรัฐที่ต้องยอมรับว่ามีปัญหาทางการเมืองมานาน


 


ขณะเดียวกันจะต้องผลักดันให้มีการรวมพื้นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในแม่สอด ทั้งเทศบาล-อบต.เข้าด้วยกัน เบื้องต้นสามารถเสนอเป็น "เทศบาลนครแม่สอด" กินพื้นที่ 200 ตารางกิโลเมตรทันที เพื่อวางผันการพัฒนาเมืองกันใหม่ กำหนดพื้นที่เขตอุตสาหกรรม-พาณิชยกรรม-ที่อยู่อาศัย ให้สอดคล้องกัน กำหนดแนวทางส่งเสริมการลงทุนในแนวทางเดียวได้ อันจะทำให้นักลงทุนตัดสินใจเข้ามาลงทุนได้ดีขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้มีการทำการวิจัยเรียบร้อยแล้ว ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างทำประชาพิจารณ์อยู่


 


อนาคตแม่สอดหรือพื้นที่ชายแดนตาก จะไม่ได้เปรียบเรื่องต้นทุนค่าแรงต่ำแน่นอน เพราะถ้ายกระดับมาตรฐานการลงทุน หรือผลิตเพื่อการส่งออกแล้ว การจ้างแรงงานจะต้องเป็นไปตามกฎหมาย ไม่เช่นนั้นก็ส่งออกไม่ได้ แต่แม่สอดจะได้เปรียบที่มีแรงงานรองรับอย่างเพียงพอเท่านั้น


 


ส่วนแนวทางการพัฒนาสาธารณูปโภค นายชุมพร มองว่าน่าจะลงทุนพัฒนาเส้นทางรถไฟตาก-แม่สอด ตามแนวทางที่ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB) เคยศึกษาไว้แล้ว เพื่อสนับสนุนให้ตากเป็นจุดตัด (Junction) ของ East-West Economic Corridor ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้ดำเนินการศึกษาเบื้องต้นไว้แล้ว และจังหวัดจะนำเสนอต่อสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในเร็วๆนี้ (ผู้จัดการ วันที่ 16/10/2551)


 


 


2.2 การค้าชายแดนแม่สอดลดลงแล้วกว่า 40% หลังพม่าคุมเข้มสินค้าไทย สั่งตรวจยึดทันทีหากพบไม่ถูกต้อง


 


แหล่งข่าวจากแวดวงการค้าชายแดนไทย-พม่า ด้านอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เปิดเผยว่า รัฐบาลทหารพม่า หรือ SPDC (สภาสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐ) ได้มีคำสั่งให้ทหารชุดที่ดูแลคณะกรรมการการค้าชายแดนและเจ้าหน้าที่ด่านศุลกากรภาคพะโค เข้มงวดในการตรวจยึดสินค้าที่นำเข้าจากประเทศไทย ที่ผ่านช่องทางสะพานมิตรภาพไทย-พม่า (ด่านถาวรแม่สอด-เมียวดี) ด้านชายแดนเมืองเมียวดี - แม่สอด โดยสัปดาห์ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่พม่าได้ยึดสินค้า มีทั้งยารักษาโรค โทรทัศน์ รวมถึงสินค้าบริโภคอุปโภคอื่นๆ รวมมูลค่ากว่า 80 ล้านจ๊าต หรือประมาณ 2,253,521 บาทไทย พร้อมทั้งจับตัวคนขับรถและเจ้าของสินค้าดังกล่าว โดยอ้างว่าสินค้าดังกล่าวถูกนำเข้าอย่างผิดกฎหมาย มีการลักลอบนำเข้ามา และไม่มีการเสียภาษี


 


ขณะที่เจ้าของสินค้าให้การกับเจ้าหน้าที่ชุดจับกุมว่า ก่อนหน้านี้ได้เสียภาษีให้กับทางการพม่าแล้ว และมีใบหลักฐานการเสียภาษีให้ดู แต่เจ้าหน้าที่ระบุว่าเป็นใบที่ปลอมแปลงขึ้น และขอตรวจสอบหากถูกต้องจะมอบคืนให้เจ้าของต่อไป


 


การจับกุมสินค้าไทยดังกล่าวส่งผลเสียต่อการค้าขายของพ่อค้าแม่สอดอย่างมาก เพราะพ่อค้าพม่าจะขาดความมั่นใจที่จะซื้อสินค้าจากด่านชายแดนแม่สอด-เมียวดี และจะทำให้ยอดขายสินค้าตกลง


 


นายบรรพต ก่อเกียรติเจริญ ประธานกรรมการหอการค้าจังหวัดตาก กล่าวว่า พม่ามีการเข้มงวด ตรวจยึดและจับกุมสินค้ามาโดยตลอดอยู่แล้ว เป็นความเข้มงวดด้านคุณภาพสินค้า สินค้าควบคุมและสินค้าที่ไม่ได้ผ่านพิธีการทางศุลกากรหรือสินค้าที่ไม่มีใบกำกับมาแสดงการเสียภาษีให้เจ้าหน้าที่ชุดจับกุมได้ดู ทำให้มีการถูกจับกุม การตรวจยึดสินค้าเพื่อตรวจสอบสินค้าจากชายแดนไทย จึงอยากจะขอให้พ่อค้าไทยและพ่อค้าพม่าที่ทำการค้าชายแดนกันอยู่ได้ ซื้อ-ขาย สินค้าโดยถูกต้องและผ่านพิธีการทางศุลกากร เพื่อป้องกันการถูกจับกุม


 


แหล่งข่าวจากด่านศุลกากรแม่สอด อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เปิดเผยว่า ยอดการส่งสินค้าไทยไปพม่าลดลง 30-40% ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ในช่วงไตรมาสที่ 3 ตัวเลขส่งออกไม่ถึงเดือนละ 1,000 ล้านบาท ผิดกับสถานการณ์ปกติที่มีตัวเลขการส่งออกเดือนละกว่า 1,000 ล้นบาท หรือปีละกว่า 14,000 - 15,000 ล้านบาท ทั้งในและนอกระบบทางศุลกากร เป็นตัวเลขที่ตกต่ำอย่างน่าตกใจ


 


โดยตัวเลขที่ลดลงมาจากหลายปัจจัยลบ เช่น


 


1. พม่า ประสบภาวะเศรษฐกิจตกต่ำประกอบกับประเทศเกิดภัยพิบัติพายุโซโคลนนาร์กิสถล่ม ประชาชนขาดรายได้ พื้นที่เกษตรเสียหาย


 


2. รัฐบาลเข้มงวดสินค้านำเข้า การตรวจสอบวัตถุระเบิด ที่อาจจะซุกซ่อนมากับสินค้าที่เข้ามาผ่านยังเขตอิทธิพลของทหารชนกลุ่มน้อยกะเหรี่ยง โดยมีการตรวจสอบระบบการเสียภาษีห้ามนำเข้าผ่านตลาดมืดหรือเขตอิทธิพลของชนกลุ่มน้อยที่ไม่ผ่านระบบศุลกากร


 


3.ในช่วงฤดูฝนปี 2551 เส้นทางคมนาคมและระบบการขนส่ง เสียหายหนักการขนส่งสินค้าไม่สะดวกส่งผลการซื้อสินค้าลดน้อยลง


 


4.ปัญหาการเมืองในพม่า


 


5.พม่าควบคุมการนำเข้าสินค้าที่ต้องมีใบกำกับอากร-ภาษี ที่ผ่านพิธีการทางศุลกากรและการเสียภาษีที่ถูกต้องอย่างเข้มงวดมากขึ้นกว่าปกติ (ฐานเศรษฐกิจ วันที่ 16-18/10/2551)


 


 


2.3 กลุ่มเวอร์ค (VERC) เจ้าของอาณาจักรกาสิโนบนเกาะสิงคโปร์ เปิดกาสิโนแห่งใหม่ในพม่า ส่งผลให้นักพนันเดินทางเข้าจังหวัดระนองมากขึ้น


 


นายดำรง  ขจรมาศบุษป์  นักธุรกิจค้าชายแดนไทยพม่า และอดีตประธานกรรมการหอการค้าจังหวัดระนอง  เปิดเผยว่า หลังจากที่ทางรัฐบาลพม่าได้เร่งผลักดันให้เขตพื้นที่ทางตอนใต้ของประเทศเป็นเขตเศรษฐกิจใหม่ ด้วยการส่งเสริมให้นักลงทุนจากต่างประเทศเข้าไปลงทุนในกิจการต่างๆ ได้มากขึ้น พร้อมทั้งมีการผ่อนคลายกฎเกณฑ์เงื่อนไขต่างๆ


 


ปรากฏว่าได้รับความสนใจจากนักลงทุนทั้งชาวไทยและต่างชาติเป็นจำนวนมาก  โดยเฉพาะจากกลุ่ม เวอร์ค (VERC) เจ้าของอาณาจักรกาสิโนชื่อดังบนเกาะสิงคโปร์ ที่ได้ขยายฐานการลงทุนทั้งกาสิโนและโรงแรมขึ้นในฝั่งพม่าติดกับประเทศด้านจังหวัดระนอง ด้วยงบประมาณการลงทุนสูงถึง 2,000 ล้านบาท และเริ่มเปิดให้บริการแล้ว 


 


จึงส่งผลให้มีนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะกลุ่มนักแสวงโชคทั้งชาวไทยและต่างชาติเดินทางเข้ามายังจังหวัดระนองเป็นจำนวนมาก เนื่องจากการเดินทางที่สะดวกสบายด้วยสายการบิน รวมถึงการที่มีบ่อนกาสิโนขนาดใหญ่ตั้งอยู่ถึง 2 บ่อน จึงทำให้ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวและนักเสี่ยงโชค ส่งผลให้เศรษฐกิจ การค้า ธุรกิจร้านอาหารต่างๆ พลอยได้รับอานิสงส์คึกคักตามไปด้วย


 


นางสาวโครนา    วิสูตรราศัย   ผู้จัดการฝ่ายการสื่อสารการตลาด อันดามันคลับ ผู้บริหารโรงแรมอันดามันคลับ เมียนมาร์  ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศพม่า มีอาณาเขตติดต่อกับจังหวัดระนอง ทางภาคใต้ของประเทศไทย  กล่าวว่า การเปิดใหม่ของกาสิโนในเครือเวอร์คคลับ คาดว่าน่าจะมีผลดีมากกว่า เพราะจะเป็นตัวดึงดูดให้นักท่องเที่ยว และผู้ชอบเสี่ยงโชคเดินทางเข้ามายังจังหวัดระนองมากขึ้น


 


สำหรับทางกลุ่มอันดามันคลับ ก็พยายามปรับปรุงมาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดมีการปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ของโรงแรมใหม่ จากเดิมที่ผู้คนทั่วไปมักจะติดกับภาพของแหล่งกาสิโนชายแดนไทยพม่า ให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญอีกแห่งในจังหวัดระนองและภาคใต้ตอนบน ที่ผู้คนทั่วไป แม้กระทั่งเด็กๆสามารถเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวได้ด้วยการเพิ่มความหลากหลายทางด้านการบริการ


 


นอกจากนี้ทางโรงแรมยังมีบริการดำน้ำที่เกาะเซนต์ลุค ซึ่งขึ้นชื่อในด้านความสวยงามของปะการัง รวมถึงการให้บริการร้านค้าปลอดภาษี( Duty Free Shop) ซึ่งมีสินค้าให้เลือกมากมาย ทั้งเครื่องหนัง น้ำหอม เครื่องประดับ เหล้า ไวน์ และช็อกโกแลต เป็นต้น และเพื่อเสริมฐานธุรกิจให้มีความหลากหลายในการบริการ ขณะนี้ได้มีการให้บริการนำเที่ยวจากระนองสู่เกาะสนแล้วข้ามต่อไปยังพม่า เพื่อข้ามไปเยี่ยมชมวิถีชีวิตชาวพม่า และเลือกซื้อสินค้าโดยเฉพาะอัญมณีที่มีชื่อเสียง และสินค้าพื้นเมืองร้านบริการต่างๆ กำหนดให้เช่าระยะยาว 20 ปี โดยคาดว่าปลายปีนี้คงจะเริ่มดำเนินการได้


 


แหล่งข่าวจากเทรชเชอร์  ไอร์แลนด์  รีสอร์ท  (TREASURE ISLAND RESORT) ในเครือ VERC จากประเทศสิงคโปร์ เปิดเผยว่า ทางกลุ่มเวอร์คจากสิงคโปร์ได้เปิดให้บริการกาสิโน โรงแรม และรีสอร์ต แห่งใหม่บนเกาะคู่ประเทศพม่า ด้านติดกับจังหวัดระนองของไทย หลังจากที่ทางกลุ่มได้เข้าไปเจรจากับรัฐบาลพม่าเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา เพื่อขอเช่าเกาะคู่ (KU) ซึ่งเป็นเกาะขนาดเล็กตั้งอยู่ทางตอนใต้ของวิกตอเรียพอยต์ หรือจังหวัดเกาะสอง ใกล้กับจังหวัดระนองของไทยเพื่อลงทุนสร้างอาณาจักรกาสิโนครบวงจรขนาดใหญ่ด้วยเงินลงทุนมากถึง 2,000 ล้านบาท


 


เหตุผลที่ทางกลุ่มเวอร์คคลับได้เลือกประเทศพม่าเป็นที่ตั้งอาณาจักรกาสิโนแห่งใหม่ เป็นเพราะการเดินทางของกลุ่มลูกค้าที่ส่วนใหญ่เป็นชาวสิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ บรูไน อินโดนีเซีย  และไทยสามารถเดินทางได้สะดวก(ฐานเศรษฐกิจ วันที่ 09/10/2551)


 


 


Newsline เป็นกิจกรรมหนึ่งของโครงการวิจัยไทย (Thai Research) มูลนิธิส่งเสริมสันติวิถี (Peaceway Foundation) เป็นการรวบรวมข่าวภาษาไทย พร้อมทั้งการนำเสนอบทความภาษาไทยเกี่ยวกับประเทศพม่า และผลกระทบที่มีต่อประเทศไทย เพื่อให้ผู้คนในสังคมไทยได้รับรู้ ตระหนักถึงความเป็นจริงที่เกิดขึ้นกับประชาชนในพม่า และเพื่อกระตุ้นให้เกิดการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาและรณรงค์ให้เกิดสันติภาพที่แท้จริงในประเทศพม่าต่อไป


 


ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการวิจัยไทย และโครงการอื่นๆ ติดตามได้ที่ www.burmaissues.org


และสามารถอ่านข่าวย้อนหลังได้ที่ www.oknation.net/blog/burmaissuesnewsline

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net