Skip to main content
sharethis

บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์


 


นับจากนี้ไปอีกประมาณ 2 เดือน ประเทศไทยจะมีการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน (ASEAN Summit) ครั้งที่ 14 ระหว่างวันที่ 15-18 ธันวาคม 2551 ในปี 2551 นี้ยังเป็นปีที่มีความสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ ประเทศไทยได้รับตำแหน่งประธานภายใต้รัฐธรรมนูญอาเซียนหรือกฎบัตรอาเซียน (ASEAN Charter) (ก.ค. 2551 - ธ.ค. 2552) และดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ  ดำรงตำแหน่งเลขาธิการอาเซียน รวมถึงในช่วงเวลาดังกล่าวภาคประชาสังคมไทยก็ได้มีการจัดเวทีคู่ขนานขึ้นด้วยเช่นกันในชื่อ "มหกรรมประชาชนอาเซียน" (ASEAN People Forum : APF) ในวันที่ 13-15 ธันวาคม 2551 ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประเด็นสำคัญหนึ่งที่จะถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงทั้งในเวทีของภาครัฐและเวทีของภาคประชาชน คือ "เรื่องแรงงานข้ามชาติ"


 


ในภูมิภาคอาเซียนมีแรงงานข้ามชาติจำนวนมากต่างข้ามพรมแดนย้ายถิ่นไปทำงานอีกประเทศหนึ่งอยู่ตลอดเวลา เพราะในปัจจุบันการเดินทางข้ามพรมแดนเป็นไปด้วยความสะดวกและง่ายกว่าในอดีต เราจึงพบเห็น "แรงงานต่างด้าว" ในประเทศไทย รวมถึงมีแรงงานไทยจำนวนมากที่ไปทำงานต่างประเทศ แรงงานเหล่านี้ต่างมีส่วนเอื้ออำนวยในเศรษฐกิจและสังคมของทั้งประเทศผู้รับแรงงานและผู้ส่งแรงงาน อย่างไรก็ตามปัญหาหนึ่งที่สำคัญของแรงงานข้ามชาติเหล่านี้เมื่อใช้ชีวิตอยู่อีกประเทศหนึ่ง คือ การไม่ได้รับความคุ้มครองในด้านต่างๆ มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน มีการเลือกปฏิบัติ การกดขี่ข่มเหง การใช้แรงงานที่ผิดกฎหมาย รวมถึงเรื่องของการค้ามนุษย์


 


จากสถานการณ์ดังกล่าวจึงทำให้ในเวทีประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 12 เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2550 ที่ผ่านมา ณ เกาะเซบู (Cebu) ประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งมีการรับรองและลงนามในเอกสารต่างๆ รวมถึงการหารือในประเด็นสำคัญหลายประการ หนึ่งในนั้น คือ การลงนามในปฏิญญาว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิแรงงานข้ามชาติ เพื่อให้เป็นไปตามหลักการสร้างความเข้มแข็งทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคมของประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) ที่มีความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนของตน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่อยู่ในภาคส่วนที่เปราะบางและเสียเปรียบ


 


ปฏิญญาดังกล่าวมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า ปฏิญญาสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ว่าด้วยการคุ้มครองและการส่งเสริมสิทธิของแรงงานข้ามชาติ (ASEAN Declaration on the Protection and Promotion of the Rights of Migrant Workers)[1]


 


ปฏิญญาฉบับนี้ประกาศว่าประเทศสมาชิกของอาเซียนจะต้องคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของแรงงานข้ามชาติในกลุ่มประเทศอาเซียน ส่งเสริมสวัสดิการ และศักดิ์ศรีของแรงงานข้ามชาติ โดยประเทศสมาชิกอาเซียนได้ให้คำมั่นว่าจะใช้มาตรการที่ชัดเจนในการจัดการกับการลักลอบขนย้ายและการค้ามนุษย์ มีการนำบทลงโทษขั้นรุนแรงมาใช้กับผู้ที่กระทำความผิด รวมทั้งประเทศที่ว่าจ้างแรงงานจะต้องให้ความช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติที่ถูกแสวงประโยชน์ ละเมิดสิทธิหรือถูกทำร้าย ในกรณีที่แรงงานดังกล่าวถูกจับกุมประเทศที่ว่าจ้าง จะต้องอำนวยความสะดวกในการให้เจ้าหน้าที่กงสุลหรือเจ้าหน้าที่การทูตของประเทศลูกจ้างเข้ามาดำเนินการช่วยเหลือร่วมด้วย


 


รู้จัก


เนื้อหาปฏิญญาประกอบด้วย 4 ส่วน คือ หลักการทั่วไป พันธกิจของประเทศผู้รับ พันธกิจของประเทศผู้ส่ง และพันธกิจของอาเซียน ดังนี้[2]


 


หลักการทั่วไป


1.        ทั้งประเทศผู้รับและประเทศผู้ส่งจะต้องสร้างพื้นฐานหลักทางด้านการเมือง เศรษฐกิจและสังคมของประชาคมอาเซียนให้มีความแข็งแกร่ง โดยการส่งเสริมศักยภาพสูงสุดและศักดิ์ศรีของแรงงานข้ามชาติ ในสภาพแวดล้อมที่มีเสรีภาพ ความยุติธรรม และความมั่นคงโดยที่สอดคล้องกับกฎหมาย ระเบียบ และนโยบายของประเทศสมาชิกอาเซียนแต่ละประเทศ


2.        ด้วยเหตุผลทางด้านมนุษยธรรม ประเทศผู้รับและประเทศผู้ส่งจะต้องร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดในการที่จะแก้ปัญหาของกรณีแรงงานข้ามชาติ ซึ่งได้กลายเป็นบุคคลที่ไม่มีเอกสารรับรองโดยไม่ได้เป็นความผิดของพวกเขา


3.        ประเทศผู้รับและประเทศผู้ส่งจะต้องคำนึงถึงสิทธิพื้นฐานและศักดิ์ศรีของแรงงานข้ามชาติและสมาชิกในครอบครัว ซึ่งพำนักอยู่กับแรงงานเหล่านั้นอยู่แล้ว โดยที่ไม่เป็นการทำความเสียหายต่อการที่ประเทศผู้รับจะบังคับใช้กฎหมาย ระเบียบ และนโยบายของตน


4.        จะไม่มีสิ่งใดในปฏิญญาฉบับปัจจุบันที่จะถูกตีความโดยนัยในการแปลงสถานภาพทางกฎหมายของแรงงานข้ามชาติที่เข้าเมืองโดยปราศจากเอกสารที่ถูกต้อง


           


พันธกิจของประเทศผู้รับ


5.        เพิ่มความพยายามที่จะคุ้มครองสิทธิความเป็นมนุษย์ขั้นพื้นฐาน ส่งเสริมสวัสดิการ และดำรงไว้ซึ่งศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ของแรงงานข้ามชาติ


6.        ดำเนินการเพื่อที่จะบรรลุถึงความสามัคคีปรองดองและความอดทนอดกลั้นระหว่างประเทศผู้รับกับแรงงานข้ามชาติ


7.        อำนวยความสะดวกให้แรงงานข้ามชาติสามารถเข้าถึงแหล่งทรัพยากรและหนทางแก้ไข จากการได้รับข้อมูลข่าวสาร การฝึกอบรมและการศึกษา การได้รับความยุติธรรมตลอดจนการบริการด้านสวัสดิการสังคมตามที่เหมาะสม และโดยที่สอดคล้องกับกฎหมายของประเทศผู้รับ ทั้งนี้โดยที่บุคคลเหล่านั้นจะต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดต่างๆภายใต้กฎหมาย ระเบียบ และนโยบายที่ใช้บังคับอยู่ของประเทศนั้นๆตลอดจนข้อตกลงทวิภาคี และสนธิสัญญาพหุภาคี


8.        ส่งเสริมให้มีการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติให้ได้รับการจ้างงานและการจ่ายค่าจ้างที่เหมาะสมและยุติธรรม และมีโอกาสเพียงพอในการได้ทำงานที่มีคุณค่าและมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดี


9.        จัดให้แรงงานข้ามชาติซึ่งอาจจะตกเป็นเหยื่อของการเลือกปฏิบัติ การละเมิด การถูกแสวงประโยชน์ เอารัดเอาเปรียบ ความรุนแรง ได้รับโอกาสอย่างเพียงพอในการที่จะเข้าถึงระบบกฎหมายและระบบศาลของประเทศผู้รับ


10.     อำนวยความสะดวกในการใช้การดำเนินงานด้านกงสุล โดยเจ้าหน้าที่กงสุลหรือเจ้าหน้าที่ด้านการทูตของประเทศต้นทาง เมื่อแรงงานข้ามชาติถูกจับกุมหรือจะถูกจำคุก หรืออยู่ภายใต้อารักขา หรือถูกกักตัวไว้ในลักษณะใดก็ตาม ภายใต้กฎหมายและระเบียบต่างๆของประเทศผู้รับและโดยที่สอดคล้องกับอนุสัญญาเวียนนาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางกงสุล


 


พันธกิจของประเทศผู้ส่ง


11.     ส่งเสริมมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมและการคุ้มครองสิทธิของแรงงานข้ามชาติ


12.     ดำเนินการให้มั่นใจได้ว่าประชากรของตนมีโอกาสที่จะมีงานทำและโอกาสในการดำรงชีวิตอยู่ในฐานะที่เป็นทางเลือกที่ยั่งยืนแทนการย้ายถิ่นของคนงาน


13.     กำหนดนโยบายและกระบวนการในการที่จะอำนวยความสะดวกในด้านต่างๆที่เกี่ยวกับการย้ายถิ่นฐานของแรงงาน ซึ่งรวมไปถึงการสรรหา การจัดเตรียมการเพื่อส่งแรงงานไปยังต่างประเทศและการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติเมื่ออยู่ต่างประเทศ รวมไปถึงการส่งกลับประเทศและการเตรียมความพร้อมเพื่อกลับคืนถิ่นฐานเดิม


14.     จัดตั้งและส่งเสริมวิธีปฏิบัติทางด้านกฎหมายในการที่จะกำกับดูแลการสรรหาแรงงานข้ามชาติและการรับเอากลไกในการที่จะลดวิธีปฏิบัติในการสรรหาแรงงานข้ามชาติที่ไม่ถูกต้องไปใช้ โดยการใช้สัญญาที่ถูกต้องตามกฎหมายและมีผลสมบูรณ์ การกำกับดูแลและการรับรองตัวแทนจัดหาแรงงานและนายจ้าง รวมไปถึงการทำบัญชีดำสำหรับตัวแทนจัดหาแรงงานที่ละเลยหรือปฏิบัติไม่ถูกต้องตามกฎหมาย


 


พันธกิจของอาเซียน


15.     ส่งเสริมให้มีการทำงานที่มีคุณค่า มีมนุษยธรรม มีผลิตผล มีศักดิ์ศรี และมีค่าตอบแทนสำหรับแรงงานข้ามชาติ


16.     จัดตั้งและดำเนินการโครงการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และโครงการเตรียมความพร้อมเพื่อคืนถิ่นฐานเดิมสำหรับแรงงานข้ามชาติในประเทศต้นทาง


17.     ใช้มาตรการที่เป็นรูปธรรมในการที่จะป้องกันหรือลดอัตราการลักลอบขนคนข้ามประเทศและการค้ามนุษย์ โดยการกำหนดบทลงโทษที่มีความรุนแรงมากขึ้นสำหรับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในกิจกรรมเหล่านั้นนอกเหนือจากมาตรการอื่นๆ


18.     อำนวยความสะดวกให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันในเรื่องต่างๆที่เกี่ยวข้องกับแรงงานข้ามชาติ เพื่อประโยชน์ในการที่จะส่งเสริมนโยบายและแผนต่างๆที่เกี่ยวข้องกับแรงงานข้ามชาติทั้งในประเทศผู้ส่งและประเทศผู้รับ


19.     ส่งเสริมการสร้างขีดความสามารถโดยการแบ่งปันข้อมูล วิธีปฏิบัติที่ดีที่สุด ตลอดจนโอกาสและปัญหาต่างๆ ซึ่งสมาชิกของกลุ่มอาเซียนต้องประสบในส่วนที่เกี่ยวกับการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิและสวัสดิการของแรงงานข้ามชาติ


20.     ขยายขอบเขตความช่วยเหลือที่จัดให้แก่แรงงานข้ามชาติของประเทศสมาชิกอาเซียน ผู้ซึ่งตกอยู่ในสถานการณ์ขัดแย้ง หรือในสถานการณ์วิกฤตินอกเขตอาเซียนในกรณีที่มีความจำเป็น และโดยที่ขึ้นอยู่กับขีดความสามารถและกำลังของสถานทูตหรือสถานกงสุลของประเทศสมาชิกอาเซียนที่เกี่ยวข้อง โดยยึดถือตามการปรึกษาหารือและการจัดการระดับทวิภาคีต่างๆ


21.     สนับสนุนองค์กรระหว่างประเทศ คู่เจรจาอาเซียนและประเทศอื่นๆให้ยอมรับนับถือหลักการเหล่านี้และให้การสนับสนุนตลอดจนความช่วยเหลือในการที่จะนำมาตรการต่างๆในปฏิญญานี้ไปดำเนินการ


22.     มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของอาเซียนทำการติดตามเกี่ยวกับปฏิญญานี้และพัฒนาเครื่องมือของอาเซียนในการที่จะคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิต่างๆของแรงงานข้ามชาติ โดยที่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของอาเซียนในการที่เป็นประชาคมที่ห่วงใยและร่วมมือซึ่งกันและกัน ตลอดจนสั่งการให้เลขาธิการอาเซียนส่งรายงานประจำปีเกี่ยวกับความคืบหน้าของการนำเอาปฏิญญาไปดำเนินการในการประชุมสุดยอดโดยผ่านทางการประชุมรัฐมนตรีอาเซียน


 


จากปฏิญญาทั้ง 22 ข้อ ดังกล่าวข้างต้น จึงทำให้ต่อมาในวันที่ 30 กรกฎาคม 2550 ที่กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ ได้มีแถลงการณ์ร่วมกันของรัฐมนตรีต่างประเทศของประเทศต่างๆในอาเซียน เพื่อก่อตั้งคณะกรรมการอาเซียนเพื่อติดตามการดำเนินงานตามปฏิญญา[3] โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเอื้อประโยชน์ในการพัฒนาให้อาเซียนมีเครื่องมือในการส่งเสริมและปกป้องสิทธิของแรงงานข้ามชาติ คณะกรรมการจะมาจากผู้แทนอาวุโสจากประเทศสมาชิกประเทศละหนึ่งคน และผู้แทนหนึ่งคนจากฝ่ายเลขาธิการอาเซียน โดยมีเลขานุการจากกองเลขาธิการอาเซียนคอยช่วยเหลือและอำนวยความสะดวก คณะกรรมการมีหน้าที่ดังต่อไปนี้


1.        แสวงหาวิธีการต่างๆเพื่อให้เกิดการบรรลุผลตามวัตถุประสงค์ของปฏิญญา


2.        อำนวยความสะดวกในการแลกเปลี่ยนรูปแบบการปฏิบัติงานที่ดีที่สุดสำหรับอาเซียน ที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมและปกป้องสิทธิของแรงงานข้ามชาติ


3.        ส่งเสริมการทำงานร่วมกันในภูมิภาคและทวิภาคี และช่วยเหลือในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสิทธิของแรงงานข้ามชาติ


4.        อำนวยความสะดวกการแบ่งปันข้อมูลเรื่องแรงงานข้ามชาติ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุงนโยบายและแนวทางในการส่งเสริมและปกป้องสิทธิแรงงานข้ามชาติทั้งในประเทศที่ส่งและรับแรงงาน


5.        กระตุ้นองค์กรระหว่างประเทศ องค์กรนานาชาติ และประเทศอื่นๆ ให้เคารพหลักการและเพิ่มการสนับสนุนและช่วยเหลือการดำเนินการของมาตรการต่างๆที่มีอยู่ในปฏิญญา


6.        ส่งเสริมความกลมกลืนของกลไกการทำงานร่วมกันระหว่างประเทศที่ส่งแรงงานและรับแรงงาน ในการส่งเสริมและปกป้องสิทธิของแรงงานข้ามชาติ เพื่อให้เป็นไปตามข้อตกลงของอาเซียนที่ระบุไว้ในข้อที่ 17 ของปฏิญญา


7.        ทำงานอย่างใกล้ชิดกับกองเลขานุการอาเซียน ในการเตรียมการรายงานของเลขาธิการอาเซียนต่อการประชุมสุดยอดอาเซียน


8.        ทำงานเพื่อการพัฒนาเครื่องมือของอาเซียนในการปกป้องและส่งเสริมสิทธิแรงงานข้ามชาติ


 


เข้าใจ[4]


อย่างไรก็ตามแม้ประเทศไทยและประเทศอื่นๆในอาเซียนจะรับปฏิญญาสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ว่าด้วยการคุ้มครองและการส่งเสริมสิทธิของแรงงานข้ามชาตินี้แล้วก็ตาม ก็ไม่ได้หมายความว่า การละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อแรงงานข้ามชาติในประเทศต่างๆของภูมิภาคนี้จะหมดไปหรือไม่เกิดขึ้น กล่าวคือ


 


ประการแรก เราต้องเข้าใจร่วมกันในเบื้องต้นก่อนว่า ปฏิญญาไม่ใช้กฎหมายที่มีผลผูกพันต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ปฏิญญาไม่มีพันธะผูกพันในแง่กฎหมายระหว่างประเทศ ปฏิญญาเป็นเพียงการให้คำมั่นสัญญาหรือแสดงการยืนยันร่วมกันเพื่อประกาศเจตนารมณ์ของบรรดารัฐต่างๆ เพื่อที่จะกำหนดมาตรฐานแห่งการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขของมวลมนุษยชาติเท่านั้น เป็นความตกลงระหว่างประเทศร่วมกัน ฉะนั้นแม้รัฐใดๆที่ลงนามจะไม่ปฏิบัติตาม ก็ไม่ถือว่าเป็นการละเมิดปฏิญญานี้ หรือเป็นความผิดทางกฎหมาย รวมถึงไม่ถือว่าเป็นมาตรการเพื่อควบคุมไม่ให้เกิดการละเมิดสิทธิต่อแรงงานข้ามชาติด้วย สิ่งที่รัฐหรือประชาคมในอาเซียนอื่นๆจะกระทำได้ คือ การเรียกร้อง กดดัน ให้มีการปฏิบัติตาม พูดง่ายๆคือ สามารถประณามประเทศที่ไม่ปฏิบัติตามได้ หยิบยกประเด็นที่เกิดขึ้นมากดดันรัฐบาลนั้นๆได้ แต่เอาผิดทางกฎหมายไม่ได้ เป็นเพียงประเด็นเชิงจริยธรรมทางการเมือง


 


ประการที่สอง แม้ปฏิญญาไม่ได้มีฐานะเป็นกฎหมาย แต่ปฏิญญามีความสำคัญในฐานะที่เป็นหลักการสำคัญของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขบนโลกใบนี้ เราต้องไม่ลืมว่าจนบัดนี้ยังมีประเทศอีกหลายประเทศในอาเซียน เช่น ประเทศไทย ที่ยังไม่ยอมรับอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิแรงงานข้ามชาติและสมาชิกในครอบครัว 1990 (International Convention on the Protection of the Rights of All Migrant Workers and Members of Their Families) อนุสัญญามีฐานะเทียบเท่ากฎหมายที่รัฐต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด โดยรัฐบาลจะต้องนำบทบัญญัติที่ระบุไว้ในอนุสัญญามาใช้ในประเทศของตนเอง เมื่อรัฐใดๆก็ตามเป็นภาคีอนุสัญญาต่างๆ หมายความว่า รัฐยอมรับที่จะปฏิบัติตามหลักการของอนุสัญญานั้นๆ จะไม่มีการเลือกปฏิบัติทั้งโดยเจตนาหรือไม่เจตนา จะคำนึงถึงความเสมอภาคในผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้น รวมถึงพันธะสัญญาที่รัฐต้องดำเนินการ จึงทำให้มีรัฐจำนวนมากเลือกที่จะมองไม่เห็นการมีอยู่ของอนุสัญญาหลายๆฉบับ ฉะนั้นเมื่อรัฐยังไม่ยอมรับอนุสัญญา ปฏิญญาจึงถือเป็นก้าวแรกที่สำคัญและท้าทายอย่างยิ่งที่จะผลักดันให้รัฐบาลประเทศต่างๆยอมรับกฎหมายหรืออนุสัญญาฉบับอื่นๆที่เกี่ยวข้องต่อไป ถือได้ว่าปฏิญญาเป็นความพยายามทางการเมืองของรัฐต่างๆเพื่อแสวงหาแนวทางการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข เป็นหลักประกันว่าแรงงานข้ามชาติของแต่ละประเทศจะได้รับความคุ้มครองเมื่อมีการย้ายถิ่นไปทำงานในอีกประเทศหนึ่ง


 


ประการที่สาม ปฏิญญาจะมีความสำคัญก็ต่อเมื่อมีการถูกพูดถึง หยิบยกมากล่าวซ้ำแล้วซ้ำเล่าเพื่อชี้ให้เห็นหลักการที่ปฏิญญาได้ประกาศไว้ร่วมกัน เช่นกรณีของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ซึ่งไม่มีฐานะทางกฎหมาย แต่ปฏิญญาฉบับนี้ก็จะถูกอ้างถึงเสมอมาในเวลาเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนทั้งในระดับประเทศและระหว่างประเทศ และรัฐบาลหลายประเทศมักจะปฏิบัติตาม จนในที่สุดปฏิญญาฉบับนี้กลายเป็นจารีตระดับโลก มีความศักดิ์สิทธิ์ขึ้นมา ปฏิญญาจึงเปรียบเสมือนกฎหมายแบบจารีต ซึ่งเป็นที่ยอมรับร่วมกันเพื่อป้องปรามมิให้ความขัดแย้งในสังคมรุนแรงมากขึ้น แต่ไม่ได้หมายว่ามีจารีตระดับโลกแล้วจะไม่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน ก็ยังพบอยู่เช่นกันว่า ยังมีอีกหลายประเทศไม่ใส่ใจ ไม่ตระหนัก หลับตามองไม่เห็น แต่อย่างน้อยปฏิญญาช่วยทำให้รัฐต่างๆเกิดอาการละอายใจบ้างเวลาจะกระทำการใดๆในทำนองการละเมิดสิทธิ


 


ประการที่สี่ ปฏิญญาเอื้ออำนวยให้องค์กรระหว่างประเทศ เช่น ILO สามารถทำงานกับอาเซียนได้มากขึ้น เพราะที่ผ่านมาองค์กรระหว่างประเทศมักจะทำงานเพียงระดับรัฐเท่านั้น แต่ไม่ได้ทำงานในระดับภูมิภาค หรือในระดับการรวมกลุ่มระหว่างประเทศ เช่น อาเซียน ปฏิญญาฉบับนี้ได้ประกาศอย่างชัดเจนถึงการร่วมมือและสนับสนุนการทำงานร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม


 


ประการที่ห้า ปฏิญญาข้อสุดท้าย กล่าวอย่างชัดเจนถึงการจัดทำรายงานสถานการณ์ต่างๆประจำปี เพื่อให้เลขาธิการอาเซียนนำรายงานดังกล่าวนั้นไปรายงานในที่ประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน นั้นหมายความว่า ปฏิญญากลายเป็นกลไกทางการเมืองที่แสดงถึงศักยภาพของเลขาธิการอาเซียนที่จะต้องทำให้ข้อตกลงต่างๆในคำประกาศส่งผลเชิงรูปธรรมขึ้นมาให้ได้ รวมถึงแรงงานข้ามชาติก็สามารถใช้กลไกดังกล่าวร้องเรียนการละเมิดสิทธิผ่านทางเลขาธิการอาเซียนได้


 


ประการสุดท้าย อย่าฝากความหวังไว้กับปฏิญญาว่าจะแก้ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนของแรงงานข้ามชาติได้ เพราะในความเป็นจริงก็เห็นชัดเจนว่าหลายประเทศในอาเซียนนี้ก็ไม่เคารพหลักการสิทธิมนุษยชนต่อแรงงานข้ามชาติ เช่น ประเทศไทย ดูได้จากการที่ปัจจุบันในหลายจังหวัดทางภาคใต้ของประเทศไทยก็ยังไม่ยกเลิกประกาศจังหวัด หรือกรณีพรบ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 ก็แสดงให้เห็นถึงการขัดกันในหลักการ กล่าวได้ว่า ปฏิญญาคือ "รูปแบบการทำงานแบบอาเซียน อาเซียน ที่ไม่หักหน้ากัน และยังต้องอยู่ร่วมกับประเทศอื่นๆในประชาคมโลกแห่งนี้" (แต่อาจแก้ปัญหาไม่ได้จริง ดูกรณีพม่าเป็นตัวอย่าง) ฉะนั้นเมื่อเกิดประเด็นปัญหาขึ้นมา ชี้ให้เห็นว่าอาเซียนไม่ใช่องค์กรแบบหัวเดียวกระเทียมลีบอีกต่อไป ถ้าอาเซียนไม่แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นดังกล่าว อาเซียนก็จะถูกอีกหลายประเทศหยิบยกมาเป็นวาระทางการเมืองได้ต่อไป


 






[1] ดูต้นฉบับที่ http://www.aseansec.org/19264.htm



[2] การแปลเป็นภาษาไทย อ้างอิงจากเอกสารสัมมนาระดับชาติเรื่อง "ปฏิญญาสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ว่าด้วยการคุ้มครองและการส่งเสริมสิทธิแรงงานต่างด้าว" โรงแรมแกรนด์เมอร์เคียว ฟอร์จูน กรุงเทพฯ 9 กรกฎาคม 2550 จัดโดยกระทรวงแรงงาน และองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO)



[3] ดูแถลงการณ์ที่ http://www.aseansec.org/20768.htm



[4] ผู้เขียนได้ความคิดทั้งหกประการมาจากการสนทนากับพรสุข เกิดสว่าง และอดิศร เกิดมงคล เป็นสำคัญ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net