Skip to main content
sharethis

อุบลฯ / 17-19 ตุลาคม 2551 เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน และภาคใต้ เครือข่ายป่าชุมชนและโครงการแก้ไขปัญหาที่ดินและป่าทั้งในภาคอีสานและภาคใต้ ร่วมกับองค์กรพัฒนาเอกชนสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ร่วมกันจัดสัมมนา รณณรงค์เผยแพร่และการขับเคลื่อนทางนโยบาย "นโยบายพืชพลังงานและพืชยางพารา : โอกาส & ความเสี่ยงของเกษตรกร" เพื่อสร้างฐานองค์ความรู้ให้แก่เกษตรกรทั้งสองภาคและสังคมไทย ณ ห้องประชุมศรีเมืองใหม่ ตึกอธิการบดี มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มีผู้เข้าร่วมจากภาคใต้ ภาคกลาง ภาคอีสาน กว่า 100 คน


 


นางศยามล ไกยูรวงศ์ โครงการเสริมสร้างจิตสำนึกนิเวศวิทยา ตัวแทนคณะทำงานฯ กล่าวว่า เวทีครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนประสบการณ์นโยบายพืชน้ำมันและพืชยางพาราที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร เพื่อให้เกษตรกรได้รู้เท่าทันและวางแผนในการปรับเปลี่ยนระบบการผลิตอย่างไรที่จะเหมาะสมกับสภาพของระบบนิเวศและรักษาความมั่นคงทางอาหารให้ยั่งยืนในอนาคต รวมทั้งการยังมีการนำเสนองานศึกษาเพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนปรังปรุงนโยบายของรัฐ ในการส่งเสริมรักษาความมั่นคงทางอาหารในพื้นที่ภาคใต้และภาคอีสานด้วย


 


ทางด้านกำหนดการสัมมนา คณะทำงานก็ได้แบ่งกลุ่มผู้เข้าร่วมลงพื้นที่ศึกษาเป็น ๒ กลุ่ม ในวันที่ 17 ตุลาคม 2551 กลุ่มแรกศึกษาพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมัน บ้านโคกเจริญ หมู่ 6 ต.ละลาย อ.กันทรลักษณ์ จ.ศรีสะเกษ และกลุ่มสอง ลงศึกษาพื้นที่ปลูกยางพารา บ้านนาคำ อ.ตระกาลพืชผล จ.อุบลราชธานี และนำเสนอสิ่งที่ได้พบ ข้อสังเกต รวมทั้งประเด็นแลกเปลี่ยนระดับพื้นที่ ดังนี้


 


นำเสนอผลการลงพื้นที่กรณี ปาล์มน้ำมัน พื้นที่บ้านโคกเจริญ หมู่ 6 ต.ละลาย อ.กันทรลักษณ์


จ.ศรีสะเกษ โดย คุณนาฏพงศ์ พัฒนศิริพันธ์ชัย มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืนแห่งประเทศไทย


 


ปาล์ม คือ "ความหวัง" ได้ปลดหนี้สินเสียที...?????


บ้านโคกเจริญ เป็นชุมชนลาว ที่มีการอพยพ ตั้งถิ่นฐานมาแทนที่ชุมชนเขมรเดิม มีประชากรกว่าพันคน จาก 115 ครอบครัว เกษตรกรที่นี่ถือครองที่ดินไม่เกินคนละ 50 ไร่ ส่วนใหญ่เป็นที่ดิน สปก. สภาพนิเวศโดยทั่วไปนั้น เป็นพื้นที่ราบเชิงเขา ดินดี มีความอุดมสมบูรณ์มาก น้ำใต้ดินอยู่ตื้น ขุดลงไปเพียง 4-5 เมตรก็เจอน้ำใต้ดินแล้ว ฝนตกเฉลี่ย 7 เดือนในรอบ 1 ปี ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงเดือนพฤศจิกายน


 


พัฒนาการระบบการผลิตของชุมชนบ้านโคกเจริญ พืชดั้งเดิมที่เกษตรกรนิยมปลูกคือข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มีการปรับเปลี่ยนพันธุ์มาเรื่อย ๆ เพราะเป็นการผลิตเพื่อขายต้องเน้นเรื่องผลผลิตต่อไร่สูง ๆ ทำให้เกิดภาระหนี้สินจากการลงมากมาย ต่อมาก็หันมาผลิตพืชตัวใหม่คือ มันสำปะหลัง หนี้สินก็ยิ่งสะสมมากขึ้น ยุคต่อมาก็มีการนำยางพาราเข้ามาปลูกในพื้นที่ โดยกำนันตำบลละลายเป็นผู้นำเข้ามาส่งเสริม ช่วงนั้นได้ผลดี ราคาก็ดี ทำให้เกษตรกรหลายคนเปลี่ยนพื้นที่มาปลูกยางพารากันมากขึ้น แต่ยังไม่ค่อยมีตลาดรับซื้อ มีการปลูกไม้ผลเพื่อการค้าแซมกับสวนยาง แต่ว่าต้นทุนค่อนข้างสูง แล้วราคาไม้ผลก็ไม่แน่นอน ทำให้เกษตรกรต้องเป็นหนี้สินเพิ่มขึ้น ด้วยเหตุที่เกษตรกรไม่ประสบผลสำเร็จจากการปลูกพืชเศรษฐกิจดังกล่าวข้างต้น ทำให้เกิดการสรุปบทเรียนร่วมกันของเกษตรกรบ้านโคกเจริญว่า ต้องลองปลูกพืชตัวใหม่ คือ "ปาล์มน้ำมัน" โดยการน้ำเข้ามาของผู้ใหญ่ชาลี สั่งกล้าปาล์มมา ครั้งแรก 7 รถพ่วง ปลูกมา 3 ปี 4 เดือนแล้ว


 


แรงจูงใจของเกษตรกรคือคิดว่า "ปาล์ม" ดูแลง่าย ใช้ระยะเวลาน้อยในการให้ผลผลิต เมื่อเทียบกับยางพารา สามารถเก็บผลผลิตได้ทุก ๆ เดือน ราคาดี เห็นเงินหมื่นภายใน 2-3 ปี ได้ผลตอบแทนเร็วกว่ายางพารา เชื่อว่ามีตลาดรับซื้อเพราะรัฐกำลังส่งเสริมเรื่องการปลูกพืชพลังงานเพื่อทดแทนน้ำมัน เชื่อว่ามีแนวโน้มที่จะมีการตั้งโรงงาน เช่นที่จังหวัดอุบลราชธานี รวมทั้งเห็นตัวอย่างแกนนำในชุมชน ที่ปลูกได้ผล ทำให้ตอนนี้เกษตรกรที่ปลูกปาล์มเพิ่มจาก 20 รายเป็น 40 รายแล้ว


 


กรณีศึกษาแปลงตัวอย่าง คือแปลงนายมานิต ซึ่งมีพื้นที่ปลูก 19 ไร่ สามารถเก็บผลผลิตได้ เฉลี่ยปีละ 10 เดือน รายได้ผลผลิตเฉลี่ย 2,800 กก./19 ไร่/รอบ คิดเป็นเงิน (กก. 3 บาท) = 8,700 บาท/ไร่/ปี มีต้นทุน คือ ค่าปุ๋ยเคมี 25 ถุง/ปี (@1,500) = 1,980 บาท/ไร่/ปี ยาฆ่าหญ้า 9 แกลลอน/ปี (@ 850 บาท) = 402 บาท/ไร่/ปี ค่าแรงเก็บปาล์ม ครั้งละ 600 บาท = 631 บาท/ไร่/ปี รวม 3,013 บาท (ไม่รวมค่าขนส่ง ค่าแรงเจ้าของสวน ฯลฯ) สรุปแล้วกำไร 8,700 - 3,013 = 5,687 บาท/ไร่/ปี


 


กรณีศึกษาแปลงตัวอย่างที่สอง คือ แปลงนายเสริม พื้นที่ปลูก 10 ไร่ ได้เก็บผลผลิตเฉลี่ยปีละ 10 เดือน เช่นกัน มีรายได้ จากผลผลิตเฉลี่ย 1,188 กก./10 ไร่/รอบ -> 2,376 กก./ไร่/ปี คิดเป็นเงิน (กก. 3 บาท) = 7,128 บาท/ไร่/ปี มีต้นทุน เป็นค่าปุ๋ยเคมี 9 ถุง/ปี (@1,500) = 1,350 บาท/ไร่/ปี ยาฆ่าหญ้า รวมค่าจ้างฉีด = 220 บาท/ไร่/ปี ไม่มีค่าแรงเก็บปาล์ม (เจ้าของสวนทำเอง) รวม 1,570 บาท/ไร่/ปี สรุปกำไร 7,128 - 1,570 = 5,558 บาท/ไร่/ปี ไม่รวมค่าแรงและค่าขนส่ง


 


จากข้อสังเกตโดยรวมของทีมศึกษา เห็นว่า ดินแถบนี้มีความสมบูรณ์มาก ระดับความชื้นเหมาะสม แต่เกษตรกรเน้นการปลูกพืชเชิงเดี่ยวเต็มพื้นที่หลาย ๆ ไร่ และมีการปลูกพืชอื่นๆแซมปาล์มและยางเกือบทั้งหมด ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นพืชเศรษฐกิจผลิตเพื่อขาย


 


จากกรณีศึกษาจากแปลงตัวอย่างทั้งสองแปลง ผลที่เกิดขึ้นคือมีผลกำไรต่อไร่ประมาณ 5,500 บาท (ยังไม่คิดค่าแรงและค่าขนส่ง) ถือว่าเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจที่ดี เกษตรกรมีรายได้ดี ได้จับเงินหมื่น แต่ก็ยังไม่สามารถที่จะได้เงินก้อนเพื่อปลดหนี้สินได้ เกษตรกรยังมีหนี้สินอยู่ ปาล์มเป็นพืชน้ำมันที่กำลังเข้ามาในภาคอีสาน ทำให้ยังไม่เห็นผลกระทบที่เกิดขึ้นได้ชัดเจนนัก ทว่าเกษตรกรยังเชื่อว่าถ้าปลูกปาล์มพวกเขาจะสามารถใช้เวลาที่เหลือไปทำอาชีพอื่น ๆ ได้อีก แต่ผลกระทบทางด้านความมั่นคงทางด้านอาหารของเกษตรกรนั้น ยังไม่มีใครตอบได้ การผลิตเชิงพาณิชย์เกือบทั้งหมด แม้ว่าจะมีศักยภาพการผลิตที่มหาศาล แต่ต้องยึดโยงกับราคาที่ไม่แน่นอนและปัจจัยการผลิตนำเข้า ทำให้ ไม่สามารถสร้างพลังในการต่อรองได้อย่างแท้จริง หรือว่าพื้นที่จะมีความอุดมสมบูรณ์ ปลูกอะไรก็งอกงาม แต่ด้วยวิถีชีวิตที่ยังพึ่งพาปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้จำนวนมาก ทำให้ชีวิตมี  "ความเสี่ยง"   ท่ามกลางความอุดมสมบูรณ์ จึงเป็นคำถามร่วมกันว่า "แล้วอีก 10 ปี เกษตรกรที่นี่จะเป็นอย่างไร??? ปาล์ม คือ "ความหวัง" เป็นพืชสุดท้ายที่เกษตรกรจะค้นหาหรือไม่ ปาล์มจะช่วยปลดหนี้สิน...????? ต้องติดตาม


 


อีกด้านหนึ่งของพืชน้ำมัน ทีมศึกษาจากเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน ก็ได้ค้นคว้า ติดตามข้อมูล ลงพื้นที่เพื่อสรุปบทเรียน ความเป็นไปได้ ความยั่งยืนของพืชน้ำมันในอีสาน โดยได้ลงเก็บข้อมูล ร่วมกับเกษตรกรที่บ้านนาบอน ต.นาซ่าว อ.เชียงคาน จ.เลย กรณีปาล์มน้ำมัน นำเสนอข้อมูลศึกษาโดย คุณมาลี  สุปันตี


 


ปาล์ม ความหวังที่ไม่มีใครอยากร่วมรับผิดชอบ?


กรณีตัวอย่าง แปลงปลูกปาล์มพันธุ์ยังกัมบิมของนายประทับ  สืบสาย บ้านนาบอน ต.นาซ่าว อ.เชียงคาน จ.เลย ในพื้นที่ 35 ไร่ ต้นทุนที่เกิดขึ้น ประกอบด้วย ค่าต้นกล้าต้นละ 160 - 169 บาท รวม130,130  บาท ค่าวัสดุทำปุ๋ย  9,000 บาท ค่าจัดการระบบน้ำ 150,000 บาท ค่าปรับพื้นที่ 20,000  บาท ผลผลิตที่ได้รับ  890 กิโลกรัม ขายได้ราคา 2-3 บาท รวมเป็นเงิน 1,986  บาท รวมต้นทุน 309,130  บาท  ในระยะเวลา 3 ปีผ่านมาแล้ว นายประทับ มีรายได้สุทธิจำนวน 1,986 บาท ความคุ้มทุนอยู่ตรงไหน ...ค่าสูญเสียโอกาส...ความหวัง...ใครร่วมรับผิดชอบ????


 


จากแปลงดังกล่าว พบว่า มีปัญหาด้านคุณภาพสายพันธุ์ ความเพียงพอของปริมาณน้ำ ปุ๋ย ส่งผลให้ทะลายแห้งฝ่อ ผลไม่สามารถพัฒนาได้ การให้ผลผลิต สัดส่วนดอกตัวผู้มากกว่าดอกตัวเมีย การตลาด ราคาต่ำ ไม่มีตลาดที่แน่นอน แต่ที่เจ็บช้ำมากกว่านั้น คือ การรุกพื้นที่ของปาล์มน้ำมันในพื้นที่อาหาร ปรากฏในหลายพื้นที่ เช่น พื้นที่ปลูกไม้ผล ที่ อ.เชียงคาน พื้นที่นาข้าว นาที่ลุ่มใน อ.รัตนวาปี จ.หนองคาย อ.ชานุมาน จ.อำนาจเจริญ และพื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง การสูญเสียพื้นที่อันเคยเป็นแหล่งอาหารทั้งอาหารธรรมชาติ และการปลูกพืชผักอาหาร หากไม่มีมาตรการกำกับที่ชัดเจนและราคาจูงใจ จะส่งผลให้เกิดการขยายตัวเบียดแย่งพื้นที่ผลิตอาหารได้


 


จากการศึกษามีข้อเสนอแนะเบื้องต้นว่า เกษตรกรรายย่อยที่ยังไม่ตัดสินใจ มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเท่าทันข้อมูล ศึกษาอย่างละเอียดบนพื้นฐานความเป็นจริงของที่ดิน แหล่งน้ำ ตลาด และความรอบรู้เกี่ยวกับปาล์มน้ำมันก่อนที่จะตัดสินใจ  ใคร่ครวญต่อวิถีการผลิตที่ต้องพึงรักษาพื้นที่อาหาร แหล่งอาหารธรรมชาติ อย่าให้สูญเสียไปกับการผลิตพืชน้ำมัน ส่วนเกษตรกรที่ลงทุนปลูกไปแล้ว รัฐต้องประสานให้มีการรับซื้อ  สกัดปาล์มน้ำมันเพื่อใช้ในชุมชน  และจำเป็นที่ต้องหาข้อสรุปทางวิชาการในการศึกษา วิจัย ค้นคว้าข้อเท็จจริง ให้เกิดข้อสรุปที่ชัดเจนก่อนทำการส่งเสริมและเผยแพร่ข้อมูล ความรู้ต่อเกษตรกรและสาธารณะ ทั้งแง่มุมโอกาสและความเสี่ยงที่จะอาจเกิดขึ้น ไม่ใช่ปล่อยให้เกษตรกรตัดสินใจบนพื้นฐานการรับรู้ข้อมูลที่เห็นว่าจะได้ น่าจะให้ผลผลิตที่ดี หรือได้รับคำแนะนำจากกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจกล้าปาล์ม และสุดท้ายเกษตรกรก็ต้องเป็นผู้ที่แบกรับความเสี่ยงเพียงลำพัง


 


ทางด้าน ดร.อุดม คำชา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยปาล์มน้ำมัน จ.หนองคาย  มีความเห็นต่อพืชพลังงาน กรณี "ปาล์มน้ำมัน" ว่า ศูนย์วิจัยปาล์มเริ่มคิดค้นเรื่องนี้เมื่อปี 2548 ประมาณ 3 ปีที่แล้ว เมื่อก่อนเป็นศูนย์วิจัยพืชสวน เริ่มต้นโดยการเพาะพันธุ์ปาล์ม นำงานวิจัยต่าง ๆ เข้ามาศึกษาในภาคอีสาน ทางกรมวิชาการเกษตรวิเคราะห์แล้วว่ามีความเหมาะสมคือจังหวัดหนองคายและจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งมีปริมาณน้ำฝนมากเมื่อเทียบกับจังหวัดอื่น ๆ พื้นที่ปลูก 31,210 ไร่ ในภาคอีสาน การศึกษาของศูนย์วิจัยปาล์มกำลังทดลองปาล์มพันธุ์ลูกผสมสุราษฏร์ธานี 1-6 ระยะปลูก 9x9 เมตร (22 ต้น/ไร่) ให้ปุ๋ยตามหลักวิชาการปาล์มน้ำมัน ให้น้ำแบบมินิสปริงเกลอร์ ปลูกพืชแซมเช่น สับปะรด กล้วย ถือว่าอยู่ในช่วงทดลอง โดยใช้แปลงที่ศูนย์และแปลงของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการด้วย แต่ว่าหลัก ๆ แล้ว ทางศูนย์ยังไม่ได้ส่งเสริมเกษตรกร อยู่ในช่วงทดลองเท่านั้น


เนื่องจากปาล์มต้องใช้น้ำเยอะ ฉะนั้น ความเหมาะสมของพื้นที่ที่ปลูก ต้องมีการคัดเลือกพอสมควร อีกทั้งเป็นพืชตัวใหม่ในอีสาน แหล่งไหนที่ไม่มีน้ำนั่นคือข้อจำกัดที่สำคัญ


 


ทางด้านการตลาดนั้น ดร.อุดม กล่าวว่า มีปัญหา เพราะไม่มีโรงงานรับซื้อ ต้องไปขายไกล  ที่จังหวัดชลบุรี แต่ตนคิดว่าน่าจะมีตลาดในระยะต่อไป อยากบอกพี่น้องเกษตรกรว่า ศูนย์วิจัย บทบาทคือวิจัยว่าสามารถทำได้หรือไม่ได้ เป็นช่วงของการทดสอบ ยังไม่ได้ส่งเสริม เรากำลังศึกษาเรื่องการคุ้มทุน และอื่น ๆ แต่ว่าชาวบ้านตื่นตัวก็เริ่มปลูก ซึ่งกรมวิชาการเกษตรเองก็จะให้แง่คิดด้านวิชาการ แต่แง่การตัดสินใจก็ต้องขึ้นอยู่กับเกษตรกรเองเป็นผู้พิจารณา


 


ถาวร สร่างเศร้า เกษตรกรจากเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก ภาคใต้ ก็ได้แลกเปลี่ยนเรื่องปาล์ม ในฐานะที่ปลูกมาก่อน และสร้างทางเลือกในสวนปาล์ม อันเป็นแนวทางที่ยั่งยืนทั้งความมั่นคงทางด้านอาหารว่า ต้องผสมผสานระหว่างปาล์มและสวนหลังบ้าน สระน้ำและนาข้าว ที่ผ่านมาก็ปลูกปาล์มด้วยการคัดพันธุ์เอง บำรุงดินโดยการลดการใช้ปุ๋ยเคมี ลดต้นทุนการผลิต ฟื้นฟูระบบนิเวศ


 


ผลิตปุ๋ยอินทรีย์เพื่อใช้เอง นำขี้เลื่อยมาทำเป็นปุ๋ย การเลี้ยงปลาในสวนปาล์ม เลี้ยงวัว ได้ทั้งปุ๋ย และช่วยกินหญ้าในสวนปาล์ม เกษตรกรบางรายก็เลี้ยงแพะซึ่งจะปล่อยเป็นเวลา การปลูกพืชอาหาร สมุนไพร และไม้ใช้สอยในสวนยาง ซึ่งก็มีบทเรียนร่วมกันระหว่างเกษตรกรว่า ราคาทะลายปาล์ม ราคาต้องอยู่ที่ ๓ บาท ขึ้นไป เกษตรกรถึงจะอยู่ได้ ถ้าราคาต่ำกว่านี้ขาดทุนแน่นอน แม้ว่าจะพยายามลดต้นทุนการผลิตแล้วก็ตาม พร้อมกับมีข้อเสนอว่า ไม่อยากให้ทำตามกระแส ต้องดูความเหมาะสมของพื้นที่ โดยเฉพาะในภาคอีสาน ที่ไม่ใช่ว่าทุกพื้นที่ปลูกได้ เกษตรกรต้องหาข้อมูลก่นตัดสินใจปลูก ดูความเหมาะสมหลาย ๆ ด้าน ต้องทำหลายไร่ถ้ามีพื้นที่น้อยไม่ควรปลูก ต้องมีถนนเข้าไปได้สะดวก ที่สำคัญคือแรงงาน อย่างที่ภาคใต้ก็มีปัญหาเรื่องนี้ ลูกหลานไปเรียนหมดแล้วก็ไม่มีใครมาทำสวน ต้องจ้างเขา และไม่มีคนสานงานสวนต่อ เป็นเรื่องที่ต้องคิด


 


นำเสนอผลการลงพื้นที่กรณี ยางพารา พื้นที่บ้านนาคำ บ้านห้วยหวาย บ้านโป่งน้อย ต.คอนสาย และบ้านห้วยทีใต้ ต.ถ้ำแข้ อ.ตระการพืชผล จ.อุบลราชธานี โดย คุณสมาน วิสัยเกตุ สมาคมป่าชุมชน ภาคอีสาน


 


"ปลูกอ้อยกินน้ำตา ปลูกยางพารากินลาบ  กินก้อย" ... จริงหรือ ???


พื้นที่ป่าดงขุมคำ มีพื้นที่รวมทั้งสิ้นประมาณ 21,837.12  ไร่ ครอบคลุม 5 อำเภอประกอบด้วย 


อ.โพธิ์ไทร  อ.ศรีเมืองใหม่ อ.เขมราฐ อ.กุดข้าวปุ้น และอ.ตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี


ป่าดงขุมคำมีสภาพเป็นป่าดิบแล้งผสมป่าเบญจพรรณ สภาพดิน เป็นดินทราย ดินมันปู(ดินเหนียวสีเหลืองปนทรายมีน้ำซับตลอด มีรสเปรี้ยวและเกิดราสนิม) ดินร่วนผสมหินลูกรัง  ดินร่วนปนทราย ฝนเฉลี่ยประมาณ 7 เดือน ตั้งแต่เดือนเมษายนถึงเดือนตุลาคม


 


เกษตรกรที่นี่ ไม่แตกต่างจากพื้นที่นัก พืชพลังงาน และยางพาราเข้ามาพื้นที่แถบนี้หลังจากที่เกษตรกรๆไม่ประสบผลสำเร็จจากการทำเกษตรกรรมมาหลายยุค ตั้งแต่ ปอ มันสำปะหลัง มะม่วงหิมพานต์ จนมาถึงยุคของพืชน้ำมันและยางพารา โดยเฉพาะยางพารา เพียงไม่กี่ปีพื้นที่ป่าหัวไร่ปลายนากว่าหมื่นไร่ ก็ถูกบุกเบิกขนานใหญ่ ด้วยความหวังว่า "เกษตรกรรายย่อยจะลืมตาอ้าปาก ปลดหนี้ปลดสินได้"


 


สาเหตุและแรงจูงใจ ที่ทำให้เกษตรกรหันมาลงทุนกับพืชยางพารา เพราะว่า ยางพารามีราคาสูง


เกิดกระแสการปลูกยางในประเทศที่ได้ผล รัฐให้การสนับสนุน และชาวบ้านก็มีพื้นที่และทุนที่สามารถปลูกได้ รวมทั้งการที่พวกเขาไม่ประสบผลสำเร็จกับการทำเกษตรกรรมแบบเดิม ส่วนกรณีป่าดงขุมคำนั้น เป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ชาวบ้านเชื่อว่าการทำประโยชน์ในพื้นที่ที่ตนจับจอง รัฐจะออกเอกสารสิทธิ์ให้ ซึ่งเกษตรกรรายย่อยมีทั้งที่ได้รับการสนับสนุนจาก สกย. ส่วนหนึ่ง และส่วนหนึ่งหาซื้อพันธุ์ยางตามร้านจำหน่าย บริษัททั่วไป


 


ปัญหาที่เกษตรกรพบในสวนยาง คือการเกิดโรค เช่น โรครา และโรคบอด คือกรีดแต่ไม่มีน้ำยาง หยุดไหลไปเฉย ๆ การแห้งตายของต้นยาง ยางออกดอก เมื่อปลูกได้ 2-3 ปี การเจริญเติบโตช้า แคระแกร็น โดยที่เกษตรกรส่วนใหญ่ไม่มีความรู้เรื่องนี้เลย จึงไม่รู้ว่าจะแก้ไขปัญหาเหล่านี้อย่างไร


 


ยิ่งเมื่อต้องเจอกับปัญหาที่ต้นทุนสูง ภาวะหนี้สินที่เพิ่มขึ้นทุกปี ราคายางพารามีความผันผวนสูง ไม่มีความแน่นอนเกี่ยวกับผลผลิตที่ได้ บางสวนขาดแคนแรงงาน รัฐบาลขาดหลักประกันความเสี่ยงทั้งเรื่องราคาและการสงเคราะห์ต่าง ๆ ทำให้เกษตรกรรายย่อยต้องเสี่ยงต่อการสูญเสียที่ดิน เกิดผลกระทบตามมามากมาย เช่น กระทบกับวิถีชีวิต ประเพณี และวัฒนธรรม เช่น การหาอยู่หากิน


 


ทรัพยากรอาหารลดลง  ป่าหัวไร่ปลายนาลดลง  สภาพแวดล้อมเสื่อมโทรม เช่น การปนเปื้อนของสารเคมีในดินและแหล่งน้ำ  เกิดความขัดแย้งในชุมชน เช่นการปรับสินไหมสูง บางคนถึงขั้นต้องขายวัวทั้งฝูงเพื่อชดใช้ก็มี รวมทั้งกระทบต่อการเลี้ยงสัตว์ เช่น วัว ควาย


 


บทเรียนชาวบ้านที่เข้าร่วมโครงการของ สกย. กรณีแปลงพ่อนพคุณ  เรืองสา ปลูกทั้งสิ้น 10 ไร่ เมื่อปี 2549 รับกล้ายางจาก สกย.จำนวน 1,020 ต้น มีต้นทุน ประกอบด้วย ค่าไถแปลง 7,000 บาท


 


ค่าจ้างปลูก 3,000 บาท ค่าปุ๋ยเคมี 2,700 บาท รวม 12,700  บาท (ไม่รวมค่าปุ๋ยคอกและค่าปลูกซ่อม)  ผลปรากฏว่าปลูกไปได้ปีกว่า สองปี ยางตายเกือบทั้งหมด เนื่องจากต้นยางมีขนาดเล็ก ไม่สมบูรณ์และอยู่ในช่วงปลายฤดูฝน


 


นี่อาจเป็นเพียงประสบการณ์บางส่วนที่ทีมศึกษาได้ลงพื้นที่และพบเจอ อาจจะมีอีกหลายกรณีที่ภาคอีสาน ที่ยังต้องการคำตอบว่า "ใช่หรือไม่ใช่" แต่ทั้งนี้ ทั้งนั้นก็มีข้อเสนอร่วมกันว่า ควรมีการให้ข้อมูลเกี่ยวกับการปลูกยางพาราต่อชาวบ้านอย่างต่อเนื่อง ทั้งในส่วนของ สกย. และองค์กรเอกชนที่ทำงานในระดับพื้นที่ องค์กรชาวบ้านเองก็ควรมีกิจกรรมส่งเสริมให้เกิดการอนุรักษ์ป่าหัวไร่ปลายนาและสร้างทางเลือกในวิถีที่มั่นคงในสวนยางพารา ไม่ปลูกเพื่อขายอย่างเดียว ควรสร้างกระบวนการในการดำเนินการให้รัฐมีข้อรับประกันความเสี่ยงต่อชาวบ้าน รวมทั้งข้อมูลผลกระทบที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ณ วันนี้ ควรได้รับการเผยแพร่เพื่อหาทางออกร่วมกันต่อไป


 


ทางด้านภาคอีสานตอนบน การแพร่ขยายพื้นที่ปลูกยางพาราในพื้นที่ตำบลทุ่งลุยลาย  .คอนสาร จ.ชัยภูมิ ก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยในปี 2550 มีพื้นที่สวนยางเกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชัยภูมิ ๕๖,๐๐๐ ไร่ ปี 2551 เพิ่มเป็น 40,000 ไร่ ในอำเภอคอนสาร มีประมาณ 8,000 ไร่ เฉพาะพื้นที่ทุ่งลุยลาย ร้อยละ ๙๕ กลายเป็นสวนยางหมดแล้ว ปัญหาใหญ่ที่พบก็คือการใช้สารเคมี ยาฆ่าหญ้าอย่างรุนแรง ในหน้าฝนทำให้เกิดการชะล้างสารเคมีลงสู่แหล่งน้ำ เพราะพื้นที่อำเภอคอนสาร เป็นพื้นที่ลาดเชิงเขา ลาดเอียง


 


ขณะเดียวกัน นายบรรจง ตัวแทนจากเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก ภาคใต้ ก็ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์การปลูกยางพาราในภาคใต้ ว่าการปลูกยางพาราในภาคใต้นั้น คืออาชีพที่ตกทอดมาสู่ลูกหลานจากบรรพบุรุษ เป็นวิถีชีวิต เมื่อก่อนชาวบ้านก็ปลูกทั่วไป ปลูกในป่า เป็นพันธุ์พื้นเมือง แต่ช่วงหลัง สกย.ก็เข้ามาส่งเสริม บางแปลงปลูกโดยการเพาะเมล็ด และใช้รูปแบบของการติดตา บางทีก็ต้องสู้กับกระแสเหมือนกัน การเกิดโรคใบ ที่เกิดจากสภาวะฝนที่แปรเปลี่ยนไป การใช้สารเคมีในสวนยางพาราเยอะมาก เกษตรกรสวนยางบางคนขาดทุนมาก แต่ไม่รู้จะทำอย่างไร เพราะต้องอาศัยสวนยาง ไม่อย่างนั้นก็ไม่รู้จะกินอะไรเหมือนกัน แต่ส่วนหนึ่งที่คิดว่าเป็นจุดแข็ง และโอกาส คือ การเป็นทางเลือกและหลักประกันด้านรายได้ในระยะยาวให้เกษตรกรรายย่อย แต่ว่าตอนนี้หลักประกันก็ยากแล้ว  ต้นยางสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย ชุมชนบางแห่งต้องพึ่งพิงสิ่งอื่นด้วยนอกจากยาง หรือพืชแซมยาง เช่น ผักต่าง ๆ ไม้ผล ไม่ใช่การปลูกอย่างเดี่ยว ๆ


 


ทางด้านจุดอ่อน ข้อจำกัดของชาวสวนยางภาคใต้ ก็ไม่ต่างอะไรจากทางอีสาน เพราะราคายางไม่แน่นอน  เกษตรกรไม่สนใจในการปรับปรุงพันธ์ยาง หวังพึ่งพิงบริษัทอย่างเดียว  โรคยาง เช่น หน้ายางเสีย ใบร่วง หน้ายางเน่า เกษตรกรก็ยังไม่มีวิธีจัดการ การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศส่งผลต่อปริมาณน้ำยาง เกษตรกรต้องทำงานหนัก เวลาพักน้อย บางคนต้องเริ่มกรีดตั้งแต่ ๔-๕ ทุ่ม กรีดวันหนึ่ง ๓๐ ไร่ คนที่เริ่มกรีดใหม่ ๆ จะมีปัญหาเรื่องไต  ตัวเหลือง ทำลายวัฒนธรรมการช่วยเหลือกันของคนในชุมชน วัฒนธรรม ประเพณีที่มีในตอนเช้าจะไม่สามารถเข้าร่วมได้เลย ห่างหายจากชุมชน


 


"ยางพารา ในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง"


พรพนา ก็วยเจริญ จาก TERRA ได้พูดถึงกรณีการขยายตัวของยางพาราในภูมิภาคแม่น้ำโขง ว่า


การลงทุนต่างประเทศใน สปป.ลาว เพื่อปลูกไม้เป็นสินค้า เพิ่มขึ้นรวดเร็วในช่วงปี 2546-2549 (ต่างชาติลงทุน ๑๐๐ %) โดยเฉพาะการปลูกไม้เพื่อการค้าถูกส่งเสริมในรูปของการสัมปทานที่ดิน ปลายปี 2549 บริษัท จำนวน 109 ได้สัมปทานที่ดินเนื้อที่รวมประมาณ 1 ล้านไร่ ตัวเลขนี้ยังเพิ่มขึ้นเดือนต่อเดือน เช่น บริษัทสวนป่าโอจิ (ญี่ปุ่น) สัมปทานเนื้อที่ 300,000 ระยะเวลา 49 ปี บริษัทไทยฮั้ว (ไทย) สัมปทานเนื้อที่ 100,000 ระยะเวลา 34 ปี และบริษัทอื่นอีกกว่า 9 บริษัท สัมปทานเนื้อที่ไม่ต่ำกว่า 50,000 ไร่ ระยะเวลาไม่น้อยกว่า 10 ปี การสัมปทานที่ดิน ส่วนใหญ่ปลูกยางพารามากที่สุด เนื้อที่รวม ๑๙๐,๐๐๐ ไร่ ของ ๙ บริษัท ปลูกไปแล้วประมาณ ๗๐,๐๐๐ ไร่ ประเด็นสำคัญ ในการสัมปทานที่ดิน ชาวบ้านต้องพบปัญหาคือ การสัมปทานที่ดินปัจจุบันที่ยิ่งทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น การจ่ายค่าชดเชยให้กับชาวบ้านก็ยังมีน้อย บางรายไม่ได้เลย เพราะเขาถือว่าไม่มีเอกสารสิทธิ์ ประเภทของที่ดินที่สัมปทาน การเปลี่ยนแปลงการถือครองที่ดิน จากงานวิจัยพบว่า ชาวบ้านสูญเสียที่ดินสูงสุดถึง ร้อยละ 90 จากพื้นที่ของตนเองทั้งหมด ต่ำสูดอยู่ที่ร้อยละ 33 พอเสียที่ดิน ก็ไปทำงานรับจ้างในที่ดินของตัวเอง ได้ค่าแรง ๒๐,๐๐๐ กีบ ประมาณ ๗๐ บาท กินก๋วยเตี๋ยวได้แค่ ๒ ถ้วยเท่านั้น ทั้งปีทำงาน ๑๔๒ วัน บริษัทไม่ได้มีงานให้ทำทุกวัน ชาวบ้านถูกลดค่าแรงงาน ประเด็นที่สองคือเรื่องเศรษฐกิจ-สังคม ผลผลิตของครัวเรือน เศรษฐกิจของครัวเรือน และความมั่นคงทางอาหาร จะเห็นได้จากตัวเลขปริมาณของครอบครัวที่ขาดข้าวกินมีเพิ่มขึ้น


 


สกย. อ้าง "นโยบายอยู่เหนือเหตุผล" ชี้เกษตรกร "ทำเกินคำแนะนำ"


ด้าน นายเสริมศักดิ์ สุขเกษม ตัวแทนสำนักกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง จังหวัดขอนแก่น หน่วยงานที่ถูกอ้างและกล่าวถึง ได้พูดถึงบทบาทหน้าที่ ความรับผิดชอบของ สกย. ต่อประเด็นยางพาราว่า ยางพาราในอีสานปลูกมาแล้วกว่า ๕๐ ปี เป็นพืชที่ฝืนธรรมชาติพอสมควร (๒๔๘๔) เป็นพืชที่สามารถลดทอนการใช้ปิโตรเลียม พลาสติก ได้ ร้อยละ ๙๐ ใช้ในการผลิตยางรถยนต์ ยางพาราถือว่าพืชที่ช่วยต่อต้านสภาวะแวดล้อมโดยรวมของโลก ยางพาราเป็นตัวดูดกลืนคาร์บอน เก็บคาร์บอนได้สูงกว่าป่าดงดิบ ประมาณ ๗๐ เปอร์เซ็นต์ ยางพาราเป็นเพื่อนมนุษย์ไม่ใช่เทพธิดาหรือซาตาน


 


กองทุนสงเคราะห์สวนยาง ไม่ได้เพิ่มพื้นที่ยางพาราแต่เราส่งเสริมโค่นยางเก่า แล้วปลูกยางใหม่ในพื้นที่เดิม มีเงินสงเคราะห์จ้างตัวเองในช่วงยางยังไม่ได้กรีด เราไม่ได้แนะนำให้ฉีดยาฆ่าแมลง สิ่งที่เกิดขึ้นเพราะความสะดวกเข้าว่าของเกษตรกร


 


ระยะเวลา ๑๐๐ ปีที่ผ่านมาการปลูกยางที่ภาคใต้ไม่มีการใช้ยาฆ่าหญ้า ในอีสานเป็นการปลูกไร่ยาง ซึ่งกองทุนฯส่งเสริมการปลูกยางผสมผสาน ปลูกพืชอื่นร่วมยาง โดยใช้ทฤษฏี ๔ ด .(ดู ดอก ดง แดก) พืชยางพาราเป็นการออกแบบมาอย่างยืดหยุ่นแล้ว ยางกรีดได้วันเว้นวัน ปัจจุบันจอกใหญ่กว่าต้นยาง ต้นยางทรุดโทรมชาวบ้านต้องฉีดยา ยางต้องกินน้ำให้ครบ ๑๐๐ วัน ถ้าไม่ปลูกพืชแซมก็ต้องปลูกพืชคลุม เพื่อรักษาความชุ่มชื้น พืชที่มียางสีขาวเหมือนกันจะกินอาหารเหมือนกัน มันกินเก่งกว่ายาง ๑๐ เท่า ยางไม่ตายแต่หยุดการเจริญเติบโตประมาณ ๒ ปี


 


สิ่งที่เกิดขึ้นในอีสาน ไม่ใช่ความผิดของยางพารา แต่เป็นคนพาไป ถ้าเอาเงินเป็นตัวนำ หลักทางจริยธรรมจะต่ำลง อย่างตัวอย่างที่บ้านนาคำ เป็นดินบ๋า มีความเป็นกรดสูงมาก ไม่เหมาะสมในการปลูกยาง หรือพืชใด ๆ นอกจากว่าจะปรับปรุงดิน ลดความเป็นกรด โดยการใส่ปูนขาวสัก 4 -5 ตัน


 


สถานการณ์ตอนนี้ คือ เกษตรกรปลูกยาง"ทำเกินคำแนะนำ" พื้นที่ที่สามารถปลูกยางพาราได้จริง ๆ คือพื้นที่โนน  มีโครงการ มาตรา ๒๑ ทวิ ให้ทุนสงเคราะห์ ปี 2546 แจกพันธุ์ยางมาปลูก คนขอปลูกขอให้มีหลักฐานที่ดินอย่างเดียว แจกหมด เป็นโครงการของกรมส่งเสริมการเกษตร พื้นที่จะเหมาะสมไม่เหมาะสมก็แล้วแต่  แจกหมด บทบาทและหน้าที่ของ สกย.คือ ทำหน้าที่ต่อจากนั้น คือ การแนะนำ ช่วยดูแล ติดตาม กองทุนสงเคราะห์สวนยางไม่ได้จะนำท่านไปสู่ความร่ำรวย พวกเราเรียกว่า "กองทุนดันดาก" มันติดมันขัดอย่างไรก็ช่วยซุกช่วยดันให้ เราไม่นำไม่พา แต่ดันอยู่ข้างหลัง นี่คือบทบาท จะเห็นว่ากองทุนไม่เคยมีการเก็บพันธุ์ยาง หรือกล้ายาง


 


ต้นยางพาราในภาคอีสานพิกลพิการเหลือเกิน การปลูกยางในอีสานฝืนธรรมชาติ ธรรมชาติของการปลูกยางอยู่ที่ราบ อุณหภูมิห่างกันกลางวันกลางคืนไม่ควรเกิน ๑๕ องศา ถ้าเกินจะกระตุ้นฮอร์โมนให้เกิดการแตกดอก ฉัตรสั้นลง (สั้นกว่า ๑ ศอก)


 


ส่วนการลงทุนที่มากนั้น ตนถือว่า ลงทุนมากเกินกว่าความจำเป็น คำแนะนำบอกว่าให้ใส่แค่ ๑ ช้อนชา หรือ ๑ ขีด แต่ว่าพี่น้องเกษตรกรใส่เป็นกิโลกรัม ไถปีละ ๖ รอบ ค่าจ้างไถไร่ละ ๓๐๐ บาท ยางในพื้นที่จังหวัดอุบลฯ หลายพันไร่ กลายเป็นยางบ้าใบ คือปุ๋ยเยอะ ใบเฝือ ปุ๋ยกิโลกรัมละ ๓๖ บาท


ต้นทุนก็เลยสูง


 


การปลูกยางน่าจะมีต้นทุนที่ ๐ บาท เกษตรกรหลายคนเลือกที่จะทำเกินพอดี ต้องทำอะไรแต่พอดีพองาม ทำสวนยาง ปลูกกล้วยแซม ปลูกพืช ๔ ด. หรือ ยางที่ปลูกไปแล้ว ๒-๓ ปี ก็ปลูกไม้ใช้สอย ๔ ย. ยูง ยาง ยอม ยม เราปลูกยางเอาเปลือกที่แข็งแรง การสร้างเปลือกที่ดีต้องทำให้สวนชุ่มเย็นตลอดเวลา เกษตรกรทำกิจการหลายอย่างเกินตัว ทุกอย่างที่เกิด เกิดที่คน ไม่ใช่ยางพารา


 


สวนยางพารา ตนถือว่าเป็นมิตร ที่เป็นวิถีเกษตรของเกษตรกร แต่อย่าเปลี่ยนเป็นเกษตรชี้นิ้ว หรือเกษตรเมือง สกย. บอกว่าสามารถมีไม้อื่นผสมได้ ไม่เกิน ๑๕ ต้น ไร่หนึ่งต้องมีต้นยางไม่ต่ำว่า ๔๕ ต้น ถือว่าเป็นสวนยาง อย่างในภาคอีสานก็ขอร้องแกมบังคับว่าปลูกยางพาราไม่เกินครอบครัวละ ๑๕ ไร่ การส่งเสริม โครงการ ๑ ล้านไร่ ในจังหวัดอุบลฯ เหมาะสมเพียงแค่ ๕ แสนไร่ เขาจัดสรรให้ ๕๐,๐๐๐ ไร่ ประมาณ ๕,๐๐๐ คน แต่คนที่ส่งชื่อเข้ารับการส่งเสริมมีมาก สกย. ก็เลือกให้เฉพาะพื้นที่ที่เหมาะสม ผู้ที่ได้รับการอนุมัติชุดแรก ๓,๐๐๐ คนเท่านั้น  นโยบายเหนือเหตุผล คนที่ได้ ๔ ไร่ ๑๑,๐๐๐ คน ร้อยละ ๔๐ ล้มเหลว เพราะการเมืองที่ฟ้าผ่า มีคำสั่งออกมา ก็ต้องทำตาม


 


ในปี 2550 มีโครงการช่วยเหลือคนที่ไม่ได้รับพันธุ์ยาง อยากได้เท่าไหร่ เอาเลย สกย. ไม่มีความสุขเลย ที่ต้องทำงานตามกระแสนโยบาย  เรามีการตั้งกลุ่มเพื่อให้เกิดการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เช่น การตั้งกลุ่มรถตัดหญ้าเดินตาม คนละ ๒๐๐ บาท และเสียค่าบำรุง ครั้งละ ๒๐ บาท  เจอเกษตรกรปีละ ๕ ครั้ง ชี้แจงงาน ๒ ครั้ง บางสวนก็ได้ตัดออกจากเป้าหมายไปแล้ว เช่น ในส่วนของเกษตรกรที่ปลูกยางพาราในนาข้าว แต่ว่าเกษตรกรบางส่วนพลอย เห็นเขาปลูกก็อยากปลูก ทางหน่วยงานก็มีการระงับบางแปลงก็มี แต่ท่านได้พันธุ์ยางมาโดยนโยบาย ไม่ใช่การส่งเสริมของ สกย.นายเสริมศักดิ์ กล่าว


 


นักวิชาการ ชี้ "อุตสาหกรรมพลังงานขนาดเล็กระดับท้องถิ่น มีความเป็นไปได้สูง" 


ทางด้านนายสมบัติ  เหสกุล  ศูนย์พันธุวิศวกรรมแห่งชาติ (Biotec) และนักวิชาการอิสระ ได้พูดถึง


นโยบายพืชพลังงานในประเทศไทย ว่ามีการประกาศวาระแห่งปี ว่าประเทศไทยจะเป็นประเทศแห่งพลังงาน มีการต่อท่อ แย่งการเป็นศูนย์กลางน้ำมันจากสิงคโปร์ แต่ไทยสะดุดขาตัวเองทั้งเรื่องการผลิต และอื่น ๆ อย่างเช่น ปริมาณการใช้ประโยชน์จากอ้อย ปี 2550-2551 เอากากอ้อยมาผลิตเอทานอล เช่น บริษัทมิตรผล เขาทำเกษตรพันธะสัญญากับเกษตรกร โดยสนับสนุนให้เกษตรกร น้ำตาลเอาส่งออก กากก็เอามาผลิตเป็นเอทานอล เกษตรกรเป็นเพียงคนผลิตเท่านั้น บริษัทได้ประโยชน์มากกว่า ในอนาคตพืชพลังงาน อย่างมันสำปะหลัง อาจจะนำมาผลิตพลาสติกชีวภาพ ต่อไปอาจจะต้องนำมาใช้ ซึ่งผลิตจากมันสำปะหลัง เพราะพลาสติกปัจจุบันทำลายยาก อีก ๒ ปีข้างหน้าจะมีผลิตภัณฑ์ไบโอพลาสติก อีก ๗ ปี ต้องมีใช้ร้อยเปอร์เซ็นต์ หรือประเด็นเรื่องของปาล์ม ถ้าเกษตรกรจะหวังรวยนั้น เป็นไปได้ยาก นอกจากว่าจะทำเป็นธุรกิจในชุมชน ขนาดเล็ก ทำเอง ผลิตเอง ใช้เอง ไม่เข้าไปอยู่ในกลไกของตลาด ซึ่งเรื่องนี้ไม่เพียงเป็นข้อเสนอเฉพาะเกษตรกรรายย่อยเท่านั้น แต่ระดับนโยบายการพัฒนาพลังงานควรพิจารณาด้วย ควรพัฒนาอุตสาหกรรมขนาดเล็กอย่างต่อเนื่อง ระดับท้องถิ่น ซึ่งตนคิดว่ามีความเป็นไปได้สูง พัฒนากลุ่มผู้ผลิตและบริโภคระดับชุมชน ไม่พึ่งพิงตลาดรับซื้อพลังงาน นายสมบัติกล่าว


 


"พลังชุมชนท้องถิ่น" สร้างสมดุลด้านความมั่นคงทางอาหาร


ด้านอาจารย์บัญชร แก้วส่อง นักวิชาการอิสระ อีกท่านหนึ่งก็ได้แสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อเรื่องนี้อย่างน่าคิดว่า ประธานที่ประชุมองค์การสหประชาชาติ พูดว่า "นโยบายพืชพลังงานของประเทศต่าง ๆ คือการก่ออาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติทั่วโลก" ตอนนี้มีวิกฤติเรื่องอาหารทั่วโลก นาข้าวถูกทิ้งร้าง แปรเปลี่ยนมาเป็นยางพาราหรือปาล์ม พื้นที่อาหารที่ภาคใต้ลดลงแน่นอนคนทำงานนโยบายต้องช่วยตรวจสอบข้อมูล ว่าจะสามารถเลี้ยงคนได้เท่าไหร่ เกษตรกรบางพื้นที่กำลังปลูกยาง ขายยางเพื่อซื้อข้าวกิน ตอนนี้พื้นที่ปลูกข้าวลดลง ถูกแปลงไปเป็นพื้นที่ปลูกยางพารา นี่คือวิกฤติของสังคมไทย ใครที่ซื้อข้าวกินตอนนี้ คราวหน้าคุณลำบากแน่ เกษตรกรที่ภาคใต้ที่ยังอยู่ได้คือปลูกข้าวด้วย ทำสวนยางด้วย


 


ขณะนี้ ป่าถูกรุกจากยางพารา ป่าถูกรุกจากมันสำปะหลัง อาหารที่เคยได้จากป่าต้องซื้อกินแน่ๆ ยูคาฯรุกไปในพื้นที่ป่าทาม ตอนนี้กลายเป็นป่ายูคาหมด อาหารธรรมชาติหายไปหมด เพราะใช้ยาฆ่าหญ้าทำให้อาหารลดลงอย่างทันตา เมื่อทุกอย่างต้องซื้อ ไม่รู้ว่าชีวิตจะอยู่กันอย่างไร


ความมั่นคงทางการผลิตลดลง วิกฤติการณ์อาหารจะเป็นวิกฤติของครอบครัวไทยในอนาคต


 


มีเงินเยอะ กินอาหารที่มีแต่สารพิษ เสียเงินค่ารักษา สมัยก่อน บางพื้นที่ปลูกข้าวไม่ได้เลย ก็มีกระบวนการแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน เชิงวัฒนธรรม แต่ว่าตอนหลังซื้อขายกันอย่างเดียว ไม่มีเงินอยู่ไม่ได้ เราต้องคิดเรื่องวัฒนธรรมด้วย


 


ปัญหาวิกฤติโลกร้อนจะเป็นปัญหาของโลกด้วย วิกฤติพลังงาน เราสามารถใช้พืชพลังงานมาต่อรองได้ เราต้องคิดถึงการพึ่งตนเองเรื่องพลังงาน อย่าคิดว่ารอซื้อจากบริษัทที่ผลิตแล้วมาขายให้เรา เราต้องพึ่งตนเอง กระบวนการภายหน้า ต้องคิดเรื่องการสร้างพลังชุมชนท้องถิ่นให้เข้มแข็ง ความสมดุลของอาหาร ข้าว นา น้ำ พลังงาน เพราะเศรษฐกิจตอนนี้ก็น่ากลัว หุ้นอเมริกาไม่เคยตกแต่ก็ตก สังคมไทยยิ่งแล้วมีการแบ่งแยกก๊กกัน ถ้าเราไม่ตั้งรับที่ชุมชนท้องถิ่นให้ดี เราก็จะวิ่งตามกระแส อย่างพื้นที่ที่ทุ่งลุยลาย เมื่อก่อนมีป่าเยอะ ปลูกข้าวโพด พอราคาตก ก็ไปปลูกมะขาม ยางพารา พอราคาตกก็ปลูกอย่างอื่นต่อ เราต้องคุยในชุมชนให้ชัดว่าเราจะอยู่กับความมั่นคงทางอาหารได้อย่างไร


 


ชาวนามองนาตนเองเฉพาะเพียงเงินขายข้าวเท่านั้น แต่ลืมไปว่า มีปลา ปู ผัก ที่เป็นความมั่นคงทางอาหาร เราสามารถพัฒนาเป็นรูปแบบยางอินทรีย์ได้ ปลูกผักเนียงแซม ปลูกมังคุด เป็นยางแบบผสมผสาน เป็นทางเลือก หลากหลาย มีทั้งอาหารมีทั้งรายได้


 


อาจารย์บัญชรยังกล่าวทิ้งท้ายอีกว่า ไม่อยากให้คิดติดกับดัก กระแสทุนว่าชุมชนไม่สามารถทำอะไรได้ แต่ทุนเป็นคนทำเป็นคนแปรรูป นโยบายต่าง ๆ ที่ผ่านมาทุกนายกเอื้อนายทุนทั้งนั้น เช่นเรื่องเหล้า ที่ฝรั่งเศสทำเหล้าได้ พอเมืองไทยหรือเกษตรกรรายย่อยทำไม่ได้ ต้องให้บริษัทใหญ่ ๆ ทำ อย่างเรื่องพลังงานอย่าลืมว่า ไบโอดีเซล มาจากปราณบุรี เอามะพร้าวมาทำไบโอดีเซลขาย ระบบทุนเข้ามาทำลายตลอดเวลา แต่ความจริงในชุมชนทำได้ ที่กระบี่ ปาล์มเวลาจะออกลูกต้องฉีดฮอร์โมน เลยคุยว่าค้นหาหน่อยว่าจะมีฮอร์โมนอินทรีย์ที่สามารถทดแทนได้ ซึ่งกระบวนการแบบนี้ต้องมีคนไปหนุนช่วย บริษัทไม่เคยร่วมรับความเสี่ยงใด ๆ เลย น่าจะลองทำปั๊มชุมชน ซึ่งทุนอาจจะสูงในช่วงแรก แต่ว่าคุณค่าอื่น ๆ ที่มีต่อชีวิต ที่มีความสัมพันธ์ในครอบครัว ต่อสิ่งแวดล้อม บางทีราคาที่สูงกว่ามันอาจจะคุ้ม ซึ่งตรงนี้ต้องช่วยกัน ถ้าทำได้จะเห็นทิศทาง อย่าติดกับดักว่าเกษตรกรทำไม่ได้ ชุมชนทำไม่ได้ เพราะกระบวนการนี้คือการครอบงำทางปัญญา ครอบงำชีวิต อย่างข้าวก็เหลือแค่ไม่กี่พันธุ์ เราต้องฟื้นกลับมา โดยตัวของพวกเราเอง


 


นโยบายและกระบวนการขับเคลื่อนยางพาราภาคประชาชน


ด้านนายกำราบ พานทอง สถาบันศานติธรรม ได้กล่าวถึงสถานการณ์ของชาวสวนยางที่เป็นอยู่โดยรวมว่า การผลิตยางพาราในปัจจุบัน นักการเมืองต้องการขยับพื้นที่ปลูกยาง ศักยภาพของอีสานที่เพิ่งเปิดเผย ที่จะเพิ่ม ๓๐ ล้านไร่ แต่พอเอาเข้าจริง ๆ ไม่ถึง ซึ่งตรงนี้คิดว่าจะมีกระบวนการให้ได้มาซึ่งที่ดิน ชาวบ้านอีสานต้องระวัง ชาวบ้านปลูกยางได้ไม่แพ้รัฐ แต่เรื่องการคิดต้นทุนเรื่องยางพารา อยากให้พี่น้องคิดเอง รัฐมุ่งส่งเสริมผลผลิตต่อไร่ให้เพิ่มมากขึ้นถึง ๒๓๐ กก.ต่อไร่ ซึ่งเป็นไปได้ยาก เพราะต้นทุนมันสูง ผลผลิตอาจจะได้เพียง ๑๓๐ ต่อไร่ต่อปีเท่านั้น


 


ด้านตลาดก็ยิ่งไม่แน่นอน ตลาดแรกคือตลาดท้องถิ่น ที่ขายยางแผ่นดิบ ถูกตัดราคาประมาณ ๒ บาทจากราคาประกาศ ตลาดที่สอง คือตลาดระดับจังหวัด สมาคมยางพาราไทย ๖๐ กว่าปี ตอนนี้ไม่สามารถส่งออกยางได้ เพราะจีน เจอวิกฤติทางการเงิน ตลาดกลางเปิดขายก็ไม่มีคนมาประมูล ราคาเลยดิ่งลงไปเรื่อย ๆ ราคาตลาดยางขึ้นอยู่กับกลไกตลาดโลก ไทยไม่สามารถควบคุมได้ ตอนนี้ยางล้นตลาด จีนไม่รับซื้อ 


 


เมื่อราคายางพารามีความเสี่ยงสูง ขึ้นลงวันต่อวัน วิกฤติที่ชาวสวนยางกำลังเผชิญ คือ ต้นทุนก็จะสูงขึ้นเรื่อย ๆ แต่ผลผลิตยางตกต่ำ การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศและโรคก็จะพัฒนาขึ้นไปเรื่อย ๆ ด้วย บางทีโรคบางโรค สกย.ก็ไม่รู้ว่าโรคอะไร ยางอ่อนแอลง สารเคมีทางการเกษตรปนเปื้อนจำนวนมาก  วัฒนธรรมการการพึ่งตนเองถูกบั่นทอน ขณะที่การบริโภคเน้นพึ่งพาภายนอก ชาวสวนยางในภาคใต้กินข้าวกินแกงถุง  ความมั่นคงทางด้านอาหารถูกทำลาย  การสูญเสียระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ  พื้นที่ทำนากว่าร้อยละ ๗๐-๘๐ ถูกเปลี่ยนไปเป็นสวนยาง


 


ทุนเดิมของชุมชนชาวสวนยางที่ยังอยู่และมีศักยภาพ คือ ภูมิปัญญาด้านอาหารและยา


ภูมิปัญญาการพึ่งพาคนกับป่า ของชุมชนดั้งเดิม  ที่ดินทำกินมีขนาดเล็กและกำลังลดลงไปทุกขณะ


การออมเงินจากการวมกลุ่มซื้อขายผลผลิตยาง การจัดกระบวนการเรียนรู้ แต่อีกด้านหนึ่งนั้น นโยบายของรัฐ ก็เน้นการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ของการผลิตยางเป็น 310 ก.ก.ต่อไร่  ส่งเสริมการปลูกยางในพื้นที่ใหม่ แทนการปลูกยางในพื้นที่เดิม  ควบคุมให้ราคายางพารามีเสถียรภาพมากขึ้น โดยการสร้างเครือข่ายตลาดกลางยางพารา  จัดตั้งบริษัทร่วมทุนยางพาราระหว่างประเทศ  เพิ่มมูลค่าการใช้ยาง  พัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์ยางพาราแทนการส่งออกวัตถุดิบให้มากขึ้น


 


ผลกระทบจากนโยบายยางต่อชุมชน ก็คือ การทำลายความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านพันธุกรรมพืช  อาหารและยาสมุนไพร ทำลายป่าต้นน้ำ ป่าชุมชน ป่าหัวไปลายนาและป่าครอบครัว พื้นที่ทำสวนผลไม้และนาข้าวที่สมบูรณ์หมดไป หนี้สินระยะยาวและการสูญเสียที่ดินทำกินเพราะต้นทุนการทำสวนยางสูงมาก แรงงานหายาก ต้องใช้แรงงานต่างถิ่นและต่างด้าวมากขึ้น เกษตรกรถูกควบคุมและละเมิดสิทธิจาก พรบ.ควบคุมยาง 2542 ขาดการมีส่วนร่วม ในการพัฒนาและวางแผนนโยบายยางแห่งชาติ  ขาดแผนงานและยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนเช่นยุทธศาสตร์ศูนย์กลางยางพาราโลก ขาดกฎหมายและกฎระเบียบที่สนับสนุนและเอื้อต่อการทำเกษตรยั่งยืนในสวนยาง


 


ความเสี่ยงต่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมโดยรวม คือ ทุนทรัพยากรดิน น้ำ ป่า ถูกแย่งชิง


วัฒนธรรมการพึ่งพาตนเอง ถูกลดคุณค่า เป็นได้แค่ลูกจ้างในที่ของตนเองเท่านั้น สุขภาวะชุมชน เสื่อมถอย  เช่น ยาฆ่าหญ้ากรัมมอคโซน ฉีด ๑ ครั้งสะสมในดิน๔๐ปี ความมั่นคงและความปลอดภัยด้านอาหารน้อยลง ขาดความมั่นคงในที่ดินทำกิน เช่น นโยบายเอื้ออาทร ทำให้พี่น้องเกษตรกรต้องสูญเสียที่ดิน


 


ทิศทางใหม่ของชุมชนชาวสวนยางขนาดเล็ก ก็คือ การสร้างชุมชนชาวสวนยางขนาดเล็ก ในระบบสวนยางยั่งยืน  มี พรบ.สงเคราะห์การทำสวนยาง หรือกฎหมาย ที่สนับสนุนเกษตรกรรมยั่งยืนในพื้นที่สวนยางของระบบนิเวศน์ต่างๆ รวมทั้งเขตป่า มีองค์กรและเครือข่ายชุมชนชาวสวนยางขนาดเล็ก มีการพัฒนาและปรับปรุงปัจจัยการผลิต และเพิ่มมูลค่าผลผลิตด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่น และเทคโนโลยีที่เหมาะสม มีฐานอาหาร ฐานรายได้  ฐานสุขภาพ ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมในระดับครอบครัว


 


การขับเคลื่อนกระบวนการยางพารา ภาคประชาชน


จากนั้น นายกำราบ ยังได้กล่าวถึงพัฒนาการในการขับเคลื่อนกระบวนการยางพารา ภาคประชาชน ว่า ได้เริ่มขับเคลื่อนเมื่อปี 2505 - 2537 ที่มีการเดินขบวนต่อรองราคายาง เมื่อราคาตกต่ำมาก ของชาวสวนยางในพื้นที่ต่างๆ โดยเฉพาะอำเภอทุ่งสง ปี 2531- ปัจจุบัน  ก็มีการศึกษา " ป่ายาง"  โดยโครงการพัฒนาชุมชนสวนยางขนาดเล็ก และเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคใต้ จัดประชุมสัมมนาปีละ2-3  ครั้ง ปี 2535-2542  มีการศึกษาวิจัย " พืชร่วมยาง" โดยกลุ่มเกษตรกรรมทางเลือก ร่วมกับศูนย์วิจัยยางสงขลา และ สกย.สงขลา ปี 2538 ได้ทำการศึกษาการพึ่งตนเองในชุมชนสวนยาง พัฒนาเป็นโครงการนำร่องฯ พื้นที่สงขลา-สตูล  ปี 2540-2541  ได้จัดเวทีวิเคราะห์ ร่าง พรบ.ควบคุมยาง  ปี 2544-2549 - พัฒนาเทคนิคสวนยางอินทรีย์ ในพื้นที่โครงการนำร่องฯประมาณ 2543  ยกร่างแผนแม่บทยางพารา โดยเครือข่ายยมนา  ปี 2548-2550  จัดเวทีติดตามและวิเคราะห์ ร่าง พรบ.การยางฯ  ปี2549-2550 เกิดเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์การปลูกยางพารากับเกษตรกรและNGOs ประเทศลาว  ปี 2549-2550 ทำการศึกษาวิจัยคุณภาพชีวิตชาวสวนยาง  โดยสถาบันศานติธรรม และปี 2549-2551 ก็ได้ศึกษาพืชเศรษฐกิจและพืชพลังงานภาคอีสานและภาคใต้ โดยโครงการเสริมสร้างจิตสำนึกนิเวศวิทยา 


 


เมื่อเห็นพัฒนาการการขับเคลื่อนแล้ว ได้นำเสนอแนวทางและข้อเสนอการขับเคลื่อนต่อไปของภาคประชาชน ดังนี้  ยกระดับประเด็นยางพารา เป็นวาระร่วม อย่างน้อย 10 ปี พัฒนาโครงการลงทุนร่วมกันของภาคประชาชนใน 3 ด้านคือ การสำรวจ ศึกษา รวบรวม จัดทำฐานข้อมูลพัฒนา และแลกเปลี่ยนกล้าพันธุ์พื้นบ้านทั้งพันธุ์ยางพาราและพืชพื้นบ้าน พัฒนานักวิจัยชาวบ้านอาสาฯ ศึกษาวิจัย สวนยางทางเลือกเพื่อการพึ่งตนเอง ครบวงจร ในแปลงตนเองหรือแปลงชุมชน ระยะเวลาศึกษาวิจัย  8-15 ปี  ศึกษาผลกระทบนโยบายส่งเสริมการปลูกยางพาราทั้งภาคใต้และอีสาน  แลกเปลี่ยนเทคนิค ประสบการณ์ องค์ความรู้ระหว่างเครือข่ายชุมชนเพื่อลดต้นทุนและเพิ่มมูลค่ารวมทั้งผลผลิตที่ไม่ใช่ยางพารา  พัฒนานโยบายยางพาราภาคประชาชน โดยมีคณะทำงานศึกษาและพัฒนากระบวนการที่ต่อเนื่องจากเวที  จัดตั้งชมรม  สมาพันธ์หรือสมาคมชาวสวนยางขนาดเล็ก ร่วมมือกันในพื้นที่ต่างๆ  ยกร่างและผลักดัน ร่าง พรบ.การทำสวนยางที่ยั่งยืนและนโยบายยางพาราภาคประชาชน


 


ท้ายที่สุดของการสัมมนา ก็ได้มีข้อเสนอร่วมกันของผู้เข้าร่วมว่า เราได้รับทราบสถานการณ์ปัญหา และมองเห็นทางเลือกของเกษตรกรในระดับหนึ่ง แต่สิ่งสำคัญหลังจากสิ้นสุดการสัมมนา คือการนำข้อมูลที่ได้จากการศึกษาจากพื้นที่ต่าง ๆ ทางเลือกของเกษตรกร ข้อเสนอแนะเร่งด่วน คือ เป็นโจทย์ให้คณะศึกษาวิจัยรวมข้อมูลเป็นเล่ม อาจเป็นหนังสือเผยแพร่ หรือเผยแพร่ในช่องทางอื่น ๆ โดยร่วมกับสถาบันการศึกษา ศูนย์วิจัยฯ เครือข่ายวิทยุชุมชน ตีแผ่ข้อมูลเหล่านี้ เพื่อหยุดการหาผลประโยชน์ หลอกลวงเกษตรกร เช่น การหลอกลวงเพื่อขายกล้าพันธุ์ต่าง ๆ ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าไม่ประสบผลสำเร็จ เป็นข้อมูลให้กับเกษตรกรรายย่อยที่กำลังสับสน ลังเล หรืออยู่ในช่วงของการตัดสินใจ  รวมทั้งศึกษา พัฒนากฎหมายขึ้นมาเพื่อรองรับทางเลือกของเกษตรกร  ทำความร่วมมือระหว่างสองภาค สร้างโรงเรียนยางพาราขึ้น ในภาคอีสาน เพื่อให้คำแนะนำ ส่งเสริม ไม่คาดหวังพึ่งหน่วยงานของรัฐเท่านั้น


 


 


 


รายงานโดย เสียงคนอีสาน www.esaanvoice.net


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net