เลี้ยงน้ำชาหาทุนฟ้องแพ่งรัฐ ลุย 3 คดี-เหยื่อซ้อมทรมานชายแดนใต้

 สิทธิพงษ์ จันทรวิโรจน์

 

เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2551 ที่ผ่านมา ที่สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลา มูลนิธิผสานวัฒนาธรรม ร่วมกับศูนย์ทนายความมุสลิม สมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย(ยมท.) จัดงานเลี้ยงน้ำชาและขนมจีนจัดหาทุนเพื่อใช้เป็นทุนทรัพย์ในการฟ้องแพ่งเรียกค่าเสียหายจากรัฐ กรณีที่ถูกซ้อมทรมานในระหว่างการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยมีผู้เข้าร่วมจำนวนมากทั้งภาครัฐ ชาวบ้านและองค์กรพัฒนาเอกชน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่รัฐในการปฏิบัติหน้าที่ป้องกัน ปราบปรามและแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

นายสิทธิพงษ์ จันทรวิโรจน์ เลขานุการศูนย์ทนายความมุสลิม เปิดเผยว่า ขณะนี้มี 2 กรณีที่จะมีการฟ้องแพ่งเรียกค่าเสียหายจากเจ้าหน้าที่รัฐ คือกรณีอิหม่ามยะผา กาเซ็ง ชาวอำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส ที่ถูกทำร้ายร่างกายจนเสียชีวิตในระหว่างการควบคุมตัวของทหาร ซึ่งคาดว่าศาลจังหวัดนราธิวาสจะมีคำพิพากษาในคดีไต่สวนการตายได้ในปลายปี 2551 นี้ เนื่องจากในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2551 นี้ศาลได้นัดไตสวนพยานปากสุดท้ายแล้ว ซึ่งเป็นพยานฝ่ายผู้คัดค้าน คือภรรยาของนายยะผา

 

กรณีที่สองคือคดีของนายซาการียา ปะโอะมานิ ชาวจังหวัดยะลา ที่เสียชีวิตในระหว่างการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ทหารเช่นกัน แต่คดีนี้ยังต้องใช้เวลาอีกนานกว่าที่ศาลจะมีคำพิพากษาในคดีไต่สวนการตายได้ เนื่องจากยังต้องไต่สวนพยานอีกหลายปาก

 

นอกจากนี้ยังมีการหารือกันว่าจะฟ้องแพ่งเรียกค่าเสียหายกรณีการสังหารนักฟุตบอล 19 ศพที่อำเภอสะบ้าย้อยด้วย ซึ่งเหตุเกิดเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2547 ซึ่งขณะนี้ศาลจังหวัดสงขลามีคำพิพากษาในคดีไต่วนการตายแล้วว่า ทั้ง 19 คนใช้อาวุธจะเข้าทำร้ายเจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่ร่วมกันยิงต่อสู้และปิดล้อม จากนั้นได้มีการยิงต่อสู้กันจนทั้งหมดถึงแก่ความตาย โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือกับญาติผู้ตายอยู่ ซึ่งในเบื้องต้นญาติผู้ตายเห็นด้วย

 

นายสิทธิพงศ์ กล่าวว่า แม้ว่าบางคดีศาลยังไม่มีคำพิพากษาในคดีไต่สวนการตาย ก็สามารถที่จะฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายได้ โดยเฉพาะบางคดีซึ่งมีหลักฐานชัดเจน เช่น คดีอิหม่ามยะผา กาเซ็ง ซึ่งพนักงานสอบสวนได้ส่งฟ้องศาลในคดีอาญาแล้ว ขณะเดียวกันได้มีการส่งเรื่องไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ปปช.พิจารณาแล้วด้วย เนื่องจากเป็นเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำความผิด หาก ปปช.เห็นว่าคดีมีมูล ก็จะมีการแจ้งขอหากับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกันที

 

นายสิทธิพงศ์ เปิดเผยอีกว่า สำหรับเหตุที่ต้องมีการจัดเลี้ยงน้ำชาเพื่อหาทุนช่วยเหลือครั้งนี้ เนื่องจากในการฟ้องแพ่งเรียกค่าเสียหายนั้น ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมศาลจำนวนร้อยละ 2 ของจำนวนทุนทรัพย์ที่เรียกค่าเสียหาย แต่ไม่เกิน 200,000 บาท ซึ่งการฟ้องแพ่งดังกล่าวไม่ใช่เพื่อต้องการเงิน แต่เพื่อต้องการให้ผู้ถูกกระทำได้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้มากที่สุด

 

นายสิทธิพงศ์ เปิดเผยด้วยว่า กรณีแรกที่มีการฟ้องแพ่งเรียกค่าเสียหายคือ กรณีนายอัสอารีย์ สะมะแอ ซึ่งถูกทำร้ายจนเสียชีวิตระหว่างการควบคุมของเจ้าหน้าที่ทหารเช่นกัน โดยผู้ฟ้องคือนายแบเดาะ ซึ่งเป็นแม่ของนายอัสอารีย์ ได้ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากกระทรวงกลาโหม จำเลยที่ 1 และกองทัพบกจำเลยที่ 2 เป็นเงิน 1 ล้านบาทเศษ จึงต้องเสียค่าธรรมเนียมเกือบ 30,000 บาท โดยได้ฟ้องแพ่งที่ศาลแพ่ง กรุงเทพมหานครและได้มีการยื่นคำร้องขอไต่สวนอย่างคนอานาถา แต่ศาลไม่อนุญาต เพราะไม่เชื่อว่ายากจนจริง

 

นายสิทธิพงศ์ กล่าวว่า นั่นจึงเป็นที่มาของการจัดเลี้ยงน้ำชาเพื่อหุนครั้งนี้ โดยหวังว่าจะเป็นเงินกองกลางที่จะให้ผู้ที่ถูกกระทำสามารถนำไปเป็นทุนทรัพย์ในการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายได้ อีกทั้งยังคิดว่าในคดีที่ผู้ที่ถูกกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิต่างๆ ที่ไม่ถึงกับเสียชีวิต เช่น การซ้อมทรมานผู้ต้องสงสัยที่ถูกจับกุมพร้อมกับอิหม่ามยะผา กรณีนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฎยะลาที่ถูกควบคุมตัว เป็นต้น

 

วันเดียวกัน ที่มัสยิดกลางจังหวัดยะลา มีกลุ่มเยาวชนที่เป็นสมาชิกสหพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สนน.จชต.) ซึ่งมีองค์กรภาคีประกอบด้วยสมาพันธ์นิสิตนักศึกษายะลา (สนย.) สมาพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดสงขลา (สนส.) และสมาพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดปัตตานี (สนป.) จำนวน 500 คน ได้รวมตัวกันจัดกิจกรรม "รำลึก 4 ปี โศกนาฏกรรมที่มิอาจลืม อ.ตากใบ 25 ต.ค.2547"

 

ทั้งนี้ ภายในงานมีการทำละหมาดฮายัต เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ที่เสียชีวิตจากสถานการณ์ความรุนแรง และขอพรพระผู้เป็นเจ้าเพื่อให้เกิดความสันติสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างถาวร  จากนั้นกลุ่มสหพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้เดินขบวนรณรงค์ไปตามถนนในเขตเทศบาลนครยะลา มุ่งหน้าไปยังสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจังหวัดยะลา เพื่อต่อต้านการก่อการร้าย และประณามการใช้ความรุนแรงในทุกรูปแบบ และเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่แก้ปัญหาความไม่สงบโดยสันติวิธี

 

จากนั้นได้เข้าร่วมเวทีเสวนาในวันครบรอบ 4 ปีเหตุการณ์ตากใบ ที่สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลา มีการจัด รวมทั้งเปิดรับเงินบริจาคเพื่อช่วยเหลือครอบครัวผู้เสียชีวิตและถูกดำเนินคดี โดยมีประชาชนทั่วไปให้ความสนใจเข้าร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก

 

นายอับดุลอาซิส  ตาเดร์อิน หัวหน้าฝ่ายสิทธิมนุษยชน สมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย  (ยมท.) กล่าวว่า เหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหารสลายม็อบชาวบ้านที่หน้า สภ.ตากใบ เป็นเหตุการณ์ที่ชาวบ้านถูกกระทำจากเจ้าหน้าที่ของรัฐอย่างชัดเจน แต่ประชาชนกลับไม่ได้รับความเป็นธรรม ที่ผ่านมาไม่มีแม้สักครั้งเดียวที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำผิดต่อประชาชนแล้วถูกลงโทษ ทั้งที่ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ตากใบต้องสูญเสียเสาหลักของครอบครัว ต้องทนทุกข์ทรมาน และดำเนินชีวิตอย่างยากลำบาก

 

นายกริยา มูซอ  โฆษกสหพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดชายแดนใต้ (สนน.จชต.) กล่าวว่า บนเรียนจากเหตุการณ์ตากใบเมื่อ 4 ปี ที่แล้ว สังคมไทยควรจดจำและนำมาเป็นบทเรียนเพื่อใช้แก้ปัญหาความขัดแย้งด้วยสันติวิธี

 

 

 

....

หมายเหตุ ข้อมูลบางส่วน จากสถาบันข่าวอิศรา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท