Skip to main content
sharethis

26 ต.ค. 2551 คณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ (Working Group on Justice for Peace) ออกแถลงการณ์คัดค้านการยกเลิก "คณะกรรมการยุทธศาสตร์สันติวิธี" ระบุคณะกรรมการฯดังกล่าว ได้รับการยอมรับอย่างสูงในหมู่ประชาชนในการใช้สันติวิธีเป็นแนวทางหลักในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในสังคมไทยโดยเฉพาะในจังหวัดชายแดนภาคใต้ แสดงความห่วงใยว่าจะเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญทางนโยบายและแนวทางการทำงานในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จากเดิมที่ สมช.ใช้แนวทางสันติวิธีเป็นนโยบายและแนวทางปฏิบัติ ทั้งนี้ในแถลงการณ์ยังได้มีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ โดยขอให้นำข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส) มาเป็นนโยบายและแนวทางหลักในการแก้ไขปัญหา ให้รัฐบาลมีความหนักแน่น อดทน ในการแก้ไขปัญหาด้วยสันติวิธี และเปิดโอกาสให้มีการตรวจสอบการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐอย่างโปร่งใส โดยมีรายละเอียดแถลงการณ์ ดังนี้


 


0 0 0


 


แถลงการณ์คัดค้านการยกเลิกคำสั่งสภาความมั่นคงแห่งชาติ ที่ 1 /2544


 


 


ตามที่ได้มีมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2551 ให้ยกเลิกคำสั่งสภาความมั่นคงแห่งชาติที่ 1/ 2544 เรื่องการแต่งตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์สันติวิธี ลงวันที่ 18 เม.ย. พ.ศ. 2544 และคำสั่งที่เกี่ยวเนื่องแก้ไขเพิ่มเติม หรือออกโดยอาศัยอำนาจตามคำสั่งดังกล่าว โดยการเสนอของสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.)  มติดังกล่าวจึงถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญทางนโยบายและแนวทางการทำงานในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จากเดิมที่ สมช.ใช้แนวทางสันติวิธีเป็นนโยบายและแนวทางปฏิบัติ


 


คณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ มีความห่วงใยเป็นอย่างสูงต่อการยกเลิกคำสั่งการแต่งตั้งคณะกรรมการฯดังกล่าวซึ่งมีนายพิชัย  รัตนพล เป็นประธานคณะกรรมการฯ  และมี น.พ.ประเวศ วะสี ในฐานะที่ปรึกษา เพราะที่ผ่านมาคณะกรรมการฯดังกล่าว ได้รับการยอมรับอย่างสูงในหมู่ประชาชนในการใช้สันติวิธีเป็นแนวทางหลักในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในสังคมไทยโดยเฉพาะในจังหวัดชายแดนภาคใต้  การยกเลิกคำสั่งดังกล่าวจึงเท่ากับเป็นการปิดหนทางการแก้ไขปัญหาด้วยสันติวิธี และอาจเป็นการเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจเกินกว่าที่กฎหมายบัญญัติ อีกทั้งเป็นหนทางที่จะนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนมากขึ้น


 


"รัฐบาลควรศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรงที่เกิดขึ้นในประเทศต่างๆ ซึ่งจะพบว่า การปราบปรามด้วยวิธีรุนแรงมิอาจนำไปสู่การยุติความรุนแรงและสามารถสร้างสันติภาพอย่างยั่งยืนได้  ในทางกลับกันการใช้ความรุนแรงจะทำให้เกิดการตอบโต้ด้วยความรุนแรงจนยากที่จะควบคุมได้  สังคมไทยเคยผ่านเหตุการณ์ดังกล่าวมาแล้วจึงน่าจะเป็นบทเรียนที่รัฐบาลควรจดจำ และให้ความใส่ใจ "  นางอังคณา นีละไพจิตร ประธานคณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ กล่าว


 


เป็นที่ทราบและยอมรับกันโดยทั่วไปว่า ปัญหาความขัดแย้ง และความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีสาเหตุมาจากความไม่เป็นธรรมในอดีต ดังนั้นการแก้ไขปัญหาจึงจำเป็นต้องยึดถือแนวทางสันติวิธี ที่มีพื้นฐานของหลักนิติธรรม เป็นนโยบาลหลัก คณะทำงานฯจึงขอคัดค้านการยกเลิกคำสั่งดังกล่าว และมีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ดังนี้


 


1. ขอให้รัฐบาลนำข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส) มาเป็นนโยบายและแนวทางหลักในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้


 


2. ขอให้รัฐบาลมีความหนักแน่น อดทน ในการแก้ไขปัญหาด้วยสันติวิธี แม้จะใช้เวลานานในการแก้ไขปัญหา แต่จะสามารถแก้ไขความขัดแย้งและความรุนแรงได้อย่างยั่งยืน


 


3. รัฐบาลต้องเปิดโอกาสให้มีการตรวจสอบการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐอย่างโปร่งใส โดยให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นักสิทธิมนุษยชน รวมถึงให้ผู้เขียนรายงานพิเศษด้านการต่อต้านการก่อการร้าย และการสังหารนอกกระบวนการยุติธรรมขององค์การสหประชาชาติได้เข้ามาสอบข้อเท็จจริงในกรณีที่ประชาชนไม่ได้รับความเป็นธรรมต่างๆ


 


ทั้งนี้ คณะทำงานฯขอเป็นกำลังให้เจ้าหน้ารัฐ และประชาชนทุกท่านที่ยังคงทำงานหนักในการแก้ไขปัญหาจัหวัดชายแดนภาคใต้  และยึดมั่นในสันติวิธี และหลักนิติธรรมอย่างเคร่งครัด  เพื่อนำสันติสุขให้คืนกลับสู่สังคมไทยอย่างยั่งยืนในที่สุด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net