Skip to main content
sharethis

 



 


กรณ์อุมา พงษ์น้อย หรือ "กระรอก" เป็นหนึ่งในสมาชิกกลุ่มรักท้องถิ่นบ่อนอกของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่เป็นที่รู้จักกันดีในหมู่ผู้ติดตามความเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม หรือการเมืองภาคประชาชน โดยเฉพาะหลังจากสามีของเธอ "เจริญ วัดอักษร" ถูกลอบสังหารในเดือนมิถุนายน ปี 2547หลังจากเคลื่อนไหวคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่ และตรวจสอบการทุจริตที่ดินในพื้นที่อย่างหนักหน่วง


 


กว่า 4 ปีมาแล้วที่เธอและชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ต่อสู้เรื่องคดี อีกทั้งยังคงเคลื่อนไหวร่วมกับกลุ่มอื่นๆ ในพื้นที่ข้างเคียงต่อต้านโครงการพัฒนาที่พวกเขามองว่าสร้างผลกระทบต่อชุมชน สร้างความอยุติธรรมให้คนท้องถิ่น ผ่านสโลแกนที่ดุเดือด การรวมกลุ่มของมวลชนที่แน่นหนา การเคลื่อนไหวที่ต่อเนื่อง และ "เสื้อสีเขียว"ที่ตอนนี้กลายเป็นสัญลักษณ์ของชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ในที่อื่นๆ ทั่วประเทศแล้วก็ว่าได้


 


ท่ามกลางหมอกควันหนาทึมของการเมืองไทยในปัจจุบัน และการแบ่งแยกทางความคิดของผู้คนที่ชัดเจนที่สุดอีกครั้งหนึ่งของประวัติศาสตร์ น่าสนใจว่า คนที่สามารถพูดได้เต็มปาก เต็มภาคภูมิว่าเขาคือภาคประชาชนที่ต่อสู้กับความอยุติธรรมของโครงสร้างการเมือง เศรษฐกิจ สังคมมาโดยตลอดจะมีมุมมองเช่นไรต่อสถานการณ์ปัจจุบัน และการเคลื่อนไหวของขบวนการประชาชนขณะนี้เป็นอย่างไร รวมทั้งแง่มุมเกี่ยวกับ "การพัฒนา" ที่ยังคงมีช่องว่างแห่งการถกเถียงระหว่างกลุ่มคนที่ยืนอยู่ ณ จุดต่างๆ ในสังคม ... นี่เป็นการสนทนากับกรณ์อุมาเมื่อต้นเดือนตุลาคม ในวันที่ขบวนเสื้อเขียวจากประจวบฯ ราว 200 คนมาร่วมรับฟังการสืบพยานจำเลยนัดสุดท้ายในคดีลอบสังหารเจริญ ที่ศาลอาญา กรุงเทพฯ


 


0000


 


 


ถาม : บทเรียนที่ผ่านมาในการเคลื่อนไหวของกลุ่มอนุรักษ์ฯ คืออะไร


กระรอก : มันเหมือนเอาคนที่ยิ่งกดก็ยิ่งต้าน ยิ่งบีบก็ยิ่งทะเล็ด โดยความเป็นประชาชน เรารู้ว่าถ้าเราไม่รวมตัวกันก็จะพ่ายแพ้ไปเหมือนกับที่อื่น ในที่อื่นในการใช้ความรุนแรงจัดการกับผู้นำ ก็เป็นกระบวนการที่ง่าย สะดวก หลายที่โดน ต่อไปนี้ขบวนการประชาชนเปรียบเสมือนฝูงแกะ มันต้องมีเด็กเลี้ยงแกะ ถ้าจัดการเด็กเลี้ยงแกะได้ ฝูงแกะก็แตกกระจายกันไปวิธีคิดของรัฐเป็นอย่างนี้ ประชาชนจึงได้เรียนรู้และไม่ยอมกับสิ่งที่เขาโดนกระทำ


 


 


มีปัจจัยอะไร ทำให้คนที่นี่ต่างจากที่อื่น ที่อื่นๆ ถ้าแกนนำถูกจัดการก็รวมกันไม่ค่อยติดแล้ว หรือระยะเวลาที่ยาวนานหลายปี ทำไมชาวบ้านที่นี่ยังเหนียวแน่น และตอนนี้ไม่ได้มีประเด็นร้อนในพื้นที่ ผู้คนก็น่าจะแยกย้ายกันไปทำมาหากิน ทำไมจึงยังสนใจเรื่องชุมชนรวมกลุ่มกันได้มาก


ท่ามกลางการต่อสู้ของพวกเราที่ผ่านมา เรารู้ว่าเรากำลังสู้กับนโยบายของรัฐ ตราบใดที่รัฐยังไม่ปรับเปลี่ยนนโยบาย วิธีคิด ก็ต้องสู้เรื่อยไป และในการต่อสู้ของพวกเรา หนึ่งต้องมีความกล้าหาญ สองต้องมีความเสียสละ สองตัวนี้เป็นหัวใจที่สำคัญในการต่อสู้ของชาวบ้าน มันต้องมีความรักถิ่นฐานบ้านเกิดตัวเองด้วย เป็นสำนึกที่คนในพื้นที่มีอยู่แล้ว ถึงจะยืนหยัดอยู่ได้ พวกเราเองก็โดนคดีกันเยอะ ไม่ใช่เฉพาะเรื่องการลอบทำร้าย ลอบสังหาร กลไกของรัฐก็มีส่วนทำร้ายชาวบ้านด้วยเหมือนกัน ล่าสุด สุพจน์ (ส่งเสียง) บางสะพาน ก็โดนแบบเดียวกัน เราก็เรียนรู้กันไปเรื่อยๆ และสรุปกันว่าถ้าประชาชนไม่เข้มแข็งมันก็จะเข้าทางรัฐและทุนโดยสะดวก


 


 


กลุ่มอนุรักษ์บ่อนอก-บ้านกรูด อาจเป็นโมเดลการรวมตัวต่อรองของประชาชนที่ดีที่สุดตอนนี้ แต่กลุ่มอนุรักษ์ฯ มีการขยายแนวร่วมไหม แล้วกลุ่มอนุรักษ์ฯ เองถือเป็นคนส่วนน้อยหรือส่วนใหญ่ของคนในพื้นที่ทั้งหมด


เรื่องความรักถิ่นฐานบ้านเกิดมันขยายตัวขึ้น จากเมื่อก่อนนี้ที่มีกลุ่มบ่อนอก บ้านกรูด ถึงวันนี้มันก็ขยายไป มีกลุ่มอนุรักษ์แถบใกล้เคียงเพิ่มอีกหลายกลุ่ม เพราะรัฐยังคงไม่ปรับเปลี่ยนวิธีคิด วิธีดำเนินนโยบาย หนำซ้ำยังหนักกว่าเดิมเพราะกำหนดให้จังหวัดประจวบเป็นเมืองอุตสาหกรรม เวสเทิร์นซีบอร์ด อย่างนี้มันทำให้เกิดกลุ่มอื่นๆ อีก ทั้งที่บางสะพาน ทับสะแก กุยบุรี สามร้อยยอด ทั้งหมดลุกมาสู้กับโครงการพัฒนา วันนี้เราจับมือกันสู้เพราะโดยแผนพัฒนาของรัฐ เราไม่สามารถมองอย่างแยกส่วนได้ ต้องเท่าทันรัฐ เพราะเรามีบทเรียนจากชะตากรรมของพี่น้องระยอง เราต้องรู้ว่า เวสเทิร์นซีบอร์ด มันคืออะไร ไม่ใช่จะสู้แต่เรื่องของตัวเอง จบแล้วก็ไม่ยุ่งกับเรื่องอื่น เราต้องยกระดับความคิดของผู้คนว่าเราต้องร่วมด้วยช่วยกัน เพราะแผนพัฒนานี้ใหญ่มาก และโครงการต่างๆ มันมาด้วยกัน ทั้งโรงถลุงเหล็กที่บางสะพาน โรงไฟฟ้า 4,000 เมกะวัตต์ที่ทับสะแก หรือการประกาศเดินหน้าแนวท่อก๊าซที่มาจากราชบุรีก็ชัดเจนว่าจะไปรองรับอุตสาหกรรมหนักที่ประจวบ การสร้างเขื่อน มอเตอร์เวย์ รถไฟรางคู่ มันเป็นความเชื่อมโยงกับความเป็นเมืองอุตสาหกรรม


 


ตอนนี้เราทำความเข้าใจกับคนใน 4 อำเภอโดยตลอดว่าไม่สามารถสู้แบบแยกส่วนกันได้ วันนี้ความรู้สึกของชาวบ้านเรารู้ว่าเราถูกกำหนดให้แบ่งเป็นเขต เพื่อแบ่งแยกแล้วปกครองพวกเรา ทำให้ชาวบ้านอาจคิดว่าเรื่องของอำเภออื่นไม่ใช่เรื่องของเรา แต่ถ้ามองมุมสูง จะรู้ว่าพรมแดนไม่มีจริง และมลพิษเองก็ไม่มีพรมแดน


 


 


นี่นับเป็นความก้าวหน้าของภาคประชาชนที่น่าสนใจ แต่ถ้าถามคำถามแบบคนชั้นกลางทั่วไปในสังคมที่ไม่ได้มีมุมลบต่อการพัฒนา เราจะอธิบายเหตุผลของเราอย่างไร มันจะกลายเป็นว่าเราต่อต้านการพัฒนาทุกรูปแบบหรือเปล่า


จริงๆ ต้องย้อนดูระดับนโยบายว่า นโยบายในการสร้างชาติ  สร้างเศรษฐกิจของชาติ โดยเฉพาะหน่วยงานอย่างสภาพัฒน์ฯ จะเห็นได้ว่าในระยะ 20 กว่าปี ทิศทางการพัฒนาประเทศเปลี่ยนจากเมืองเกษตรกรรม เป็นการเอาอุตสาหกรรมเป็นตัวตั้ง เพราะประเทศไทยกำลังตามก้นกระแสหลักของโลกที่วัดความเจริญด้วยค่าจีดีพี ถ้าคนในประเทศนี้ไม่ได้ถูกรัฐมอมเมา มีสติ ได้รับข้อมูลข่าวสารอย่างครบถ้วนรอบด้าน เชื่อว่าคนกรุงจะเข้าใจว่า การพัฒนาเช่นนี้ไม่ได้ตอบสนองต่อการกินดีอยู่ดีโดยรวมทั้งประเทศ และการสร้างเศรษฐกิจของชาติอย่างแท้จริง มีแต่จะเบียดขับคนส่วนใหญ่ของประเทศ จีดีพีมันเป็นค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมแล้วมาหารด้วยจำนวนคนของ ประเทศ มันเหมือนกับรัฐเอาคนที่มีรายได้ 1 ล้านบาทมารวมกับคนที่มีรายได้ 1 บาท แล้วหารด้วย 2 ถ้าดูแค่นี้เหมือนเป็นธรรม แต่ในความเป็นจริง  คนที่มี1ล้านก็มี 1ล้านบาทเท่าเดิม  คนที่มีอยู่ 1บาทก็ยังมี 1บาทเท่าเดิม  มันเป็นแค่วิธีการคำนวณ ถามว่ามันกระจายรายได้ให้กับผู้คนตรงไหน คนรวยก็รวยเอาๆ คนจนก็จนเอาๆ เหมือนเดิม ฉะนั้น เราจึงต้องมานิยามคำว่า "ชาติ" กันให้ชัด ไม่ใช่แบบที่รัฐพยายามมอมเมา เพราะเวลารัฐออกนโยบายอะไรออกมา มักโหมโฆษณาว่า สร้างเศรษฐกิจชาติ สร้างผลประโยชน์ชาติ เราบอกเลยว่า "ชาติ" ของเราคือประชาชนโดยรวม ส่วน "ชาติ" ของรัฐอาจหมายถึงไม่กี่ตระกูล ไม่กี่นามสกุล


 


ถามว่าวันนี้สถานการณ์เรื่องวิกฤตอาหารโลกกำลังเป็นเรื่องสำคัญ จุดเด่นที่สุดของเราคือการเป็นประเทศเกษตรกรรม ถ้าเราไม่ตามการพัฒนาอุตสาหกรรมกระแสหลักของโลกมากเกินไป แล้วเราพัฒนาให้ถูกจุดประเทศไทยก็จะร่ำรวยได้เหมือนกัน


 


เราคิดว่ามันมีข้อเด่นของเราอยู่ที่จะพัฒนาได้  ไม่ใช่จะให้หยุดการพัฒนา แต่ประมาณว่าให้เลือก เรายังมีพื้นที่ มีวิถีชีวิตที่จะทำมาหากินกับการเกษตร ประมง การท่องเที่ยว ในพื้นที่เราไม่มีชีวิตที่ไปผูกพันกับอุตสาหกรรม ถามว่าสถานะของเราคืออะไร พวกเราคือผู้ประกอบการรายย่อย มีไร่สับปะรด 50 ไร่ 100 ไร่หล่อเลี้ยงคนทั้งครอบครัว หรือมีเรือประมงลำหนึ่งก็หล่อเลี้ยงคนได้ทั้งครอบครัว พี่น้องบ้านกรูดมีสวนมะพร้าวแล้วรวมตัวกันจนถึงขั้นสามารถส่งออกไปต่างประเทศได้ เป็นมะพร้าวอินทรีย์ส่งไปยุโรปโดยที่รัฐไม่ต้องอุ้มชู อันนี้เป็นความเข้มแข็ง อาจเป็นเศรษฐกิจที่ไม่ได้สร้างจีดีพีเป็นที่ถูกใจของสภาพัฒน์ฯ หรือรัฐ แต่เป็น GNH ที่เป็นความสุขมวลรวมของพวกเรา เศรษฐกิจเราก็ดีโดยที่ไม่ต้องเอาตัวเองไปผูกติด หรือพึ่งพิงกับอุตสาหกรรม คนในกระแสที่ด่าพวกเราหรือมีมุมมองที่เป็นลบกับพวกเรา เพราะเขารับฟังข้อมูลจากรัฐหรือทุนที่โหมโฆษณาแบบเหมารวม การโฆษณาชวนเชื่อเป็นเรื่องที่น่ากลัว รัฐมีอำนาจมีสื่อในมือ กลุ่มทุนก็มีเงิน  การต่อสู้กับเรื่องโรงไฟฟ้านี่ชัดเจน รัฐกับทุนพยายามโฆษณาว่า ถ้าโรงไฟฟ้าไม่ได้สร้างที่บ่อนอก บ้านกรูด ไฟจะตก ติดๆ ดับๆ คนทั้งประเทศก็ด่าเรา เพราะรู้สึกว่าตัวเองจะเดือดร้อน แต่ไม่มีการนำเสนอความจริงว่า ไฟสำรองเหลือมากมายมหาศาล และสิบปีที่ผ่านมาพิสูจน์แล้วว่าไม่ใช่แบบนั้น แต่ก็ไม่รู้ว่าผู้คนได้ศึกษาและปรับวิธีคิดอะไรกันบ้างไหม


 


 


แต่โครงการต่างๆ ก็พยายามอธิบายว่ามีเทคโนโลยีสูง  ผลกระทบไม่น่าจะเป็นเช่นที่กลัวกัน


ไม่ได้บอกว่าไม่เชื่อเทคโนโลยี แต่ถามว่า สำหรับนักลงทุนแล้ว เทคโนโลยีที่ดีแปลว่าต้นทุนที่สูง โดยเฉพาะเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับการปกป้องสิ่งแวดล้อมเขาจะยอมลงทุนสักเพียงไหน เพราะวิธีคิดพื้นฐานของทุนคือการลดต้นทุนให้ต่ำที่สุด เพื่อแสวงหากำไรสูงสุด แล้วถามอีกว่า กลไกการตรวจสอบของประเทศไทยมันเป็นยังไง มันอยู่ในมือหน่วยงานรัฐ ซึ่งที่ผ่านมาก็พิสูจน์ให้เราเห็นโดยตลอดว่าไม่อาจเชื่อมั่นได้ การคอรัปชั่นก็มาก ดังนั้น การจัดการที่แท้จริงมันเกิดไม่ได้ ดังนั้น เราไม่ได้ปฏิเสธเทคโนโลยีแต่นี่คือข้อเท็จจริง และพิสูจน์แล้วในหลายพื้นที่  กรณีโรงถลุงเหล็กที่ประจวบฯ โฆษณากันมากว่าจะเป็นแบบเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมเหล็กที่ญี่ปุ่น เราก็ไปญี่ปุ่นมา ศึกษาเรื่องนี้เหมือนกัน ญี่ปุ่นที่เอามาโฆษณาก็บ้าจีดีพียิ่งกว่าประเทศไทย ถามว่าถ้าเขามีกระบวนการจัดการทรัพยากร สิ่งแวดล้อมอย่างดีพอ ทำไมเขาส่งออกอุตสาหกรรมหนักเหล่านี้  โดยส่งเสริมให้นักลงทุนของเขาไปลงทุนในประเทศอื่น นั่นเพราะเขาแบกรับต้นทุนสังคม สิ่งแวดล้อมไม่ไหว จึงต้องเอามาไว้ในประเทศกำลังพัฒนา ด้อยพัฒนา ที่กฎเกณฑ์อะไรยังไม่เข้มงวด แล้วไอ้เมืองชิบะเอง ก็ไปลงทุนที่ฟิลิปปินส์ แล้วไปสร้างปัญหาที่ฟิลิปปินส์เป็นข่าวครึกโครม ที่ผ่านมาญี่ปุ่นเขาสรุปแล้วว่าอุตสาหกรรมเหล็กมลพิษมันสูง และใช้น้ำ ใช้ไฟสูงมาก จึงต้องย้ายฐานการผลิต แล้วไทยก็จะยอมเป็นฐานการผลิตแบบนี้แล้วให้เขาหอบเงินหอบกำไรกลับบ้านกันไป บีโอไอก็ยังยกเว้นภาษีที่รัฐควรจะได้ สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานรัฐก็ต้องจัดให้อีก เรื่องพวกนี้ไม่เคยนำเสนอข้อมูลที่รอบด้านให้กับประชาชน


 


 


ที่บอกว่าคนประจวบส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการรายย่อย มีเศรษฐกิจที่ดี ไม่ง้ออุตสาหกรรม อยากถามว่า คนในพื้นที่ส่วนที่ไม่ได้เป็นผู้ประกอบการ และต้องการอุตสาหกรรม กลุ่มอนุรักษ์จัดความสัมพันธ์กับคนที่เห็นแตกต่างตรงนี้อย่างไร


ที่ผ่านมา พอมีการกำหนดนโยบายแบบนี้ กลุ่มที่ลุกขึ้นมาเห็นด้วยโดยหลักมี 2 กลุ่ม คือ เจ้าหน้าที่ของรัฐ ไม่ว่านายอำเภอ ผู้ว่าฯ ลุกขึ้นมาเชียร์ราวกับเป็นพีอาร์ของโครงการเหล่านี้  อีกกลุ่มคือพวกอุตสาหกรรมจังหวัด หอการค้าจังหวัด


 


 


ไม่มีคนในพื้นที่ที่เห็นด้วยกับอุตสาหกรรมเลยหรือ


ชาวบ้านที่สนับสนุนแบบอารมณ์บริสุทธิ์ เป็นความต้องการของเขาจริงๆ นั้นมีน้อยมาก วันนี้บทเรียนของระยองและหลายๆ ที่เป็นตัวอย่างที่ดี โดยเฉพาะเมื่อเทคโนโลยีการสื่อสารที่ก้าวหน้าอย่างปัจจุบันด้วยแล้ว เขารู้หมดว่ามันเป็นอย่างไร แล้วก็เป็นการทำงานกับกลุ่มอนุรักษ์ฯ ด้วยที่พยายามให้ข้อมูลข่าวสารกับชาวบ้าน พอเราลุกขึ้นมาเท่าทันเรื่องการวางแผนให้ประจวบเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมตรงนี้ ก็หาว่าเราเป็นไก่ตื่น "มันเป็นแค่แผน จะรีบค้านไปไหน" นี่เป็นคำพูดของข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในจังหวัด แต่ตอนที่โครงการโรงไฟฟ้าบ้านกรูด บ่อนอก ครม.อนุมัติไปแล้ว แล้วเราลุกขึ้นมาค้าน เขาก็จะบอกว่า "ทำไมเพิ่งมาค้านตอนนี้" อ้าว ก็รัฐไม่เคยเปิดเผยข้อมูลข่าวสารจริงๆ กับคนในพื้นที่ เราจะไปรู้ได้อย่างไร นี่ก็เป็นปัญหาสำคัญของประเทศไทย ชาวบ้านเข้าถึงข้อมูลข่าวสารเป็นเรื่องยากมาก


 


ฉะนั้น กล่าวได้ว่า การขัดแย้งทางแนวคิดของชาวบ้านด้วยกันเองมีน้อย


คิดว่ามีน้อยนะ ไม่ได้ปฏิเสธว่าไม่มีนะ แต่ด้วยเศรษฐกิจที่ค่อนข้างดีของคนในพื้นที่ มันทำให้เขาไม่ได้ต้องการจะผูกติดกับอุตสาหกรรมหนัก อุตสาหกรรมในพื้นที่ก็ใช่ว่าจะไม่มี แต่เป็นอุตสาหกรรมที่มาต่อยอดเศรษฐกิจของพวกเรา เช่น โรงงานสับปะรดกระป๋อง ที่ประจวบก็มีโรงงานด้านการเกษตรมีเยอะ แล้วถ้าคนประจวบต้องการทำงานในโรงงานจริง ตกงานไม่มีงานทำ โรงงานเหล่านี้มีเยอะมาก แต่ตอนนี้คนในพื้นที่ทำงานตรงนี้น้อยมาก เขามีทางเลือกอื่น โรงงานเหล่านี้จึงอาศัยแรงงานพม่าบ้าง แรงงานจากอีสานบ้าง ดังนั้น ถามว่าอุตสาหกรรมที่ต่อยอดทางเศรษฐกิจเรา กับอุตสาหกรรมหนักที่จะก่อผลกระทบ สำหรับคนในพื้นที่ต่อให้เป็นคนที่ไม่มีความรู้อะไรเลย เขาจะเลือกอะไร เขาก็เลือกอย่างแรก เพราะค่าแรงไม่ได้แตกต่างกัน ดังนั้น เราต้องตั้งหลักคิดๆ กับสิ่งที่เขาโฆษณาชวนเชื่อ


 


 


ขอข้ามมาถึงการเมืองในภาพกว้างบ้าง ในฐานะประชาชนที่เคลื่อนไหวต่อสู้ปกป้องท้องถิ่นมานาน มองสถานการณ์การเมืองในปัจจุบันยังไง โดยเฉพาะการพยายามนำเสนอเรื่องการเมืองใหม่ คิดว่ามันจะเป็นประโยชน์กับภาคประชาชนจริงๆ แค่ไหน


จริงๆ พันธมิตรฯ ก็มีคุณูปการหลายเรื่อง มันต้องมองอย่างจำแนก อย่าเหมารวมกันหมด ที่ดีก็มีเยอะ ที่ไม่ถูกต้องก็มี จริงๆ ไม่อยากพูดถึงพันธมิตรฯ เท่าไหร่


 


 


มองยังไงความพยายามในการปฏิรูปการเมืองกันอีกรอบ 


ทุกวันนี้ประชาธิปไตยของไทยมันได้แต่รูปแบบ เอาเข้าจริงมันเป็นประชาธิปไตยในเบื้องต้น คือการหย่อนบัตรเลือกตั้ง แต่หลังจากนั้นแล้วอำนาจมันถูกรวบ ที่เราสู้กันอยู่คือนโยบายรัฐที่มากระทำต่อพวกเรา เผด็จการมันไม่ได้อยู่ในรูปแบบของทหารอย่างเดียวที่เราปฏิเสธ อย่างสภาพัฒน์ฯ นี่ถามว่าเผด็จการไหม อยู่ๆ ก็วางนโยบายอะไรก็ได้ เช่น บอกว่ากุยบุรีเหมาะเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมเหล็ก การให้บางสะพานเป็นเวสเทิร์นซีบอร์ด ทั้งๆ ที่อีสเทิร์นซีบอร์ดที่ระยองก็ชิบหายไปแล้ว อย่างนี้คุณเคยบอกประชาชนไหมว่าจริงๆ แล้วมันคืออะไร บอกแต่ว่าเอาความเจริญไปให้ สร้างงาน โชติช่วงชัชวาลย์ ไม่เคยเอาข้อมูลที่รอบด้านมาให้ และไม่เคยบอกว่าเขามีสิทธิจะปกป้องวิถีชีวิตของเขา ถ้าเขาพอใจในแบบที่เป็นอยู่ อย่างเรื่องโรงถลุงเหล็ก รมว.อุตสาหกรรม บอกว่า อาจจะต้องมีการอพยพคนเป็นพันครัวเรือน อย่างนี้เผด็จการไหม มันก็ควรจะปฏิรูป สิ่งที่เราทำอยู่ก็รู้สึกว่ามันเป็นการปฏิรูปอยู่แล้วด้วยเหมือนกัน


 


 


ข้อเสนอเรื่องการเมืองใหม่ เห็นอย่างไร


จริงๆ ก็ยังไม่ค่อยชัดว่ามันคืออะไรกันแน่ แต่การเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่ผ่านการเลือกตั้งที่ผ่านมามันก็เน่าเต็มทน จู่ๆ ตัวแทนในสภาก็ออกกฎหมายอะไรมา มีมติอะไรมา โดยไม่ได้ถามความเห็นของประชาชนเลยหรือ


 


 


เคยมีการคุยกันไหม ว่าประชาชนที่ต่อสู้ในพื้นที่ อยากเห็นการเมืองภาพใหญ่ไปในทิศทางไหน


เราก็ต้องการการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยนั่นแหละ แต่ต้องฟังเสียงประชาชนให้มากกว่านี้ ไม่ใช่เป็นเผด็จการ มีอำนาจแล้วจะทำอะไรก็ได้ ตอนนี้มันกลายเป็นว่าชุมนุมไหนเข้มแข็งก็ดีไป ชุมชนไหนไม่เข้มแข็งก็กลายเป็นเหยื่อ รูปแบบประชาธิปไตยยังไม่แก้ปัญหาตรงนี้ อย่างที่ระยองชาวบ้านโดนไปแล้ว ไปใช้กฎหมายเวนคืน แล้วสร้างนิคมอุตสาหกรรม มันประชาธิปไตยแบบไหน


 


 


เวลาเราพูดว่ารัฐไม่ฟังเสียงประชาชน การเมืองการเลือกตั้งไม่สามารถแก้ปัญหาให้ประชาชนได้  ในขณะที่การเมืองกำลังเป็นคู่ตรงข้ามกับมากขึ้นเรื่อยๆ ในปัจจุบันอย่างนี้เท่ากับเราเห็นด้วยกับการเมืองที่มาจากการสรรหาเพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ไหม


มาทางไหน ไม่ค่อยรู้สึกอะไรเท่าไหร่ ปัญหาคือ วิธีคิดของคนที่ไปยืนตรงนั้น ให้ความสำคัญกับประชาชนไหม ตอนนี้รูปแบบประชาธิปไตยอาจดีตรงที่ประชาชนมีโอกาสเลือกคนที่เขาชอบ คนที่เขามีความหวัง แต่ปัญหามันเกิดเมื่อตอนเข้าสู่อำนาจแล้วมากกว่า ว่าคุณทำอะไรโดยอ้างเสียงประชาชนตลอด แต่ไม่เคยฟังคนในพื้นที่เลย


 


 


มีคนสงสัยว่า ในหลายพื้นที่ที่ประชาชนต่อสู้ในพื้นที่มากๆ พอมีการเมืองท้องถนนที่เข้มแข็งอย่างพันธมิตรฯ เกิดขึ้น หลายพื้นที่ก็เข้าไปร่วม ทำไมเราถึงไม่เห็นคนเสื้อเขียวที่ประจวบฯ เข้าร่วม


จริงๆ ในขบวนเราก็มีชาวบ้านไปเหมือนกัน แต่มันออกจะเป็นการเมืองที่ต้องเลือกข้างเลือกฝ่ายมากเกินไป ในความเป็นชุมชนของเราเอง เราก็มีความหลากหลาย ถ้าให้ไปในนามกลุ่ม เรามีมติกันแล้วว่าจะไม่ไปแบบนั้น แต่ถ้าไปในนามส่วนตัว มันก็เป็นสิทธิของคนทุกคนที่จะเลือก วันนี้สถานการณ์การเมืองอย่างนี้ ประชาชนมีสิทธิคิดแตกต่างกันได้ ซึ่งนำไปสู่จุดยืนทางการเมืองที่ไม่เหมือนกันได้ ถามว่าบ้านกรูดถึงบ่อนอกมีไปไหม มีไป ซึ่งก็ไปในหลากหลายความคิด บางคนไปเพราะรักสถาบัน บางคนไปเพราะเกลียดทักษิณ แล้วแต่ฐานความคิดของแต่ละคน และเราต้องเคารพในความคิดเห็นของคนอื่น


 


แต่จุดอ่อนของพันธมิตรฯ ที่สำคัญก็คือ แยกมิตร แยกศัตรูไม่ออก ใครแตะท่วงทำนองอะไรคุณไม่ได้ ใครวิพากษ์วิจารณ์ก็ถูกกากบาทให้เขาเป็นพวกทักษิณไปเลย มันก็ทำให้เขาสร้างแรงเสียดทานให้กับตัวเอง เมื่อก่อนอาจได้แนวร่วมเยอะที่ไม่เอาทักษิณ แต่ตอนนี้อาจน้อยลง แต่ยังไงเสียชาวบ้านที่เขาไปเขาก็ยังคงไปด้วยหัวใจรักชาติ


 


 


ปัญหาหลักๆ ที่กลุ่มอื่นๆ กับพันธมิตรฯ อาจไม่เห็นร่วมกันในช่วงหลัง แม้ว่าจะเคยวิจารณ์รัฐบาลทักษิณมาด้วยกัน ก็คือ หลักการเรื่องประชาธิปไตย หรือเปล่า


หลักการก็เรื่องหนึ่ง มันก็เริ่มมีปัญหาตั้งแต่ มาตรา 7 (แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยประกาศขอนายกรัฐมนตรีพระราชทาน โดยอ้างมาตรา 7 ตามรัฐธรรมนูญ 2550 เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2549) เป็นต้นมา ตอนแรกๆ พี่เองก็ไปร่วมกับพันธมิตรฯ เหมือนกันแต่พอเรื่องมันโยงมาเรื่องมาตรา 7 และเรื่องอนุรักษ์นิยมมากขึ้นก็ถอยเหมือนกัน หลังจากนั้นก็เห็นปรากฏการณ์อะไรอีกเยอะแยะมากมาย แต่ถามว่าสิ่งที่พันธมิตรฯ ทำมาอย่างยาวนานบางเรื่องก็มีคุณูปการ ไม่ใช่จะมองไม่เห็นเลย อย่ามองทุกอย่างเขย่ารวมกันหมด อย่างน้อยเขาก็สร้างความคิดให้กับคนชั้นกลางให้เข้าใจการต่อสู้ของชาวบ้านมากขึ้น ตอนนี้หวังว่าคนชั้นกลางจะเข้าใจมากขึ้นแล้วว่า ทำไมสมัชชาคนจนต้องล้อมทำเนียบฯ  ทำไมชาวบ้านต้องปล่อยเหี้ยที่ทำเนียบฯ เพราะก่อนหน้านี้พวกนี้มองเราไม่เข้าใจ


 


 


จะทำให้คนชั้นกลางเข้าใจชาวบ้านมากขึ้นหรือ


น่าจะเข้าใจมากขึ้น แต่ก็ไม่ได้คาดหวังสุดขั้วว่าจะทำให้พวกเขาหันมามองปัญหาชาวบ้านรากหญ้าที่โดนกระทำจากนโยบายรัฐ แต่ต่อไป คนอาจเข้าใจมากขึ้นเวลาคนประจวบฯ ไปเดินขบวน เพราะเมื่อก่อนโดนด่าเยอะว่าป่วนบ้าน ป่วนเมือง ขัดขวางการพัฒนา แต่วันนี้ตัวคุณเองกำลังทำในสิ่งที่คุณเคยด่าเราอยู่


 


 


แต่มันมีความต่างไหม เพราะชาวบ้านไปเดินขบวน ไปทำเนียบฯ ก็ไม่ได้ถึงกับยึด หรือเกินเลยกรอบกฎหมาย เมื่อมองมุมกลับ มีคนเป็นห่วงว่า การเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯ จะสร้างภาพที่ไม่ดี สร้างความรู้สึกแง่ลบให้กับการเมืองภาคประชาชนด้วยซ้ำ กลุ่มอนุรักษ์ฯ เป็นห่วงเรื่องนี้ไหม


โดยประสบการณ์ส่วนตัว การเคลื่อนไหวต้องมีขึ้นมีลง การขึ้นก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ส่วนการลงก็ต้องลงให้สวย แต่ในความเห็น การเคลื่อนไหวของเขาก็เลยจุดมาหลายครั้งเหมือนกัน โอเคว่าความพร้อมของพันธมิตรฯ เขามีถึงขนาดที่จะใช้คำว่า "เป่านกหวีด" ได้ แสดงว่ามีมวลชนเยอะ แต่ในความรู้สึกแล้วเห็นว่ามันพักได้ ไม่ใช่ลากยาว ก็ยังงงอยู่ว่ามันจะจบยังไง แล้ว นปก.ก็เริ่มๆ ออกมาอีก ประชาชนที่ไปก็มีจิตใจที่ดี และมีความคิดเป็นของตัวเองทั้งสองฝ่ายแหละ ทำให้น่าห่วงเรื่องการปะทะ การนองเลือด


 


ขอถามให้ชัดอีกทีว่า การเมืองที่กำลังนำเสนอใหม่น่าจะเป็นประโยชน์กับประชาชนไหม


ถ้าเราไม่ยึดติดกับประชาธิปไตยในส่วนรูปแบบที่เป็นอยู่ขณะนี้ แล้วช่วยกันสำรวจปัญหาที่ผ่านมา แล้วร่วมกันวิเคราะห์เพื่อหาทางแก้อย่างแท้จริง ก็น่าจะมีประโยชน์ เช่นเรื่องการสร้างส่วนร่วมของประชาชน แต่โดยกระบวนการก็ต้องถกกันอีกมาก ที่ผ่านมา โดยระบบของ ส.ว.ก็เคยมีการสรรหา มาจนมีการเลือกตั้ง ไม่สังกัดพรรคการเมือง ถามว่ามันแก้ปัญหาไหม ก็ยังแก้ไม่ได้ ถ้าจะใช้ระบบสรรหามันตอบคำถามของประชาชนไหม ได้อำนาจแล้วจะมีวิธีการใช้อำนาจในทางที่ดีขึ้น มีธรรมาภิบาลขึ้นไหม นี่เป็นเรื่องสำคัญ


 


การเมืองที่เป็นอยู่มันมีปัญหาจริงๆ ทั้งการสืบทอดอำนาจด้วย อย่างการเมืองในพื้นที่ คนที่ได้เป็นเครือญาติกันหมด สะท้อนไปจนถึงการเมืองระดับใหญ่เลย แต่ก็เคารพในการตัดสินใจของผู้คนไม่ว่าจะเพราะอะไรก็แล้วแต่


 


ทางออกมันควรจะเป็นอย่างไร


คงต้องช่วยกันคิดอีกเยอะ แต่อย่างหนึ่งคือ สำรวจปัญหาที่ผ่านมาแล้วนำมาปรับปรุงใหม่ให้ดีขึ้น ถ้าทำได้จริงนะ แต่ไม่ใช่ว่าการเมืองใหม่ เป็นเรื่องการแต่งตั้ง สรรหามานึกว่าดีแล้ว แต่กลับมาใช้อำนาจแบบเดิม มันไม่ได้ต่างกัน คงต้องคิดกันอีกเยอะ อย่างรัฐบาลทหารที่ผ่านมาในการบริหารงาน ในด้านนโยบายก็ไม่ได้ต่างจากเดิมเลย แต่สิ่งสำคัญที่รับกันไม่ได้คือ การไม่เคารพการเลือกตั้ง ทำลายระบอบประชาธิปไตยที่มีรูปแบบการยอมรับแล้ว และท้ายที่สุดการตัดสินใจอะไรมันก็ยังคล้ายคลึงกัน สุดท้ายอำนาจระดับบนมันเหมือนกัน


 


อย่างนั้นแล้วประชาธิปไตยในรูปแบบ เช่น การเลือกตั้ง ยังสำคัญอยู่ไหม


ถ้ามันเป็นอย่างที่เป็นอยู่แล้วหาทางจัดการให้มันดีขึ้นได้ ก็โอเคนะ แต่ถามว่าวันนี้ระบบการเลือกตั้งของประเทศเรา แค่ระดับท้องถิ่นเองด้วยซ้ำ เรื่อง "ความดี" มันหายไป มันเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงตรงนี้ ตอนนี้เป็นเรื่องผลประโยชน์ล้วนๆ ถ้าไม่มีลด แลก แจก แถม อย่าหวังว่าจะได้ แล้วอย่าง อบต. เทศบาล ก็ใช้วิธีการแบบเดียวกับระดับชาติ ในการออกนโยบายอะไรต่างๆ การตรวจสอบต่างๆ ก็ไม่มี กระบวนการพวกนี้มันแย่ลง ต้องหาทางแก้ตรงนี้


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net