ชาวบ้าน 4 พื้นที่เตรียมสร้างโรงไฟฟ้า เข้ากรุงเดินสายค้านการลงทุนร่วมของบริษัทต่างชาติ

 

 

 

วานนี้ (27 ต.ค.51) กลุ่มชาวบ้านจาก 4 พื้นที่เป้าหมายการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเอกชน ประกอบด้วย เครือข่ายติดตามผลกระทบโรงไฟฟ้าถ่านหิน ต.เขาหินซ้อน (คตฟ.) ร่วมกับเครือข่ายพนมสารคามพิทักษ์สิ่งแวดล้อม จ.ฉะเชิงเทรา เครือข่ายรักษ์แปดริ้ว ต.เสม็ดเหนือ และ ต.เสม็ดใต้ อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา เครือข่ายอนุรักษ์วิถีเกษตรกรรม อ.หนองแซง จ.สระบุรี และ อ.ภาชี จ.อยุธยา และเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก กว่า 80 คน เดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อยื่นหนังสือคัดค้านการลงทุนโรงไฟฟ้าถ่านหิน และโรงไฟฟ้าก๊าซของบริษัทเอกชนที่มีผู้ร่วมลงทุนเป็นบริษัทจากต่างประเทศ

 

โดยเมื่อเวลา 11.00 น. กลุ่มชาวบ้านจากทั้ง 4 พื้นที่ ได้เดินเท้าจากสวนลุมพีนี ถึงบริเวณหน้าสถานทูตอเมริกา บนถนนวิทยุ เพื่อยื่นหนังสือต่อเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย ในการคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนจากถ่านหิน กำลังผลิต 600 เมกกะวัตต์ ในพื้นที่ ต.เขาหินซ้อน อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา ของบริษัท National Power Supply ซึ่งเป็นการร่วมลงทุนของบริษัท CMS Energy Corporation จากสหรัฐอเมริกา ร่วมกับบริษัท Soon Hua Seng Group ของไทย ในสัดส่วน 50:50

 

หลังการตกลงพูดคุยทางเจ้าหน้าที่สถานทูตอเมริกา ได้อนุญาตให้ตัวแทนกลุ่มชาวบ้านที่ประสบปัญหา 1 คน พร้อมล่ามเข้าพบพูดคุย และยื่นหนังสือภายในสถานทูตฯ ซึ่งนางสาวนันทวัน หาญดี ที่ปรึกษาด้านวิชาการของ เครือข่ายติดตามผลกระทบโรงไฟฟ้าถ่านหิน ต.เขาหินซ้อนเป็นตัวแทนเข้ามอบหนังสือ แก่นายคาร์สัน วู เจ้าหน้าที่ซึ่งดูแลเรื่องเศรษฐกิจ

 

นางสาวนันทวัน กล่าวภายหลังการพูดคุยว่า การยื่นหนังสือในวันนี้เป็นการยื่นผ่านทางสถานทูตเพื่อส่งต่อไปยังบริษัท CMS Energy Corporation เพื่อคัดค้านการลงทุนในธุรกิจพลังงานของบริษัทดังกล่าว ซึ่งชาวบ้านหวั่นเกรงกันว่าจะก่อให้เกิดมลพิษ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ สภาพแวดล้อม ไปถึงการประกอบอาชีพ และด้านสังคม อีกทั้งยังอาจกระทบต่อศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

 

ในส่วนของข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในการทำธุรกิจพลังงานของบริษัท Soon Hua Seng Group ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นไทยเองก็พบว่า ไม่มีจริยธรรม ขาดหลักธรรมาภิบาล และไม่มีความรับผิดชอบต่อสังคม เพราะมีการปิดบังข้อมูลการดำเนินงาน รวมทั้งไม่เสนอข้อมูลรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ให้แก่ประชาชนได้รับทราบ

 

นอกจากนี้การกำหนดนโยบายด้านพลังงานและแผนการจัดหาไฟฟ้าของประเทศ (PDP) กระบวนการตัดสินในอนุมัติโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตเอกชนรายใหญ่ (IPP) ของกระทรวงพลังงานและหน่วยงานราชการ รวมทั้ง EIA ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลต่อประชาชน ขาดการมีส่วนร่วมของชุมชนตามมาตรา 67 ของรัฐธรรมนูญปัจจุบัน

 

ต่อคำถามถึงความเชื่อมโยงกันของกลุ่มชาวบ้านทั้ง 4 เครือข่ายที่มาทำกิจกรรมร่วมกันในวันนี้นั้น นางสาวนันทวัน กล่าวว่าถือเป็นการเชื่อมโยงกันเพื่อการขับเคลื่อนในการแก้ปัญหาในระดับนโยบาย ซึ่งขณะนี้ไม่ได้มีเพียง 4 กลุ่มแต่มีการต่อเชื่อมขยายไปทั่วประเทศแล้ว

 

อนึ่ง นางสาวนันทวัน ยังได้กล่าวถึงผลการพูดคุยว่า ได้มีการแจ้งต่อทางสถานทูตถึงการที่ชาวบ้านจะกลับมาติดตามผลความคืบหน้าในอีก 1 เดือนให้หลัง และจะรวบรวมสมาชิกเครือข่ายมาอีกเป็นจำนวนมากขึ้น

 

จากนั้นเมื่อเวลาประมาณ 13.00 น.กลุ่มชาวบ้านได้ไปรวมตัวอีกครั้งที่อาคาร Exchange Tower ถ.สุขุมวิท เขตคลองเตย ซึ่งเป็นที่ตั้งของ บริษัท J-Power ในประเทศไทย เพื่อยื่นหนังสือต่อและข้อมูลต่อกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท J-Power ขอคัดค้านการลงทุนของบริษัท J-Power ในกรก่อสร้างโรงไฟฟ้าบางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา และโรงไฟฟ้าหนองแซง อ.หนองแซง จ.สระบุรี

 

ทั้งนี้ โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติบางคล้า ในพื้นที่ ต.เสม็ดเหนือ และ ต.เสม็ดใต้ อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา มีกำลังผลิต 1,600 เมกกะวัตต์ ดำเนินการโดยบริษัทสยามเอ็นเนอร์ยี่ จำกัด ในเครือบริษัท กัลฟ์ เจ-พี (Gulf JP) ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่างบริษัทกัลฟ์ อิเล็กตริก และ J-Power ประเทศญี่ปุ่น

 

ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติหนองแซง มีกำลังผลิต 1,600 เมกกะวัตต์ ตั้งอยู่ในพื้นที่ อ.หนองแซง จ.สระบุรี และ อ.ภาชี จ.อยุธยา ดำเนินการโดยบริษัท เพาเวอร์เจเนอเรชั่นซัพพลายจำกัด ซึ่งอยู่ในเครือบริษัท กัลฟ์ เจ-พี (Gulf JP) เช่นกัน

 

Mr.Jotaro Higuchi Senior Manager บริษัท J-Power ซึ่งเป็นผู้ลงมารับหนังสือกล่าวผ่านล่ามว่าหนังสือและเอกสารข้อมูลที่ได้รับในวันนี้จะนำไปใช้พูดคุยกันภายในบริษัทหลังจากนี้ ส่วนที่มีการเสนอให้ทางบริษัทเข้าไปลงพื้นที่นั้นเพื่อการศึกษา เรียนรู้หรือการท่องเที่ยวนั้นทำได้ แต่ในส่วนของการดำเนินโครงการในพื้นที่ ทางบริษัทไม่สามารเข้าไปยุ่งเกี่ยวได้มากนักเพราะเป็นหน้าที่ของบริษัทภายในประเทศซึ่งเป็นผู้ร่วมทุน

 

ส่วนนายตี๋ ตรัยรัตนแสงมณี ประธานประชาคมตำบลหนองกบ เครือข่ายอนุรักษ์วิถีเกษตร ซึ่งคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติหนองแซง กล่าวว่า การยื่นหนังสือในวันนี้มีความคาดหวังที่จะให้ข้อมูลแก่ทางบริษัทข้ามชาติ โดยมองว่าบริษัทไทยที่ร่วมทุนอาจมีการให้ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนและอาจปิดปังข้อเท็จจริงบางอย่างเพื่อให้โครงการสามารถเดินหน้าต่อไปได้

 

นายตี๋กล่าวต่อมาว่าในส่วนของภาครัฐเองก็มีความไม่ชอบธรรมตั้งแต่ในระดับนโยบาย ที่ผลักภาระความเดือดร้อนต่างๆ ไปให้ประชาชนในพื้นที่ ทั้งที่รัฐเองมีหน้าที่ในการดูแลรักษาผลประโยชน์ของประชาชน ให้มีความถูกต้องชอบธรรม แต่ในส่วนของนักการเมือง กลับมีความพยายามจัดสรรตำแหน่งในคณะรัฐมนตรี เพื่อแบ่งผลประโยชน์ให้แก่กัน โดยไม่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และประชาชน

 

ทั้งนี้ ชาวบ้านทั้ง 4 พื้นที่ที่มาในวันนี้ เป็นผู้รับชะตากรรมร่วมกันจากแผน PDP เดียวกัน อันประกอบด้วยข้อมูลเท็จที่ว่าเศรษฐกิจของประเทศจะโตขึ้นทุกปีจึงต้อมีการเร่งผลิตไฟฟ้าเพื่อมองรับ แต่ในสภาพความเป็นจริงความเติบโตทางเศรษฐกิจในปีนี้กำลังยู่ในขั้นถดถอย

 

อย่างไรก็ตามการรวมตัวของเชื่อมโยงเครือข่ายนั้น เพื่อประโยชน์ของภาคประชาชนในการมีสิทธิมีเสียงในการแก้ปัญหา และขณะนี้ได้มีความพยายามรวมกลุ่มเครือข่ายในจังหวัดให้มีความเข้มแข็งขึ้น

 

นายสุทัศน์ ซิ้มเจริญ ชาวบ้าน ต.บางคล้า จากเครือข่ายรักษ์แปดริ้ว ซึ่งคัดค้านโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติบางคล้า กล่าวว่าการมายื่นหนังสือในวันนี้ไม่ได้คาดหวังการแก้ปัญหาจากทางบริษัท เพียงแต่ต้องการเขามาให้ข้อมูลว่าโครงการดังกล่าวได้สร้างความเดือดร้อนและความแตกแยกให้แก่ชาวบ้านในพื้นที่ และอาจจะส่งผลกระทบไปถึงลูกหลานในอนาคต

 

โดยในส่วนนายสุทัศน์มองว่า การแก้ปัญหาควรมาจากภาครัฐ โดยเฉพาะในส่วนของรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และรัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน ซึ่งภาครัฐจะต้องเข้ามามีส่วนในการยุติปัญหาถ้าเห็นใจประชาชน และต้องการเข้ามาเพื่อช่วยเหลือประชาชนจริงๆ

 

"คนเขายอมตายกันวันนี้ดีกว่ายอมตายวันหน้า เพราะลูกหลายเขาเยอะ ยังไงก็คงไม่ยอมให้สร้าง" นายสุทัศน์กล่าวถึงการก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้า พร้อมเผยว่าในขณะนี้ในพื้นที่กำลังมีปัญหาความขัดแย้งเรื่องน้ำอยู่เนื่องจากที่การแย้งชิงน้ำของโรงงานไปจากภาคเกษตร

 

นายแฝง อุบลบาล ชาวบ้าน ต.บางคล้า อีกคนหนึ่งกล่าวเสริมว่าปัญหาเรื่องน้ำเป็นปัญหาใหญ่ที่ชาวบ้านหวั่นเกรง เนื่องจากประชาชนกว่า 90 เปอร์เซ็นต์มีอาชีพเกษตรกร และผลผลิตทางการเกษตรของบางคล้าก็ถือว่ามีชื่อเสียงในด้านการส่งออก ซึ่งการตั้งโรงไฟฟ้าในพื้นที่จะส่งผลกระทบต่อเกษตรกร ทั้งในส่วนของการใช้น้ำ สารพิษที่ส่งผลกระทบกับผลผลิตทางการเกษตร รวมทั้งผลกระทบต่อชุมชนและสังคมในชุมชน เนื่องจากพื้นที่ที่จะมีการก่อสร้างโรงงานรวมรัศมี 5 กิโลเมตร ส่งผลกระทบต่อหมู่บ้านราว 10 หมู่บ้าน วัด 8 แห่ง และโรงเรียนอีก 10 แห่ง  

 

ทั้งนี้ ขณะที่ชาวบ้านกลุ่มหนึ่งเดิมทางไปยื่นหนังสือที่ อาคาร Exchange Tower เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก ราว 15 คน นำโดยนายสุทธิ อัชฌาศัย ได้เดินทางไปยื่นหนังสือที่สถานทูตเยอรมันเพื่อคัดค้านการลงทุนของบริษัทเยอรมันที่ถือหุ้น ในโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน เก็คโค่วัน ของบริษัท โกลว์-เหมราช ซึ่งมีกำลังการผลิต 660 เมกกะวัตต์ จะก่อสร้างในนิคมฯ มาบตาพุฒ จ.ระยอง โดยขณะนี้อีไอเอได้ผ่านการพิจารณาแล้ว แต่พื้นที่มาบตาพุฒถูกเรียกร้องให้เป็นเขตควบคุมมลพิษ

 

 

 

 

เครือข่ายต้านโรงไฟฟ้า

 

1.เครือข่ายติดตามผลกระทบโรงไฟฟ้าถ่านหินตำบลเขาหินซ้อน (คตฟ.) ร่วมกับเครือข่ายพนมสารคามพิทักษ์สิ่งแวดล้อม จ.ฉะเชิงเทรา คัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน กำลังการผลิต 600 เมกกะวัตต์ ในพื้นที่ต.เขาหินซ้อน อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา ของบริษัทไทยพาวเวอร์ซัพพลาย จำกัด (ร่วมทุนระหว่างบริษัท Soon Hua Seng Group และ CMS Co.ltd., U.S.A) ซึ่งได้ผ่านการประมูลซื้อขายไฟฟ้าจาก IPP เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2550 ขณะนี้อีไอเอยังไม่ผ่าน

 

ก่อนหน้านี้ บริษัทดังกล่าวได้ลงทุนด้านธุรกิจพลังงานโดยสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลร่วมเชื้อเพลิงถ่านหิน ผลิตกระแสไฟฟ้าจำหน่ายให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (EGAT) มาตั้งแต่ปี 2542

 

2.เครือข่ายรักษ์แปดริ้ว และกลุ่มชาวบ้านบางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา คัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติบางคล้า ต.เสม็ดเหนือ และ ต.เสม็ดใต้ อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา กำลังผลิต 1,600 เมกกะวัตต์ ของบริษัท สยามเอนเนอร์ยี่จำกัด ซึ่งอยู่ในเครือบริษัท กัลฟ์ เจ-พี (Gulf JP) (ร่วมทุนระหว่างบริษัท กัลฟ์ อิเล็กตริก และบริษัท J-Power Japan) ซึ่งชนะการประมูลซื้อขายไฟฟ้าจาก IPP เมื่อปลายปี 2550 ขณะนี้ได้มีการซื้อที่ดินประมาณ 350 ไร่ อีไอเอยังไม่ผ่าน และประชนชนในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทราได้ทำการลงรายชื่อคัดค้านการก่อสร้างกว่า 12,409 คน

 

3.เครือข่ายอนุรักษ์วิถีเกษตรกรรม คัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซ 1,600 เมกกะวัตต์ ในพื้นที่ อ.หนองแซง จ.สระบุรี และ อ.ภาชี จ.อยุธยา ของบริษัท เพาเวอร์เจเนอเรชั่นซัพพลายจำกัด ซึ่งอยู่ในเครือบริษัท กัลฟ์ เจ-พี (Gulf JP) (ร่วมทุนระหว่างบริษัท กัลฟ์ อิเล็กตริก และ บริษัท J-Power Japan) ขณะนี้อีไอเอยังไม่ผ่าน

 

4.เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก คัดค้านการลงทุนของบริษัทเยอรมันที่ถือหุ้น ในโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน เก็คโค่วัน ของบริษัท โกลว์ - เหมราช กำลังการผลิต 660 เมกกะวัตต์ ซึ่งจะก่อสร้างในนิคมฯ มาบตาพุฒ จ.ระยอง ขณะนี้อีไอเอผ่านแล้ว แต่พื้นที่มาบตาพุฒถูกเรียกร้องให้เป็นเขตควบคุมมลพิษ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท