Skip to main content
sharethis

เมื่อเวลา 16.00 .(27 ต.ค.) สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงานเสวนาโต๊ะกลม "คนรุ่นใหม่จิตนาการข้ามพ้นสังคมแยกขั้ว" โดยมีผู้นำเนินการเสวนา คือ นางสาวสุดา รังกุพันธ์ อาจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายปกรณ์ เลิศเสถียรชัย นักวิจัยสถาบันวิจัยสังคม และนายอดิศร เกิดมงคล จากมูลนิธิสันติวิธี


รศ.สุริชัย หวันแก้ว ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของงานว่า จากสถานการณ์ในตอนนี้ทำให้ต้องคิดว่าจะต้องทำอะไรสักอย่างที่แตกต่างกับสิ่งที่กำลังเป็นอยู่ หลากหลายปัญหาความทุกข์ยากของคนในสังคมก็กำลังถูกกลบไปด้วยกระแสที่เป็นอยู่เหมือนกับว่ารอให้ชนะก่อนแล้วค่อยแก้ปัญหาที่ถูกกลบไปเหล่านั้น ซึ่งมันคงไม่ได้ การเมืองข้างหน้าหรือการเมืองใหม่จะมีความหมายก็จะต้องทำให้เนื้อหาสาระที่ทำให้คนในสังคมเดือดร้อนได้พูดคุยด้วย ความทุกข์ของสังคมในขณะนี้มันมีหลายชั้น เช่น ชั้นของคนที่เดือดร้อนในเรื่องจริยธรรมทางการเมือง ชั้นของคนเหตุการณ์ 14 ตุลา 6ตุลา ซึ่งเป็นคนรุ่นหนึ่งแต่เป็นคนรุ่นเดียวที่กลายเป็นเจ้าของ 14 ตุลา และ 6ตุลา ในขณะที่ชั้นของสำนึกเรื่องความรุนแรงมันน่าจะมีคนหลายวัยมากกว่านี้


นายอดิศร เกิดมงคล กล่าวว่า การสานเสวนามีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ทุกคนที่เข้าร่วมพูดในสิ่งที่อยากจะพูด และในประเด็นของวันนี้อยากให้พูดถึงสิ่งที่อยากเห็น สังคมที่อยากให้เกิดขึ้นในอนาคตข้างหน้า ส่วนนายปกรณ์ เลิศเสถียรชัย กล่าวถึงหัวข้อของประเด็นว่าในสภาพความต่างในปัจจุบันสามารถมาหาจุดร่วมกันได้หรือไม่ และสังคมประชาธิปไตยที่อยากเห็นในอนาคตเป็นอย่างไร คำว่าประชาธิปไตยในความหมายของเราเป็นอย่างไร และฟังคนอื่นพูดประชาธิปไตยของเขานั้นเหมือนหรือแตกต่างกับเราหรือไม่ สุดท้ายจะทำอย่างไรให้สังคมแห่งความขัดแย้งลดลงและการให้ร้ายของแต่ละฝ่ายลดลงหรือการไม่เข้าข้างฝ่ายใดลดลงด้วย


นายนวกร รัตนมณี ตัวแทนกลุ่มสาธิตมัฆวาน กล่าวว่า เรื่องของการจิตนาการแยกขั้วในตอนนี้เราทำได้แค่จิตนาการเพราะสังคมในตอนนี้มีการแยกขั้วอยู่แล้วเราจะแกล้งทำเป็นไม่เห็นไม่ได้ และสังคมวันนี้แยกขั้วมากกว่าคนที่อยู่ในขั้วแยกกันเสียอีก หมายถึง คนที่อยู่ในขั้วยังคิดว่าตัวเองเป็นพวกเดียวกันน้อยกว่าคนที่อยู่ข้างนอกพยายามที่จะแยกเรา เพราะในพันธมิตรฯเองสามารถพูดได้เลยว่าข้างในพันธมิตรฯก็มีความคิดเห็นที่แตกต่างค่อนข้างเยอะ ไม่ใช่ว่าแกนนำพูดอะไรแล้วทุกคนจะเห็นด้วย


นายพิริยะพงศ์ เหมชาติ นิสิตเก่าคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นว่า ต้องการให้ทุกฝ่ายคุยกันได้แค่ไม่ทุบไม่ตีกัน สิ่งที่ทำให้คนมันตีกันมันไม่ใช่เรื่องของเหตุผล เพราะสีแดงก็มีเหตุผลของสีแดง สีเหลืองก็มีเหตุผลของสีเหลือง และถ้าคุยกันด้วยเหตุผลถึงเหตุผลไม่เหมือนกันก็คงไม่ตีกัน แต่ที่มันตีกันก็เพราะการใช้คำไม่สุภาพของแต่ละฝ่าย เช่น คนหนึ่งบอกว่าโง่หรือไม่ดู ASTV มากๆ ขณะที่อีกคนก็บอกว่าดูความจริงวันนี้มากๆ ก็โง่เช่นกัน นี่คือสิ่งที่ทำให้เกิดความขัดแย้งและการตีกัน ให้ทุกฝ่ายพูดอย่างสุภาพได้หรือไม่


นางจิตรา คชเดช จากสหภาพไทรอัมพ์ฯ ให้ความเห็นเรื่องของขั้วว่า การที่เราจะเลือกขั้วหรือก้าวให้พ้นจากขั้วต่างๆต้องดูว่าขั้วนั้นให้ประโยชน์อะไรกับเราบ้างและให้ประโยชน์กับเราจริงๆหรือไม่ ถ้าให้จริงๆก็น่าจะเลือกแต่ถ้ามันไม่ได้ให้ประโยชน์กับเราก็ควรที่จะปฏิเสธและออกมาพูดว่ามันไม่ถูกต้อง เพราะพอเกิดเป็นขั้วออกมาแล้วแต่ละขั้วก็พยายามที่จะทำลายขั้วตรงกันข้ามโดยวิธีการหลายๆอย่าง เช่น บางคนเข้าไปตกเป็นเหยื่อของการทำลายโดยไม่รู้เนื้อรู้ตัวแล้วก็ได้ผลพวงตรงนั้นไป สุดท้ายได้รับผลกระทบตรงนั้นเยอะมากซึ่งไม่มีใครพูดถึงสิ่งที่คนต่างๆได้รับผลกระทบจากปรากฏการแบ่งขั้วนี้เลย แต่กลับไปจดจ้องว่าขั้วนี้จะทำอะไร ขั้วนั้นจะทำอะไร เพราะฉะนั้นต้องคิดว่าถ้าเป็นคนรุ่นใหม่ต้องวิเคราะห์ว่าขั้วต่างๆที่เกิดขึ้นมันให้อะไรกับพวกเราจริงหรือไม่ ถ้ามันให้จริงเราก็ต้องต่อยอดอันนั้น แต่ถ้ามันไม่ได้ให้แถมยังทำร้ายคนนั้นคนนี้เราควรจะต้องวิเคราะห์และพูดกัน


..สลิสา ยุภตะนันทน์ นิสิตรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า เรากำลังมองสังคมที่เห็นมากกว่าสังคมที่มันเป็นจริงหรือไม่ เช่น คุณมองคนที่ใส่เสื้อสีต่างจากคุณว่าไม่ใช่มนุษย์เพราะคุณสามารถทำร้ายเขาได้ไม่ว่าจะทางวาจาหรือว่าอะไรก็ตาม คุณอาจไม่รู้จักเขามาก่อนแต่คุณเกลียดเขา คุณไม่ฟังเหตุผลเขาและสามารถทำร้ายร่างกายของอีกฝ่ายได้โดยไม่รู้สึกผิด


"สิ่งขาดไปตอนนี้ก็คือมิติความเป็นมนุษย์ คุณมองสังคมอย่างที่มันเป็น มองคนที่เห็นต่างจากคุณว่าไม่ใช่คน หรือการออกมาของบางฝ่ายพูดถึงสันติวิธีเอาเข้าจริงสันติวิธีที่อยากให้เกิดความสงบสุขกับความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจริงมันไปด้วยกันได้หรือไม่ บางที่การให้ความสำคัญกับมนุษย์มันหายไปหรือไม่ เราไม่ได้มองคนตัวเล็กตัวน้อยอย่างที่เขาเป็น เช่น บางคนมองคนอีสานว่าไม่มีความรู้ ถูกหลอก โง่ รับเงิน ซึ่งในความเป็นจริงแล้วเขาอาจไม่มีทางเลือกอื่น เขาเป็นเหยื่อของการพัฒนามาอย่างยาวนาน ไม่ได้รับการตอบสนองอะไรจากรัฐเลยนอกจากดูดส่วนเกินไปจากเขา และแทนที่จะไปด่าเขา เราน่าจะมานั่งคุยกันมากกว่า ซึ่งบางที่การละเลยความเป็นมนุษย์ไปมันทำให้เรามองไม่เห็นสิ่งเล็กสิ่งน้อยเห็นความขัดแย้งหลักๆในสังคมเป็นประเด็นหลักแต่ว่าเราไม่ได้มองความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจริงในชีวิตประจำวัน คนตัวเล็กตัวน้อยถูกมองข้าม" น.ส.สลิสากล่าว


นายจักรพันธ์ ยาคู แกนนำเยาวชนสถาบันพระปกเกล้า ให้ความเห็นว่า ความขัดแย้งเป็นสิ่งที่สำคัญ สังคมเราจะขาดความขัดแย้งไม่ได้ เพราะว่าเมื่อไรก็ตามที่สังคมทั้งสังคมมีความเห็นทางการเมืองประชาธิปไตยไปในทางเดียวกันหมดจะทำให้สังคมนี้ล้ม ประชาธิปไตยจะล้มสลายแน่ถ้าหากขาดความเห็นต่าง และความจริงในความขัดแย้งของเหตุการณ์วันที่ 7 ต้องทำให้ปรากฏขึ้นในสังคม เมื่อไรก็ตามที่ความจริงปรากฏชัดคนที่กระทำความผิดต้องพร้อมที่จะรับผิดชอบและเมื่อความจริงปรากฏความขัดแย้งก็จะคลี่คลายลงได้ และอยากให้ทุกคนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเพราะมีความสำคัญมาก รวมไปจนถึงต้องให้ความสำคัญกับการเมืองท้องถิ่นด้วย


ในรอบที่ 2 ของวงเสวนา นายศิริพล เคารพธรรม นิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตัวแทนกลุ่ม Young Pad ให้ความเห็นในเรื่องของสื่อสารมวลชนว่าไม่เคยทำหน้าที่ของตัวเองอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นการให้ข้อมูลที่บิดเบือนหรือการให้ข้อมูลที่ผิดพลาดต่อความเป็นจริงซึ่งเป็นมูลเหตุสำคัญที่ทำให้ฝ่ายที่ไม่ได้รับความยุติธรรมจากสื่อสารมวลชนออกมาต่อต้านมากขึ้น ยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่มีการสลายการชุมนุมที่หน้า บชน. เหตุการณ์ในวันนั้นมาจากการยิงแก๊ซน้ำตาโดยตรงจากตำรวจ โดนเข้ากับตัวเองและซี่โครงร้าวแต่ข่าวที่ออกไปทาง NBT บอกว่าเป็นการใช้แค่ฝุ่นควันเพื่อสลายการชุมนุมไม่มีการใช้แก๊ซน้ำตาอะไรทั้งสิ้น แต่พอไทย PBS บอกว่ามีการใช้แก๊ซน้ำตา NBT จึงเปลี่ยนข้อมูลใหม่ ซึ่งตรงนี้มันเป็นความยุติธรรมในสังคมที่ถูกบิดเบือนไป


นายนวกร รัตนมณี ให้ความเห็นในรอบนี้ว่าในส่วนตัวไม่ได้คิดแบบพันธมิตรฯในทุกๆเรื่อง ในเรื่องความแตกต่างนำมาสู่ความรุนแรงได้มองว่า จริงๆถ้าเรามองสังคม สังคมมีหลาย Layer และไม่ได้พูดว่า "คนเราถ้าท้องไม่อิ่ม อุดมการณ์ไม่มี" จากที่วิเคราะห์แล้วว่าสังคมประกอบด้วยคนหลายๆส่วน มองว่าคนส่วนมากยังท้องไม่อิ่ม คิดว่าตอนนี้สิ่งที่ทุกคนต้องทำคือต้องวิเคราะห์ว่าอะไรคือถูกอะไรคือผิด ขั้วไหนดี ขั้วไหนไม่ดี แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่สนับสนุนความรุนแรง ในการแบ่งแยกทางอุดมการณ์เข้าใจว่าในสังคมตอนนี้นำมาซึ่งความไม่เข้าใจ และในการพิจารณาคุณค่าของแต่ละขั้วเพิ่มขึ้น


"ผมอยู่ในพันธมิตรฯ ผมมองเห็นการ์ดบางคนบอกเฮ้ย นปก. มาแล้วตี นปก. ซึ่งผมยังคิดทำไมต้องตี นปก. มันไม่ใช่คนเหมือนกันหรือไง ผมยังคิดว่าการ์ดตี นปก. ผมกำลังมองภาพคนตีคนอยู่นะ มันไม่ใช่คนกำลังตีอะไรสักอย่าง จริงๆมันก็คือคนทั้งนั้น นปก. ก็คือคน เพียงเขาอาจมีความคิดเห็นที่แตกต่าง ผมเห็นด้วยแต่เห็นด้วยว่าเราไม่ควรที่จะตั้งแง่ เอาอคติเป็นเหตุของความรุนแรง"


..มิ่งหล้า เจริญเมือง แสดงความเห็นว่า ถ้าหากสังคมตอนนี้แบ่งเป็น 2 ขั้วจริงๆแล้วคนที่ไม่ได้เลือกฝ่ายจะยืนอยู่ตรงไหน จะขอย้อนกลับไปประเด็นแรกเรื่องประชาธิปไตย คิดว่าว่าสังคมไทยยังไม่ค่อยเข้าใจประชาธิปไตยเท่าไร เพราะว่าประชาธิปไตยก็คือว่า "ความเห็นแตกต่างกันแต่ว่าต้องรับกันได้" แต่ตอนนี้สังคมแต่ละฝ่ายยังรับไม่ได้ที่อีกฝ่ายที่คิดไม่เหมือนตัวเอง ก็เลยคิดว่าถ้าเกิดว่าตอนนี้จะสายเกินไปหรือไม่ถ้ากลับไปปูพื้นระบบการศึกษาอีกครั้งหนึ่งให้เข้าใจประชาธิปไตยตรงกันมากกว่านี้


นายเฉลิมชัย ยอดมาลัย นักข่าวแนวหน้า ตอนนี้ตนรู้สึกว่าสื่อมีปัญหามากเพราะเวลาประชาชนคนไทยดูเหตุการณ์ทั้งหมดเขาจะดูผ่านสื่อ และเชื่อในสื่อนั้นๆ ซึ่งคิดว่าถ้าสื่อมันดีกว่านี้เหตุการณ์คงไม่รุนแรงมากถึงขนาดนี้


นางจิตรา คชเดช กล่าวถึงสื่อสารมวลชนที่บิดเบือนว่า ตนเองโดนเลิกจ้างเพราะสื่อฉบับหนึ่งบิดเบือนจนเป็นเหตุให้ถูกเลิกจ้าง สื่อฉบับนั้นคือเว็บไซต์ผู้จัดการแล้วก็ไม่รับผิดชอบในสิ่งที่ทำลงไปด้วย สื่อที่บิดเบือนและไม่รับผิดชอบและที่สำคัญคือการขอพยานหลักฐานในการไปขอเลิกจ้างนั้น หลักฐานที่ศาลใช้พิจารณาก็คือการแสดงความคิดเห็นท้ายข่าวนั้น เพราะฉะนั้นการแสดงความเห็นต่างๆต้องดูดีๆก่อนเพราะอาจจะกระทบกับชีวิตของคนอื่นได้ ทุกวันนี้สื่อสารมวลชนที่มันบิดเบือนทำให้กระทบกับชีวิตกับเรามากๆ และน้องคนหนึ่งบอกว่า ท้องไม่อิ่มอุดมการณ์ไม่มีเป็นเรื่องที่ไม่จริง เพราะคนงานที่ทำงานในโรงงาน กรรมกรที่เขาออกมาต่อสู้ ถ้าเราศึกษาประวัติดีๆค่าจ้างของเขาน้อยมากแต่เขาก็ออกมาต่อสู้เรียกร้องค่าจ้างเปลี่ยนแปลงสังคมเพราะฉะนั้นถ้าเราจะวิเคราะห์ว่า คนจนท้องไม่อิ่มแล้วไม่มีอุดมการณ์เป็นการวิเคราะห์ที่ผิดมาก


..สลิสา ยุภตะนันทน์ กล่าวโต้เรื่องท้องไม่อิ่มอุดมการณ์ไม่มีของนายนวกรในเชิงคำถามว่า ท้องไม่อิ่ม อุดมการณ์ไม่มีนั้นมันเป็นอุดมการณ์ของใคร อุดมการณ์มันไม่ได้หมายความว่ามีหนึ่งเดียว อย่างเช่นถ้าบอกว่าอุดมการณ์ของประเทศคือเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่แล้วคนชั้นกรรมมาชีพ ชาวนาไม่มีอุดมการณ์เพราะว่าท้องไม่อิ่มเลยไม่เอาเสรีนิยมใหม่ ซึ่งมันเป็นเรื่องตลก ในขณะเดียวกันถ้าถามชนชั้นกรรมมาชีพมีอุดมการณ์หรือไม่ เขาก็อาจจะมีอุดมการณ์แบบรัฐสวัสดิการก็ได้ ซึ่งอุดมการณ์อันนี้คนชั้นกลาง คนชั้นสูงยอมหรือไม่ ยอมจ่ายภาษีเพิ่มหรือเปล่า ซึ่งอุดมการณ์ไม่ได้มีชุดเดียวในสังคม แล้วการที่ใช้อุดมการณ์ไปบอกว่า "คุณท้องไม่อิ่ม คุณไม่มีอุดมการณ์"


"บางที่ตรงนี้คุณอาจจะใช้สถานะที่สูงกว่า การศึกษาสูงกว่าของคุณไปกีดกันคนอื่นที่มีปากมีเสียงคนในสังคมหรือไม่ บางครั้งการศึกษาแทนที่จะทำให้คนมีความรู้ ใช้เหตุผล บางทีอาจจะเป็นเครื่องมือปิดปากอีกคนที่คิดต่างจากเราก็ได้ว่าไม่เข้าใจ ไม่มีการศึกษา ซึ่งเราน่าจะทิ้งประเด็นเรื่องการศึกษา สถานะทางสังคม เพื่อที่จะรับฟังใครสักคนหนึ่งในฐานะที่เขาเป็นมนุษย์และสื่อก็ติดตามแต่คนที่มีสถานะทางสังคม อาจารย์ในมหาลัย พวกศาสตราจารย์ ดร. ซึ่งคนพวกนี้มีปากมีเสียงมากเกินไปหรือไม่"


นายจักรพันธ์ ยาคู กล่าวในรอบสุดท้ายนี้ว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือประเด็นเรื่องการคุกคามในการใช้ความรุนแรง และฝากถึงสื่อว่า "หมากัดคนไม่เป็นข่าวแต่คนกัดหมาเป็นข่าว" อย่างไรก็ตามเรื่องอำนาจของข้อมูลข่าวสารเป็นเรื่องที่สำคัญ แต่ในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่ปรากฏออกไปบนสื่อนั้นมันคือการนำเสนอสิ่งที่ผิดปกติ สื่อไม่ได้นำเสนอสิ่งที่เป็นปกติ ซึ่งข้อมูลที่เป็นปกติของสังคมไม่ได้ถูกเสนอให้ปรากฏแต่สื่อเลือกที่จะเสนอข้อมูลที่ผิดปกติ


นายอดิศร กล่าวปิดท้ายวงสารเสวนาว่า วิธีการสารเสวนาแบบนี้เป็นสิ่งที่ดีที่ทำให้ทุกคนได้พูดได้มีส่วนร่วมว่าตัวเองคิดเห็นอย่างไรกับปัญหาสังคมในขณะนี้ และอยากบอกว่าการเมืองมีมากกว่าเรื่องของการเมือง แต่ยังมีการเมืองด้านอื่นๆในสังคม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net