รายงาน : Dam & Dike: เขื่อนและคันดินกั้นน้ำ ความเลวร้ายของโขงชีมูล

เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์


กลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา

 

 

 

คันดินกั้นน้ำ (dike) คือรูปแบบของเทคนิควิศวกรรมที่โดดเด่นที่สุดของโครงการโขงชีมูล มันได้ถูกออกแบบมาเพื่อช่วยเหลือตัวเขื่อนหรือฝายให้กักเก็บน้ำได้ในที่ลุ่มต่ำอย่างเช่นในลุ่มน้ำมูนและชี โดยทำหน้าที่สองประการ คือ "กักกั้น" และ "เก็บกัก" กล่าวคือ หนึ่ง-กักกั้นปริมาณน้ำท่าที่ไหลหลากในลุ่มน้ำ (นอกตัวลำน้ำ) ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เพราะเกรงว่า "น้ำจากลุ่มน้ำมูนและชีจะไหลลงแม่น้ำโขงไปโดยเปล่าประโยชน์" สอง-เก็บกักน้ำโดยทำหน้าที่เป็นตัวอ่างเก็บน้ำ เนื่องจากในลุ่มน้ำมูนและชีมีระบบนิเวศที่โดดเด่นอย่างหนึ่ง นั่นก็คือ "ป่าบุ่งป่าทาม" ซึ่งมีลักษณะภูมินิเวศเป็นที่ลุ่มต่ำ เสมือนเป็นแอ่งกักเก็บน้ำโดยธรรมชาติของระบบแม่น้ำชีและมูน ดังนั้น คันดินกั้นน้ำจึงถูกออกแบบมาเพื่อโอบล้อมพื้นที่บริเวณที่ลุ่มต่ำของระบบแม่น้ำทั้งหมด เพื่อให้กักเก็บน้ำได้ในฤดูแล้ง   

 

หากจะกล่าวถึงสิ่งที่สมควรเป็นไปได้ในทางนิเวศวิทยาถ้าหากจะยินยอมให้โครงการโขงชีมูลเกิดขึ้นได้ ก็คือสิ่งที่ต้องคำนึงถึงเป็นอันดับแรกของการกักเก็บน้ำในที่ลุ่มต่ำว่าจะกักเก็บน้ำอย่างไรไม่ให้กระทบกระเทือนการไหลหลากของน้ำที่มีส่วนสำคัญต่อการรักษาระบบนิเวศหรือสภาพทางธรรมชาติ โดยแนวทางนี้จะทำการกั้นน้ำในลุ่มน้ำให้อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าตลิ่งเท่านั้น ไม่ให้น้ำล้นออกไปนอกตลิ่ง เพราะน้ำที่ล้นออกมานอกตลิ่งจากการสร้างเขื่อนหรือฝายกักเก็บน้ำจะไปหยุดยั้งการไหลหลากของน้ำนอกตัวแม่น้ำที่กำลังจะไหลลงสู่แม่น้ำในช่วงฤดูฝน แต่โขงชีมูลเป็นโครงการที่กักกั้นน้ำนอกตลิ่งหรือกักเก็บน้ำล้นตลิ่งทั้งสิ้น ทั้งนี้ก็เพราะการดักจับปริมาณน้ำท่านั้นต้องดักจับตั้งแต่ช่วงที่น้ำกำลังไหลหลากท่วมเท่านั้น ถ้าจะเริ่มเก็บกักปริมาณน้ำท่าในช่วงที่น้ำลดลงมาถึงระดับตลิ่งแล้วก็จะไม่ได้น้ำเต็มเม็ดเต็มหน่วย โดยสร้างคันดินให้ยกสูงเพื่อโอบล้อมน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำและนำมาเชื่อมต่อกับคันเขื่อนที่สร้างให้สูงในระดับใกล้เคียงกันกับคันดินเพื่อจะทำให้ได้ปริมาณน้ำท่ามากที่สุดเท่าที่จะมากได้

 

ผลของการออกแบบโครงการลักษณะนี้ได้ทำให้พื้นที่ป่าบุ่งป่าทามเกือบทั้งหมดของลุ่มน้ำมูนและชีต้องจมอยู่ใต้อ่างเก็บน้ำ และมีปรากฏการณ์ของน้ำท่วมที่ไม่เป็นไปตามธรรมชาติ เพราะน้ำจะเอ่อล้นท่วมนานกว่าปกติและนิ่งขังไม่มีทางไหลหลากออกไปลงสู่ที่ต่ำกว่า เนื่องเพราะคันดินกั้นน้ำได้กั้นทางน้ำเดิมที่เชื่อมต่อกับกุด บึง หนองและแม่น้ำไว้

 

หน้าที่เดิมของการไหลหลากของน้ำคือการนำตะกอนมาปกคลุมดินทาม เพื่อให้ดินมีความ

อุดมสมบูรณ์สามารถเป็นแหล่งหากินและวางไข่ของปลาและสัตว์น้ำประเภทอื่น ๆ และทำให้ชั้นดินทามเกิดการชุ่มน้ำในช่วง 4-5 เดือนของฤดูฝน เพื่อที่จะเป็นประโยชน์ให้เกิดความอุดมสมบูรณ์แก่พืชและสัตว์ในฤดูแล้งต่อไป และคนก็จะใช้วงจรของธรรมชาติเหล่านี้ดำรงวิถีชีวิต แต่โครงการโขงชีมูลได้ทำลายหน้าที่เดิมของการไหลหลากของแม่น้ำไปจนหมดสิ้น เพราะพื้นที่ทามที่เป็นพื้นที่ของน้ำหลากได้กลายเป็นน้ำท่วมขังตลอดปี วงจรธรรมชาติถูกเปลี่ยนแปลงส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของประชาชนผู้หาอยู่หากินกับบุ่งทามและแม่น้ำ

 

มีตำแหน่งเขื่อนที่สร้างให้ท้ายน้ำชนกับหน้าเขื่อนอีกเขื่อนหนึ่งอยู่ 2 ตำแหน่ง ที่จะเป็นตัวอย่างได้เป็นอย่างดีถึงสภาพการไหลหลากของน้ำที่ผิดปกติไปจากธรรมชาติเดิม นั่นก็คือ โครงการเขื่อนราษีไศลและหัวนา ซึ่งท้ายน้ำของอ่างเก็บน้ำราษีไศลจะมาชนที่หน้าฝายตะลุง และท้ายน้ำของอ่างเก็บน้ำหัวนาจะมาชนที่หน้าเขื่อนราษีไศล การชนกันแบบนี้ไม่มีทางที่น้ำจากเขื่อนข้างบนจะระบายไหลลงตามธรรมชาติเดิมสู่แม่น้ำมูลที่อยู่ต่ำกว่าได้เลย จะเกิดการเอ่อท้นของน้ำนานผิดกว่าปกติของธรรมชาติ ซึ่งเป็นสาเหตุใหญ่ให้น้ำท่วมแช่ขังผิดธรรมชาติจนกลายเป็นอุทกภัย

 

สิ่งเหล่านี้เองที่ทำให้ประชาชนในลุ่มน้ำมูนและชีต้องสูญเสียที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินอย่างมากมาย ตัวอย่างของความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ต่อผืนป่าบุ่งป่าทามที่มีความอุดมสมบูรณ์และใหญ่ที่สุดในลุ่มน้ำมูนได้เกิดขึ้นจากการสร้างเขื่อนราษีไศล ปัญหาอันเนื่องมาจากการสร้างคันดินกั้นน้ำที่มีทั้งหมด 10 สาย ความยาวมากกว่า 50 กิโลเมตร กลายเป็นเขื่อนกั้นน้ำไปโดยปริยาย เพราะเมื่อถึงฤดูน้ำไหลหลากน้ำจะไม่สามารถระบายได้ตามธรรมชาติ และปัญหาที่สำคัญอีกประการหนึ่งในการสร้างคันดินกั้นน้ำก็คือการวางท่อระบายน้ำที่มีจำนวนน้อยไม่กี่แห่งและไม่ตรงกับทางระบายน้ำเดิมของระบบน้ำธรรมชาติ จึงเป็นเหตุทำให้นาทามกลายเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่เมื่อมีการเก็บกักน้ำที่ระดับ 119 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง (สูงกว่าระดับที่แจ้งให้แก่ชาวบ้านทราบคือ 116 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง) พื้นที่ทามที่ประกอบด้วยพื้นที่ทำนา เลี้ยงสัตว์ ป่าหาอาหาร จำนวนกว่า 50,000 ไร่ ต้องกลายเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ไป

 

ในรายงานการศึกษาความเหมาะสมและรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมโครงการโขงชีมูลที่ทำเป็นฉบับเดียวกัน บริษัทวิศวกรที่ปรึกษาที่จัดทำรายงานดังกล่าวเรียกพื้นที่ป่าบุ่งป่าทามว่า "ป่าละเมาะริมห้วย" แล้วเสนอให้ใช้รถไถทิ้งให้หมดเพื่อป้องกันการเน่าเสียของน้ำในอ่างเก็บน้ำ แต่แล้วกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน(กรมชลประทานในปัจจุบัน) ก็ไม่ได้ไถทิ้งไป ปล่อยให้น้ำเหนือเขื่อนค่อย ๆ ท่วมป่าบุ่งป่าทามทีละแห่งไปจนหมดสิ้น

 

และที่เลวร้ายซ้ำเติมเคราะห์กรรมของประชาชนนั่นก็คือกรอบสำหรับการชดเชยจำกัดอยู่เพียงการ "มี" หรือ "ไม่มี" เอกสารสิทธิ์ในที่ดินเท่านั้น และเอกสารสิทธิ์เองก็มีการจัดลำดับชั้น ทำให้ชาวบ้านที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ในที่ดินหรือมีเพียงเอกสารสิทธิ์ระดับต่ำไม่ได้รับการชดเชย จุดยืนของกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน(กรมชลประทานในปัจจุบัน) ดูเหมือนจะมีเจตนารมณ์ชัดเจนในการเลือกที่จะจ่ายค่าชดเชยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เท่านั้น กล่าวคือ จะไม่จ่ายค่าชดเชยในที่ดินที่ไม่มีเอกสารสิทธิ หรือไม่สามารถโอนให้ทางราชการได้ตามกฎหมาย รวมถึงที่ดินในเขตป่าสงวน ที่สาธารณะ บุ่งทาม ที่ราชพัสดุ หรือที่สงวนหวงห้ามของทางราชการ การกำหนดให้มีการชดเชยด้วยการพิจารณาจากสิทธิตามกฎหมายหรือการพิจารณาสิทธิตามเอกสารแสดงสิทธิ์ที่ทางราชการออกให้เป็นหลัก โดยละเลยการกล่าวถึงสิทธิตามประเพณีและสิทธิการใช้ประโยชน์ตามธรรมชาติ แสดงให้เห็นว่าความรับผิดชอบต่อผู้ได้รับผลกระทบและการชดเชยยังอยู่ในระดับต่ำ ทำให้ความเสียหายจริงไม่ได้รับการพิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วน อาทิเช่น ผลกระทบต่ออาชีพและรายได้ ผลกระทบต่อวิถีชีวิต วัฒนธรรมและความเชื่อ รวมถึงผลกระทบต่อพื้นที่ที่ชุมชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน เป็นต้น

 

จนถึงบัดนี้กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน(กรมชลประทานในปัจจุบัน) ก็ยังขัดขืนไม่ยอมรับมติคณะรัฐมนตรีและแนวทางปฏิบัติของรัฐบาลในการแก้ปัญหาให้กับชาวบ้านกรณีโครงการฝายราษีไศล  ที่อนุโลมให้จ่ายค่าทดแทนที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ์ในการครอบครองทำประโยชน์ในพื้นที่บุ่งทามตามฤดูกาล  โดยยึดถือกฎหมายและกฎเกณฑ์ที่ตายตัว ทั้งปฏิเสธที่จะยอมรับกรอบแนวความคิดการจ่ายค่าชดเชยให้กับผู้ที่เดือดร้อนในกรณีดังกล่าว เบื้องหลังของสาเหตุที่แท้จริงก็คือกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน(กรมชลประทานในปัจจุบัน) เกรงว่าหากเขื่อนหรือฝายตามโครงการโขงชีมูลทั้ง 14 โครงการย่อย ได้ทำการเรียกร้องเอาอย่างตามชาวบ้านในพื้นที่โครงการฝายราษีไศลแล้วจะต้องสูญเสียงบประมาณค่าชดเชยย้อนหลังอีกเป็นจำนวนมาก และมิหนำซ้ำยังจะเป็นการประจาน เปิดโปงและตอกย้ำความล้มเหลวของโครงการโขงชีมูลให้สาธารณชนได้รับรู้อย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้นไปอีก

 

 

 

 

รายงานที่เกี่ยวข้อง

 

รายงานพิเศษ: โปรดประเมินความคุ้มค่าโครงการ "โขงชีมูล" ก่อนเดินหน้าอุโมงค์ผันน้ำโขง

 

รายงาน : อุโมงค์ผันน้ำโขง รากหญ้าอีสานจะได้ใช้น้ำ-ต้องเสียค่าน้ำหรือไม่

 

รายงาน : ความจริงที่พูดไม่หมดของรัฐบาลไทยเกี่ยวกับโครงการอุโมงค์ผันน้ำโขง

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท