Skip to main content
sharethis


ตอนที่  2  การเปลี่ยนผ่านความสัมพันธ์รัฐ-ท้องถิ่น  และอุดมการณ์ใหม่

ประเด็นที่เราจะต้องดูก็คือว่าโดยลักษณะบุคลิก ธรรมชาติของรัฐไทยเป็นอย่างไร ที่แตกต่างจากที่อื่นๆ เราจะเห็นได้ว่ารัฐไทยเป็นรัฐที่รวมศูนย์ค่อนข้างที่จะเข้มแข็งแต่ว่าไร้ประสิทธิภาพ หลายๆ เหตุผลซึ่งที่สำคัญอันหนึ่งก็คือมันไม่สามารถเปลี่ยนแปลงตัวกลางที่มันมีอยู่แล้วในท้องถิ่น เป็นชนชั้นนำแบบดั้งเดิมที่มีอยู่แล้วในสังคมไทย เปลี่ยนไปเป็นอยู่ใต้อำนาจรัฐอย่างสมบูรณ์แบบได้ มันยังมีตัวกลางตรงนี้อยู่ อันนี้อธิบายได้หมด ยกเว้นพื้นที่ภาคใต้ที่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง


 


ตัวกลางเหล่านี้ก็ยังมีอำนาจอยู่ มีบทบาทอยู่ ปัญหาของเราก็คือว่าเราจะทำอย่างไรกับตัวกลางเหล่านี้ ให้มันอ่อนกำลัง หรือว่าให้มันสลาย ลดกำลังไปหรือว่าไม่ต้องไปสนใจมัน แต่ว่าเรากำลังไปสร้างตัวกลางอันใหม่ ที่ผสมผสานกับรูปแบบใหม่ของการกระจายอำนาจที่เราสามารถแทรกเข้าไปได้  คิดว่าต้นแบบของประเทศฟิลิปปินส์นั้นน่าสนใจที่อยู่ในโครงสร้างขององค์กรท้องถิ่น เป็นต้นแบบที่น่าสนใจที่ไม่ใช่ที่เป็นแบบคู่ขนาน เพราะว่าถ้าหากเป็นแบบคู่ขนาน ก็จะไปเข้าสู่อีหรอบเดิม มันก็จะไปยันกันระหว่างภาคสังคมจริง ๆ ซึ่งมันก็ไม่ใช่เพียงแค่พวกเราเท่านั้น ชาวบ้านที่ไม่ใช่แบบเราก็มี หมายความว่ามีอุดมการณ์แบบขวาจัดก็มี เราจะทำอย่างไรกับคนเหล่านี้กับอำนาจรัฐที่เราจะใช้ประโยชน์ คือว่าทำอย่างไรให้มันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน  ที่เป็นโครงสร้างที่เป็นคณะกรรมการที่ไปอยู่ในรูปแบบองค์กรปกครองท้องถิ่น จะไม่ดีที่จะไปอยู่ในแบบตัวกลางหรือว่าออกมาเป็นองค์กรคู่ขนาน


 


ฉะนั้น ตนเองจึงเป็นคนหนึ่งที่เคลื่อนไหวต่อต้านสภาองค์กรท้องถิ่นที่กำลังออกมา เพราะเห็นว่าสิ่งที่เราจะต้องทำตอนนี้ก็คือการลดการเป็นตัวกลาง ลดการเป็นทางการให้มากที่สุด โดยที่หากจะเป็นทางการนั้นต้องเป็นทางการอันเดียวก็คือว่าเข้าไปอยู่ในการปกครองท้องถิ่น ไม่ใช่เข้าไปอยู่ใต้ปีก แต่ว่าเข้าไปจัดการเข้าหาโครงสร้างอะไรที่มันสอดคล้องและที่มันใช้ประโยชน์อะไรกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ เพื่อที่จะใช้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นเข้าไปปลดแอกจากกรมๆ หนึ่งที่กำลังควบคุมทั้งประเทศอยู่ ซึ่งคิดว่าเป็นเป้าหมายที่เป็นนามธรรมที่มีทิศทางที่ถูกต้องมากกว่าที่จะไปสร้างองค์กรคู่ขนานมันเหมือนกับการขี้แพ้ชวนตี แต่ว่าถ้าหากทำแล้วดี สามารถที่จะสร้างได้ สร้างเงื่อนไขอะไรต่างๆ ออกมา เข้าร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือว่าเข้าไปคัดค้านอะไรได้ตรงนั้นก็อาจจะเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งเมื่อสรุปว่าเป็นรัฐไทยแบบนี้ เพราะฉะนั้นเราก็จะเห็นว่าเราควรที่จะไปในทิศทางไหน


 


ในงานวิจัยในพื้นที่ จ.อุบลราชธานีที่ดูการเปลี่ยนแปลงหลังปี 2540 ในช่วงนั้นบังเอิญว่าเป็นการขึ้นมาของพรรคไทยรักไทย เป็นการขึ้นมาของทักษิณ มันก็กลายเป็นเหมือนกับว่าระบอบทักษิณกับการกระจายอำนาจเป็นของคู่กัน แต่ว่าเราต้องแยกให้ออกว่าอะไรคือการกระจายอำนาจ เนื้อหาสาระเราต้องดูให้ดี และแนวความคิดไหนที่ถูกเอาไปใช้โดยทักษิณ จะบอกว่าการกระจายอำนาจไม่เอา อบต.เป็นขี้ข้าทักษิณ เป็นขี้ค่าไทยรักไทย คือโครงสร้างรัฐที่ขยายมาเพื่อที่จะครอบงำประชาชนมากขึ้น เราไปมองอะไรที่อยู่ในด้านลบหมดเลย เพราะว่าไปมองรวมกับระบอบทักษิณ แต่ว่าแท้ที่จริงแล้วในงานวิจัยนั้นมันเสนอว่าระบอบตรงนี้นั้นมันเอื้อให้กับสิ่งที่เข้มแข็งมากที่สุดในสังคมไทยได้ใช้ประโยชน์


 


สิ่งที่เข้มแข็งมากที่สุดในสังคมไทยก็คือเจ้าพ่อผู้มีอิทธิพล และทักษิณสามารถใช้ประโยชน์จากเจ้าพ่อผู้มีอิทธิพลได้อย่างเก่ง ทักษิณเข้าใจว่าปัญหาอยู่ที่ไหนโดยเริ่มต้นที่ประกาศปราบเจ้าพ่อด้วยการบอกว่าหัวหน้าสถานีตำรวจทุกแห่ง กับผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดให้ส่งรายชื่อบัญชีดำมา เพราะเขารู้ว่ารากฐานที่สำคัญที่ทำให้เจ้าพ่ออยู่ได้ก็มี 2 หน่วยงานก็คือสำนักงานตำรวจแห่งชาติกับ กระทรวงมหาดไทย เพราะฉะนั้นถ้าหากข้าราชการส่งรายชื่อจริงๆ มาให้ ก็เท่ากับว่าข้าราชการเลือกข้าง หรือถ้าหากส่งรายชื่อบางส่วนและไม่ส่งรายชื่อบางส่วนมา ก็เท่ากับเลือกข้างแล้วว่าตัวเองจะเอาใครหรือว่าจะไม่เอาใคร หรือถ้าหากส่งหมดก็เท่ากับขอซบอกพรรคไทยรักไทย ก็คือเป็นการรวมศูนย์อำนาจราชการพร้อมๆ กับดูว่าใครเป็นใครในท้องถิ่น ซึ่งไม่ว่ารัฐบาลสมัยไหนก็ไม่มีวันที่จะเข้าใจท้องถิ่นได้ถ้าหากว่าไม่เข้าไปถึงระดับล่างจริงๆ เพื่อที่จะไปเปลี่ยนหรือว่าจะไปใช้ประโยชน์หรือว่าให้ประโยชน์


 


เพราะฉะนั้นเราก็ต้องมาเลือกแล้วว่าอะไรคือจุดอ่อนจุดแข็ง ซึ่งก็คิดว่าคือตัวกลางตรงนี้ ในงานวิจัยก็พบว่ายุคทักษิณนั้นเขาเข้ามาใช้ตัวกลางและเปลี่ยนแบบแผนของตัวกลางใหม่หมด เป็นการเชื่อมโยงก็คือว่าพรรคไทยรักไทยถ้าหากว่าได้ อบต.  เท่าไหร่เมื่อมีการเลือกตั้ง ส.อบจ. ส.อบจ.แต่ละคนก็สามารถรู้ได้แล้วว่าเราสามารถคุมฐานเสียงได้เท่าไหร่ ก็เท่ากับพรรครู้แล้วว่าจังหวัดนี้จะได้กี่คะแนนเสียง  ถ้าหากสามารถยึด อบต.ได้ก็สามารถมีชัยชนะไม่ว่าจะเรื่องอะไร


 


ระบบอุปถัมภ์ ก็มีความต่างกันในแต่และพื้นที่ และของไทยเองก็มีลักษณะเฉพาะ ซึ่งเป็นลักษณะที่ตายยาก และประเด็นที่สำคัญคือเราจะไปต่อสู้อย่างไร ซึ่งประเด็นที่ต้องสู้นั้นมันอยู่ที่ระบบราชการ เพราะฉะนั้นอุดมการณ์ใหม่นั้นก็ต้องคิดด้วยว่าเราจะไปสู้กับระบบอุปถัมภ์ที่มีลักษณะเฉพาะของเราอย่างไร ที่ไม่ใช่เป็นลักษณะเครือญาติ แต่ว่าเป็นแบบพรรคพวกที่เหนียวแน่น โดยอิงอยู่กับผู้มีอำนาจ ซึ่งระบบอุดมการณ์ใหญ่ที่เป็นอุดมการณ์ชาตินิยมของเราก็ไปผูกพันอยู่กับระบบอุปถัมภ์ เราก็ต้องไปต่อสู้ทั้งระบบ


 


ในสมัยก่อน"ท่าน"มีอยู่คนเดียวก็คือ"ท่านนายอำเภอ" แต่ว่ามาสมัยนี้ใครๆ ก็เป็นท่าน รองนายกก็เป็นท่านไปหมด คิดดูว่าตำบล อำเภอหนึ่งมีท่านกี่ร้อยคน ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี เป็นสุดขั้วของการกระจายอำนาจ เมื่อท่านเป็นท่านหมดอีกหน่อยก็จะลดความสำคัญลงไปเอง ทุกคนเป็นเจ้าพ่อหมด ถ้าหากจะบอกว่านายก อบต.เป็นพวกเจ้าพ่อผู้มีอิทธิพล ก็ยังดีกว่า ที่สมัยก่อนมีผู้มีอิทธิพลคนเดียวควบไป 3 จังหวัดแต่ว่าเดี๋ยวนี้ทุกตำบลมีเจ้าพ่อไม่ดีหรือ ซึ่งนั่นก็คือการกระจายอำนาจ


 


ระบบอุปถัมภ์ของไทยมีภาพใหญ่คือว่ารัฐหรือว่าสังคมมีตัวกลาง เราลองมาเอาแว่นขยายไปในตัวกลางว่าเป็นอย่างไร  มีรายงายอันหนึ่งที่ได้เคยเขียนไว้นานแล้วเพื่อที่จะเปรียบเทียบกับในอเมริกา การเมืองท้องถิ่นในอเมริกาค่อนข้างที่จะเข้มแข็งชัดเจน การเลือกตั้งประธานาธิบดีเป็นเพียงสัญลักษณ์และเป็นการกำหนดทิศทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แต่ว่าชะตาชีวิตของคนนั้นขึ้นอยู่กับการเมืองท้องถิ่นมาก ซึ่งการเมืองท้องถิ่นของเขาที่มีมานานแล้วก็ต้องเจอแบบเดียวกับบ้านเราก็คือว่าต้องเจอกับเจ้าพ่อ หรือว่าเจอกับตัวกลาง หรือว่าคนที่มีอิทธิพลกับประชาชนเช่นเดียวกัน โดยที่ในอเมริกาเรียกว่าการเมืองระบบเจ้านาย หรือว่าระบบกลไกหัวคะแนน


 


เขาใช้เวลา 100 ปีในการเปลี่ยนแปลง ประมาณกลางศตวรรษที่ 19 ช่วงปี ค.ศ.1840 เป็นต้นมาที่ให้มีการกระจายอำนาจในการเลือกตั้งอย่างเท่าเทียมกันคือว่า ผู้อพยพที่อพยพมาอยู่ที่อเมริกาอย่างน้อย 5 ปีก็มีสิทธิที่จะลงคะแนนเสียง คนผิวดำก็มีสิทธิลงคะแนนเสียงไม่ใช่เพียงคนผิวขาวที่เสียภาษีหรือว่ามีอำนาจเท่านั้น ไม่ใช่เพียงชนชั้นกลาง เมื่อให้มาในช่วงแรก คนที่อพยพมาจากประเทศยูโกสลาเวีย ไอแลนด์ สก๊อตแลนด์หรือว่ายุโรปตะวันออกทั้งหลายนั้นคนเหล่านี้ก็มีเจ้าพ่อของตัวเองที่คอยดูแล พรรค democrat ซึ่งเป็นพรรคที่สำคัญในการใช้ระบบกลไกหัวคะแนน ก็ไปใช้คนเหล่านี้เป็นหัวคะแนนให้ตนเองเพื่อเอามาเข้าพรรคของตัวเอง คล้ายกับสิ่งที่ทักษิณเคยทำ ซึ่งวิธีการระหว่างหัวคะแนนกับท้องถิ่นก็คือระบบอุปถัมภ์  เพื่อที่จะเทคะแนนเสียงให้กับพรรค


 


แต่ว่าขณะเดียวกันสิ่งที่เขาตอบแทนให้คืออะไรนอกจากถ่านหินในหน้าหนาว เขายังให้ในรูปแบบของระบบสวัสดิการ ให้งานเป็นคนกวาดถนนของเทศบาล แล้วสิ่งที่ตามมาก็คือลูกได้เรียนหนังสือ ในโรงเรียนของเทศบาล สิ่งที่ตามมาก็คือลูกได้รับการประกันสุขภาพจากเทศบาล หัวคะแนนเหล่านี้ก็ไต่เต้าขึ้นไปเป็นนายกของเมืองแล้วในที่สุดอาจจะไต่เต้าขึ้นไปเป็นเจ้าพ่อเอง ซึ่งมีการเคลื่อนไหว เพราะว่าสิ่งที่แลกเปลี่ยนนั้นคือตำแหน่งงาน แล้วคนก็จะยกระดับขึ้น


 


ในขณะที่ในเมืองไทย ตนเองเคยมีโอกาสได้สัมภาษณ์คนคนหนึ่งซึ่งเป็นหัวคะแนนให้กับเทศบาล ในสลัมที่ใกล้ๆ กับทางรถไฟเชียงใหม่ ถามเขาว่าได้อะไร เขาก็บอกว่าได้หลายอย่างได้เงินมา 6,000 บาทเอามาดาวน์รถมอเตอร์ไซค์ แล้วถามว่า 4 ปีที่แล้วกับตอนนี้แตกต่างกันอย่างไรเขาก็บอกว่าอยู่เหมือนเดิมและตอนนี้มอเตอร์ไซค์ของเขาพังไปแล้ว เขาไม่มีทางได้เลื่อนฐานะและลูกหลานของเขาก็คงจะเป็นแบบเขาเอง แต่ในขณะที่ในอเมริกาใช้เวลา 100 ปีในการเปลี่ยนแปลงเพราะว่าสิ่งตอบที่แทนที่เขาให้นั้นต่างกัน สิ่งตอบแทนที่ให้คือเงิน 6,000 บาทกับความรู้สึกของหัวคะแนนคนนี้ว่ามีพรรคพวกของตนเองเข้าไปนั่งอยู่ในสภาเทศบาล ถ้าจะขออะไรก็ขอได้ แต่ว่าปัจจุบันมีความเปลี่ยนแปลงว่าไม่ใช่เพียงความรู้สึกแล้ว เขาให้อะไร เช่นมีการสร้างถนนให้ สวัสดิการคนแก่ ศูนย์เด็กเล็ก แต่ว่ามันเริ่มเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนมากขึ้น ที่ไม่ใช่เงินเพียง 6,000 บาท ศูนย์เด็กเล็ก สวัสดิการคนแก่


 


ระบบอุปถัมภ์มันเปลี่ยนไปแล้ว เพราะฉะนั้นระบบอุปถัมภ์หลัง 2542 เปลี่ยนจะเริ่มมีพลัง แต่เมื่อ 50 ปีหรือ 100 ปีที่ผ่านมานั้น ระบบอุปถัมภ์ทำไมผู้มีอิทธิพลถึงอุปถัมภ์ได้ เพราะว่าผู้มีอิทธิพลสามารถเจรจากับกรมทางหลวงให้คนสามารถขายของที่หนองมน สองข้างทางได้ มีเส้นที่กรมทางหลวง เพราะว่าสามารถเจรจากับรัฐมนตรีได้ ถามว่าเส้นของผู้มีอิทธิพลอันนี้สามารถให้กับคนอื่นได้ไหม เมื่อผู้มีอิทธิพลตายไปก็ให้ใครไม่ได้ ลูกน้องกี่คนก็ไม่สามารถเลื่อนฐานะมาเป็นผู้มีอิทธิพลได้ ฉะนั้นการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงระบบอุปถัมภ์ของไทยจึงเป็นไปอย่างยากลำบาก เพราะว่าทรัพยากรในการใช้ระบบอุปถัมภ์คือเส้นสายที่มีอยู่ในระบบราชการ หรือมีความคิดสำนึกแบบมีพรรคพวกตัวเองเข้าไปอยู่ในสภา แล้วมีตำแหน่งใหญ่โต


 


ไม่รู้ว่าทักษิณจะจบปริญญาเอกทางด้านอุปถัมภ์หรือเปล่า เพราะเขาเข้าใจว่าระบบอุปถัมภ์แบบเดิมนั้นใช้ไม่ได้ กินไม่ได้ เขาจึงมาใช้แบบใหม่ คนที่เกลียดทักษิณก็จะบอกว่าเขาคือผู้อุปถัมภ์รายใหม่ เพื่อเอามาใช้ประโยชน์ คนที่ชอบทักษิณก็บอกว่าเขาคือคนที่กำจัดระบบอุปถัมภ์แบบเดิมแล้วเอาแบบใหม่เข้ามา ซึ่งเมื่อเอาแว่นขยายเข้าไปส่องดู การให้ การตอบแทนแล้วนั้นพบว่ามันนิ่ง และไม่มีการเปลี่ยนแปลง จนมาถึงในระยะหลังที่การตอบแทนมันเปลี่ยนไปแล้ว มันไม่ใช่ระบบแบบเครือญาติ แบบพี่น้องหรือว่าการให้กันนิดๆ หน่อยๆ แต่มันเริ่ม แล้วว่า อีก 4 ปีข้างหน้าเขาอาจจะไม่เอาคุณเพราะว่าไม่ได้ทำตามสิ่งที่เขาคาดหวัง อย่างน้อยมันอาจจะมีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งอาจจะ 100 ปีแต่ว่ามันก็ยังมีการเปลี่ยนแปลง.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net