Skip to main content
sharethis

เมื่อเวลา10.00 น. วันที่ 5 พ.ย. สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สป.) กลุ่มประชาชนไม่เอาความรุนแรง ประกอบด้วย เครือข่ายภาคประชาสังคมหลายองค์กร อาทิ เครือข่ายผู้บริโภค ตัวแทนนักวิชาการ กลุ่มคนพิการ เครือข่ายครอบครัว เครือข่ายสลัม ร่วมกันจัดเสวนา หัวข้อ "หยุด ส.ส.ร.3 หยุดแก้รัฐธรรมนูญ ประเด็นร้อนชนวนความรุนแรงรอบใหม่"


 


น.ส.สารี อ๋องสมหวัง ผู้จัดการมูลนิธิผู้บริโภค กล่าวว่า ขณะนี้รัฐสภาและรัฐบาลกำลังเร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยจะมีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.3 ) ขึ้นมา เชื่อว่าจะเป็นต้นเหตุแห่งการนำไปสู่ความรุนแรงในสังคมได้ ตัวแทนภาคประชาสังคมจึงจำเป็นที่จะต้องช่วยกันยับยั้งความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นได้ในวันข้างหน้า ตนเห็นว่ารัฐธรรมนูญสามารถแก้ไขได้ แต่โจทย์ที่ไม่ได้ถูกแก้ไขก่อนการแก้รัฐธรรมนูญคือ การปฏิรูปสังคม


 


"ถ้าแก้รัฐธรรมนูญขณะนี้ จะเป็นเหตุให้เกิดการนองเลือดอย่างแน่นอน เราจึงควรมีจังหวะในการทำข้อเสนอที่ดีให้เป็นจุดที่สามารถสร้างการมีส่วนร่วมจากสังคม แม้พรรคร่วมรัฐบาลจะออกมาบอกว่าถอยแล้ว เราก็ไม่ไว้ใจเท่าใดนัก ตอนนี้หากเราสามารถขอให้รัฐบาล และรัฐสภาชะลอได้ ก็น่าจะทำ ซึ่งการแก้ครั้งนี้เป็นการแก้ไขในภาวะตีบตันทางการเมือง เชื่อว่าจะนำไปสู่ปัญหาความขัดแย้ง ไม่ได้สนใจในเรื่องของอนาคตจริยธรรม หรือธรรมมาภิบาล ซึ่งรัฐเองก็ไม่ได้มีความชอบธรรมในการเร่งรีบแก้ไขรัฐธรรมนูญเช่นนี้" น.ส.สารีกล่าว


 


นางสุนทรี เซ่งกิ่ง เลขาธิการคณะกรรมการประสานองค์กรเอกชน (กปอพช.) กล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ไม่ใช่ว่าแก้ไขไม่ได้ แต่เราเองก็เห็นร่วมกันว่ามีหลายประเด็นในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่แก้แล้วจะเป็นประโยชน์กับประชาชน เช่น เรื่องการจัดเก็บภาษี แต่กระบวนการในการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องไม่ใช่สถานการณ์ที่รัฐบาลเองเป็นเจ้าภาพทั้งหมดแบบนี้ การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องเป็นการกระทำที่เกิดจากการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม และหากรัฐจริงใจ ก็ต้องบอกว่าประชาชนจะมีส่วนร่วมในการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ได้อย่างไร ประชาชนจะได้อย่างไร ตอนนี้สิ่งที่ตนบอกได้อย่างชัดเจนคือ ไม่เห็นด้วยกับกระบวนการที่รัฐกำลังเตรียมการในการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยกันประชาชนออกมา ไม่ให้มีส่วนร่วมแบบนี้


 


นางกรรณิการ์ บุญขจร ตัวแทนจากมูลนิธิอาสมัครเพื่อสังคม (มอส. ) กล่าวว่า รัฐบาลขาดความชอบธรรมที่ตั้ง ส.ร.ร.แบบนี้ขึ้นมา และรัฐเองก็ไม่มีมีสิทธิ์ไปสลายการชุมนุม ซึ่งประเด็นของเรื่องการสลายการชุมนุมก็เป็นเรื่องที่เราลืมได้อย่างง่ายดาย อย่างไรก็ตาม หากจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง จะต้องเป็นกระบวนการแก้ไขในระยะยาว และต้องเป็นการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย จะเกิดจากฝ่ายรัฐฝ่ายเดียวไม่ได้ ดังนั้นเราจึงเห็นว่า กระบวนการ ส.ส.ร. 3 ควรยุติลง และเปิดทางให้สังคมมีความพร้อมที่จะเข้ามาร่วมมือ ไม่ใช่เกิดจากรัฐฝ่ายเดียวเช่นนี้


 


นายนิมิตร เทียนอุดม ตัวแทนจากมูลนิธิผู้เข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า การแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้ คิดขึ้นมาเพื่อฟอกตัวเองของฝ่ายรัฐบาล เราต้องชวนสังคมมาคิดว่า ปมของความขัดแย้งในตอนนี้จริงๆ คืออะไร ทั้งนี้การสร้างบรรยากาศให้คนเห็นถึงความร้ายแรงที่จะเกิดขึ้น หากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็จะสร้างให้ประชาชนเกิดหวาดกลัว เมื่อรัฐสร้างข้อมูลที่เท็จจริง ประชาชนก็จะใช้วิจารณญานในการตัดสินใจได้ เราต้องจัดทำบันทึกประวัติศาสตร์ หรือสมุดปกดำ ให้ประชาชนเห็นถึงความรุนแรงให้ได้ เพราะเมื่อเราหยุดไม่ได้ เราก็ต้องเตือนก่อน


"เราต้องให้ข้อเท็จจริงกับสังคมว่า สถานการณ์แบบนี้อาจจะเกิดความรุนแรงใช้กำลังต่อกันและกัน ซึ่งเราจะต้องเรียกร้องว่า รัฐจะไม่ใช้ความรุนแรง" นายนิมิตร กล่าว


 


นายจงเกียรติ อนันอัมพร ตัวแทนจากภาคธุรกิจ กล่าวว่า การเร่งรัดแก้รัฐธรรมนูญในปัจจุบันไม่น่าจะเป็นเรื่องดี เพราะหากจะทำให้ปัญหาในระยะยาวได้รับการคลี่คลาย เราต้องพูดคุยร่วมกันว่าเราจะหาจุดร่วมที่ทำให้หลายฝ่ายอยู่ร่วมกันอย่างสันติได้อย่างไร เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงถือเป็นเรื่องที่มาทีหลัง ซึ่งการเตรียมการในการรณรงค์ของเรา คนอาจบอกว่าเสียงเราอาจจะน้อยเมื่อเทียบกับสีแดง สีเหลือง แต่อยากบอกว่า เราไม่สามารถนำพลังมวลชนมาเทียบกันได้ แต่เรามีน้ำหนักเพียงพอที่จะทำให้สังคมอยู่ร่วมกันอย่างสันติได้


 


นายวิบูลย์ อิงคากูร ตัวแทนจากชมรมธุรกิจเพื่อประชาธิปไตย กล่าวว่า สัปดาห์หน้าถ้านายชัย ชิดชอบ ประธานสภาฯ บรรจุญัตติการแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสู่การพิจารณาของสภา อาจเกิดการนองเลือด ดังนั้นช่วงนี้เราต้องช่วยกันไม่ให้นำญัตติดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณา


 


นายทวีศักดิ์ สูทกวาทิน อาจารย์ประจำ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวว่า นิด้า ขึ้นป้ายว่ารัฐบาลและรัฐสภา หมดความชอบธรรมไปแล้ว เพราะตอนนี้สภาผู้แทนราษฎร เละเสียจนกำลังจะลากจูง ส.ว.เละตามไปด้วย ขณะนี้ถ้าพรรคพลังประชาชน ไม่พูดให้ชัดเจนว่าจะเลิกยุ่งเกี่ยวกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ปัญหาก็ไม่จบ ดังนั้นการตั้ง ส.ส.ร. 3 ขึ้นมาอย่างเร่งรีบแบบนี้ ก็จะกลายเป็นชนวนที่ก่อให้เกิดความรุนแรงขึ้น ดังนั้นเราต้องเรียกร้องให้เขาหยุด


 


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมได้อภิปรายในประเด็นต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง และได้ข้อสรุปร่วมกันว่า จะจัดทำหนังสือปกดำ เพื่อแสดงถึงผลกระทบและความรุนแรงที่จะเกิดขึ้น หากมีการแก้ไขรัฐธรรรมนูญ ภายในรัฐบาลชุดนี้ นอกจากนี้ยังจะทำหนังสือเรียกร้องไปยังรัฐบาล และหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ให้หยุดพฤติกรรมที่จะนำไปสู่ความรุนแรง และการนองเลือดดังกล่าว


 


ทั้งนี้ ทางกลุ่มจะเข้าพบบรรณาธิการของสื่อทุกสำนัก เพื่อขอพื้นที่ในการนำเสนอบทความเพื่อให้ประชาชนได้รับข่าวสารที่ไม่เป็นการส่งเสริมความรุนแรง นอกจากนี้ ในวันที่ 6 พ.ย. ทางกลุ่มจะเข้ายื่นหนังสือต่อ นายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา เพื่อให้ชะลอการนำญัตติการขอแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาล เข้าสู่การพิจารณาภายในสัปดาห์หน้าด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net