รายงาน : แรงงานพม่ากับการใช้โทรศัพท์มือถือ (ตอน 1)

 


ชื่อเดิม : แรงงานข้ามชาติจากพม่ากับการใช้โทรศัพท์มือถือ : เครือข่ายทางสังคม อำนาจและการต่อรอง

โดย อดิศร เกิดมงคล รองประธานมูลนิธิส่งเสริมสันติวิถี

 

 

 

            ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมาผมได้ตั้งข้อสังเกตกับตนเอง เมื่อมีโอกาสได้ดูละครหลังข่าวตามโทรทัศน์ช่องต่างๆ เริ่มเห็นบทบาทของคนรับใช้ในบ้านที่มีแนวโน้มเป็นแรงงานข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะพม่า ลาว และกัมพูชามากขึ้น มีการใช้สำเนียงที่พูดภาษาไทยไม่ชัด บางคนก็ทาทานาคาไว้ที่ใบหน้า (เรื่องสำอางจากสมุนไพรชนิดหนึ่งในประเทศพม่า) คล้ายจะบ่งบอกว่าเธอเหล่านั้นเป็นแรงงานข้ามชาติที่มาจากประเทศพม่าโดยตรง

 

เมื่อพูดถึงแรงงานข้ามชาติจากพม่า ผู้คนในสังคมไทยจำนวนไม่น้อยมักจะมีภาพตามความเข้าใจในแง่ลบ เช่น มองว่าเป็นกลุ่มที่ผิดกฎหมาย เป็นผู้แพร่เชื้อโรคร้าย หรือเป็นภัยต่อความมั่นคง ยังไม่รวมถึงอคติทางเชื้อชาติและประวัติศาสตร์ที่ผู้คนจำนวนหนึ่งยังมองว่าแรงงานพม่าคือคน "พม่า" กลุ่มเดียวกับคนที่เคยเป็นศัตรูกับ "คนไทย" ทั้งๆที่แรงงานข้ามชาติจากพม่าจำนวนมาก ไม่ใช่คน "พม่า" ตามนัยยะที่เข้าใจกัน พวกเขาจะนิยามตนเองผ่านกลุ่มชาติพันธุ์ที่ตนเองสังกัดอยู่ เช่น มอญ กะเหรี่ยง ปะโอ

 

การถูกมองจากสังคมไทยในเชิงลบเช่นนี้ ทั้งที่เป็นการดูถูกเหยียดหยาม การกีดกันออกจากกลุ่ม การถูกประทับตราจากสังคม ท่าทีในลักษณะนี้เมื่อปรากฏสู่สาธารณะได้กลายเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้กลุ่มแรงงานข้ามชาติไร้ฝีมือจากพม่าหลายคนไม่กล้าเปล่งเสียง ไม่กล้าส่งเสียงพูดในฐานะที่เป็นกลุ่มคนที่มีสิทธิ มีเสียง มีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์เหมือนกับคนทั่วๆไป เพราะไม่มั่นใจว่าเมื่อแสดงออกไปแล้วจะได้รับการปฏิบัติอย่างไร และในขณะเดียวกันแม้ว่าพวกเขาจะพยายามเปล่งเสียง แต่เสียงของพวกเขาก็ไม่ได้รับความสนใจในการรับฟังอย่างแท้จริง สถานการณ์เหล่านี้เองมีส่วนอย่างสำคัญในการเบียดขับให้แรงงานข้ามชาติจากพม่ากลายเป็นกลุ่มชนชายขอบที่ดำรงอยู่ในสังคมไทย

 

สิ่งที่น่าสนใจก็คือ การถูกผลักให้ไปอยู่ชายขอบนั้นไม่ได้ถูกกระทำหรือตั้งรับเพียงฝ่ายเดียว แต่หลายครั้งที่แรงงานข้ามชาติเหล่านี้ได้ต่อรอง ตอบโต้กับภาวการณ์ถูกผลักดันให้เป็นชายขอบด้วยกระบวนการต่างๆ เช่น การพยายามเป็นคนงานที่ดีของนายจ้าง การเรียนภาษาไทย การพูดภาษาไทย การแต่งกายที่มีลักษณะเป็นที่ยอมรับในสังคมไทย เช่น การใส่เสื้อเหลือง หรือการสร้างเครือข่ายชุมชนขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือ เพื่อร่วมกันแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารในกลุ่มแรงงานข้ามชาติด้วยกันเอง ฉะนั้นจึงเห็นได้ว่าการต่อรอง ตอบโต้ของแรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่จึงเกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของพวกเขา/เธออยู่ตลอดเวลา

 

จากสถานการณ์ดังกล่าวจึงทำให้ผมสนใจศึกษา เรื่องการต่อรองกับภาวะความเป็นชายขอบของแรงงานข้ามชาติจากพม่า ผ่านการศึกษาถึงการใช้โทรศัพท์มือถือ ในฐานะเป็นเครื่องมือในการสร้างเครือข่ายทางสังคม การต่อรอง และการตอบโต้กับภาวะความเป็นชายขอบของตนเอง ขณะเดียวกันในบางจังหวัดในพื้นที่ทางภาคใต้ของประเทศไทย เช่น ระนอง พังงา ภูเก็ต รัฐไทยก็ห้ามมิให้แรงงานข้ามชาติใช้โทรศัพท์มือถือ ซึ่งถือได้ว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนรูปแบบหนึ่ง ฉะนั้นจะเห็นได้ว่าโทรศัพท์มือถือไม่ใช่เพียงแค่เครื่องมือการสื่อสาร แต่เป็นสัญลักษณ์ของการต่อรองเชิงอำนาจอีกประการหนึ่ง

 

การศึกษาดังกล่าวต้องการเข้าใจว่าแรงงานข้ามชาติสร้างเครือข่ายทางสังคม และต่อรองกับภาวะความเป็นชายขอบในชีวิตประจำวันของตนเองผ่านการใช้โทรศัพท์มือถืออย่างไร และสังคมไทยจะเข้าใจปรากฏการณ์นี้อย่างไร ผมเลือกศึกษากลุ่มแรงงานข้ามชาติจากพม่าที่ทำงานอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และมาเรียนหนังสือในโครงการสอนภาษาไทยให้แก่แรงงานข้ามชาติที่จัดโดยองค์กรพัฒนาเอกชนแห่งหนึ่งประมาณ 10 คน เป็นความโชคดีของผมที่เคยเป็นครูสอนภาษาไทยให้แก่แรงงานข้ามชาติในโครงการสอนภาษาไทยแห่งนี้ ประกอบกับได้ทำงานในประเด็นเรื่องแรงงานข้ามชาติมาประมาณสิบกว่าปี จึงทำให้มีโอกาสรู้จักและสนิทสนมกับแรงงานข้ามชาติ โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่มาจากประเทศพม่าจำนวนหนึ่ง โอกาสที่จะเข้าถึง พูดคุยและสังเกตการณ์ต่อการใช้โทรศัพท์มือถือของแรงงานข้ามชาติโดยตรงจึงมีความเป็นไปค่อนข้างสูง

 

 

การทบทวนวรรณกรรม

ผมเริ่มต้นการศึกษาด้วยการทบทวนวรรณกรรม 2 ส่วน คือ (1) ความเป็นชายขอบของแรงงานข้ามชาติจากพม่า (2) โทรศัพท์มือถือในฐานะที่เป็นเครื่องมือการต่อรองในชีวิตประจำวัน

 

            (1) ความเป็นชายขอบของแรงงานข้ามชาติจากพม่า

            แรงงานข้ามชาติถูกพูดถึงในฐานะที่เป็นคนชายขอบของสังคมไทยอย่างชัดเจนเป็นครั้งแรกเมื่อปีพ.ศ. 2539 โดยถูกให้ความหมายว่าเป็นแรงงานไร้ทักษะฝีมือ ทั้งกรรมกร คนทำงานบ้าน คนงานในโรงงาน รวมทั้งโสเภณี เป็นกลุ่มที่กำลังประสบปัญหาและความยากลำบากจนถึงขั้นที่อาจกล่าวได้ว่าผู้คนเหล่านี้ได้รับผลกระทบในด้านลบของโลกาภิวัตน์มากที่สุดกลุ่มหนึ่ง เป็นกลุ่มคนที่อพยพเคลื่อนย้ายไปตั้งถิ่นฐานหรือทำมาหากินในต่างประเทศต่างวัฒนธรรมมากขึ้นอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในอดีต พวกเขาเป็นกลุ่มคนชายขอบทั้งในทางภูมิศาสตร์และสังคมวัฒนธรรม ต้องห่างไกลจากครอบครัวญาติพี่น้องและชุมชนดั้งเดิมที่เคยเป็นฐานสนับสนุนทางเศรษฐกิจและสังคมวัฒนธรรม ประชากรในวัฒนธรรมโลกาภิวัตน์ของสังคมไทยไม่ได้มีเพียงชาวไร่ชาวนา กรรมกรในชนบทและประชากรอาชีพต่างๆในเมืองเท่านั้น หากแต่ยังมีคนกลุ่มนี้ด้วย มานุษยวิทยาต้องหันมาให้ความสนใจในฐานะที่เป็นกลุ่มที่ด้อยโอกาส ถูกเอารัดเอาเปรียบทางเศรษฐกิจและการเมืองในสังคม เป็นคนชายขอบ(marginal people)ที่มีชีวิตอยู่ขอบหรือเขตพรมแดนของสองประเทศที่มีวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน คนกลุ่มนี้ไม่อาจละทิ้งรากฐานทางวัฒนธรรมดั้งเดิมของตนและไม่ได้รับการยอมรับเข้าไปเป็นสมาชิกของวัฒนธรรมใหม่อย่างเต็มตัว ชีวิตของพวกเขาจึงเต็มไปด้วยการต่อสู้ ดิ้นรน ผสมผสานและปรับตัวอยู่ตลอดเวลา ในขณะเดียวกันชีวิตของพวกเขาก็ถูกหล่อหลอมด้วยกระแสวัฒนธรรมบริโภคอันเป็นกระแสหลักของโลกยุคโลกาภิวัตน์ (สุริยา สมุทคุปติ์ และพัฒนา กิติอาษา, 2539)

 

สำหรับแรงงานข้ามชาติจากพม่านั้น ความเป็นชายขอบของพวกเขาถูกขยายความในฐานะของ"คนแปลกหน้า"ในสังคมไทย ที่ปรากฏตัวในฐานะของผู้เข้าเมืองผิดกฎหมายจากประเทศเพื่อนบ้าน (สุริชัย หวันแก้ว, 2546: 115-116) ความเป็นคนแปลกหน้านำมาซึ่งความเป็นชายขอบในรูปแบบต่างๆ คือ (1) การเป็นส่วนหนึ่งของมายาคติ (myth) เรื่องผู้หลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมาย ผู้แย่งงานคนไทย ตัวแพร่เชื้อโรคร้าย ภัยต่อความมั่นคง (2) การเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายการจดทะเบียนที่ก่อให้เกิดการควบคุมในมิติร่างกาย ความสัมพันธ์ทางเพศ การควบคุมความรับรู้ แรงจูงใจ การควบคุมในการผลิตข้อมูลข่าวสาร (3) การเป็นส่วนหนึ่งของคนไร้สัญชาติไทย ทำให้ต้องเผชิญกับอุปสรรคหลายประการ เช่น การไม่ได้รับความคุ้มครองแรงงานตามกฎหมาย การไร้สิทธิและเสรีภาพตามที่บุคคลทั่วไปควรได้รับ เช่น สิทธิในด้านการรักษาพยาบาล สิทธิเสรีภาพในการเดินทาง  ถูกละเมิดสิทธิในการศึกษาและการได้รับวุฒิการศึกษา การถูกละเมิดสิทธิในทางวัฒนธรรม (4) การเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสื่อสารของสื่อมวลชนไทย แรงงานข้ามชาติถูกนำเสนอภาพแทนความจริงผ่านสื่อนานาชนิด ซึ่งส่งผลต่อการนิยามความหมายของแรงงานข้ามชาติให้กลายเป็นคนอื่น (5) การเป็นผลผลิตจากงานวิชาการ ที่งานวิจัยจากวงวิชาการไทยจำนวนมากต่างตอกย้ำใน 2 ประเด็นว่าเป็นผู้ลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายที่ต้องได้รับการควบคุมหรือจัดการ หรือไม่ก็เป็นเหยื่อของกระบวนการค้ามนุษย์ (บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์, 2550: บทที่ 6)

 

ความเป็นชายขอบของแรงงานข้ามชาติจากพม่าที่เกิดขึ้นมานั้น จึงเป็นผลมาจากการจัดความสัมพันธ์เชิงอำนาจในรูปของความรู้ที่อยู่บนฐานคิดที่มีลักษณะแบ่งเขาแบ่งเรา ผ่านรูปแบบการแบ่งแยก กีดกัน และเบียดขับให้ไปอยู่ริมขอบของพื้นที่และผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ทำให้พวกเขาตกอยู่ในภาวะที่ไร้อำนาจในการกำหนดชะตากรรมของตนเอง ยอมจำนนต่อการกีดกันกระบวนการสร้างความเป็นอื่นผ่านความคิดเรื่องรัฐ-ชาติ(Nation-state)แบบสมัยใหม่ และการพัฒนากระแสหลักได้เปลี่ยนฐานะของแรงงานข้ามชาติจากมนุษย์หรือพลเมืองที่มีสิทธิมีเสียงและมีชีวิตวิญญาณสู่การเป็นวัตถุที่ไร้วิญญาณชนิดหนึ่งที่เรียกว่าเป็นได้แต่เพียงแรงงานราคาถูกในสังคมอุตสาหกรรมเท่านั้น มีการเบี่ยงเบนปัญหาเรื่องการอพยพการย้ายถิ่นของประชาชนกลุ่มนี้จากความสัมพันธ์ทางการเมืองเป็นเพียงมิติทางด้านเศรษฐศาสตร์ ด้วยการชี้ให้เห็นว่าการที่ประชาชนกลุ่มนี้หลบหนีเข้ามาในประเทศไทย เพราะต้องการหางานทำ มีรายได้สำหรับการดำรงชีวิต พร้อมๆกับลดทอนวิธีการแก้ปัญหาจากระดับของการเมือง เรื่องของอำนาจ ความรุนแรง การต่อสู้ สู่เรื่องของเทคนิควิธีการล้วนๆ ดังเช่น การเปิดให้ขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติ หรือการผลักดันกลับประเทศ เป็นต้น ซึ่งล้วนแล้วแต่ทำให้ประชาชนกลุ่มนี้ถูกทำให้อยู่ในเงามืดมากยิ่งขึ้น (บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์, 2550: บทที่ 8)

 

 

(2) โทรศัพท์มือถือในฐานะที่เป็นเครื่องมือในการต่อรองในชีวิตประจำวัน

            สำหรับในประเด็นเรื่องโทรศัพท์มือถือในฐานะที่เป็นเครื่องมือในการต่อรองในชีวิตประจำวันนั้น ถูกกล่าวถึงอย่างน่าสนใจในงานศึกษาด้านมานุษยวิทยาในประเทศจาไมก้า ที่มีการศึกษาถึงผลกระทบจากการใช้โทรศัพท์มือถือของประชาชนที่มีรายได้ต่ำในปี 2004 (Heather A.Horst and Daniel Miller, 2006) พบว่าโทรศัพท์มือถือก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในวิถีชีวิตของพวกเขาใน 4 ประการ คือ

 

ประการแรก การเชื่อมโยงติดต่อสัมพันธ์กันในครอบครัว ญาติพี่น้องและเพื่อนฝูง โทรศัพท์มือถือถูกใช้สำหรับการติดต่อสื่อสารเชื่อมโยงคนเหล่านี้จนก่อให้เกิดความสัมพันธ์ที่เข้มข้นขึ้น ความห่างไกลของพื้นที่ อุปสรรคที่เกิดขึ้นจากการเดินทางไปมาหาสู่ที่ต้องใช้ระยะเวลานาน สภาวะการทำงานนอกบ้านของสมาชิกในครอบครัวที่ไม่ค่อยมีโอกาสพบปะกัน ถูกแทนที่ด้วยการใช้โทรศัพท์มือถือเป็นเครื่องมือในการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ที่ต่อเนื่อง คนหนุ่มสาว คนวัยทำงานใช้โทรศัพท์ในการแสวงหามิตรภาพใหม่ๆ ขยายความสัมพันธ์ออกไปจากแวดวงเดิม สำหรับบางครอบครัวที่มีสมาชิกไปทำงานต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา อังกฤษ พวกเขาจะใช้โทรศัพท์มือถือในการสอบถามข่าวคราวซึ่งกันและกัน พ่อแม่ใช้ติดต่อกับลูกๆที่ยังอยู่ในบ้านเกิด รวมถึงใช้เป็นเครื่องมือในการติดต่อเพื่อส่งเงินกลับบ้านเกิด เช่น เป็นค่าเล่าเรียนลูก วาระพิเศษต่างๆ วันคริสต์มาส วันเกิด ค่าใช้จ่ายต่างๆในบ้าน ตัวอย่างเหล่านี้เป็นการแสดงถึงการรักษาสายสัมพันธ์ข้ามพรมแดนอย่างต่อเนื่อง

 

ประการที่สอง ในเรื่องสุขภาพ โทรศัพท์มือถือถูกใช้เป็นเครื่องมือในการให้บริการข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูลทางการรักษาโรคอย่างฉุกเฉินกับโรงพยาบาลที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล เครื่องมือไม่เพียงพอ ต้องรับผู้ป่วยที่ไม่สามารถเคลื่อนย้ายหรือเดินทางมารักษาอาการเจ็บป่วยที่โรงพยาบาลอื่นๆได้ บางครั้งโทรศัพท์มือถือยังถูกใช้ติดต่อกับระบบขนส่งภายในประเทศเพื่ออำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย ในผู้ป่วยโรคเอดส์พวกเขาได้ใช้โทรศัพท์มือถือสอบถามอาการจากหมอ ใช้ในการพูดคุยแลกเปลี่ยนถึงอาการที่เกิดขึ้นในเพื่อนกลุ่มเดียวกัน ซึ่งจะช่วยในการบรรเทาความวิตกกังวลในการเผชิญกับโรคดังกล่าว

 

ประการที่สาม การสร้างกำลังใจซึ่งกันและกันในเรื่องอาชญากรรมและความปลอดภัย พบว่าโทรศัพท์มือถือช่วยลดจำนวนอาชญากรที่ก่ออาชญากรรมในพื้นที่ให้ลดน้อยลง เช่น การที่ประชาชนสามารถติดต่อกับตำรวจได้ตลอดเวลาทำให้เกิดความอุ่นใจในชีวิตและทรัพย์สิน

 

ประการสุดท้ายในเรื่องการศึกษาพบว่า โทรศัพท์เป็นเครื่องมือช่วยในการติดต่อระหว่างโรงเรียนกับบ้านของผู้ปกครองเด็ก ครูสามารถรายงานพฤติกรรมหรือปัญหาของเด็กให้พ่อแม่หรือครอบครัวเด็กได้รับรู้อย่างเสมอ

 

            ในประเทศไทยการศึกษาเรื่องโทรศัพท์มือถือในมุมมองทางมานุษยวิทยา ถูกศึกษาในฐานะที่เป็นเครื่องมือในการสร้างเครือข่ายทางสังคมของแรงงานข้ามชาติ ซึ่งเป็นการใช้เทคโนโลยีที่ถือว่าเป็นผลผลิตจากโลกาภิวัตน์ให้เกิดประโยชน์แก่ตน เป็นการสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ระหว่างตนกับผู้อื่นในสังคมที่พวกเขาเพิ่งเข้ามาอาศัยอยู่ เกิดเป็นปฏิสัมพันธ์ที่เป็นอิสระจากข้อจำกัดด้านเวลาและพื้นที่ มีงานศึกษาเพียง 3 เรื่องเท่านั้นที่กล่าวถึงประเด็นนี้อย่างชัดเจนในสังคมไทย กล่าวคือ แรงงานข้ามชาติลาวในประเทศไทยใช้โทรศัพท์มือถือในการติดต่อกับครอบครัวเดิมที่ยังอยู่ในประเทศลาว ใช้เป็นเครื่องมือในการนัดหมายกับญาติที่ชายแดนเพื่อมารับเงินที่ได้จากการทำงานนำกลับไปที่บ้าน นอกจากนั้นยังพบว่าแรงงานใช้โทรศัพท์มือถือเป็นเครื่องมือในการขอรับความช่วยเหลือจากบุคคลอื่น เช่น การให้คำแนะนำปรึกษาทั่วไป การช่วยเหลือเมื่อเจ็บป่วย การช่วยเหลือด้านการเงินหรือสิ่งของ และการช่วยหางานให้และให้ที่พักอาศัย (มณีมัย ทองอยู่ ดุษฏี อายุวัฒน์ ,2548:56-83)

 

ส่วนแรงงานข้ามชาติจากพม่านั้น พวกเขาใช้โทรศัพท์มือถือในการติดต่อกับครอบครัวในประเทศพม่า การสอบถามสารทุกข์สุขดิบญาติพี่น้อง ใช้เป็นเครื่องมือในการให้ครอบครัวติดต่อนายหน้าเพื่อส่งเงินมาให้แรงงานที่ทำงานในประเทศไทย รวมถึงการให้นายหน้าช่วยส่งเงินกลับบ้านด้วยเช่นกัน นอกจากนั้นยังช่วยในการหางานทำให้กับแรงงานคนอื่นๆที่พึ่งเดินทางเข้ามาที่ประเทศไทยและอยากเปลี่ยนงานใหม่ ทั้งในเรื่องของข้อมูลเกี่ยวกับนายจ้าง สภาพทั่วไปของที่ทำงาน ประเภทหรือลักษณะของงาน และค่าจ้างที่จะได้รับ แรงงานข้ามชาติบางคนยังใช้โทรศัพท์มือถือในการหาเพื่อนใหม่ทั้งที่อยู่ในจังหวัดเดียวกันและจังหวัดอื่นๆ (นิติ ภวัครพันธุ์ , 2550: 200-262) มีแรงงานข้ามชาติชาวไทยใหญ่คนหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ชื่อสายเล็ก ได้มีความมุมานะและความอุตสาหะอดทนในการประดิษฐ์อักษรไต โดยเขาเริ่มต้นจากการลากเส้นเล็กๆทีละเส้น ทีละจุด ประกอบกันจนกลายเป็นอักขระภาษาไตลงในโทรศัพท์มือถือ จนในที่สุดสามารถใช้เขียนส่งข้อความถึงมิตรสหายได้ กลายเป็นที่นิยมในหมู่แรงงานข้ามชาติชาวไทยใหญ่ที่อาศัยในเชียงใหม่ ในการสื่อสารและส่งความรักความระลึกถึงกันและกัน (Ampika Jirat, 2005)

 

            ฉะนั้นจึงเห็นว่าการใช้โทรศัพท์มือถือซึ่งเป็นเทคโนโลยีการสื่อสารที่รวดเร็ว มีราคาถูก และสะดวกสบาย ทำให้แรงงานข้ามชาติยังสามารถรักษาสายสัมพันธ์กับประเทศบ้านเกิดเมืองนอนได้อย่างแน่นแฟ้น ไม่ตัดขาดกับญาติพี่น้อง เพื่อน คนรู้จักทั้งในประเทศพม่าและในประเทศไทย ซึ่งช่วยให้กระบวนการปรับตัวของพวกเขาและเธอในประเทศไทยเป็นไปอย่างง่ายขึ้น

 

 

(โปรดติดตามต่อตอน 2 : แรงงานพม่ากับโทรศัพท์มือถือ : การสร้างเครือข่ายทางสังคม)

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท