Skip to main content
sharethis

บรัสเซลส์/12 พฤศจิกายน 2551    บทวิเคราะห์ฉบับล่าสุดโดยองค์การหมอไร้พรมแดน (MSF) ซึ่งเป็นองค์กรสาธารณกุศลด้านการแพทย์ระหว่างประเทศ ชี้คณะกรรมาธิการยุโรปมิได้จัดสรรงบประมาณอย่างเหมาะสมเพียงพอเพื่อสนับสนุนทุนการค้นคว้าและพัฒนาวัคซีน เครื่องมือตรวจวินิจฉัย และยารักษาวัณโรค

ทั้งนี้ MSF เรียกร้องให้คณะกรรมาธิการยุโรปอัดฉีดทุนสนับสนุนเพิ่มขึ้นอีก 5 เท่าตัวสำหรับการวิจัยและพัฒนาเครื่องมือแพทย์ ทั้งนี้เพื่อรับมือโรควัณโรคที่กำลังแพร่ระบาดไปทั่วโลกและคร่าชีวิตพลเมืองโลกถึง 1.7 ล้านคนในแต่ละปี



"เพราะเครื่องมือตรวจวินิจฉัยและยาที่เราใช้อยู่ทุกวันนี้เรียกได้ว่ายังไม่มีประสิทธิภาพพอ ทำให้การรักษาโรควัณโรคในพื้นที่ต่างๆ ในอัฟริกาและเอเชียที่เจ้าหน้าที่ภาคสนามขององค์การหมอไร้พรมแดนปฏิบัติภารกิจอยู่นั้นแทบไม่มีโอกาสเป็นไปได้เลย" นายแพทย์ทิโด วอน ชอน-แอนด์เกอเรอร์ ผู้อำนวยการโครงการรณรงค์เพื่อการเข้าถึงยา องค์การหมอไร้พรมแดนกล่าว "สำหรับวัณโรค เราต้องการทั้งวัคซีน ยา และเครื่องมือตรวจวินิจฉัยใหม่ๆ อย่างยิ่งที่สุด ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการทำวิจัยมากขึ้นเท่านั้น"

ปัญหานี้นับวันยิ่งทวีความสำคัญเร่งด่วน เนื่องจากสถานการณ์ในปัจจุบันพบว่ามีการแพร่ระบาดของโรควัณโรคในกลุ่มผู้ติดเชื้อเอชไอวีอย่างรวดเร็ว ตลอดจนมีจำนวนเชื้อโรคดื้อยาเพิ่มมากขึ้น ทำให้ผู้ป่วยวัณโรคไม่ตอบสนองต่อยาหลายๆ รายการที่ใช้รักษาอยู่โดยทั่วไป

การวิจัยและพัฒนา (R&D) ด้านวัณโรคในระดับโลกนั้นจำเป็นต้องใช้เงินทุนราว 1.45 พันล้านเหรียญยูโร ทั้งนี้ MSF ประมาณการตัวเลขเงินทุนสนับสนุนที่เหมาะสมจากสหภาพยุโรป (EU) ไว้ที่ 409 ล้านเหรียญยูโรต่อปี ทว่าจากรายงานของ MSF ได้แสดงให้เห็นว่าคณะกรรมาธิการยุโรปกลับจัดสรรเงินสนับสนุนทุนการวิจัยและพัฒนาด้านวัณโรคสำหรับปี 2550 ไว้เพียงแค่ 18.7 ล้านเหรียญยูโรเท่านั้น    

"สหภาพยุโรปมีหน้าที่รับผิดชอบตรงจุดนี้อย่างชัดเจน" นายแพทย์ทิโด วอน ชอน-แอนด์เกอเรอร์ กล่าว "ประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงของยุโรปหรือแม้แต่ในสหภาพยุโรปเองต่างดิ้นรนต่อสู้กับปัญหาวัณโรคดื้อยา แต่ปรากฏว่าทุนสนับสนุนการวิจัยด้านนี้กลับน้อยจนน่าใจหาย วัณโรคบุกมาถึงถิ่นและเคาะประตูเสียงดังขนาดนี้ แต่คณะกรรมาธิการยุโรปกลับทำหูทวนลมไม่ใส่ใจ"       

ส่วนประเทศสมาชิกเองก็ไม่ได้ช่วยเติมส่วนที่ขาดนี้แต่อย่างใด จากบทวิเคราะห์ขององค์การหมอไร้พรมแดน ฉบับก่อนหน้านี้พบว่า ประเทศเยอรมันซึ่งเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดในสหภาพยุโรป กลับช่วยสนับสนุนเงินทุนสำหรับปี 2550 เพียง 7.5 ล้านเหรียญยูโรเท่านั้น "คณะกรรมาธิการยุโรปและประเทศสมาชิกไม่อาจผลักภาระกันเองในเรื่องนี้" ผู้อำนวยการโครงการรณรงค์เพื่อการเข้าถึงยา องค์การหมอไร้พรมแดนกล่าว

นอกจากนี้บทวิเคราะห์ของ MSF ยังชี้ให้เห็นว่า แผนจัดสรรงบสนับสนุนทุนวิจัยของคณะกรรมาธิการยุโรปนั้นไม่เหมาะสมสอดคล้องกับความต้องการด้านการพัฒนาวัคซีน ยา และการตรวจวินิจฉัยเป็นอย่างยิ่ง อีกคณะกรรมาธิการยุโรปเองก็หาได้นำพาต่อแนวทางเลือกใหม่ๆ แต่อย่างใดไม่ อาทิเช่น การร่วมเป็นหุ้นส่วนที่ไม่แสวงหากำไร (non-profit partnerships) หรือกองทุนรางวัลวิจัย (prize funds) ทั้งนี้เพื่อมาแทนที่แนวทางการสนับสนุนทุนวิจัยรูปแบบเดิมๆ ที่เน้นการให้สิทธิบัตรเป็นเครื่องตอบแทน ซึ่งแนวทางใหม่ๆ เหล่านี้ที่มุ่งขจัดความจำเป็นที่ต้องใช้การตั้งราคาสูงๆ เพื่อชดเชยต้นทุนการทำวิจัยและพัฒนานั้นอาจสามารถช่วยแก้ปัญหาการลงทุนทำวิจัยที่พบว่ามักละเลยโรคที่ไม่สามารถทำกำไรได้มากพออย่าง เช่น วัณโรคได้     



แม้บทวิเคราะห์ของ MSF ฉบับนี้จะมุ่งเจาะจงโรควัณโรค แต่ก็ได้ทำการศึกษาโรคอื่นๆ ด้วยเช่นกัน กล่าวคือ ในปี 2550 มีการจัดสรรเงินทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนาโรคมาลาเรียเพียง 17.1 ล้านเหรียญยูโรเท่านั้น ในขณะที่ไม่มีการจัดสรรทุนแม้สักเหรียญยูโรเพื่อการวิจัยและพัฒนาโรคเขตร้อนที่ถูกละเลยโรคอื่นๆ เช่น โรคลิชมาเนีย (หรือโรคริ้นฝอยทรายกัด) หรือโรคชากาส แม้ว่าโรคเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อชีวิตพลเมืองในประเทศกำลังพัฒนานับล้านก็ตาม 



 


หมายเหตุ :


*MSF รักษาผู้ป่วยวัณโรคกว่า 30,000 รายใน 39 ประเทศทั่วโลก


คลิกที่ www.msfaccess.org เพื่อดาวน์โหลดรายงานฉบับนี้


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net