Skip to main content
sharethis


แฟ้มภาพเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของโรงงานอุ้มแกนนำสหภาพแรงงานอิเล็คทรอนิคส์และเครื่องไฟฟ้าสัมพันธ์ (สอฟส.) รายหนึ่งออกจากโรงงาน หลังจากนายจ้าง บจก.โฮยา กลาสดิสก์ ประเทศไทย มีหนังสือเลิกจ้างแกนนำและสมาชิกสหภาพแรงงานร่วม 50 คน เมื่อช่วงกลางวันของวันที่ 4 ส.ค. 51 ล่าสุดบริษัทได้เจรจากับพนักงานและยอมรับพนักงานทั้งหมดกลับเข้าทำงานแล้ว


 


เมื่อวันที่ 5 - 6 พ.ย. ที่ผ่านมา บริษัทโฮยา กลาสดิสก์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งตั้งโรงงานอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ จ.ลำพูน ได้นัดตัวแทนพนักงานที่ถูกเลิกจ้างมาเจรจาเพื่อยุติปัญหา ณ โรงแรมเซ็นทารา ดวงตะวัน อ.เมือง จ.เชียงใหม่ (อ่านข่าวย้อนหลัง)


 


ล่าสุดเมื่อวันที่ 13 พ.ย. ทั้ง 2 ฝ่ายได้ข้อยุติ โดยผู้แทนบริษัทและพนักงานที่ถูกเลิกจ้างสองกลุ่ม ได้แก่กลุ่มที่ยื่นอุทธรณ์เลิกจ้างไม่เป็นธรรมกับคณะกรรมการส่งเสริมแรงงานสัมพันธ์ (ครส.) กระทรวงแรงงาน จำนวน 44 คน และกลุ่มลูกจ้างที่ยื่นฟ้องเลิกจ้างไม่เป็นธรรมกับศาลแรงงาน 7 คน ทั้ง 2 กลุ่มนี้มีประธานและรองประธานสหภาพแรงงานอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องไฟฟ้าสัมพันธ์ (สอฟส.) และกรรมการบริหารสหภาพ สอฟส. ทั้งคณะ 21 คนรวมอยู่ด้วย


 


โดยทางบริษัทตกลงจะรับพนักงานที่ถูกเลิกจ้างกลับเข้าทำงาน โดยทั้ง 2 ฝ่ายมีทำบันทึกข้อตกลงร่วมกันในวันที่ 13 พ.ย. ทั้งสิ้น 8 ข้อ ได้แก่ ข้อ 1 บริษัทตกลงยกเลิกหนังสือเลิกจ้างทั้งหมด 44 คน รับพนักงานทั้งหมดกลับเข้าทำงานปกติ โดยนับอายุงานต่อเนื่อง ตำแหน่ง หน้าที่ การงาน กลับเข้าทำงานให้สภาพการจ้างเดิม


 


ข้อ 2 ลูกจ้างทั้ง 44 คน ตกลงถอนเรื่องร้องทุกข์จากคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ และหรือให้ถือว่าเมื่อนายจ้างปฏิบัติตามข้อ 1 เป็นการถอนเรื่องร้องทุกข์จากคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์


 


ข้อ 3 บริษัทตกลงเยียวยาลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างตามข้อ 1 เงินช่วยเหลือเท่ากับค่าจ้างคนละ 3 เท่า ของอัตราค่าจ้างต่อเดือน


 


ข้อ 4 บริษัทตกลงยุติการดำเนินคดีจากศาลแรงงานกรณีที่ลูกจ้างทั้ง 7 คน ฟ้องบริษัทกรณีเลิกจ้างไม่เป็นธรรม โดยตกลงกันว่าลูกจ้างถอนฟ้องศาลแรงงาน และบริษัทรับกลับทำงานปกติ โดยจะเยียวยาช่วยเหลือเช่นลูกจ้างจำนวน 44 คน


 


ข้อ 5 ทั้งสองฝ่ายเข้าใจตรงกันว่าเมื่อกลับเข้าทำงานแล้ว บริษัทจะรักษาสภาพการจ้างเดิม แต่อาจมีบางตำแหน่งบางหน้าที่ซึ่งต้องมีการเปลี่ยนแปลง แต่บริษัทจะรักษาสภาพการจ้างเดิมไว้


 


ข้อ 6 พนักงานหรือลูกจ้างทั้ง 44 คน ที่กลับเข้าทำงานให้สัตยาบันว่าเมื่อกลับเข้าทำงานแล้วจะปฏิบัติตามกฎระเบียบข้อบังคับของบริษัท และบริษัทจะสร้างแรงงานสัมพันธ์ที่ดีกับพนักงานเช่นกัน


 


ข้อ 7 ลูกจ้างทั้ง 7 คนที่ถอนฟ้องเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ตกลงที่จะถอนฟ้องเช่นลูกจ้าง 44 คน ตามข้อ 6


 


และ ข้อ 8 บริษัท พนักงาน สหภาพแรงงาน ตกลงที่จะทำงานร่วมกันด้วยระบบแรงงานสัมพันธ์ที่ดี ไม่มีการแทรกแซงกันในลักษณะที่ก่อให้เกิดข้อขัดแย้ง


 


อนึ่ง การรายงานตัวกลับเข้าทำงานของพนักงานที่ถูกเลิกจ้าง ให้รายงานตัววันที่ 24 พ.ย. โดยผู้ลงลายมือชื่อท้ายบันทึกได้แก่ ตัวแทนบริษัท 1 คน พนักงานประนอมข้อพิพาท กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน 1 คน ผู้สังเกตการณ์ 1 คน และลายมือชื่อพนักงานที่เข้าร่วมเจรจา 41 คน


 


นายศรีทน เปรื่องวิชาธร ประธานสหภาพแรงงานอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องไฟฟ้าสัมพันธ์ (สอฟส.) กล่าวว่า ผลจากข้อตกลงทำให้พนักงานที่ถูกเลิกจ้างได้กลับเข้าไปทำงาน และคาดว่าหลังจากนี้ทั้งนายจ้างและลูกจ้างจะร่วมกันสร้างสร้างแรงงานสัมพันธ์ที่ดีร่วมกัน ยุติเรื่องขัดแย้งในอดีต โดยที่ผ่านมาอาจมีช่องว่างต่อกัน มีการพูดคุยกันน้อยเกินไป หลังจากนี้ถ้ามีปัญหา ช่องว่างน่าจะหายไป และทั้งสองฝ่ายจะพยายามแก้ไขปัญหาร่วมกัน และอาศัยแรงงานสัมพันธ์เพื่อสร้างประสิทธิภาพในการทำงาน


 


ส่วนกรณีที่นายผดุงศักดิ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน ในฐานะนายทะเบียนสหภาพแรงงาน มีคำสั่งเพิกถอนทะเบียนสหภาพ สอฟส. นั้น ประธานสหภาพแรงงาน สอฟส. กล่าวว่า "เป็นเรื่องที่ทาง สอฟส. ยังคงดำเนินการอยู่ในขั้นตอนศาลแรงงาน กรุงเทพฯ เรื่องนี้ไม่เกี่ยวข้องกับทางบริษัท แต่เป็นเรื่องระหว่างสหภาพแรงงานกับนายทะเบียนสหภาพแรงงาน"


 


สำหรับการเลิกจ้างคณะกรรมการและสมาชิกสหภาพ สอฟส. นั้น เกิดขึ้นในเดือนสิงหาคม 2551 และต่อมาทางสหภาพแรงงานได้มีการเคลื่อนไหวและดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในหลายๆ ทางด้วยกันทั้งในประเทศและต่างประเทศ


 


โดยในประเทศไทยได้ดำเนินการยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ เพื่อยื่นฟ้องต่อศาลแรงงานเรื่องการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ยื่นหนังสือต่อกระทรวงแรงงานเพื่อให้ดำเนินการแก้ไขปัญหา ยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ยื่นหนังสือต่อสถานทูตญี่ปุ่น ประจำประเทศไทย ส่วนการเคลื่อนไหวต่างประเทศนั้น ทางสหภาพแรงงานได้ประสานความร่วมมือไปยังหลายๆ องค์กร เพื่อแก้ไขปัญหาโดยใช้หลักการ "จรรยาบรรณทางการค้า" มาเป็นประเด็นรณรงค์ในระดับสากล จนนำสู่การพูดคุย ระหว่าง ฝ่ายบริษัทโฮยาฯ และฝ่ายลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างหลายครั้ง และสามารถตกลงกันได้ในการเจรจา เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2551 และมีข้อตกลงร่วมกันดังกล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net