Skip to main content
sharethis

ศูนย์เฝ้าระวังภัยเทคโนโลยี (IT WATCH) ภายใต้มูลนิธิกระจกเงา เตือนภัยเด็กและเยาวชนกลุ่มเสี่ยงจากการใช้เทคโนโลยีในโทรศัพท์มือถือและกล้องดิจิตอลที่มักจะนำไปถ่ายภาพเปลือยและบันทึกภาพขณะร่วมรักกัน จนหลุดมาเผยแพร่ในเว็บไซต์ต่างๆ เป็นจำนวนมาก โดยมีการตั้งชื่อหัวข้อระบุชื่อสถานศึกษาหรือชื่อจังหวัดไว้อย่างชัดเจนจนเป็นที่เคยชินในกลุ่มผู้ที่นิยมโหลดทั่วไป ซึ่งการกระทำนี้อาจจะนำไปสู่การก่ออาชญากรรมทางเพศและเข้าสู่วงจรเพศพาณิชย์


 


จากการเฝ้าระวังเรื่องการเผยแพร่คลิปวิดีโอลามกในอินเตอร์เน็ต (เฉพาะคลิปหลุด แอบถ่าย ข่มขืน/รุมโทรม) ของศูนย์เฝ้าระวังภัยเทคโนโลยีเป็นระยะเวลากว่า 5 เดือน ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2551 จนถึงปัจจุบัน พบว่า กลุ่มเสี่ยงมีช่วงอายุระหว่าง 13 - 24 ปี ซึ่งเป็นนักเรียนระดับมัธยมศึกษา ระดับอาชีวศึกษาและระดับอุดมศึกษา ส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร และอีก 22 จังหวัด คือ ราชบุรี สุพรรณบุรี พิจิตร สุโขทัย พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี เพชรบุรี ปราจีนบุรี เชียงราย เชียงใหม่ น่าน พิษณุโลก อุตรดิตถ์ ชลบุรี ระยอง อุดรธานี อุบลราชธานี สุรินทร์ นครราชสีมา ขอนแก่น บุรีรัมย์ สงขลา


 


ส่วนใหญ่มักจะถ่ายคลิปวิดีโอในขณะร่วมรักกันภายในห้องพักหรือแม้แต่ในสถานศึกษา ซึ่งมีทั้งในกรณีแอบถ่ายและคลิปหลุด บางคลิปพบว่ายังสวมใส่ชุดเครื่องแบบนักเรียน นักศึกษาอยู่ด้วย ส่วนกรณีข่มขืน/รุมโทรม ผู้เสียหายบางรายมีอาการมึนเมาหรือมีอาการคล้ายคนที่ไม่รู้สึกตัว ถูกกระทำทางเพศและถ่ายคลิปวิดีโอไว้ บางคลิปก็สวมใส่ชุดเครื่องแบบนักเรียน นักศึกษา อยู่เช่นกัน


 


นอกจากนั้นยังพบว่าในกรณีข่มขืน/รุมโทรม ซึ่งมีผู้บันทึกและผู้ที่อยู่ร่วมในเหตุการณ์กำลังถ่ายคลิปวิดีโอกันอย่างสนุกสนานโดยไม่ได้คำนึงถึงสิ่งที่ตนกำลังกระทำหรือผลที่จะตามมา ทำให้รู้สึกน่าสะเทือนใจอย่างยิ่ง และกรณีแอบถ่ายส่วนใหญ่จะพบการแอบถ่ายในห้องน้ำตามที่สาธารณะ ห้องพักส่วนตัว เช่น อพาร์ทเมนต์ หอพัก ฯลฯ เป็นการแอบถ่ายในมุมสูงจากเพดานหรือฉากกั้นห้องในขณะที่ผู้เสียหายทำธุระส่วนตัวหรือร่วมรักอยู่


 


การกระทำดังกล่าวอาจจะนำไปสู่การก่ออาชญากรรมทางเพศ เช่น การล่อลวงเพื่อทางเพศและถ่ายคลิปวิดีโอไว้ข่มขู่หรือส่งคลิปวิดีโอขายตามแหล่งต่างๆ ตลอดจนให้ดาวน์โหลดผ่านเว็บไซต์ ซึ่งหัวข้อที่ได้รับความนิยมดาวน์โหลดมากที่สุด คือ คลิปวิดีโอลามก ซึ่งปัจจุบันมีเว็บที่ให้บริการฝากไฟล์บางเว็บได้ให้ผลตอบแทนด้วยการคำนวณจากจำนวนการคลิกดาวน์โหลดอีกด้วย วงจรนี้ถือได้ว่าเป็นเพศพาณิชย์อีกด้วย


 


ทั้งนี้ โครงการเฝ้าระวังภัยเทคโนโลยี (IT WATCH) เสนอแนะให้ภาครัฐและสถานศึกษาเร่งสร้างมาตรการในการดูแลเด็กและเยาวชนของไทยเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวและเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจแก่เด็กและเยาวชนกลุ่มเสี่ยงให้ตระหนักถึงภัยที่อยู่ใกล้ตัว ก่อนที่มันจะทวีความรุนแรงจนยากเกินเยียวยา โดยมีข้อเสนอดังต่อไปนี้


 


1. สถานศึกษาต่างๆ ควรมีการออกกฎระเบียบให้มีการใช้คอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถืออย่างเหมาะสม เช่น การใช้คอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ตอย่างสร้างสรรค์ มีประโยชน์ต่อการศึกษา การควบคุมการใช้โทรศัพท์มือถือในสถานศึกษา


 


2. เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องภัยเทคโนโลยี การตระหนักถึงเรื่องเพศและความรุนแรง เพื่อป้องกันภัยที่จะเข้าถึงตัวหรือตกเป็นเหยื่อ


 


3. ปรับทัศนคติในกลุ่มเสี่ยงและบุคคลทั่วไปเรื่องคลิปวิดีโอ ในเรื่องการบันทึกภาพ การส่งต่อข้อมูล การเผยแพร่และดาวน์โหลดทางอินเตอร์เน็ต การแอบถ่ายซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิ์ของผู้อื่นด้วย


4. เสริมสร้างความแข็งแรงให้กับเครือข่ายครอบครัวและผู้ปกครอง เพื่อให้รู้เท่าทันและเฝ้าระวังบุตรหลานของตน


 


5. ผู้ประกอบการ เว็บมาสเตอร์ ควรให้ความร่วมมือในการปิดพื้นที่การเผยแพร่คลิปวิดีโอลามก


 


6. หน่วยงานภาครัฐควรมีการปราบปรามเว็บลามกอย่างจริงจัง และใช้มาตรการทางกฎหมายในการควบคุมลงโทษอย่างเด็ดขาด


 

นอกจากนี้ทางศูนย์เฝ้าระวังภัยเทคโนโลยียังเปิดรับรับอาสาสมัครในการแจ้งเบาะแส ตรวจสอบข้อเท็จจริง และความร่วมมือจากทุกภาคส่วนระดมพลังในการแก้ปัญหาดังกล่าว ที่ เว็บไซต์ของโครงการเฝ้าระวังภัยเทคโนโลยี

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net