ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

อุดร วงษ์ทับทิม

 

ผมทราบข่าวการถึงอสัญกรรมของท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ผู้เป็นปูชนียะบุคคลของคนไทย ลาว เวียดนาม และกัมพูชาจำนวนไม่น้อย ขณะที่ผมเป็นอาจารย์สอนหนังสืออยู่ในเมืองเชียงรุ่ง จังหวัดปกครองตนเองไตสิบสองปันนา ดินแดนที่อดีตนายกรัฐมนตรีโจว เอินไหล มีความรู้สึกอบอุ่นเหมือนอยู่ในบ้านเกิด

 

ตลอดช่วงชีวิตของท่านผู้หญิงพูนศุขและอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ นั้นได้ให้บทพิสูจน์ชิ้นสำคัญแก่ชาวไทย และผองเพื่อนมนุษย์ทั่วโลก ว่า "คนดีตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้" และ "ทองแท้ย่อมไม่กลัวไฟ"

 

พร้อมกันนี้ผมเชื่อมั่นว่า ประชาชนคนไทย ลาว เวียดนาม และกัมพูชา ยังไม่ลืมคุณูปการที่ท่านทั้งสองได้กระทำไว้

 

ดินแดนสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเป็นเสมือนบ้านพี่เมืองน้องที่ใกล้ชิดของไทยเรา ครั้งหนึ่งก็เคยให้ที่พำนักพักพิง และความมั่นคงปลอดภัย แก่ครอบครัวของท่านผู้หญิงพูนศุขและอาจารย์ปรีดี ในช่วงที่เผชิญวิกฤตต้องลี้ภัยออกนอกประเทศ

 

ด้วยน้ำใจอันเปี่ยมเมตตา และโอบเอื้ออารีของท่านผู้หญิงพูนศุข ผมมีโอกาสเดินทางไปพบและสัมภาษณ์ท่านสองสามครั้ง รวมทั้งมีครั้งหนึ่งที่เดินทางไปที่บ้านท่านเพื่อถ่ายรูปเป็นการเฉพาะ ช่วงที่ผมเขียนหนังสือ "ปรีดี พนมยงค์ กับขบวนการกู้เอกราชในลาว"

 

ผนังห้องรับแขกของท่านมีรูปหนึ่งมีรูปท่านพุทธทาสขนาดใหญ่แขวนติดอยู่ หากผมจำไม่ผิดเป็นรูปซึ่งมีข้อความลายมือของท่านพุทธทาสอยู่ด้วย ท่านผู้หญิงย้ำกับผมหลายครั้ง ว่า "ขันติและการให้อภัย คือ สิ่งที่ทำให้ดำเนินชีวิตอยู่ในวันนี้ได้อย่างมีความสุข"

 

คำพูดของท่านผู้หญิงชวนให้ผมประหวัดไปถึงงานเขียนชิ้นเยี่ยมของเฮอร์มาน เฮสเส เรื่อง STEPPENWOLF ซึ่งมีข้อความตอนหนึ่งกินใจมาก สะดุดความรู้สึกของคนที่เผชิญความเจ็บปวดรวดร้าวอีกมากหลาย เป็นงานเขียนที่อ่านแล้ว "กระแทกใจ" อย่างลุ่มลึก ทำให้สรุปได้เลยว่า ความปวดร้าวนี่เป็นอารมณ์ร่วมอันทรงพลังของมวลมนุษยชาติ ปัญหาก็คือ เราจะเผชิญกับมันอย่างไร ซึ่งเฮสเสได้ให้คำคำตอบไว้แจ่มชัดมาก ด้วยถ้อยคำเพียงไม่กี่คำ และที่สำคัญ ก็คือ เป็นคำๆ เดียวกับของท่านพุทธทาส

 

"คนทุกวัย ทุกวัฒนธรรม ทุกขนบธรรมเนียมประเพณี ล้วนมีบุคลิก มีความอ่อนแอ ความเข้มแข็ง ความงาม ความอัปลักษณ์ของตนเอง การยอมรับในสิ่งปวดร้าว ว่าเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต และเผชิญกับสิ่งชั่วร้ายราวปีศาจด้วยขันติ"

 

ขันติและการให้อภัย ไม่ว่าจะนับถือศาสนาพุทธ คริสต์ อิสลาม พรามณ์ ผี หรือไม่มีศาสนาเลยก็ตามที หากมีขันติและการให้อภัย โลกและบ้านเมืองแต่ละแห่งคงไม่สับสนวุ่นวายเป็นบ้าเป็นหลัง ดังเช่นในทุกวันนี้ หากจะบอกว่า "ขันติเป็นธรรมที่คุ้มครองโลก" ก็คงไม่ผิดไปจากความจริง เชื่อว่าทุกคนคงคุ้นชินกับคำว่า "BE PEACE PREVAIL ON EARTH" กันดีพอควร

 

ประเด็นเนื้อหาสาระจากคำถามที่ผมเตรียมไปถามท่านผู้หญิง เป็นคำถามที่มีขึ้นหลังไปเก็บข้อมูลรายละเอียดเรื่องราวของเจ้าเพ็ดชะลาดอยู่ที่นครหลวงพระบางเป็นระยะเวลานานพอควร โดยมีลุงสิงคำ สิริวัฒนา หรือ "พ่อใหญ่" ของ "ชาวเมืองหลวง" และบรรดาผู้อาวุโสแห่งคณะโขนหลวง และนักมโหรีปี่พาทย์ชั้นครู ประจำวังพระราชวังล้านช้างร่มขาวหลวงพระบาง เช่น ลุงโมนีวง รวมทั้งลุงคำเหล็ก ซึ่งล้วนมีบทบาทอยู่ในคณะกู้อิสรภาพ เพื่อให้พ้นจากการตกเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศส เป็นผู้ให้ข้อมูลสำคัญ

 

รายละเอียดในการดำเนินชีวิตของท่านผู้หญิงและอาจารย์ปรีดี รวมทั้งสมาชิกในครอบครัว จากการเปิดเผยของท่านผู้หญิง เป็นส่วนเสี้ยวหนึ่งของประวัติศาสตร์การเมือง และประวัติศาสตร์สังคมไทย

 

อุดร : ช่วงเจ้าเพ็ดชะลาดและคณะมาต่อสู้เพื่อเอกราชอยู่ในประเทศไทย ท่านผู้หญิงให้ความช่วยเหลืออย่างมาก

 

ท่านผู้หญิงพูนศุข : ดิฉันเคยรับฝากพระพุทธรูปลาว นี่ยังไม่พบใบคืน แต่เขาเอาคืนไปแล้วนะ พระพุทธรูปทองคำ เขาเอามาฝากไว้ ตอนนั้นอยู่คนเดียว เกิดรัฐประหารแล้ว ปรีดี ไม่อยู่

 

อุดร : เจ้าเพ็ดชะลาดเอามาฝากหรือครับ

 

ท่านผู้หญิงพูนศุข : ไม่ใช่ คนอื่นเอามา แต่คงผ่านทางเจ้าเพ็ดชะลาด องค์ก็ไม่ใหญ่โตนะ ย่อมๆ แต่เป็นทองคำแท้

 

อุดร : สูงแค่นี้หรือเปล่าครับ (กางแขนขนาดหนึ่งช่วงแขน)

 

ท่านผู้หญิงพูนศุข : ไม่ถึง

 

อุดร : ช่วงเจ้าเพ็ดชะลาดมาอยู่กรุงเทพฯ ท่านผู้หญิงช่วยเหลืออะไรบ้างครับ

 

ท่านผู้หญิงพูนศุข : ช่วงนั้นฉันเองก็แย่ แต่ก็ไปเยี่ยมเยียนดูแลบ้าง เราถูกรัฐประหารใช่ไหม ตอนนั้นอยู่คนเดียวที่บ้านถนนสีลม ที่ดินที่มีอยู่ก็ขายไปเรื่อยๆ บำเหน็จบำนาญก็ไม่ได้ ไม่ได้ก็…

 

อุดร : แล้วช่วงนี้ได้หรือยังครับ

 

ท่านผู้หญิงพูนศุข : ช่วงนี้เหรอ เดี๋ยวนี้ก็ได้แล้ว พอไปอยู่ฝรั่งเศสก็ยื่นฟ้อง

 

อุดร : ฟ้องรัฐบาล เวลานั้นใครเป็นรัฐบาล ใครเป็นนายกฯ

 

ท่านผู้หญิงพูนศุข : รัฐมนตรีต่างประเทศ คือ คุณถนัด คอมันต์ สาเหตุที่ฟ้องเพราะมีปัญหาเรื่องพาสปอร์ต ……ครอบครัวลี้ภัยไปอยู่เมืองจีน พอจะย้ายมาฝรั่งเศสต้องไปขอพาสปอร์ต ไม่ว่าจะเดินทางไปที่ไหนต้องใช้พาสปอร์ตแสดงตัว เวลานั้นไม่มีสถานกงสุล ไม่อยากพูดหรอก เอกอัครราชฑูตเขาก็ตายไปแล้ว เขาก็ไม่ได้….. คนจากสถานฑูตมาหาเรา บอกให้ไปแสดงตัวที่สถานทูต

 

อุดร : ตอนยื่นฟ้องนั้นอยู่ปารีสแล้วใช่ไหมครับ

 

ท่านผู้หญิงพูนศุข : อยู่ปารีส

 

อุดร : เดินทางจากจีนไปปารีสโดยไม่มีหลักฐานอะไรเลย

 

ท่านผู้หญิงพูนศุข :มีสิ กระทรวงการต่างประเทศของจีนเขาออกเอกสารประจำตัวให้ พาสปอร์ตเดิมที่มีอยู่หมดอายุ ใช้ได้แค่แสดงว่ามีสัญชาติไทยเท่านั้นแหละ ส่วนอาชีพฉันเลือกเอง ไม่ได้บอกว่าเป็นอาชีพนักการเมืองอะไรหรอก บอกว่าเป็นอาจารย์เลยมาฝรั่งเศสสบาย ซื้อหนังสือก็ได้ลดราคา

 

อุดร : ตอนอยู่ปารีสใหม่ ๆ การเงินลำบากมากไหมครับ

 

ท่านผู้หญิงพูนศุข : ก็ลำบาก แต่ว่ามีรายได้ส่วนตัว บ้านส่วนตัวที่กรุงเทพฯ ให้เช่า

 

อุดร : หลังไหนครับ

 

ท่านผู้หญิงพูนศุข : บ้านถนนสีลม แล้วก็ที่สาทรอีก มีหลายที่ ที่ดีๆทั้งนั้นแหละ ตอนหลังต้องขายเพื่อไปซื้อบ้านที่โน่น (ฝรั่งเศส) ขายไปขายมาก็เหลือที่นี่ (หมายถึงบ้านหลังที่อยู่ปัจจุบันในซอยสวนพลู) พี่น้องเห็นว่าไม่มีบ้านอยู่แล้ว เวลามาเมืองไทยต้องไปอาศัยเขาอยู่ เขาก็เลยขายให้ แต่ไม่ได้ซื้อจากใครหรอก ซื้อจากกองมรดกแม่ฉันเอง

 

อุดร : บ้านที่สาทร คือบ้านที่เจ้าสุพานุวงเคยอยู่ใช่ไหมครับ

 

ท่านผู้หญิงพูนศุข : ไม่ใช่ คนละหลัง บ้านที่เจ้าสุพานุวงพัก อยู่ในซอยพิกุล เป็นเรือนไม้สองชั้น ส่วนหลังที่เจ้าเพ็ดชะลาดพัก นั้นเข้าทางถนนงามดูพลี บ้านดีนะเป็นตึกสองชั้น บ้านเจ้าเพ็ดชะลาดเดินทะลุถึงสำนักงานจัสแมกซ์ในปัจจุบันได้ คือ แต่ก่อนแถวถนนพระรามสี่มีคลอง ข้ามคลองไปชื่อถนนงามดูพลี เข้าไปทางซ้ายมือสักหลังที่ 3 หรือที่ 4 ปัจจุบันกลายเป็นตึกไปหมดแล้ว

 

อุดร : หม่อมอภิณพรไปคอยดูแลเจ้าเพ็ดชะลาดที่นั่นใช่ไหมครับ

 

ท่านผู้หญิงพูนศุข : หม่อมอภิณพรนี่ฉันรู้จักตั้งแต่เขายังอยู่กับคุณสละ แสงชูโต สามีเก่า พ่อของคุณสละคือพระยาอนุฑูตวาที มีลูกชายคนเดียวคือคุณสละ ส่วนแม่คุณสละนั้นเป็นเจ้าลาวเก่า ดูเหมือนจะเป็นเจ้าอาของเจ้าเพ็ดชะลาด

 

อุดร : เจ้าเพ็ดชะลาดเป็นโอรสอุปราชบุนคง อุปราชฝ่ายวังหน้า

 

ท่านผู้หญิงพูนศุข : คุณก็ดีไปสืบสาวจนได้เรื่อง

 

อุดร : ผมได้พบคนสนิทของเจ้าเพ็ดชะลาด เป็นคนให้ข้อมูล

 

ท่านผู้หญิงพูนศุข : ดี ยังมีชีวิตอยู่

 

อุดร : ครับ เขาเคยมาเยี่ยมเจ้าเพ็ดชะลาดที่กรุงเทพฯ

 

ท่านผู้หญิงพูนศุข : เดี๋ยวนี้ยังอยู่หลวงพระบางเหรอ

 

อุดร : ครับ ยังอยู่หลวงพระบาง แต่ว่าอายุมากแล้ว สำหรับหม่อมอภิณพรนับเป็นญาติผู้ใหญ่ของพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ

 

ท่านผู้หญิงพูนศุข : หม่อมอภิณพรมีศักดิ์เป็นอาของนายเชื้อ ยงใจยุทธ ลูกชายหม่อมอภิณพรคนหนึ่งเครื่องบินตกเสียชีวิต ลูกสะใภ้เขาดี๊ดี ไม่แต่งงานใหม่ บ้านอยู่ใกล้ๆ นี่ ก็มาเยี่ยมฉันบ่อยๆ หม่อมอภิณพรมีลูกหลายคน ไม่มีลูกผู้หญิง มีแต่ลูกผู้ชาย ลูกเขาก็มาหาเจ้าเพ็ดชะลาด

 

อุดร : มาหาที่ไหนครับ

 

ท่านผู้หญิงพูนศุข : บ้านซอยงามดูพลี

 

อุดร : ตอนไปลี้ภัยอยู่ที่จีน รัฐบาลจีนออกค่าใช้จ่ายให้

 

ท่านผู้หญิงพูนศุข : เขาให้เราพร้อมหมดนะ ให้ข้าวกิน ให้บ้านอยู่ ให้รถยนต์ไว้ใช้ เจ็บไข้ได้ป่วยก็บำบัดรักษา ปัจจัยสี่น่ะ แต่เราก็มีเงินส่วนตัวของเราไปบ้าง ตอนนายปรีดีไปเนี่ยไม่มีอะไรเลย ไปตัวเปล่า แต่ฉันให้ Letter of credit นะ ตอนฉันไป ฉันไปฝรั่งเศสก่อน ก่อนไปก็ขายทรัพย์สิน มีบ้าน ที่ดิน มีอะไรต่ออะไรก็ขาย รวบรวมเงินทำเช็คเป็นสกุลเงินดอลลาร์ แล้วไปแลกเป็นเงินของเขา (เงินหยวน) ฝากธนาคารไว้ เขาให้ดอกเบี้ยดี อยากได้อะไรก็เอาเงินส่วนตัวของเราซื้อ อย่างเช่นไปเห็นหม้อทำอาหาร มันมีร้านเก่า ๆ ที่ขายของพวกนี้ แล้วก็ซื้อเปียโนเพราะเหงา อยากดีดเปียโนก็เอาเงินส่วนตัวซื้อ

 

อุดร : ช่วงอยู่ในจีนได้พบโจว เอินไหลหรือเปล่าครับ

 

ท่านผู้หญิงพูนศุข : โจว เอิน ไหลได้พบ แต่กับมาดามโจวไม่ได้พบ ไม่คุ้นเท่าไหร่ เพราะฉันไม่มีอดีต ไม่มีบทบาทในสมาคมสตรี แต่ช่วงเขามาเมืองไทยมาพักอยู่ที่โรงแรมเอราวัณ ฉันเอารูปไปให้ เอาผลไม้ไปให้ เขาก็ดี….. ต้อนรับ

 

อุดร : ช่วงอยู่ในจีนไม่มีปัญหาใช่ไหมครับ

 

ท่านผู้หญิงพูนศุข : กับจีนไม่มีปัญหา พอเราจะกลับเงินที่เราเหลือ เขาก็ให้ เขาก็ดีนะ เพราะงั้นฉันไม่ลืมเขาเลยนะ จีนเกิดน้ำท่วมหรืออะไรสองหนน่ะ เราก็บริจาคตามกำลังศรัทธา เราไม่เคยลืมบุญคุณราษฎรจีนที่ให้ความช่วยเหลือเรา เราไม่ได้ติดหนี้บุญคุณผู้หนึ่งผู้ใด แต่เราติดหนี้บุญคุณราษฎรจีนทุกคน เราเกรงใจที่ไปอยู่ 21 ปีกว่า เจ็บไข้ได้ป่วยนะ เรากตัญญูไม่เคยลืม เราติดต่อกันเรื่อยนะ จนผ่านมาหลายๆ ปีก็ยังติดต่อกันอยู่

 

อุดร : ช่วงอยู่ที่นั่นมีสวัสดิการเหมือนเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลคนหนึ่ง

 

ท่านผู้หญิงพูนศุข : ไม่ถึงขนาดนั้น ไปเปรียบไม่ได้ พวกเราเหมือน expert มากกว่า พวกเขาเรียกกันในภาษาจีนว่า "โจวเจียง" ในจีนมีพวกยุโรปตะวันออก พวกโซเวียตเข้าไปอยู่ เขาก็จัดที่พักจัดที่อยู่ให้ โดยมีโรงอาหารแห่งเดียวกันอะไรอย่างนี้

 

อุดร : สรุปแล้วมีฐานะเป็นผู้เชี่ยวชาญ

 

ท่านผู้หญิงพูนศุข : ไม่ได้เป็น แต่อยู่ในกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ เพราะเขาก็ต้อนรับดีนี่ คือ มีบ้านอยู่คนละหลัง มีโรงอาหารรวม พอถึงเวลาเขาก็ยกมาให้เรากิน แต่ตอนหลังแยกนะคะ เขาก็ให้เราไปอยู่บ้านโดดแห่งหนึ่งที่กวางตุ้ง (มณฑลกว่างตง) เดิมเป็นสำนักงานกงสุลฝรั่งเศส เติ้ง เสี่ยวผิง เดินทางไปเยี่ยมถึงบ้าน ก็เห็นบ้านมันเล็ก คับแคบ เล็กกว่าหลังนี้อีก (บ้านหลังที่อยู่ปัจจุบันในซอยสวนพลู) เติ้ง เสี่ยวผิงก็เลยให้ย้ายไปอยู่บ้านซึ่งเคยเป็นสำนักงานกงสุลอังกฤษ

 

อุดร : ย้ายจากสำนักงานกงสุลฝรั่งเศส ไปอยู่สำนักงานกงสุลอังกฤษ

 

ท่านผู้หญิงพูนศุข : ที่กงสุลฝรั่งเศสหลังนิดเดียว ส่วนที่กงสุลอังกฤษมีหลายหลัง ที่นั่นใหญ่หน่อย แต่เขาให้หลังเดียว

 

อุดร : รู้จักลูกชาย เติ้ง เสี่ยวผิง ที่พิการนั่งรถเข็นหรือเปล่า เขามาเมืองไทยบ่อยนะครับ

 

ท่านผู้หญิงพูนศุข : ไม่รู้จัก เรื่องส่วนตัวนะ ไม่รู้ประวัติครอบครัว อยู่ที่โน่นทุกอย่างเป็นเรื่องทางการหมด คบกันส่วนตัวไม่ได้ ในระบบคอมมิวนิสต์ไม่รู้จักกัน ถ้าคนของเขาไม่มาเกี่ยวกับเรา เราก็ไม่ไปรู้จักกับเขา

 

อุดร : อยู่เป็นเอกเทศใช่ไหมครับ

 

ท่านผู้หญิงพูนศุข : ความเป็นอยู่ก็ดีนะ แต่รู้สึกว่าเข้มงวดไปหน่อย เขาก็ดี ออกไปไหนก็มีคนไปด้วยเหมือนมี Body guard คุมไปในตัว เราจะเล็ดรอดไปพบใครหรืออะไรก็ไม่ได้ แล้วยังมีล่ามอีก เราจะไปไหนเพียงลำพังไม่ได้ โดยเฉพาะต่างจังหวัด เรานึกอยากไปเที่ยว เขาก็จัดให้ไปแต่ที่เขาเตรียมไว้ เรานึกอยากเที่ยวโน่นเที่ยวนี่แต่ก็ไปไม่ได้ ไม่เหมือนฝรั่งเศสมีเสรี อยู่ด้วยตัวของเราเอง บ้านของเราเอง เงินของเราเอง เราอยากจะไปเที่ยวจังหวัดไหน หรือจะไปเยอรมัน ไปอังกฤษก็ไปได้โดยอิสระ

 

อุดร : ช่วงอยู่ฝรั่งเศส ได้พาสปอร์ตกลับคืนมาแล้วใช่ไหม ได้สัญชาติไทยเหมือนเดิมแล้ว รัฐบาลไทยสนับสนุนช่วยเหลืออะไรบ้าง

 

ท่านผู้หญิงพูนศุข : ไม่ช่วยอะไรเลย ตอน (นายปรีดี) ตายก็ไม่แสดงความเสียใจ ไม่อะไรเลย ที่ได้พาสปอร์ตเพราะอังกฤษเขาเชิญ ต้องรีบเร่ง เราจะต้องถือใบแสดงสัญชาติ อดีตสมาชิกกองกำลัง 136 (Force 136) ที่ร่วมกันสู้รบกับญี่ปุ่นระหว่างสงคราม (สงครามโลกครั้งที่ 2) เขารู้ว่าเราอยู่ฝรั่งเศสก็เชิญไปพบ ลอร์ด หลุยส์ เมาท์อะไรเนี่ยเป็นคนเชิญ

 

อุดร : ลอร์ด หลุย เมาท์แบทแทน

 

ท่านผู้หญิงพูนศุข : นั่นละ เขาเชิญเราไปค้างที่คฤหาสน์ของเขา ที่ (...... Portland - ฟังไม่ชัด) เราเพิ่งมาจากเมืองจีนได้ไม่กี่เดือน ก็ต้องไปเร่งขอหนังสือ จะให้เอาหนังสือของจีนเดินทางหรืออย่างไร เขาก็ต้อนรับเราดีเชียว

 


อุดร : ไปพักบ้านของลอร์ด หลุยส์ เมาท์แบทแทน

 

ท่านผู้หญิงพูนศุข : ใช่ ก่อนหน้านี้ลอร์ด หลุยส์ เมาท์แบทแทน เคยเชิญไปเยือนมาแล้วครั้งหนึ่ง ครั้งนั้นพักที่บ้านในเมือง หลังเล็กนิดเดียว แต่พอไปครั้งนี้เขาเชิญไปค้างที่บ้านชนบท เป็นปราสาทใหญ่โตเชียว ฉันนอนเตียงภริยาของดยุ๊ค อ็อฟ เอดินเบอระ ส่วนนายปรีดีนอนเตียง ดยุ๊ค อ็อฟ เอดินเบอระ เลี้ยงน้ำชารสดีมากเลย อีกวันก็เลี้ยงอาหารเช้า แล้วก็ลากลับ เขาต้อนรับเราอย่างดี เขาเห็นใจที่เราถูกใส่ร้ายนะ เขาไม่เชื่อหรอก

 

อุดร : ผมพบว่ามีหนังสือเอกสารลับของกองทัพบกสองเล่ม ประทับตราลับสุดยอด เขียนโดย หลวงกาจ กาจสงคราม กล่าวใส่ร้ายอาจารย์ปรีดี

 

ท่านผู้หญิงพูนศุข : สถานทูตอังกฤษ และอเมริกา เขาต้องเขียนรายงานที่เรียกว่า record องค์กรอะไรเนี่ย พอเวลาล่วงไป 25 ปี เขาก็เปิดเผยข้อมูล ข้อมูลเอกสารอะไรๆ ที่ทั้งฝ่ายอังกฤษ และอเมริกา รายงานไปที่รัฐบาลเขา ใครสนใจก็สามารถไปอ่านได้ เคยมีข้าราชการอะไรมาขอพบ บอกว่าจะขอพิมพ์เป็นเล่ม

 

อุดร : เอกสารเหล่านี้อยู่ที่ลอนดอน

 

ท่านผู้หญิงพูนศุข : ไปดูที่ London เมื่อก่อนนักเรียนไทยที่นั่นเห็นอะไรเกี่ยวกับเรา เขาก็คัดมาให้ หลังเกิดกรณีสวรรคต ตอนนั้นถึงกับจะขอให้อังกฤษมายึดเมืองไทยแน่ะ เป็นเจ้า แต่เขาไม่ออกชื่อนะเขาใช้คำว่า Prince Royal HRH ไปยุยงทหารอังกฤษที่มาปลดอาวุธญี่ปุ่นที่เมืองไทย แต่เขาไม่เห็นด้วย

 

อุดร : ตอนนั้นมีข้อตกลงกันว่า ให้จีนปลดอาวุธญี่ปุ่นที่เหนือเส้นขนาน 16 องศาเหนือ ต่ำลงมาให้เป็นภาระรับผิดชอบของอังกฤษ

 

ท่านผู้หญิงพูนศุข : แต่ความเป็นจริง จีนก็ฮึกเหิม

 

อุดร : ตอนนั้นถึงกับบอกว่า นายพลหลิว ฮั่น ผู้บัญชาการทหารจีน กองพล 93 ที่ลงมาปลดอาวุธ จะลงมายึดประเทศไทย

 

ท่านผู้หญิงพูนศุข : ที่ผ่านมาเคยมีคนจีนบอกว่า เขาเป็นเสรีไทยฝ่ายจีน มีจดหมายเสนอให้คณะกรรมการ ๑๐๐ ปีชาตกาลปรีดี พนมยงค์ พิจารณา แต่ฉันว่าไม่ใช่ มีเกี่ยวบ้างนิดหน่อย ติดต่ออะไรอย่างนี้ ไม่ขึ้นกับเสรีไทย แต่จะมาอ้างว่าเขาเป็นเสรีไทยฝ่ายจีน

 

อุดร : ช่วงอยู่ ฝรั่งเศส ชีวิตเป็นอย่างไรบ้างครับ

 

ท่านผู้หญิงพูนสุข : ก็ปกติเหมือนชาวบ้านทั่วไป บ้านเล็กนะนี่ หนังสือพิมพ์มติชนเขาลง (เชิด ทรงศรีไปเยี่ยมแล้วกลับมาเขียน) เราก็ไปตลาดเอง ลากรถไปจับจ่ายเอง ระยะทางประมาณหนึ่งกิโลเมตรครึ่ง เดี๋ยวนี้แก่ตัวลงเดินไม่ไหวแล้ว ที่นั่นเราต้องอยู่อย่างมัธยัสถ์นะ รายได้น้อย บำนาญประมาณสี่พันกว่า เราขายบ้านไปสองหลังก็มีเงินก้อน ก็ฝากธนาคารกินดอกเบี้ย ธนาคารฝรั่งเศส เงินเราโอนไปถูกต้อง แต่เป็นเงินดอลลาร์ การที่มีสถานที่พำนักอยู่ที่โน้น จะฝากเป็นเงินตราต่างประเทศไม่ได้ ต้องฝากเป็นเงินฟรังค์เท่านั้น แล้วเงินฟรังค์มันไม่แข็ง เราต้องเอาดอลลาร์ไปฝากที่ต่างประเทศ เขาส่งมาให้ทุกเดือน ดอกเบี้ยก็พออยู่ได้อย่างประหยัดนะ

 

อุดร : ช่วงที่อยู่ในกรุงปารีส อยู่ในโซนใกล้มหาวิทยาลัยไหมครับ

 

ท่านผู้หญิงพูนศุข : เราไม่ได้อยู่ในเมืองหรอก บ้านเราอยู่นอกเมือง ห่างจากปารีส 11 กิโลเมตร มีรถเมล์ผ่าน 2 สาย มีรถไฟใต้ดินสะดวก แต่สถานีไม่ใกล้บ้าน ใครเขียนว่า 500 เมตร อู้ฮู้! เดินตอนนั้นมันไม่รู้สึกอะไร แต่ไปทีหลังนี่ไม่ไหว ฉันไปพักที่บ้านหลาน เดินไม่กี่ก้าวก็ถึงสถานีรถไฟใต้ดิน

 

อุดร : บ้านในปารีสที่ขายไป ตอนนี้เขาใช้เป็นสำนักงานบริษัท หรืออะไรครับ

 

ท่านผู้หญิงพูนศุข : คนซื้อบ้านหลังนี้เป็นคนเวียดนาม เขาก็ปิด เราไปนี่เขาทาสีใหม่ เขาไม่รู้หรอกว่าคนขายเป็นใคร เขาบอกว่าคนไทยที่ขายบ้านนี้น่ะจน ไม่ได้ทำนุบำรุงอะไร เขาปลูกต้นไม้ ไม้ดอก ความจริงเทศบาลเขต "อองโตเม" เขาอนุญาตให้เราทำป้ายว่าบ้านนี้บ้านที่นายปรีดี เคยอยู่เคยตาย แต่เราไม่เคยไปขอร้องเขา เพราะฉะนั้นเขาไม่รู้หรอก ในฝรั่งเศสตึกอาคารหลายแห่งมีชื่อของนักต่อสู้ กู้บ้าน กู้เมืองติดเต็มไปหมด

 

อุดร : อยู่ฝรั่งเศสได้พบอดีตผู้นำลาวบ้างไหมครับ

 

ท่านผู้หญิงพูนศุข : ช่วงอยู่ฝรั่งเศสได้พบปะกินข้าวกับภรรยาเจ้าสุวันนะพูมา เป็นลูกครึ่งฝรั่งเศส คือ ไปกินเลี้ยงน่ะ อดีตทูตฝรั่งเศสเคยประจำอยู่เมืองไทยเชิญเราไปกินเลี้ยง พบหลายคน ท้าวอะไร ต่อท้าวอะไร ทั้งขวาซ้ายมากันหมดนะ ส่วนใหญ่ก็เคยมาอยู่บ้านฉันที่กรุงเทพฯ กันทั้งนั้น บางคนมาเรียนที่ฝรั่งเศส แล้วกลับไปทำงานที่บ้านเกิด กระทั่งได้มาเป็นเอกอัครราชทูตประจำฝรั่งเศส พอเปลี่ยนรัฐบาลเขาไม่กลับ เขาก็รู้ เขาก็ดี เขาบอกว่าเราเนี่ย (อาจารย์ปรีดีและครอบครัว) ช่วยเหลือประเทศลาว แล้วก็ท้าวอะไรไม่รู้ที่มาพบคุณเตียง เขาทำไหมไทย

 

อุดร : ท้าวอุ่น ชนะนิกรครับ Jim Thomson เป็นผู้แนะนำให้เขาไปพบนายเตียง เงินสนับสนุนของโอเอสเอส (OSS) ที่มีต่อขบวนการเสรีไทย และนายปรีดีได้นำไปช่วยเหลือขบวนการกู้ชาติในลาว ผ่านทางนายเตียง ตอนที่ท้าวอุ่นมาอยู่กรุงเทพฯ ได้พบกันไหมครับ

 

ท่านผู้หญิงพูนศุข : ไม่เคยพบหรอก

 

อุดร : อุ่น ชนะนิกร เขาเป็นคนประสานงานหลายฝ่าย

 

ท่านผู้หญิงพูนศุข : เขาก็เป็นผู้รักชาติ

 

อุดร : แต่ตอนหลังต้องเลือกว่าอยู่กับใคร พอดีอยู่ฝ่ายขวา

 

ท่านผู้หญิงพูนศุข : เขาอยู่กับจอมพล

 

อุดร : อยู่กับจอมพล ป. หรือครับ

 

ท่านผู้หญิงพูนศุข : เปล่า จอมพลเอาเขามาทำงาน

 

อุดร : สมัยอยู่ลพบุรีหรือเปล่าครับ

 

ท่านผู้หญิงพูนศูข : เออ! กองแลไม่รู้หายไปไหน กองแลเขามา…เขามาเปิดคุกให้เจ้าสุภานุวงศ์ออกไปฟอร์มรัฐบาล

 

อุดร : ไม่ทราบแน่ชัด รู้เพียงว่าไปอยู่ฝรั่งเศส ไม่รู้ตอนนี้เขายังอยู่ที่ฝรั่งเศสหรือเปล่า หายเงียบไปนานแล้ว

 

ท่านผู้หญิงพูนศุข : เคยกลับจากเมืองจีนมาที เมื่อ พ..2500 ไปอยู่เมืองจีนได้สัก 4 ปีมั๊ง กลับเข้ามาตอนนั้นสมัย จอมพล ป. เขาเอาไปสอบสวน แล้วตอนนั้นเราก็ไม่ค่อยสบาย เขาก็มาสอบที่บ้าน

 

อุดร : สอบถามเรื่องอะไรบ้างครับ

 

ท่านผู้หญิงพูนศุข : เขาถามว่ารู้จักใครบ้าง เรื่องคนอื่นฉันไม่รู้จัก ชื่อก็ไม่เหมือนกัน มาจากเมืองจีนน่ะ ชื่อที่เรารู้จักมันเป็นภาษาจีนกลาง แต่ทางนี้เขาใช้ภาษาแต้จิ๋ว เราก็ไม่รู้จัก เขาก็ถามบ้าๆบอๆ เช่นนายปรีดีเขาทำไหม เราก็บอกไปถามเขาเอง เราไม่รู้ ตัวใครตัวมัน แต่ว่าไปอยู่ฝรั่งเศสหายไป 18 ปี ถึงได้มาเมืองไทย บ้านที่นี่เราขายหมด ต้องอาศัยน้องอยู่

 

อุดร : ตอนกลับมาเมืองไทยใหม่ๆ ไม่ได้มาอยู่บ้านหลังนี้ ไปอยู่บ้านน้อง

 

ท่านผู้หญิงพูนศุข : ใช่ แล้วถึงได้ซื้อ ตอนนั้นพี่น้องหลายคน ตอนนี้เหลือ 4 พี่น้องมีแยะนะ แล้วมรดกก็แบ่งกันไปหมดแล้ว เหลือที่นี่เป็นของกลางยังไม่ได้แบ่ง มีคนมาขอซื้อ เขาก็เห็นว่าเราไม่มีที่อยู่ แล้วอีกอย่างคนอื่นที่มาขอซื้อ หากขายให้ก็ต้องเสียค่านายหน้า ขายเราก็ไม่ต้องเสีย เขาคิดกันเองเพราะเราไม่มีที่อยู่ มาครั้งแรกหลังหายไป 18 ปี ต้องมาอาศัยเขาอยู่

 

อุดร : รัฐบาลก็ไม่มีบำนาญอะไรให้ทั้งนั้น

 

ท่านผู้หญิงพูนสุข : ก็ได้บำเหน็จตกทอดเมื่อตาย ได้นิดเดียว ขี้ปะติ๋ว วันก่อนพบรัฐมนตรีคนหนึ่งแล้วก็งาน 67 ปี รัฐสภา ประวัติเขาก็กล่าวถึงนะว่า นายปรีดี เป็นเลขาคนแรก รัฐสภาเขาก็เชิญไป แขกอายุร้อยหนึ่งก็มีนะเป็นอดีต ส.. แต่ไม่ยักกะเชิญฉัน ฉันว่าอย่างนี้นะ ฉันว่าประธานสภาก็ล่วงลับไปแล้ว เมียประธานสภาฯ อดีตเลขาฯ เลขาฯ ล่วงลับไปแล้ว แต่เมียเลขาฯ ยังอยู่ เมียรัฐมนตรี ไม่รู้ทำอะไรได้เหรียญตราเต็มไปหมด เราเป็นอดีตไม่เห็นได้บ้าง แต่เรามีของที่เราภูมิใจมากกว่า ใบประกาศเกียรติคุณของรัฐบาลลาวและรัฐบาลเวียดนาม เขาเขียน เขาแปลมาให้เราเสร็จเชียว

 

อุดร : ฝรั่งเศสนี่ก็ช่วย

 

ท่านผู้หญิงพูนสุข : ก็ให้อยู่เท่านั้นแหละ ไม่ถือว่าช่วยอะไร

 

อุดร : การให้อยู่ก็ถือว่าช่วย เพราะฝรั่งเศสมองว่า อาจารย์ปรีดี สนับสนุนลาว กัมพูชา และเวียดนามในการกู้ชาติจากฝรั่งเศส ถ้าจะว่าไป เราก็ถูกกล่าวหาว่าไปช่วยพวกกู้ชาติ

 

ท่านผู้หญิงพูนศุข : เขาไม่ว่าอะไรเรา เขาไปว่าหลวงวิจิตรฯ คนเดียว รู้ไหม หลวงวิจิตรวาทการแต่งอะไรต่อมิอะไรด่าเขา ฝรั่งเศสเขาให้เหรียญตราอะไรแก่หลวงวิจิตร แล้วเขาถอนคืน แต่ท่านอาจารย์เขาไม่ถอน ผลที่ได้รับคือใคร หลานได้เรียนหนังสือฟรี เขามีโรงเรียนเนี่ย… ไม่มีคนไทยเข้าไปเลย เฉพาะผู้หญิงนะผู้ชายไม่ให้ ลูก หลาน เหลน ของนายปรีดีได้เรียนทั้งนั้น นี่หลานปู่เรียนจนจบ

 

อุดร : เหมือนฝรั่งเศสก็ตอบแทนเหมือนกัน

 

ท่านผู้หญิงพูนศุข : เขาไม่ได้ตอบแทนเราคนเดียว เหรียญตรานี่ส่วนมากเขาให้ทหาร ฌอง บอง เนอ นโปเลียนเป็นคนตั้ง เขาจะตอบแทนพวกทหารผ่านศึก ของเราไม่รู้ช่วยอย่างไร เขาให้แต่ลูก หลาน เหลน ที่เป็นผู้หญิง ถ้าได้เหรียญตรานี้ เผอิญอาจารย์ได้ชั้นหนึ่ง เขามี priority ต้องลูกทหารก่อน พลเรือนทีหลัง แต่พอเราไปสมัครเขาก็รับทันที โรงเรียนมัธยมตั้งอยู่กลางป่าเชียว อยู่ที่ปารีส เคยผ่านไปไม่ได้ตั้งใจ หลายคนจำได้ว่าเป็นโรงเรียนเก่า ก็ถ่ายรูปกัน

 

อุดร : สุขภาพสมบูรณ์แข็งแรงดีนะครับ

 

ท่านผู้หญิงพูนศุข : ที่มีชีวิตอยู่เพราะอะไรรู้ไหม เพราะเราไม่นึกถึงความหลัง ถ้าเรานึกถึงมันก็เศร้าใจ ห่อเหี่ยว เราไม่นึกว่าใครจะทำแบบนี้ ยกให้เขาหมด เรามีชีวิตมาถึง 88 เนี่ย เราคิดมาคิดไปก็กร่อยลงทุกวัน เราไม่คิด ไม่มีศัตรู ใครตั้งตัวเป็นศัตรูเราก็ช่างเถอะ เรามีหลักธรรมในใจ อยู่อย่างสงบ

 

(ขอขอบคุณน้องๆ อดีตนักศึกษาสาขาพัฒนาสังคม บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ - พิมและหนึ่ง สุรสม - ี่กรุณาถอดเทปการสนทนานี้ให้)

 

 

ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ เกิดเมื่อวันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2455 ตรงกับรัชสมัยของรัชกาลที่ 6 ในตระกูลขุนนางสกุล ณ ป้อมเพชร์ เป็นธิดาคนที่ 5 บิดาของมหาอำมาตย์ตรี พระยาชัยวิชิตวิศิษฎ์ธรรมธาดา อธิบดีกรมราชทัณฑ์คนแรกของประเทศ และคุณหญิงเพ็ง ชัยวิชิต (สกุลเดิมสุวรรณศร) ต่อมาสมรสกับนายปรีดี พนมยงค์ (รัฐบุรุษอาวุโส)

 

ท่านผู้หญิงพูนศุข ถึงแก่อนิจกรรมโดยสงบ เมื่อเวลา 02:04 น. ของวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ.2550 ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ หลังจากได้เข้ารักษาอาการทางโรคหัวใจ เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคมสิริอายุ 95 ปี 4 เดือน มีบุตรและธิดารวมทั้งสิ้น 6 คน

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท