ผลวิจัยสภาที่ปรึกษา เสนอ "การคลังใหม่" ลดความต่าง

เมื่อวันที่ 20พ.ย.51 คณะทำงานการกระจายรายได้ สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สป.) ร่วมกับคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดสัมมนาเรื่อง "การคลังใหม่" นำเสนอผลการวิจัยของคณะทำงานการกระจายรายได้ ณ ห้องประชุม 1 สำนักงานสภาที่ปรึกษาฯ อาคารพญาไทพลาซ่า กรุงเทพฯ เพื่อขับเคลื่อนข้อเสนอเชิงนโยบายเกี่ยวกับมาตรการการคลังเพื่อการกระจายรายได้ที่ดีขึ้น โดยมีโจทย์ในการสัมมนา คือรัฐบาลจะหารายได้และใช้จ่ายงบประมาณด้วยเครื่องมือทางการคลังอะไร และอย่างไร เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกันในการกระจายรายได้


 

นางนิภาพร พุทธพงษ์ รองประธานคณะทำงานกระจายรายได้ สภาที่ปรึกษาฯ กล่าวเกี่ยวกับมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการกระจายรายได้ว่า ในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 84 (6) กำหนดให้รัฐต้องกระจายรายได้อย่างเป็นธรรม ในมาตรา 84 (3) กำหนดให้มีการปรับปรุงระบบการจัดเก็บภาษีให้มีความเป็นธรรม และในมาตรา 84 (4) ก็ได้บัญญัติให้รัฐจัดสวัสดิการการออมเพื่อการดำรงชีพในยามชราให้แก่ประชาชน นอกจากนี้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 (2550-2554) เองก็ได้กำหนดเป้าหมายการกระจายรายได้ไว้อย่างชัดเจน โดยกำหนดไว้ว่า ในส่วนของรายได้ของกลุ่มที่มีรายได้สูงสุดร้อยละ 20 แรก มีสัดส่วนไม่เกิน 10 เท่าของกลุ่มผู้มีรายได้ต่ำสุดร้อยละ 20 ภายในปี 2554 ซึ่งจากสถิติเดิมช่องว่างตรงนี้ห่างราว 15-16 เท่า

 

การสัมมนาครั้งนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของแผนยุทธศาสตร์การลดช่องว่างทางรายได้ของคณะทำงานกระจายรายได้ สภาที่ปรึกษาฯ ซึ่งประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์ ยุทธศาสตร์แรกคือยุทธศาสตร์การถือครองทรัพย์สิน ลดการกระจุกตัวของการถือครอง และเพิ่มการกระจายการถือครองไปสู่ประชาชนส่วนใหญ่โดยเฉพาะเกษตรและผู้ใช้แรงงาน ต่อมายุทธศาสตร์การเข้าถึงการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ เช่น ดิน น้ำ ป่า เพื่อทำให้ผู้ยากจนมีปัจจัยเลี้ยงชีพ

 

ยุทธศาสตร์ที่สาม ยุทธศาสตร์การลดช่องว่างทางรายได้ โดยการเพิ่มรายได้และการจัดสวัสดิการเพื่อคนจน ควบคู่กับการใช้ระบบภาษีก้าวหน้า ภาษีทรัพย์สิน และภาษีมรดก ให้เป็นรูปธรรมของการลดช่องว่างของสังคม และสุดท้ายคือ ยุทธศาสตร์การสร้างอำนาจต่อรอง โดยทำให้ประชาชนพื้นฐานมีกลุ่ม มีพลัง มีอำนาจต่อรอง ทักท้วงสิทธิ ปกป้องผลประโยชน์อันพึงมีพึงได้ของตัวเอง

 

ด้าน รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ ประธานคณะทำงานการกระจายรายได้ สภาที่ปรึกษาฯ กล่าวถึงระบบเศรษฐกิจทุนนิยมโลกว่า กำลังอยู่ในภาวะที่มีการเปลี่ยนแปลงและได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการจ้างงานแรงงานในประเทศไทย โดยเฉพาะในส่วนของอเมริกาและยุโรปที่เป็นตลาดส่งออกที่สำคัญของไทยซึ่งกำลังประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ ทำให้อัตราการสั่งซื้อสินค้าลดลง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของแรงงานที่มีค่าจ้างที่ต่ำมากอยูแล้ว และส่วนใหญ่ดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยเงินค่าล่วงเวลา ตรงนี้รัฐบาลจึงต้องเป็นผู้มีบทบาทหลักในการช่วยเหลือ โดยอาศัยมาตรการด้านการคลังและเรื่องภาษี

 

"วันนี้เรามาคุยเรื่องการคลังใหม่ ซึ่งมีลักษณะสำคัญอยู่ 3 ประการ คือ 1.ระบบการคลัง ต่อไปนี้จะต้องมีลักษณะที่เกื้อกูลกับคนยากคนจนมากขึ้น 2.แหล่งรายได้ของรัฐที่มาจากภาษี ควรที่จะคิดค้นมาตรการใหม่ๆ ในเรื่องภาษี และตัวภาษีนั้นจะต้องเป็นเครื่องมือในการกระจายรายได้ เพราะหากภาษีไม่เป็นเครื่องมือในการกระจายรายได้ เราก็แก้ปัญหาความยากจน ปัญหาความแตกต่างทางรายได้ไม่ได้ และ 3.ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเราพบว่า ความไม่โปรงใสในเรื่องงบประมาณมันมากมายเหลือเกิน เพราะฉะนั้นถึงเวลาแล้วที่จะให้ประชาชนเข้ามาตรวจสอบการใช้จ่ายของรัฐบาลให้มากกว่านี้" ร.ศ.ดร.ณรงค์กล่าว

 

รศ.ดร.ณรงค์ ยังกล่าวด้วยว่า การจัดการเรื่องสวัสดิการแก่ประชาชนเป็นสิ่งที่จำเป็น ซึ่งหากมีการจัดการส่วนของสวัสดิการการศึกษา และสวัสดิการการรักษาพยาบาลที่เป็นจริง เงินที่เหลือจากค่าใช้จ่ายในส่วนนี้จะกลับมาเป็นกำลังซื้อของตลาดภายในประเทศได้ต่อไป ซึ่งจะช่วยส่งเสริมความมั่นคงของตลาดภายในประเทศมากขึ้น

 

"การคลังใหม่นอกจากจะช่วยเหลือคนจนแล้ว ยังช่วยเรื่องกำลังซื้อภายในด้วย" ประธานคณะทำงานการกระจายรายได้ สภาที่ปรึกษาฯ กล่าวแสดงความคิดเห็น

 

 

"การคลังใหม่" ข้อเสนอการปรับปรุงการเงินการคลังควบคู่กับการเมืองใหม่

ศ.ดร.ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์ สมาชิกคณะทำงานการกระจายรายได้ สภาที่ปรึกษาฯ นำเสนอเกี่ยวกับการคลังใหม่เพื่อการเติบโตและการช่วยเหลือคนจนว่า เศรษฐกิจและสังคมไทยอยู่ภายใต้โลกาภิวัตน์ซึ่งทำให้เกิดความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและการผลิต แต่ในขณะเดียวกันก็เพิ่มความเสี่ยงจากความผันผวนทางเศรษฐกิจที่รุนแรงขึ้นและส่งผลกระเทือนไปทั่วโลก ซึ่งในส่วนภาคประชาชนและแรงงานกลุ่มใหญ่ที่เป็นคนจนก็ต้องเผชิญกับความเสียงที่ยากแก่การจัดการด้วยตัวเอง และในประเทศไทยเองก็ไม่มี "ระบบรองรับความเสี่ยง" หรือ "Social safety net" ให้คนกลุ่มนี้

 

ศ.ดร.ดิเรก กล่าวให้ข้อมูลต่อมาว่า บทบาทภาครัฐที่ผ่านมาก็มีน้อยเกินไป โดยในพัฒนาการ 50 ปีที่ผ่านมาบทบาทของรายจ่ายและรายได้ของภาครัฐไทยยังแปรผันอยู่ในอัตรา 18-20 เปอร์เซ็นต์ของ GDP ถือเป็นสัดส่วนรายจ่ายรัฐบาลต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (G/GDP) ที่ค่อนข้างต่ำ เมื่อเทียบกับ G/GDP ของประเทศตะวันตกจะอยู่ที่ 35-40 เปอร์เซ็นต์ ของ GDP ทั้งนี้ปรากฏการณ์ของรายจ่ายและรายได้ของภาครัฐไทย ไม่สอดคล้องกับปรากฏการณ์ของประเทศต่างๆ ในโลกโดยทั่วๆ ไปที่จะเห็นว่าภาครัฐมีพัฒนาการสัดส่วนรายจ่ายที่ดีขึ้น นอกจากนี้บทบาทของภาครัฐในด้านสวัสดิการสังคมก็มีน้อยมาก และสวัสดิการสังคมส่วนใหญ่ก็มีให้กับในส่วนของข้าราชการ

 

ความเปลี่ยนแปลงทางรายได้และทรัพย์สินที่มีความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้นสืบเนื่องจากโลกาภิวัตน์ คำนวณการกระจายความมั่นคั่งจากข้อมูลการสำรวจการกระจายของทรัพย์และที่มาของทรัพย์สินครัวเรือน โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2549 พบว่า เมื่อแบ่งประชาชนจากจนที่สุดถึงรวยที่สุดออกเป็น 10 ชั้น ในชั้นที่ 10 พบว่า ครอบครองความมั่งคั่งถึง 55 เปอร์เซ็นต์ เกินครึ่งหนึ่ง ตรงนี้สะท้อนความเหลือมล้ำที่มีอยู่ในสังคม จึงคิดว่าถึงเวลาที่เหมาะสมแล้วที่จะพูดถึง "มาตรการถ่ายโอนรายได้" ในทางการคลัง

 

"ที่จริงแล้ว มาตรการถ่ายโอนรายได้มันไม่ได้แปลว่า จะทำให้คนรวยกลายมาเป็นคนจน ไม่ใช่ มันอาจจะทำให้คนรวย รวยน้อยลงไปนิดหน่อย แต่มันสามารถช่วยคนจนได้มาก" ศ.ดร.ดิเรกกล่าว

 

ในส่วนภาพรวมการคลังใหม่ ศ.ดร.ดิเรก ได้เสนอมาตรการ 5 ข้อ คือ 1.ด้านรายจ่ายและงบประมาณควรมีการปรับปรุง จากระบบ "งบประมาณฐานกรม" ที่มองในแง่ "Supply Side" ที่ให้กรมประมาณ 200 กรมภายใต้ 20 กระทรวง มีอำนาจผูกขาดในการจัดสรรงบประมาณ เปลี่ยนให้เป็น "Demand Side" ที่เน้นกลุ่มประชาชน โดยนำเสนอแนวคิดงบประมาณทางเลือกที่เปิดโอกาสให้ประชาชนแสดงความคิดเห็น หรือเสนอแนะการจัดสรรงบประมาณแผ่นดิน

 

ข้อเสนอทางเลือกที่เป็นรูปธรรม เช่น การจัดตั้งคณะกรรมการบริหารงบประมาณ (Budgetary Board) จากเดิมเคยจัดสรรโดยสำนักงบประมาณที่มีมาตั้งแต่ปี 2505 สมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งถูกแทรกแซงทางการเมืองได้ง่าย โดยคณะกรรมการดังกล่าวประกอบด้วยตัวแทนจากหลายๆ ฝ่าย เช่นภาคประชาชน นักวิชาการ และสื่อมวลชน ไม่ให้ผูกขาดโดยฝ่ายราชการ

 

ข้อเสนอต่อมาคือการจัดงบประมาณจังหวัด ซึ่งมีการแก้ไขมาตรา 4 ใน พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณแผ่นดิน พ.ศ.2502 เริ่มให้จังหวัดเป็นส่วนราชการที่ขอรับเงินงบประมาณได้ ซึ่งงบประมาณในส่วนนี้มีประมาณ 18,000 ล้านบาททั่วประเทศ โดยจัดการในรูปคณะกรรมการที่มีตัวแทนภาคประชาชนเข้าร่วมด้วย และกระบวนการจัดการงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยงบประมาณประมาณ 400,000 ล้านบาทถูกกระจายสู่ท้องถิ่น ในส่วนนี้จะเป็นช่องทางการกระจายอำนาจทางการคลังและงบประมาณสู่ภูมิภาคและท้องถิ่น ในลักษณะ "งบประมาณประชาชน"

 

2.มาตรการถ่ายโอนรายได้ เสนอให้มีการปรับปรุงโครงสร้างภาษีให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจยุคใหม่ โดยคำนึงถึงกระจายรายได้ที่เป็นธรรมและเป็นแหล่งรายได้ของรัฐเพื่อการพัฒนาประเทศ เพิ่มพลังประชาชน โดยผ่านการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะและความคิดริเริ่มใหม่ๆ ซึ่งในส่วนนี้ ศ.ดร.ดิเรก พูดถึงการจัดเก็บภาษีทรัพย์สิน โดยคำนวณตามมูลค่าของทรัพย์สินที่สูงขึ้น ซึ่งประเทศไทยไม่มีการจัดเก็บภาษีตามหลักภาษีทรัพย์สิน

 

3.การขยายหลักประกันสังคมและส่งเสริมการออมระยะยาว ซึ่งเป็นการสร้างหลักประกันทางสังคมให้กับประชาชน โดยการสร้างการออมพันธมิตร (partnership saving) ที่แรงงานในระบบออมรายได้ส่วนหนึ่ง (ร้อยละ 3 ต่อปี) และรัฐเติมเงินให้อีกส่วนหนึ่ง โดยในส่วนแรงงานในภาคที่ไม่เป็นทางการซึ่งมีรายได้ต่ำกว่าแรงงานในระบบ มาตรการนี้จะเพิ่มแรงจูงใจในการออมระยะยาว โดยการออม 1 บาท รัฐจะอุดหนุนเพิ่มให้ 80 สตางค์ เพื่อใช้เป็นบำนาญยามชราด้วยเช่นกัน โดยในส่วนนี้รัฐจะมีต้นทุนทางการคลังเพียง 32,000 ล้านบาทต่อปีที่จะสามารถสร้างหลักประกันให้กับแรงงานโดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาเงินสงเคราะห์ (เบี้ยยังชีพคนชรา 500 บาทต่อเดือน) อีกต่อไป

 

ทั้งนี้ในส่วนของเงินสนับสนุนที่รัฐจะเติมเข้าไป 120-150 บาทต่อเดือนสำหรับแรงงานในระบบนั้น จะทำให้ขนาดของเงินทุนรวมเฉลี่ยต่อคนเท่ากับ 320,000-350,000 บาทโดยประมาณ เมื่อตัดให้เป็นเงินบำนาญราว 1,300 บาทต่อเดือน โดยอิงกับเส้นความยากจน จะทำให้แรงงานมีบำนาญไปจนถึงอายุ 80 ปี (ให้ตั้งแต่อายุ 60-80 ปี)

 

4.การช่วยเหลือคนยากจนอย่างมีเป้าหมาย โดยให้มีกระบวนการคัดกรองผู้ที่สมควรจะได้รับการสงเคราะห์จากรัฐ และกระจายบทบาทในการสงเคราะห์คนจนคนยากไร้ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามามีบทบาทมากขึ้น นอกจากนี้ยังเสนอให้มีการริเริ่มโครงการจ้างงานชั่วคราว (Workfare) เปิดจ้างงานแก่คนจนในงานสาธารณะต่างๆ ในอัตราใกล้เคียงค่าจ้างขั้นต่ำ โดยมีเทศบาลหรือ อบต.เป็นผู้ดำเนินการ

 

5.การสนับสนุน Microfinance และสถาบันการเงินของผู้ใช้แรงงาน โดยสนับสนุนให้ผู้ใช้แรงงานทั้งในเมืองและชนบทเกิดการรวมตัวจัดตั้งเป็นกองทุนเพื่อให้สินเชื่อและจัดตั้งเป็นสมาพันธ์ในกลุ่มผู้ใช้แรงงาน เปิดโอกาสให้คนจนได้กู้ยืมเพื่อการพัฒนาตนเอง ไม่ถูกเอาเปรียบจากตลาดเงินนอกระบบมากเกินไป เพื่อเพิ่มพลังภาคการออมที่เป็นทางการของผู้ใช้แรงงาน ซึ่งเมื่อผ่านวิวัฒนาการระดับหนึ่งจะสามารถจัดตั้งสถาบันการเงินภาคประชาชนได้

 

 

นโยบายและมาตรการการคลังเพื่อความเป็นธรรมในการกระจายรายได้

ผศ.ดร.ดวงมณี เลาวกุล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำเสนอผลการศึกษาวิจัยในหัวข้อนโยบายและมาตรการการคลังเพื่อความเป็นธรรมในการกระจายรายได้ว่า การศึกษาวิจัยจากข้อมูลปี 2531-2549 พบว่าแหล่งรายได้หลักของรัฐบาลมาจากภาษีอากร คือประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ทั้งหมด ส่วนรายได้ที่ไม่ใช่ภาษีอากรมีสัดส่วนประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ทั้งหมด ประกอบด้วยรายได้จากรัฐวิสาหกิจ ซึ่งเก็บจาก 30 เปอร์เซ็นต์ของรายได้สุทธิจากรัฐวิสาหกิจที่มีกำไร และรายได้อื่นๆ

 

ในเรื่องภาษี แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ภาษีทางตรง หรือภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม และภาษีเดินทาง อีกส่วนคือภาษีทางอ้อม ประกอบด้วยภาษีการขายทั่วไป (ภาษีการค้า ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์) ภาษีสรรพสามิต อากรนำเข้าและส่งออก และภาษีประเภทอื่นๆ

 

โดยโครงสร้างภาษีอิงกับภาษีทางอ้อม เช่นภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีสรรพาสามิต ซึ่งเป็นภาษีการบริโภคมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ โดยที่คนจนมักใช้จ่ายเพื่อการบริโภคในสัดส่วนที่สูง ดังนั้นภาระภาษีของคนจนจึงสูงกว่าคนรวยโดยเปรียบเทียบ ส่งผลให้โครงสร้างภาษีของไทยมีลักษณะถดถอย หรืออย่างดีที่สุดก็มีลักษณะเป็นกลาง และทำให้การกระจายรายได้ในสังคมไทยยิ่งไม่มีความเท่าเทียมมากขึ้น

 

ผศ.ดร.ดวงมณี กล่าวต่อมาถึงการประเมินสถานการณ์การกระจายรายได้และภาวะความยากจนของประเทศว่า หากพิจารณาทางรายได้ในภาพรวม ความไม่เสมอภาคมีมากขึ้น และตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมายังไม่ค่อยมีการพัฒนาให้เท่าเทียมกันมากนัก ส่วนรายจ่ายพบความไม่เสมอภาคทางรายจ่ายลดลงเรื่อยๆ ซึ่งอาจเป็นผลต่อเนื่องจากการที่ประชาชนที่มีรายได้อยู่ในระดับต่ำมีช่องทางในการกู้เงินเพื่อมาใช้จ่ายมากขึ้น ซึ่งก็ทำให้เห็นแนวโน้มของการมีหนี้สินมากขึ้นด้วย

 

ในส่วนภาวะความยากจนซึ่งวัดจากจำนวนและสัดส่วนของประชากร ในปี 2549 พบว่ารายได้อยู่ใต้เส้นความยากจน เป็น 1,386 บาท/คน/เดือน ส่วนสัดส่วนรายได้ของกลุ่มรวยสุด/กลุ่มจนสุด สูงถึง 14.66 เท่าในปี 2549 ซึ่งมากกว่าปี 2531 (11.88 เท่า) ส่วนสัดส่วนรายจ่ายระหว่างกลุ่มที่รวยที่สุดและกลุ่มที่จนที่สุดไม่ได้มีความต่างกันมานักตลอด 20 ปีที่ผ่านมา

 

ผศ.ดร.ดวงมณี กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันการกระจายการถือครองที่ดินยังคงมีการกระจุกตัวอยู่กับประชากรเพียงบางกลุ่ม ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ค่อนข้างน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับประชากรทั้งหมดของประเทศ ในขณะเดียวกันประชากรที่มีสัดส่วนเป็นจำนวนนี้ ได้ถือครองรายได้มากกว่าครึ่งหนึ่งของรายได้ทั้งหมด จึงเป็นภาพสะท้อนของความเหลื่อมล้ำอย่างน่าเป็นห่วงของคนในสังคม

 

ด้าน ผศ.ดร.เอื้อมพร พิชัยสนิธ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ร่วมทำการวิจัย กล่าวนำเสนอถึงการกระจายภาระทางภาษีว่า จากผลการวิจัยพบว่า การปรับปรุงโครงสร้างทางภาษีที่มีการจัดเก็บจากฐานภาษีที่เป็นภาษีทางตรงมากขึ้นในอัตราที่เหมาะสม จะบรรเทาให้คนที่มีรายได้น้อยแบกรับภาระภาษีลดลง โดยรัฐควรเข้ามามีส่วนในการปรับปรุงการจัดเก็บรายได้ ให้มีการกระจายภาระภาษีให้เป็นธรรมมากขึ้น และขยายทางเลือกทางนโยบายด้านภาษีที่ส่งเสริมให้เกิดการกระจายรายได้ที่ดีขึ้น เช่น การจัดเก็บภาษีทรัพย์สิน ภาษีมรดก ภาษีกำไรจากการลงทุนในทรัพย์สิน และภาษีสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

 

ทั้งนี้จากการศึกษาพบว่า เมื่อมีการใช้นโยบายการคลังทั้งด้านรายรับและรายจ่ายประกอบกัน จะส่งผลให้เกิดการกระจายรายได้ที่เท่าเทียมกันมากกว่าการใช้เครื่องมือทางการคลังด้านรายรับแต่เพียงอย่างเดียว เพราะเมื่อรัฐบาลจัดเก็บภาษีจากประชาชนเพื่อเป็นรายรับแล้ว รัฐบาลจะต้องมีนโยบายด้านรายจ่ายที่ชัดเจน โดยมุ่งเน้นกลุ่มเป้าหมายให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนในกลุ่มที่อยู่ในชั้นรายได้น้อยอย่างแท้จริง จึงจะก่อให้เกิดการกระจายรายได้ที่มีความเท่าเทียมกันมากยิ่งขึ้น

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท