รายงาน: เทศกาลหนังแรงงานนานาชาติ และเสวนา"แรงงานหญิง - ภาพจากสื่อ - โลกาภิวัตน์"

 

25 .. 51 - ที่วัดลาดหวาย (นิคมอุตสาหกรรมบางพลี) ต.บางเพรียง อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ โครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย ร่วมกับสหภาพแรงงานและองค์กรด้านแรงงานทั่วประเทศ รวมทั้งพันธมิตรจากต่างประเทศ 11.11.11, ALMN, Oxfam Belgium, NCA, Diakonia ได้จัดกิจกรรมเทศกาลหนังแรงงานนานาชาติ

 

โดยความเป็นมาของกิจกรรมมีวัตถุประสงค์เพื่อแนะนำคาราวานสิทธิแรงงานให้คนงานในนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศไทยได้รู้จัก โดยการจัดนิทรรศการและฉายสารคดีด้านแรงงานจากทั่วทุกมุมโลก อันจะทำให้คนงานในเมืองอุตสาหกรรมต่างๆ เข้าใจถึงผลกระทบที่เกิดจากเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ ที่ประชาชนทั่วโลกต่างก็ตกอยู่ในชะตากรรมเดียวกัน

 

จรรยา ยิ้มประเสริฐ ผู้ประสานงานโครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย ได้กล่าวถึงความสำคัญของกิจกรรมนี้ คือต้องการเผยแพร่ภาพยนตร์สารคดีเกี่ยวกับแรงงานในหลายๆ ประเทศ รวมถึงภาพยนตร์สารคดีที่โครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทยจัดทำขึ้นมา ให้ได้เผยแพร่ในวงกว้างมากที่สุด จึงได้มีการคิดคอนเสป "หนังกลางแปลง - ลานบ้าน ลานวัด กลางย่านอุตสาหกรรม" เพื่อที่จะได้เปิดพื้นที่ให้กับแรงงานและประชาชนที่สนใจได้ชมภาพยนตร์เกี่ยวกับแรงงาน

 

เทศกาลหนังแรงงานนานาชาตินี้เกิดขึ้นมาเพราะความเชื่อที่ว่า สื่อภาพยนตร์เป็นสื่อที่สมารถทำให้ทั่วโลกเห็นถึงชีวิตแรงงานในแต่ละมุมโลกได้ และสามารถทำให้ผู้บริโภคที่อยู่ห่างไกลเห็นชีวิตความเป็นอยู่ของแรงงานที่ผลิตสินค้าในอีกมุมโลกได้

 

โดยเทศกาลหนังแรงงานนานาชาติ ที่เริ่มในวันนี้จะมีต่อเนื่องไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2552 ตระเวนไป 20 เขตอุตสาหกรรมในประเทศไทย หลังจากนิคมอุตสาหกรรมบางพลีแล้ว ในวันที่ 12 ธันวาคมนี้จะเดินสายไปยังนิคมอุตสาหกรรมนวนคร

 

จากนั้น วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ได้กล่าวเปิดงาน โดยได้กล่าวขอบคุณโครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย และสหภาพไทรอัมพ์ฯ ที่เป็นแม่งานในการจัดงานครั้งนี้ รวมถึงชื่นชมและให้กำลังใจกับการต่อสู้ของไทรอัมพ์ฯ ที่ยังคงรวมตัวต่อสู้กันอย่างเหนียวแน่น

 

วิไลวรรณกล่าวต่อว่าในวันที่ 25 .. นี้ เป็นวันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล โดยทั้งนี้ผู้หญิงมักจะเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดในสังคม ทั้งความรุนแรงในครอบครัว การทำงานหนักและรับผิดชอบภาระในครอบครัว รวมถึงสภาวะเศรษฐกิจการต่อสู้ของคนงานหญิงในที่ต่างๆ

 

"ในฐานะที่เราเป็นผู้หญิง การต่อสู้ของสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ ถือว่ามีบทบาทที่สำคัญมาก ในการต่อสู้ในการเรียกร้องความเป็นธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ได้ออกมาสู้เพื่อปกป้องประธานสหภาพแรงงาน"

 

ทั้งนี้วิไลวรรณได้กล่าวว่ากิจกรรมในวันนี้ เป็นกิจกรรมรำลึกถึงการยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง รวมถึงมีการฉายภาพยนตร์เกี่ยวกับการต่อสู้ของแรงงาน ซึ่งเป็นเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของพวกเราแรงงาน โดยกิจกรรมนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการต่อสู้ร่วมกันของขบวนการแรงงานให้ได้รับสิทธิความเป็นธรรม

 

จากนั้นกิจกรรมเวทีเสวนาในหัวข้อ "แรงงานหญิง - ภาพจากสื่อ - โลกาภิวัตน์" ซึ่งร่วมเสวนาโดย จิตรา คชเดช ประธานสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ, เปรมฤดี ดาวเรือง มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ, วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย

 

จิตรา คชเดช ประธานสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ กล่าวกรณีการต่อสู้ของคนงานไทรอัมพ์ฯ ในครั้งนี้เกิดขึ้นโดยตรงจากสื่อ เป็นการบิดเบือนของสื่อไม่พูดความจริง ทั้งนี้คนงานส่วนใหญ่มักจะไม่สามารถเข้าถึงสื่อใหม่อย่าง อินเตอร์เน็ต, เคเบิลทีวี, ทีวีผ่านดาวเทียม ได้ โดยส่วนใหญ่คนงานมักจะเข้าถึงสื่อในกระแสอย่างหนังสือพิมพ์หัวสี หรือ ฟรีทีวี เท่านั้น

 

"ทุกวันนี้โลกพัฒนาไปแล้ว มันมีข่าวจากอินเตอร์เน็ต มีช่องทีวีผ่านดาวเทียม ซึ่งพวกเราไม่สามารถเข้าถึงสื่อเหล่านั้นได้ สื่อเหล่านั้นต้องใช้ค่าใช้จ่ายสูง"

 

โดยสื่อที่บิดเบือนเรื่องราวของจิตรานั้นเป็นสื่ออินเตอร์เน็ตซึ่งเธอย้ำว่ามันมีทั้งสื่อที่ดีและไม่ดี

 

"การที่เรารู้ไม่เท่าทันสื่อ ทำให้เราต้องตกเป็นเหยื่อทางการเมือง และเป็นเหตุที่นายจ้างเอามาเป็นเหตุเลิกจ้าง"

 

จิตรากล่าวต่อว่าส่วนใหญ่แรงงานที่ทำงานในโรงงานที่ตนทำงานอยู่นั้นเป็นผู้หญิง แต่ทั้งนี้นายจ้างเองก็ไม่ได้สนใจว่าคุณจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย ไม่สนใจว่าเราจะมีหน้าที่รับผิดชอบครอบครัวอย่างไร นายจ้างนั้นต้องการเพียงแค่ทำลายสหภาพแรงงาน พยายามยุติการต่อสู้ของแรงงาน

 

และการพยายามเลิกจ้างการทำลายสหภาพแรงงานถือว่าเป็นความรุนแรง ในส่วนตนนั้นต้องเป็นคนตกงาน และไม่สามารถรับผิดชอบครอบครัวได้ ในแง่การรวมกลุ่มถือว่าเป็นการพยายามทำลายการต่อรองของกลุ่มลูกจ้าง ซึ่งกรณีนี้ถือว่าเป็นความรุนแรงที่ผู้หญิงจะต้องเผชิญในโรงงาน

 

ส่วนความรุนแรงในครอบครัวนั้น ส่วนใหญ่ความรุนแรงเกิดมาจากผู้ชาย แต่ทั้งนี้หากมองดูลึกๆ แล้ว จะพบว่าผู้ชายที่ใช้ความรุนแรงกับผู้หญิงมักจะเกี่ยวเนื่องมาจากภาวะเศรษฐกิจ ภาวะความเครียดทางเศรษฐกิจ ทำให้ผู้ชายกินเหล้าและสร้างความรุนแรงในครอบครัว โดยในปัจจุบันทั้งหญิงและชายต้องทำงานหนักเพื่อรับผิดชอบครอบครัว

 

"ผู้หญิงและผู้ชายต้องทำงานหนัก ทำโอที เพื่อมาจุนเจือครอบครัว ถ้าเราไม่ทำงานหนักไม่ทำโอที ค่าจ้างเราน้อย เราก็อยู่ไม่ได้"

 

ทั้งนี้จิตราเห็นว่าวิกฤตเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นแรงงานเองคงไม่สามารถควบคุมหรือแก้ไขได้ แต่การมีสหภาพแรงงานมีการรวมตัวจะทำให้เราสามารถรวมตัวต่อสู้ได้

 

นอกจากการเปลี่ยนแปลงการรวมตัวสหภาพแรงงานให้เข้มแข็งแล้ว จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ซึ่งจะต้องเป็นการเมืองที่ไม่ใช่ทั้งสองกลุ่มที่เผชิญหน้ากันอยู่นี้ เช่นกลุ่มเสื้อเหลืองและเสื้อแดง ซึ่งขบวนการแรงงานคงจะไม่ไปยุ่งกับสองกลุ่มนี้

 

โดยจิตราได้ทิ้งท้ายไว้ว่าต้องมีการนำประเด็นวิกฤตทั้งหลายมานั่งคุยกัน และร่วมกันมองหาสิ่งที่ดีๆ ให้กับคนงาน เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีๆ เกิดขึ้น

 

"เมื่อวิกฤตมันเกิด ก็จะเป็นโอกาสสำหรับพวกเรา ขอให้เรามองว่าเมื่อเกิดอะไรขึ้นมามันก็จะมีสิ่งดีๆ ตามมาเสมอ ก็อยากให้พวกเราต่อสู้ เป็นสมาชิกสหภาพ และร่วมมือร่วมใจกัน ฟันฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นครั้งนี้ และวิกฤตของสหภาพฯ ที่เจอการทำลายจากนายจ้าง ขอให้พวกเราร่วมมือร่วมใจและต่อสู้กันต่อไป"

 

เปรมฤดี ดาวเรือง มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ กล่าวถึงเกี่ยวกับสารคดี "สีพันดอน บนเส้นทางชีวิตแม่น้ำโขง" ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับแม่น้ำโขง องค์การฟื้นฟูคุณภาพแม่น้ำโขง การเปลี่ยนแปลงโดยการพัฒนาทุนนิยมได้ทำให้แม่น้ำโขงเปลี่ยนไป โดยเฉพาะโครงการสร้างเขื่อนใหญ่ๆ

 

พื้นที่สีพันดอนคือพื้นที่ทางตอนล่างของประเทศลาว แถบจังหวัดจำปาสัก ซึ่งพื้นที่สีพันดอนเป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ที่สุด มีการทำประมงของชาวบ้าน มีการทำเกษตรริมน้ำ ชาวบ้านมีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย

 

โดยเปรมฤดีกล่าวว่าถ้าเรามีโอกาสทำหนังแบบนี้ ก็จะมีโอกาสสื่อสารให้เห็นเอาภาพอดีตที่เราเคยมีมาฉายสู่ปัจจุบัน เพราะว่าในอนาคต สิ่งที่ประเทศเพื่อนบ้านในลาว ในกัมพูชา จะต้องเจอก็อาจจะเป็นเหมือนประเทศไทย เพราะสุดท้ายประเทศที่อยู่ในเขตลุ่มน้ำโขงก็ต้องอาจกลายเป็นประเทศอุตสาหกรรม กลายเป็นคนที่จะต้องต่อสู้ดิ้นรนในเมืองมากกว่าที่จะต้องหากินกับธรรมชาติ

 

"พวกเราเชื่อว่า ถ้าเราทำหนังเล็กๆ แบบนี้แล้วตะเวนฉาย อย่างน้อยคนไทยจำนวนมากที่ไม่เคยรู้เลยว่าคนลาวเขาอยู่กันยังไง ที่ตรงนั้นจะมีการสร้างเขื่อน และถ้าพวกเราทราบพวกเราอาจและอาจจะช่วยกันได้ ที่สุดแล้วหนังเล็กๆ ให้พวกเราดูกันเอง ก็อาจจะทรงพลังกว่าหนังใหญ่ๆ และหวังว่าพวกเราจะรู้จักแม่น้ำโขงมากขึ้น"

 

วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวถึงกิจกรรมของ คสรท. กับการแก้ปัญหาให้แก่ผู้หญิง โดยวิไลวรรณกล่าวว่าในภาพรวมแล้ว คสรท. ทำงานกับคนทุกกลุ่มในสังคม โดยปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นมักจะเป็นปัญหาที่เชื่อมร้อยกันของคนในครอบครัวทั้งหญิงและชาย

 

ทั้งนี้ในประเด็นการแก้ปัญหาให้แก่ผู้หญิง คสรท. การเรียกร้องให้ประกันสังคมมีการแก้ไขกฎหมายสิทธิประโยชน์ พี่น้องแรงงานผู้หญิงที่อายุ 55 ปี แต่ไม่ได้สิทธิประกันการว่างงาน ทั้งนี้ คสรท. ได้เรียกร้องให้มีการแก้กฎหมายตัวนี้ให้แรงงานอายุ 55 ปี ได้มีสิทธิ์เข้าถึงประกันการว่างงาน นอกจากนี้ คสรท. ได้เรียกร้องให้ประกันสังคมขยายสิทธิประโยชน์โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการสงเคราะห์บุตรและเรื่องการคลอดบุตรที่ปัจจุบันยังได้รับสิทธิประโยชน์น้อยมาก

 

นอกจากนี้ในประเด็นสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับแรงงานโดยตรง ไม่ว่าอุตสาหกรรมจะย้ายฐานการผลิตไปที่ไหนก็ตามมักจะส่งผลกระทบต่อแรงงานและคนในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสารพิษและมลภาวะต่างๆ โดยเฉพาะหากเราไม่ได้รับรู้ถึงข้อมูลและมีการป้องกันที่เพียงพอ ทั้งนี้ คสรท. ได้มีการรณรงค์ผลักดันให้มีการจัดตั้งสถาบันสุขภาพ ความปลอดภัย และสิ่งแวดล้อม ในสถานประกอบการ

 

"ในเรื่องนี้เราไม่ได้มองแค่ความปลอดภัยของคนงานในโรงงานเท่านั้น แต่เรามองถึงสิ่งแวดล้อมของพี่น้องคนในชุมชนด้วย"

 

ประเด็นต่อไปก็คือ ข้อเรียกร้องเกี่ยวกับสิทธิต่างๆ ของแรงงานนอกระบบ แรงงานเหมาค่าแรง ที่ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงในอุตสาหกรรมหัตถกรรมต่างๆ ที่รับงานไปทำที่บ้าน ไม่ว่าจะเป็นงานประดิษฐ์ดอกไม้, เย็บรองเท้า หรือเย็บเสื้อผ้า หรือทำงานตามโรงงานห้องแถวต่างๆ เป็นต้น โดยคุณภาพชีวิตของผู้หญิงเหล่านั้นมักจะเข้าไม่ถึงสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายแรงงานต่างๆ คุ้มครอง

 

โดย คสรท. ได้เรียกร้องให้มีการขยายประกันสังคมไปสู่แรงงานนอกระบบ

 

วิไลวรรณกล่าวต่อว่า วิกฤตเศรษฐกิจที่จะเกิดไม่ได้เกิดเป็นครั้งแรก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมสิ่งทอได้รับผลกระทบมาหลายปี เช่นปี 2549 ซึ่งผู้หญิงต้องตกงานมาก

 

"คนงานหญิงทำงานให้กับบริษัทเมื่อกิจการรุ่งเรือง ทุ่มเทการทำงานให้โดยตลอด มาวันหนึ่งบริษัทบอกไม่มีออเดอร์ ไม่มีงานทำ ก็ปิดกิจการ"

 

ผู้หญิงรับผิดชอบต่อครอบครัว เมื่อตกงานก็ทำให้เกิดผลกระทบต่อครอบครัวโดยตรง ถือว่าเป็นความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงโดยตรง

 

ส่วนในประเด็นสื่อนั้นวิไลวรรณกล่าวว่าสื่อมักจะไม่ค่อยสนใจประเด็นของแรงงาน ถ้าไม่มีการนำเสนอแบบหวือหวา

 

"คนงานหญิงต้องแก้ผ้าแล้วโยนเข้าไปในทำเนียบรัฐบาล เพื่อเรียกร้อง ซึ่งไม่ทำแบบนั้นเราก็จะไม่มีภาพข่าวออกไปให้สังคม คนเล็กๆ อย่างพวกเราในการรณรงค์ต่อสู้ประเด็นแรงงานสื่อจะไม่สนใจ"

 

โดยวิไลวรรณกล่าวต่อไปว่าสื่อจะสนใจประเด็นประเภทหวือหวาท้าทาย สังเกตได้จากการณรงค์นุ่งกระโจมอกแล้วโยนเสื้อผ้าเข้าไปในทำเนียบนั้น กลายเป็นภาพข่าวที่แพร่ไปทั่วโลก

 

"สื่อทำข่าววูบวาบชั่วคราวเมื่อมีการเลิกจ้าง หรือนายจ้างปิดโรงงาน แต่หลังจากชีวิตคนงานจะอยู่ยังไง พวกเขาก็จะไม่ตามเรื่องแบบนี้"

 

หลังจากเสร็จการเสวนาได้มีการจุดเทียนสันติภาพ 500 เล่ม เจ้าอาวาสวัดลาดหวายนำสวดมนต์แผ่เมตตาและสันติภาพ และร่วมกันปล่อยโคมลอย เพื่อให้เกิดสันติภาพในบ้านเมือง

 

และจากนั้นก็ได้เริ่มเทศกาลหนังแรงงานนานาชาติ โดยมีการฉายภาพยนตร์สารคดี "ลุกขึ้นสู้ ไทรอัมพ์",สารคดี "สมาพันธ์คนงานอิมโมคาลี", สารคดี "สงครามโลกครั้งที่สี่", สารคดี "สีพันดอน บนเส้นทางชีวิตแม่น้ำโขง" และสารคดี "คนงาน"

 

 





 

รายละเอียดเกี่ยวกับภาพยนตร์สารคดีที่ฉายในงาน

 

เครือข่ายคนงานอิมโมคาลี NOW: Coalition of Immokalee Workers (USA - on plantations workers in Florida)

 

เป็นสารคดี จากรายการทีวี NOW ของสหรัฐ เกี่ยวกับการทำงานของเครือข่ายคนงานอิมโมคาลี ในรัฐฟลอริดาของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นรัฐที่มีคนงานอพยพอยู่กันเยอะมาก โดยเฉพาะทำงานในฟาร์มเกษตรขนาดใหญ่ CIW เข้าไปช่วยเหลือคนงานที่อพยพมาจากประเทศต่างๆ ที่เข้ามาทำงานที่ฟาร์มเหล่านั้น

 

CIW เป็นองค์กรของคนงานในระดับชุมชนที่ก่อตั้งขึ้นที่เมืองอิมโมคาลี (Immokalee) รัฐฟลอริดาเมื่อปี 2536 มีสมาชิกที่เป็นคนงานอพยพที่เข้าไปทำงานที่ฟลอริดาจากที่ต่างๆ ทั้งจากลาติน ไฮติ และชาวอินเดียแดง ที่เข้าไปเป็นแรงงานราคาถูก ในไร่เกษตรขนาดใหญ่ของรัฐฟลอริดา

 

ในปี 2544 คนงานอพยพที่ทำงานในไร่เกษตรเหล่านี้ได้รวมตัวบอยคอตบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านอาหาร TACO Bell และเรียกร้องให้บริษัทผลิตอาหารฟาสฟูดส์ทั้งหลายเคารพสิทธิมนุษยชนของคนงานในฟาร์มเกษตรที่ป้อนสินค้าให้กับบริษัท

 

สารคดีเรื่องนี้จะทำให้คนไทยที่ต้องการไปทำงานที่ต่างประเทศเห็นสภาพการทำงานและความยากลำบากในการทำงานในไร่เกษตรที่ต่างแดนได้เป็นอย่างดี

 

สงครามโลกครั้งที่สี่ (THE FOURTH WORLD WAR) ปี 2546

กำกับโดยริค โรว์เลย์, 78 นาที

 

สารคดีเรื่องนี้วิพากย์ถึง "สงครามโลกครั้งที่สี่" เป็นการลุกขึ้นสู้ของภาคประชาชนต่อสงครามที่ถูกสร้างขึ้นมาด้วยคนที่ปกครองโลก เป็นสารคดีที่รวบรวมการบันทึกภาพของนักข่าวร่วมร้อยชีวิตเกี่ยวกับการลุกขึ้นสู้ของภาคประชาชนในหลากหลายรูปแบบและในหลายประเทศ และถ่ายทำกันหลายปี ตั้งแต่การประท้วงใหญ่ทั่วประเทศในเกาหลีใต้ไปจนถึงสงครามอิรัก

 

เป็นสารคดีที่คนสนใจเรื่องความเป็นไปของโลกจำเป็นต้องดู ทั้งเทคนิคที่ตื่นเต้น และภาพถ่ายที่สวยงาม

 

สารคดี "สีพันดอน บนเส้นทางชีวิตแม่น้ำโขง"

สารคดี "สีพันดอน บนเส้นทางชีวิตแม่น้ำโขง" ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับแม่น้ำโขง องค์การฟื้นฟูคุณภาพแม่น้ำโขง การเปลี่ยนแปลงโดยการพัฒนาทุนนิยมได้ทำให้แม่น้ำโขงเปลี่ยนไป โดยเฉพาะโครงการสร้างเขื่อนใหญ่ๆ

 

คนงาน
ไทย อังกฤษ, 11 นาที

 

สารคดีสั้น แต่ทรงพลังเรื่องนี้เปิดโปงถึงสภาพชีวิตของคนงานทำไก่สดแช่แข็ง เซนทาโก หลายปีของการยืนหยัดต่อสู้เพื่อสิทธิสหภาพแรงงาน และต่อรองกับนายจ้างที่เป็นไปด้วยความยากลำบากอย่างที่สุด การต่อรองเพียงแค่ค่ารถ 10 บาท ก็ไม่ได้รับความเห็นใจจากนายจ้าง

 

สหภาพแรงงานเซนทาโก อยู่ในระหว่างการดำเนินคดีฟ้องร้องจากนายจ้างร่วมยี่สิบคดี  เป็นหนึ่งในการต่อสู้ที่ที่โดดเดี่ยวของคนงานหญิงในประเทศไทยที่สร้างแรงบันดาลใจให้คนงานทั่วทั้งประเทศ

 

 

 

             

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท