Skip to main content
sharethis

สถาบันพัฒนาสื่อภาคประชาชน ร่วมกับมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท จัดสัมมนา "การมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมในกระบวนการร่างกฎหมาย" ณ ห้องกรกมล โรงแรมสยามซิตี้ เมื่อวันที่ 25 พ.ย.ที่ผ่านมา โดยให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหรือเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจาก ร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ... เข้าร่วมระดมความคิดเห็นและดำเนินการร่วมกันหาจุดร่วมและลดจุดต่างของแต่ละร่างของแต่ละหน่วยงานที่ทำการยื่นเสนอ


 


จากการที่ร่างกฎหมายดังกล่าวยังอยู่ระหว่างการดำเนินการแก้ไขเพื่อดำเนินการตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 47 และมาตรา 305 (1) โดยมีร่างกฎหมายหลายร่างจากหลายหน่วยงาน อาทิ 1.ร่างที่ถูกนำเสนอโดยรัฐบาล ผ่านกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) 2.ร่างที่ถูกนำเสนอโดยคณะกรรมาธิการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) 3.ร่างที่ถูกนำเสนอโดยกรรมาธิการวิทยาศาสตร์ วุฒิสภา 4.ร่างที่ถูกนำเสนอโดยพรรคประชาธิปัตย์ และ5.ร่างที่ถูกนำเสนอโดยภาคประชาชน รวม 5 ร่างกฎหมาย


 


 


ร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ และสถานะของแต่ละร่างกฎหมาย


 






















ร่าง พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ


สถานะของร่างของกฎหมาย


1.       ร่างฯ ฉบับไอซีที (ฉบับแก้ไขแล้ว)


·      กระทรวงไอซีทีส่งร่างฯ ที่แก้ไขแล้ว เข้าสู่การพิจารณาของ ครม. (18 พ.ย. 51)


·      สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีการับร่างฯ เข้าสู่การพิจารณา (19 พ.ย. 51)


·      ร่างฯ ถูกส่งออกจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ถึงสภาผู้แทนราษฎร (21 พ.ย. 51)


2.       ร่างฯ ฉบับ กมธ. วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร วุฒิสภา


กมธ. วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร วุฒิสภา จัดเวทีสัมมนารับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้อง (26 ส.ค. 51)


3.       ร่างฯ พรรคประชาธิปัตย์


พรรคประชาธิปัตย์ยื่นเสนอร่างฯ ต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร (4 พ.ย. 2551)


4.       ร่างฯ กทช.


เหมือนร่างไอซีที


5.       ร่างฯ ภาคประชาชน


อยู่ระหว่างการล่า 10,000 รายชื่อ


 


 


นายสุเทพ วิไลเลิศ เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ ซึ่งเป็นผู้นำเสนอการเปรียบเทียบร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ของแต่ละหน่วยงาน กล่าวว่า ร่างกฎหมายทั้ง 5 ฉบับ ที่ถูกนำเสนอมาจากภาคส่วนต่างๆ มีความสลับซับซ้อนในรายละเอียด โดยมีทั้งในส่วนที่เหมือนและแตกต่างกัน ซึ่งการจะบอกถึงข้อเด่นข้อด้อยของร่างกฎหมายแต่ละฉบับนั้นทำได้ยาก เพราะมีรายละเอียดค่อนข้างมาก และขึ้นอยู่กับความต้องการด้วย


 


ยกตัวอย่าง ประเด็นการจัดตั้งองค์กรอิสระเกี่ยวกับที่มา ซึ่งในส่วนร่างกฎหมายฉบับของรัฐบาลและฝ่ายค้านจะใช้การคัดเลือกกันเองในแต่ละด้าน จากนั้นในส่วนร่างของรัฐบาลจะต้องผ่านการคัดเลือกโดยคณะรัฐมนตรี แต่ร่างของฝ่ายค้านต้องผ่านวุฒิสภา โดยกระบวนการคัดเลือกนี้อาจมองได้ว่าทำให้กระบวนการรวดเร็ว


 


ส่วนในร่างฉบับของ กทช. กรรมาธิการวิทยาศาสตร์ และภาคประชาชน ระบุให้มีกระบวนการสรรหา แต่ก็มีความแตกต่างกันในเรื่องสัดส่วน โดยกระบวนการสรรหานี้ คาดว่าจะทำให้เกิดความโปร่งใสได้มากกว่า


 


สำหรับเหตุผลของการเสนอร่างกฎหมายฉบับภาคประชาชนนั้น นายสุเทพกล่าวว่า เพื่อให้ภาคส่วนต่างๆ มองเห็นการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนว่าอย่างน้อยในส่วนของผู้ประกอบการวิทยุชุมชนก็ไม่ได้นิ่งเฉย แม้ว่าขณะนี้ร่างกฎหมายดังกล่าวของภาคประชาชนยังคงอยู่ระหว่างการรวบรวบรายชื่อเพื่อเสนอร่างกฎหมาย แต่ร่างกฎหมายฉบับของกระทรวงไอซีที และร่างที่นำเสนอโดย กทช.จะอยู่ในกฤษฎีกา อีกทั้งมีร่างฉบับของพรรคประชาธิปัตย์ได้เข้าไปรอการพิจารณาอยู่แล้วก็ตาม


 


ทั้งนี้ ในระยะเวลาประมาณ 2 เดือน ที่มีข่าวว่าจะมีการเปิดประชุมสภาสมัยสามัญในสมัยต่อไป และจะมีการนำร่างกฎหมายองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ บรรจุเข้าสู่วาระการประชุมนั้น การล่ารายชื่อ 10,000 ชื่อของภาคประชาชนอาจไม่ทันการ แต่อย่างน้อยก็เป็นการเรียนรู้ของภาคประชาชน และอาจสามารถสร้างแรงกดดันบางอย่างสำหรับภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้บ้าง ยกตัวอย่างเช่นการเรียกร้องให้มีการจัดสัดส่วนให้ภาคประชาชนได้ใช้คลื่นความถี่ไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ซึ่งในส่วนนี้ก็ได้มีการบรรจุไว้ในร่างกฎหมายที่มีการยื่นเสนอหลายๆ ฉบับ ยกเว้นร่างของรัฐบาล (ฉบับของกระทรวงไอซีที)


 


นายสุเทพกล่าวต่อมาว่ากระบวนการจัดทำร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวมีการเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา อีกทั้งการเสนอร่างกฎหมายจากฝ่ายต่างๆ หลายฉบับจนแทบตามไม่ทัน ทั้งนี้เพราะฝ่ายต่างๆ ก็ต้องการสัดส่วนจากการแบ่งสรรทรัพยากรคลื่นความถี่ฯ ซึ่งถือเป็นผลประโยชน์มหาศาล และหากมีการบังคับใช้กฎหมายใหม่ขึ้นแต่ละฝ่ายก็ไม่แน่ใจว่าผลประโยชน์นั้นจะถูกแบ่งสรรกันอย่างไรบ้าง ต่างฝ่ายจึงต่างต้องปกป้องผลประโยชน์ของตนเอง


 


ด้าน ผศ.ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ ประธานสถาบันพัฒนาสื่อภาคประชาชน มูลนิธิการเรียนรู้และพัฒนาประชาสังคม กล่าวถึงข้อเสนอต่อการจัดทำร่างกฎหมายฉบับใหม่ว่า ควรสนับสนุกการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการบริหารจัดการและการเป็นเจ้าของคลื่นความถี่ และในส่วนองค์กรอิสระที่จะมีขึ้นตามร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ นั้น นอกจากต้องเป็นอิสระอย่างแท้จริงแล้วยังจะต้องเป็นองค์กรอิสระที่มีความรับผิดชอบ


 


อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นร่างกฎหมายฉบับไหน ก็ต้องผลักดันให้มีการบังคับใช้กฎหมายเพราะหากไม่มี จะส่งผลต่อกระบวนการต่อสู้เพื่อสิทธิของภาคประชาชนในการมีส่วนร่วมจัดสรรและเป็นเจ้าของคลื่นความถี่ ให้ต้องใช้ระยะเวลายาวนานขึ้นอีก และอาจมีพัฒนาการที่น่าเป็นห่วง แต่อย่างไรก็ตาม ความเป็นธรรมและความชอบธรรมเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับร่างกฎหมายดังกล่าว


 


นอกจากนั้นผศ.ดร.เอื้อจิต ยังได้กล่าวชื่นชมถึงการดำเนินการของวิทยุชุมชนต่างๆ ซึ่งเป็นเหมือนทัพหน้าของการปฏิรูปสื่อเพื่อการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนว่า แม้ภาพในวันนี้จะพบว่ามีความอ่อนล้า แต่ก็ยังยืนหยัดต่อสู้มาถึงวันนี้ได้


 


ด้าน ร.ท.กุเทพ ใสกระจ่าง โฆษกพรรคพลังประชาชน ซึ่งเข้าร่วมฟังการเสวนาแสดงความคิดเห็นว่า เรื่องการปฏิรูปสื่อโดยการจัดสรรการถือครองคลื่นความถี่ มีปัญหาเรื่องการแบ่งผลประโยชน์ ซึ่งระยะเวลาที่ยืดเยื้อกว่า 7 ปีที่ผ่านมายังไม่สามารถแบ่งสรรได้เพราะติดปัญหาผู้ที่ถือครองอยู่เดิม ทั้งนี้การแก้ปัญหาคงต้องอาศัยการพูดคุยกันถึงกระบวนการ


 


นอกจากนั้น ร.ท.กุเทพ ยังแสดงความคิดเห็นต่อการนำเสนอข้อมูลผ่านสื่อของรายการเล่าข่าวบางรายการที่มีการนำเสนอข้อมูลและแสดงความคิดเห็นชี้นำผู้ชมว่าน่าจะมีแนวคิดในการปฏิรูปการใช้สื่อโดยการออกเป็นกฎหมายบ้าง


 


ภายหลังการอภิปรายและร่วมแสดงความคิดเห็น นายไพโรจน์ พลเพชร เลขาธิการสมาคมสิทธิและเสรีภาพของประชาชนได้กล่าวสรุปประเด็นที่มีการพูดคุย ซึ่งสามารถสรุปเป็นข้อๆ ได้ดังนี้ 1.ในส่วนคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสช.) มีข้อเสนอให้ใช้ระบบสรรหา และให้กำหนดคุณสมบัติที่นอกเหนือจากการเป็นผู้มีความรู้เฉพาะด้าน แล้วยังต้องมีเจตนารมณ์ในการในการกระจายการมีส่วนร่วม และมีความเป็นมืออาชีพ


 


นอกจากนี้ ควรกำหนดสัดส่วนการแข่งขันในแต่ละภาคส่วนให้ชัดเจน และในส่วนการตรวจสอบคุณสมบัติโดยไม่ให้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ทางวิชาชีพ ในระยะเวลา 5 ปี ก่อนที่จะเข้ามาเป็นคณะกรรมการฯ นั้นมีการแสดงความเห็นในทางไม่เห็นด้วย เนื่องจากเกรงว่าจะเป็นการจำกัดสิทธิของผู้ที่มีความรู้ความสามารถ


 


2.กรรมการสรรหา มีข้อเสนอให้มีที่มาแบ่งเป็นสัดส่วนอย่างน้อย 4 ส่วน คือ ส่วนราชการ วิชาการ วิชาชีพ และในส่วนภาคประชาสังคม โดยกำหนดหลักเกณฑ์การสรรหาให้ชัดเจน อาทิ ในส่วนกระบวนการที่ผ่านวุฒิสภาซึ่งมีการนำเสนอ 2 แนวทาง คือ ให้คณะกรรการสรรหาทำหน้าที่สรรหาแล้วเสนอรายชื่อในวุฒิสภาคัดเลือก หรือให้คณะกรรการสรรหาทำหน้าที่สรรหาแล้วเสนอรายชื่อในวุฒิสภากลั่นกรอง รับรอง


 


3.แนวทางการจัดสรรคลื่นความถี่ มีข้อเสนอให้มีการกำหนดสัดส่วนที่ชัดเจน (ตัวอย่าง: ต้องจัดให้ภาคประชาชนได้ใช้คลื่นความถี่ไม่น้อยกว่าร้อยละ 20) โดยกระจ่ายให้ท้องถิ่นจัดการดูแลตัวเองและสามารถสื่อสารภายในได้


 


4.การจัดทำแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ฯ ซึ่งความจริงควรถูกจัดทำโดยคณะกรรมการฯ ชุดใหม่ (กสช.) แต่ในขณะนี้คณะกรรมการฯ ดังกล่าวยังอาจต้องมีกระบวนการต่างๆ มากมายและใช้ระยะเวลานานในการจัดตั้ง ดังนั้นหากมีจัดทำแผนแม่บทไม่ว่าโดยส่วนงานใด จะต้องเปิดการมีส่วนร่วมให้กับภาคประชาชน


 


5.กลไกการตรวจสอบ มีข้อเสนอ 2 แนวทาง คือ ให้มีกรรมการอิสระจากคณะกรรมการฯ (กสช.) ทำหน้าที่ตรวจสอบ และ สร้างกลไกภาคประชาชนให้เข้ามาทำหน้าที่ตรวจสอบ โดยยกตัวอย่าง การจัดให้มีสภาผู้ชมทำหน้าที่ตรวจสอบ TPBS


 


6.การให้สัมปทาน มีการแสดงความเห็นด้วยกับการอนุญาตให้ผู้ประกอบการใช้คลื่นความถี่ฯ ตามสัญญาสัมปทานเดิมต่อไปจนกว่าจะหมดสัญญาแล้วให้มีการจัดสรรคลื่นความถี่ใหม่ฯ แต่มีคำถามเกี่ยวกับคลื่นที่ไม่ได้มีการให้สัมปทานซึ่งมีการถือครองคลื่นความถี่ฯ ไว้ ในส่วนนี้กระบวนการเรียกคืนคลื่นความถี่ฯ เพื่อการจัดสรรใหม่จะต้องมีการดำเนินการหรือไม่อย่างไร ยังคงต้องมีการพูดคุยกันต่อไป


 


ในส่วนการดำเนินการต่อไปของภาคประชาชนที่เกี่ยวของกับร่างกฎหมายดังกล่าวนั้น นายไพโรจน์ พลเพชร กล่าวว่าร่างกฎหมายที่นำมาเปรียบเทียบในฉบับของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) และร่างที่นำเสนอโดยคณะกรรมาธิการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ไม่ได้เป็นฉบับที่มีการแก้ไขล่าสุดที่มีการนำเข้าสู่กฤษฎีกา ดังนั้นจึงต้องมีการติดตามร่างกฎหมายฉบับล่าสุด เพื่อนำมาวิเคราะห์ถึงเนื้อหาต่อไป นอกจากนี้ในด้านความร่วมมืออาจมีการร่วมกับภาคส่วนอื่นๆ ในการจัดทำและผลักดันร่างกฎหมาย


 


ทั้งนี้ในส่วนของภาคประชาชน ในขณะนี้ก็ได้มีการล่ารายชื่อเพื่อเสนอร่างพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ฉบับภาคประชาชนขึ้นมา เพื่อยื่นเสนอเป็นฉบับคู่ขนาน และให้ส่วนภาคประชาชนได้เข้าไปมีสิทธิมีเสียงในขั้นของคณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าว


 


 


 


สรุปประเด็นความเห็นที่แตกต่าง


ในการปรับปรุงร่างกฎหมายว่าด้วยองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับดูแลการประกอบกิจการ


 


            ในการปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.. 2543 ให้สอดคล้องกับบทบัญญัติมาตรา 47 และมาตรา 305 (1) ของรัฐธรรมนูญปี 2550 หลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้องให้ความสนใจและร่วมติดตามอย่างกว้างขวาง ประกอบกับมีการจัดทำร่างกฎหมายขึ้นทั้งในส่วนของรัฐบาล พรรคฝ่ายค้าน กมธ.วิทยาศาสตร์ฯ วุฒิสภา คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กทช.รวมถึงภาคประชาชน อย่างไรก็ตามเนื้อหาสาระของร่างกฎหมายที่ปรากฏมีทั้งส่วนที่เหมือนและแตกต่างกัน จึงมีข้อพิจารณาเพื่อศึกษาเปรียบเทียบในประเด็นสำคัญดังนี้


 


1.องค์ประกอบ สัดส่วนและจำนวนของกรรมการ


การกำหนดองค์ประกอบและสัดส่วนกรรมการ ส่วนใหญ่กำหนดแยกเป็นด้านต่างๆ ไว้โดยตรงพร้อมกำหนดจำนวนที่แน่นอน ยกเว้นร่างฯ กทช ที่กำหนดไว้เช่นเดิมตามฉบับปี 2543 แต่องค์ประกอบโดยรวมของกรรมการประกอบด้วยผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านกิจการสื่อ ภาคประชาสังคม และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะสาขา โดยมีสัดส่วนที่แตกต่างกันไป และมีจำนวนตั้งแต่ 10-15 คน


 


สัดส่วนหลักที่ปรากฏในทุกร่างฯ คือด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม การกำหนดสัดส่วนภาคประชาสังคมส่วนใหญ่กำหนดไว้ในมิติด้านการคุ้มครองผู้บริโภคหรือเกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภค และด้านผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางเช่นด้านกฎหมาย เศรษฐศาสตร์ และความมั่นคง


 


2.ขั้นตอนและกระบวนการได้มาซึ่งกรรมการ


กระบวนการแบ่งได้สองลักษณะคือ การสรรหา และ การคัดเลือก


 


กระบวนการสรรหา ร่างฯที่ใช้กระบวนการสรรหาคือ กทช. กมธ. และภาคประชาชน ขั้นตอนที่ตรงกันคือ การตั้งกรรมการสรรหาขึ้นมาคณะหนึ่งเพื่อทำหน้าที่สรรหากรรมการ จากนั้นให้วุฒิสภาพิจารณากลั่นกรองคัดเลือกในขั้นตอนสุดท้าย โดยมีประเด็นสำคัญดังนี้


 


สัดส่วน ที่มากรรมการสรรหา องค์ประกอบที่เห็นตรงกันคือ ให้มีกรรมการสรรหามาจากตัวแทนภาครัฐ วิชาการ วิชาชีพ และองค์กรเอกชนที่ไม่แสวงหากำไร โดยมีสัดส่วนกรรมการสรรหาและจำนวนทั้งคณะใกล้เคียงกัน ทั้งนี้ส่วนที่แตกต่างกันคือ หน่วยงานภาครัฐ องค์กรที่ถูกระบุเจาะจง รวมถึงความหลากหลายขององค์กรเอกชนฯ ที่เกี่ยวข้อง


 


การกลั่นกรองของวุฒิสภา ร่างฯ กทช. และ กมธ.กำหนดให้เสนอรายชื่อจำนวนสองเท่าให้วุฒิสภาคัดเลือกให้เหลือหนึ่งเท่าเช่นเดียวกับร่างกฎหมายเดิม หากเกิดกรณีที่ไม่สามารถเลือกกรรมการให้ครบตามจำนวนได้ให้คณะกรรมการสรรหาคัดเลือกใหม่ ขณะที่ร่างฯภาคประชาชนกำหนดให้เสนอรายชื่อกรรมการทั้งคณะต่อวุฒิสภา กรณีวุฒิสภาไม่เห็นชอบบางคนหรือทั้งหมดให้ส่งกลับเพื่อสรรหาใหม่ แต่หากคณะกรรมการสรรหายืนยันตามมติเดิมด้วยคะแนนเอกฉันท์ ให้แจ้งผลให้ประธานวุฒิสภาทราบ


 


กระบวนการคัดเลือก ร่างฯ ที่ใช้กระบวนการคัดเลือกคือ รัฐบาล และ พรรคฝ่ายค้าน มีขั้นตอนตรงกันคือ การให้องค์กรที่มีสิทธิเสนอรายชื่อกรรมการตามกลุ่มที่กำหนด และให้คัดเลือกกันเองในแต่ละกลุ่มให้เหลือจำนวนสองเท่า เพื่อให้คณะรัฐมนตรีหรือวุฒิสภาเลือกในขั้นตอนสุดท้าย โดยมีประเด็นสำคัญดังนี้


 


องค์กรที่มีสิทธิเสนอรายชื่อกรรมการ  ทั้งสองร่างฯ มีองค์ประกอบที่ตรงกันประกอบด้วย องค์กรวิชาชีพ สถาบันอุดมศึกษา และองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองผู้บริโภค


 


โดยมีส่วนที่ต่างกันในเรื่องเงื่อนไขระยะเวลาการจัดตั้งดำเนินการกล่าวคือ ร่างฯรัฐบาลกำหนดให้องค์กรหรือสถาบันอุดมศึกษาที่เสนอรายชื่อต้องจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลหรือมีการสอนในสาขาวิชานั้นมาไม่ต่ำกว่าห้าปี ขณะที่ร่างฯ พรรคประชาธิปัตย์ กำหนดให้เฉพาะสถาบันอุดมศึกษาที่ต้องมีการสอนในสาขาวิชานั้นมาไม่ต่ำกว่าสิบห้าปี


 


ทั้งนี้ในบทเฉพาะกาลของทั้งสองร่างฯ กำหนดตรงกันว่าให้วาระแรกระยะเวลาห้าปีที่กำหนดให้ลดลงเหลือสองปี ในกรณีนี้ร่างฯพรรคฝ่ายค้านจึงหมายถึงเฉพาะองค์กรวิชาชีพและองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองผู้บริโภคเท่านั้น


 


การเสนอรายชื่อกรรมการเพื่อคัดเลือกกันเอง ทั้งสองร่างฯ กำหนดให้องค์กรและสถาบันที่มีสิทธิเสนอรายชื่อได้ตามกลุ่มที่กำหนด จากนั้นให้มีการคัดเลือกกันเองในแต่ละกลุ่มให้ได้จำนวนสองเท่า


 


โดยมีส่วนที่ต่างกันในเรื่องการเสนอรายชื่อกรรมการในกลุ่ม "ตัวแทนองค์กรคุ้มครองผู้บริโภค" กล่าวคือ ร่างฯพรรคฝ่ายค้านเปิดให้องค์กรด้านวิชาชีพเสนอรายชื่อกรรมการในส่วนนี้ได้ ส่วนร่างฯรัฐบาลกำหนดให้สถาบันอุดมศึกษาที่สอนด้านเศรษฐศาสตร์ ด้านนิติศาสตร์ และองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นผู้เสนอรายชื่อ   


 


3.คุณสมบัติกรรมการและลักษณะต้องห้าม 


การกำหนดคุณสมบัติกรรมการทุกร่างฯมีความเห็นสอดคล้องกัน ยกเว้นในประเด็นการกำหนดให้กรรมการต้องไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งหรือมีหุ้นในธุรกิจกระจายเสียง โทรทัศน์ และโทรคมนาคมในระยะเวลาก่อน 5 ปี เป็นการกำหนดเพิ่มเติมของร่างรัฐบาล พรรคฝ่ายค้าน และภาคประชาชน ส่วนร่างฯกทช.และกมธ.กำหนดคุณสมบัตินี้ไว้แต่ไม่ระบุระยะเวลา


 


4.การกำกับดูแลกิจการเฉพาะด้าน


ทุกร่างฯ กำหนดให้มีคณะกรรมการหนึ่งชุดในการทำหน้าที่เป็นหลัก และจัดตั้งคณะกรรมการย่อยขึ้นมาทำหน้าที่กำกับดูแลเฉพาะด้าน ซึ่งคณะกรรมการย่อยมีที่มาแตกต่างกันดังนี้


 


การแบ่งกรรมการหลักออกเป็นสองด้าน ร่างฯของภาคประชาชน กทช. และกมธ. กำหนดให้กรรมการย่อยที่ทำหน้าที่กำกับดูแลกิจการเฉพาะด้านมาจากกรรมการหลักที่ได้รับการสรรหามา


 


การแต่งตั้งบุคคลภายนอกเพิ่มเติม ซึ่งร่างฯของรัฐบาลและพรรคประชาธิปัตย์ กำหนดให้คณะกรรมการเฉพาะด้านมาจากกรรมการ 4 คน และให้กรรมการแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย เศรษฐศาสตร์ หรือด้านกิจการอีกไม่เกิน 3 คน


 


ทั้งนี้ในร่างฯ กมธ.กำหนดให้ตั้งคณะกรรมการเพิ่มเติมจากที่กล่าวมาอีกสองคณะคือ คณะกรรมการกำกับดูแลการให้บริการข้อมูลภายใต้การหลอมรวมสื่อ และ คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าในกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม โดยให้ กสช.แต่งตั้งจากกรรมการและผู้ทรงคุณวุฒิภายนอก


 


ข้อมูลสรุปโดย: นายสุเทพ วิไลเลิศ เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ


 


 

 

 


อ่านข่าวเพิ่มเติม


 


กทช.จัดเวทีถก 4 ร่างพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นฯ จาก 4 หน่วยงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net