Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2551 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้จัดงานประกาศผลและมอบโล่เกียรติยศให้แก่ผลงานวิจัยที่ได้รับเลือกให้เป็นผลงานวิจัยเด่น สกว. ประจำปี 2551 ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้น 24 ผลงานจากงานวิจัย 3 กลุ่มคือ กลุ่มงานวิจัยเชิงวิชาการและโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.) 8 ผลงาน กลุ่มงานวิจัยและพัฒนา 8 ผลงาน และกลุ่มงานวิจัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น 8 ผลงาน


 


ศ.ดร.ปิยะวัติ บุญ-หลง ผู้อำนวยการ สกว. กล่าวว่า ในรอบปีที่ผ่านมา งานวิจัยของ สกว. จำนวนมากมีส่วนช่วยประเทศทั้งในระดับชุมชน ท้องถิ่น และประเทศ ให้ปรับตัวเข้ากับสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นปัจจุบันและอนาคตได้ ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และความมั่นคง โดยมีการนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในด้านเหล่านี้ทั้งในเชิงนโยบาย เชิงพาณิชย์ เชิงวิชาการ เชิงสาธารณะ และเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน


 


สำหรับปัญหาคุกคามด้านความมั่นคงซึ่งไทยกำลังประสบ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความมั่นคงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือปัญหากรณีพื้นที่ทับซ้อนไทย - กัมพูชา ศ.ดร. ปิยะวัติ กล่าวว่า สกว. มีผลงานวิจัยจากโครงการความมั่นคงศึกษา ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำไปใช้เป็นข้อมูลในการจัดการกับปัญหา และสร้างความเข้าใจแก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ นอกจากนี้ยังมีผลงานของนักวิจัยในโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.) ที่สร้างวงจรกำเนิดสัญญาณอลวนรูปแบบต่างๆ ซึ่งมีศักยภาพที่จะนำมาใช้ในงานด้านความมั่นคง เช่น เข้ารหัสเอกสารลับของทางราชการไม่ให้ผู้ก่อความไม่สงบนำไปใช้ในทางที่ผิด หรือประยุกต์ใช้กับหุ่นยนต์จับทุ่นระเบิด เป็นต้น


 


ผอ. สกว. กล่าวว่า ผลงานเด่นของ สกว. หลายผลงานมีส่วนช่วยบรรเทาปัญหาเศรษฐกิจ สังคม ทรัพยากร และสิ่งแวดล้อม อาทิ งานวิจัยเพื่อพัฒนาไก่ประดู่หางดำ งานวิจัยเพื่อสร้างฐานความรู้เรื่อง REACH (Registration, Evaluation, Authorisation and Restriction of Chemicals เป็นกฎหมายของสหภาพยุโรปว่าด้วยการจดทะเบียน การประเมิน การอนุญาต และการจำกัดการใช้สารเคมี ซึ่งกระทบต่ออุตสาหกรรมไทยที่ส่งออกไปอียูทั้งหมด) และงานวิจัยเพื่อการจัดการทรัพยากรน้ำในจังหวัดระยอง เป็นต้น


 


สำหรับงานวิจัยการจัดการน้ำในจังหวัดระยอง ศ.ดร. ปิยะวัติ อธิบายว่า เป็นโครงการที่ดึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งภาคเกษตร ชุมชนเมือง ภาคอุตสาหกรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการน้ำ เช่น กรมชลประทาน กรมอุตุนิยมวิทยา เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการปัญหาความขาดแคลนและความขัดแย้งจากการใช้ประโยชน์ทรัพยากรน้ำร่วมกัน ทำให้เกิดการจัดการน้ำอย่างเป็นระบบและเป็นธรรม ทุกภาคส่วนให้การยอมรับเพราะมีส่วนร่วมให้ข้อมูลมาตั้งแต่ต้น "จากความสำเร็จดังกล่าวและความสำคัญของปัญหาการจัดการน้ำ สกว. จึงได้ยกระดับโครงการนี้ขึ้นเป็นงานวิจัยเชิงยุทธศาสตร์เพื่อการจัดการน้ำระดับชาติ โดยมีแผนจะดำเนินงานในลุ่มน้ำต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่งเมื่อสำเร็จ จะทำให้เรามีข้อมูลตัวเลขความต้องการน้ำ และปริมาณน้ำที่มีทั้งประเทศ ช่วยให้แต่ละพื้นที่สามารถบริหารจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ" ผอ.สกว. กล่าว


 


ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2551 สกว.ใช้งบประมาณจำนวน 1,837 ล้านบาทในการสนับสนุนโครงการวิจัยใหม่จำนวน 1,625 โครงการ สร้างนักวิจัยใหม่จำนวน 4,436 คน สนับสนุนโครงการวิจัยเดิมที่กำลังดำเนินการจำนวน 5,428 โครงการ เกิดผลงานที่ใช้ประโยชน์ได้โดยตรง 343 โครงการ มีผลงานตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ 1,150 เรื่อง สร้างนักวิจัยระดับปริญญาเอกใหม่ 229 คน สร้างนักวิจัยท้องถิ่น 1,859 คน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net