Skip to main content
sharethis




 



 



เมื่อวันที่ 14-16 .. ที่ผ่านมา ที่ อ.กระนวน จ.ขอนแก่น สหพันธ์เยาวชนอีสาน(สยส.) ร่วมกับสหพันธ์นิสิตนักศึกษาภาคอีสาน(สนนอ.) เป็นเจ้าภาพร่วมจัดกิจกรรม "ค่ายเกี่ยวข้าวเล่าความจริง"


 


ในงานนี้มีนักกิจกรรมเข้าร่วมจากหลายส่วนด้วยกันคือทั้งจาก 5 มหาวิทยาลัยในภาคอีสานอันประกอบไปด้วย มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยสารคาม มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลขอนแก่น และตัวแทนนักกิจกรรมจากส่วนกลางเข้าร่วม ประกอบไปด้วยสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย(สนนท.) กลุ่มรามอีสาน กลุ่มศึกษาและแก้ไขปัญหาแหล่งเสื่อมโทรม จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง และกลุ่มผีเสื้อขยับปีก รวมนักกิจกรรมที่เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ทั้งหมดกว่า 60 คน


 


การจัดกิจกรรมค่ายเกี่ยวข้าวเล่าความจริง ในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อรับฟังการบรรยายวิชาการต่อสถานการณ์การเมืองปัจจุบันและวิกฤตทุนนิยมโลกโดยนักวิชาการอิสระ การร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานกิจกรรมโดยนักกิจกรรมที่เข้าร่วม และการร่วมลงแรงเกี่ยวข้าว


 


กิจกรรมแลกเปลี่ยนแลกเปลี่ยนประสบการณ์นักกิจกรรม


นักศึกษาที่มาร่วมในค่ายนี้ทั้งหมดเป็นผู้ให้นิยามตนเองว่าเป็นนักกิจกรรม กิจกรรรมแบ่งกลุ่มแลกเปลี่ยนตามลำดับดังต่อไปนี้จึงมีความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง


 


ประเด็นที่หนึ่ง "เพื่อสังคมในความหมายของนักกิจกรรมคืออย่างไร?"


 


ภายใต้สังคมที่ยังมีความไม่เท่าเทียมกันอยู่ในขณะนี้นักกิจกรรมมองว่า "ตัวนักกิจกรรมเองต้องเข้าใจถึงความมีชนชั้นของสังคมให้ชัดเจนก่อน" ประหนึ่งว่าต้องเข้าถึงสัจธรรมของสังคมให้ได้เสียก่อนและอธิบายถึงความเป็นชนชั้นของสังคมได้อย่างเป็นเหตุเป็นผล ต่อคำว่า "เพื่อสังคม" ในความหมายของนักกิจกรรมมองว่าต้องมีการเสียสละสำหรับตัวนักกิจกรรมผู้อุทิศตนเพื่อสังคม เพื่อประชาชนที่ยังยากไร้อยู่ เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกันในสังคม


 


ประเด็นที่สอง "กิจกรรมเพื่อกิจกรรม vs กิจกรรมเพื่อสังคมแตกต่างกันอย่างไร?"


 


นักกิจกรรมกลุ่มนี้ให้นิยามคำว่ากิจกรรมว่า "เป็นสิ่งที่ต้องทำ" ซึ่งมีทั้งลักษณะทั้งเรียกร้องตนเองและผู้อื่นในตัว อันสะท้อนถึงภารกิจทางประวัติศาสตร์ที่ต้องแบกรับของคนหนุ่มคนสาว ความแตกต่างระหว่างเพื่อกิจกรรมกับเพื่อสังคมมีความแตกต่างกันอย่างมาก สามารถแยกความแตกต่างโดยใช้กลุ่มเป้าหมายของกิจกรรมได้คือเพื่อสังคมจะมีขอบเขตของกลุ่มเป้าหมายที่กว้างกว่าดังนั้นจึงทำให้เนื้อหาที่เรียนรู้มีความแตกต่างกันด้วย เพราะฉะนั้นลักษณะของนักกิจกรรมสองแบบนี้จึงมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เช่นการอธิบายกิจกรรมรับน้องที่มุ่งใช้ลักษณะการผูกขาดอำนาจของรุ่นพี่เพื่อควบคุมรุ่นน้องและก่อให้เกิดลักษณะอุปถัมภ์ระหว่างรุ่นพี่กับรุ่นน้อง รูปแบบและเนื้อหาดังกล่าวนี้นักกิจกรรมเพื่อสังคมจะมองว่า "ไม่สอดคล้องต่อสังคม" เป็นรูปการจิตสำนึกที่ล้าหลัง ต้องปรับเปลี่ยนในลักษณะ "ปลดปล่อย" เข้าใจสังคมมีเนื้อหา และเป้าหมายเพื่อสังคมที่ชัดเจน


 


ประเด็นที่สาม "นักกิจกรรมมีท่าทีต่อสถานการณ์การเมืองปัจจุบันอย่างไร?"


 


บทสรุปของหัวข้อนี้ก็คือ "นักกิจกรรมจำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับการเมือง" เนื่องจากการเมืองเป็นเรื่องของการจัดสรรผลประโยชน์ให้ทุกคน ทุกคนจึงเกี่ยวข้องกับการเมือง และตัวนักกิจกรรมเองที่ทำกิจกรรมเพื่อผลประโยชน์ของชนชั้นล่างซึ่งเป็นชนชั้นที่เสียผลประโยชน์มาตลอด ดังนั้นการเข้าใจการเมืองจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่นักกิจกรรมต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจ


 


ต่อสถานการณ์การเมืองปัจจุบันมองว่า การเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรฯ "เป็นการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องอำนาจให้กับชนชั้นสูง" และมีวิธีการแก้ปัญหาของประเทศที่ไม่เป็นประชาธิปไตยเช่น การรัฐประหาร การเรียกร้องอำนาจนอกรัฐธรรมนูญ (เป็นรูปการจิตสำนึกที่ล้าหลัง) ฯลฯ ธรรมชาติโดยพื้นฐานจึงเป็นปฏิปักษ์โดยตรงต่อชนชั้นกรรมกรและชาวนาซึ่งเป็นชนชั้นล่าง ดังนั้นท่ามกลางสถานการณ์ปัจจุบันนักกิจกรรมจะต้องชูธงประชาธิปไตยทั้งรูปแบบและเนื้อหาซึ่งเป็นอาวุธเดียวที่เหลืออยู่ให้ประชาชนได้ต่อสู้ และเข้าใจเพื่อผลประโยชน์แห่งชนชั้นตนเอง


 


ประเด็นที่สี่ "นักกิจกรรมจะทำอะไรต่อไปในอนาคต?"


 


สิ่งที่สำคัญที่สุดเหนืออื่นใดที่นักกิจกรรมกลุ่มนี้ให้ความสำคัญคือ "สำนึกทางการเมืองที่ถูกต้อง" เป็นสำนึกแห่งชนชั้นผู้ถูกกดขี่ ซึ่งจะมาจากการจัดการศึกษาที่ถูกต้อง ผ่านงานจัดตั้ง เป็นเครือข่าย และหล่อหลอมตนเองท่ามกลางการปฏิบัติ ต่อภารกิจของนักกิจกรรมในอนาคต ที่ต่อเนื่องจากประเด็นที่ผ่านมาก็คือนักกิจกรรมจะต้องไม่จำกัดตนเองเฉพาะช่วงที่เรียนมหาวิทยาลัยเท่านั้นตราบเท่าที่สังคมยังมีความไม่เท่าเทียมกันอยู่นักกิจกรรมก็จะต้องดำเนินกิจกรรมต่อไปไม่หยุดยั้ง จึงจะได้ชื่อว่าเป็นนักกิจกรรมเพื่อสังคมมิใช่นักกิจกรรมเพื่อกิจกรรม


 


นี่คือบทสรุปจากค่ายเกี่ยวข้าวเล่าความจริงที่พวกเขาได้ร่วมกันกลั่นออกมาจากประสบการณ์หลายอย่างอาจจะดูแหกกรอบสังคมไปบ้างแต่มันอาจจะเป็นทางออกของสังคมก็ได้ใครจะรู้...


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net