Skip to main content
sharethis



น้ำเสียโรงงานถ่านหิน - ท่อน้ำเสียจากโรงงานบริษัท ไฮแคร์อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เป็นภาพถ่ายขณะกำลังปล่อยน้ำเสียลงคลองต่ำ (ภาพบน) จะเห็นสีของน้ำที่ไหลมาตามลำคลองกับน้ำเสียที่ทิ้งมาจากโรงงานต่างกันชัดเจน อาคารที่เห็นอยู่ไกลๆ เป็นอาคารที่ทำการเทศบาลเมืองควนลัง (ภาพล่าง)
ถ่ายเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2551


การใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงในโรงงานอุตสาหกรรมในจังหวัดสงขลา ดูจะยังเป็นที่สนใจของคนทั่วไปอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะภาพหลอนจากผลกระทบจากโรงไฟฟ้าถ่านหินที่อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ที่ยังเป็นเรื่องราวติดปากของชาวชาวจังหวัดสงขลาอยู่บางส่วนอย่างไม่ขาดสาย


ยิ่งกับประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่รอบโรงงานอุตสาหกรรม 3 แห่งที่ไปใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงในโรงงานอุตสาหกรรมแล้ว ได้แก่ โรงงานผลิตถุงมือยางของบริษัท อินโนเวทีฟ โกลฟส์ จำกัด ตำบลควนลัง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา โรงงานผลิตถุงมือยางของบริษัท ไฮแคร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด หมู่ที่ 3 ตำบลควนลัง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา และโรงงานปลาป่นของบริษัท จะนะอุตสาหกรรม การประมง จำกัด ตำบลจะโหน่ง อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา


โดยในช่วงที่ผ่านมา โรงงานอุตสาหกรรมทั้ง 3 แห่ง ได้สร้างผลกระทบให้กับชาวบ้านรอบๆ มาแล้ว จนมีการร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กระทั่งทำให้เจ้าหน้าที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสงขลาต้องลงมาสำรวจและเก็บตัวอย่างน้ำเสียไปตรวจสอบแล้ว



ตรวจถ่านหิน - เจ้าหน้าที่อุตสาหกรรมจังหวัดสงขลา ลงพื้นที่ตรวจ 3 โรงงานใช้ถ่านหิน ที่ถูกร้องเรียนว่าก่อมลพิษ และแอบปล่อยน้ำเสีย ส่งผลกระทบต่อชาวบ้าน พร้อมแจ้งเตือนให้แก้ไขภายใน 60 วัน


โรงงานแห่งแรก คือ โรงงานบริษัท ไฮแคร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ซึ่งนายสวัสดิ์ หนูอุไร ชาวบ้านหมู่ที่ 3 ตำบลควนลัง ซึ่งมีบ้านพักอาศัยอยู่บริเวณข้างๆ เปิดเผยก่อนหน้านี้ว่า ตนเองและชาวบ้านละแวกนี้รู้ว่า โรงงานแห่งนี้ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง แต่ไม่ทราบจะทำอย่างไร ที่ผ่านมาโรงงานไม่ได้แจ้งให้ชาวบ้านทราบอะไรเลย ตอนนี้ได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก โดยเฉพาะเวลาโรงงานปล่อยเขม่าควันออกมาทางปล่อง ทั่วบริเวณจะเต็มไปด้วยขี้เถ้า และมีกลิ่นเหม็นเหมือนกับแอมโมเนียใส่น้ำยางพารา ช่วงนั้นจะแสบจมูกมาก ขณะที่ขี้เถ้าจะหล่นบริเวณรอบๆ เต็มไปหมด


นายสวัสดิ์ เปิดเผยต่อไปว่า โรงงานจะแอบปล่อยขี้เถ้าออกมาเป็นระยะ บางทีแอบปล่อยตอนกลางคืน ตื่นขึ้นมาขี้เถ้าเต็มบ้านไปหมด โดยเฉพาะช่วงเดือนเมษายน - พฤษภาคม 2551 มีการปล่อยเขม่าควันมากกว่าปกติ เมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา ตนทนไม่ไหวโกยขี้เถ้าใส่ถุงนำไปให้นายประวิง บุญเพชร สมาชิกสภาเทศบาลเมืองควนลัง หลังจากรับเรื่องไปแล้วสักพักเรื่องก็เงียบไป ไม่ทราบว่าเป็นอะไร ชาวบ้านเลยเบื่อ ไม่ทราบจะไปบอกใคร ได้แต่นั่งวิจารณ์กันเอง ที่สำคัญชาวบ้านไม่มีความรู้เกี่ยวกับผลกระทบจากถ่านหินด้วย ตนฝากไปถึงผู้รับผิดชอบให้ช่วยดูแลด้วย เพราะชาวบ้านไม่ทราบจะไปพึ่งใคร


"นอกจากนี้ ตอนฝนตกโรงงานแห่งนี้ยังลอบปล่อยน้ำเสียลงคลองต่ำ ซึ่งไหลผ่านหน้าโรงงานและไหลผ่านหน้าสำนักงานเทศบาลเมืองควนลัง ไปบรรจบกับคลองวาด ที่ไหลมาจากบ้านหูแร่ ผ่านบ้านบางแฟบ หมู่ที่ 2 ตำบลควนลัง ลงสู่คลองอู่ตะเภา จนตอนนี้ชาวบ้านไม่สามารถจับปลาในคลองได้แล้ว" นายสวัสดิ์ กล่าว


ขณะที่ นางพึ่งบุญ วงศ์ชนะ นายกเทศมนตรีเมืองควนลัง เปิดเผยว่า ในเขตของเทศบาลเมืองควนลังมีโรงงาน ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง 2 แห่ง คือ บริษัท อินโนเวทีฟ โกลฟส์ จำกัด ตั้งอยู่หมู่ที่ 4 ขณะนี้ทางเทศบาลเมืองควนลัง ยังไม่ได้อนุญาตให้เดินเครื่องใช้ถ่านหิน เพราะยังไม่ทำประชาพิจารณ์และรับฟังความเห็นของชาวบ้าน โดยทางบริษัท อินโนเวทีฟ โกลฟส์ จำกัด แจ้งแต่เพียงว่า เป็นการทดลองใช้ ตนจึงให้กองสาธารณสุข เทศบาลเมืองควนลัง เข้าไปตรวจสอบแล้ว


นางพึ่งบุญ เปิดเผยว่า หลังจากที่ได้รับเรื่องและข้อมูลต่างๆ ได้ติดต่อไปยังอุตสาหกรรมจังหวัดสงขลา ให้เข้ามาตรวจสอบ ในส่วนของเทศบาลเมืองควนลังพยายามควบคุมการปล่อยน้ำเสียของโรงงาน แต่ส่วนมากโรงงานจะแอบปล่อยในตอนกลางคืน หรือตอนฝนตก หลังจากนี้เทศบาลเมืองควนลัง จะเฝ้าระวังให้มากขึ้น


น.ส.พิมพ์ใจ รัตนะ ผู้อำนวยการกองสาธารณสุข เทศบาลเมืองควนลัง เปิดเผยว่า ในส่วนของกองสาธารณสุขเทศบาลเมืองควนลัง พยายามเข้มงวดเรื่องน้ำเสีย ในเบื้องต้นกองสาธารณสุขฯ ได้ทำหนังสือแจ้งไปยังบริษัท   ไฮแคร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ส่งผลการตรวจน้ำ 3 เดือนต่อครั้งให้กับเทศบาลเมืองควนลัง ที่ผ่านมาผลการตรวจอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ทางบริษัท ไฮแคร์อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ได้จ้างบริษัทเอกชนที่ได้รับมาตรฐานการรับรองจากอุตสาหกรรม เป็นผู้ตรวจสอบ

น.ส.พิมพ์ใจ กล่าวต่อไปว่า ส่วนการใช้ถ่านหินบริษัทไฮแคร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ขณะนี้ทางบริษัทได้เปลี่ยนจากถ่านหินเป็นน้ำมันเตามาประมาณ 5 - 6 เดือนแล้ว เขม่าที่เกิดขึ้นเมื่อ 6 - 7 เดือนก่อน ทางเทศบาลเมืองควนลังได้แก้ไขไปแล้ว เป็นเพียงเขม่าควันที่ติดค้างอยู่ในปล่องท่อ หลังจากหยุดเดินเครื่องไปนาน

"ส่วนการใช้ถ่านหินของบริษัทอินโนเวทีฟ โกลฟส์ จำกัด ขณะนี้เทศบาลเมืองควนลังยังไม่ให้ความเห็นชอบ ทางโรงงานแจ้งว่าเป็นเพียงการทดลองเครื่อง ส่วนการอนุมัติให้ใช้ถ่านหินเป็นอำนาจของอุตสาหกรรมจังหวัดสงขลา" น.ส.พิมพ์ใจ กล่าว


ส่วนบริษัท ไฮแคร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัดนั้น นางพึ่งบุญ เปิดเผยว่า บริษัท ไฮแคร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง ก่อนที่ตนจะมารับตำแหน่ง ขณะนี้ทางเทศบาลเมืองควนลัง ได้ประสานไปยังบริษัท ไฮแคร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เพื่อขอเอกสารการขอใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงมาพิจารณาใหม่ และจะตามเรื่องที่ชาวบ้านร้องเรียนผ่านนายประวิง บุญเพชร สมาชิกสภาเทศบาลเมืองควนลัง ด้วย ส่วนเรื่องน้ำเสียจากโรงงาน ที่ปล่อยลงสู่คลองต่ำ ทางเทศบาลเมืองควนลัง จะทำหนังสือเตือนไปยังโรงงานให้ควบคุมต่อไป


ขณะที่ผลกระทบจากโรงงานปลาป่นของบริษัท จะนะอุตสาหกรรม การประมง จำกัด จากการใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงนั้น นายหมาน หมาดหรี ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 11 ตำบลจะโหน่ง กล่าวว่า ได้ข่าวโรงงานแห่งนี้ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงเหมือนกัน ตนเพิ่งมารับตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านได้ไม่กี่เดือน ประกอบกับไม่ค่อยมีความรู้เรื่องผลกระทบของถ่านหิน กรณีนี้เป็นเรื่องสำคัญผู้นำต้องร่วมมือกันทั้งหมด เหมือนกับกรณีนำถ่านหินมากองรอนำออกไปจำหน่าย ที่หมู่ที่ 9 บ้านตรับ ตำบลจะโหน่ง ครั้งนั้นผู้นำท้องถิ่นไม่เห็นด้วยที่นำถ่านหินมากองไว้ จึงร่วมมือกัประท้วงขับไล่จนเป็นผลสำเร็จ


นายหมาน กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้ไม่มีคนมาร้องเรียนเรื่องผลกระทบจากการใช้ถ่านหินของโรงงาน อาจเป็นเพราะชาวบ้านส่วนมากทำงานในโรงงานเลยไม่อยากยุ่ง และโรงงานก็ดี รับคนในพื้นที่เข้าทำงานหมด เรื่องนี้ตนเห็นว่า ต้องชั่งน้ำหนักส่วนได้ส่วนเสียของคนในพื้นที่ว่า ได้รับอะไรจากการเข้ามาตั้งโรงงานของบริษัทฯ มากกว่าที่จะคิดไม่เอาถ่านหินเพียงอย่างเดียว



ขี้เถ้า - กองกากถ่านหินถูกถมอยู่ภายในพื้นที่โรงงานปลาป่นของบริษัท จะนะอุตสาหกรรมการประมง จำกัด จะเห็นได้ว่า หญ้าบริเวณใกล้เคียงกับกากถ่านหินแห้งตายเป็นแนว


นายดนนี เง๊ะหวัง อยู่บ้านเลขที่ 40 หมู่ที่11 ตำบลจะโหนง เปิดเผยว่า ตนเป็นพนักงานโรงงานจะนะอุตสาหกรรมการประมง จำกัด มา 10 กว่าปี ในตำแหน่งพนักงานทั่วไป จึงรู้ว่าโรงงานเปลี่ยนมาใช้เชื้อเพลิงถ่านหิน แทนจากน้ำมันเตา แต่ไม่เคยรู้ว่าจะมีผลกระทบ หรือเป็นอันตราย จึงยังคงทำงานไปตามปกติ โดยไม่เคยมีปัญหาเรื่องสุขภาพมาก่อน ตลอดอายุการทำงานตนเป็นคนร่างกายแข็งแรง


นายดนนี เปิดเผยต่อว่า ประมาณ 2 ปีที่ผ่านมา ตนมาตำแหน่งควบคุมเครื่องจักรหม้อต้ม ซึ่งอยู่แถวหน้าเตาหม้อต้มที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง โดยมีที่ปิดจมูกเรียบร้อย หลังจากนั้น เริ่มมีอาการแสบๆ คันๆ ตามผิวหนังขึ้นเป็นผื่น เหมือนเป็นลมพิษหรือโรคเรื้อน ตนก็ไม่เอะใจอะไร สักพักอาการเริ่มลามไปทั้งตัว จากที่เป็นผื่นแดงก็เริ่มเป็นแผลผุพอง จากนั้นจึงไปพบแพทย์ปนัดดาที่คลินิกในตัวเมืองสงขลา แพทย์วินิจฉัยว่าเกิดจากการแพ้สารเคมีได้ให้ยากิน แต่ไม่หาย


นายดนนี เปิดเผยอีกว่า ขณะนั้นตนยังทำงานอยู่ และอาการก็หนักขึ้นเรื่อยๆ ตนคิดว่ามันไม่ไหวแล้ว เลยลาออกจากโรงงานมารักษาตัวด้วยการกินยาและทายา ขณะนี้อาการดีขึ้นมาก และได้มีพนักงานคนอื่นๆ ก็บ่นอยู่เหมือนกันว่า ขณะนี้ บางทีรู้สึกแน่นหน้าอก และปวดหัวมากเวลาทำงาน แต่ก็ไม่รู้ว่า พวกนั้นไปหาหมอหรือยัง



ผลกระทบ - บริเวณที่มีอาการคันบนขาของนายดนนี เง๊ะหวัง อดีคนงานของโรงงานปลาป่นของบริษัท จะนะอุตสาหกรรมการประมง จำกัด ที่แพทย์สันนิฐานว่าแพ้สารเคมี



นายเสถียร ประทุมมณี นายกองค์การบริหารส่วนตำบลจะโหน่ง เปิดเผยว่า เมื่อก่อนตนไม่เคยทราบว่า โรงงานใช้ถ่านหินมารู้ตอนหลัง จากการบอกเล่าของชาวบ้าน ตอนที่ออกหาเสียงเมื่อได้เจอกับนายดนนี เง๊ะหวัง จึงได้รู้ว่าตอนนี้เกิดผลกระทบแล้ว และกระทบในหลายพื้นที่ด้วย หลังมารับตำแหน่งยังไม่ถึงเดือน ก็ได้ยินเข้ามาเรื่อยๆ เช่น ที่หมู่ที่ 1 บ้านโคกทราย ตำบลจะโหน่ง ก็เคยมีชาวบ้านพูดให้ฟังอยู่เหมือนกัน จึงได้เรียกนายวรายุทธ์ เหลดเหม รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลจะโหน่ง มาปรึกษา ถึงการแก้ปัญหาเรื่องที่เกิดขึ้น โดยสรุปว่าทางองค์การบริหารส่วนตำบลจะโหน่งจะเชิญผู้จัดการโรงงานมา เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาในเรื่องนี้ และรวมไปถึงทั้งเรื่องของน้ำเสียด้วย


ในส่วนของตัวแทนโรงงานอุตสาหกรรมที่ใช่ถ่านหินดังกล่าว อย่างนายภานุ เรืองจันทร์ ผู้จัดการทั่วไป ที่ระบุว่า เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2551 ที่ห้องประชุมภายในบริษัท อินโนเวทีฟ โกลฟส์ จำกัด ทางบริษัทได้มีการประชุมติดตามผลการใช้ถ่านหิน ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย ชาวบ้านหมู่ที่ 4 ตำบลควนลัง และชาวบ้านหมู่ที่ 1 ตำบลทุ่งตำเสา อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา กับตัวแทนบริษัท อินโนเวทีฟ โกลฟส์ จำกัด มีผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ 20 คน


โดยวาระในการประชุมเพื่อทำความเข้าใจกับชาวบ้านและชุมชนถึงผลกระทบและปัญหาเรื่องการดำเนินการใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงของบริษัทฯและร่วมกันหาทางแก้ไขและการเฝ้าระวังครั้งนี้ตนได้กล่าวในที่ประชุมว่า การเชิญชาวบ้านบริเวณรอบๆ โรงงานมาประชุมครั้งนี้ เพราะต้องการจะรับฟังปัญหาและผลกระทบที่ชาวบ้านได้รับ อันเนื่องมาจากการประกอบธุรกิจของโรงงาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องน้ำเสีย หรือเรื่องการใช้ถ่านหินว่า มีอะไรบ้าง จะให้ทางโรงงานแก้ไขอย่างไร ซึ่งทางโรงงานยินดีที่จะรับฟังปัญหา และพร้อมที่จะแก้ไขทุกเรื่องที่สร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้าน

ระหว่างการประชุม มีชาวบ้านถามถึงผลกระทบระยะยาวเกี่ยวกับมลพิษของการใช้ถ่านหิน ซึ่งอาจจะไม่เกิดในทันที ทางโรงงานจะทำอย่างไร นายภานุชี้แจงว่า กรณีนี้ทางโรงงานมีนโยบายเฝ้าระวัง โดยให้ผู้ร่วมประชุมเสนอรายชื่อชาวบ้านหมู่บ้านละ 10 คน มาตรวจสุขภาพประจำปี และทางโรงงานจะตรวจคุณภาพน้ำตามแหล่งน้ำภายในหมู่บ้าน เพื่อความสบายใจของทุกฝ่าย พร้อมกับจะจัดประชุมระหว่างชาวบ้านกับโรงงาน เพื่อติดตามผลและรับฟังปัญหาทุก 3 เดือน
           
นายภานุ ชี้แจงต่อที่ประชุมอีกว่า ทางบริษัท อินโนเวทีฟ โกลฟส์ จำกัด ได้ทำหนังสือแจ้งขออนุญาตเปลี่ยนการใช้เชื้อเพลิง จากน้ำมันเตามาเป็นถ่านหินต่ออุตสาหกรรมจังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2551 กรมอุตสาหกรรมพิจารณาแล้วเห็นว่า ยังขาดความเห็นชอบจากเทศบาลเมืองควนลัง เพื่อการประกอบการพิจารณาตามกฎหมายวิธีการปฏิบัติราชการทางปกครอง ทางบริษัท อินโนเวทีฟ โกลฟส์ จำกัด จึงทำหนังสือถึงเทศบาลเมืองควนลัง เพื่อขอความเห็นชอบ และได้ร่วมประชุมปรึกษาหาแนวทางร่วมกัน พร้อมกับตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการขอความเห็นเบื้องต้นเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงการใช้เชื้อเพลิงของบริษัท อินโนเวทีฟ โกลฟส์ จำกัดด้วย


ต่อมา เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2551 บริษัท อินโนเวทีฟ โกลฟส์ จำกัด ได้เชิญกรรมการหมู่บ้าน, ผู้ใหญ่บ้าน, ชาวบ้านรอบโรงงาน อุตสาหกรรมจังหวัดสงขลา มารับฟังคำบรรยายจาก นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เกี่ยวกับคุณสมบัติของถ่านหินและผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ที่ประชุมมีข้อสรุปว่า ชาวบ้านทั้งหมดเห็นด้วยที่บริษัท อินโนเวทีฟ โกลฟส์ จำกัด จะเปลี่ยนมาใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง และถ้าเกิดความเสียหายที่อาจจะมีผลกระทบต่อชาวบ้านหรือชุมชน ทางบริษัท อินโนเวทีฟ โกลฟส์ จำกัด จะรับผิดชอบทั้งหมดหลังจากเสร็จสิ้นการประชุม นายภานุได้นำผู้เข้าร่วมประชุมทั้งหมด เดินชมบริเวณภายในโรงงาน


ในส่วนบริษัท จะนะอุตสาหรรมการประมง จำกัด นายพิชาติ ผิวบางกุล ผู้จัดการทั่วไป ระบุว่า เมื่อก่อนทางโรงงานใช้น้ำมันเตาเป็นเชื้อเพลิง แต่เมื่อภาวะเศรษฐกิจแย่ลง น้ำมันมีราคาที่สูงขึ้น ทางโรงงานจึงเปลี่ยนมาใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง โดยใช้มาได้ประมาณปีกว่า ทางโรงงานใช้ถ่านหินประมาณวันละ 10 ตัน ส่วนกากถ่านหินทางโรงงานนำไปถมที่ดินของโรงงาน ซึ่งอยู่ในบริเวณโรงงานกว่า100ไร่ โดยจัดเก็บส่วนที่เป็นฝุ่นละอองไว้ในไซโล


นายพิชาติ กล่าวว่า ก่อนติดตั้งเครื่องใช้ถ่านหิน ทางโรงงานก็ได้ศึกษาผลกระทบ พร้อมกับปรึกษากับอุตสาหกรรมจังหวัดสงขลา ทางอุตสาหกรรมจังหวัดสงขลาแนะนำมาว่า ไม่ต้องทำประชาพิจารณ์ เพราะถ้าทำไม่ผ่านแน่นอน เพียงแต่ขอให้แจ้งกับผู้นำท้องถิ่นไว้บ้าง พร้อมกันนี้ ทางโรงงานได้พยายามเข้าถึงและจัดการทางด้านมวลชนให้ดีสุด
   
นายพิชาติ กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้อุตสาหกรรมจังหวัดสงขลาได้ส่งเจ้าหน้าที่มาตรวจสอบทุกเดือน โดยโรงงานถ่านหินบีทูบีนัสประเภท 2 ให้ค่าความร้อนที่ 6,000 กิโลแคลอรี่ต่อกิโลกรัม นำเข้าจากประเทศอินโดนิเซีย ผ่านบริษัท เครือซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน)และใช้การขนส่งทางรถบรรทุกจากกรุงเทพมหานครมายังโรงงาน ถ่านหินประเภทนี้มีราคาโดยเฉลี่ยที่ 4.95 บาทต่อกิโลกรัม สามารถลดต้นทุนการผลิตลงได้มาก ส่วนสาเหตุที่โรงงานไม่ใช้ไม้ฟืน หรือกะลาปาล์ม เพราะเกรงว่าจะมีปัญหาช่วงฤดูฝน เรื่องนี้เป็นนโยบายของบริษัทฯ


จากปัญหาที่เกิดขึ้น ทำให้เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2551 ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่อุตสาหกรรมจังหวัดสงขลา ได้เดินทางไปตรวจสอบกรณีมีผู้ได้รับผลกระทบจากการใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงของทั้ง 3 บริษัท ดังกล่าว โดยเริ่มจาก บริษัท จะนะอุตสาหกรรม การประมง จำกัด ตำบลจะโหน่ง อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา , บริษัท ไฮแคร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และบริษัทอินโนเวทีฟ โกลฟส์ จำกัด ตำบลควนลัง จังหวัดสงขลา


โดยจากการตรวจสอบพบว่า บริษัท จะนะอุตสาหกรรม การประมง จำกัด ได้ปล่อยกลิ่นเหม็นและกองขี้เถ้าถ่านหินบนพื้นที่ของโรงงาน ซึ่งเป็นแหล่งน้ำเชื่อมต่อกับคลองวาดไปยังคลองนาทับ ทางเจ้าหน้าที่อุตสาหกรรมจังหวัดได้ทำแจ้งให้บริษัทฯ ทำคันกั้นแนว อย่าให้มีน้ำปนเปื้อนกากถ่านหินรั่วไหลออกสู่แหล่งน้ำสาธารณะ ส่วนกลิ่นเหม็นและฝุ่นละอองถ่านหิน ให้โรงงานปรับปรุงแก้ไขภายใน 60 วัน


ส่วนบริษัท ไฮแคร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ทางบริษัทฯได้เปลี่ยนมาใช้น้ำมันเตามาประมาณ 5 เดือนแล้ว ส่วนกรณีการปล่อยน้ำเสียตามที่ปรากฏในรูปนั้น บริเวณดังกล่าวน้ำท่วมยังไม่สามารถตรวจสอบได้ ขณะที่โรงงานอ้างว่า ภาพที่ปรากฏอาจเป็นน้ำฝนไหลออกจากโรงงานลงท่อที่ออกไป สำหรับเขม่าที่ตกตะกอน คงจะเป็นเศษถ่านหินที่กองไว้ เพื่อเตรียมจะส่งคืน ทางเจ้าหน้าที่อุตสาหกรรมจังหวัดได้ทำหนังสือตักเตือน พร้อมกับแนะนำวิธีป้องกัน โดยให้ทางโรงงานเก็บกวาดเศษถ่านหินให้เรียบร้อย ภายใน 60 วัน


ทางด้านบริษัท อินโนเวทีฟ โกลฟส์ จำกัด ทางเจ้าหน้าที่อุสาหกรรมจังหวัดสงขลา ได้เข้าไปขอตรวจสอบ ตามที่ชาวบ้านร้องเรียน เรื่องปล่อยน้ำชะล้างถ่านหินรั่วออกนอกบริเวณโรงงานลงในที่นาของชาวบ้าน โดยทางเจ้าหน้าที่อุตสาหกรรมจังหวัดสงขลาทำหนังสือแจ้งให้บริษัทฯ แก้ไขปรับปรุงแนวกำแพงบริเวณโรงงาน ไม่ให้น้ำชะล้างถ่านหินออกนอกบริเวณโรงงาน ส่วนเรื่องเขม่าและกลิ่นให้โรงงานแก้ไขภายใน 60 วัน


นายภาณุ เรืองจันทร์ ผู้จัดการทั่วไปของบริษัท อินโนเวทีฟ โกลฟส์ จำกัด กล่าวหลังการตรวจสอบของอุตสาหกรรมจังหวัดว่า ขณะนี้ทางโรงงานใช้ถ่านหินประเภทบีทูบีนัส ที่มีค่าซัลเฟอร์แค่ 1% และได้มีระบบป้องกันที่ได้มาตรฐานตามที่อุตสาหกรรมจังหวัดได้กำหนดเอาไว้ ส่วนถ่านหินได้นำเข้ามาจากประเทศอินโดนีเซีย และเรื่องที่ชาวบ้านร้องเรียนมาทางโรงงาน ยินดีที่จะแก้ไขและปรับปรุงให้ดีขึ้น และในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2551 ทางโรงงานจัดประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นชาวบ้าน และเชิญนักวิชาการมาให้ความรู้กับชาวบ้านในพื้นที่ ทางโรงงานยินดีแก้ไขทุกปัญหาที่เกิดผลกระทบกับชาวบ้าน


แม้ขณะนี้ราคาน้ำมันถูกลง ซึ่งทำให้โรงงานต่างๆ เหล่านี้สามารถกลับไปใช้น้ำมันเตาเป็นเชื้อเพลิงตามเดิมได้ แต่ถ่านหินก็ยังถือว่ามีต้นทุนต่ำที่สุด แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นก็เป็นเรื่องสำคัญกว่า เมื่อมันเกิดขึ้นแล้วก็ยากหรือต้องลงทุนมากกว่าในการป้องกันแก้ไข

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net