Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

นรินทร์ อิธิสาร  


            เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2551 ศาลรัฐธรรมนูญของไทยก็ได้ดำเนินวิธีพิจารณาตัดสินวินิจฉัยให้มีการยุบพรรคการเมืองซึ่งเป็นพรรคการเมืองร่วมรัฐบาลรวมทั้งสิ้น 3 พรรคการเมือง โดยวิธีการที่บางท่านมองว่าเร่งรีบรวบรัด หรือที่นักกฎหมายที่นักกฎหมายสำนักท่าพระจันทร์ 15 ท่านเรียกว่า การใช้กระบวนวิธีพิจารณาแบบไต่สวนที่ศาลรัฐธรรมนูญสามารถกระทำได้และไม่ขัดต่อหลักนิติธรรมแต่ประการใด [1]  ซึ่งในประเด็นนี้นักกฎหมายสำนักเดียวกัน 5 ท่านมองไปในทางตรงกันข้าม [2] นอกจากนี้หลายคนมองว่าคำวินิจฉัยดังกล่าวเป็นทางออกและทางแก้ไขปัญหาความวุ่นวายในทางการเมืองที่ประเทศไทยกำลังประสบอยู่ยุติลงได้และทำให้เมืองไทยสงบลงได้เสียที


            ผู้เขียนได้ติดตามและได้อ่านข่าวเกี่ยวกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในคดีดังกล่าว [3] และเมื่อได้อ่านข่าวดังกล่าวก็ได้เกิดประเด็นและข้อสงสัยต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในประเด็นที่ว่า จริงๆ แล้วศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้พิทักษ์รักษารัฐธรรมนูญจริงๆ หรือ ? ซึ่งในที่นี้ผู้เขียนจะได้ยกเฉพาะในประเด็นเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิของบุคคลโดยองค์กรตุลาการซึ่งถือเป็นหลักการที่นักกฎหมายบางท่านยกให้เป็นมงกุฏแห่งนิติรัฐนั้น ว่าศาลรัฐธรรมนูญไทยได้ตีความสอดคล้องกับหลักการดังกล่าวหรือไม่ ? ซึ่งเป็นประเด็นที่สำคัญมากที่ไม่อาจปล่อยให้ผ่านไปได้ และศาลรัฐธรรมนูญก็ได้มีคำวินิจฉัยที่เกี่ยวข้องกับหลักการดังกล่าวในครั้งนี้ด้วย ในส่วนประเด็นอื่นๆ นั้นหากได้มีโอกาสอ่านคำวินิจฉัยกลางของศาลรัฐธรรมนูญและมีเวลาเพียงพอก็จะได้นำเสนอความเห็นกันต่อไป


            ในประเด็นนี้ผู้เขียนนำมาจากเนื้อหาข่าวคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ว่า


            "ข้อวินิจฉัยในประเด็นที่ 1 นายสุนทร วิลาวัลย์ รองหัวหน้าพรรคมัชฌิมาธิปไตย กระทำความผิดตามราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และการได้มาซึ่งวุฒิสภา พ.ศ.2550 หรือไม่


 


เห็นว่า ประเด็นปัญหาการกระทำความผิดของ นายสุนทร วิลาวัลย์ รองหัวหน้าพรรคมัชฌิมาธิปไตยนั้น ผ่านกระบวนการสืบสวนสอบสวนของคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) มาแล้ว อันเป็นการดำเนินการตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 239 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งวุฒิสภา พ.ศ.2550 มาตรา 103 อันเป็นกระบวนการขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดไว้ โดยรัฐธรรมนูญมาตรา 239 วรรค 1 บัญญัติให้คำวินิจฉัยของกกต. เป็นที่สุด ศาลรัฐธรรมนูญ จึงไม่มีอำนาจที่จะเปลี่ยนแปลงคำวินิจฉัยของ กกต. ในกรณีดังกล่าวได้


 


"ซึ่ง กกต. ได้มีคำวินิจฉัยไว้แล้วว่า นายสุนทร วิลาวัลย์ รองหัวหน้าพรรคชาติไทย อันนี้พิมพ์นะครับ เอาใหม่ รองหัวหน้าพรรคมัชฌิมาธิปไตย เดี๋ยวเจ้าหน้าที่ต้องไปปรับปรุงแก้ไขนะครับ นายสุนทร วิลาวัลย์ รองเลขาธิการพรรคมัชฌิมาธิปไตยและกรรมการบริหารพรรคมัชฌิมาธิปไตย เป็นรองหัวหน้าพรรคนะครับ เจ้าหน้าที่คงไปปรับใหม่ อันนี้เป็นต้นร่างนะครับ"


 


นายสุนทร วิลาวัลย์ รองหัวหน้าพรรคมัชฌิมาธิปไตย ก่อให้ผู้อื่นกระทำ สนับสนุน หรือ รู้เห็นเป็นใจให้บุคคลอื่นกระทำดังกล่าว อันเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่งวุฒิสภา พ.ศ.2550 มาตรา 53 ประเด็นที่ กกต.ได้วินิจฉัยไว้แล้วนั้น เป็นประเด็นข้อเท็จจริงเดียวกันกับคดีนี้ และเป็นประเด็นที่อยู่ในอำนาจการพิจารณาของกกต. ที่จะเป็นผู้วินิจฉัยตามที่กฎหมายบัญญัติ ซึ่งตามรัฐธรรมนูญมาตรา 239 วรรค 1 ประกอบกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และการได้มาซึ่งวุฒิสภา พ.ศ.2550 มาตรา 103 บัญญัติให้คณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาดประเด็นการทุจริตการเลือกตั้ง  


 


ประเด็นเรื่องข้อเท็จจริงของการกระทำของนายสุนทร วิลาวัลย์ เป็นกรณีเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และการได้มาซึ่งวุฒิสภา พ.ศ.2550 มาตรา 53 หรือไม่ จึงถือเป็นที่ยุติตามคำวินิจฉัยของกกต.แล้ว ศาลรัฐธรรมนูญย่อมไม่มีอำนาจเข้าไปตรวจสอบหรือเปลี่ยนแปลงคำวินิจฉัยของกกต.ดังกล่าวได้"


 


         "ประเด็นที่คณะกรรมการเลือกตั้งได้วินิจฉัยไว้แล้วนั้น เป็นประเด็นข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคดีนี้ และเป็นประเด็นที่อยู่ในอำนาจการพิจารณาของคณะกรรมการเลือกตั้งที่จะเป็นผู้วินิจฉัยตามที่กฏหมายบัญญัติ ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 239 วรรค 1 ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2550 มาตรา 103 บัญญัติให้คณะกรรมการเลือกตั้งเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาด ประเด็นการทุจริตเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกวุฒิสภาไว้โดยเฉพาะ ประเด็นข้อเท็จจริงเรื่องการกระทํานายมณเฑียร สมประชา เป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยเรื่องการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้เทนราษฎร และการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2550 มาตรา 53 หรือไม่ จึงถือเป็นที่ยุติตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการการเลือกตั้งแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญย่อมไม่มีอำนาจเข้าไปตรวจสอบหรือเปลี่ยนแปลงคำวินิจฉัยของคณะกรรมการการเลือกตั้งดังกล่าวได้ ด้วยเหตุนี้ศาลรัฐธรรมนูญจึงลงมติวินิจฉัยเป็นเอกฉันท์ในประเด็นข้อนี้"


 


         เมื่อผู้เขียนได้อ่านคำวินิจฉัยในส่วนนี้ของศาลรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะตรงที่ผู้เขียนได้ขีดเส้นใต้เอาไว้นั่นคือ ศาลรัฐธรรมนูญในฐานะองค์กรตุลาการ ได้รับรองยืนยันอำนาจเด็ดขาดของคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าเป็นที่สุดแล้วแม้ศาลรัฐธรรมนูญในฐานะองค์กรตุลาการก็ไม่สามารถกระทำการตรวจสอบใดๆ ได้อีกนั้น ผู้เขียนรู้สึกผิดหวังและเห็นว่าเป็นความเห็นทางกฎหมายที่ไม่ส่งผลดีต่อหลักนิติรัฐแต่อย่างใด และเป็นการปฏิเสธหลักการคุ้มครองสิทธิของบุคคลโดยองค์กรตุลาการ ด้วยเหตุผลที่ว่าตามหลักนิติรัฐแล้วนั้น บุคคลซึ่งเห็นว่าสิทธิของตนได้รับผลกระทบหรือเสียหายอันเนื่องมาจากการใช้อำนาจรัฐย่อมจะต้องมีสิทธิยื่นเรื่องให้องค์กรตุลาการพิจารณาเพื่อคุ้มครองสิทธิของตนเองได้เสมอ ตามหลักการคุ้มครองสิทธิโดยองค์กรตุลาการ ซึ่งในรัฐธรรมนูญก็ได้บัญญัติรับรองไว้ ในมาตรา 28 วรรคสอง แห่งรัฐธรรมนูญฯ "บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้ สามารถยกบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้เพื่อใช้สิทธิทางศาลหรือยกขึ้นเพื่อใช้สิทธิทางศาลหรือยกเป็นข้อต่อสู้คดีในศาลได้" นั่นหมายถึงรัฐธรรมนูญกำหนดรับรองสิทธิในทางศาลของบุคคลที่ถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพสามารถนำคดีหรือข้อพิพาทขึ้นสู่ศาลเพื่อให้ศาลพิจารณาเพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของตนเองได้ ซึ่งหลักการนี้เป็นส่วนหนึ่งของหลักนิติรัฐ


 


            ปัญหาประการต่อมาที่ต้องพิจารณาคือมาตรา 239 วรรคหนึ่ง ตอนท้ายของรัฐธรรมนูญฯ ที่กำหนดว่า "ให้คำวินิจฉัยของคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นที่สุด" นั้นมีความหมายอย่างไร ? จะมีความหมายเหมือนกับที่ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยเอาไว้หรือไม่ ?


 


            ในที่นี้ผู้เขียนเห็นว่ามาตราดังกล่าว แม้จะระบุกำหนดให้คำวินิจฉัยของคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นที่สุดนั้น ก็ย่อมแปลความเป็นอย่างอื่นไม่ได้ว่าในกรณีนี้ย่อมหมายถึงคำวินิจฉัยของคณะกรรมการการเลือกตั้งไม่สามารถโต้แย้งใดๆ ได้อีกแล้วในขั้นตอนของคณะกรรมการการเลือกตั้ง แต่กรณีดังกล่าวไม่อาจตีความได้ว่าเป็นที่สุดจนถึงขั้นตัดสิทธิการใช้สิทธิทางศาลของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากคำวินิจฉัยของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ที่จะร้องขอให้ศาลวินิจฉัยตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของคำวินิจฉัยดังกล่าวแต่อย่างใดไม่


 


ทั้งนี้เป็นไปตามการใช้การตีความกฎหมายมาตรา 239 วรรคหนึ่งของรัฐธรรมนูญฯ ให้สอดคล้องกับหลักการได้รับความคุ้มครองสิทธิโดยองค์กรตุลาการตามมาตรา 28 วรรคสอง แห่งรัฐธรรมนูญฯ (อันที่จริงแล้วการตีความแบบนี้ก็ไม่ใช่การตีความที่เกิดขึ้นใหม่แต่อย่างใด ในทางกฎหมายปกครองในหลายกรณีที่มีกฎหมายกำหนดให้คำสั่งของฝ่ายปกครองบางคำสั่งถือเป็นที่สุด ซึ่งในทางวิชาการและในทางปฏิบัติก็เห็นว่าการกำหนดให้เป็นที่สุดนั้นหมายถึงการเป็นที่สุดในฝ่ายบริหารเท่านั้นนั่นหมายถึงบุคคลผู้ที่ได้รับผลกระทบต่อคำสั่งทางปกครองนั้นๆ สามารถร้องให้ศาลพิจารณาคำสั่งของฝ่ายปกครองที่กฎหมายกำหนดให้เป็นที่สุดนั้นได้)


 


นั่นหมายความว่าแม้มาตรา 239 วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญฯ จะบัญญัติให้คำวินิจฉัยของคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นที่สุดก็ตามที แต่ศาลในฐานะองค์กรตุลาการก็มีอำนาจในการตรวจสอบการใช้อำนาจของคณะกรรมการการเลือกตั้งในกรณีนี้ได้เพื่อคุ้มครองสิทธิของบุคคล


 


            การตีความมาตรา 239 วรรคหนึ่ง แห่งรัฐธรรมนูญฯ ของศาลรัฐธรรมนูญสอดคล้องกับหลักนิติรัฐหรือไม่ ? ในกรณีนี้เห็นว่า การที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าคำวินิจฉัยของ คณะกรรมการการเลือกตั้งดังกล่าวย่อมเป็นที่สุดตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 239 วรรคหนึ่ง โดยวินิจฉัยว่า


 


"การกระทำความผิดของ นายสุนทร วิลาวัลย์ รองหัวหน้าพรรคมัชฌิมาธิปไตยนั้น ผ่านกระบวนการสืบสวนสอบสวนของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มาแล้ว อันเป็นการดำเนินการตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 239 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งวุฒิสภา พ.ศ.2550 มาตรา 103 อันเป็นกระบวนการขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดไว้ โดยรัฐธรรมนูญมาตรา 239 วรรค 1 บัญญัติให้คำวินิจฉัยของ กกต. เป็นที่สุด ศาลรัฐธรรมนูญ จึงไม่มีอำนาจที่จะเปลี่ยนแปลงคำวินิจฉัยของ กกต. ในกรณีดังกล่าวได้"


 


         "ประเด็นที่คณะกรรมการเลือกตั้งได้วินิจฉัยไว้แล้วนั้น เป็นประเด็นข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคดีนี้ และเป็นประเด็นที่อยู่ในอำนาจการพิจารณาของคณะกรรมการเลือกตั้งที่จะเป็นผู้วินิจฉัยตามที่กฏหมายบัญญัติ.........ถือเป็นที่ยุติตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการการเลือกตั้งแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญย่อมไม่มีอำนาจเข้าไปตรวจสอบหรือเปลี่ยนแปลงคำวินิจฉัยของคณะกรรมการการเลือกตั้งดังกล่าวได้ ด้วยเหตุนี้ศาลรัฐธรรมนูญจึงลงมติวินิจฉัยเป็นเอกฉันท์ในประเด็นข้อนี้"


 


นั้น เป็นการวินิจฉัยตีความกฎหมายโดยยึดการตีความโดยลายลักษณ์อักษรโดยปราศจากมุมมองในเรื่องของการได้รับความคุ้มครองสิทธิในทางศาลของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากคำวินิจฉัยของคณะกรรมการการเลือกตั้ง และการใช้การตีความกฎหมายที่เป็นระบบ และไม่สอดคล้องกับหลักคุ้มครองสิทธิของบุคคลโดยองค์กรตุลาการ


 


เพราะหากพิจารณาจากกรณีนี้แล้วมติของคณะกรรมการการเลือกตั้งย่อมกระทบสิทธิของผู้ที่อยู่ใต้มติของคณะกรรมการการเลือกตั้ง หากถือตามแนวคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในกรณีนี้สิทธิของผู้ที่ถูกคณะกรรมการการเลือกตั้งวินิจฉัยย่อมไม่ได้รับความคุ้มครองทางศาล อันเป็นการตีความที่ส่งผลประหลาด เท่ากับว่าการกระทำของคณะกรรมการการเลือกตั้งในกรณีดังกล่าวศาลไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบได้ และผู้ที่ถูกคณะกรรมการการเลือกตั้งในฐานะที่ได้รับผลกระทบต่อสิทธิของตนไม่สามารถใช้สิทธิทางศาลได้ ทั้งที่มาตรา 28 วรรคสอง แห่งรัฐธรรมนูญฯ ได้บัญญัติรับรองสิทธิดังกล่าวเอาไว้อย่างชัดแจ้ง


 


การตีความของศาลรัฐธรรมนูญที่ยืนยันว่ามติของคณะกรรมการการเลือกตั้งดังกล่าวเป็นที่สุดแม้แต่ศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบเปลี่ยนแปลงคำวินิจฉัยได้ย่อมส่งผลดังต่อไปนี้


 


-เป็นการตีความกฎหมายที่ก่อให้เกิดผลประหลาดในการใช้การตีความกฎหมาย


 


-การกระทำของคณะกรรมการการเลือกตั้งในกรณีนี้หลุดพ้นจากการตรวจสอบควบคุมโดยองค์กรตุลาการซึ่งไม่สอดคล้องกับหลักการแบ่งแยกอำนาจ


 


-หากศาลรัฐธรรมนูญตีความเช่นนี้แล้ว ว่าคำวินิจฉัยของคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นที่สุด ศาลรัฐธรรมนูญไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้แล้วนั้น คำถามที่ตามมาคือแล้วเหตุใดถึงได้มีการกำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยคดีประเภทนี้อยู่อีก ถ้าเป็นเช่นนี้แล้วก็ยกภาระในการสั่งยุบพรรคการเมืองไปให้คณะกรรมการการเลือกตั้งไปเลยไม่เป็นการสะดวกรวดเร็วและเป็นธรรมกว่าที่จะมารอให้ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินแล้วมาบอกว่าเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้แล้วเพราะคณะกรรมการการเลือกตั้งได้วินิจฉัยไว้แล้วหรอกหรือ?


 


-การที่ศาลตีความว่าคำวินิจฉัยของ คณะกรรมการการเลือกตั้ง ตามมาตรา 239 วรรคหนึ่ง แห่งรัฐธรรมนูญฯ เป็นที่สุดแล้ว และศาลไม่สามารถตรวจสอบเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นได้อีกนั้น ย่อมเป็นการไม่สอดคล้องกับหลักนิติรัฐในส่วนของการคุ้มครองสิทธิของบุคคลโดยองค์กรตุลาการที่กำหนดไว้ในมาตรา 28 วรรคสอง แห่งรัฐธรรมนูญฯ


 


ผลในทางกฎหมายของคำวินิจฉัยที่ขัดต่อหลักนิติรัฐดังกล่าวนั้นย่อมถือว่าคำวินิจฉัยนั้นไม่ชอบและไม่สามารถใช้บังคับได้



            ดังนั้น การที่ศาลรัฐธรรมนูญในฐานะที่เป็นองค์กรตุลาการซึ่งมีอำนาจหน้าที่พิทักษ์รักษารัฐธรรมนูญและตรวจสอบในการใช้และตีความรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ กลับตีความรัฐธรรมนูญไปในทางที่ขัดกับหลักการคุ้มครองสิทธิของบุคคลโดยองค์กรตุลาการซึ่งถือเป็นหลักการสำคัญของหลักนิติรัฐดังกล่าวเสียเองแล้วนั้น  ก็ไม่แปลกใจเลยว่าภายหลังการวินิจฉัยยุบพรรคการเมืองของศาลรัฐธรรมนูญไทยในครั้งนี้จะเป็นที่โจษขานกันว่าเร่งรีบและรวบรัดจนเกินงาม




00000


เชิงอรรถ


[1] http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1228209150&grpid=04&catid=01


[2] http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1228279594&grpid=10&catid=17


[3] http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1228215213&grpid=04&catid=01


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net