ลาก็องกับชาตินิยมไทย: ชัยชนะของใครหลังปรากฏการณ์ "เสื้อเหลือง-เสื้อแดง"

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

สิกร สิกรรัตน์

 

 

 

 

คนเสื้อเหลืองประกาศชัยชนะของตนเมื่อวันที่ ๒ ธันวาคมที่ผ่านมา แต่เมื่อจบการประท้วง หลายคนกลับถอดเสื้อสีของตนออกก่อนกลับบ้านทั้งๆ ที่ยังสามารถฆ่าแกงกันได้ง่ายๆ เพราะสีเสื้อเพียงไม่กี่วันก่อนหน้านั้น อากัปกิริยาการ "ถอดเสื้อ" นี้เองที่ทำให้ผู้เขียนสงสัยว่าฝ่ายใดกันแน่ที่เป็นผู้กำชัยชนะที่แท้จริง

 

ท่ามกลางความพยายามอธิบายปรากฏการณ์ต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมไทยในช่วงที่ผ่านมาและที่อาจจะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต (พันธมิตรฯ บอกว่าเขาเพียง "พักยก" เท่านั้น อนึ่ง การสร้างคำอธิบายย่อมมีผลต่อความเชื่อ การตัดสินใจ เช่นเลือกข้างใดข้างหนึ่ง หรือไม่เลือกข้าง และตำแหน่งแห่งที่ของแต่ละบุคคลในสังคม) ผู้เขียนต้องการสร้างบรรยากาศของการหา "ชุดคำอธิบาย" สังคมที่หลากหลาย และไม่จำเป็นต้องหยุดนิ่งอยู่กับไวยกรณ์อันตายตัวเพียงไม่กี่แบบ เช่น แบบสีเหลือง แบบสีแดง หรือแบบ "สานเสวนา" ที่ต้องการกลืนความแตกต่างหลากหลายให้อยู่ในกรอบอันราบเรียบกลมกลืนของรัฐชาติ [1] ตลอดจนคำอธิบายอ้างอิงธรรมะระดับแบบเรียนชั้นประถมศึกษาประเภท "คิดดี ทำดี เดี๋ยวอะไรๆ ก็ดีเอง" หรือโหราศาสตร์ โดยผู้เขียนมีความเชื่อพื้นฐานว่าชุดคำอธิบายใดๆ ก็มิได้เป็นที่สิ้นสุด ถูกต้องที่สุด น่าเชื่อถือที่สุด แต่สามารถถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์ต่อไปได้ไม่สุดสิ้น โดยไม่หลุดไปเป็นการสาดโคลน  [2]

 

ในบทความนี้ ผู้เขียนทดลองละเล่นกับแนวคิดของฌาคส์ ลาก็อง (Jacques Lacan) [3] ที่อธิบายการก่อร่างสร้างตัวตนของคนเรา โดยผู้เขียนลองเทียบเคียงกับตัวตนของรัฐชาติและสังคมไทย ดังนี้

 

ลาก็องเชื่อว่า ในกระบวนการก่อสร้างตัวตนของเรา มีภาคส่วน ๓ ภาคที่เกี่ยวเนื่องอยู่ ได้แก่ ภาคมโนคติ (the Imaginary) ภาคสัญลักษณ์ (the Symbolic) และภาคจริงแท้ (the Real)

 

ภาคมโนคติคือจินตภาพและจินตนาการที่เรามีต่อตนเอง ฉะนั้นในภาคส่วนนี้ คนเราจึงทั้งแปลกแยกจากตัวเองและหลงตัวเอง เพราะจินตนาการเสมือนว่าเราไปเป็นคนอื่น (the other) และหันกลับมามองตัวเอง รากฐานของภาคส่วนนี้เกี่ยวข้องอย่างลึกซึ้งกับความสัมพันธ์ของตัวตนกับร่างกาย สำหรับรัฐไทย ธงชัย วินิจจะกูล ได้ชี้ว่า "ภูมิกายา" ของสยามเกิดขึ้นในช่วงของการปะทะเปลี่ยนผ่านทางความคิดเกี่ยวกับ "ตัวตน" ทางภูมิศาสตร์ซึ่งกำลังเคลื่อนคล้อยเข้าสู่ภาวะสมัยใหม่และปรากฏออกมาเด่นชัดที่สุดในวิกฤตการณ์ ร.ศ. ๑๑๒ [4] จากนั้นเป็นต้นมา ตัวตนของชาติไทยและคนไทยผูกติดและหลงพัวพันอยู่กับ "กายา" รูปขวานนี้มาเสมอ ทว่า ตัวตนที่แลดูเป็นของตัวเองนั้นแท้จริงก็พึ่งพิงอิงอาศัยอยู่กับการจ้องมองของ the other มาตลอดเช่นกันตั้งแต่เริ่มมีความรู้สึกนึกคิดเกี่ยวกับภูมิกายาตัวเองในสมัยอาณานิคม อนึ่ง เราต้องไม่ลืมว่า รัชกาลที่ ๕ ทรงเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองและสังคมขนานใหญ่ก็ด้วยการเลียนแบบการสร้างรัฐและระบบราชการของเหล่าเมืองขึ้นตะวันตกที่รายล้อมสยามที่ได้เสด็จประพาส ฉะนั้น สยามจึงแปลกแยกจากอะไรก็ตามที่ตัวเองเป็นในเวลานั้น (อาณาจักรสยามที่มีอาณาเขตอันเลือนราง และพยายามเร่งเปลี่ยนตนให้เป็นรัฐชาติด้วยการเลียนแบบรัฐอาณานิคมให้เหมือนและเร็วที่สุด) แต่ก็ลุ่มหลงในตัวตนใหม่ด้วยในเวลาเดียวกัน (จุดกำเนิดของชาติและชาตินิยมสยาม)

 

ภาคสัญลักษณ์คือภาษา กฏหมาย โครงสร้าง วัฒนธรรม ที่เป็นสัญญะ (signifier) ต่างๆ ซึ่งชี้ไปสู่สิ่งที่ถูกหมายความถึง (signified) ซึ่งก็คือตัวตนของบุคคล (ที่เกี่ยวพันอยู่กับภาคมโนคติ) ลาก็องเน้นย้ำว่าความสัมพันธ์ระหว่างสัญญะกับสิ่งที่ถูกหมายความถึงนั้นไม่คงที่ นั่นคือหากมีความเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้าง ภาษา วัฒนธรรมแล้ว จินตนาการที่บุคคลมีต่อตนเองก็จะผันแปรไปด้วย นอกจากนี้ ภาคส่วนนี้ยังเกี่ยวข้องกับปมโอดิปุส (Oedipus complex) หรือปม "ฆ่าพ่อ เอาแม่เป็นเมีย" อันเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการการสร้างตัวตน ซึ่งในระหว่างกระบวนการนั้น ความเป็นอื่นก็จะถูกขับให้เด่นชัดขึ้นด้วย [5] ผู้เขียนตีความว่า "พ่อ" ของรัฐไทยสมัยใหม่คือ โลกและเจ้าโลก การถือกำเนิดของรัฐไทยต้องอาศัยฐานคติที่เชื่อในแผนที่โลก ซึ่งทำให้สามารถจับวางโลกทั้งใบไว้ในครรลองจักษุเดียว (และรัฐไทยก็ปฏิสนธิขึ้นบนแผนที่) อันเป็นเครื่องมือของเจ้าโลกหรือมหาอำนาจในสมัยอาณานิคมที่ใช้กำหนดโครงสร้างทางการเมือง เศรษฐกิจ กฏหมาย ของสังคมทั่วโลก ตลอดจนแปรรูปวัฒนธรรมอันหลากหลายให้มาอยู่ในกรอบรัฐชาติ กระนั้นก็ตาม โลกและเจ้าโลกก็เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย และส่งอิทธิพลต่อโครงสร้างและจินตภาพรัฐไทยของแต่ละยุคสมัยด้วย เช่นหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ก็เปลี่ยนเป็นวาทกรรมภูมิศาสตร์การเมืองของสงครามเย็น หรือกระแสเศรษฐกิจนิยม โลกาภิวัฒน์ (ในภาษาแบบความโปร่งใส ธรรมาภิบาล ตัวเลขชี้วัด ฯลฯ) ตั้งแต่หลังเหตุการณ์ "พฤษภาทมิฬ" [6] ซึ่งสอดคล้องกับระยะจางหายของสงครามเย็น เป็นต้น

 

ส่วน "แม่" นั้นหมายถึงศูนย์กลาง "ความเป็นไทย" ในสมัยต่างๆ เช่น "ชาติ ศาสน์ กษัตริย์" ของลัทธิชาตินิยมทางการ, "รัฐนิยม" ของแปลก, สฤษดิ์ผู้ที่ "...ขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว" จนถึง "ประชานิยม-เชื่อมต่อ-โลกาภิวัฒน์" ของทักษิณ และ "ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข" ของพันธมิตรฯ เป็นต้น ฉะนั้นตัวตนชาตินิยมจึงเปี่ยมล้นด้วยความต้องการสังหารพ่อ (โลก เจ้าโลก เจ้าอาณานิคม ประเทศมหาอำนาจ โลกาภิวัฒน์ สภาวการณ์อันผันผวนระหว่างประเทศ ทุนนิยมโลก ฯลฯ) และความใคร่ในสังวาสกับแม่ (วาทกรรมแก่นกลางของความเป็นไทย ที่จะให้ความมั่นคงปลอดภัยจากอำนาจอันล้นพ้นของบิดร/โลก) ทั้งๆ ที่ทั้งพ่อและแม่ก็เป็นเหตุปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดชาตินิยมและขับเคลื่อนมันไปด้วยพลวัตปฏิสัมพันธ์ระหว่างทุน-ชาติลักษณะต่างๆ และจริงๆ แล้ว ความต้องการประหารบิดานั้นก็เป็นเพียงแค่ตัณหาที่ไม่มีวันเป็นจริง เพราะหากโลกถูกฆ่าไปเสียแล้วจริงๆ การดำรงอยู่ของชาติก็จะถูกสั่นคลอนด้วย [7]

 

ภาคจริงแท้คือสิ่งที่ไม่อาจนิยามได้ในฐานคติแบบตัวตน เพราะพ้นไปจากตัวตน มันดำรงอยู่นอกเหนือภาษา สัญลักษณ์และจินตนาการใดๆ ลาก็องกล่าวว่า "ภาคจริงแท้นั้นดำรงอยู่เช่นนั้นอยู่แล้ว" แต่ภาคสัญลักษณ์ในกระบวนการสร้างความหมาย (signification) "ตัดเข้ามาในภาคจริงแท้" และทำให้ "โลกแห่งภาษาสร้างโลกของสิ่งต่างๆ ขึ้นมา" ทว่าภาคจริงแท้นั้น "เป็นไปไม่ได้" เพราะมันไม่อาจจินตนาการถึงได้ และดังนั้น มันจึงปรากฏเป็นความน่าขนพองสยองเกล้า (horror) ต่ออัตตาตัวตน สำหรับอัตตารัฐ-สังคมไทย ผู้เขียนมองว่ามันคือความแตกต่างหลากหลาย ที่ไม่ใช่เพียงความแตกต่างเชิงพื้นที่ วัฒนธรรม หรือเชิงอัตลักษณ์ เช่น ชาติพันธุ์ ศาสนา เพศ ชนชั้น ชุมชน เท่านั้น แต่ยังเป็นความแตกต่างในปัจเจกบุคคล ความคิด ความรู้สึก ของแต่ละชั่วขณะ และความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงข้ามการจัดประเภทต่างๆ เหล่านี้ทั้งหมด ซึ่งก็จะพ้นไปจาก "บุคคล" ไปในที่สุดด้วยเช่นกัน ความรุ่มรวยหลากหลายนี้จะพลิกผันภูมิกายาและตัวตนของ "ความเป็นไทย" ทั้งหลาย มันคือสิ่งที่รัฐบาลไหนๆ ไม่ว่าเผด็จการทหาร ประชาธิปไตย หรือกระทั่งการเมืองใหม่ของ พธม. ที่ตราบใดยังตั้งอยู่บนพื้นฐานของ "รัฐชาติ" ก็ไม่อาจจินตนาการไปถึงได้ มันคืออนาธิปไตยที่แท้จริง ที่ไม่ใช่เพียงสภาวะอนาธิปไตยจอมปลอมที่ พธม. สร้างขึ้นหรือในวิวาทะที่หลายคนใช้ประณาม พธม. [8] และกระทั่งพ้นไปจาก "อนาธิปไตย" ในฐานะปรัชญา ลัทธิทางการเมือง หรือแบบแผนปฏิบัติใดๆ ด้วย มันคือความรุ่มรวยของสัมพันธภาพอันหลากหลายที่จะไม่ถูกจำกัดโดยโครงสร้างตัวแบบใดๆ พ้นไปจากขอบเขตพรมแดนของรัฐชาติหรือจินตนาการอื่นๆ สัมพันธภาพเหล่านี้เป็นสิ่งดำรงมีอยู่แล้ว เป็นจริงที่สุด อยู่ในชีวิตประจำวันของคนธรรมดาๆ แต่ถูกตัดเฉือนโดยโครงสร้างและภาษาของรัฐชาติ และแปรให้กลายเป็นตัวตนชาตินิยม (ซึ่งก็แทรกซึมอยู่ในชีวิตประจำวันเช่นกัน) ฉะนั้น ความแตกต่างหลากหลายอันหาที่สุดมิได้นี้จึงปรากฏเป็นความน่ากลัว เป็นฝันร้ายของทั้งสังคมเสรีนิยมประชาธิปไตยและเผด็จการ อนึ่ง กรณีปัตตานี ตลอดจนความคิดความเห็นต่างๆ ที่เข้าข่าย "หมิ่นฯ" ล้วนเป็น "อาการ" ของภาคจริงแท้นี้ ซึ่งความรุนแรงเกิดจากการพยายามกดขี่ปกปิดสภาพความเป็นจริงโดยภาคสัญลักษณ์และภาคมโนคติของชาตินิยมไทย

 

ความจริงแล้วปรากฏการณ์เสื้อเหลืองเสื้อแดงก็เป็นอาการหนึ่งของการปะทุระเบิดของความแตกต่างหลากหลายระหว่างชนชั้น (ท่ามกลางความแตกต่างอื่นๆ) ที่ถูกกดเอาไว้มานานในความราบเรียบหลอมรวมเลือดเนื้อของชาติเชื้ออัตตาไทย แต่ปัญหาของปรากฏการณ์ดังกล่าวคือการยัดเยียดความเกลียดชังและความชื่นชมต่อทักษิณลงในภาคจริงแท้ และกระทำการทุกอย่างราวกับว่าโลกนี้มีเพียงทักษิณหรือไม่เอาทักษิณเท่านั้น (แปลง the other ของสังคมไทยทั้งหมดเป็นทักษิณ) ในเชิงเทคนิควิธีการ กลุ่ม พธม. ใช้การเน้นย้ำขับเด่นตัวตนชาตินิยมไทยและขยายความมันออกไปจนสุดขั้ว (กล่าวคือ ย้อมเสื้อขาวให้เป็นเสื้อเหลือง) ส่วนเสื้อแดงในเบื้องต้นคือความต้องการฉีกให้แตกต่างจากเสื้อเหลือง ให้ตนเป็นขั้วตรงข้ามของเสื้อเหลือง แต่ในขณะเดียวกันก็มีองค์ประกอบของความขึ้งเคียดในด้านความแตกต่างทางชนชั้น ผสมรวมอยู่กับสีสันชาตินิยม-ประชานิยม และชาตินิยมแบบทางการในบางครั้งบางโอกาส (เช่น ทักษิณโฟนอินขอพระราชทานอภัยโทษ เป็นต้น) และเช่นนั้นพลวัตของความแตกต่างและความขัดแย้งทางชนชั้นที่ควรจะดำเนินต่อไปให้ถึงภาคจริงแท้และก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้าง (ตลอดจนความเปลี่ยนแปลงในจินตนาการเกี่ยวกับ "สังคมไทย" ที่พ้นไปจากกรอบชาตินิยม) กลับถูกโยนกลับเข้ามาในสัญลักษณ์และมโนคติแบบชาตินิยมที่มีกรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลาง ถกเถียง ต่อรอง ล้อเลียน ป้ายสีกันด้วยความรักชาติหรือไม่รักชาติ จงรักภักดีหรือไม่จงรักภักดีต่อสัญลักษณ์เก่าๆ และใหม่ๆ (รวมทั้งทักษิณ) และเพ่งรวมความสนใจไปที่กลุ่มบุคคลซึ่งกำลังพยายามแย่งชิงศูนย์กลางนี้ โดยที่ไม่ได้ตั้งคำถามกับอคติที่มองออกจากศูนย์กลาง อันได้แก่ กรุงเทพฯ และ "จักรวรรดินิยม" ของมันตั้งแต่ระยะก่อเกิดภูมิกายาสยามเป็นต้นมา [9]

 

ฉะนั้น ท่ามกลางความรุนแรงมากมายที่ได้เกิดขึ้นระหว่างปรากฏการณ์เสื้อเหลืองเสื้อแดงนี้ ผู้เขียนเห็นว่าสิ่งที่ในช่วงท้ายๆ ปรากฏออกมาในกลุ่ม "เสื้อขาว" นั้นอันตรายที่สุดและมีศักยภาพที่จะก่อความรุนแรงได้มากที่สุด (และได้ก่อขึ้นแล้ว) ความโจ่งแจ้งที่พันธมิตรฯ หมิ่นแคลนชนชั้นอื่นนั้นเลวร้ายก็จริง แต่ที่เลวร้ายกว่าคือการซ่อนกดเบียดขับความแตกต่างและขัดแย้ง (ความขัดแย้งไม่ใช่ปัญหาในตัวเอง แต่เราปฏิบัติต่อมันอย่างไรต่างหาก) ให้อยู่ภายในการรวมเลือดเนื้อตัวตนชาตินิยมแบบที่ถอดเสื้อสีใดๆ ออกแล้วก็ยังดำรงอยู่ อนึ่ง มันสะท้อนอยู่ในกระแสเรียกร้อง "รัฐบาลแห่งชาติ" ที่รังแต่จะยิ่งปกปิดบิดเบือนสภาพความเป็นจริงมากขึ้นไปอีกเท่านั้น

 

 

 

 

000000

 

เชิงอรรถ

[1] ผู้เขียนคิดว่าวาทกรรมชาตินิยมกำลังอาศัย "ความแตกแยก" ที่ได้เกิดขึ้น รุกคืบและตอกย้ำแนวคิดประเภท "ความสามัคคีในชาติ" "คนไทยต้องรักกัน" ฯลฯ ที่จะบดบังความแตกต่างหลากหลายที่แท้จริง ทั้งในเชิงอัตลักษณ์ ชาติพันธุ์ ศาสนา ชนชั้น ชุมชน ปัจเจกบุคคล ความคิด ความรู้สึก อารมณ์ ฯลฯ อนึ่ง วาทกรรม "การไม่ใช้ความรุนแรง" สามารถหลุดเข้าไปผสมผสานกลมกลืนสังฆกรรมกับความเรียบลื่นของชาตินิยมได้โดยง่าย หากไม่ชี้ชัดลงไปว่า "ความสามัคคีของคนในชาติ" คือความรุนแรงประเภทหนึ่งที่กระทำต่อความแตกต่างหลากหลายที่ไม่จำเป็นต้องติดอยู่กับกรอบชาติ

 

[2] เช่นเดียวกับเชิงอรรถที่ ๑ บรรยากาศของสังคมในปัจจุบันทำให้วัฒนธรรมการวิพากษ์วิจารณ์ต้องอ่อนแรงลงไปมาก เพราะมักจะถูกมองว่าเป็นการจ้องสาดโคลนหรือดิสเครดิตกันเสียถ่ายเดียว แต่การสาดโคลนก็มีพื้นฐานอยู่บนความคิดที่ว่า "ฉันถูกต้องที่สุด" นั่นเอง ผู้เขียนคิดว่าวัฒนธรรมการวิพากษ์ควรตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ต่างออกไป

 

[3] แม้ว่าผู้เขียนก็มีข้อสงสัยต่อ "โครงการจิตวิเคราะห์" เช่นกัน แต่ในเมื่อสำหรับคนจำนวนไม่น้อย โหราศาสตร์และไสยศาสตร์ยังสามารถอธิบายความเป็นไปทางการเมืองได้อย่างแม่นยำเป็นเรื่องเป็นราวนัก ทำไมเราไม่ลองเต้นรำไปกับจังหวะทางทฤษฎีแบบอื่นๆ ให้ขาขวิดกันเล่นเสียหน่อย?

 

[4] ธงชัย วินิจจะกูล (๒๕๕๑). "ภูมิกายาและประวัติศาสตร์" ใน ฟ้าเดียวกัน. ฉบับที่ ๓ หน้า ๘๕-๑๑๘.

 

[5] ตามลาก็องก็คือ the other เล็กๆ จะกลายเป็น the Other ที่ใช้ O ตัวใหญ่ หรือ the big Other ลองนึกถึงความหลงตัวเองของ "ความเป็นไทย" ก็ยังต้องเกิดจากการเปรียบเทียบกับผู้อื่นเสมอ เช่น ในคำพูดติดปากประเภทที่ว่า "ชาติไทยไม่แพ้ใครในโลก" หรือการส่งเสริม "ความภูมิใจในวัฒนธรรมไทย" ที่ขุดให้ลึกลงไปก็คือปมด้อยที่ต้องเปรียบเทียบกับวัฒนธรรมอื่น เช่น วัฒนธรรมตะวันตกที่มากับบริโภคนิยม เป็นต้น

 

[6] ชาญวิทย์ เกษตรศิริ เขียนย้ำหลายครั้งว่าเราไม่ควรใส่คำว่า "ทมิฬ" เข้าไปหลังเหตุการณ์ต่างๆ เพราะมันมีนัยยะที่เกี่ยวข้องอคติทางชาติพันธุ์ต่อชาวทมิฬในศรีลังกา ผู้เขียนจงใจใช้คำว่า "ทมิฬ" ทั้งๆ ที่รู้อยู่แล้วว่าผิด (และดังนั้นจึงใส่ในเครื่องหมายคำพูด) ในที่นี้ก็เพื่อเล่นกับศัพท์ที่ดำรงแพร่หลายอยู่แล้วในสังคมซึ่งเป็นมโนทัศน์แบบลดทอน ไม่ถูกต้องทางการเมือง และกระทั่งหมิ่นแคลนผู้อื่น แต่ก็เพื่อจงใจเน้นย้ำกิริยาอาการลักษณะเดียวกับที่ชาญวิทย์และเครือข่ายสันติประชาธรรมใช้คำว่า "อนาธิปไตย" แบบลดทอนและป้ายสีเช่นกัน (โดยไม่แม้จะใส่เครื่องหมายคำพูด) ดูเพิ่มเติมเชิงอรรถข้อ ๘

 

[7] เฟมินิสต์หลายคนยกความดีความชอบให้กับลาก็องที่ชี้ให้เห็นถึงอำนาจบาตรใหญ่ของเพศชายในสังคมในภาคสัญลักษณ์นี้ โดยบ่งนัยว่าสิ่งที่ดูเป็นจริงนั้นที่แท้แล้วเป็นเพียงโครงสร้างสัญลักษณ์ที่สามารถถูกทำลายได้และยังมีภาคแท้จริงที่พ้นไปจากการแบ่งเพศสภาพในเชิงสัญลักษณ์ ตรงนี้ ผู้เขียนทดลองเล่นกับการยึดติดกับเพศสภาพโดยยัดเยียดเพศหญิงให้กับผู้นำประเทศที่มักเป็นเพศชาย

 

[8] เครือข่ายอนาธิปไตยไทยหรือ Thai Anarchist Network (TAN) เรียกร้องว่า "เนื่องจากเหตุการณ์วิกฤตทางการเมืองซึ่งเกิดขึ้นจากกลุ่มพันธมิตรประชาชน เพื่อประชาธิปไตยนั้นถูกนักวิชาการหลายฝ่ายและสื่อกล่าวหาว่าเป็น "อนาธิปไตย" ซึ่งการหยิบยกคำที่มักง่ายและขาดความรับผิดชอบแบบนี้สร้างความเสื่อมเสีย..." ดู http://thaianarchist.blogspot.com/

 

[9] ตรงนี้ผู้เขียนเห็นต่างจากนักวิชาการหลายคน เช่น สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล และใจ อึ๊งภากรณ์ ที่หลายครั้งมีน้ำเสียงออกไปทาง romanticize นปช. และทักษิณ (โดยเฉพาะใจในบทความ "ระวังรัฐประหารทางอ้อม" http://www.prachatai.com/05web/th/home/14622) ผู้เขียนรู้สึกชื่นชมอย่างจริงใจต่อการแสดงพลังของ "ชนชั้นล่าง" และสนับสนุนให้เสียง พลัง และขบวนการของพวกเขามีความต่อเนื่องไปจนกว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างสังคม แต่ความไม่สบายใจส่วนบุคคลของผู้เขียนอยู่ที่องค์ประกอบของ นปช. ที่อิงแนบใกล้ชิดกับตัวตนของทักษิณซึ่งก็พร้อมจะพลิกผันเป็นชาตินิยมได้ไม่ต่างจาก พธม. เช่นกัน ผู้เขียนสงสัยว่า ในคติสังคมประชาธิปไตยของคนเสื้อแดงที่มีทักษิณเป็นศูนย์กลางนั้น มีพื้นที่ให้กับคนในปัตตานี แรงงานอพยพ ฯลฯ มากน้อยแค่ไหน (ดูจุดร่วมของทักษิณกับ พธม. ในบทบรรณาธิการของฟ้าเดียวกัน http://www.sameskybooks.org/2008/10/15/editorial-23/) อนึ่ง มีการวิเคราะห์เช่นว่า คนจนนั้นฉลาดและที่กำลังสวมเสื้อแดงนั้นก็เป็นเพียงการเลือกใช้เครื่องมือต่างๆ เพื่อเหมาะกับสถานการณ์ของตน (เช่น Andrew Walker หรือ Nick Nostitz ใน http://rspas.anu.edu.au/rmap/newmandala/2008/09/14/beyond-the-stereotypes-of-thailands-reds/) ผู้เขียนเห็นด้วยกับการวิเคราะห์เช่นนี้ร้อยเปอร์เซนต์ แต่สงสัยว่าเหตุใดจึงไม่ใช้การวิเคราะห์แบบเดียวกันนี้กับ พธม. และชนชั้นกลางด้วย กล่าวคือ คนอาจจะเลือกใส่เสื้อเหลืองเพื่อใช้เป็นเครื่องมือปกป้องผลประโยชน์ตนก็ได้ หากเราจะมุ่งชี้ความแตกต่างหลากหลายของคนเสื้อแดงให้พ้นไปจากอคติพื้นๆ แล้ว เราก็อาจจะต้องชี้ให้เห็นความหลากหลายใน พธม. ด้วย (แต่เราอาจจะไม่อยากกระทำเพราะความรังเกียจเดียดฉันท์ต่อ พธม. เป็นการส่วนตัว) ความสงสัยที่ผู้เขียนมีต่อ นปช. จึงไม่ได้อยู่ที่เจตนาหรือความมุ่งมั่นของ "ชนชั้นล่าง" แต่อยู่ที่โครงสร้างองค์กรและชนชั้นนำใน นปช.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท