Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ดร.โสภณ พรโชคชัย*


 


ในห้วงเวลานี้ คนไทยมีความเชื่อทางการเมืองที่แตกต่างกันมาก  จนบางทีพูดกันไม่รู้เรื่องและหนักข้อถึงขั้นฆ่าแกงกัน  ที่เป็นเช่นนี้เพราะกลุ่มชนถูกปลูกฝังด้วยความเชื่ออวิชชา  อวิชชาย่อมไม่ดีและสมควรกำจัด  ในการต่อกรกับอวิชชา เราจึงต้องหยุดทบทวนด้วยสติ ข่มความอ่อนไหวในอารมณ์ ใช้วิชชาว่าด้วยกาลามสูตร  เพื่อว่าเราจะได้ตรวจสอบความเชื่อของเราว่าสอดคล้องกับความเป็นจริงหรือไม่


 


ความจริงแท้มีอยู่หนึ่งเดียว ถ้าเราเข้าถึงร่วมกัน  ก็จะเกิดความเข้าใจต่อกันและกัน  และนำมาซึ่งความรัก ความเมตตา อันนำไปสู่ความสามัคคีร่วมใจกันสร้างสรรค์เพื่อชาติของเราในที่สุด


 


กาลามสูตร


หลักของกาลามสูตรก็คือ "อย่าได้ยึดถือตามถ้อยคำที่ได้ยินได้ฟังมา อย่าได้ยึดถือตามถ้อยคำสืบ ๆ กันมา อย่าได้ยึดถือโดยตื่นข่าวว่าได้ยินอย่างนี้ อย่าได้ยึดถือโดยอ้างตำรา อย่าได้ยึดถือโดยเดาเอาเอง อย่าได้ยึดถือโดยคาดคะเน อย่าได้ยึดถือโดยความตรึกตามอาการ อย่าได้ยึดถือโดยชอบใจว่าต้องกันกับทิฐิของตัว อย่าได้ยึดถือโดยเชื่อว่าผู้พูดสมควรจะเชื่อได้ อย่าได้ยึดถือโดยความนับถือว่าสมณะนี้เป็นครูของเรา" 1>


 


อาจกล่าวได้ว่า เราไม่ควรรีบเชื่อหรือยึดถือเอาตาม:


1. ถ้อยคำที่ได้ยินมา หรือข่าวคราวที่แพร่สะพัด เช่น คนนี้เลว คนนั้นขายชาติ คนโน้นไม่จงรักภักดี เป็นต้น เพราะบ่อยครั้งถ้อยคำหรือข่าวนั้นเป็นการจงใจบิดเบือนหรือเป็นข่าวที่ไม่ได้สะท้อนความเป็นจริง เราจึงไม่ควรปักใจเชื่อจนก่อเกิดอคติหรือความหลงไหลได้ปลื้มกันแต่แรก


 


2. สิ่งที่เชื่อสืบ ๆ กันมา หรือตำรา เพราะอาจเป็นข้อสรุปที่ผิด หรือไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เราจึงพึงระวังคนที่ชอบอ้างตำราหรือชอบยกคำพูดของคนดัง ๆ มาสนับสนุนความคิดของตน การกระทำเช่นนี้อาจเป็นเพราะเขาหาเหตุผลที่แท้จริงไม่ได้นั่นเอง


 


3. การเดา การคาดคะเน หรือการตรึกตรองตามอาการ เพราะการปลงใจเชื่อเช่นนั้นย่อมสร้างความเสียหายอันเกิดจากความเสี่ยงและความไม่แน่นอนที่ดำรงอยู่ หรือเมื่อเราเห็นคนท้องโตก็อย่าเพิ่งคิดว่าคน ๆ นั้นตั้งท้อง เป็นต้น เราจึงต้องแยกแยะธาตุแท้กับปรากฏการณ์ เปลือกกับแก่น เนื้อหากับรูปแบบให้ชัดเจน


 


4. ทิฐิของตัวเราเอง เช่น เราพบคนที่มีจริตหรือมีรสนิยมเหมือนเรา มีศาสนา มีพื้นถิ่นหรือมีเชื้อชาติเดียวกับเรา เราก็อาจเลือกเชื่อเขามากกว่าคนอื่น เป็นต้น  การที่เราเป็นเช่นนี้ ย่อมแสดงว่าเรามีจิตใจอ่อนแอ พอพบคนถูกคอ ก็จะเลือกที่จะเชื่อและเฮตามกันไปโดยไม่แยกแยะผิดชอบชั่วดี


 


5. ผู้พูดที่สมควรจะเชื่อได้หรือผู้นั้นเป็นครูเรา 2> เช่น อย่าเพิ่งรีบเชื่อเพียงเพราะคนพูดคือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หรือคุณสนธิ ลิ้มทองกุล  เป็นต้น เราอาจทดสอบ "ศาสดา" ของเราด้วยการลองแย้งท่านดู หากท่านโกรธหรือผูกใจเจ็บ เราก็จะรู้ว่านั่นคือของปลอม เป็นต้น


 


อยู่ที่การมีข้อมูลที่ดี


บ่อยครั้งเราพบว่า การที่เราเชื่อตาม ๆ กันมานั้นเพราะขาดข้อมูลที่แท้จริง ไม่มีข้อมูลที่เชื่อถือได้ (Hard Facts) มาสนับสนุน เช่น


 


1. เชื่อว่าการปลูกป่าทำให้ป่าไม้สมบูรณ์ ทั้งที่เป็นกลลวงปกปิดอาชญากรรม เพราะปีหนึ่ง ๆ ปลูกป่าได้เพียงหมื่นไร่ (ด้วยงบประมาณ 500 ล้านบาท แล้วตายไปเท่าไหร่ ไม่รู้) แต่ป่าถูกทำลายปีละหลายแสนไร่ 3> การปลูกป่าเบื่อเมาไม่ให้เรารับรู้ความจริง แก้ไขปัญหาที่ตรงจุดและเปิดทางให้อาชญากรทำลายป่าต่างหาก


 


2. เชื่อว่าคนไทยส่วนใหญ่ยากจน ซึ่งเชื่อมาตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ทั้งที่ในปัจจุบันแม้แต่เขมร เวียดนาม ลาว ยังประมาณการว่ามีคนจนไม่ถึงหนึ่งในสาม 4> ประเทศไทยมีคนอยากจนมากกว่าคนยากจนจริง ๆ


 


ในสังคมนี้ ใคร ๆ ก็มักพูดว่า เราต้องมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจ แต่จริง ๆ แล้ว ผู้คนมักใช้อารมณ์ ลางสังหรณ์ ทิฐิหรือกระทั่งไสยศาสตร์มาประกอบการตัดสินใจมากกว่า  พวกเขาไม่กล้าจ่ายเพื่อลงทุนหาข้อมูล เข้าทำนอง "ฆ่าควาย เสียดายเกลือ"  บางคนสนใจข้อมูลเหมือนกัน แต่เป็นแบบ "จอมปลอม" คือ เป็นพวกทำมาดเท่เป็น "นักวิชาการ" ชอบสวมอาภรณ์ของผู้รู้เพื่อให้ตนดูขลัง แต่ความจริงไม่ได้ใส่ใจในข้อมูล หรือเห็นคุณค่าของข้อมูลเพื่อการวางแผนจริง คนเหล่านี้จำนวนมากไม่มีเวลาที่จะอ่านหรือฟังรายงานให้ได้ศัพท์ด้วยซ้ำไป 5>


 


เราควรตระหนักว่าการตัดสินใจโดยขาดข้อมูลย่อมนำไปสู่ความหายนะ ในทางตรงกันข้ามถ้ามีข้อมูลที่ดี เราก็จะสามารถเข้าใจความเป็นจริง สร้างประโยชน์ได้ เข้าทำนอง "รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง"


 


ข้อมูลมาจากการวิจัยที่ดี


ข้อมูลที่ดีมาจากการสังเกต สำรวจ ศึกษาวิจัยซ้ำ ๆ เพื่อให้ได้ความรู้ที่สอดคล้องกับความเป็นจริงอยู่เสมอและเข้าใกล้สัจธรรมมากขึ้น  กระบวนการได้มาซึ่งองค์ความรู้เพื่อการตัดสินใจในแขนงวิชาทั้งหลายนั้นมักมาจากการปฏิบัติชอบ และมีขั้นตอนใกล้เคียงกันดังนี้:


 


1. การแสวงหาข้อเท็จจริง (Fact Finding) ซึ่งแสดงว่าเราจำเป็นต้องศึกษาให้รู้จริง ออกแรงเอง จะ "ยืมจมูกคนอื่นหายใจ" ไม่ได้


 


2. การวินิจฉัยข้อมูล (Diagnosis) การมีข้อมูลมากมายนั้น อาจเป็นข้อมูลที่ขัดแย้งกันเองก็ได้  แล้วความเป็นจริงอยู่ที่ไหน  เราจึงควรมีทักษะในแยกแยะว่าข้อมูลใดเป็นเท็จ และข้อมูลใดเป็นจริง


 


3. การวิเคราะห์ข้อมูลและประมวลผล (Analysis) ซึ่งมีเทคนิควิธีการวิเคราะห์ข้อมูลในเชิงปริมาณและในเชิงคุณภาพอยู่หลายรายการเพื่อช่วยสนับสนุนการสกัดเอาความจริง ความรู้ ออกมาเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ


 


4. การปฏิบัติ (Treatment) ซึ่งก็คือการนำความรู้ไปดำเนินการรักษาคนไข้ ไปพัฒนาโครงการ ไปปรับใช้แก้ไขปัญหา เป็นต้น การนี้เป็นการพิสูจน์ความรู้จากผลการวิเคราะห์ว่าใช้ได้จริงหรือไม่ เชื่อถือได้หรือไม่ ดังนั้นกระบวนการให้ได้ความรู้ที่แท้จริงย่อมมาจากการปฏิบัติ


 


5. การติดตามผล (Following Up) ซึ่งเป็นกระบวนการศึกษาวิจัยที่ดำเนินไปควบคู่กับการปฏิบัติตามข้อ 4 เพื่อคอยติดตามผลเป็นระยะ ๆ ว่า การปรับใช้ความรู้นั้นได้ผลจริงเพียงใด


 


6. การประเมินผล (Evaluation) อันเป็นกระบวนการสุดท้ายเพื่อสรุปว่าผลการศึกษาวิจัยที่เราได้มาจากการวิเคราะห์และลองปฏิบัตินั้น สามารถใช้ได้ผลจริงหรือไม่ ถือเป็นสิ่งที่พึงเชื่อถือ ณ กาลเทศะหนึ่งหรือไม่เพียงใด


 


กระบวนการดังกล่าวนี้จะวนเวียนค้นหาข้อเท็จจริงใหม่ตามข้อ 1 ใหม่อีกไม่สิ้นสุด เพื่อให้เกิดการพัฒนาความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องยิ่งขึ้น โดยไม่สักแต่เชื่อโดยไม่ไตร่ตรอง


 


เสียงส่วนใหญ่คือสัจธรรม


หลักง่าย ๆ อย่างหนึ่งในการหาความเป็นจริง ก็คือ เสียงส่วนใหญ่คือสัจจธรรม  หรือสัจธรรมยืนอยู่ข้างคนส่วนใหญ่  อย่างผมทำอาชีพการประเมินค่าทรัพย์สิน  ผมทราบความจริงอย่างหนึ่งว่า ประชาชนส่วนใหญ่คือเสียงสวรรค์ คือความถูกต้อง  ในตลาดเปิดทั่วไป ถ้าคนส่วนใหญ่ซื้อบ้านในราคาหนึ่ง (Market Prices) ราคานั้นก็จะสะท้อนมูลค่าที่แท้จริง (Market Value)


 


ในความเป็นจริงอาจมีข้อมูลที่สูงหรือต่ำผิดปกติ (Outliers) 6> อยู่บ้าง ซึ่งย่อมเป็นความผิดพลาด (Errors) ที่อธิบายได้หรือยังอธิบายไม่ได้อันเป็นผลมาจากการจดบันทึกหรือเก็บข้อมูลมีความคลาดเคลื่อน หรือกลุ่มตัวอย่างแตกต่างไปจากกลุ่มส่วนใหญ่จริง เช่น จากการเก็บข้อมูลจำนวนพอเพียงพบว่า ปกติคนซื้อบ้านแบบเดียวกันในย่านนี้ ณ ราคา 1.0 ล้านบาท บวก/ลบ 10% แต่มีบางคนซื้อเพียง 0.5 ล้านบาท เพราะเป็นบ้านเก่าที่ทรุดโทรม หรือมีคนฆ่าตัวตายในบ้าน คนเลยกลัว  แต่บางคนก็อาจซื้อในราคา 2.0 ล้านบาท เพราะจำเป็นต้องซื้อหรือเพราะความไม่รู้ เป็นต้น  เราจึงต้องร่อนเอาข้อมูล Outliers เหล่านี้ออกก่อนการวิเคราะห์และประมวลผล


 


อย่างไรก็ตาม "กฎทุกกฎย่อมมีข้อยกเว้น" ในด้านการเมือง เศรษฐกิจและสังคม เสียงส่วนใหญ่ย่อมถูกต้อง ไม่มีใครโง่กว่าใคร  เราเชื่อมั่นในเสียงส่วนใหญ่ได้ แต่ในเชิงเทคนิควิทยาการ เช่น จะสร้างจรวดไปดวงจันทร์ อันนี้เราถือเสียงส่วนใหญ่ไม่ได้  เราต้องถือตามผู้รู้  และจากจุดนี้เอง  จึงมีบางคนพยายามบิดเบือน สร้างความสับสนด้วยการแสดงตนเป็นอาจารย์ เป็นผู้รู้ เป็นอภิชนเหนือคนอื่น  และก็ด้วยเหตุนี้เองพระพุทธเจ้าจึงได้แสดงธรรม "กาลามสูตร" ข้างต้น


 


วาระซ่อนเร้น


ทั้ง ๆ ที่เรารู้อยู่แก่ใจว่าเราต้องการข้อมูลในการตัดสินใจ  แต่ยังมีบุคคลบางประเภทไม่ต้องการให้เรามีข้อมูล จะสักแต่ใช้ความเชื่อซ้ำ ๆ เดิม ๆ เพราะมีวาระซ่อนเร้น  เช่น  หน่วยงานที่ทำงานด้านชุมชนแออัด กลับไม่ยอมบริหารงานด้วยข้อมูล ไม่ยอมทำการสำรวจจำนวนชุมชนแออัดว่าลดลงไปมากแล้ว กลับใช้ตัวเลขเดิม ๆ ที่สำรวจมานานนับสิบปีเพราะกลัวสังคมรู้ว่าชุมชนแออัดลดลง กลัวโดนตัดงบ 8> หรือ NGO บางแห่งพยายามสร้างภาพว่าโสเภณีในไทยมีมากมายจนคนเข้าใจผิดกันยกใหญ่ 9> เป็นต้น


 


วาระซ่อนเร้นอีกประการหนึ่งก็คือ แม้ความเข้าใจที่แตกต่างกันในหมู่ชนอาจทำให้เกิดการฆ่ากันตายเพราะคุยการเมืองกันในวงเหล้าบ้าง  แต่นั่นยังเป็นเพราะการขาดสติเป็นอีกปัจจัยหนึ่ง  การเข่นฆ่ากันเพราะความเห็นทางการเมืองแตกต่างกันนั้น  มักไม่ค่อยเกิดขึ้นในหมู่ชน  เว้นแต่ถูกเสี้ยม ถูกโฆษณาชวนเชื่อหนัก เช่น กรณี 6 ตุลาคม 2519  และมักเกิดขึ้นเฉพาะในหมู่ชนที่ได้รับการตระเตรียมมาสร้างสถานการณ์ ก่อความไม่สงบเพื่อประโยชน์ของผู้มีอำนาจซึ่งหวังจะครองอำนาจนาน ๆ


 


ท่าทีส่งท้าย


ในความเป็นจริงของการค้นหาความจริงนั้น ถึงที่สุดแล้ว มีความจริงที่น่าเจ็บปวด 4 ประการคือ ความสัมพัทธ์ ความไม่แน่นอน ความไม่สมบูรณ์ และการตัดสินไม่ได้ เราไม่อาจเข้าถึงสัจธรรมสมบูรณ์ (absolute truth) แต่มักเข้าถึงสัจธรรมสัมพัทธ์ (Relative Truth) นี่จึงเป็นอุทาหรณ์ให้เราได้ตระหนักว่า เราไม่ควรด่วนสรุป รีบเชื่อในสิ่งที่เราเห็นหรือเราอยากเชื่อกันแต่แรก  ในขณะเดียวกันเราก็ไม่ควรยืนกระต่ายขาเดียว จะรอเชื่อก็จนกว่าทุกอย่างหยุดนิ่ง สมบูรณ์ ซึ่งในความจริงก็เป็นไปไม่ได้ เป็นต้น


 


อย่างไรก็ตาม ในบางกรณีเราก็อาจต้องตัดสินใจแก้ไขปัญหาเฉพาะด้วยภูมิรู้ ปฏิภาณ และด้วยข้อมูลที่จำกัด (to the best of our knowledge)  แต่โดยทั่วไป เราควรมีท่าทีที่ไม่รีบด่วนตัดสินใจในขณะที่ยังไม่มีข้อมูลที่มั่นใจได้เพียงพอ หรือไม่ตัดสินใจโดยใช้ข้อมูลที่ใส่สีใส่ไข่  แต่ควรทบทวนจนกว่าจะมั่นใจก่อนการตัดสินใจ  และพร้อมที่จะรับความเสี่ยงผิดพลาดจากการตัดสินใจ เช่น ถ้าเราจะลงทุนในโครงการหนึ่ง ก็ต้องมั่นใจว่าเราลงทุนแล้วได้ประโยชน์  และหากไม่ได้เป็นดังหวัง เราก็ไม่เจ๊งไปตามความไม่สำเร็จของโครงการไปด้วย เป็นต้น


 


ท่าทีที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ การไม่อายที่จะเปลี่ยนความเชื่อเมื่อเราเห็นแล้วว่าสิ่งที่เราเชื่อนั้นไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง เป็นอวิชชา เป็นอกุศล มีโทษ ผู้รู้ติเตียน ไม่เป็นประโยชน์ และเป็นทุกข์  เราในฐานะมนุษย์ย่อมมีความคิดผิดพลาดได้ (Human Errors)  การเปลี่ยนความคิด ไม่ใช่สิ่งน่าอายเหมือน "จิ้งจกเปลี่ยนสี" แต่เป็นการแสดงความกล้าหาญทางจริยธรรมที่กล้าเปลี่ยนแปลง กล้าปลดแอกจากความคิดที่ผิดพลาดไป และเมื่อเราสามารถปรับเปลี่ยนคิดใหม่แล้วเมื่อนั้น ความเข้าใจที่ดีก็จะเกิดขึ้น สมดังพระพุทธพจน์ว่า


 


"ท่านทั้งหลายพึงรู้ด้วยตนเองว่า ธรรมเหล่านี้เป็นกุศล ธรรมเหล่านี้ไม่มีโทษ ธรรมเหล่านี้ท่านผู้รู้สรรเสริญ ธรรมเหล่านี้ใครสมาทานให้บริบูรณ์แล้ว เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข เมื่อนั้นท่าน


ทั้งหลายควรเข้าถึงธรรมเหล่านั้น" 10>


 


ฝ่ายพันธมิตรหรือฝ่ายอื่นใดที่ยึดมั่นถือมั่นในความเชื่อของตนเองมาก ๆ ก็ลองใช้ความกล้าหาญทางจริยธรรมตรวจสอบตัวเองด้วยกาลามสูตรนี้  ผลดีที่ได้ก็คือ เราอาจยิ่งมั่นใจในหนทางที่ถูกต้องยิ่งขึ้น หรือค้นพบหนทางใหม่ที่ดียิ่งขึ้นไปอีกก็ได้  มีแต่ได้กับได้  ลองดูนะครับ


 


อ้างอิง


1> โปรดอ่านรายละเอียดได้ที่ http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=20&A=4930&Z=5092 และดูการอภิปรายเพิ่มเติมที่ http://www.dopa.go.th/religion/tammar.html  รวมทั้ง http://www.navy.mi.th/newwww/code/special/budham/tp/tp200366.htm  และ http://www.vcharkarn.com/vcafe/101357


2> โปรดอ่าน "อย่าเชื่อเพียงเพราะเขาเป็นอาจารย์" ที่ http://researchers.in.th/blog/006/1095 หรือที่ http://www.thaiappraisal.org/Thai/Market/Market211.htm


3> โปรดอ่าน "อย่าปล่อยให้ "สืบ นาคะเสถียร" ตายฟรี" ที่ วารสาร ThaiAppraisal ปีที่ 7 ฉบับที่ 5 กันยายน-ตุลาคม 2551 หน้า 22 หรือที่ http://www.thaiappraisal.org/Thai/Market/Market203.htm


4> โปรดอ่าน "คนจนในไทยมีเพียง 10%" ที่ http://www.thaiappraisal.org/Thai/Market/Market180.htm


5> โปรดอ่าน "CEO อย่างคุณ รู้ค่าข้อมูลจริง?" ที่ กรุงเทพธุรกิจ 30 เมษายน 2551 หน้า 34 หรือที่ http://www.thaiappraisal.org/Thai/Market/Market182.htm


6> โปรดอ่านคำอธิบาย Outliers ทางสถิติได้ที่ http://www.watpon.com/Elearning/stat20.htm


7> โปรดอ่าน "Relativity, Uncertainty, Incompleteness and Undecidability" ที่ http://www.kuro5hin.org/story/2005/8/30/34954/4638 หรือฉบับภาษาไทยที่ http://www.fringer.org/?p=33


8> โปรดอ่าน "นโยบายที่อยู่อาศัยแห่งชาติ เพื่อประชาชน?" ที่ ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 25 ฉบับที่ 1,972 วันที่ 6-8 มกราคม 2548 หน้า 37 หรือที่ http://www.thaiappraisal.org/Thai/Market/Market65.htm


9> โปรดอ่าน "It has threatened to expel journalists who impugn the honour of Thai womenfolk, and forced Longman's dictionary to change its 1993 edition, the entry for Bangkok which included the line "a place where there are a lot of prostitutes." Thailand, in its turn, has been considerably abused by statisticians and NGOs. Claims that there are 2m or more prostitutes in the population of 64m, as was once stated in a Time cover story, are absurd. This much-quoted figure was drawn from the statistics of the Coalition Against Trafficking in Women, an international NGO. If true, it would mean that one in four Thai women between the ages of 15 and 29 in Thailand was a prostitute" ได้ที่ http://www.prospect-magazine.co.uk/article_details.php?id=6889


10> จาก กาลามสูตร (เกสปุตตสูตร) ดูได้ที่ http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=20&A=4930&Z=5092


 


 


* ดร.โสภณ พรโชคชัย เป็นผู้ประเมินค่าทรัพย์สินและนักวิจัยด้านอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน  ขณะนี้เป็นประธานกรรมการ มูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย (www.thaiappraisal.org) และยังเป็นกรรมการหอการค้าสาขาจรรยาบรรณ สาขาเศรษฐกิจพอเพียง ที่ปรึกษาหอการค้าไทยสาขาอสังหาริมทรัพย์ และกรรมการสภาที่ปรึกษาของ Appraisal Foundation ซึ่งเป็นหน่วยงานควบคุมวิชาชีพประเมินค่าทรัพย์สินในสหรัฐอเมริกาที่แต่งตั้งขึ้นโดยสภาคองเกรส Email: sopon@thaiappraisal.org

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net