พรรคประชาธิปัตย์ขุดหลุมฝังตัวเอง

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ทศพล เชี่ยวชาญประพันธ์


ผู้ช่วยวิจัยสถาบันศึกษาความมั่นคงและนานาชาติ

คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

แฟนพันธุ์แท้การเมืองไทย พ.ศ. 2546

8 ธันวาคม พ.ศ. 2551

 

            ภายหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2551 สั่งให้ยุบพรรคการเมือง 3 พรรคประกอบไปด้วย พรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย พร้อมกับเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคการเมืองทั้ง 3 พรรคเป็นเวลา 5 ปี ก็เกิดกระแสเรียกร้องจากนักธุรกิจ และนักวิชาการให้มีการเปลี่ยนขั้วจัดตั้งรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง คือต้องการให้พรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลแทนที่พรรคพลังประชาชนที่ถูกยุบพรรคไป

 

ปัญหาสำคัญที่ต้องพิจารณาจึงมีอยู่ว่า พรรคประชาธิปัตย์สมควรจะเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลในช่วงเวลานี้หรือไม่ ในเบื้องต้น ถ้าพิจารณาจากแง่มุมทางนิติศาสตร์โดยยึดบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเป็นหลัก ก็อาจกล่าวได้ว่า พรรคประชาธิปัตย์มีความชอบธรรมทุกประการที่จะรวบรวมเสียงสนับสนุนจากพรรคการเมืองอื่นๆ แล้วจัดตั้งรัฐบาล เนื่องจากรัฐธรรมนูญมิได้มีบทบัญญัติบังคับไว้ว่า พรรคการเมืองที่ได้รับเลือกตั้งมามากเป็นอันดับที่หนึ่งจะต้องเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลเสมอไป แต่ถ้าพิจารณาตามหลักรัฐศาสตร์ ตลอดจนสภาพแวดล้อมทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมของประเทศไทยในขณะนี้ จะพบว่า พรรคประชาธิปัตย์ยังไม่สมควรจะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลในช่วงเวลานี้ ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

 

เหตุผลข้อแรก ไม่สง่างาม เพราะไม่ได้รับฉันทามติจากพี่น้องประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2550 ที่ผ่านมานั้น ลข้อแรก คือ        ในช่วงเวลานี้ด้วยเหตุผล ดังต่อไปนี้ิจ และสังคมของประเทศไทยในขณะนี้ แต่ถ้ารมนูญมิได้มีบทบัญญัติบังคับไว้วพรรคประชาธิปัตย์ได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด 164 คน ขณะที่พรรคพลังประชาชนได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 233 คนจากการเลือกตั้งครั้งนั้น มากกว่าพรรคประชาธิปัตย์ถึง 69 คนซึ่งถือเป็นส่วนต่างที่สูงมากพอสมควรในทางการเมือง ในประเด็นนี้ คงต้องถามใจของท่านหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ว่า ท่านจะรู้สึกภาคภูมิใจหรือที่จะได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีโดยที่พ่ายแพ้การเลือกตั้งอย่างหมดรูปต่อพรรคพลังประชาชนในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา? ท่านจะรู้สึกภาคภูมิใจมากกว่าหรือไม่ถ้ารอให้พรรคประชาธิปัตย์ชนะการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในการเลือกตั้งครั้งต่อไป แล้วท่านจึงจะขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี อย่างสง่างามที่สุด?

 

            เหตุผลข้อที่สอง ซึ่งสำคัญกว่าเหตุผลข้อแรก ก็คือ ตลอดเวลากว่า 193 วันที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยชุมนุมประท้วงขับไล่รัฐบาลนั้น พรรคประชาธิปัตย์ถูกกล่าวหา และถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่า สนับสนุนการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ ทั้งทางตรง และทางอ้อม อีกทั้งแกนนำของกลุ่มพันธมิตรฯ หลายคนก็ล้วนแล้วแต่เป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ทั้งสิ้น เช่น อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ประพันธ์ คูณมี และสำราญ รอดเพชร อดีตสมาชิกวุฒิสภา พิเชฐ พัฒนโชติ รวมทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบสัดส่วน กลุ่มที่ 5 ของพรรคประชาธิปัตย์ก็ยังเป็นแกนนำคนสำคัญของกลุ่มพันธมิตรฯ ด้วย คือ อาจารย์สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ อีกทั้งตลอดเวลาที่ผ่านมา พรรคประชาธิปัตย์เกือบจะไม่เคยวิพากษ์วิจารณ์การกระทำที่ผิดกฎหมาย และสร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนทั่วไปของกลุ่มพันธมิตรฯ เลยแม้แต่น้อย ์การกระทำที่ผิดกฎหมาย และสร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนทั้ก็ยิ่งส่งผลให้พี่น้องประชาชนรู้สึกเคลือบแคลงสงสัยมากยิ่งขึ้นว่า พรรคประชาธิปัตย์นั้นอยู่เบื้องหลังกลุ่มพันธมิตรฯ ในการโค่นล้มรัฐบาลที่นำโดยพรรคพลังประชาชน เพื่อให้ตัวเองได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลแทนใช่หรือไม่

 

ถ้าพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้ ก็เท่ากับเป็นการยืนยันข้อสงสัยที่อยู่ในใจของประชาชนจำนวนมากว่า พรรคประชาธิปัตย์นั้นสนับสนุนกลุ่มพันธมิตรฯ โค่นล้มรัฐบาลเพื่อประโยชน์ส่วนตนโดยไม่คำนึงว่ากลุ่มพันธมิตรฯ นั้นได้สร้างความเสียหายแก่ประเทศมากเพียงใด และไม่คำนึงถึงหลักการประชาธิปไตยที่พรรคประชาธิปัตย์เองประกาศว่ายึดมั่นอยู่ตลอดเวลา ซึ่งจะส่งผลเสียหายอย่างร้ายแรงต่อภาพลักษณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ในระยะยาว นอกจากนี้ยังจะสูญเสียคะแนนเสียงจากผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการกระทำของกลุ่มพันธมิตรฯ ไปจำนวนไม่น้อยอีกด้วย

 

เหตุผลข้อที่สาม ซึ่งเป็นเหตุผลที่สำคัญที่สุด ก็คือ ถึงแม้ว่าพรรคประชาธิปัตย์จะสามารถจัดตั้งรัฐบาล ได้สำเร็จ แต่จะไม่สามารถบริหารราชการแผ่นดินได้อย่างราบรื่น จากข้อมูลของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร สภาผู้แทนราษฎรเหลือสมาชิกที่ยังสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้จำนวน 438 คน เพราะฉะนั้น การจัดตั้งรัฐบาลจะต้องมีเสียงสนับสนุนเกิน 219 เสียง สมมุติว่า พรรคประชาธิปัตย์ที่ขณะนี้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอยู่ 165 คนสามารถรวบรวมเสียงสนับสนุนจากทุกพรรคการเมือง ยกเว้นอดีตพรรคพลังประชาชน คือ พรรคเพื่อแผ่นดิน 21 เสียง อดีตพรรคชาติไทย 15 เสียง อดีตพรรคมัชฌิมาธิปไตย 11 เสียง พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา 9 เสียง พรรคประชาราช 5 เสียง ก็จะได้เสียงสนับสนุนทั้งหมด 226 เสียง เกินกึ่งหนึ่งไปเพียง 7 เสียง และมีเสียงมากกว่า พรรคฝ่ายค้านซึ่งก็คือ อดีตพรรคพลังประชาชนที่ปัจจุบันใช้ชื่อว่า "พรรคเพื่อไทย" เพียง 14 เสียงเท่านั้น  ซึ่งโดยธรรมชาติของระบบรัฐสภาแบบไทย รัฐบาลที่เสียง "ปริ่มน้ำ" แบบนี้จะไม่สามารถบริหารราชการแผ่นดินได้เลย และคงจะมีอายุอยู่ได้ไม่นาน

 

นอกจากนี้ต้องไม่ลืมว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน มีบทบัญญัติไว้ในมาตรา 177 วรรคสองว่า "ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ถ้ารัฐมนตรีผู้ใดเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในขณะเดียวกันด้วย ห้ามมิให้รัฐมนตรีผู้นั้นออกเสียงลงคะแนนในเรื่องที่เกี่ยวกับการดำรงตำแหน่ง การปฏิบัติหน้าที่ หรือการมีส่วนได้เสียในเรื่องนั้น" หมายความว่า ถ้ารัฐบาลที่นำโดยพรรคประชาธิปัตย์แต่งตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นรัฐมนตรีทั้งหมด คะแนนเสียงของรัฐบาลเวลาลงมติร่างกฎหมายสำคัญๆ ก็จะหายไป 36 เสียงทันที คือเหลือเสียงสนับสนุนเพียง 190 เสียงเท่านั้น น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด และน้อยกว่าพรรคฝ่ายค้าน แนวทางแก้ไข ก็อาจจะต้องแต่งตั้งผู้ที่มิได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีเป็นส่วนใหญ่ แต่การกระทำเช่นนี้ก็จะก่อให้เกิดความขัดแย้งภายในพรรคการเมืองร่วมรัฐบาลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแต่ละคนย่อมหวังที่จะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี เมื่อผิดหวังก็อาจจะแสดงพฤติกรรม "ตีรวน" ในสภา กลายเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล

 

            เพราะฉะนั้น พรรคประชาธิปัตย์จึงเหลือทางเลือกเพียงทางเดียว คือ ต้องพยายามทุกวิถีทางเพื่อให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เคยสังกัดพรรคพลังประชาชนหันมาสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ให้จงได้ ซึ่งก็ดูเหมือนว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร "กลุ่มเพื่อนเนวิน" ของพรรคพลังประชาชนจำนวนกว่า 37 คนนั้น มีแนวโน้มที่จะสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ในการจัดตั้งรัฐบาล ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง รัฐบาลก็จะมีเสียงสนับสนุนเพิ่มขึ้นเป็น 263 เสียง ก็อาจจะกล่าวได้ว่า มีเสถียรภาพ และความมั่นคงพอสมควร

 

            แต่ทว่า ปัญหาจะไม่ได้ยุติลงเพียงเท่านั้น เพราะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร "กลุ่มเพื่อนเนวิน" จะกลายเป็นกลุ่มที่มีอำนาจมากที่สุดในรัฐบาล สามารถต่อรองตำแหน่งรัฐมนตรี และผลประโยชน์ต่างๆ ได้ตามที่ใจปรารถนา ถ้าพิจารณาจากเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์เมื่อครั้งที่พรรคประชาธิปัตย์ไปดึงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคประชากรไทยจำนวน 12 คน ซึ่งต่อมาก็ถูกเรียกว่า "กลุ่มงูเห่า" มาสนับสนุนคุณชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 2 เมื่อปลายปี พ.ศ. 2540 นั้น "กลุ่มงูเห่า" ยังได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีถึง 3 ตำแหน่ง คือ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม แล้ว "กลุ่มเพื่อนเนวิน" ที่มีสมาชิกถึงกว่า 37 คนก็คงจะได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีไม่น้อยกว่า 5 ตำแหน่ง

 

คำถามมีอยู่ว่า ถ้า "กลุ่มเพื่อนเนวิน" ต่อรองขอตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวง "เกรดเอ" ที่มีอำนาจ และงบประมาณมากมายมหาศาล เช่น กระทรวงคมนาคม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย ฯลฯ โดยข่มขู่ว่า ถ้าพรรคประชาธิปัตย์ไม่ให้ตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงเหล่านี้ จะถอนตัวไม่สนับสนุนรัฐบาลอีกต่อไป พรรคประชาธิปัตย์จะกล้าปฏิเสธหรือไม่เมื่อความอยู่รอดของรัฐบาลล้วนขึ้นอยู่กับ "กลุ่มเพื่อนเนวิน" ทั้งสิ้น และเหตุการณ์ที่เลวร้ายที่สุดที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ก็คือ ถ้า "กลุ่มเพื่อนเนวิน" ยังคงต้องการช่วยเหลือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แล้วต่อรองให้รัฐบาลที่นำโดยพรรคประชาธิปัตย์ออกกฎหมายนิรโทษกรรมอดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย 111 คนที่ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 5 ปีเมื่อครั้งที่พรรคไทยรักไทยถูกยุบ พรรคประชาธิปัตย์ก็จะถูกสังคมประณามว่า "ทรยศประชาชน" ด้วยการเล่น "ปาหี่" ทางการเมืองช่วยเหลืออดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยซึ่งหมายรวมถึง นักโทษที่หลบหนีอาญาแผ่นดินที่ชื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ด้วย ถ้าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้น พรรคประชาธิปัตย์จะตอบคำถามประชาชนว่าอย่างไร? ไม่ทราบว่า แกนนำพรรคประชาธิปัตย์โดยเฉพาะคุณสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่ไปนั่งแถลงข่าวจัดตั้งรัฐบาลกับกลุ่มเพื่อนเนวินอย่างมีความสุขเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2551 ที่โรงแรมสุโขทัยนั้น เคยนึกถึง หรือนึกกลัวประเด็นเหล่านี้บ้างหรือไม่

 

            ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ กล่าวถึงเฉพาะการต่อรองตำแหน่งรัฐมนตรี และผลประโยชน์ที่อาจจะเกิดจาก "กลุ่มเพื่อนเนวิน" เท่านั้น ยังไม่นับการเจรจาต่อรองที่อาจเกิดจากพรรคร่วมรัฐบาลอื่นๆ ซึ่งเป็นเรื่องปกติธรรมดาของรัฐบาลผสมทุกยุคทุกสมัย พรรคประชาธิปัตย์โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็จะไม่เหลือภาวะผู้นำอีกเลย นโยบาย "วาระประชาชน" ที่ประกาศไว้ในช่วงของการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งอย่างสวยหรู จะไม่มีทางเกิดผลในทางปฏิบัติอย่างแน่นอน เพราะฉะนั้น จะมีประโยชน์อันใดถ้าได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล แต่ไม่สามารถคุมกระทรวงสำคัญๆ ไว้ได้ อีกทั้งไม่สามารถนำนโยบายที่เคยประกาศไว้ไปปฏิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรมได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ ประชาชนก็จะรู้สึกผิดหวัง และลงโทษพรรคประชาธิปัตย์ผ่านกระบวนการการเลือกตั้งเหมือนดังที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2544 ที่ผ่านมา แล้วพรรคประชาธิปัตย์ก็จะต้องกลับไปเป็นฝ่ายค้านอีกครั้งเป็นระยะเวลายาวนาน ซึ่งไม่คุ้มค่ากันเลยกับการได้เป็นรัฐบาลเพียงระยะเวลาสั้นๆ แต่ต้องแลกกับความผิดหวังของประชาชน และความตกต่ำของพรรคในท้ายที่สุด

 

            นอกจากนี้ พรรคประชาธิปัตย์ยังอาจจะต้องเผชิญกับการชุมนุมต่อต้านของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่มีรูปแบบ และระดับความรุนแรงไม่ต่างจากการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ เท่าไรนัก เพราะเมื่อกลุ่มพันธมิตรฯ สามารถดำเนินการอะไรก็ได้โดยไม่สนใจกฎหมายของบ้านเมืองโดยเฉพาะอย่างยิ่งการบุกยึดทำเนียบรัฐบาล ท่าอากาศยานดอนเมือง และ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ แต่รัฐบาลก็ไม่สามารถดำเนินการเอาผิดตามกฎหมายได้ ย่อมเป็นบรรทัดฐานที่เลวร้ายที่กลุ่มอื่นๆ จะปฏิบัติตามอย่างแน่นอน เมื่อเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้น พรรคประชาธิปัตย์จะต้องเผชิญกับสภาวะ "กลืนไม่เข้าคายไม่ออก" ไม่ทราบว่าจะดำเนินการอย่างไร ถ้าจะใช้กำลังความรุนแรงเข้าปราบปราม จะถูกประณามว่าเป็น "ทรราชที่เข่นฆ่าประชาชน" แต่ถ้าไม่ดำเนินการใดๆ ปล่อยให้ การชุมนุมยืดเยื้อออกไป ก็จะถูกวิพากษ์วิจารณ์อีกว่า พรรคประชาธิปัตย์ไม่เคารพ และไม่รักษากฎหมาย ไร้ความสามารถในการแก้ไขปัญหาวิกฤติการเมืองก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติอย่างใหญ่หลวง แต่ถ้าพรรคประชาธิปัตย์อดทนรออีกสักระยะหนึ่ง แล้วได้เป็นรัฐบาลด้วยฉันทามติของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ กลุ่ม นปช. จะหมดความชอบธรรมในการชุมนุมต่อต้าน หรือขับไล่พรรคประชาธิปัตย์ในทันที

 

            จากรายละเอียดที่กล่าวมาทั้งหมด พรรคประชาธิปัตย์จึงไม่ควรเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลในช่วงเวลานี้เพราะมีแต่ผลเสีย ไม่มีผลดีอะไรเลยแม้แต่น้อย แต่ควรจะยืนหยัดทำหน้าที่ฝ่ายค้านที่เข้มแข็งต่อไป ขณะเดียวกันก็พยายามปรับปรุงนโยบายให้สามารถตอบสนองความต้องการของพี่น้องประชาชนได้มากขึ้น พร้อมทั้งเร่งขยายสาขา เครือข่าย และกิจกรรมในพื้นที่ที่ยังคงเป็นจุดอ่อนของพรรค คือ ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อย่างจริงจัง ต่อเนื่อง เมื่อมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งต่อไปซึ่งเป็นที่คาดการณ์กันว่า จะเกิดขึ้นในอีกไม่นานนี้ พรรคประชาธิปัตย์ก็จะสามารถเป็นทางเลือกที่ดีของพี่น้องประชาชน และสามารถชนะการเลือกตั้งได้ไม่ยาก เมื่อถึงเวลานั้นพรรคประชาธิปัตย์ก็จะได้เป็นรัฐบาลอย่างสง่างาม ชอบธรรม คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็จะเป็นนายกรัฐมนตรีที่มีภาวะผู้นำสูง สามารถผลักดันนโยบายต่างๆ ให้เกิดผลในทางปฏิบัติเพื่อนำพาประเทศออกจากวิกฤติได้อย่างแน่นอน

 

            แต่ไม่ทราบว่าพรรคประชาธิปัตย์จะมีความอดทนมากขนาดนั้นหรือไม่ เพราะจากข่าวล่าสุด พรรคประชาธิปัตย์สามารถรวบรวมเสียงสนับสนุนเพื่อจัดตั้งรัฐบาลได้เรียบร้อยแล้ว และจะต้องเผชิญกับเหตุการณ์เลวร้ายต่างๆ ตามที่ได้อธิบายโดยละเอียดข้างต้นแล้ว พรรคประชาธิปัตย์ขุดหลุมฝังตัวเองจริงๆ !!!

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท