Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. ที่ห้องประชุมศิษย์เก่า คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการแถลงข่าวเรื่อง "อาเซียน ผลกระทบต่อประชาชน และการจัดประชุมมหกรรมประชาชนอาเซียน สืบเนื่องจากการที่ภาคประชาชนอาเซียนมีแผนในการจัดการประชุมมหกรรมอาเซียนหรือ ASEAN Peoples" Forum (APF) ในวันที่ 12-14 ธันวาคม 2551 คู่ขนานกับการจัดประชุมสุดยอดอาเซียน (ASEAN Summit) ที่ประเทศไทย แต่เนื่องจากสถานการณ์การเมืองในประเทศไทยทำให้การจัดเวทีสุดยอดต้องเลื่อนไป ดังนั้น การจัดประชุมของ APF จึงต้องเลื่อนออกไปเช่นกัน


 


เลื่อนจัดประชุมเวทีคู่ขนานของภาคประชาชน


ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันความมั่นคงและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จุฬาฯ ในฐานะสำนักงานประสานงานการจัดเวที APF กล่าวว่า การจัด APF มีเงื่อนไขทางการเมืองทำให้ต้องเลื่อนออกไป ทั้งนี้ ในเชิงหลักการอาเซียนต้องการให้มีประชาคมของอาเซียน จึงมีการตั้งกฎกติกาขึ้นมา คือ กฎบัตรอาเซียน ในส่วนนี้มีสามเสาหลัก คือ ด้านการเมืองความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคมวัฒนธรรม รวมถึงการตั้งกลไกส่งเสริมสิทธิมนุษยชนอาเซียน และการตัดสินข้อพิพาทระหว่างสมาชิก ซึ่งมีคำถามว่า ถ้ามีประเทศใดไม่ทำตามจะทำอย่างไร หรือมีประเทศละเมิดสิทธิมนุษยชนจะทำอย่างไร นี่เป็นความพยายามข้ามกฎของอาเซียน ที่จะไม่แทรกแซงกัน


 


ฐิตินันท์ กล่าวถึงที่มาของการจัดเวที APF ว่า ตามที่อาเซียนได้เน้นว่า ให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง และในฐานะที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ กรมอาเซียนจึงริเริ่มที่อยากให้ภาคประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น จึงทาบทาม สถาบันความมั่นคงและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เป็นผู้ประสานงานจัดเวทีดังกล่าวขึ้น


 


เขากล่าวว่า เวที APF ได้เตรียมความพร้อมไว้หมดแล้ว หากแต่มีเหตุการณ์สุดวิสัย มีความขัดแย้ง และเกิดการประท้วงปิดสนามบินนานาชาติ ทำให้รัฐบาลไทยต้องเลื่อนการประชุมออกไป โดยที่ยังไม่ได้กำหนดเวลาที่ชัดเจน ดังนั้น แม้ว่าเราจะพร้อมที่จะจัดการประชุม APF เราก็จำเป็นต้องเลื่อนการประชุมออกไปเช่นกัน เพราะการประชุมนี้มีเป้าหมาย เพื่อนำเสนอข้อเสนอต่อที่ประชุมสุดยอดอาเซียน และจัดการประชุมคู่ขนานกัน


 


ทั้งนี้ ฐิตินันท์ มองว่า ความขัดแย้งในประเทศไทยเป็นประเด็นที่ท้าทายอาเซียน เพราะหากไม่สามารถกำหนดกรอบเวลาการประชุมได้ ก็อาจจะไม่ได้จัดในประเทศไทย วิกฤตการเมืองในไทยจึงกระทบอาเซียนอย่างเห็นได้ชัด


 


หวังประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการอาเซียนมากขึ้น


ชนิดา แบมฟอร์ด โครงการศึกษาและปฎิบัติงานพัฒนา (โฟกัส) กล่าวว่า แม้กฎบัตรอาเซียนบอกว่าจะมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง แต่ประชาชนไม่ไ่ด้มีส่วนร่วมร่างกฎบัตรเลย แม้มีความพยายามเสนอต่อคณะยกร่างฯ แต่เท่าที่ทราบมา ข้อเสนอนั้นถูกนำไปอ่านต่อคณะทำงาน แต่ไม่มีการตอบสนองข้อเสนอแนะเหล่านั้น ในกฎบัตรเองก็ไม่ได้พูดถึงว่าประชาชนจะมีส่วนร่วมได้อย่างไร มีเพียงการพูดถึงหน้าที่ของรัฐในคณะกรรมการต่างๆ เท่านั้น


 


ชนิดา กล่าวว่า ทั้งนี้ เมื่อทราบว่ามีการลงนามกฎบัตรไปเมื่อปีที่แล้ว แต่ประชาชนส่วนใหญ่กลับไม่มีความรู้เกี่ยวกับอาเซียนเลย การจัดการประชุมนี้เราเห็นว่าประชาชนไทยควรจะมีความรู้เกี่ยวกับความเป็นไปของอาเซียน จึงควรจะจัดการประชุมนี้ขึ้น นอกจากนี้ ขณะที่อาเซียนมีความแตกต่างในระบบการปกครองตั้งแต่ในระบบสมบูรณาญาสิทธิราช ไปจนถึงเผด็จการทหาร เราถือว่าอยู่ในฝ่ายที่มีพื้นที่แสดงความเห็นได้ จึงพยายามชวนเพื่อนๆ ประเทศอื่นมาเข้าร่วมเวทีตรงนี้ด้วย


 


ชี้ "พิมพ์เขียวเศรษฐกิจ" ละเลยเกษตรกรรายย่อย


กิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา สมาชิกกลุ่มเอฟทีเอ วอท์ช กล่าวว่าประเทศในอาเซียนมีลักษณะเป็นคู่แข่งทางการค้ากันมากขึ้น เมื่อมีการบังคับใช้ข้อผูกพันด้านการค้าหรือความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอาเซียน จะเป็นเครื่องมือทำให้การเปิดเสรีทางการค้า เป็นไปได้อย่างจริงจังขึ้น และทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบมากขึ้นด้วย เรามักได้ยินว่า ต้องการให้อาเซียนเป็นตลาดเดียว ในการเปิดเสรีสินค้าและบริการ ส่วนที่เป็นภาคสินค้าสำคัญมีความเกี่ยวโยงกับเกษตร เช่น ประมง ป่าไม้ ยานยนต์ ยางพารา อิเล็คทรอนิกส์ เป็นภาคที่ถูกจัดให้มีความสำคัญมากที่สุด และต้องเปิดการค้า 100% รวมถึงภาคบริการ ด้านสารสนเทศ การขนส่ง และการท่องเที่ยวด้านสุขภาพด้วย


 


กิ่งกร กล่าวต่อว่า ในพิมพ์เขียวเศรษฐกิจของอาเซียนนั้นไม่มีการพูดถึงเกษตรกรรายย่อยเลย ซึ่งน่าสนใจว่าเหตุใดจึงถูกละเลย ทั้งนี้ เราเห็นว่าจากความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ยิ่งมีการเปิดให้ลงทุนในภาคเกษตรได้ จะยิ่งส่งเสริมการขยายตัวของบรรษัทอุตสาหกรรมการเกษตรมากขึ้น


 


กิ่งกร กล่าวถึงข้อเสนอในด้านการเกษตร 4 ข้อ คือ 1.การปกป้องฐานเกษตรกรรายย่อย เช่น ต้องมีการปฎิรูปที่ดินให้เกษตรกรรายย่อย 2.เอาพันธุกรรมคืนให้ประชาชน ไม่ใช่เอาไปไว้ที่ศูนย์พันธุกรรม เำืพื่อปกป้องฐานเกษตรกรรมขนาดเล็ก 3.การจัดการกลุ่มเกษตรกรที่อยู่ในระบบการผลิตเพื่อการค้าที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ 4.ควบคุมติดตามการขยายตัวของบรรษัทในภูมิภาคที่จะเข้าไปสร้างปัญหากับเกษตรกรรายย่อย ไม่ปล่อยให้เติบโตโดยไร้ขีดจำกัดและทำลายรายย่อย โดยมีโจทย์ที่ใหญ่ที่สุด คือ จะทำให้สองระบบนี้อยู่ร่วมกันได้อย่างไร


 


พบเยาวชนอาเซียนเจอปัญหาคล้ายกัน


จิรภัทร์ บัวอิ่น สมาชิกเครือข่ายเยาวชนภูมิภาคอาเซียน เล่าว่า เมื่อสองปีที่แล้ว เมื่อมีการจัดการประชุม Gross National Happiness เยาวชนในลุ่มน้ำโขงได้รวมตัวกันเพื่อจัดกิจกรรม โดยมีการลงพื้นที่ในชุมชน เพื่อแลกเปลี่ยนเรื่องการพัฒนาประเทศในแต่ละที่ และผลกระทบที่เกิดขึ้น โดยมีกิจกรรมต่อเนื่อง คือ การจัด "กระบวนการอาเซียน 101" ในเดือนกรกฎาคม เพื่อพูดคุยเรื่องของพลังงาน อาหาร และเกษตรกรรมยั่งยืน


 


จิรภัทร์ เล่าว่า จากการแลกเปลี่ยน เราเห็นว่าสถานการณ์ของเยาวชนมีความคล้ายคลึงกัน คือ คนเริ่มหลงลืมรากเหง้าของตัวเอง พ่อแม่ทำงานหนัก คนอพยพไปเมืองใหญ่ คนหนุ่มสาวตกงาน โดยเฉพาะในประเทศกัมพูชา การศึกษาไม่มีคุณภาพ ไม่ได้ทำให้ภูมิใจในชาติพันธุ์ของตนเอง มุ่งเน้นการจัดแรงงานในโลกของสังคมโลกาภิวัฒน์ ในเรื่องของสิ่งแวดล้อม พื้นที่ของป่าลดลง ที่นากลายเป็นเกษตรเชิงเดี่ยว ดินเสื่อม ปัญหาขยะล้นเมือง


 


ทั้งนี้ ประเด็นที่เยาวชนสนใจ จิรภัทร์ เล่าว่า มี 4 ประเด็นได้แก่ วิกฤตอาหาร ผลกระทบจากโลกาภิวัตน์ การสร้างสันติภาพ และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งนี้ ในการประชุมอาเซียน จะนำเสนอให้มีการสนับสนุนให้เยาวชนมีบทบาทในการกำหนดจัดตั้งประชาคมทั้งสามเสาของอาเซียน และส่งเสริมการทำงานจิตอาสา หรือการทำงานเพื่อสังคมด้วย


 


แนะดึง "สิทธิมนุษยชน" สร้างสมดุลกับ "เศรษฐกิจ"


ไพโรจน์ พลเพชร ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์การพัฒนาเอกชนแห่งชาติ (กป.อพช.) กล่าวว่า วิกฤติทุนนิยมโลกขณะนี้จะเป็นตัวเร่งให้อาเซียนร่วมมือกันเร็วขึ้น โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ


 


ไพโรจน์ กล่าวว่า การพัฒนาในระดับอาเซียนถูกกำหนดโดยภาครัฐ คำขวัญที่ว่า "ประชาชนเป็นศูนย์กลาง" หรือการทำกฎบัตรโดยไม่มีประชาชนเป็นเรื่องปกติ เพราะรัฐบาลไม่เคยถูกเห็นหัวประชาชน ที่เราต้องการจะทำเวทีคู่ขนานเพราะเราต้องการให้ประชาชนมีส่วนร่วม สามารถกำหนดชะตาตัวเองได้


 


ไพโรจน์กล่าวว่า เมื่อพูดเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องสิทธิมนุษยชนจะสร้างความสมดุล เพราะเมื่อพูดถึงการสร้างตลาด จะพบว่า ไม่มีการพูดถึงแรงงานหรือด้านที่เป็นคน ทั้งนี้ เขาตั้งคำถามว่า เป็นไปได้ไหมที่จะสร้างกลไกสิทธิมนุษยชนในอาเซียนขึ้นมา เพื่อคุ้มครองดูแลชีวิตผู้คนแทนกลไกด้านเศรษฐกิจ รวมถึงอาเซียนควรคำนึงถึงประชาชนอย่างไรบ้าง หากจะมีข้อตกลงอะไรออกมา


 


ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net