Skip to main content
sharethis


เว็บไซต์สเตรทไทม์ รายงานโดยอ้างรอยเตอร์ว่า เจ้าหน้าที่ประจำร้านหนังสือในกรุงเทพฯ ให้ข้อมูลว่า นิตยสาร ดิ อีโคโนมิสต์ ประจำสัปดาห์นี้ถูกห้ามเผยแพร่ในประเทศไทยเนื่องจากมีบทความวิพากษ์เกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ อย่างไรก็ตามไม่เป็นที่แน่ชัดว่าใครเป็นผู้สั่งห้ามการเผยแพร่ดังกล่าว


 


ด้านเจ้าหน้าที่ตำรวจและกระทรวงวัฒนธรรมซึ่งเป็นหน่วยงานผู้มีอำนาจหน้าที่พิจารณาห้ามเผยแพร่สิ่งพิมพ์กล่าวเพียงว่า ทราบว่ามีการสั่งห้ามเผยแพร่นิตยสารฉบับดังกล่าวอย่างเป็นทางการ ซึ่งก็ยอมรับว่าบทความดังกล่าวจะทำให้คนไทยจำนวนมากไม่สบายใจ เนื่องจากบทความดังกล่าวพาดพิงถึงประเด็นต้องห้ามเกี่ยวกับบทบาทของพระมหากษัตริย์ต่อการเมืองไทย


 


"นิตยสารเล่มนี้ถูกแบน แต่เราไม่รู้ว่าแบนโดยใคร" หนึ่งในเจ้าหน้าที่ของร้านเอเชียบุ๊คส์กล่าว เจ้าหน้าที่ผู้นี้ไม่ประสงค์จะออกนามเรื่องจากเกรงต่อประเด็นอ่อนไหวจากบทความดังกล่าว ซึ่งเขากล่าวว่า "เพราะเนื้อหาเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ที่ถูกกล่าวถึงในบทความนั้น"


 


ด้าน นายซีเจ ฮิงเก้ นักเคลื่อนไหวด้านเสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งก่อตั้งองค์กรต่อต้านการเซ็นเซอร์ในประเทศไทย (Freedom Against Censorship Thailand - FACT) กล่าวว่า มีความเป็นไปได้มากที่คำอธิบายจะออกมาทำนองว่า ร้านหนังสือเหล่านี้ตัดสินใจด้วยตัวเองที่จะไม่ขายนิตยสารฉบับดังกล่าวซึ่งตั้งคำถามเกี่ยวกับสถาบันซึ่งถูกวางบทบาทอย่างเป็นทางการให้อยู่เหนือการเมือง


 


"นี่คือตัวอย่างหนึ่งของการห้ามเผยแพร่ที่มีความกลมกลืนด้านวัฒนธรรม ซึ่งตัวแทนจำหน่ายตัดสินใจด้วยตัวเองที่จะไม่จำหน่ายนิตยสารฉบับดังกล่าว" ฮิงเก้กล่าว และว่า "สำหรับความสนใจของรัฐบาลก็อยู่ที่การรักษาหน้าของตัวเอง คนไทยไม่อยากถูกซักฟอกอย่างมีอคติโดยคนต่างชาติต่างภาษา ชาวไทยไม่ต้องการให้ชาวต่างชาติวิพากษ์วิจารณ์ในประเด็นของสังคมไทยหรือปัญหาของสังคมไทย"  


 


ด้านฝ่ายประชาสัมพันธ์ของเอเชียบุ๊คส์กล่าวว่า หัวหน้าฝ่ายขายหนังสือต่างประเทศปฏิเสธถึงการห้ามเผยแพร่อย่างไม่เป็นทางการใดๆ แต่กล่าวว่า นิตยสารฉบับดังกล่าวเกิดความขัดข้องในการเผยแพร่เนื่องจากสนามบินถูกยึดโดยเหล่าผู้ประท้วงรัฐบาลเมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา สำหรับฉบับก่อนหน้านั้น ไม่ได้รับผลกระทบใดๆ 


 


รอยเตอร์ระบุว่า นิตยสารไทม์ และนิวสวีค ฉบับล่าสุดยังคงวางแผงตามปกติ


 


ทั้งนี้บทความที่เผยแพร่ใน ดิ อีโคโนมิสต์ ได้ตั้งประเด็นเกี่ยวกับความเป็นกลางของสถาบันต่อความวุ่นวายทางการเมืองซึ่งทำให้ภาพลักษณ์ประเทศตกต่ำลงใน 3 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ภายใต้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่เข้มงวด การกระทำใดๆ ที่เป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพจะถูกลงโทษจำคุกซึ่งกำหนดโทษสูงสุด 15 ปี


 


นอกจากนี้ ยังระบุด้วยว่า ไม่เป็นที่รับรู้ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงมีพระราชวินิจฉัยอย่างไรต่อพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งทำการยึดสนามบินเป็นเวลา 8 วัน อย่างไรก็ตาม สมเด็จพระบรมราชินีนาถได้เสด็จพระราชดำเนินไปในงานพระราชทานเพลิงศพหญิงสาวผู้หนึ่งซึ่งเข้าร่วมชุมนุมกับพันธมิตรฯ และเสียชีวิตในเหตุการณ์ปะทะระหว่างผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา


 


ยิ่งไปกว่านั้น พันธมิตรฯ ได้ยืนยันว่า พวกเขากระทำการเพื่อปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์จากการถูกคุกคามของทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีซึ่งลี้ภัยอยู่นอกประเทศขณะนี้ โดยระบุว่า ทักษิณมีเป้าหมายเปลี่ยนประเทศไทยเป็นระบอบสาธารณรัฐ


 


ประชนชาวไทยกว่า 65 ล้านคน มีจำนวนมากที่เคารพสถาบันพระมหากษัตริย์เสมือนสมมติเทพ และยังยอมรับในฐานะเป็น "พ่อของชาติ" ซึ่งทรงเป็นเสมือนผู้ถือหางเสือเรืออันเข้มแข็งและชาญฉลาดพารัฐนาวาไทยฝ่าคลื่นมรสุมมาตลอดช่วง 50 ปีที่ผ่านมา 


 


ด้านโฆษกของดิ อีโคโนมิสต์ ไม่สะดวกที่จะให้ความเห็นใดๆ ต่อกรณีนี้ ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวของนิตยสารดิ อีโคโนมิสต์ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพิ่งเดินทางออกจากประเทศไทย


 


อย่างไรก็ตาม บทความ 2 ชิ้นที่เผยแพร่อยู่ในนิตยสาร ดิโอโคโนมิสต์ ฉบับที่ไม่ได้รับการเผยแพร่ในประเทศไทย ยังคงเข้าถึงได้ทางอินเทอร์เน็ตในช่วง 4 วันที่ผ่านมาหลังจากมีการโพสต์เผยแพร่ครั้งแรก


 


 


............................ 


ที่มา : Thailand "bans" Economist


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net