Skip to main content
sharethis

วานนี้ (9 ธ.ค.51) เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท.) ร่วมกับ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) จัดโครงการเสวนา "60 ปี สิทธิมนุษยชนสากล กับคดีที่ดินคนจน" ณ ห้องประชุมมาลัยหุวะนันท์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อร่วมรำลึก ครบรอบ 34 ปี สหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย และนำเสนอรายงานข้อเท็จจริงเบื้องต้นเกี่ยวกับปัญหาคดีที่ดินคนจนกับปัญหาสิทธิมนุษยชน รวมทั้งแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและช่องทางในกระบวนการยุติธรรมกับบริบทการแก้ไขปัญหาป่าไม้-ที่ดินในสังคมไทย


 


การเสวนา เริ่มต้นจาก การแสดงดนตรีและกวี ในชื่อ "34 ปี สหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย และปัญหาที่ดินคนจน" โดยเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ และคณะ ต่อด้วยการปาฐกถา "60 ปี สิทธิมนุษยชนสากล กับ คดีที่ดินคนจน" ศ.เสน่ห์ จามริก ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ


 


ภาพรวมคดีที่ดินและกระบวนการยุติธรรมกับสิทธิมนุษยชน


 


นายสมนึก ตุ้มสุภาพ ทนายความด้านสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า ในมุมมองการพิจารณาคดีที่ผ่านมากระบวนการการถูกต้องหาว่าเป็นผู้กระทำความผิดเกิดจากกระบวนการของกฎหมายที่ออกมาบังคับใช้กับบุคคลใดที่อยู่ในพื้นที่ซึ่งมีกฎหมายออกมาบังคับในพื้นที่นั้นๆ ต้องกลายเป็นผู้ที่กระทำความผิด ยกตัวอย่างการออกกฎหมายเกี่ยวกับป่าไม้ด้วยการขีดเส้นบนเอกสารในห้องแอร์แต่มีผลกระทบให้ผู้คนในพื้นที่ที่ถูกขีดเส้นต้องกลายเป็นผู้กระทำผิด


 


ทำให้เกิดคำถามถึงการออกกฎหมายว่าออกมาเพื่อฆ่าประชาชน ในขณะเดียวกันผู้ใช้กฎหมายก็ใช้มันเป็นเครื่องมือเพื่อฆ่าประชาชนด้วยเช่นกัน ซึ่งส่งผลให้การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมตั้งแต่ในเบื้องต้นในชั้นที่มีการจับกุมของชาวบ้านเป็นเรื่องที่ยุ่งยากซับซ้อน และยากลำบากในการต่อสู้ เพราะชาวบ้านไม่ได้รับรู้และเข้าใจถึงสิทธิตามขอบเขตของกฎหมายที่ตนเองพึงได้รับ


 


หลังผ่านกระบวนการแจ้งข้อหา นายสมนึกกล่าวว่า ปัญหาใหญ่คือการประกันตัว โดยยกตัวอย่าง ในภาคอีสานซึ่ง 1 กรณี มีจำเลยหลายราย และในคดีป่าไม้มีวงเงินประกันตัวรายละ 1 แสนบาท ซึ่งถือว่าเป็นวงเงินที่สูงมากสำหรับเกษตรกรที่ทำไร่ทั่วไป ทำให้โอกาสที่จะได้รับการประกันตัวมีน้อยมาก


 


ทั้งนี้ ที่ผ่านมามีความพยายามหาช่องทางที่จะได้รับการประกันตัวตัว ด้วยการรวมกลุ่มเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจในการต่อสู้อย่างเต็มที่ ซึ่งขบวนการนี้ใช้ได้ผลในหลายพื้นที่ในภาคเหนือและภาคอีสาน โดยศาลให้สิทธิชาวบ้านในการเป็นผู้ประกันกันเอง ตรงนี้ถือเป็นนิมิตรหมายอันดีที่ผู้พิจารณาให้สิทธิและศักดิ์ศรีประชาชนเท่าเทียมกับผู้มีตำแหน่งในราชการ ส่วนในภาคใต้จะมีความแตกต่างกัน เพราะมีขบวนการที่เน้นการเจรจา ซึ่งคิดว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ดี เพราะคนส่วนใหญ่ไม่ต้องการขึ้นศาลต่อสู้คดีความ


 


"ไม่มีใครอยากขึ้นศาลทั้งนั้น ถ้าเลือกได้ พี่น้องจะเน้นการเจรจาพูดคุยเพื่อแก้ปัญหาเป็นหลัก เพราะการแก้ปัญหามันนำมาสู่ความเป็นจริงในสังคมได้ มันนำมาสู่อนาคตที่สดใสได้ นี่คือความเป็นจริงที่พี่น้องต้องการ แต่เราไม่สามารถบังคับเจ้าหน้าที่ได้ว่าอย่าฟ้องชาวบ้านนะ เพราะเจ้าหน้าที่อาจอ้างว่ากระบวนการของเขา เขาต้องทำ แต่ไม่เป็นไร อย่างน้อยเขาต้องให้โอกาสเรา" นายสมนึกกล่าว


 


นายสมนึกกล่าวต่อมาถึงมุมมองด้านสังคมของผู้ที่เรียนในด้านกฎหมายว่า ทั้งศาล ตำรวจ และอัยการ จะต้องไม่มองชาวบ้าน ชนเผ่า หรือคนในภูมิภาคต่างๆ อย่างมีอคติ เพราะหากมีมุมมองที่เป็นอคติตั้งแต่ต้นความยุติธรรมก็จะไม่เกิดขึ้น ทั้งนี้ ในอดีตที่ผ่านมามุมมองการพิจารณาคดีค่อนข้างเป็นลบ โดยมองว่าการละเมิดหรือฝ่าฝืนกฎหมายเป็นสิ่งไม่ถูกต้องโดยไม่มองถึงเจตนาของการกระทำ แต่ปัจจุบันมีการสร้างความเข้าใจในเรื่องดังกล่าวมากขึ้น ด้วยการรวมกลุ่มเพื่ออธิบายถึงรากลึกของปัญหาที่ดินซึ่งเรียกร้องกันมานานหลายปี ที่สะท้อนถึงเจตนารมณ์ที่ชัดเจนของชาวบ้าน


 


"ถ้าพี่น้องสามารถสะท้อนปัญหาจริงๆ ให้สังคมได้รับรู้ได้ ซึ่งสังคมในที่นี้ไม่ได้หมายความแค่สังคมของบุคคล แต่เป็นสังคมของผู้มีตำแหน่งด้วย ถ้าเขารับรู้ปัญหาของเราจริงๆ แล้ว ผมเชื่อว่าในอนาคตมุมมองของการพิจารณาจะดีขึ้น ณ วันนี้มันเริ่มไต่ระดับจากชั้นต้นแล้ว ผมหวังว่าชั้นอุทธรณ์คงดีขึ้น ชั้นฎีกาคงดีขึ้น เราหวังอย่างนั้น"นายสมนึกกล่าว


 


นายสมนึกกล่าวต่อมาว่า การสู้คดีของชาวบ้านไม่ได้หวังจะชนะคดี แต่หวังเพียงแก้ต่างให้หลุดจากคดีอาญา เพราะเมื่อชนะคดีได้รับการยกฟ้องชาวบ้านก็ไม่ได้อะไรเลย แต่ถ้ามีการลงโทษก็จะติดคุก เชื่อว่าทุกพื้นที่คงต้องการเน้นการเจรจาแบบภาคใต้ แต่ไม่ประสบผลสำเร็จจึงต้องเข้าสู่กระบวนการศาล ทุกพื้นที่ชาวบ้านทุกข์ทรมานจากการเรียกร้องเรื่องที่ดินกันมาหลายสิบปีแล้ว เมื่อต้องมาทุกข์ร้อนกับการดำเนินคดีอีกมันยิ่งสร้างความเจ็บปวด หลายครอบครัวต้องสูญสิ้นจากการขึ้นศาล หลายรายแทบไม่ได้ทำมาหากิน และก่อให้เกิดความท้อแท้


 


"ผมเป็นทนายความมา ผมไม่เคยคิดว่ากระบวนการยุติธรรมจะเยียวยาแก้ไขให้กับปัญหาชาวบ้านได้ ผมรู้สึกตัวเองว่า ผมเป็นเพียงแค่หมากตัวเดียวที่จะเยียวยาผลเสียหายของพี่น้องเท่านั้น ถ้าหากว่าคดีชนะหรือแพ้ที่ดินก็ยังไม่ได้ แต่ถ้ากระบวนการใดที่กระทำแล้วเราได้ผลประโยชน์ตามที่ชาวบ้านต้องการ นั่นคือสิ่งที่ดีที่สุด" นายสมนึกกล่าวแสดงความคิดเห็นพร้อมย้ำว่า ตัวทนายไม่สามารถชี้อนาคตได้ ทำได้เพียงการแนะนำ แต่คนที่จะขับเคลื่อนให้เกิดการแก้ปัญหาคือตัวของประชาชนผู้ได้รับผลกระทบเอง


 


ในส่วนการดำเนินคดี นายสมนึกกล่าวว่า ที่ผ่านมาการดำเนินคดีไม่ได้มีการคำนึงถึงอายุว่าจะเป็นคนแก่อายุ 70 ปี เด็ก หรือเป็นคนท้อง ทำให้เกิดคำถามถึงการมองเรื่องสิทธิมนุษยชนในกระบวนการดังกล่าว ทั้งนี้ หลายพื้นที่ที่ยังไม่มีการรวมรวม ยังมีเด็กถูกดำเนินคดีอีกมากในแทบทุกภูมิภาค ทั้งเหนือ กลาง ใต้ ในส่วนนี้สะท้อนถึงการรับรองปฏิญญาสากลระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมือง นอกจากนี้ยังได้มีการบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญแล้ว ว่าได้มีการนำไปปฏิบัติจริงหรือไม่


 


"การกระจายที่ดิน การกระจายที่ทำกิน การกระจายทรัพยากรต่างๆ คุณได้ปฏิบัติอย่างจริงจังหรือไม่ หากว่าในวันนี้ยังเป็นการกระจายเฉพาะกลุ่ม พี่น้องของเราทุกๆ ภาคก็ต้องรับกับปัญหาตลอดไป แต่ถ้าหากว่ามีการกระจายที่ดินอย่างจริงจัง ผมเชื่อว่าปัญหาที่เราประสบอยู่คงจะลดน้อยลง"  นายสมนึกแสดงความคิดเห็น


 


ทั้งนี้ นอกจากคดีอาญาแล้ว ชาวบ้านยังถูกดำเนินคดีทางแพ่ง ซึ่งความจริงจุดมุ่งหมายของกฎหมายในการเรียกร้องค่าชดเชยจากการทำลายทรัพยากร น่าจะกระทำกับผู้ที่ทำลายทรัพยากรเช่นนายทุน ไม่ใช่เรียกร้องกับชาวบ้าน ซึ่งหลายรายถูกฟ้องในหลักสิบล้าน ส่วนในรายที่เสียชีวิตก็มีการสั่งฟ้องถึงทายาท ตรงนี้สะท้อนให้เห็นกระบวนการออกกฎหมายที่เป็นปัญหาของรัฐ


 


"ณ วันนี้ กลุ่มชาวบ้านเองต้องแสดง สะท้อนออกมาได้แล้วว่า กฎหมายก็ดี เจ้าหน้าที่ก็ดี กระทำละเมิดต่อเราหรือไม่


และกฎหมายใดที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนควรมีอยู่หรือไม่ สำหรับเจ้าหน้าที่ด้วย ควรจะต้องปฏิบัติกับเราอย่างไร ไม่ใช่ข่มขู่ ไม่ใช่หลอกลวง" นายสมนึกกล่าวทิ้งท้าย


 


ประกาศเจตนารมณ์ สืบทอดอุดมการณ์ 34 ปี ของสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย


 


จากนั้นนางประทิน เวคะวากยานนท์ ประธานเครือข่ายสลัม 4 ภาค เป็นตัวแทนเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย อ่านคำประกาศเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย "ยกเลิกคดีที่ดินคนจน สร้างสังคมที่เป็นธรรม" ระบุถึงการต่อสู้เรียกร้องที่ยาวนานกว่า 34 ของเกษตรกร ชาวไร่ ชาวนา และคนจนเมือง ในนามสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทยขณะนั้น เพื่อสร้างความเป็นธรรมในการถือครองที่ดินและปฏิรูประบบการผลิตแก่เกษตรกรโดยทั่วไป แต่การต่อสู่ที่ผ่านมา เจตนารมณ์ดังกล่าวได้ถูกบิดเบือนและลดทอนความสำคัญลงจากฝ่ายอำนาจรัฐ รวมทั้งการทำลายความเข้มแข็งของขบวนการประชาชนอย่างต่อเนื่อง


 


นางประทินกล่าวต่อมาว่า ในปัจจุบันสถานการณ์ความขัดแย้งเรื่องที่ดินยังคงดำรงอยู่โดยทั่วไปในทุกพื้นที่ของประเทศ ทั้งปัญหาที่ดินเมือง ปัญหาคนไร้บ้าน และปัญหาที่ดินในเขตชนบท นอกจากนี้ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นจากรัฐ และกลุ่มทุนผู้ถือครองที่ดินขนาดใหญ่ ยังคงเป็นเหมือนในอดีตคือมีการใช้มาตรการทางกฎหมายดำเนินการกับชาวบ้าน


 


ทั้งนี้ เป็นผลมาจากกรอบคิดและนโยบายการบริหารจัดการทรัพยากรของสังคมเป็นไปเพื่อมุ่งตอบสนองต่อวิถีการผลิตแบบทุนนิยม โดยที่ดินถือเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญในการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ในขณะที่ผู้ถือครองปัจจัยการผลิตส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ที่ผู้มีฐานะทางเศรษฐกิจ


 


ปัจจัยสำคัญที่จะยุติปัญหาดังกล่าวได้ คือ สังคมโดยรวมต้องรับรู้ เข้าใจ และตระหนักถึงปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ซึ่งจะทวีความรุนแรงขึ้นอีกในอนาคต และพร้อมที่จะร่วมกันผลักดันให้เกิดการปฏิรูปที่ดินขึ้นในสังคมไทย โดยเร็วที่สุด ทั้งโดยการนำเสนอต่อรัฐบาล และรัฐสภาให้เร่งตรากฎหมายปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกร การดำเนินนโยบายกระจายการถือครองที่ดิน โดยผ่านมาตรการจัดเก็บภาษีที่ดินแบบก้าวหน้า และการจำกัดขนาดการถือครองที่ดิน เป็นต้น


 


ในขณะเดียวกัน กระบวนการยุติธรรม ต้องให้ความคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพในการถือครองทำประโยชน์ที่ดินของประชาชนอย่างเป็นธรรม โดยคำนึงถึงหลักแห่งความเป็นจริง และบริบททางสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงไป ไม่เช่นนั้นประชาชนโดยส่วนใหญ่จะยังคงเป็นผู้ถูกกระทำอยู่เหมือน


 


"ในการนี้ พวกเราในฐานะผู้ประสบชะตากรรมเดียวกันนี้ จึงได้รวมตัวกันในนามเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทยเพื่อแบกรับภาระอันหนักหน่วงเช่นนี้ ร่วมกันผลักดัน เปลี่ยนแปลงการปฏิรูปที่ดินให้ปรากฏผลที่เป็นจริงในสังคมเราต่อไป" นางประทินกล่าว นอกจากนี้ยังได้ประกาศเจตนารมณ์และจะสืบทอดอุดมการณ์ที่ถูกต้องเป็นธรรมของสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย ต่อสาธารณชนและประชาชนทั่วไป


 


 


 


คำประกาศเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย


"ยกเลิกคดีที่ดินคนจน สร้างสังคมที่เป็นธรรม"


           


กราบเรียน ท่านผู้มีเกียรติ พี่น้องเกษตรกร คนจนเมือง และสื่อมวลชนที่เคารพรักทุกท่าน


 


นับเป็นเวลา 34 ปีแล้ว เกษตรกร ชาวไร่ ชาวนา คนจนเมือง ได้ลุกขึ้นต่อสู้เพื่อสร้างความเป็นธรรมในการจัดการที่ดินของสังคมไทย โดยสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทยในขณะนั้น ได้เรียกร้องให้รัฐบาลสัญญา ธรรมศักดิ์ ดำเนินการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน ปัญหาหนี้สิน ราคาผลผลิตทางการเกษตร รวมทั้งการตราพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เป็นต้น ทั้งนี้ มีเจตนารมณ์สำคัญเพื่อสร้างความเป็นธรรมในการถือครองที่ดินและปฏิรูประบบการผลิตแก่เกษตรกรโดยทั่วไป


 


อย่างไรก็ตาม บทเรียนจากการเรียกร้องต่อสู้ของพวกเราตลอดช่วงที่ผ่านมาพบว่า เจตนารมณ์ดังกล่าวข้างต้น ได้ถูกบิดเบือน และลดทอนความสำคัญลงจากฝ่ายอำนาจรัฐ รวมทั้งการทำลายความเข้มแข็งของขบวนการประชาชนอย่างต่อเนื่อง ดังเช่น การลอบสังหารผู้นำชาวนา การข่มขู่คุกคาม และการจับกุมดำเนินคดี เป็นต้น ทั้งนี้ เกิดขึ้นท่ามกลางสายธารการต่อสู้ของพวกเรารุ่นแล้วรุ่นเล่า ตราบกระทั่งปัจจุบัน


 


ณ วันนี้ สถานการณ์ความขัดแย้งเรื่องที่ดินยังคงดำรงอยู่โดยทั่วไป ในทุกพื้นที่ของประเทศไทย ทั้งปัญหาที่ดินเมือง เช่น การอพยพ ไล่รื้อชุมชนแออัด ปัญหาคนไร้บ้าน และปัญหาที่ดินในเขตชนบท เป็นต้น รวมทั้งโอกาสและความเสี่ยงในการสูญเสียที่ดินของเกษตรกรรายย่อย อันเนื่องมาจากฐานะของการเป็นเบี้ยล่างในกระบวนการผลิตแบบทุนนิยมเช่นปัจจุบัน ในการนี้ พวกเราในฐานะผู้ประสบชะตากรรมเดียวกันนี้ จึงได้รวมตัวกันในนาม "เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย" เพื่อแบกรับภาระอันหนักหน่วงเช่นนี้ ร่วมกันผลักดัน เปลี่ยนแปลงการปฏิรูปที่ดินให้ปรากฏผลที่เป็นจริงในสังคมเรา ต่อไป


 


อย่างไรก็ตาม ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นจากรัฐ และกลุ่มทุนผู้ถือครองที่ดินขนาดใหญ่ ยังคงเป็นไปเช่นในอดีต กล่าวคือ การใช้มาตรการทางกฎหมายดำเนินการกับชาวบ้าน ทั้งในภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคใต้ และพี่น้องคนจนเมือง


 


มูลเหตุสำคัญที่เกิดปรากฏการณ์เช่นที่กล่าวแล้ว คือ กรอบคิดและนโยบายการบริหารจัดการทรัพยากร และที่ดินของสังคม เป็นไปเพื่อมุ่งตอบสนองต่อวิถีการผลิตแบบทุนนิยม โดยที่ดินถือเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญในการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ในขณะที่ผู้ถือครองปัจจัยการผลิตข้างต้น ถูกกระจุกตัวอยู่ที่ผู้มีฐานะทางเศรษฐกิจโดยส่วนใหญ่ ซึ่งในที่สุดจะนำมาสู่ความขัดแย้งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้


 


เช่นนี้แล้ว ปัจจัยสำคัญที่จะยุติปัญหาดังกล่าวได้ คือ สังคมโดยรวมต้องรับรู้ เข้าใจ และตระหนักถึงปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น และจะทวีความรุนแรงขึ้นในอนาคต และพร้อมที่จะร่วมกันผลักดันให้เกิดการปฏิรูปที่ดินขึ้นในสังคมไทย โดยเร็วที่สุด ทั้งโดยการนำเสนอต่อรัฐบาล และรัฐสภาให้เร่งตรากฎหมายปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกร การดำเนินนโยบายกระจายการถือครองที่ดิน โดยผ่านมาตรการจัดเก็บภาษีที่ดินแบบก้าวหน้า และการจำกัดขนาดการถือครองที่ดิน เป็นต้น ในขณะเดียวกัน กระบวนการยุติธรรม ต้องให้ความคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพในการถือครองทำประโยชน์ที่ดินของประชาชนอย่างเป็นธรรม โดยคำนึงถึงหลักแห่งความเป็นจริง และบริบททางสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงไป หาไม่แล้ว ประชาชนโดยส่วนใหญ่จะยังคงเป็นผู้ถูกกระทำอยู่เช่นเดิม


 


ในวาระที่การต่อสู้ของประชาชนได้เดินทางมาถึงปีที่ 34 พวกเรา "เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย" จึงขอประกาศเจตนารมณ์ และสืบทอดอุดมการณ์ที่ถูกต้องเป็นธรรมของสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย ต่อสาธารณชน และประชาชนทั่วไป ให้ปรากฏเป็นจริง ต่อไป


 


ขอแสดงความนับถือ


เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net