Skip to main content
sharethis


เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท.) ร่วมกับ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) จัดโครงการเสวนา "60 ปี สิทธิมนุษยชนสากล กับคดีที่ดินคนจน" ณ ห้องประชุมมาลัยหุวะนันท์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อร่วมรำลึก ครบรอบ 34 ปี สหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย และนำเสนอรายงานข้อเท็จจริงเบื้องต้นเกี่ยวกับปัญหาคดีที่ดินคนจนกับปัญหาสิทธิมนุษยชน รวมทั้งแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและช่องทางในกระบวนการยุติธรรมกับบริบทการแก้ไขปัญหาป่าไม้-ที่ดินในสังคมไทย เมื่อวันที่ 9 ธ.ค.ที่ผ่านมา


 


 


เสียงสะท้อนกรณีปัญหา จากการดำเนินมาตรการทางกฎหมายของรัฐ


                                           


นายประพันธ์ ทองไทย ตัวแทนชาวบ้านเครือข่ายองค์กรรักเทือกเขาบรรทัด บ้านเขาไพร ต.เขาไพร อ.รัษฎา จ.ตรัง เล่าว่าในส่วนตัวถูกฟ้องคดีแพ่งเป็นเงิน 6 แสนกว่าบาท และก่อนหน้านี้ถูกฟ้องคดีอาญาทำลายป่า ทำลายชาติ ในฐานบุกรุกเขตป่าอุทยานทั้งที่เป็นที่ดินทำกินโดยการปลูกสวนยาง ที่สืบทอดกันมา ตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย โดยที่ไม่มีใครรู้ว่ามีหลักเขตของอุทยานมาปักลงในพื้นที่ตั้งแต่เมื่อไหร่ นอกจากนี้ชาวบ้านบางคนในชุมชนโดนฟ้องคดีแพ่งในหลักล้าน ไม่รู้วิธีต่อสู้คดี และไม่รู้จะหันหน้าไปพึ่งใคร จึงทำให้เกิดการรวมกลุ่มสู้กันตามประสาชาวบ้าน ลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิในที่ทำกินของตัวเองและเพื่อลูกหลานในอนาคต ซึ่งถึงปัจจุบัน นับเป็นเวลาการต่อสู้อย่างหนักหน่วงมากว่า 8 ปีแล้ว


 


"มันมีความรู้สึกที่น้อยใจนะว่าภาครัฐออกกฎหมาย แต่เอากฎหมายมาฟ้องฆ่าคนจนอย่างนี้ มันรู้สึกสะท้อนในใจจริงๆ ว่ามันเป็นรัฐบาลของคนไทย หรือมันเป็นนักการเมืองช่วยคนจนหรืออย่างไร มันมีความเจ็บลึกๆ" นายประพันธ์บอกเล่าความรู้สึก


 


"คนใต้ ต้นยาง น้ำยางแต่ละหยดมันมีอนาคต อนาคตของลูก แต่พวกป่าไม้ก็เป็นคนใต้เหมือนกัน ในใจผมบอกว่าทำไมมันไม่รู้จักรักค่าของน้ำยางที่เอามาหล่อเลี้ยงชีวิตลูกหลานของเรา" นายประพันธ์กล่าวถึงการกระทำของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ที่พยายามเข้าไปทำลายเพราะถือว่าเป็นการทำกินบุกรุกพื้นที่ป่า อย่างไรก็ตาม นายประพันธ์ยืนยันว่าคนที่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ไม่ใช่ชาวบ้าน เพราะชาวบ้านไม่มีเงินไปซื้อเครื่องเลื่อยราคาแพงแบบที่มีการใช้กัน แต่ชาวบ้านพูดไม่ได้เพราะในพื้นที่มีการข่มขู่โดยกลุ่มอิทธิพล


 


 


บาดแผลของแนวคิด "ความมั่นคงของรัฐ" ที่สวนทางกับ "สิทธิ" ของประชาชน


 


ด้านนายแสงชัย รัตนเสรีวงษ์ ทนายความอิสระ กล่าวว่าประชาชนทั้งในภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคใต้ต่างประสบปัญหาถูกกระทำโดยกลไกลของรัฐอย่างไม่เป็นธรรม ด้วยการดำเนินคดีทางอาญา เพราะกลไกตลาดได้ทำให้ที่ดินกลายเป็นทรัพยากรอันมีค่าเพื่อต่อเงิน สร้างสมมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ สั่งสมฐานะของตัวเอง


 


ในส่วนความไม่เป็นธรรมจากการถูกกระทำจากกลไกของรัฐสิ่งหนึ่งคือ กระบวนการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมในคดีความการบุกรุกที่ดิน โดยการเอื้อประโยชน์ให้แก่แหล่งทุนขนาดใหญ่ ยกตัวอย่างกรณีการถือครองที่ดินใจกลางป่าสงวนของบริษัทเครือสหวิริยาในพื้นที่ อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งหากเป็นชาวบ้านจะต้องโดนคดีอาญาก็มีการหาทางออกโดยให้เช่าที่ดินในส่วนที่ได้มีการบุกรุก และให้มีการดำเนินการบริษัทในพื้นที่ต่อไป


 


นายแสงชัยกล่าวต่อว่า อีกทางหนึ่งกลไกรัฐเลือกที่จะใช้วิธีการจัดการกับกลุ่มชาวบ้านโดยค่อนข้างรุนแรง เพราะเห็นว่าคุกคามต่อความมั่นคงของรัฐใน 2 เรื่อง คือหนึ่งคุกความสิทธิของรัฐที่จะจัดการทรัพยากรป่าไม้และที่ดินอย่างที่อยากจะทำ เช่น เอาไปให้ธุรกิจกลุ่มใหญ่ออกเอกสารสิทธิ์ การให้เช่าทำสวนปาล์ม สวนเกษตร หรือสวนยูคาลิปตัส เพื่อตอบรับกับกระบวนการพัฒนาทางอุตสาหกรรมอย่างชัดเจน ถ้าขบวนการของชาวบ้านที่จะใช้สิทธิไปขัดกับกฎหมายป่าสงวนแล้วไปทำให้สิทธิในการใช่ทรัพยากรตรงนี้ของหน่วยงานรัฐลดน้อยลงก็เป็นสิ่งที่ยอมไม่ได้


 


อีกเรื่องที่เป็นเรื่องใหญ่ไม่แพ้กันก็คือ ขบวนการไปยึดที่ดินของเอกชนที่รกร้างว่างเปล่า ไม่ได้ทำประโยชน์เป็น 10 ปี ตามกฎหมายให้ราชการทำการสอบสวนแล้วยึดมาเป็นของรัฐ ชาวบ้านยึดเอามาเพื่อเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการจัดสรรให้ประชาชน ตรงนี้รัฐเห็นว่ากระทบกระเทือนมากเพราะว่าเป็นการทำให้ระบบกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลในการถือครองที่ดินของเอกชนสั่นสะเทือน ไม่มีหลักประกันในการสะสมทรัพย์สินเพื่อเก็งกำไร


 


"ความกระทบกระเทือนตรงนี้เป็นสาเหตุสำคัญที่เขาเลือกใช้วิธีการใช้คดีอาญามาดำเนินคดีกับแบบไม่ต้องผ่อนปรน แล้วก็แบบไม่สนใจกระบวนการพิสูจน์สิทธิการทำกินด้วยว่า มันมีมาก่อนหรือหลังการประกาศเขตป่าที่เป็นตัวปัญหา รัฐเลือกใช้วิธีการอย่างนี้เพราะหวั่นกลัวเกรงในแง่ที่ว่าชาวบ้านกำลังจะใช้สิทธิของตนเองขึ้นมา" นายแสงชัยกล่าวแสดงความคิดเห็นถึงท่าทีของรัฐในทุกระดับชั้นของการดำเนินคดียุติธรรมที่เกี่ยวกับปัญหาที่ดิน ตั้งแต่ระดับป่าไม้ ตำรวจ พนักงานอัยการ จนถึงชั้นศาล เมื่อเห็นว่ากลุ่มบุกยึดที่ดินเป็นปัญหาไม่เหมือนกลุ่มทุนขนาดใหญ่ที่สร้างผลผลิตทางเศรษฐกิจ


 


ในส่วนการแก้ปัญหา โดยการเรียกร้องการเจรจาเพื่อให้รัฐยอมจัดให้มีการแบ่งสรรที่ดินที่บุกรุก หรือเรียกร้องให้มีการแก้ไขกฎหมายในกรณีเขตอุทยานลุกล้ำที่ทำกิน ทั้งสองส่วนไม่สามารถทำได้โดยง่าย แนวทางที่จะสู้ต่อไปคือถ้าหากเชื่อมั่นว่าที่ดินที่ทำกินเป็นสิทธิที่มีมาอยู่แล้ว ก็ต้องยืนยันว่าถึงอย่างไรก็ต้องทำกินอยู่ที่นั่น อยู่ดีๆ จะใช้กฎหมาย หรือการขีดเส้นในแผนที่แล้ววางภาพถ่ายทางอากาศ มารุกรานชาวบ้านไม่ได้ ชาวบ้านไม่ยอม ฉะนั้นจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องถูกคดี


 


"ถ้าปัญหาเหล่านี้มันไม่กลายเป็นคดีความ สังคมจะไม่มีโอกาสได้เรียนรู้อะไรเลย" นายแสงชัยกล่าวแสดงความคิดเห็น


 


แต่สิ่งสำคัญคืออย่าหวั่นไหวหากถูกเกลี่ยกล่อมให้รับสารภาพเพื่อการลดโทษ หรือรอลงอาญา ซึ่งแม้ว่าจะรอดจากการดำเนินคดีในครั้งนี้แต่การสารภาพไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม ไม่ได้ทำให้กลไกหน่วยงานรัฐที่เป็นผู้ออกกฎหมายก็ดี หรือเป็นผู้ใช้กฎหมายก็ดี ได้มีความสำนึกรับรู้ว่ากระบวนการที่ทำอยู่กำลังต่อกระบวนการที่ทำลายวิถีชีวิตของผู้คน นอกจากนี้เมื่อรอดจากคดีครั้งนี้แล้วก็ไม่ได้มีหลักประกันว่าจะไม่โดนคดีในครั้งต่อไปอีกในพื้นที่เดิมอีก


 


"เอาเข้าจริงๆ คุณตอบได้ไหมว่าอันไหนเป็นผลประโยชน์ต่อประเทศชาติมากกว่ากัน ระหว่างการให้ชุมชนทำอยู่ทำกินในที่ดินของเขาไปอย่างนั้น หรือยกที่ดินให้บริษัทการเกษตรขนาดใหญ่ ให้กับบริษัทอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ให้กับนายทุนขนาดใหญ่ที่เอาไปเข้าทนายความเพื่อผลาญเงินเอามาเล่นการเมือง อะไรคือผลประโยชนของชาติ"


 


นายแสงชัยกล่าวต่อมาว่า ขบวนการแก้ปัญหาไม่สามารถทำได้โดยคนคนเดียว ต้องมองเป็นปัญหาร่วมกันทั้งชุมชน และเคลื่อนไหวร่วมกันต่อสู้ทั้งชุมชน ทั้งนี้ การสู้คดีนอกจากจะเป็นการยืนยันตัวตนว่าไม่ได้เป็นผู้ทำลายป่า แต่ทำกินแบบอยู่ร่วมกับป่าได้ นอกจากนั้นยังต้องสู้เพื่อให้เห็นทัศนคติอันเลวร้ายของเจ้าหน้าที่ซึ่งกลั่นแกล้งเลือกปฏิบัติ ไม่เป็นธรรม และตีตราว่าชาวบ้านเป็นผู้กระทำผิดสมควรถูกลงโทษ ทำให้กลไกรัฐได้สำนึกในสิ่งที่ทำผิดพลาด


 


"ถ้าเราไม่สามารถทำให้กระบวนการต่อสู้คดีมันเปิดโปงวิธีคิดเหล่านี้ ไม่ว่าจะของศาล ตำรวจ พนักงานอัยการ เจ้าหน้าที่ป่าไม้ รวมทั้งสื่อมวลชน และทนายความทั้งหลายด้วย ถ้าทำให้วิธีคิดเหล่านี้มันโยกคลอนมันเปลี่ยนไม่ได้ กระบวนการที่เราคาดหวัง เราฝันเอาไว้ว่าจะปฏิรูปที่ดินในประเทศไทยกัน จะทำให้รัฐต้องรับรองสิทธิของคนจนกัน จะไม่มีทางได้เกิด" นายแสงชัยกล่าว


 


 


สิทธิในที่ดินคือสิทธิมนุษยชนของเกษตรไทย


 


นายไพโรจน์ พลเพชร ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) กล่าวในประเด็นแรกเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินและสิทธิมนุษยชนว่า ในส่วนคำถามที่ว่าสิทธิในที่ดินเป็นสิทธิมนุษยชนหรือไม่ มีข้อต่อสู่ทางความคิดที่สำคัญคือฝ่ายหนึ่งเชื่อว่าสิทธิในที่ดินต้องได้มาด้วยกฎหมายเท่านั้น เมื่อกฎหมายไม่รับรองสิทธิการไปอยู่ในเขตป่า หรือเขตอุทยานแห่งชาติที่มีอำนาจรัฐเบ็ดเสร็จก็ไม่มีสิทธิเข้าไปอยู่และต้องออกไปจากพื้นที่ ทั้งนี้สังคมไทยมีความเชื่อเช่นนั้น และผู้พิพากษา อัยการ ตำรวจ สื่อมวลชน รวมทั้งชาวบ้านธรรมดาเองต่างมีความเชื่อเช่นเดียวกัน


 


"แล้วเราจะไปอยู่ไหน ในฐานะที่เป็นเกษตรกรที่จะมีชีวิตรอดยังชีพด้วย สิ่งสำคัญในการอยู่รอดของเกษตรกรคือ ที่ดิน ถ้าไม่มีที่ดินไม่มีอาหาร ถ้าไม่มีที่ดินไม่มีที่อยู่อาศัย ถ้าไม่มีที่ดินไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสือ ถ้าไม่มีที่ดินก็ไม่มีอย่างอื่น เพราะที่ดินคือที่มาของทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตเกษตรกร มันจึงเป็นสิทธิมนุษยชนอย่างหนึ่ง"ประธาน กป.อพช.กล่าว พร้อมเสริมว่าสิทธิมนุษยชนดังกล่าว แตกต่างกับสิทธิมนุษยชนของแรงงานคือสิทธิในค่าจ้าง ที่นำมาซึ่งทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตแรงงาน


 


ดังนั้น เมื่อกฎหมายบอกว่าไม่มีสิทธิในที่ดินทำกิน จึงขัดแย้งกับสิทธิความเป็นมนุษย์ และคนทั่วไปก็เชื่อว่าเมื่อไม่มีกฎหมายให้สิทธิก็ไม่มีสิทธิ ในส่วนนี้เป็นข้อโต้แย้งที่เกิดขึ้นในสังคมช่วงระยะเวลา 30-40 ปีที่ผ่านมาในการต่อสู้เรื่องที่ดิน นอกจากนี้ในส่วนของคดีความเองก็ต้องตัดสินไปตามความเชื่อนั้น


 


ถ้าเชื่อมโยงให้ไกลกว่านั้น เมื่อเกษตรกรเป็นผู้ผลิตที่นอกจากจะเลี้ยงตัวเองแล้ว ยังต้องเลี้ยงคนอื่นอีก เพราะฉะนั้นฐานะการมีที่ดินทำกินของเกษตรกร จึงมีฐานะเป็นความมั่นคงทางอาหารชนิดหนึ่ง


 


"แนวความคิดเรื่องสิทธิมนุษยชนไม่ได้ลงหลักปักฐานในสังคมไทย มันจึงไม่แปลกที่คนจะคิดได้แค่เพียงสิทธิตามกฎหมายเท่านั้น แม้แต่พวกเราธรรมดาๆ ถ้าไม่ผ่านการต่อสู้ บอกได้ไหมว่านี่คือสิทธิที่จะอยู่ สิทธิชุมชน" นายไพโรจน์กล่าวถึงประเด็นแรก


ประเด็นถัดมา นายไพโรจน์กล่าวถึงปัญหาเรื่องความเป็นธรรมในการใช้ประโยชน์จากที่ดินว่า ในประเทศนี้ยังไม่มีความเป็นธรรมดังกล่าว คนที่สมควรจะได้รับสิทธิในที่ดินก่อนกลับไม่ได้ ยกตัวอย่างพื้นที่ในประเทศไทยทั้งหมด 320 ล้านไร่โดยประมาณ เป็นพื้นที่ทำการเกษตร 130 ล้านไร่ทั่วประเทศ ซึ่งพ้นที่เกษตรเหล่านี้ถ้าหากมีการกระจายสิทธิที่เป็นธรรมไปเมื่อไหร่ ทุกๆ คนจะสามารถเข้าถึงที่ดิน สร้างความเป็นธรรมในการถือครองที่ดินได้ แต่ที่ผ่านมามันมาสามารถทำได้


 


"เราเคยปฏิรูปที่ดินเมื่อปี 2518 ตอนนี้ 33 ปีของการปฏิรูปที่ดินแล้ว เจตนารมณ์ของการปฏิรูปที่ดินคือต้องการกระจายสิทธิการถือครองที่ดินให้กับคนไม่มีที่ดิน หรือมีที่ดินไม่เพียงพอ และต้องเอาจากคนมีมากมาให้คนมีน้อย แต่ระยะเวลา 33 ปี ยังไม่ประสบผลสำเร็จ" นายไพโรจน์กล่าวถึงการกระจายสิทธิการถือครองที่ดินซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ของประเทศที่ยังไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริง ไม่ใช่ตามที่มีการพูดว่าประเทศยังมีที่ดินอยู่และมีคนพยายามชี้นำรัฐบาลว่าให้เอาพื้นที่นาร้างทั้งหมดมาปลูกพืชน้ำมัน ซึ่งหมายความว่าไม่สนใจว่าใครจะเป็นผู้ถือครองที่ดิน หรือใครจะเป็นผู้ผลิต สนใจแต่เพียงว่าให้ที่ดินเพื่อการผลิตได้


 


นายไพโรจน์กล่าวต่อมาว่า เมื่อแนวคิดเรื่องสิทธิมนุษยชนกับสิทธิตามกฎหมาย เป็นไปในทิศทางนี้ จึงไม่แปลกใจเลยที่ผู้พิพากษาเชื่อว่าชาวบ้านที่เข้าไปอยู่ในป่านั้นเป็นผู้บุกรุก เพราะกฎหมายบอกว่าบุกรุก เขาจึงต้องผลิตคน ฝังชิพเข้าไปในสมอง ทำให้เชื่อว่ามันเป็นการกระทำที่ผิด ทุกคนต่างถูกฝังหัวด้วยความคิดแบบนี้ ทั้งนี้ ในการแก้ไขก็ต้องแก้สิ่งที่ฝังหัว โดยการฝังชิพใหม่ที่ต่างออกไปจากเดิม ซึ่งพูดง่ายแต่ว่าทำยาก


 


หากดูจากประสบการณ์การต่อสู้เรื่องกฎหมายที่ดินจะพบว่ามีวิธีการในหลากหลายมิติ มิติที่หนึ่งจะทำอย่างไรเพื่อเปลี่ยนความเชื่อ ความเข้าใจ ทัศนคติของผู้ที่ตัดสินคดี สร้างความเข้าใจ อาจมีสำเร็จบ้างไม่สำเร็จบ้างแต่เป็นภารกิจที่ต้องทำ ประการที่สองที่เป็นปัญหามาก คือ การเข้าถึงข้อเท็จจริง ถามว่าผู้พิพากษาจะเข้าถึงข้อเท็จจริงได้อย่างไรบ้าง เมื่อการเข้าถึงข้อเท็จจริงมาจากการสอบ หากสอบมาผิดก็ผิดไปหมดทั้งขบวน ไม่มีทางที่จะรู้ว่าความจริงนั้นเป็นอย่างไรกันแน่


 


นอกจากนั้น สิ่งที่มากระทำต่อประชาชนเป็นเรื่องของนโยบายด้วย ไม่ใช่เพียงเรื่องของกฎหมายล้วนๆ เพราะกฎหมายไปรับใช้นโยบาย กฎหมายไม่ได้อยู่ลอยๆ ฉะนั้นการต่อสู้จึงไม่ใช่เพียงแค่กฎหมาย เพราะสิ่งที่บอกว่าจะใช้กฎหมายอย่างไรนั้นอยู่ที่นโยบาย ต้องต่อสู้ให้แก้นโยบายควบคู่ไปกับเรื่องกฎหมาย


 


ทั้งนี้ ที่พูดถึงทังทั้งหมดเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น อาจจะชนะคดีเพียงบางพื้นที่ แต่จะไปเกิดปัญหาในพื้นที่อื่นอีก เพราะกฎหมายไม่ได้ถูกแก้ไข ไม่ใช่ในพื้นที่นี้ชาวบ้านเข้มแข็งไม่มีการจับกุม แต่ถ้าเป็นพื้นที่ไหนอ่อนแอก็โดนจับ ส่วนพื้นที่ไหนเจราจาได้ก็จบ มันจึงต้องไปไกลกว่านั้น โดยให้ยกเลิกกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม แล้วสร้างกฎหมายที่เป็นธรรมขึ้นมาบังคับใช้


 


"เรามีช่องทางและ เงื่อนไขหลายๆ อย่าง อย่างน้อยมีเงื่อนรัฐธรรมนูญปี่ 2550 อยู่ ที่บอกว่าต้องมีการกระจายการถือครองที่ดินให้เป็นธรรมโดยการปฏิรูปที่ดิน" นายไพโรจน์กล่าวถึงช่องทางด้านกฎหมายที่มีการระบุไว้ แต่รัฐบาลหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมีหน้าที่นำไปปฏิบัติกลับกำลังวุ่นวายกับการต่อสู้มาตั้งแต่ปี 2547 จนถึง 2551 และอาจไล่ไปจนถึงปี 2553 ไม่สนใจปัญหาบ้านเมือง ปัญหาของราษฎร ดังนั้นรัฐการแก้ไขจึงถูกละเลย


 


ในส่วนของการยกเลิกกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม แล้วสร้างกฎหมายนั้น นายไพโรจน์กล่าวว่า ต้องมีการเตรียมตัวตั้งแต่ตอนนี้ จากที่มีการเปิดช่องให้ใช้ ลายขื่อ 10,000 ชื่อ ยื่นเสนอกฎหมาย ดังนั้นต้องมีการเตรียมตัวต่อสู้ในระดับดังกล่าวตั้งแต่ตอนนี้ ด้วยการล่าลายชื่อเพื่อนำไปสู้กันในระดับสภาผู้แทนราษฎร ต้องมีการสร้างกฎหมายของตนเองด้วยจึงจะเป็นการต่อสู้ในระยะยาว ไม่เช่นนั้นจะไม่มีทางที่จะไปต่อสู้กับเขา การต่อสู้แล้วถูกจับแล้วจับอีก มันก็ไม่ไหว เพราะมีทนายที่ทำเรื่องเกี่ยวกับด้านสิทธิอยู่ไม่เกิน 20 คน ทั่งประเทศ ต่อหลายร้อยคดี มันจึงต้องสู้เรื่องการสร้างกฎหมายใหม่ และต้องลงมือด้วยตนเองในการล่ารายชื่อ ณ บัดนี้


 


 


สังคมไทยที่ไม่ยอมรับในเรื่องของสิทธิ แต่ยอมคนอำนาจ


 


ด้านนายไพสิฐ พานิชกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า คนจนเป็นผลผลิตที่เกิดขึ้นจากนโยบายในการพัฒนาของรัฐบาลที่ต้องการจะลดทอนภาคการเกษตรลง ดังนั้นเกษตรกรรายย่อย จึงถูกเบียดขับไปอยู่นอกระบบคิดของรัฐ เพราะฉะนั้นนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาที่ดึงเอาที่ดินซึ่งเป็นของเกษตรกรรายย่อยไปสู่การทำให้เป็นสินค้า จึงเป็นอีกผลกระทบจากนโยบายการพัฒนาที่ผ่านมา


 


การพูดถึงเรื่องสิทธิมนุษยชนตลอด 30 ปีที่ผ่านมา ว่าไม่ได้มีความคืบหน้า ซ้ำร้ายยังซับซ้อนมากกว่าเดิมเพราะนโยบายจากการพัฒนาที่เกิดขึ้น จึงอยากชวนมองย้อนกลับไปว่านอกจากเรื่องของคดีความแล้วยังมีเรื่องของนโยบายตรงนี้เกิดขึ้น ซึ่งยิ่งตอกย้ำไปอีกเมื่อมีเกษตรอุตสาหกรรมเข้ามา เช่น การปลูกยาง พืชน้ำมัน การปลูกพืชเศรษฐกิจ พืชเชิงเดี่ยวต่างๆ ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ ตรงนี้คือสิ่งที่เปลี่ยนรูปแบบของการผลิต ทำให้ชาวบ้านที่เข้าไปอยู่ในระบบนี้ ต้องมีการลงทุนเรื่องที่ดิน ต้องเปลี่ยนไปใช้ยาฆ่าแมลง ต้องเสียงในเรื่องราคา ฯลฯ


 


ทั้งหมดนี้คือตัวนโยบายการพัฒนาที่ต้องการให้ภาคเกษตรรายย่อย ทำให้คนจน มีสถานะอย่างเดียวคือเป็นแรงงาน โดยใช้มาตรการทางนโยบายและมาตรการทางกฎหมาย กดต้นทุนให้ต่ำ เพื่อทำให้คนที่แสวงหาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้ประโยชน์


 


"ตรงนี้สะท้อนให้เห็นว่าสังคมไทยไม่ได้ยอมรับเรื่องสิทธิมนุษยชนเลย สถานภาพของสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องที่พูดกันอย่างสวยหรูว่าเรามี เราเคยรับปฏิญญาข้อนั้นข้อนี้ มีการตั้งกรรมการสิทธิขึ้นมา ภาพทั้งหลายเหล่านี้มันเป็นแค่การทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศไทยดูดี ในสายตาของต่างประเทศ แต่ในเชิงเนื้อหาของสิทธิไม่ได้ดีอย่างที่ว่า" นายไพสิฐกล่าว


 


นายไพสิฐกล่าวในประเด็นต่อมาว่า สิทธิไม่ได้เกิดขึ้นมาจากกฎหมาย แต่สิทธิที่เกิดในประเทศต่างๆ ดูจากประวัติศาสตร์ของโลกแล้วสิทธิเกิดจากการรวมกลุ่มกันเรียกร้องต่อสู้ และแม้ว่าจะมีการต่อสู้จนมีหลักประกันในทางกฎหมาย ในเชิงสถาบัน ในเชิงองค์กรขึ้นมารองรับแล้ว แต่การละเมิดสิทธิก็ยังคงมีอยู่ ในเรื่องสิทธิในทางกฎหมายนั้นเป็นเรื่องของการยอมรับในทางสังคมว่าสังคมแต่ละสังคมยอมรับเรื่องสิทธิมากน้อยขนาดไหน


 


สำหรับสังคมไทยนั้น ไม่ค่อยยอมรับในเรื่องของสิทธิ แต่กลับไปยอมรับว่าใครมีอำนาจมากกว่า ทำให้กระบวนการต่อสู้ในคดีต่างๆ เหล่านี้ ต้องทำใจระดับหนึ่งว่าโอกาสที่จะหลุดจากคดี หรือโอกาสที่จะชนะคดี บนกติกา บนทัศนคติเก่าๆ นั้นเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก นอกจากนี้ยังมักมีการฝากความหวังไว้กับสิทธิทั้งหลายตามกฎหมายบัญญัติ โดยมีรัฐเข้ามาทำหน้าที่จัดสรรและคุ้มครองสิทธิ ซึ่งจริงในระดับหนึ่งสำหรับผู้ที่อยู่ในเมือง ผู้ที่ความรู้ มีฐานะทางเศรษฐกิจ แต่สำหรับชาวบ้านแล้วมันไม่เป็นจริงเลย


 


ในส่วนข้อเสนอ นายไพสิฐกล่าวว่า การล่า 10,000 รายชื่อ นอกจากเพื่อเสนอข้อกฎหมายแล้ว น่าจะมีการนำเสนอเป็นบันทึกถึงกรรมการตุลาการ (กต.) ซึ่งทำหน้าที่ในการตัดสินคดี โดยมีการรับรู้ของสื่อมวลชน เพื่อแสดงว่าจากนโยบายทั้งหลายที่มีทำให้ศาลกลายเป็นเครื่องมือที่จะกดขี่ชาวบ้านอย่างไร เพราะ กต.เองเป็นหน่วยงานหนึ่งที่สามารถออกนโยบายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินคดีได้


 


ต่อมาในเรื่องของการต่อสู้ สามารถทำได้หลายรูปแบบและการต่อสู้ที่ผ่านมาได้ทำให้เกิดการสั่งสมประสบการณ์มากมาย ทั้งการใช้มาตรการที่มีความรุนแรงอย่างการเผาอุทยานที่มีมาแล้วในพื้นที่ภาคเหนือ การเผยแพร่ข้อมูลให้กระจายสู่วงกว้างโดยผ่านสื่อมวลชน ในกรณีที่มีการใช้เครื่องแบบเข้าไปข่มขู่ คุกคามชาวบ้าน สร้างเครือข่าย สร้างฐานข้อมูลที่จะมาต่อสู้กับความไม่ถูกต้องชอบธรรมโดยใช้เทคโนโลยีเข้าช่วย


 


ในกรณีของแม่ทา และที่ถนนหัก จ.บุรีรัมย์ องค์การบริหารส่วนตำบลมีการออกกฎระเบียบในการสนับสนุนชุมชนให้มีการจัดการทรัพยากรของตัวเอง ด้วยความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่อุทยาน ถือเป็นกระบวนการที่เป็นรูปธรรมในการคิดค้นความร่วมมือในการจัดการทรัพยากร


 


นอกจากนี้ยังเสนอให้มีการรุกเข้าไปให้ข้อมูลต่อศาล เพื่อให้การดำเนินคดีไม่ใช่การรับฟังแต่คำสารภาพ แต่ศาลต้องมีการเผชิญสืบ มีการลงพื้นที่รับรู้ข้อมูลจริง ทำประเด็นให้เป็นประเด็นสาธารณะ เปิดกว้างให้คนทั่วไปได้รับรู้ เข้าใจ


 


 


สิทธิที่ได้มาด้วยการต่อสู้ เพื่อปกป้องรักษาสิทธิ ไม่ใช่การขอ


 


ส่วนนางสุนี ไชยรส กรรมการสิทธิมนุษยชน เปิดเผยข้อมูลว่า ในขณะนี้กำลังจะมีการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติใหม่อีก 38 แห่ง มีการร้องเรียนเพิ่มเติมเข้ามานอกจากเรื่องเก่าที่ดำเนินการสะสางอยู่มากมายอยู่แล้ว และคาดว่าการประกาศเขตอุทยานใหม่นี้จะกระทบต่อประชาชนอีกนับหมื่นนับแสนคน ทั้งนี้ที่ผ่านมากรรมการสิทธิได้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญ ฟ้อง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ ในมาตรา 6 ที่ให้มีการประกาศเขตป่าอุทยานโดยขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งขณะนี้ศาลได้รับฟ้องแล้ว ถือเป็นขบวนการแก้ไขกฎหมายที่ต้องมีการดำเนินการโดยด่วน เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาใหม่ๆ เพิ่มเติมขึ้นมาอีก


 


"กระบวนการที่เราจะต่อสู้ด้วยกัน คุณไพโรจน์พูดเรื่องกฎหมาย การสร้างกฎหมายใหม่ ตอนนี้พี่น้องร่วมกับคณะกรรมการสิทธิกำลังจะรื้อกฎหมายเก่า ประเดิมด้วยกฎหมายอุทยาน เพื่อสกัด 38 แห่ง ในอนาคต ว่าจะอยู่รอดไหม ในอนาคตจะออกมาหน้าตาแบบไหน" นางสุนีกล่าว


 


สิทธิที่มีการเรียกร้องนั้น ไม่ได้เรียกร้องมากไป เพราะชาวบ้านต้องมีที่ทำกิน ที่อยู่อาศัย แต่ปัญหาใหญ่ คือ สิทธิในการพัฒนานั้นหายไป วันนี้ที่ดินไม่ใช่เพียงแค่ป่าเท่านั้น และถ้าหากย้อนไปถึงการต่อสู้ของชาวบ้านที่บางสะพาน การต่อสู้ที่โรงระเบิดหิน นั่นเป็นการสู้เพื่อรักษาภูเขา ชายฝั่ง ระบบนิเวศน์ ทรัพยากรของพวกเขาเองแต่ก็ถูกจับ คดีเหล่านี้หนักหนาสาหัสไม่แพ้กับที่ชาวบ้านต่อสู้เรื่องที่ดิน ฉะนั้นจึงเห็นด้วยที่ชาวบ้านต้องสู้ อย่ายอมแพ้ หากมั่นใจในสิ่งที่ตัวเองทำอยู่ และมีฐานของกลุ่มรองรับ เพราะหากรับสารภาพไปเมื่อไหร่ คดีแพ่งจะตามมา และพี่น้องจะเสียที่ดินทันที ไม่มีโอกาสกลับไปยังที่ดินเดิมที่เคยทำกินอยู่


 


"กรรมการสิทธิฯ บอกว่าสิทธิเสรีภาพต้องได้มาด้วยการต่อสู้ กรรมการสิทธิฯ เป็นแรงหนุน พี่น้องเอ็นจีโอเป็นแรงหนุน เพราะฉะนั้นการต่อสู้ของพวกเราจึงตองสู้แล้วนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในเชิงนโยบาย" นางสุนีกล่าวถึงหลักการในการต่อสู้


 


ทั้งนี้ การสร้างฐานข้อมูลนั้นเป็นสิ่งที่น่าสนใจ การเดินกันพื้นที่ของตัวเอง กันขอบเขตอุทยานที่มีการดำเนินการในบางพื้นที่ ไม่ว่าจะมีเจ้าหน้าที่ป่าไม่ร่วมด้วยหรือไม่ จะเป็นการสร้างฐานข้อมูลที่เป็นประโยชน์ อีกทั้งควรได้มีการตระเตรียมประวัติชุมชน เตรียมเอกสาร ขอบเขตที่ทำกินก็ควรทำหลักฐานร่องรอยเอาไว้ ตั้งรับกับการจับกุมหรืออาจมีการออกมติคณะรัฐมนตรีต่างๆ ที่เอื้อประโยชน์ต่อชุมชนได้ในอนาคต นอกจากนี้การรวมกันเป็นกลุ่มก้อนก็เป็นสิ่งสำคัญ


 


แม้ว่าจะสู้คดีแล้วแพ้ หรือกำลังอยู่ระหว่างการต่อสู้คดี แต่การต่อสู้ในเชิงนโยบายสามารถดำเนินการควบคู่กันไปได้ และในบางกรณีแม้จะมีการตัดสินคดีไปแล้ว แต่หากมีการตรวจสอบภายหลังแล้วพบว่าการประกาศเขตป่าผืนเดียวกันทับที่ของชุมชนจริง คนที่ถูกคดีรายกรณีก็จะสามารถนำข้อมูลในส่วนนี้ไปสู้ต่อได้


 


"แท้ที่จริงแล้วสิทธิขั้นพื้นฐานของพี่น้องที่ต้องพูดกันตรงไปตรงมาว่า ไม่ใช่คนจนไปขอที่ดิน นี่คือที่ดินที่เราครอบครองทำกินและอยู่อาศัยมายาวนาน นี่คือสิทธิของเราในการครอบครองทำกิน ไม่ใช่แบมือขอรัฐว่าวันนี้คนจนมาขอที่ดิน พูดอย่างนี้มันจะกลายเป็นว่าเราไม่เคยมีที่มาก่อนแล้วมาขอ" กรรมการสิทธิมนุษยชนกล่าว พร้อมย้ำว่าแท้จริงทุกคนคือคนที่มาเรียกร้องสิทธิไม่ใช่คนจนที่มาขอ เป็นการต่อสู้เพื่อสิทธิที่มีมาแต่เดิม


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net