ในวิกฤตเศรษฐกิจนี้ กรรมกรและนักสังคมนิยมต้องมีจุดยืนแบบไหน?

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

เลี้ยวซ้าย

www.pcpthai.org

 

ในวิกฤตเศรษฐกิจของระบบทุนนิยมโลกปัจจุบัน ผลกระทบที่เริ่มเห็นในประเทศไทยมาจากการที่ตลาดส่งออกสินค้าไทยหดตัวลง และบริษัทข้ามชาติที่สร้างโรงงานในไทยมีปัญหาทางด้านการเงินจนมีการลดการลงทุน สองสิ่งนี้ บวกกับความไร้เสถียรภาพของระบบธนาคารทั่วโลก ทำให้คนงานไทยเริ่มถูกเลิกจ้าง

 

ในฐานะนักสังคมนิยม เราต้องมีข้อเรียกร้องฉุกเฉินเฉพาะหน้า เพื่อปกป้องความเป็นอยู่ของประชาชนส่วนใหญ่ดังนี้คือ

1.                   เราต้องเรียกร้องให้รัฐบาลลงทุนมหาศาลในการปกป้องงานและสร้างงาน เมื่อเจ็ดสิบปีมาแล้ว นักเศรษฐศาสตร์ชื่อ จอห์น เมนาร์ด เคนส์ ได้อธิบายไปท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจโลก 1930 ว่า การรักษาวินัยทางการคลังหรือการตัดงบประมาณ (อย่างที่พรรคประชาธิปัตย์และพันธมิตรต้องการ) จะนำไปสู่การหดตัวของเศรษฐกิจและวิกฤตที่ร้ายแรงขึ้นอีก เพราะมีการตกงาน คนตกงานซื้อสินค้าไม่ได้ก็นำไปสู่คนตกงานมากขึ้นและความยากจนทั่วไป ดังนั้นสิ่งที่สำคัญคือรัฐบาลไทยต้องเพิ่มกำลังซื้อของประชาชนส่วนใหญ่ ไม่ใช่แค่ไปอุ้มคนรวยหรือประกันเงินฝากในธนาคาร ซึ่งคนรวยเป็นคนส่วนน้อยและจะไม่มีผลในการกระตุ้นเศรษฐกิจ

 

2.                   การเพิ่มกำลังซื้อของประชาชนคนจนทำได้สองวิธีคือ หนึ่ง เพิ่มอัตราค่าจ้างขั้นต่ำให้ถึงวันละ 300 บาท พร้อมกับลดภาษีมูลค่าเพิ่มที่คนจนต้องจ่าย ต้องเพิ่มเงินเดือนข้าราชการและรัฐวิสาหกิจด้วย และต้องตัดหนี้สินเกษตรกรยากจน สอง รัฐบาลต้องปกป้องและสร้างงาน การสร้างงานที่สำคัญต้องเป็นรูปแบบ Mega-project หรือโครงการขนาดใหญ่ เช่นการพัฒนารถไฟทุกสายทั่วประเทศให้เป็นรถไฟไฟฟ้าความเร็วสูง ต้องสร้างระบบขนส่งมวลชนในรูปแบบรถไฟเพิ่มในกรุงเทพฯและเมืองใหญ่ๆ อย่างเชียงใหม่ต้องสร้างโรงไฟฟ้าที่ผลิตไฟฟ้าจากลมและแสงแดด ต้องสร้างโรงพยาบาลและโรงเรียนเพิ่มขึ้นฯลฯเป็นต้น โครงการเหล่านี้ต้องถูกกำกับดูแลโดยภาคประชาชนเพื่อไม่ให้มีการโกงกินหรือทำลายวิถีชีวิตประชาชน และเพื่อนำไปสู่ประโยชน์แท้สำหรับคนจน

 

 

3.                   ในโรงงานที่นายจ้างประกาศปิดหรือลดคนงาน รัฐบาลต้องเข้าไปยึดและร่วมถือหุ้นและลงทุนเพิ่ม โดยให้สหภาพแรงงานร่วมบริหารโรงงาน ต้องมีเงื่อนไขว่าห้ามเลิกจ้างและต้องหันมาผลิตสิ่งจำเป็น เช่นในโรงงานรถยนต์ควรผลิตรถพยาบาลฉุกเฉิน หรือรถขนส่งมวลชนให้รัฐ ในโรงงานอีเลคทรอนิคส์ต้องผลิตคอมพิวเตอร์สำหรับโรงเรียนรัฐบาลในชนบท และในโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าควรผลิตชุดนักเรียนเพื่อแจกฟรีให้กับประชาชน

 

4.                   ในภาคเกษตรรัฐต้องชักชวนให้เกษตรกรยากจนรวมตัวกันแบบสหกรณ์หรือนารวม ต้องไม่บังคับกัน แต่รัฐควรลงทุนซื้อเครื่องจักรและปุ๋ย และควรประกันราคาผลผลิตให้เกษตรกรกลุ่มนี้ เพื่อแจกจ่ายอาหารให้กับโรงเรียนหรือโรงพยาบาลของรัฐ

 

 

5.                   จะเอาเงินมาจากไหน? รัฐบาลไม่ขาดเงิน เพราะเราเห็นว่ามีเงินจัดพิธีสาธารณะอันใหญ่โตได้ นอกจากนี้รัฐสามารถลดงบประมาณทหารในส่วนที่ซื้ออาวุธหรือเครื่องบิน แต่ต้องปกป้องค่าจ้างทหารยากจน และรัฐบาลต้องเพิ่มการเก็บภาษีทางตรงกับคนรวยทุกคน พร้อมกระจายที่ดิน ในยามวิกฤตคนรวยต้องเสียสละเพื่อคนส่วนใหญ่ในชาติ

 

นี่คือสิ่งที่เราเรียกร้องได้เป็นรูปธรรม เราอาจได้มาส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่ถ้าไม่มีเป้าหมายทิศทางในการเรียกร้อง เราก็จะเงียบเฉย คนจนก็จะกลายเป็นเหยื่อของคนรวยอีกครั้งอย่างที่เราเห็นในกรณีวิกฤตปี ๔๐

 

บทเรียนสำคัญจากวิกฤต 1930 เมื่อ 70 กว่าปีมาก่อน ซึ่งเป็นประโยชน์สำหรับยุคนี้คือ ถ้าไม่มีการเคลื่อนไหวของขบวนการภาคประชาชน เราไม่สามารถหวังว่ารัฐบาลจะมาดูแลประชาชนได้ แต่เมื่อภาคประชาชนเข้มแข็ง มีพรรคของคนชั้นล่าง เราบังคับให้รัฐบาลมีนโยบายใหม่ เพื่อปกป้องฐานะความเป็นอยู่ของคนส่วนใหญ่ได้ เช่นในกรณี New Deal ในสหรัฐ หรือกรณีที่คณะราษฎร์เสนอแผนเศรษฐกิจหลัง ๒๔๗๕ เป็นต้น

 

บทเรียนอีกอันหนึ่งคือ นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของ จอห์น เมนาร์ด เคนส์ ที่ใช้ในยุค 1930 และกำลังนำมาใช้ในปัจจุบันโดยรัฐบาลทั่วโลกไม่เพียงพอที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจได้ทั้งหมด ทางออกที่เหลือมีสองทางคือ (1) ก่อสงครามทั่วโลก (ทางออกในยุคนั้นที่นำไปสู่สงครามโลกครั้งที่สองและการล้มตายของประชาชนหลายล้านคน) หรือ (2) เดินหน้าสร้างสังคมนิยมโดยล้มระบบทุนนิยมและกลไกตลาด เพราะสังคมนิยมเป็นระบบที่วางแผนการผลิตโดยคนส่วนใหญ่เพื่อคนส่วนใหญ่

 

ในเรื่องนี้นักปฏิวัติสังคมนิยมเยอรมัน ชื่อ โรซา ลัคแซมเบอร์ค เคยอธิบายไว้ก่อนเกิดสงครามโลกครั้งที่สองและการขึ้นมาของเผด็จการฟาสซิสต์ว่า.....

 

"เราเผชิญหน้ากับวิกฤตอันใหญ่หลวง ทางออกมีสองทางคือ สังคมนิยม หรือความป่าเถื่อน"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท