Skip to main content
sharethis


16 ธ.ค.51    ที่คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาลัย มีการจัดเสวนา "การกำกับดูแลกิจการไฟฟ้า กติกาใหม่ เพื่อผลประโยชน์ของใคร?" ในวาระที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือที่เรียกกันว่า "เรกูเลเตอร์" ซึ่งตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ. การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.2550 ทำงานมาครบ 1 ปี


 


ศุภิชัย ตั้งใจตรง หนึ่งในคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน กล่าวถึงอำนาจหน้าที่และการดำเนินงานที่ผ่านมาของคณะกรรมการกำกับฯ ว่า อำนาจหน้าที่หลักคือการดูแลการประกอบกิจการพลังงาน ซึ่งแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ ไฟฟ้า และก๊าซ (ส่วนของท่อ) นอกจากนี้ยังมีหน้าที่ให้ใบอนุญาตการก่อสร้างโรงไฟฟ้า กำหนดกฎเกณฑ์ มาตรฐานต่างๆ เพื่อความมั่นคง เชื่อถือได้ของระบบไฟฟ้า และยังปกป้องผู้บริโภค, ส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบพลังงาน


 


คณะกรรมการกำกับฯ ได้จัดทำแผนดำเนินการเพื่อขออนุมัติ 5 ปี แผนยุทธศาสตร์ 5 ปี และเพิ่งได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีเมื่อเร็วๆ นี้  ที่สำคัญขณะนี้ยังมีการประสานกับหลายหน่วยงานเพื่อทำงานในเชิงรุก ทำข้อเสนอเชิงนโยบายเกี่ยวกับกองทุนพัฒนาไฟฟ้า กำลังอยู่ระหว่างเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) จะมีการปรับแผนพีดีพี พิจารณาปรับอัตราค่าผ่านท่อก๊าซ รวมถึงพิจารณาหลักเกณฑ์การชดเชยอหังสาริมทรัพย์ด้วย


 


สมชาย นิติกาญจนา เจ้าของฟาร์มหมู เอส พี เอ็ม ฟาร์ม กล่าวว่า เขาเป็นผู้ผลิตรายเล็กที่เล็กมากๆ คือ ผลิตไม่ถึงเมกกะวัตต์ แต่ผู้ผลิตระดับนี้มีกระจายอยู่เต็มไปหมด และไม่ได้รับการดูแลจากภาครัฐมากนัก เนื่องจากมีราคาสูง กฟผ.ไม่อยากซื้อ ทั้งที่ผู้ประกอบการเล็กๆ ในท้องถิ่นแบบนี้ช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้มาก ประเทศพัฒนาแล้วให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้มาก เช่น เยอรมัน แต่ประเทศไทยไม่ได้คิดกับมันจริงจัง ทำอย่างไรภาครัฐจึงจะรับซื้อไฟจากผู้ประกอบการรายจิ๋วอย่างจริงจัง การทำงานก็มีการแยกส่วนกันหน่วยที่ส่งเสริมก็ส่งเสริมไป แต่ขายไฟไม่ได้ และในช่วงหลังเมื่อก กฟผ.ยอมรับซื้อ แต่กระบวนการก็ยังคงยุ่งยากอย่างมากสำหรับผู้ประกอบการเล็กๆ  


 


สุทัศน์ ปัทมสิริวัฒน์ รองผู้ว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า การยกร่าง พ.ร.บ. นี้เป็นการปฏิรูปโครงสร้างกิจการพลังงานครั้งสำคัญ ทุกคนก็คาดหวังว่าจะได้กติกาที่โปร่งใสขึ้นและมีส่วนร่วมมากขึ้น


 


สำหรับกฟผ.มีบทบาทสองด้าน คือ ควบคุมระบบส่ง โครงข่ายพลังงาน ศูนย์ควบคุมไฟฟ้า โดยได้ส่งข้อมูลต่างๆ ไปให้เรกูเรเตอร์แบบออนไลน์ เพื่อโปร่งใสและเพื่อดูแลความมั่นคง ในด้านการผลิตมีการถ่วงดุลค่าไฟฟ้า โรงไฟฟ้าที่สร้างขึ้นใหม่ ราคาก็ต้องไม่แพงกว่าไอพีพี ส่วนที่เกี่ยวกับการผลิตไฟฟ้า ความมั่นคง และประสิทธิภาพ เราสามารถเทียบเคียงได้กับมาตรฐานของสหรัฐอเมริกา


 


ตอนที่ร่าง พรบ. ผู้ประกอบการอย่างเราก็คาดหวังว่าจะได้อะไรด้วยในฐานะผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย  แต่เราก็ยังไม่ได้ดำเนินการไปอย่างที่ควรจะเป็นมากนัก ถ้าเราเอาการเงินเข้ามาดูมาก มันจะทำให้โครงสร้างเราเปลี่ยนไป เช่น การใช้แอลพีจี เมื่อเราหนุนเกินไปการใช้พลังงานก็จะผิดธรรมชาติ บทบาทในการดูแลตรงนี้มาอยู่ที่เรกูเรเตอร์แล้ว คาดหวังว่าโครงสร้างที่เปลี่ยนแปลงไปน่าจะเป็นไปในทางดีกว่าเดิม เข้าใจว่ายังมีการเมือง นโยบายเข้ามาแทรกแซงอยู่มาก ทำให้ค่าไฟฟ้าไม่เป็นไปตามธรรมชาติ


 


สิ่งที่ยังขาดอยู่ คือ กองทุนพัฒนาชุมชนรอบโรงไฟฟ้า ตั้งตามมติ คพช. ทำผ่านมาพอสมควรพบว่ามีปัญหาหลายประการ ซึ่งได้ส่งประเด็นปัญหาให้เรกูเรเตอร์แล้ว ยกตัวอย่างเช่น การกำหนดเขตว่ากองทุนที่จะใช้ใหญ่แค่ไหน ถ้าเรากำหนดแคบกลุ่มคนที่อยู่รอบก็ได้เต็มที่ แต่คนถัดออกไปไม่พอใจ เมื่อกำหนดกว้างก็ได้กันไม่เต็มที่ ประเด็นของผู้แทนฝ่ายชุมชนต้องมีสัดส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่ง ที่ผ่านมาเมื่อได้ตัวแทนแล้วก็ไม่สามารถหาข้อยุติได้ เกิดการไม่ยอมรับของชุมชนอีก ประเด็นการใช้เงิน รูปแบบไหนควรได้งบก็ขึ้นอยู่กับเรกูเรเตอร์ อีกทั้งปัญหาภาษี ปรากฏว่า กองทุนต้องเสียภาษีเงินได้ในอัตราที่ค่อนข้างสูงมากอีก


 


ตี๋ ตรัยรัตนแสงมณี  ผู้แทนชาวบ้าน ต.หนองกบ อ.หนองแซง จ.สระบุรี พื้นที่ที่กำลังจะมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซ กล่าวว่า ดูเหมือนผ่านมาหนึ่งปี เรกูเรเตอร์เพิ่งอาบน้ำแต่งตัวเสร็จและยังไม่ได้ช่วยอะไรชาวบ้านมากนัก สิ่งที่เราเห็นความไม่เป็นธรรมของรัฐบาลมีหลายประการ ตั้งแต่กระบวนการทำรับซื้อไฟฟ้าที่ทำกันอย่างลวกๆ ตอนแรกเปิดรับ 3,200 เมกะวัตต์ แต่แล้วจู่ๆ ก็ขยายเพิ่ม เรื่องการแข่งขันราคาที่ต่ำที่สุดโดยไม่ดูเรื่องสิ่งแวดล้อม สุขภาพประชาชนด้วย ซึ่งมันก็เป็นต้นทุนที่สำคัญ เรื่องการใช้พื้นที่ก็ไม่สอดคล้อง อ.หนองแซงเป็นพื้นที่อนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรมก็ยังไม่ตั้งโครงการ


 


"เรื่องอีไอเอ กฟผ.เซ็นสัญญากับไอพีพี (เอกชนผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่) โดยที่อีไอเอยังไม่ผ่าน เมื่อผมไปขอดูสัญญา เขาบอกว่าให้ดูไม่ได้ ผมเดือดร้อนทำไมไม่มีสิทธิดู กฟผ.เดิมบอกในเงื่อนไขการประมูลว่าต้องผ่านอีไอเอ 30 ก.ย.50 แต่พออีไอเอไม่ผ่าน ก็ยังยอมเซ็นสัญญา คุณทำอะไรกัน มติ30 ก.ย.เปลี่ยนไปได้อย่างไร ผมก็ขอดู ข้อมูลต่างๆ เราอยากได้ว่ากระบวนการที่คุณทำไปมันถูกต้องตามที่กำหนดไหม ไม่ใช่ไปเปลี่ยนไปเลื่อนอะไรกัน แล้วก็บอกว่าเป็นความลับครับ อย่างนี้ผมก็ตายไปกับความลับ" นายตี๋กล่าว


 


นายตี๋กล่าวด้วยว่า ไอพีพีไปสร้างความขัดแย้งในทุกพื้นที่ สังคมเอาแต่พูดเรื่องเสื้อเหลืองเสื้อแดง ขณะที่ในพื้นที่มันทุกข์ยากมากแต่ไม่มีใครสนใจ


 


"วันนี้เรามากัน 8 คน เพราะโดนข้อหาบุกรุก นี่หรือคือการพัฒนา คุณพัฒนายังไงทำให้พี่น้องผมใกล้คุกใกล้ตะราง เขาว่าผมเป็นคนถ่วงความเจริญ ก็ผมอยู่ของผมมา คุณเป็นคนรุกเข้ามา และเข้ามาอย่างไม่มีมารยาท ข้าราชการในพื้นที่ทั้งนายอำเภอและผู้ว่า ฯ ก็ไม่เป็นธรรม เข้าข้างผู้ประกอบการ ไม่มีการช่วยสร้างความรู้ ข้อมูลให้กับเจ้าหน้าที่เลย แถมห้ามชาวบ้านประชุมพูดคุยเรื่องโรงไฟฟ้า กลัวว่าคนนอกจะให้ข้อมูลบิดเบือน แต่ไม่เคยสร้างเวทีให้ผมได้ซักได้ถาม"


 


"เจ้าหน้าที่ไม่พัฒนาอะไรเลย ให้ไปขอโรงไฟฟ้าเอา อยากได้อะไรไปพึ่งเอกชน รัฐช่วยไม่ได้"


 


อย่างไรก็ตาม นายตี๋ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า คาดหวังให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานเข้าไปมีส่วนในการปรับแผนพีดีพีใหม่ด้วย


 


สายรุ้ง ทองปลอน จากสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค กล่าวว่า สิ่งที่คณะกรรมการกำกับนี้สามารถทำได้เลย และเป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับความขัดแย้งด้านพลังงานคือ การเปิดพื้นที่หรือเปิดกระบวนการที่จะทำให้ความอัดอั้นตันใจของประชาชนได้คลายไปบ้าง พยายามเปิดให้กระบวนการมีส่วนร่วมกว้างขวางที่สุด


 


อีกสิ่งหนึ่งที่เรกูเลเตอร์ต้องเข้าไปดูคือ โครงสร้างค่าไฟ มีการประกันกำไรให้กับผู้ลงทุนโดยไมต้องแบกรับความเสี่ยงใดๆ เลยนั้นเหมาะสมแล้วหรือไม่ ควรให้มีระบบที่มีความรับผิดชอบบ้างได้ไหม เช่น ให้แบกรับการลงทุนเกินเอาเอง แบกรับการผันผวนของเศรษฐกิจร่วมกันบ้าง เพราะปัจจุบันผู้บริโภคต้องจ่ายทั้งหมด เรื่องสูตรค่าไฟทำอย่างไรให้มันเป็นเรื่องที่อ่านแล้วเข้าใจง่าย ทุกคนมีส่วนร่วมตรวจสอบได้


 


ประเด็นต่อมา เรื่องแนวทางการกำกับกิจการไฟฟ้า ปัจจุบันเราส่งเสริมอัตโนมัติทำให้ผู้ประกอบการรายใหญ่ได้เข้ามาในระบบ รายเล็กเข้าได้ยาก เน้นการจัดหาแบบสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ เรื่องเรื่อง DSM การประหยัดไฟฟ้า เราก็เน้นแต่ก็แยกไว้ส่วนหนึ่ง ถามว่าย้ายมาอยู่ในช่องการจัดหาได้ไหมเพราะมันจะทำให้การสร้างโรงไฟฟ้าลดลงได้ ที่ผ่านมาคนทำงานบอกว่ากฎหมายยังไม่เอื้อ ไม่มีกลไกรองรับ ทำให้เรื่องการปรับพีดีพีไปต่อไม่ได้


 


ประเด็นต่อมา ควรผลักดันให้มีการลงทุนส่งเสริมการศึกษา วิจัยเลือกพลังงานทางเลือกอย่างเต็มที่ ถ้าแผนพีดีพีเปิดพื้นที่จริงๆ และเปิดตั้งแต่การคิดโจทย์ตั้งต้นในการจัดหาก็ควรส่งเสริมการศึกษาวิจัยพลังงานทางเลือกอย่างจริงจัง บางทีเราอาจพิจารณาได้ถูกต้องมากขึ้นว่าอะไรที่คุ้มค่า


 


ผศ.ภูรี สิรสุนทร อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า คณะกรรมการกำกับฯ นี้ทำงานภายใต้สิ่งที่กฎหมายกำหลัด โดยลักษณะสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ไม่มีการระบุว่าอนาคตหน้าตาของกิจการไฟฟ้าจะเป็นอย่างไร ยังคงปล่อยให้เป็นหน้าที่ของรัฐบาล รัฐมนตรีพลังงานเช่นเดิม แม้แต่แผนการดำเนินงานของคณะกรรมการก็ต้องผ่านรมต.และครม.เห็นชอบอนุมัติ ในทางปฏิบัติอาจทำให้ขาดความเป็นอิสระ


 


ถ้าพูดถึงอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการกำกับฯ คลอบคลุมทุกด้าน ไม่ว่าการออกใบอนุญาต การดูแลค่าบริการ เสนอความคิดเห็นเรื่องพีดีพี แต่ความเข้มข้นยังไม่มากนัก ถ้าความเข้มข้นมากแปลว่าองค์กรกำกับมีอำนาจตัดสินใจโดยตัวเองทันที ไม่ต้องผ่านความเห็นชอบใคร ยิ่งเข้มข้นมาก แปลว่าวัตถุประสงค์ใดๆ ที่วางไว้จะบรรลุได้โดยตัวของเขาเอง


 


ถ้าดูจากที่กฎหมายกำหนด สิ่งที่คณะกรรมการฯ มีอำนาจเข้มข้นหรือทำได้โดยตัวเอง คือ การออกใบอนุญาต การกำหนดหลักเกณฑ์ การกำหนดมาตรฐานต่างๆ แม้แต่เรื่องการรับข้อร้องเรียน แต่ถ้ามองในระดับรองลงมาหรือเข้มข้นปานกลาง คือ การกำหนดอัตราค่าบริการ ยังอยู่ภายใต้กรอบนโยบายอยู่ ถ้านโยบายบอกว่าสถานการณ์เงิน 3 การไฟฟ้าต้องมั่นคง คณะกรรมการกำกับฯ จะตั้งกติกาได้แค่ไหนเพื่อออกจากกรอบนั้น ให้หันมาดูเรื่องประสิทธิภาพการประกอบกิจการมากขึ้นได้หรือไม่ ในส่วนที่มีความเข้มข้นน้อย คือ การเสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีเกี่ยวกับแผนพีดีพี และแผนต่างๆ ทำให้อาจไม่สามารถบรรลุเป้าประสงค์ที่ตัวเองวางไว้ นอกจากนี้ยังมีหน้าที่ให้ความเห็นชอบแผนของกฟผ. กฟภ. อันที่จริงกิจการที่มีการผูกขาดโดยธรรมชาติต้องเข้าไปกำกับโดยตรง ไม่ใช่แค่เห็นชอบแผน


 


ในบทบาทการให้ใบอนุญาติ ยังมีประเด็นสำคัญคือ การออกใบอนุญาตยังเป็นการออกใบอนุญาตที่ไมได้ห้ามการถือใบอนุญาตหลายๆ ใบ เช่น กฟผ.ถือใบอนุญาตผลิต ส่ง ทำโรงไฟฟ้า ฯลฯ ดังนั้นก็แปลว่าโครงสร้างยังเหมือนเดิม ผูกขาดได้ต่อไป ถ้ามองจากมุมนักวิชาการก็อยากเห็นการแยกคนถือใบอนุญาต อำนาจหน้าที่ตรงนี้ควรเป็นของคณะกรรมการกำกับฯ แต่ในกฎหมายกลับไม่ได้ระบุไว้ ทางหนึ่งที่พอช่วยได้คือเปิดให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้ามามีส่วนร่วมในทุกกระบวนการ และสำคัญคือ เอาความเห็นเหล่านั้นไปพิจารณาจริงๆ


 


ในเรื่องธรรมาภิบาลในการกำกับอีกประเด็นคือ ความโปร่งใส คือ ผู้ถือใบอนุญาตต้องเปิดเผยข้อมูล และคณะกรรมการกำกับฯ เองก็ต้องเปิดเผยข้อมูลในการตัดสินใจทุกๆ ครั้งในกระบวนการทั้งหมด ไม่ใช่การตัดสินใจขั้นสุดท้าย อยากเห็นหลักเกณฑ์ต่างๆ ที่ชัดเจน แน่นอน ไม่ใช่เปลี่ยนแปลงไปมา ซึ่งดีต่อนักลงทุนทุกระดับไม่ว่ารายใหญ่รายย่อยด้วย


 


ธีระ ฟอแรน จากหน่วยวิจัยสังคมและสิ่งแวดล้อม (USER) กล่าวถึงข้อเสนอว่าตามกฎหมายแล้ว คณะกรรมการกำกับฯ มีหน้าที่เสนอความคิดต่อการวางแผนพีดีพีและแผนอื่นๆ ขณะที่แผนพีดีพี มีข้อจำกัดหลายประการ ดังนั้น การวางแผนจะดีขึ้นได้ก็ต้องอาศัยการกำกับที่ดีขึ้นด้วย หน้าที่ในการกำกับดูแลพีดีพีควรได้รับความสำคัญลำดับต้น


 


สำหรับข้อจำกกัดของพีดีพีมี 6 ประการคือ 1. การวางกรอบพื้นฐาน เน้นทางเลือกด้านการจัดหา อันที่จริงมีทางเลือกเยอะแยะในการพัฒนาบริการด้านไฟฟ้า เช่น การปรับปรุงมาตรฐานการใช้ไฟฟ้าของเครื่องใช้ไฟฟ้า 


 


2.การพิจารณาต้นทุน แสดงต้นทุนต่อสาธารณะเพียงเล็กน้อย และเป็นต้นทุนการเงินของ กฟผ. ไม่ใช่ต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์ของสังคมโดยรวม , สมมติฐานต้นทุนเชื้อเพลิง คิดไว้ว่าจะเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยตลอด 15 ปี


 


3.ยังไม่พิจารณาการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ไฟฟ้า DSM อย่างจริงจัง จริงๆ กฟผ.ก็ทำสำเร็จอย่างยิ่ง แต่ทำแผนเพียง 5 ปี ขณะที่แผนสร้างโรงไฟฟ้าทำ 15 ปี, ตัวแปรที่ใช้ในการพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้า มีความไม่แน่นอน และมักพยากรณ์ไว้สูงเกินจริง และเป็นการจำลองจากบนสู่ล่าง


 


4ไม่พิจารณาในการลงทุนในพลังงานหมุนเวียนอย่างจริงจัง


 


5 ยังใช้เหตุการณ์จำลองอย่างจำกัด รวมศูนย์การผลิตอยู่เหมือนเดิม ไม่มีแบบจำลองอื่นๆ ทั้งที่ภาพอนาคตของโครงสร้างไฟฟ้าของประเทศน่าจะเปลี่ยนได้พอสมควร เรียกว่ามีจินตนาการที่จำกัด


 


6 ยังไม่วิเคราะห์ความเสี่ยง ไม่พิจารณาความไม่แน่นอนและความเบี่ยงเบน เช่น ต้นทุนที่คาดไว้ พลังงานหมุนเวียนมีความเสี่ยงเรื่องต้นทุนน้อยกว่า แต่ไม่ได้รับการพิจารณา


 


สรุปว่า มีข้อจำกัดเชิงสถาบัน คือ โครงสร้างทางการเงิน เช่น ตัวประกันกำไร จูงใจให้มีการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่มากกว่า, มีหลายหน่วยงานมีหลายแผนทำเรื่องไฟฟ้า แต่พีดีพีที่ทำไม่ได้รวมแผนของหน่วยงานอื่น เช่น กรมพัฒนาพลังงานทดแทนก็มีมาตรฐานการออกแบบอาคารที่ประหยัดพลังงาน ประมาณว่าปี 51-59 อาคารใหม่สามารถประหยัดได้ 2 พันกว่าล้านหน่วยต่อปี สิ่งเหล่านี้ไม่ได้คำนวณในแผนพีดีพี


 


ข้อจำกัดเชิงวาทกรรม คือ ระบบวิธีคิด กรอบแนวคิดของผู้ชำนาญการเฉพาะด้านที่คิดว่าการทำ DSM ไม่มั่นคงเท่าการสร้างโรงไฟฟ้า การสร้างโรงไฟฟ้าใหญ่ๆ จะทำให้ค่าไฟถูกที่สุด ทั้งที่ความเป็นจริงมันเป็นเพียงการกล่าวอ้าง ที่ไม่มีข้อมูลเชิงประจักษ์


 


ธีระ กล่าวถึง ข้อเสนอต่อคณะกรรมการกำกับฯ ว่าควรเข้าใจข้อจำกัดต่างๆ ของพีดีพี ทบทวนโดยทีมอิสระ มีการวางแผนบริการไฟฟ้าอย่างบูรณาการ นอกจากนี้คณะกรรมการกำกับฯ อาจพิจารณาเป็นเจ้าภาพจัดกระบวนการการมีส่วนร่วมในการวางแผนอย่างจริงจัง


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net