Skip to main content
sharethis

บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์ : รายงาน


 


อีกเพียง 2 วัน จะถึงวันที่ 18 ธันวาคม 2551 ซึ่งเป็นวัน "วันแรงงานข้ามชาติสากล" (International Migrant Day) วันที่องค์การสหประชาชาติได้จัดทำอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติและครอบครัว ค.ศ.1990 (INTERNATIONAL CONVENTION ON THE PROTECTION OF THE RIGHTS OF ALL MIGRANT WORKERS AND MEMBERS OF THEIR FAMILIES 1990) เพื่อให้แรงงานข้ามชาติในประเทศต่างๆได้รับการคุ้มครองในฐานะที่เป็นมนุษย์ และการเป็นแรงงานที่มีส่วนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของโลก แม้ว่าปรากฏการณ์การย้ายถิ่นเพื่อแสวงหางานทำเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วทุกมุมโลก แต่พบว่าแรงงานข้ามชาติมักจะถูกละเมิดสิทธิในด้านต่างๆ อันเนื่องมาจากการเป็นคนข้ามชาติ ข้ามวัฒนธรรม ขาดโอกาสในการเข้าถึงกลไกการคุ้มครองของประเทศนั้นๆ


 


สำหรับในประเทศไทยมีการจัดงานวันแรงงานข้ามชาติสากลมาอย่างต่อเนื่องทุกปี สำหรับปีนี้ก็เช่นกัน มีการโหมโรงวันแรงงานข้ามชาติสากลวันแรก 16 ธันวาคม 2551 ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายใต้การดำเนินการของ ศ.ดร.สุภางค์ จันทวานิช และคณะ จากศูนย์วิจัยการย้ายถิ่นแห่งเอเชีย สถาบันเอเชียศึกษา ร่วมกับองค์การยูนิเซฟประเทศไทย (UNICEF) จัดสัมมนาทางวิชาการในเรื่อง "แรงงานย้ายถิ่น คนไร้สัญชาติและคนสองสัญชาติ" โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้และสร้างความเข้าใจต่อการย้ายถิ่นฐานของมนุษย์ ที่ปัจจุบันประเทศไทยกลายเป็นประเทศทั้งต้นทาง กลางทาง และปลายทางของผู้ย้ายถิ่น


 


สำหรับการสัมมนาที่เกี่ยวข้องกับแรงงานข้ามชาติโดยตรง คือ เวทีอภิปรายเรื่อง"เศรษฐกิจถดถอยกับการจ้างแรงงานข้ามชาติ" นำเสนอโดยคุณวสันต์ สาธร รศ.ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ คุณสมพงษ์ สระแก้ว และคุณอดิศร เกิดมงคล ดำเนินรายการโดย คุณบัณฑิตย์ ธนชัยเศรษฐวุฒิ


 


คุณบัณฑิตย์ ธนชัยเศรษฐวุฒิ เริ่มต้นด้วยการฉายภาพรวมของภาวะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันว่า จากการสำรวจภาวะการทำงานของประชากร ไตรมาสที่ 3 พ.ศ. 2551 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน พบว่าขณะนี้มีผู้ว่างงานทั่วประเทศ 4.5 แสนคน โดยผลกระทบในปัจจุบันยังไม่รุนแรงมาก แต่อย่างไรก็ตามควรต้องจับตาและเฝ้าระวัง รวมทั้งแสวงหามาตรการมากระตุ้นให้เศรษฐกิจมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น


 


ย้อนหลังไปเมื่อปี 2540 ซึ่งเป็นช่วงที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาลเหมือนในขณะนี้ ตอนเดือนธันวาคมมีการจัดตั้งคณะกรรมการระดับชาติขึ้นมาชุดหนึ่ง เพื่อบรรเทาปัญหาการว่างงาน คณะกรรมการมาจากตัวแทนของทุกกระทรวง กรมการจัดหางานมีการจัดตั้งศูนย์เร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือแรงงานขึ้นมา มีการให้คำแนะนำแก่ผู้เลิกจ้าง มีการฝึกอาชีพต่างๆ มีการประกาศใช้นโยบายเรื่องการลดการจ้างงานแรงงานข้ามชาติ และการส่งเสริมแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ เหล่านี้คือสถานการณ์ในช่วงนั้น


 


ส่วนในประเทศสหรัฐอเมริกาพบว่า ตอนนี้มีผู้ว่างงานถึง 1 ล้าน 9 แสนคน เป็นจำนวนตัวเลขสูงสุดในรอบ 30 ปี มีคนมาใช้สิทธิประโยชน์จากประกันสังคมประมาณ 5 แสนกว่าคน สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจึงจำเป็นที่ต้องกลับมาดูที่ประเทศไทยว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป


 


คุณวสันต์ สาธร เป็นผู้เปิดประเด็นคนแรกว่า ปัญหาเรื่องการจัดการแรงงานข้ามชาตินั้น ปัจจุบันยังไม่มีหน่วยงานใดรับเป็นเจ้าภาพหลัก ทำให้การแก้ปัญหาที่จะตามมาเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยจะมากขึ้นตามลำดับ


 


สถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นคิดว่า แรงงานไทยหรือแรงงานข้ามชาติจะเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำไม่ต่างกันถ้าพวกเขาทำงานอยู่ในกิจการที่มีโอกาสประสบปัญหาสูง เช่น กิจการผลิตชิ้นส่วนอิเลคทรอนิคส์ กิจการเครื่องแต่งกาย กลุ่มนี้เป็นกิจการที่จะเกี่ยวข้องกับการส่งออก หรือแม้แต่กิจการก่อสร้าง กิจการที่เกี่ยวข้องกับ SMEs เพื่อการบริโภคภายในประเทศ กิจการเกษตร จะได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน ส่วนกิจการที่เกี่ยวข้องกับการจ้างแรงงานข้ามชาติโดยตรง จะพบการกระจุกตัวใน 3 พื้นที่หลักเท่านั้น คือ เชียงใหม่ กรุงเทพฯและปริมณฑล และระนอง ซึ่งเป็นกิจการที่เกี่ยวกับสิ่งทอ ประมงทะเล ต่อเนื่องประมงทะเล จะมีการลดวันทำงาน ลดค่าจ้างแรงงานลง พบบ้างที่จังหวัดกาญจนบุรี แถบด่านเจดีย์สามองค์ที่มีการปิดโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าบ้างแล้ว มีการเลิกจ้างแรงงาน ผมประเมินว่าวิกฤติเศรษฐกิจครั้งนี้กับการจ้างแรงงานข้ามชาติ ไม่น่าจะสะเทือนมาก เพราะกิจการที่แรงงานข้ามชาติทำอยู่เป็นกิจการที่สามารถชะลอการส่งออก การสั่งซื้อได้ รวมถึงไม่ใช่กิจการที่จะได้รับจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยโดยตรง






 


รศ.ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ อภิปรายเป็นคนต่อมาว่า จากการประเมินสถานการณ์และเปรียบเทียบกับวิกฤติเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 คิดว่าปีนี้และปีหน้าค่อนข้างรุนแรงกว่า และยาวนานต่อเนื่องไปอีกหลายปีแน่นอน ย้อนกลับไปเมื่อปี 2540 วิกฤติเศรษฐกิจครั้งนั้นเกิดจากประเทศไทยโดยตรง ซึ่งไม่ได้เกิดจากประเทศที่สั่งซื้อสินค้า ทำให้การส่งออกของไทยยังดำเนินไปได้อยู่ แต่ปัจจุบันวิกฤติเศรษฐกิจเกิดจากประเทศผู้สั่งซื้อสินค้าเอง เมื่อประเทศไทยยังพึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก จึงได้รับผลกระทบโดยตรง TDRI ประมาณการณ์ว่าปี 2552 GDP ประเทศไทย จะเพิ่มขึ้นเพียง 0.1 % เท่านั้น


 


กลุ่มการจ้างงานที่จะประสบปัญหากลุ่มแรกๆคือ กลุ่ม subcontract ต่อมาเป็นกลุ่มที่มีการจ้างงานโดยตรง แต่จะถูกลดเวลาทำงานลง จะไม่มีการทำงานล่วงเวลาอีกต่อไป


 


นอกจากนั้นจะพบเรื่องการว่างงานที่ทวีเพิ่มขึ้น ปัจจุบันปี 2551 มีผู้ว่างงานประมาณห้าแสนกว่าคน แต่ปี 2552 จะมีผู้ว่างงานเพิ่มขึ้นเป็นแปดแสนเจ็ดหมื่นคน ซึ่งจะรวมบัณฑิตจบใหม่ที่ยังหางานทำไม่ได้ด้วย โดยทั่วไปแล้วการว่างงานในภาคอุตสาหกรรม สามารถชดเชยได้ในภาคบริการ ภาคการท่องเที่ยว แต่ในช่วงที่ผ่านมาหลายเดือนที่ประเทศไทยต้องเผชิญกับสถานการณ์ทางการเมืองที่ขัดแย้ง มีการปิดสนามบิน จึงส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคบริการและท่องเที่ยว ที่นักท่องเที่ยวไม่เดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศ เมื่อนักท่องเที่ยวงดการเดินทาง จึงส่งผลกระทบต่อธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เช่น โรงแรม ที่พักต่างๆ รถเช่า ร้านอาหาร ติดตามไปด้วย ทำให้แรงงานที่อยู่ในภาคส่วนต่างๆเหล่านี้ได้รับผลกระทบติดตามมา


 


ฉะนั้นกล่าวได้ว่า วิกฤติเศรษฐกิจครั้งนี้เกิดจากทั้งปัจจัยภายนอกประเทศและปัจจัยภายในประเทศ


 


ต่อมาเมื่อแรงงานตกงาน โอกาสที่พวกเขาจะกลับบ้านเกิดไปทำเกษตรกรรมก็ยาก เพราะไม่มีทั้งที่ดิน และไม่มีความชำนาญในภาคเกษตร เมื่อปี 2540 มีการแก้ปัญหาโดยลดจำนวนแรงงานข้ามชาติ เลิกการจ้างงาน เพื่อให้แรงงานไทยเข้าไปทำงานในกิจการเหล่านั้นแทน พบว่าไม่สามารถแก้ปัญหาได้จริง เพราะแรงงานไทยก็ไม่เข้าสู่การจ้างงานในกิจการแบบนี้


 


สำหรับในกลุ่มแรงงานข้ามชาตินั้น พบว่าพวกเขาจะทำงานอยู่ในภาคเกษตรกรรม การเพาะปลูก การเลี้ยงสัตว์ ประมงทะเล ต่อเนื่องประมงทะเล แปรรูปอาหาร และกิจการก่อสร้างเป็นส่วนใหญ่ โดยภาคประมงทะเล ต่อเนื่องประมงทะเล จะเป็นภาคที่มีการใช้แรงงานข้ามชาติในสัดส่วนที่สูงกว่าคนไทยมาก เมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ แน่นอนแรงงานข้ามชาติก็ได้รับผลกระทบด้วย แรงงานไทยบางคนอาจเดินทางกลับบ้านเกิดได้ แต่แรงงานข้ามชาติโดยเฉพาะจากพม่า พวกเขาไม่สามารถกลับบ้านได้ นี้อาจเป็นปัญหาที่ประเทศไทยต้องเผชิญอีกเรื่องหนึ่งติดตามมาว่าจะหาทางแก้ปัญหาอย่างไร


 


นอกจากปัญหาใหม่ๆที่จะเกิดขึ้น ยังพบว่าปัญหาเดิมๆที่มีอยู่ก็ยังไม่ถูกการแก้ไข ไม่ว่าจะเป็นการได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ ประกันสังคม การรักษาพยาบาล ฉะนั้นจึงเห็นได้ว่าการว่างงานเป็นปัญหาระยะยาวที่ต้องการการแก้ไขอย่างจริงจังและต่อเนื่อง   


 


ต่อมาสมพงษ์ สระแก้ว ให้ภาพของแรงงานข้ามชาติในมหาชัยว่า ตอนนี้แรงงานข้ามชาติในมหาชัยยังได้รับผลกระทบไม่มากนัก เพราะในพื้นที่เป็นธุรกิจประมงหรือต่อเนื่องประมงทะเลเป็นส่วนใหญ่ ที่สามารถชะลอการส่งออกได้ แต่ในภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับชิ้นส่วนอิเลคทรอนิคส์ พบว่ามีการเลิกจ้างแรงงานแล้วถึง 200 คน ซึ่งเกิดในจังหวัดเพชรบุรีเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว นอกจากนั้นยังพบว่าแม้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ แต่การเข้ามาทำงานของแรงงานข้ามชาติก็ไม่ได้ลดลง มีแรงงานในเขมรเล่าว่า เมื่อพวกเขาเสร็จจากการเกี่ยวข้าวในปลายปีนี้ เขาจะเดินทางมาทำงานในกิจการประมงแถบจังหวัดระยอง ตราด จันทบุรี ต่อไป ซึ่งประเทศไทยต้องหาทางประสานทั้งวิกฤติเศรษฐกิจและการเข้ามาทำงานต่อเนื่องของแรงงานข้ามชาติให้ได้


 


อดิศร เกิดมงคล อภิปรายเป็นคนสุดท้าย โดยเป็นการให้ภาพกว้างการแก้ปัญหาของรัฐบาลเมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจว่า แรงงานข้ามชาติจะเป็นแพะรับบาปแทบทุกครั้ง เช่นในปี 2540 ที่มีดร.ไตรรงค์ สุวรรณคีรี เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานในสมัยนั้นแก้ปัญหาโดย มีนโยบายผลักดันให้แรงงานข้ามชาติกลับประเทศ และนำแรงงานไทยไปทำงานในกิจการที่แรงงานข้ามชาติเคยทำอยู่แทน ซึ่งไม่มั่นใจว่าในสมัยนี้ที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาลเช่นเดียวกัน จะมีแนวนโยบายแตกต่างหรือเหมือนเดิมอย่างไร เพราะโดยธรรมชาติของการทำงานของพรรคประชาธิปัตย์จะอิงกับระบบราชการเป็นสำคัญ


 


สำหรับการแก้ปัญหาในประเทศอื่นๆพบว่า พอหลังเกิดวิกฤติในประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศทางยุโรปที่มีการไปดึงแรงงานข้ามชาติจากประเทศอื่นเข้ามาทำงานจำนวนมากในช่วงที่ผ่านมา เช่น อังกฤษมีการจัดทำโครงการให้แรงงานข้ามชาติสมัครใจกลับบ้าน มีการลดอนุญาตระยะเวลาการจ้างงานลง ในประเทศสเปน มีการงดจ้างแรงงานข้ามชาติจากประเทศใกล้เคียง หรือบางประเทศก็มีนโยบายเลิกจ้างแรงงานข้ามชาติทันที ฉะนั้นจึงเห็นได้ชัดว่า การแก้ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ  รัฐบาลแต่ละประเทศมักจะเลือกใช้แนวคิดเศรษฐกิจแบบชาตินิยมเป็นแนวทางในการแก้ปัญหา เมื่อมีแรงงานในประเทศตกงาน ก็เลิกจ้างแรงงานข้ามชาติ และให้แรงงานในประเทศเข้าไปแทนที่ เหมือนกับว่า ยามดีก็เรียกใช้ ยามไข้ก็ถีบหัวส่ง ใช้ตรรกะแบบนี้แก้ปัญหาเป็นหลัก


 


กลับมามองในสังคมไทย พบว่าแนวคิดเศรษฐกิจแบบชาตินิยมสามารถเกิดขึ้นได้ง่าย เพราะที่ผ่านมาสังคมไทยเผชิญกับการเคลื่อนไหวแบบแนวคิดชาตินิยมมาโดยตลอด ทั้งฝ่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยหรือกลุ่มนปก.เองก็ตาม ในช่วงหนึ่งเห็นได้ชัดว่าแนวคิดนี้เริ่มทำงานอย่างเป็นรูปธรรม เช่น ช่วงเกิดกรณีเขาพระวิหาร พบว่ามีการเลิกจ้างงานแรงงานกัมพูชาในบางพื้นที่ หรือกรณีที่หอการค้าจังหวัดบางจังหวัดได้เสนอว่า การแก้ปัญหาเรื่องแรงงานไทยตกงาน คือ ให้เลิกจ้างแรงงานข้ามชาติ ซึ่งเห็นได้ชัดว่าการแก้ปัญหาทั้งของภาครัฐและภาคธุรกิจ เป็นทิศทางเดียวกัน คือ การพยายามหาศัตรูร่วมของการตกงานของแรงงานไทย ซึ่งก็คือ แรงงานข้ามชาติ โดยสร้างความจริงขึ้นมาอีกชุดหนึ่งว่า แรงงานข้ามชาติมาแย่งงานคนไทย ไม่ใช่ปัญหาที่เกิดจากภาครัฐหรือนายจ้างโดยตรง


 


กลุ่มแรงงานข้ามชาติที่จะได้รับผลกระทบมาก คือ กลุ่ม subcontract นอกจากนั้นในกลุ่มอื่นๆจะประสบกับการละเมิดสิทธิที่รุนแรงกว่าเดิม เพราะถูกมองเป็นศัตรูตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว การถูกมองเป็นศัตรูว่าทำให้แรงงานไทยตกงาน ฉะนั้นเมื่อแรงงานข้ามชาติถูกละเมิดสิทธิเพิ่มขึ้น คนไทยจะรู้สึกธรรมดาและไม่เห็นว่าเป็นปัญหาแต่อย่างใด กล่าวได้ว่าวิกฤติเศรษฐกิจครั้งนี้เปิดโอกาสให้ละเมิดสิทธิแรงงานข้ามชาติได้ง่ายดายขึ้น ฉะนั้นโจทย์สำคัญของการแก้ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจวันนี้ อาจไม่ใช่เพียงเรื่องการว่างงานแล้ว แต่เป็นเรื่องของทำอย่างไรให้แรงงานทุกคนได้รับความคุ้มครองและไม่ถูกเลิกจ้างมากกว่า


 


นอกจากนั้นแล้ววิกฤติเศรษฐกิจยังทำให้เราหลงลืมนโยบายการจัดการแรงงานข้ามชาติระยะยาว โดยทั่วไปประเทศไทยมีแต่นโยบายด้านการจัดการแรงงานข้ามชาติแต่ละปี แต่ไม่มีนโยบายการจัดการคนข้ามชาติ พอเกิดวิกฤติสถานภาพความเป็นแรงงานจะหมดไป แต่ความเป็นคนข้ามชาติยังอยู่ ประเทศไทยจะจัดการอย่างไร เพราะอย่างไรก็ตามแรงงานกลุ่มนี้ก็ไม่สามารถกลับบ้านได้อย่างแน่นอน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net